Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
25 เมษายน 2554
 
All Blogs
 

บ้านเหล็ก



ในยุคที่ราคาเหล็กลดลงไม่ต่างไปจากราคาน้ำมัน ราคาเหล็กเส้นจากที่เคยกิโลกรัมละยี่สิบกว่าบาท
ได้พุ่งสูงสุด ไปแตะอยู่ที่กิโลกรัมละสี่สิบกว่าบาท
แล้วก็ตกลงมาอยู่ที่ราคายี่สิบกว่าบาทอีกครั้ง ในเวลาแค่ไม่กี่เดือน '
บ้านเหล็ก' จึงกลายมาเป็นตัวเลือกน่าสนใจ สำหรับใครสักคนที่ยังฝันอยากสร้างบ้านของตัวเองอยู่

'บ้านเหล็ก' อาจยังเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับคนไทย
แต่ก็มีการรับรู้ในแวดวงสถาปัตยกรรมบ้านเรามาในช่วง 5 ปีมานี้
เริ่มจากการสาธิตสร้างบ้านเหล็กภายใน 4 วัน ในงานสถาปนิก 46
อันเป็นนวัตกรรมใหม่ของการสร้างบ้านที่ได้รับความสนใจในต่างประเทศ
หากในเมืองไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ล่าสุดสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกับ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด
จัดโครงการประกวดบ้านเหล็กและสัมนาให้ความรู้เกี่ยวกับบ้านเหล็ก
สำหรับคนทั่วไปและนิสิต นักศึกษาที่สนใจนำเหล็กมาเป็นทางเลือกสำหรับสร้างบ้าน

"บ้านเหล็กหมายถึง บ้านที่มีโครงสร้างทำจากเหล็กเป็นส่วนใหญ่
ต่างจากบ้านทั่วไปที่จะใช้คอนกรีตเสริมใยเหล็ก
เวลาที่พูดถึงบ้านเหล็ก เราจะมองในแง่ของการใช้เหล็กมาเป็นโครงสร้าง
มากกว่าจะมองในแง่ของการออกแบบ เมื่อมองดูภายนอก บ้านเหล็กจึงดูไม่ต่างจากบ้านทั่วไปนัก"
สภาวิทย์ ด่านธำรงกูล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หนึ่งในผู้ร่วมสัมนาอธิบายคำจำกัดความของบ้านเหล็ก

ในเมืองไทยบ้านเหล็กยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้บ้านเรายังนิยมใช้ไม้อยู่
ต่างจากในประเทศทางตะวันตก ที่มีการใช้เหล็กมานานแล้วในการเป็นโครงสร้าง
เพราะมีเทคโนโลยีและช่างฝีมือทางด้านเหล็กพัฒนากว่าเมืองไทยมาก
แต่ในเมืองไทยทัศนคติที่มีต่อเหล็กเริ่มเปลี่ยนไป
จึงพอจะมีการนำเหล็กมาใช้เป็นโครงสร้างบ้านช่วงไม่กี่ปีมานี้

"ในต่างประเทศมีคนสร้างบ้านเหล็กกันมาก เพราะบ้านเหล็กสามารถจัดรูปทรงง่าย ดัดโค้งก็ได้
ทำได้หลายอย่าง เมื่อไม่ใช้แล้ว ก็นำมารีไซเคิลได้อีก
ต่างจากการใช้คอนกรีต หรือไม้ที่ทำให้ต้องตัดไม้ทำลายป่า แต่บ้านเราก็ยังมีคนใช้น้อยอยู่"
นิติภูมิ เนาวรัตน์ คอลัมนิสต์และเจ้าของรายการท่องเที่ยว
ในฐานะผู้ที่เดินทางมาแล้วเจ็ดสิบกว่าประเทศทั่วโลก
บอกเล่าความเห็นต่อบ้านเหล็กในต่างประเทศที่เขาได้พบเห็นมา



ลดค่าแรง-เพิ่มค่าวัสดุ?

