Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
ทักทายค่างแว่น แล่นเรือปลูกปะการังที่"เกาะทะลุ"


บรรยากาศเกาะทะลุ

ปัจจุบันการท่องเที่ยวมีหลากหลายรูปแบบ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(ในอดีตเรียกการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์)
ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบหนึ่งที่สำคัญมาก และได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นัก ท่องเที่ยวทั่วโลก
เพราะเป็นการท่องเที่ยว ที่มุ่งเน้นการการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่ง ธรรมชาติ
และแหล่งวัฒนธรรมอย่างมีความรับผิดชอบ
โดยไม่ก่อให้เกิดการรบกวน หรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ศึกษาเรียนรู้ และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพ พืชพรรณ และสัตว์ป่า
ตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในแหล่งธรรมชาตินั้น
อีกทั้งช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมเกิดประโยชน์ต่อชุมชนอีกด้วย

สำหรับ ที่"อุทยานแห่งชาติหาดวนกร"และ บริเวณใกล้เคียง จ.ประจวบคีรีขันธ์
นับเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีการบริหารจัดการจัดพื้นที่ เพื่อการท่องเที่ยวเชิง นิเวศ ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของเมืองไทย


น้องๆช่วยกันขันน็อตปลูกปะการัง

*กองบิน 53 พื้นที่อนุรักษ์ค่างแว่นถิ่นใต้
กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในพื้นที่แถบนี้นั่นก็คือ
การศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของ "ค่างแว่นถิ่นใต้" บริเวณ "เขาล้อมหมวก"ใน พื้นที่กองบิน 53 กองพลบินที่ 4
กองบัญชาการยุทธทางอากาศ อ.เมืองประจวบฯ ที่มีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบด้วยทะเล
ทั้งทิศเหนือ ตะวันออก และใต้อันเป็นปัจจัยที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของสัตว์ประเภทนี้

ค่างแว่นถิ่นใต้ เป็นสัตว์ตระกูลลิง อาศัยอยู่เฉพาะในป่าดงดิบทางภาคใต้ของไทย มีการดำเนินชีวิตบนยอดไม้
รูปร่างแขน ขา และหางยาวกว่าลิง แต่ไม่มีถุงข้างแก้มสำหรับเก็บอาหาร
บริเวณใบหน้ามีสีเทา ฝ่ามือ ฝ่าเท้ามีสีดำ และไม่มีขน
ค่างแว่นแรกเกิดจะมีสีเหลืองทอง และเมื่อโตเต็มวัยจะมีสีเทา

ค่างแม่ลูกอ่อนจะให้ลูกเกาะที่อกเวลาออกหากิน และจะคอยดูแลจนกว่าจะถึงช่วงของการออกลูกตัวใหม่
ค่างแว่นที่อาศัยอยู่บริเวณเขาล้อมหมวกจะอยู่รวมกันเป็นฝูง นิสัยเป็นมิตรไม่ดุร้าย
อาหารของค่างได้แก่ ดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และเมล็ดพืช ผู้คนที่ไปมักจะให้อาหารจำพวกถั่ว


ค่างแว่นแม่ลูกอ่อนภายในค่ายกองบิน 53

*พื้นที่ธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร
สถานที่ถัดไปคือ "อุทยานแห่งชาติหาดวนกร" อ.ทับสะแก พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบและชายหาด
ส่วนที่เป็นพื้นน้ำอยู่ในทะเลด้านอ่าวไทยมีเกาะเล็ก ๆ อยู่ 2 เกาะ คือ เกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์
ซึ่งเป็นแหล่งสัมปทานรังนกนางแอ่น และบริเวณรอบเกาะยังเป็นจุดดำน้ำดูปะการังอีกด้วย
ชายหาดที่มีชื่อเสียงในอุทยานฯแห่งนี้ได้แก่ หาดวนกร ซึ่งเป็นหาดที่สะอาด สงบ มีทิวสนทะเล
และสนประดิพัทธ์ขึ้นตลอดแนวชายหาดสลับกับโขดหินที่ยื่นลงไปในทะเล
หาดทรายเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด จะยื่นออกไปในทะเล ประมาณ 150 เมตร เหมาะสำหรับการพักผ่อนและเล่นน้ำทะเล

