Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
5 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
ครัวของคนไทย...ในดวงใจ



อาหารไทยต้องใช้วัตถุดิบในการปรุงค่อนข้างมาก จึงไม่แปลกเลยที่ภายในครัวจะอุดมไปด้วยสารพัดเครื่องปรุง
ไม่ว่าจะเป็นหัวหอม กะปิ พริก กระเทียม น้ำปลา ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ
ไหนจะถ้วยชามรามไหและเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก ครัวไทยจึงต้องรับบทหนักมาโดยตลอด
ทำให้หน้าตาของครัวลักษณะนี้ไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย บางครั้งก็ใช้งานไม่สะดวก
เราจึงมานั่งวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ครัวของคนไทย แล้วก็พบว่า
ครัวที่จะอยู่ในดวงใจของคนไทยนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ถ่ายเท ครบครัน สะดวกใช้ ทนโขลกสับ เก็บของได้เยอะ

คอลัมน์ “DesignIDEAS” ฉบับนี้ จึงชวนคุณมาวางแผนจัดวางผังครัวไทยเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลยค่ะ...

จัดเตรียม...ให้เพียบพร้อม
พื้นที่ เตรียมอาหารไม่เพียงพอเป็นปัญหาอันดับแรกที่เราค้นพบ
วางแค่หมูเห็ดเป็ดไก่ก็เต็มพื้นที่บนเคาน์เตอร์เสียแล้ว ไหนจะไปเกะกะกับพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆอีก
การแก้ปัญหาคือการจัดเตรียมของทุกอย่างให้เรียบร้อย เก็บในที่ที่หยิบใช้ได้ง่ายและสะดวก
ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเตรียมอาหารได้

พื้นที่ไม่พอวาง
ปัญหานี้จะหมดไป ถ้าเราเตรียมพื้นที่ไว้ใกล้ส่วนเก็บของสดและของแห้ง
หยิบของออกจากตู้เย็นปุ๊บ ก็วางบนเคาน์เตอร์ได้ปั๊บ
โดยเคาน์เตอร์เตรียมอาหารควรยาวประมาณ 1.20 เมตร กำลังดี
แต่ถ้าสมาชิกภายในบ้านมีจำนวนมาก ต้องทำอาหารมื้อใหญ่ประจำ พื้นที่เตรียมก็ควรจะยาวถึง 2 เมตร



เขียงสับ
แนะนำให้เลือกซื้อเขียงที่ทำจากพลาสติกกันเชื้อรา เพราะด้วยลักษณะที่บางและเบา ทำให้ความสะอาด
และเก็บได้ง่ายกว่าเขียงไม้มาก ๆ แต่ถ้าชอบเขียงไม้จริงๆ เพราะได้อารมณ์ครัวไทยดี
ลองหามือจับเฟอร์นิเจอร์มาติดตรงขอบเขียงไม้ พอล้างเสร็จก็ยกเก็บสะดวก โยกย้ายได้ง่าย

เครื่องใช้ไฟฟ้าประจำวัน ไมโครเวฟ เครื่องชงกาแฟ เตาปิ้งขนมปัง กาต้มน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว
เหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับปากท้อง
ถ้าบ้านมีพื้นที่เพียงพอ ก็จัดที่วางเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ให้เป็นหมวดหมู่ไปเลย ทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
จากตัวอย่างในภาพ ทำชั้นวางระหว่างตู้พื้นกับตู้ลอย สำหรับวางเครื่องปิ้งขนมปังและกาน้ำร้อน
ส่วนด้านล่างวางหม้อหุงข้าวและเครื่องชงกาแฟ
แต่เวลาใช้ต้องเลื่อนหม้อหุงข้าวมาข้างหน้า ให้พ้นออกมาจากใต้ชั้นวางของ
เพื่อป้องกันความเสียหายจากไอน้ำที่พ่นออกจากหม้อ อย่าลืมติดตั้งปลั๊กไฟให้พอดีกับการใช้งานด้วย
ส่วนไมโครเวฟก็ออกแบบให้ตั้งอยู่บนแท่นวางที่สูงขึ้นมาประมาณ 15 เซนติเมตร
โดยอาจทำถาดลิ้นชักเลื่อนออกมาจากแท่นนี้ใช้วางอาหารร้อน ที่เพิ่งนำออกจาก ไมโครเวฟ

