Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
29 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
แอ่ววัดล้านนา


ม่อนดอย วัดปงสนุก


พระนอน ในวิหารพระนอน วัดปงสนุก

นั่นจึงทำให้ทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ขอเอาธรรมนำหน้า ด้วยการออกตะลอนทัวร์ขึ้นไปแอ่วใน 3 จังหวัดล้านนา
“ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่” ในเส้นทาง“ไหว้สาธุธาตุประจำปี เสริมบารมีปีฉลู“
อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52”
ที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มี อ.คฑา ชินบัญชร เป็นผู้นำทริป(3 วัน 2 คืน)
คอยให้ความรู้เคียงคู่ไปกับหลักธรรมคำสอน

จุดแรก เราเลือกเปิดประเดิมรับบุญกันในลำปางที่ วัดปงสนุก(อ.เมือง) วัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่า
เคยเป็นศูนย์กลางเมืองนคร(หรือเวียงละกอน)ในสมัยล้านนารุ่งเรือง
ส่วนในรัตนโกสินทร์วัดแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองหลักแรกของนครลำปาง
ก่อนที่จะย้ายไปรวมกับเสาหลักเมืองหลักอื่น ที่ศาลหลักเมืองในปัจจุบัน


ด้านหน้าวัดพระธาตุจอมปิง

วัดปงสนุกมีม่อนดอยเป็นจุดไฮไลท์ มีลักษณะเป็นเนินเขาพระสุเมรุจำลอง สร้างตามคติจักรวาล

ม่อนดอยเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้ กลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์
หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ สื่อถึงพระพุทธเจ้าทั้งสี่ที่เสด็จมาตรัสรู้ในภัทรกัป
ส่วนต้นโพธิ์หมายถึงพระพุทธเจ้าที่รอวันลงมาตรัสรู้ ซึ่งก็คือพระศรีอารย์นั่นเอง
ติดกับวิหารพระเจ้าพันองค์เป็นที่ตั้งของวิหารพระนอน ที่ภายในมีพระนอนองค์โต ให้สักการะบูชา

สำหรับวัดปงสนุกแห่งนี้ ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัล Award of Merit ด้านการอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรม
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จากองค์การ UNESCO
ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนปงสนุก ชาวลำปาง และชาวไทยทุกคน


วัดพระธาตุลำปางหลวง

อิ่มธรรมงามตาจากวัดปงสนุกแล้ว เราไปต่อยัง พระธาตุจอมปิง (อ.เกาะคา) วัดแห่งนี้ตามประวัติเล่าว่า
พระนางจามเทวี ขณะมาสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวง เสร็จแล้วก็ได้มาสร้างวัดพระธาตุจอมปิงอีก จากนั้น
วัดก็ร้างไป ต่อมาท่านนันทปัญญาพี่เลี้ยงของพระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้มาทำการบูรณะขึ้นมาใหม่

ท่านนันทปัญญามีเพื่อนชื่ออ้ายจอมแพร่ ทั้งสองได้สร้างวัดคนละวัด วัดที่อ้ายจอมแพร่สร้างคือวัดจอมปิงลุ่ม
วัดที่ท่านนันทปัญญาสร้างชื่อวัดจอมพี่เลี้ยง(วัดพระธาตุจอมปิง)

ถึง พ.ศ.200 ได้เกิดศึกพระยาได้ยกทัพมาประชิดเมืองลำปาง(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุง ศรีอยุธยา)
เจ้าหมื่นด้งนครไม่อยู่ไปราชการที่เชียงใหม่ เหลือแต่พระนางราชเทวีกำลังตั้งครรภ์
ได้แต่งกายเป็นชายออกไปสู่รบจนกองทัพพระยาได้พ่ายไป เมื่อเจ้าหมื่นด้งนครและเจ้าติโลกราชทราบ
ก็ยกกองทัพจากเมืองเชียงใหม่มาช่วย สถานที่รบเรียกว่า "มหาสนุก"และได้ฉลองชัยชนะที่วัดแห่งนี้
พระนางได้สร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง ส่วนสัณฐานดังกองข้าวเปลือก ได้ตั้งชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดจอมพิงค์ชัยมงคล”
และเพี้ยนมาเป็น “จอมปิง” ในปัจจุบัน


