Group Blog
 
All blogs
 

“คอเลสเตอรอล” ไขมันแห่งชีวิต


“คอเลสเตอรอล” ไขมันแห่งชีวิต

คอเลสเตอรอล คือ ไขมันประเภทหนึ่ง มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว พบได้ในเซลล์ของอวัยวะทั่วไปในร่างกาย จินตนาการง่ายๆ ว่าส่วนประกอบที่เป็นของเหลวในตัวเรา ล้วนมีคอเลสเตอรอลแทรกซึมเป็นเจ้าถิ่นอยู่ทุกอณู ไม่เว้นแม้แต่ส่วนสำคัญที่สุดอย่างก้อนไขมันทรงประสิทธิภาพที่เรียกว่า สมอง

คอเลสเตอรอลมีบทบาทสำคัญหลายประการอย่างที่เราคาดไม่ถึง ทั้งเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยในการส่งผ่านสารละลายต่างๆ เข้าออกเซลล์ หรือรับส่งสัญญาณมาสู่เซลล์ และยังเป็นสารตั้งต้นการสร้างน้ำดีสำหรับย่อยไขมันที่เรากินเข้าไป รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการผลิตสารจำพวกสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนที่ไปควบคุมระบบเกลือแร่และการทำงานของไต เป็นต้น

ถ้าคุณคิดว่าคอเลสเตอรอลส่วนใหญ่มาจากอาหารแล้วล่ะก็ เปลี่ยนความคิดใหม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่แล้วตับของคุณสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง และเพราะคอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดไม่ละลายในน้ำ ก่อนร่างกายนำไปใช้จึงต้องมีการรวมตัวเข้ากับโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ อะโพโปรตีน (apoprotein) เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นไลโพโปรตีน (lipoprotein) หน้าตาคล้ายไข่แดงที่ถูกหุ้มด้วยไข่ขาว หลังเสร็จสิ้นการเปลี่ยนรูปร่าง คอเลสเตอรอลในรูปแบบไลโพโปรตีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางกระแสเลือด เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

คอเลสเตอรอลหายไปไหน

นายแพทย์เจริญลาภ อุทานปทุมรส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายว่า “คอเลสเตอรอลส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นน้ำดีหรือน้ำย่อย และอีกส่วนนำไปสร้างไลโพโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ วีแอลดีแอล (VLDL: Very Low-Density Lipoprotein) ซึ่งประกอบไปด้วยไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นส่วนใหญ่ มีคอเลสเตอรอลอยู่เล็กน้อยพร้อมโปรตีนที่ช่วยให้มันละลายอยู่ในเลือดได้ ระหว่างทางที่วีแอลดีแอลเดินทางในเส้นเลือด จะมีเอนไซม์ที่ย่อยเอาไตรกลีเซอร์ไรด์ไปใช้ ซึ่งไตรกลีเซอร์ไรด์นี้ให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนถึง 2 เท่า ช่วยในการสร้างน้ำนม เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของกล้ามเนื้อและหัวใจ

ไตรกลีเซอร์ไรด์ที่ใช้ไม่หมดจะถูกนำไปเก็บไว้ในไขมัน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง เมื่อไตรกลีเซอร์ไรด์ถูกดึงออกไปจากวีแอลดีแอลหมดแล้วจะเหลือเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่สุด ในชื่อ แอลดีแอล (LDL: Low-Density Lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี แต่ยังมีประโยชน์คือ เมื่อผ่านไปถึงอวัยวะไหน ก็จะถูกดึงคอเลสเตอรอลไปใช้งานได้ทันที เมื่อวนครบทุกส่วนแล้วหากแอลดีแอลยังถูกใช้ไม่หมด ก็จะถูกลำเลียงเข้าสถานีสุดท้ายคือตับ ซึ่งตับก็จะนำแอลดีแอลที่เหลือนี้ไปสร้างเป็นวีแอลดีแอลอีกครั้ง เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป

แอลดีแอล VS เอชดีแอล กำเนิดไขมันตัวร้าย ตัวดี

จริงๆแล้วทั้งแอลดีแอลและเอชดีแอลมีที่มาเหมือนกัน คือเป็นคอเลสเตอรอลในรูปไลโพโปรตีน แต่แตกต่างกันที่น้ำหนักของโมเลกุล มวลที่มีโมเลกุลคอเลสเตอรอลมากกว่า เรียกว่า แอลดีแอล หรือไขมันตัวร้ายร้าย ที่แม้จะมีข้อดีอยู่บ้างแต่ข้อร้ายที่ปรากฎคือ นำไขมันและไตรกลีเซอร์ไรด์ออกจากตับไปสะสมไว้ตามหลอดเลือด สร้างปัญหาให้แก่หลอดเลือด