เรื่องครกๆ
เก็บครกไว้ในส่วนเตรียมอาหารจะเหมาะมาก เพราะหยิบใช้งานได้สะดวก
ถ้าทำอาหารที่ต้องใช้ครกบ่อยๆ ก็ทำที่วางอย่างเป็นทางการให้ครกซะหน่อย
โดยการก่อปูนเป็นแท่นทำเท็กซ์เจอร์หยาบๆกันลื่น ด้านบนใช้เป็นที่วางครกเวลาตำ
โดยอาจหาผ้ามารองก้นครกสำหรับกันกระแทก ส่วนด้านล่างทำเป็นช่องเก็บครก

หากไม่ได้ใช้ครกบ่อยนัก
ลองหาสตูลไม้ทรงสูง (เลือกไม้หนาๆหน่อย) ที่ใช้นั่งได้ด้วยมาวางครกก็สะดวก ระดับความสูงก็พอดีกับการตำ
เมื่อใช้เสร็จก็หาที่เก็บให้เป็นที่ เช่น ใต้เคาน์เตอร์ไอส์แลนด์ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของครัว


ปรุงสะดวก...อาหารอร่อย
ทำ อาหารทั้งทีก็อยากทำให้อร่อย แต่บางครั้งก็สับสนจะหยิบเกลือ ดันคว้าน้ำตาลมาซะอย่างนั้น
รู้ตัวอีกทีอาหารก็เสียรสชาติแล้ว ไหนจะอุปกรณครัวอีก มีเยอะจนหยิบผิดหยิบถูก
อ้อ...เจ้าถังแก๊สตัวดีด้วยที่ดูอย่างไรก็ไม่ลงตัวกับพื้นที่ในครัว ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการจัดวางที่ไม่เป็นระบบ
ทางออกที่เหมาะสมก็คือ การจัดเก็บให้เป็นที่เป็นทาง ที่สำคัญต้องหยิบสะดวก ใกล้มือด้วย

วางถังแก๊สไว้ไหนดี คำตอบคือข้างนอกบ้าน เพราะสะดวกและไม่อันตราย
ทำตู้หรือที่วางไว้ด้านนอกให้ห่างจากตัวอาคาร ระวังอย่าให้ตากแดดตากฝน แล้วเดินท่อต่อเข้ามาในตัวบ้าน
ติดตั้งวาล์วเปิด-ปิดไว้สองทาง ทั้งในและนอกบ้าน
ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญงานมาติดตั้ง เพื่อความปลอดภัย
คราวนี้เมื่อถึงเวลาแก๊สหมด คนส่งแก๊สก็ไม่ต้องเดินเข้ามาในตัวบ้าน
อ้อที่สำคัญต้องปิดวาล์วทุกครั้งหลังการใช้งานด้วย



ฮู้ดเล็ก ไม่ ! ฮู้ดใหญ่ โอเค !
นึกภาพเวลาเราไปรับประทานข้าวต้มรอบดึก ภายในร้านจะมีเครื่องดูดควันขนาดใหญ่
แบบนี้แหละที่เหมาะกับครัวไทย เพราะเราทั้งผัด แกง ทอดหอมอร่อยและสกปรกในพริบตา
อย่ามองแค่ภายนอกที่ดูใหญ่เทอะทะ เพราะเดี๋ยวนี้เขาดีไซน์ให้หน้าตาไม่ขี้เหร่
เลือกแบบที่มีมอเตอร์ดูดอากาศตั้งแต่สองตัวขึ้นไป มีกำลังดูด 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
มีฟิลเตอร์ดักจับไขมันขนาดใหญ่หลายชั้น ช่วยกรองน้ำมันไม่ให้ขังอยู่ภายใน จะช่วยให้ทำงานได้แบบมืออาชีพ
ดูดกลิ่นได้หมดจด ส่วนแบบเล็กๆ แรงดูดไม่ถึง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ก็ดูจิ้มลิ้ม หน้าตาสวยดี
แต่มีไว้ใช้กับครัวโชว์ที่ผัดสปาเกตตีหรือข้าวผัดแบบเบาๆเท่านั้น

อุปกรณ์ครัว...หยิบคล่อง
ตะหลิว ทัพพี มีด ฯลฯ เป็นอาวุธคู่มือที่คุณแม่บ้าน (หรือคุณพ่อบ้าน) ต้องมีไว้ใกล้ตัว เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน
อาจทำราวแขวนยาวไว้เหนือเตาแก๊ส หรือบนผนังในส่วนที่อยู่ใกล้มือ แล้วแขวนอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยๆ
เท่านี้ก็ดูเป็นระเบียบแล้ว