เงาพระธาตุ(หัวกลับ)วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดแห่งนี้มีความมหัศจรรย์ของ “เงาพระธาตุ”สี ธรรมชาติขององค์พระธาตุจอมปิง
ผ่านรูเล็กๆบนหน้าต่างมาปรากฏบนพื้นภายในพระอุโบสถ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหกวัดของจังหวัดลำปาง
ที่พบความมหัศจรรย์ของพระธาตุกลับหัว

จากวัดพระธาตุจอมปิง “ตะลอนเที่ยว” ไปดูความมหัศจรรย์ของพระธาตุกันต่อที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง
(อ.เกาะคา) วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำปาง ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง
มีความสวยงามและยอดเยี่ยมทางพุทธศิลป์ในลำดับต้นๆของเมืองไทย

สำหรับจุดเด่นที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้ก็มี วิหารหลวง วิหารประธานของวัด ก่อสร้างจากไม้สัก
เปิดโล่งตามแบบล้านนาในยุคแรก ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทาง องค์พระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุทรงกลมแบบล้านนาประจำตัวคนที่เกิดปีฉลู มองเห็นโดดเด่นเป็นสง่าแต่ไกล
ภายในองค์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เงาพระธาตุ
ในมณฑปพระพุทธบาท ที่เห็นเป็นองค์พระธาตุหัวกลับ และตัววิหารหลวงในสีธรรมชาติอย่างชัดเจน


พระเจดีย์สี่ครูบา วัดพระพุทธบาทตากผ้า

อ้อ!?! แต่เงาพระธาตุในมณฑปพระพุทธบา ทางวัดเปิดให้เฉพาะผู้ชายเข้าได้เท่านั้น
ส่วนผู้หญิงถ้าอยากจะชมเงาพระธาตุให้ไปชมในวิหารพระพุทธ ที่ก็มีเงาพระธาตุให้ชมเหมือนกัน

จากวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดต่อไปในวันต่อไปเราข้ามไปยังลำพูน
เพื่อแอ่ว วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง

ที่วัดนี้ เราเริ่มต้นด้วยการไปชมรอยตากผ้าบนพื้นหิน ที่เป็นรอยตารางเด่นชัดต่าง
จากบริเวณพื้นหินโดยรอบที่เป็นพื้นเรียบ จากนั้นเราเข้าไปสักการะรอยพระพุทธบาทในวิหารพระพุทธบาท
ที่ด้านบนครอบไว้ด้วยซุ้มปราสาท มุมทั้งสี่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่


รอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทตากผ้า

ทั้งรอยพระพุทธบาท และรอยตากผ้า มีตำนานเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ได้เสด็จมาสู่สุวรรณภูมิ
โดยพุทธนิมิต ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จมาบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้า แล้วได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาท
ไว้บนพื้นศิลาใหญ่ และได้ทรงรับสั่งให้พระอานนท์นำจีวรไปตากไว้บนผาลาดใกล้ๆที่ประทับ
บริเวณที่ตากจีวรนั้นปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวร วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดพระพุทธบาทตากผ้า

ออกจากตัววัด เราขึ้นไปนมัสการพระธาตุเจดีย์สี่ครูบาที่ ตั้งอยู่บนยอดดอยเครือ
หากไปทางรถมีทางรถอ้อมขึ้นไปบนดอยระยะทางประมาณ 2 กม.
แต่หากใครอยากออกกำลังกายก็สามารถเดินขึ้นบันไดไปประมาณ 200 ขั้น
ขึ้นไปจากด้านหลังวัดพระพุทธบาทตากผ้าก็ได้