คนที่กินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและคอเลสเตอรอล เมื่อรวมกับที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลออกมาตามปกติ จะทำให้วัฏจักรคอเลสเตอรอลในร่างกายไม่สมดุล คือมีมากจนเกินพอดี เหลือใช้ ตับทำลายไม่ทัน บางส่วนจึงเหลือรอดออกไปสะสมตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงบริเวณนั้นสูญเสียการทำงาน ทั้งตีบ ตัน หรือแตก เป็นเหตุให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมา

ส่วนมวลที่มีโมเลกุลของคอเลสเตอรอลน้อยกว่า เรียกว่า เอชดีแอล (HDL: High density Lipoprotein) อุดมไปด้วยฟอสโฟลิพิด มีหน้าที่ทำความสะอาดหลอดเลือด เก็บคราบไขมันที่แอลดีแอลทิ้งไว้กลับคืนมาที่ตับ แล้วขับออกทางน้ำดี ส่วนหนึ่งจะถูกไฟเบอร์ในอาหารจับและขับออกทางอุจจาระ จะเปรียบเอชดีแอลว่าเป็นผู้พิทักษ์ความสะอาดก็คงไม่ผิดนัก

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งไขมันร้าย คอยเสริมการทำงานของแอลดีแอล นั่นคือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ที่คอยขัดขวางการทำงานของเอชดีแอล และเมื่อใดที่ร่างกายเรามีโรคอย่างความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน เจ้าไตรกลีเซอร์ไรด์และแอลดีแอล ก็พร้อมปฏิบัติการขั้นสุดยอด ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

อันตรายจากไขมันร้าย แอลดีแอล

นพ.ธีระพร ไทยจินดา อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เล่าว่าในคนปกติ ที่ไม่มีความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน แม้ผลตรวจร่างกายจะบอกว่าคุณมีปริมาณแอลดีแอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง ทั้งยังมีค่าเอชดีแอลที่ต่ำ ก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะเจ้าไขมันวายร้าย 2 ชนิดนี้ จะออกฤทธิ์วาดลวดลายได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเรามีอาการของโรคสองชนิดข้างต้นเท่านั้น ถ้าเรายังแข็งแรงดีวายร้ายก็จะไม่มีพิษสงอะไรเลย แต่ถ้าคุณมีอาการของโรคใดโรคหนึ่ง หรือทั้งสองโรค กอปรกับอายุที่มากขึ้น แอลดีแอลก็จะได้ใจพร้อมทำร้ายอวัยวะสำคัญๆ อย่างหัวใจ สมอง และตับ ไต ได้อย่างน่ากลัว

คอเลสเตอรอลกับหัวใจ จากการวิจัยของต่างประเทศพบว่า คอเลสเตอรอลเริ่มสะสมตามหลอดเลือดหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี และจะอันตรายยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลมากกว่าปกติ หากพบว่ามีความเสี่ยงดังกล่าวและผลตรวจร่างกายชี้ชัดว่ามีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง ควรรีบไปพบแพทย์

คอเลสเตอรอลกับสมอง เมื่อคอเลสเตอรอลเข้าไปสะสมในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่ว่าจะบริเวณใดก็ตาม จะก่อให้เกิดความผิดปกติบริเวณนั้นๆ เช่น หากเส้นเลือดบริเวณสมองส่วนควบคุมการทรงตัวเกิดตีบ ตัน หรือแตก ร่างกายก็สูญเสียการควบคุมการทรงตัว กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือพาร์คินสัน หากเกิดกับเส้นเลือดสมองส่วนควบคุมการรับรู้ อาจทำให้ความจำเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์ เป็นต้น แต่ก่อนที่อาการผิดปกติของเส้นเลือดจะส่งผลถึงสมอง มักจะเกิดขึ้นกับหัวใจก่อนเสมอ