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติหัวกรังและหินจวง เป็นเหมือนห้องเรียนกลางแจ้ง
ให้เรียนรู้เข้าใจความสัมพันธ์ของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาธรรมชาติ
โดยแต่ละสถานีจะแสดงความสัมพันธ์ของชีวิต ที่พึ่งพาอาศัยกันในผืนป่าแห่งนี้
และมีที่พักของอุทยานฯ และจุดกางเต็นท์ด้วย


นักดำน้ำนำแปลงปะการังลงสู่ทะเล

*ปลูกปะการังคืนสู่ธรรมชาติ ที่เกาะทะลุ
สำหรับโครงการปลูกปะการังนี้เป็นหนึ่งใน "โครงการวีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง 80,000 กิ่ง ที่เริ่มต้น
เพื่อล้นเกล้า" ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผงพลาสติกพีวีซี และโซดาไฟ
และหน่วยงานต่างๆ เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ปะการังเขากวางด้วยท่อพีวีซี อันนำไปสู่การฟื้นฟูท้องทะเลไทย
ซึ่งได้ถูกทำลายไปมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ การท่องเที่ยวที่ขาดการอนุรักษ์
การทำประมงแบบผิดวิธี การพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงชายฝั่ง ฯลฯ

เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด เกาะทะลุไอส์แลนด์รีสอร์ท กล่าวว่า
การขยายพันธุ์ปะการังในโครงการนี้ จะใช้ปะการังเขากวางมาตัดกิ่งแล้วนำไปยึด กับต้นตอที่เป็นท่อพีวีซี
โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2556


ร่วมด้วยช่วยกันปลูกปะการังที่เกาะทะลุ

ส่วนสถานที่ดำเนินการแบ่งเป็น เกาะ เสม็ด จ.ระยอง จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะหวาย จ.ตราด จำนวน 10,000 กิ่ง
เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะขาม จ.ชลบุรี จำนวน 10,000 กิ่ง
และพื้นที่ชายฝั่งช่องแสมสาร จ.ชลบุรี จำนวน 40,000 กิ่ง เมื่อโครงการได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น
เชื่อว่าจะทำให้ปะการังใต้ทะเลบริเวณดังกล่าว มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการเพิ่มทรัพยากรในท้องถิ่น
มีส่วนช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว

เผ่าพิพัธ เล่าว่า "ปกติที่หมู่เกาะทะลุจะมีวิธีปลูกปะการัง 3 แบบ แบบแรกคือ ในยุคแรกเราจะทำเป็นปะการังโขด
หรือที่เขาเรียกปะการังก้อน ปะการังสมอง ที่ถูกพายุพัดขึ้นมาด้านหลังเกาะกลายเป็นสุสานปะการัง
เราก็ไปเก็บปะการังโขดมาแล้วก็มาเจาะรู เอาปะการังกิ่งเสียบ ซึ่งทั้งปะการังโขดและปะการังกิ่งเขากวางก็โตขึ้น
โตลงไปหุ้มตัวฐานที่เป็นซากปะการังเหมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่ไม่มีตัวปะการัง ข้างในเป็นคล้ายฟองน้ำ
ลักษณะพรุน บางก้อนใหญ่เท่าโต๊ะแต่ยกคนเดียวไหว เพราะข้างในมันจะพรุน
ปัญหาของปะการังโขดเวลาเอาไปวาง บางทีมันกลมแล้วมันกลิ้ง เมื่อมันกลิ้งมันก็ไปทับปะการังที่เสียบไว้หัก


หาดวนกรสวย สงบ เป็นธรรมชาติ

แบบที่ 2 คือเหล็กเส้น เหล็กที่เหลือจากการก่อสร้าง
ในสมัยก่อนที่เราสร้างรีสอร์ทที่เกาะมุกแล้วมีเหล็กเหลือ เราเลยเอาเหล็กมาทำฐาน
แล้วเอาปะการังกิ่งที่หักมาเอาลวดธรรมดามาผูก ปะการังจะโตปกติแต่ไม่ยึดเกาะกับเหล็ก