คนที่เริ่มสนใจอยากสร้างบ้านเหล็ก
อาจมีข้อสงสัยว่า ยังไงๆ ราคาเหล็กก็แพงกว่าคอนกรีตอยู่แล้วต่อให้เหล็กราคาตกยังไงก็ตาม
ถ้าอย่างนั้น จะคุ้มกันหรือไม่ หากสร้างบ้านด้วยเหล็กแทนคอนกรีตเสริมเหล็ก

สภาวิทย์ให้ข้อมูลในส่วนนี้ว่า
ปกติแล้ว ราคาในการสร้างอาคารทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
ค่าวัสดุ (แบ่งออกเป็นค่าโครงสร้าง 40 % ค่าวัสดุตกแต่งภายใน 60 %) และค่าแรง
ถ้ามองในแง่ของค่าวัสดุเพียงอย่างเดียว
การใช้คอนกรีตเสริมใยเหล็กจะมีราคาถูกกว่าการใช้เหล็ก เป็นโครงสร้างเพียงอย่างเดียว
แต่หากมองในด้านของค่าแรงแล้ว การตั้งเสาคอนกรีตนั้น ใช้เวลาประมาณ 28 วันกว่าที่เสาจะเซ็ตตัว
ต่างจากเหล็กที่สามารถสั่งตัดมาจากโรงงาน แล้วมาประกอบโดยการเชื่อมหน้างาน
เมื่อเสร็จแล้วก็สามารถใช้งานได้ทันที จึงใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยกว่ามาก

"เหล็กที่สั่งตัดมาจากโรงงานจะได้หน้าตัดที่มีมาตรฐานแม่นยำกว่า เมื่อนำมาติดตั้ง
ต่างไปจากคอนกรีตที่อาจจะขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างจึงจะได้มาตรฐาน
ยกตัวอย่างเช่น เหล็กไม่ต้องเก็บผิวงาน สามารถใช้ได้เลย เพราะเหล็กมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง
แต่งานคอนกรีตต้องมีการฉาบ หรืออาจจะต้องใช้วัสดุอื่นไปติดแปะเพิ่มความสวยงาม
ทำให้ใช้เวลามากขึ้น"

หากคนที่ไม่ชอบงานเหล็กเปลือยๆ เพราะรู้สึกว่า ดูแข็งกระด้างเหมือนอยู่ในโรงงาน
งานเหล็กก็สามารถดีไซน์ได้หลากหลาย ดัดโค้งได้
หรือถ้าไม่ชอบพื้นผิวเหล็กก็สามารถปกปิดได้ด้วยวอลเปเปอร์ หรือวัสดุทดแทนเนื้อไม้

ซึ่งการใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลักของอาคารนั้น
ถ้าใช้ในงานสเกลใหญ่ก็จะช่วยลดต้นทุนเป็นจำนวนมากในด้านค่าแรง
ตลอดจนบ้านที่ต้องการต่อเติมแต่ไม่มีพื้นที่มากนัก การใช้เหล็กก็จะสะดวกกว่ามาก
และไม่ทำให้บริเวณก่อสร้างเปรอะเปื้อน

โดยตัวเหล็กเองนั้นมีคุณสมบัติเหมือนกับการใช้ไม้ในการก่อสร้าง เพียงแต่ไม้หายากกว่า
และเหล็กรับน้ำหนักได้มากกว่าไม้ในขนาดที่เท่ากัน เพราะเหล็กมีค่าความแข็งแรงสูงกว่า
แต่อาจจะต้องคำนึงค่าแรงของช่างเชื่อมเหล็ก ซึ่งถือกันว่าเป็นช่างฝีมือจึงมีราคาสูงกว่าช่างทั่วไป

'จุดเด่น' ของบ้านเหล็กจึงอยู่ที่ ดีไซน์หลากหลาย
แผ่นเหล็กสั่งตัดจากโรงงานมีความแม่นยำและได้มาตรฐาน ใช้พื้นที่น้อยในการก่อสร้าง
และสามารถนำมารีไซเคิลได้ใหม่

'ข้อด้อย' ในการใช้เหล็กเป็นโครงสร้างคือ ต้องใช้ช่างเชื่อมที่มีฝีมือ
เพราะถ้าเชื่อมไม่ดี อาคารก็อาจจะล้มลงมาได้
เหล็กไม่ทนไฟและไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา เพราะจะทำให้ขึ้นสนิม
อันส่งผลให้อาคารไม่แข็งแรง
แต่ก็สามารถป้องกันได้อาทิ ทาสีกันสนิมหรือใช้สารเคลือบเหล็กไม่ให้สัมผัสกับอากาศโดยตรง