คอเลสเตอรอลกับตับและไต หากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับหรือไตเกิดอาการตีบ แตกหรือตัน ก็อาจทำให้ตับหรือไตสูญเสียการทำงาน ถึงขั้นตับวายหรือไตวายจนเสียชีวิตได้
สรุปแล้ว คอเลสเตอรอลจะทำร้ายเราได้ต่อเมื่อเราเป็นโรคหรือเสี่ยงกับโรคอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และโดยธรรมชาติ คอเลสเตอรอลจะไปฝังตัวเป็นคราบอยู่ตามเส้นเลือดแดงหลักที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ การที่จะเกิดอันตรายใดๆ หรือรุนแรงแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับว่าเส้นเลือดที่มีปัญหานั้นอยู่บริเวณไหนและโดนทำลายไปมากเพียงใด คำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่าถึงเวลาลดคอเลสเตอรอลหรือยัง จะอยู่ในสมุดรายงานการตรวจร่างกายประจำปีของคุณ นอกจากนี้ วิธีการป้องกันที่สุดคือ การออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน จะช่วยเพิ่มปริมาณเอชดีแอล เพื่อต่อกรกับแอลดีแอลและไตรกลีเซอร์ไรด์อย่างได้ผล

ส่วนการควบคุมอาหารและรับประทานอาหารที่ให้แอลดีแอลต่ำก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ยังให้ผลน้อยกว่าการออกกำลังกายค่ะ





อ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์ Health นิตยสาร Health & Cuisine ปีที่ : 9 ฉบับที่ : 101 เดือน : มิถุนายน 2552




 

Create Date : 11 มกราคม 2553    
Last Update : 11 มกราคม 2553 16:55:13 น.
Counter : 383 Pageviews.  

AHA & BHA สารนี้วิเศษแค่ไหน

AHA & BHA สารนี้วิเศษแค่ไหน (มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค)

สารเคมีกลุ่ม "'เอเอชเอ" (AHA) และ "บีเอชเอ" (BHA) หรือเรียกชื่อเต็มโดยทั่วไปว่า แอลฟ่าไฮดรอกซี่แอซิด (alpha-hydroxy acid) ได้รับความนิยมนำมาผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบัน

สารทั้งสองนี้มีผสมอยู่ในเครื่องสำอางสารพัดรูปแบบ เช่น ครีมหน้าขาว ครีมลดริ้วรอย ครีมพอกและลอกหน้า รวมทั้งผสมในแชมพูสระผม สบู่อาบน้ำ และอื่นๆ มีทั้งชนิดที่เป็นเคมีสังเคราะห์ และชนิดที่สกัดได้จากผลไม้ เช่น มะขามป้อม แอปเปิ้ล ส้ม สาลี่ ฝรั่ง อ้อย ฯลฯ มีรายงานว่า ในปี พ.ศ.2543 ยอดจำหน่ายของเครื่องสำอางที่ผสมสารดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญ

กลไกการออกฤทธิ์ของสารทั้งสองชนิดคล้ายคลึงกันคือ เร่งการหลุดลอกของเซลผิวเก่าที่ตายแล้วหรือเสื่อมสภาพแล้วให้ออกจากผิวหน้า เพื่อให้ผิวหนังสร้างเซลผิวใหม่ ทำให้ผิวหน้าแลดูขาว เนียน และสดใสขึ้น ผิวหนังใหม่จะหนาขึ้นทำให้ริ้วรอยแลดูจางลง สารทั้งสองชนิดสามารถแทรกซึมเข้าสู่ผิวหน้าในชั้นที่ลึกลงไปได้ดี ทำให้มีการนำมาใช้ในเครื่องสำอางแก้สิวเสี้ยน เนื่องจากกลไกการหลุดลอกหัวสิว ทำให้รูขุมขนเปิดกว้าง การชะล้างสิ่งสกปรกทำได้ง่ายขึ้น

ประสิทธิภาพของเครื่องสำอางเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและพีเอช หรือความเป็นกรดด่างของผลิตภัณฑ์ จะได้ผลดีถ้าผลิตภัณฑ์มี พีเอช ระหว่าง 3.0-3.5 หากมีความเข้มข้นสูงเกินไป จะทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้ ผิวไหม้ อักเสบ แสบ คัน และระคายเคือง แต่ถ้าผลิตภัณฑ์มีพีเอชสูงกว่าที่กำหนด ประสิทธิภาพจะต่ำหรือไม่ได้ผลเลย เนื่องจากสารทั้งสองชนิดมีคุณสมบัติสามารถแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นที่ลึก ลงไปได้ดี เมื่อใช้ไปนานๆ หรือใช้ประจำ การสะสมใต้ผิวหนังจะก่อให้เกิดอาการแพ้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีรายงานการวิจัย ทางการแพทย์แล้วว่า จะทำให้ผิวหนังไวต่อรังสีดวงอาทิตย์ ผิวหนังอาจไหม้ เป็นผื่น อักเสบ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกคำเตือนเมื่อ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2548 ว่าผู้ที่ใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสาร AHA และ BHA จำเป็นต้องทาครีมกันแดดทับแทบทุกครั้ง และเมื่อหยุดใช้ ยังต้องทาครีมกันแดดต่ออย่างน้อยอีก 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันผิวหน้าจากรังสีดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามหากมีการนำเครื่องสำอางกลุ่มนี้ไปทาบริเวณผิวหนังที่ไม่ได้รับ รังสีดวงอาทิตย์ หรือบริเวณปกปิดของร่างกาย ก็ไม่จำเป็นต้องทาครีมกันแดดทับ