พระเจดีย์สี่ครูบา เป็นเจดีย์พระธาตุหริภุญชัยจำลอง มีซุ้มทางเข้าสี่ทิศ
ภายในเจดีย์เป็นสถูปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ครูบาศรีวิชัยได้รวบรวม ไว้
รอบสถูปทั้งสี่ทิศมีซุ้มประดิษฐานรูปเหมือนครูบาสี่องค์ คือ ครูบาเป็ง โพธิโก แห่งวัดป่าหนองเจดีย์ อ.ป่าซาง
พระสุธรรมยานเถระ (ครูบาอินทจัก) พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมจักร) วัดพระพุทธบาตรตากผ้า
และพระสุนทรคัมภีรยาน วัดดอยน้อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่


อุโมงค์ใต้แสงเทียน วัดอุโมงค์

จากลำพูน อ.คฑา พาข้ามจังหวัดไปที่เชียงใหม่ ก่อนจะพาไปแอ่วที่ วัดอุโมงค์ (ถ.สุเทพ อ.เมือง)
ที่สร้างขึ้นราว 700 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยพญามังราย วัดอุโมงค์ เดิมชื่อวัดเวฬุกัฏฐาราม
ต่อมาในสมัยพญากือนา ท่านมีความเลื่อมใสพระมหาเถรจันทร์ จึงได้สั่งให้สร้างอุโมงค์ขึ้น
เพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ได้ใช้เป็นที่ วิปัสสนากรรมฐาน และเป็นที่มาของชื่อ “วัดอุโมงค์”

สำหรับอุโมงค์ภายในวัดเป็นกำแพง ทางเดินหลายช่องทะลุถึงกันได้ เดิมภายในอุโมงค์เคยมีภาพจิตกรรมฝาผนัง
แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมาก ด้านบนของอุโมงค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังศิลปะล้านนายุคแรกๆ


โบสถ์เงิน วัดศรีสุพรรณ

ในบริเวณวัดจัดเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อย-ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีสถานที่ให้ความรู้อยู่ภายในวัดอีกหลายแห่ง
อาทิ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ หอสมุดธรรมโฆษณ์ โรงภาพปริศนา พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

หลังชมสิ่งน่าสนใจในวัดอุโมงค์กันพอสมควร เราไปต่อยังวัดสุดท้ายที่ วัดศรีสุพรรณ (ถ.วัวลาย อ.เมือง)
วัดนี้ วิหารน่ายลด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย
ภายในโดดเด่นสวยงามด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระธาตุ 12 ราศี ภาพพุทธจักรวาล ในโทนสีทองขรึมขลัง
ประดับประดาด้วยหัตถกรรมเครื่องเงินฝีมือชาวบ้าน

วัดศรีสุพรรณ ปัจจุบันมีไฮไลท์ที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งก็คือ อุโบสถเงิน เป็นโบสถ์เงินหลังแรกของโลก
สร้างโดยช่างท้องถิ่นในชุมชนวัวลาย ที่มีฝีไม้ฝีมือ ในเรื่องหัตถกรรมเครื่องเงินเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป


ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดศรีสุพรรณ

โบสถ์หลังนี้ใช้เงินบริสุทธิ์ อลูมิเนียม(ใช้แทนเงิน) เงินผสม และดีบุก เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
มีการสลักลวดลายประดับตกแต่งผนังทั้งภายนอกและภายในตลอดทั้งหลัง
ปัจจุบันโบสถ์เงินหลังนี้แม้จะยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
แต่ก็มองเห็นได้ถึงความงดงามวิจิตรเพริศแพร้วของโบสถ์หลังนี้

และนั่นก็เป็น 6 วัดใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่ ดินแดนที่มีประวัติศาสตร์อันยามนาน
มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ มีธรรมชาติอันสวยงามน่ายล


ช่างท้องถิ่นตกแต่งแผ่นอลูมิเนียมนำไปประดับอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ


ที่มา //www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000048158



Create Date : 29 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2552 13:28:09 น. 0 comments
Counter : 2610 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.