เครื่องปรุงไม่ยุ่งเหยิง เพราะในครัวไทยต้องมีเครื่องปรุงนานาชนิด จัดวางไม่ดีมีสิทธิ์เลอะและเละ
ควรออกแบบช่องใส่เครื่องปรุงที่ใช้บ่อยๆไว้ใกล้มือ เช่น ทำกล่องยาวเรียงไว้ตรงด้านติดผนัง
แต่ถ้ากลัวจะเกะกะบนเคาน์เตอร์ แนะนำให้ทำตู้เลื่อนได้มีช่องเก็บเครื่องปรุงแบบเปิด-ปิดได้อยู่ด้านบน
ซึ่งข้อดีคือสามารถเคลื่อนย้ายได้ตามใจตอนมีปาร์ตี้เอ๊าต์ดอร์



จัดให้ดี...เป็นศรีตอนเสิร์ฟ
ปรุง เสร็จแล้วก็ถึงคราวนำไปเสิร์ฟ แต่เมื่อตักอาหารใส่จานเรียบร้อยแล้วกลับไม่มีที่จะวาง
ต้องเดินไปวางถึงโต๊ะรับประทานอาหาร จะเดินกลับไปกลับมาหลายรอบทำไมให้เหนื่อย
หาที่ทางวางอาหารปรุงสุกแล้วน่าจะดีกว่า จะได้มีที่สำหรับจัดแต่งจานให้สวยน่ารับประทาน
หรือจะปรุงเพิ่ม ก่อนจะยกเสิร์ฟจริง



โต๊ะสูงแทนไอส์แลนด์
เคาน์เตอร์ลอยกลางห้องที่ฝรั่งนิยมใช้วางของ หรือเตรียมอาหาร น่าจะลองนำมาปรับใช้กับครัวไทยได้
ไอเดียแรกในภาพ A ลองออกแบบเป็นโต๊ะทรงสูง สามารถพับและยกไปเผื่อการใช้งานอื่นๆต่อได้
เหมาะสำหรับบ้านที่เคาน์เตอร์ในครัวมีพื้นที่ไม่พอวางข้าวของ หรือไม่อยากวางตู้ขนาดใหญ่ยักษ์ให้ห้องดูอึดอัด

แต่ถ้าห้องกว้างขวางพอ แนะนำให้ออกแบบเป็นครึ่งโต๊ะครึ่งเคาน์เตอร์อย่างในภาพ B
ด้านหน้าโต๊ะกั้นให้ดูกลมกลืน มิดชิดแบบเป็นเคาน์เตอร์ ส่วนด้านหลังโปร่งดูเหมือนโต๊ะใช้วางของได้
บนโต๊ะใช้วางอาหารรอเสิร์ฟ หรือวางเครื่องปรุง
ด้านล่างสามารถเก็บหม้อ กระทะ หรืออุปกรณ์ครัวไทยชิ้นใหญ่ที่ไม่ได้ใช้บ่อยด้วยก็ได้

ทางสัญจร..อ้อนขอพื้นที่
พื้นที่สัญจรภายในครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าแคบไปอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำอาหารได้
เช่น ถือมีดหันไปหันมา ถ้าช่วยกันทำครัวอาจพลาดโดนกันเองได้ ยิ่งครัวไทยมีการเตรียมการหลายเรื่อง
ทางสัญจรก็ควรมีความกว้างสักหน่อยประมาณ 1-1.20 เมตรเป็นอย่างน้อย



ล้างจานง่าย...ไฉไลกว่าเดิม
“การล้างจาน” ถือเป็นงานลำบาก (ใจ) ของใครบางคน
แต่ถ้าเราแก้ปัญหาได้ถูกจุด ก็จะทำให้ใช้งานได้สะดวกสบายขึ้นเยอะ

ล้างแล้วคว่ำตรงไหนดี ที่ที่เหมาะสมมากที่สุดคือใกล้อ่างล้างจาน
เพราะหยดน้ำจากจานชามที่เพิ่งล้างเสร็จใหม่ๆ จะไม่เลอะเทอะไปไหนไกล
หากมีตู้แขวนเหนืออ่างล้างจาน เจาะด้านล่างของตู้แขวนให้เป็นช่องพอดีกับอุปกรณ์คว่ำจาน
สเตนเลสสำเร็จรูป ใช้เป็นทั้งชั้นคว่ำและตู้เก็บจานชามได้ในคราวเดียวกัน ประหยัดพื้นที่ดี

หรือกรณีไม่มีตู้แขวน
ลองหาอุปกรณ์สำเร็จรูปที่เป็นรางเล็กๆ หรือราวแขวนยึดกับผนังที่สามารถติดตั้งที่คว่ำจานได้
ถ้าจะให้ดีควรอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี หรือมีแสงแดด