มีรายงานการวิจัยที่น่าสนใจที่พบว่า ผู้ที่ใช้เครื่องสำอางผสม AHA และ BHA เป็นประจำเป็นเวลานาน เพื่อหวังผลไม่ให้ผิวหน้าเหี่ยวย่น หรือหน้าขาว อาจจะส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะธรรมชาติของผิวหนังที่ได้รับการกระตุ้นบ่อยเกินไปเป็นประจำ จะทำให้เซลผิวชะงักและชะลอการสร้างเซลใหม่ เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ชะงักการเจริญเติบโตจะไม่ผลิใบใหม่ หรือผลิลดลงอย่างผิดปกติ นอกจากนั้นยังมีรายงานวิจัยว่า สารทั้งสองกลุ่มไม่เหมาะสำหรับใช้กับผิวหนัง คนเอเชียและคนผิวคล้ำดำ เพราะอาจทำให้ผิวเกิดรอยด่างดำ ความไม่สม่ำเสมอของสีผิวหน้าได้





แหล่งที่มา kapook.com





 

Create Date : 11 มกราคม 2553    
Last Update : 11 มกราคม 2553 1:54:23 น.
Counter : 431 Pageviews.  

ข้อดี-ข้อเสียสารAHA จากผลไม้สู่เครื่องสำอาง

ข้อดี-ข้อเสียสารAHA จากผลไม้สู่เครื่องสำอาง




ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างออกไปเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ผลิตพยายามสรรหาส่วนผสมในเครื่องสำอางออกมาดึงดูดลูกค้า

ศ.น.พ.ปิติ พลังวชิรา ผอ.ศูนย์โรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผู้เชี่ยวชาญด้านด้าน Antiaging Medicine อธิบายถึงสารพิเศษในเครื่องสำอางว่า ในเครื่องสำอางมีส่วนประกอบของส่วนผสมต่างๆ แต่ผู้บริโภคจำนวนมากไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องสำอางที่ซื้อมาใช้ และไม่รู้ว่าสารพิเศษแต่ละชนิดมีคุณสมบัติอย่างไร มีส่วนทำให้ผิวพรรณของตัวเองดีขึ้นได้อย่างไร

1. AHA (Alphahydroxy acid) เป็นสารที่พบในผลไม้และพืชผักหลายชนิด เป็นสารสกัดจากธรรมชาติพบได้ในแอปเปิ้ล ลูกพีช อ้อย องุ่น มะขาม สตรอเบอร์รี่ แครอต แตงกวา และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว

สารตัวนี้รู้จักมานานแล้วตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณโดยผู้หญิงตะวันตกได้มีการนำไวน์เก่ามาทาผิวเพื่อรักษาผิวพรรณ บางครั้งก็ใช้องุ่น แตงกวา หรือมะเขือเทศ มาทาบริเวณใบหน้า แต่เดิมการใช้ AHA เพื่อรักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น โรคผิวแห้ง โรคผิวหนังแข็งนูน เป็นสะเก็ดจากแสงแดด รอยกระสีคล้ำมีลักษณะเป็นปื้นใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุจากแสงแดด นอกจากนี้ AHA ยังมีประโยชน์กับการลอกผิว รักษาหูด รอยเหี่ยวย่นจากแสงแดด หรือรอยคล้ำ

จากคุณสมบัติของ AHA จึงทำให้วงการเครื่องสำอางนำมาพัฒนา เติมสารตัวนี้ลงไปในเครื่องสำอาง ให้มีคุณสมบัติช่วยดูแลผิวพรรณให้ดูอ่อนนุ่ม ลดรอยเหี่ยวย่น เพราะกลไกการออกฤทธิ์ของ AHA จะเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมสมดุลของความชุ่มชื้นของผิวให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นเซลล์ที่ตายแล้วแต่ยังจับกันแน่นให้หลุดออก ทำให้มีการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทน ทำให้ผิวหนังดูสดใส ช่วยรักษาสิวเสี้ยน และทำให้มีการลอกหลุดของเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า จึงสามารถรักษาโรคขนคุด โรคหูด และยังสามารถเพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจน และองค์ประกอบในหนังกำพร้า จึงนำมารักษาแผลเป็นตื้นๆ ได้ แต่ข้อเสียคือเวลาใช้อาจเกิดการระคายเคือง รู้สึกตึงหรือคันยิบๆ ได้