นอกจากนี้เมืองไทยยังอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้เหล็กเกิดการขยายตัว
จึงต้องมีการเผื่อการขยายตัวบริเวณรอยต่อของเหล็กด้วย
สำหรับข้อที่หลายคนสงสัยว่า บ้านเหล็กอาจทำให้เสียงก้องภายในบ้าน
อันที่จริงแล้วสามารถแก้ไขได้ด้วยการบุยิบซัมด้านใน ซึ่งจะช่วยทั้งในด้านกันความร้อนและดูดซับเสียง

ส่วนคนที่สนใจนวัตกรรมบ้านเหล็กแต่ยังลังเลใจอยู่นั้น
สภาวิทย์ให้ข้อแนะนำว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความต้องการส่วนบุคคลมากกว่า

"ต้องเลือกเองว่า อยากได้บ้านแบบไหน เช่น
ถ้าเป็นตึกสูง การใช้เหล็กเป็นโครงสร้างก็ช่วยให้น้ำหนักเบา สามารถต่อเติมอาคารได้สูงมากขึ้น
และเสาต้นล่างๆ ที่ใช้รองรับน้ำหนัก ก็ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากถ้าเปรียบเทียบกับเสาคอนกรีต
โครงเหล็กจึงเหมาะกับอาคารที่ต้องการน้ำหนักเบา รวมทั้งอาคารช่วงกว้าง
เพราะการใช้เหล็กจะทำให้ไม่ต้องใช้เสาเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากเหล็กสามารถรองรับน้ำหนักได้มากกว่า"

เจ้าของบ้านบางคนอาจไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนในการก่อสร้างมากนัก หากแต่ใส่ใจและห่วงใยโลกมากกว่า
เหล็กอาจจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับคุณ เพราะเหล็กสามารถรีไซเคิลได้ด้วยการหลอมใหม่ทั้งหมด
หรือตัดในส่วนที่ถูกเชื่อม ตอกหมุดออกมาเป็นแผ่น แล้วนำแผ่นนั้นมาใช้ใหม่ได้เลย
ส่วนที่มีร่องรอยการเชื่อมก็สามารถนำมาหลอมขึ้นรูปใหม่
ต่างจากการใช้คอนกรีตซึ่งมาจากการระเบิดภูเขาหินปูน เมื่อนำมาใช้แล้ว
หากต้องการทุบทิ้งก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก นอกจากนำไปถมที่
และแตกต่างไปจากการนำไม้มาใช้ที่เป็นการสิ้นเปลืองทัรพยากรธรรมชาติ

'บ้านเหล็ก' จึงไม่ต่างจากบ้านทั่วไป ที่ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ



ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบ้านเหล็ก

- โครงสร้างเหล็กจะรบกวนคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ หรือระบบคลื่นสัญญาณอื่นๆ
ความจริง การรับคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์และการทำงานของระบบคลื่นสัญญาณอื่นๆ
ยังคงเหมือนกับบ้านโครงสร้างไม้และปูนซิเมนต์

- บ้านโครงสร้างเหล็กมีประสิทธิภาพต่ำกว่าบ้านโครงสร้างไม้
ความจริง บ้านโครงสร้างเหล็กช่วยป้องกันการแตกร้าวของผนัง และข้อต่อ
อันเนื่องมาจากการหดตัวหรือการคดงอของไม้ ทำให้มีการสูญเสียพลังงานจากอากาศที่รั่วไหลน้อยลง

- บ้านเหล็กจะถูกฟ้าผ่าได้โดยง่าย
ความจริง บ้านเหล็กไม่ได้ล่อฟ้ามากไปกว่าบ้านโครงสร้างไม้หรือปูนซิเมนต์เลย
เพราะมันเหนี่ยวนำไฟฟ้าลงสู่พื้นดิน

- การแขวนรูปภาพหรือสิ่งของต่างๆในบ้านเหล็กทำได้ยาก
ความจริง ตามปกติรูปภาพสามารถแขวนกับตะขอได้ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสิ่งนั้น
สำหรับวัตถุที่หนักกว่า สามารถแขวนกับสกรูที่ขันเข้าไปโดยตรงกับเกลียวยึด
(สามารถตรวจหาแนวยึดได้ด้วยแม่เหล็กธรรมดา)


ข้อมูลโดย : //www.isit.or.th
รายงานโดย : วิภานี กาญจนาภิญโญกุล
ที่มา : //www.bangkokbiznews.com


สารบัญ ตกแต่งบ้าน และ จัดสวน




 

Create Date : 25 เมษายน 2554
0 comments
Last Update : 25 เมษายน 2554 18:56:55 น.
Counter : 6335 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.