ขยะเปียก ขยะแห้ง แยกกัน
ก่อนล้างจาน ควรแยกเศษอาหารที่เป็นขยะเปียก และเศษขยะห่อหุ้มอาหารที่เป็นขยะแห้งก่อนก็ดี
เพื่อความเป็นระเบียบ และไม่ทำให้ขยะเกิดการหมักหมมมากนัก
นำไอเดียบานผลักมาใช้ในแนวระนาบเดียวกับท็อปเคาน์เตอร์ และติดตั้งถังขยะไว้ภายในตู้
สามารถกวาดเศษอาหารที่หกเลอะเทอะลงในถังขยะได้ทันที
จัดระเบียบโดยแบ่งช่องซ้าย - ขวา เพื่อเป็นขยะเปียกและขยะแห้ง ที่สำคัญอย่าลืมเก็บขยะจากครัวไปทิ้งทุกวันด้วย

ก๊อกน้ำไปไม่ถึง
ก๊อกน้ำเล็กเกินไป ไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ล้างจานได้หมด ลองเปลี่ยนเป็นประเภทถอดออกจากตัวก๊อกได้
หรือหัวก๊อกติดตั้งพร้อมสายอ่อน ฉีดล้างทำความสะอาดได้ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม
ถ้าต้องการความสะดวก อาจเลือกก๊อกน้ำที่รวมหัวก๊อก
หรือแยกหัวก๊อกประเภทน้ำใช้ – น้ำดื่ม ติดตั้งไว้ในบริเวณใกล้ๆกัน ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นเยอะเลย

ที่กรองน้ำ...ทุกบ้านต้องมี
ส่วนใหญ่เรามักเห็นว่าเครื่องกรองน้ำจะติดตั้งเหนืออ่างล้างจาน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
แต่หากมีพื้นที่น้อย และเครื่องกรองมีขนาดไม่ใหญ่และไม่มีปัญหาเรื่องความดันน้ำ ก็ติดตั้งไว้ใต้อ่างล้างจาน
แล้วเดินสายอ่อนจากเครื่องกรองต่อเข้ากับหัวก๊อกที่เตรียมไว้ จะประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า
แต่ถ้าเครื่องกรองน้ำใหญ่เกินไป หรือมีปัญหาเรื่องแรงดัน หาพื้นที่ที่เหมาะสมยึดติดกับผนังที่แข็งแรง
หรือติดตั้งไว้นอกบ้านบริเวณที่มีหลังคาคลุม แล้วเดินท่อน้ำสู่ภายในครัว
ก็ทำให้ไม่เกะกะพื้นที่ภายใน และยังใช้งานสะดวกมากขึ้น



เก็บเยอะ แต่พื้นที่น้อย
อุปกรณ์ครัวไทยมีหลากหลาย ประเภท ทั้งจาน ชาม ช้อน ส้อม กระทะ หม้อ ฯลฯ การจัดเก็บจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แต่จะทำ อย่างไรให้หยิบฉวยได้สะดวกและไม่เปลืองพื้นที่ รวมถึงต้องมิดชิดห่างจากสัตว์ต่างๆที่ไม่พึงประสงค์
ลองมาดูกัน

ตู้กับข้าวจำเป็นเสมอ ครัวของคนไทยอย่างไรก็ต้องมีตู้กับข้าว
เพราะวัฒนธรรมการกินของคนไทยตรงกับสำนวนที่ว่า “เผื่อเหลือเผื่อขาด” คือ
ชอบทำอาหารไว้มากพอสำหรับเป็นกับข้าวมื้อต่อไปได้ด้วย

ตู้กับข้าวจะช่วยให้การเก็บกับข้าวที่เหลือ ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยจากสัตว์ ไม่พึงประสงค์
ควรเลือกตู้กับข้าวที่มีหน้าบานโปร่งเข้าไว้ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ระวังบริเวณขาตู้กับข้าวเป็นพิเศษ
หาถ้วยพลาสติกมาวางซ้อนกันใส่น้ำไว้ตรงกลาง เพื่อป้องกันมด
อย่าลืมหาปลามาเลี้ยง หรือใส่เกลือ หรือน้ำส้มสายชู เพื่อไม่ให้ยุงมาแพร่พันธุ์ได้