AHA ที่นำมาใช้มีหลายชนิด เช่น กรดไกลโคลิก ซึ่งได้มาจากอ้อย กรดแล็กติกได้จากนำเปรี้ยว กรดมาลิก ได้จากแอปเปิ้ล กรดทาร์ทาริก ได้จากมะขามหรือไวน์ที่บ่มนานๆ กรดซิตริกได้จากผลไม้จำพวกส้มชนิดต่างๆ

ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผสม AHA ปกติจะใช้ความเข้มข้นของกรดต่ำ ประมาณร้อยละ 4-6 ส่วนที่ทำขึ้นในโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์ผิวหนัง AHA ซึ่งมีความเข้มข้นสูง ประมาณร้อยละ 40-70 เพื่อปรับสภาพผิวลบริ้วรอยเหี่ยวย่นตื้นๆ รอยดำคล้ำ รอยแผลเป็นจากสิว โดยใช้ระยะเวลาต่างๆ กันตามดุลพินิจของแพทย์

แพทย์มักแนะให้ผู้ใช้ เมื่อทาน้ำยาแล้วให้ล้างออก และประคบเย็น โดยให้ทำทุก 2-4 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน และทำซ้ำทุก 1-2 เดือน หลังจากนั้นอาจใช้ AHA ความเข้มข้นต่ำมาใช้เองที่บ้าน เพื่อคงสภาพผิวให้สดใสและนุ่มเนียนตลอดเวลา

ต้องจำไว้เสมอว่าหลังทำ AHA treatment ถ้าเป็นไปได้ควรทายากันแดด หลีกเลี่ยงแสงแดด หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่างๆ หรือสบู่ชนิดแรงบริเวณผิวหน้า 4-5 วัน เพราะอาจทำให้ผิวลอกมากและไหม้ได้ และหลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสำอางและยาอื่นได้ตามความปกติ

ในบางประเทศถือว่า AHA เป็นยาเหมือนกรดวิตามินเอ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการและหน้าที่ของผิวหนัง จึงต้องให้แพทย์เท่านั้นเป็นผู้ตรวจและสั่งยา ขณะที่การทำเบบี้เฟรซตามร้านเสริมสวยในเมืองไทย ใช้กรดซึ่งรุนแรงกว่า AHA โดยผู้ทำส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ จึงน่าวิตกว่าถ้าทำด้วยขั้นตอนที่ไม่ถูกหลักจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงและเกิดอันตรายต่อใบหน้าได้


ที่มา ข่าวสด




 

Create Date : 10 มกราคม 2553    
Last Update : 10 มกราคม 2553 1:54:42 น.
Counter : 1361 Pageviews.  

อาหารสุขภาพแนว Raw Food

รอว์ฟู้ดหากแปลตรงตามความหมายคืออาหารดิบ แต่ตามทฤษฎีรอว์ฟู้ดหมายถึงอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนหรือดัดแปลงด้วยความร้อนที่สูงกว่า 42-47 องศาเซลเซียส หรือ 108-118 องศาฟาเรนไฮต์ เพราะหากใช้ความร้อนที่สูงเกินกว่านี้จะทำให้คุณค่าอาหารสูญเสียไปเมื่อนำอาหารนั้นมาผ่านความร้อน ความร้อนไม่เพียงแต่ทำให้สารอาหารสูญเสียไปเท่านั้น เอนไซม์ (enzyme) หรือโปรตีนอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีความซับซ้อนสร้างขึ้นในเซลล์ของพืชและสัตว์ก็ถือเป็นอีกสิ่งที่จะเหือดหายไป ซึ่งเอนไซม์นี้เองจะทำให้เกิดการย่อยอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายก็จะได้รับคุณค่าประโยชน์แท้จริง