แบบที่ 3 คือ ใช้ฐานเป็นพีวีซีที่เราทำร่วมกับโครงการ 8 หมื่นกิ่ง จะมีท่อพีวีซีชิ้นหนึ่งที่เป็นฐานสี่เหลี่ยม
และอีกชิ้นที่เอาปะการังมากับมันยึดติดด้วยสกรูแล้วเสียบลงไปบนฐาน
ปะการังสามารถโตและยึดเกาะกับตัวท่อพีวีซีได้เลย
จะเห็นได้ว่าวัสดุที่เป็นพีวีซีไม่มีมลพิษ เพราะปะการังที่เซ็นซิทีฟมากสามารถโต และหุ้มไปบนท่อพีวีซีได้

การที่ปะการังที่หักแล้วเราจับตั้งเอาไปวางในจุดที่ระดับน้ำเหมาะสม แสงแดดส่องถึง
กระแสน้ำไม่แรงมากจนเกินไป มันก็สามารถโตได้
ปะการังกิ่งถ้าหักเราสามารถเอามายึดบนฐานพีวีซี แล้วเอาไปฟื้นฟูใหม่ได้ มันก็จะโตมีชีวิตขึ้นมา
ในโครงการเรามีประมาณ 8-10% เท่านั้นที่ไม่โต แต่ส่วนใหญ่แล้ว 90% เมื่อลงแปลงแล้ว
หลังจากลงไปเก็บข้อมูลมันก็โตขึ้น
ที่นี่โตเฉลี่ยแล้วปีหนึ่งประมาณ 10-14 ซม. ซึ่งถือว่าโตเร็วมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ"

ส่วนด้านน้องๆที่ร่วมกิจกรรมปลูกปะการังที่เกาะทะลุเล่าความรู้สึก ว่า
"เมื่อรู้ว่าจะต้องมาทำกิจกรรมปลูกปะการังก็รู้สึกอยากทำ มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่เราไม่เคยได้ทำมาก่อน
พอมาทำแล้วรู้สึกภูมิใจ รู้สึกสนุก มันควรจะมีต่อไปเรื่อยๆ เพราะปะการังมันมีเกิดมีตายอยู่ตลอดเวลา
มันยังมีพื้นที่ที่ต้องการการฟื้นฟูอยู่ มันเป็นแหล่งเพาะพันธ์ปลา นอกจากจะได้เที่ยวแล้ว
ปกติการเที่ยวเราจะนึกถึงการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย เราเข้าไปใช้ทรัพยากรของสถานที่ท่องเที่ยว
แต่การเข้ามาปลูกปะการังมันช่วยให้การท่องเที่ยวมันดูมีคุณค่าขึ้น เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง
ถ้าที่ไหนที่สามารถจัดกิจกรรมแบบนี้ได้ให้นักท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมก็ควรจะทำ


น้ำทะเลสีฟ้าใสที่เกาะทะลุ

ต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการปลูกปะการัง ความสำคัญของปะการัง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
การให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวก่อนว่าทำไมถึงต้องมาทำ เมื่อเขาตกลงที่จะมาปลูกปะการังแล้วก็ควรที่จะรู้ว่า
สิ่งที่เขาทำมันมีความหมายยังไง มันมีประโยชน์อย่างไร
มันจะเกิดความรู้สึกที่มันมากขึ้น มากกว่าที่จะมาปลูกแล้วก็กลับ"
พลพจน์ ศรีพระจันทร์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ธรรมพร อุ่ยตระกูล นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะและภาควิชาเดียวกัน เล่าถึงความประทับใจว่า
"เมื่อเห็นกิจกรรมว่าต้องมาปลูกปะการังรู้สึกว่า มันเป็นกิจกรรมที่น่า ตื่นเต้น ไม่มีโอกาสที่จะได้มาทำง่ายๆ
ไม่ใช่ว่านึกอยากจะปลูกอยากจะทำก็ได้ทำเลย ก่อนจะมาก็โทรไปบอกพ่อกับแม่ว่าจะได้มาปลูกปะการังด้วย
เราไม่เคยได้ทำ พอมาถึงเมื่อมีโอกาสมาปลูกก็นั่งขันน๊อตกับเพื่อนจนเสร็จทุกอัน
มันมีความรู้สึกแบบว่าเรารู้สึกดีใจ ยิ่งตอน ณ เวลาที่ส่งเขาไปถึงมือของพี่ที่จะดำลงไปวางไว้ใต้น้ำ
ตอนที่ยืนบอกเขา(ปะการัง)ว่าบ๊ายบาย เรารู้สึกเหมือนพาเขาได้กลับบ้านได้กลับไปอยู่ในที่เกิดของเขา
ให้เขาได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ให้เขาได้กลับไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่
เรารู้สึกดีใจที่มีส่วนช่วยระบบนิเวศน์ นอกจากนั้นเราก็ได้มาเที่ยวด้วย


เกาะทะลุถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งในการดำน้ำดูปะการังที่สวยงาม

หลังจากที่ปลูกปะการังเสร็จ เราก็ได้ลงไปดำน้ำดูปะการัง
หนูมองว่าใช่มันอาจจะไม่ได้สวยงามมาก เหมือนที่หลายๆคนได้ไปดำน้ำแถวอันดามัน ที่มีสีสันหลากหลาย
แต่ถ้ามาที่นี่แล้วเราได้ทำกับมือได้ปลูกปะการังกับมือ แล้วเราได้กลับไปดูอีกทีเราจะรู้สึกว่า
วันข้างหน้าที่เราได้เห็นเขาที่เราเคยปลูกมันได้โตสวยงามแบบนี้ ตอนนี้เราอาจจะเห็นว่านี่ยังไม่โต
นี่มีอยู่หย่อมเดียว นี่มีหย่อมหนึ่ง สุดท้ายเขาจะสวยให้เราเห็น
เห็นแล้วรู้สึกว่าในอนาคตเราจะได้บอกได้ว่า หนึ่งในนั้นมีฝีมือเขาเราอยู่ ด้วย

หนูมองว่าการท่องเที่ยวแบบนี้น่าจะมีต่อไป ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ที่เดียว
เพราะปัจจุบันมีหลายเกาะหลายที่ที่ประสบปัญหา เรื่องเกี่ยวกับปะการังเหมือนกัน
แต่เข้าใจว่าที่นี่มีโอกาสที่จะได้แก้ปัญหาที่ถูกจุด ได้ความร่วมมือกับหลายๆฝ่ายจึงสามารถทำกิจกรรมแบบนี้ได้
ถ้าที่อื่นๆได้ทำกิจกรรมแบบนี้ก็ดี ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสนใจแต่ว่าเที่ยวให้ตัวเองมีความสุข
แต่ลืมคิดกลับไปว่าเที่ยวแล้วได้อะไรกลับไปบ้างนอกจากแค่ความสุข นอกจากทำให้เศรษฐกิจของบ้านเราดีขึ้น
สถานที่ท่องเที่ยวที่เราไปเที่ยวล่ะ เราให้อะไรเขากลับคืนหรือเปล่า"

ด้าน กมลกานต์ เจริญสุข นิสิตจุฬาฯ เช่นเดียวกัน ให้ความเห็นเสริมว่า
"การเที่ยวเชิงนิเวศน์แบบนี้เป็นการเที่ยวแบบคนที่มีความคิด
ไม่ใช่เที่ยวแบบรักสบายเที่ยวเพื่อเอาความสุขใส่ตัวอย่างเดียว มาเที่ยวโดยใส่ใจกับธรรมชาติ
เราต้องสร้างความรู้สึกว่าธรรมชาติ หรือทรัพยากรต่างๆมีความรู้สึกมีชีวิตจิต ใจ
ที่เราควรจะรับผิดชอบกับเขาอย่างหนึ่งด้วย ไม่ใช้มาเที่ยวแบบทิ้งๆขว้างๆทำอะไรกับเขาก็ได้"


ที่มา : //www.manager.co.th


Create Date : 22 มกราคม 2553
Last Update : 22 มกราคม 2553 13:24:04 น. 0 comments
Counter : 1365 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.