เก็บจานชามโชว์และใช้
แยกประเภทจานชามที่ใช้บ่อยๆเก็บไว้ในลิ้นชักส่วนไอส์แลนด์ หรือใกล้กับส่วนเตรียมอาหาร
เพื่อจะได้หยิบใช้สะดวก ส่วนจานชามที่สวยหน่อยก็เก็บไปไว้ในตู้แขวนบานเปิดกระจก
เลือกสีสันและรูปแบบที่คล้ายๆกัน จัดวางให้เป็นระเบียบ ก็กลายเป็นของตกแต่งครัวได้เลย
แต่ถ้ามีมากจนเรียกว่าเป็น “ของสะสม” ให้แยกไปเก็บที่อื่นจะดีกว่า จะได้ไม่กินพื้นที่ในครัว

ของใหญ่ๆเก็บที่ไหน
ไม่ว่าจะเป็นกระทะ หม้อเล็ก หรือหม้อใหญ่ ต้องผึ่งให้แห้งก่อนเก็บ
หากเป็นหม้อใบเล็กก็จัดเก็บแบบซ้อนๆกันในลิ้นชักได้
แต่ถ้าเป็นหม้อใบใหญ่หรือกระทะ ควรเก็บในตู้เคาน์เตอร์ที่ลึกประมาณ 60 – 80 เซนติเมตร
ด้านในทำเป็นชั้นตะแกรง (ไม้/เหล็กเคลือบพลาสติก/สเตนเลส) หรือชั้นวางสำเร็จรูป
ให้เหมาะกับความสูงและความลึกของตู้ เลือกอุปกรณ์ที่ใช้งานบ่อยที่สุดไว้ใกล้มือ
เพื่อให้เกิดความคล่องในการใช้งาน ข้างบานเปิดทำเป็นระแนงเพื่อไว้เสียบฝาหม้อ
ลดปัญหาการหาฝาหม้อไม่เจอ!

เก็บข้าวสาร - อาหารแห้ง หาถังพลาสติกไร้กลิ่นที่มีฝาปิดมิดชิดสักใบไว้เก็บข้าวสาร
ป้องกันมดแมลงขึ้นด้วยการหาใบมะกรูดมาใส่ในถังด้วย
วางไว้ในตู้เคาน์เตอร์ด้านล่างที่ห่างจากความชื้นและความร้อน หรือจะเก็บในโอ่งดินเผาแบบคนสมัยก่อนก็เข้าท่า
แนะนำให้ใช้ฝาปิดดินเผาด้วย ข้อดีคือความเย็นตามธรรมชาติของดินทำให้มดและมอดไม่ขึ้น และไม่มีกลิ่นอับชื้น
ในตู้เคาน์เตอร์เดียวกันนี้ยังใช้เก็บอาหารแห้ง อาหารกระป๋องได้ด้วย เป็นเหมือนตู้สต๊อกอาหารของบ้าน
ด้านบนถ้ามีพื้นที่เหลือ ก็รวบรวมกล่องทับเบอร์แวร์ต่างขนาดเก็บไว้ด้วยกัน ช่วยให้สะดวกในการค้นหา
หน้าบานเปิดใช้กระดานไวท์บอร์ดแม่เหล็ก ใช้จดอาหารในสต๊อก หรือทิ้งโน้ตไว้ให้สมาชิกในบ้านก็ไม่เลว

เก็บ – แยกถุง (ใช้แล้ว)...ไว้ใช้ใหม่
ควรแยกถุงพลาสติกที่เลอะใช้เป็นถุงขยะ ส่วนถุงพลาสติกที่ไม่เลอะก็นำกลับมาใช้ใหม่
โดยทำที่เก็บถุงเองแบบง่ายๆ ใช้พื้นที่หลังบานเปิดตู้ล่างของอ่างล้างจาน
หากระบอกกระดาษหรือพลาสติกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตรมาติด
แล้วเจาะช่องไว้ดึงถุงจากด้านล่าง หรือจะหาตะขอที่มีขอเกี่ยวลึกหน่อยจำนวน 2 อันมาติดไว้หลังบานเปิดตู้
ก็ทำให้การจัดเก็บถุงพลาสติกกลายเป็นเรื่องสนุกได้


เรื่อง: “JEAB_JEAB” , “RoO”
ภาพประกอบ: JEAB_JEAB, RoO และปันปัน
ที่มา //www.baanlaesuan.com/house_preview.aspx?articleId=2828


สารบัญค้นเรื่อง แต่งบ้าน จัดสวน ที่มีในบล็อกค่ะ
คลิกที่นี่ค่ะ




Create Date : 05 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2552 14:43:40 น. 1 comments
Counter : 1535 Pageviews.

 
ดูสะอาดตาดีค่ะ

ขออนุญาตเอา idea นี้ไปลองจัดครัวที่บ้านบ้างนะคะ
ชอบค่ะ




โดย: ธารน้อย วันที่: 7 พฤศจิกายน 2552 เวลา:2:55:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.