เอนไซม์มีอยู่ทั้งในของสดและของแห้ง ในผักผลไม้ล้วนแต่มีเอนไซม์ในตัวของมันเอง และพร้อมที่จะสลายไปทุกเมื่อหากผ่านความร้อน หรือกระทั่งถั่ว หรือเมล็ดพืชแห้งก็ยังคงมีเอนไซม์เหมือนกัน แม้ว่าถั่วกับเมล็ดพืชจะแห้ง แต่เป็นการทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ หรือเป็นการทำแห้งตามธรรมชาติภายใต้การทำงานของแสงอาทิตย์ รวมทั้งยังมีกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยปกป้องเอนไซม์ไม่ให้สูญสลายไปโดยจะมีชั้นเคลือบที่เป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์

เอนไซม์ไม่เพียงแต่มีในพืช ผัก ผลไม้เท่านั้น ยังมีในเนื้อสัตว์ด้วย จึงทำให้บางตำราอาหารรอว์ฟู้ดถือว่าซาชิมิ เนื้อสัตว์อื่นๆ หากรับประทานดิบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ชีสที่ได้จากนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรเซชั่น ก็ถือเป็นอาหารรอว์ฟู้ดเพราะไม่ได้ผ่านความร้อนด้วย

นอกจากเอนไซม์จะมีคุณค่าอย่างมากในอาหารแนวรอว์ฟู้ด คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย จากคุณสมบัติพิเศษของคลอโรฟิลล์ที่ช่วยสังเคราะห์แสงในพืชนี่เองจึงทำให้นักทฤษฎีรอว์ฟู้ดเชื่อว่าหลักการดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้ในระบบร่างกายมนุษย์ โดยคลอโรฟิลล์จะถูกดูดซึมทันทีที่เข้าสู่ร่างกายและทำหน้าที่เป็นเหมือนเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยให้อัวยวะต่างๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนได้ดี ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นคลอโรฟิลล์ยังช่วยสร้างสภาวะที่ไม่เป็นมิตรต่อการทำงานของแบคทีเรียอันเป็นบ่อเกิดโรคร้าย ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่างๆและแผลสดก็จะหายเร็ว สามารถล้างพิษออกจากตับซึ่งเป็นแหล่งสะสมของน้ำมันที่เป็นพิษต่อร่างกาย

อาหารที่มากไปด้วยคลอโรฟิลล์ก็ได้แก่ พืชต้นอ่อนกับเมล็ดที่เพิ่งงอก ไม่เพียงแต่พืชเหล่านี้จะเต็มไปด้วยมีคลอโรฟิลล์เท่านั้น เอนไซม์นานาชนิดและวิตามินบีที่จำเป็นต่อร่างกายก็มีอยู่อย่างไม่อั้น และแทบไม่น่าแปลกใจเลยที่น้ำสกัดจากต้นอ่อนของพืช โดยเฉพาะจากต้นอ่อนของข้าวสาลีพันธุ์ฤดูหนาว (Hard Winter Wheat) หรือ วีทกลาส (Wheat Grass) จะเป็นเครื่องดื่มที่ชาวรอว์ฟู้ดโปรดปรานสุดเช่นกัน

โดยทั่วไปมนุษย์กินอาหารหลักอยู่ 5 หมู่ ซึ่งประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน แต่สำหรับชาวรอว์ฟู้ดแล้ว อาหารที่พวกเขากินกันหลักก็ได้แก่ คลอโรฟิลล์ จากพืชใบเขียวที่จะทำหน้าที่ไม่ต่างจากโปรตีน แต่เป็นแหล่งโปรตีนที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ น้ำตาล จากพืชที่มีรสหวาน ไขมัน จากพืชที่มีไขมันสูง ถั่วเมล็ดต่างๆ รวมทั้งมะพร้าว สุดท้ายคือ น้ำธรรมชาติบริสุทธิ์ จากพืชที่รสไม่หวาน เพียงเท่านี้ร่างกายของชาวรอว์ฟู้ดก็สุขีอักโขอย่างไม่น่าเชื่อ

การกินอาหารรอว์ฟู้ดแบ่งได้ 4 ทาง ได้แก่ พืชผักสด (Fresh Food) เป็นอาหารที่พร้อมกินได้ทันทีไม่ต้องดัดแปลงอะไรอีกเลย เช่น สลัด ผลไม้สด น้ำผลไม้สกัด นอกจากพืชผักที่เรารับประทานได้สดๆ แล้วยังสามารถนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติให้เกิดเป็น อาหารหมัก (Cultured Food) ได้ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอาหารประเภทนี้ คือกิมจิของชาวเกาหลี เต้าหู้บางชนิดของชาวจีน มิโซของชาวญี่ปุ่น โดยอาหารหมักนี้จะมีเชื้อแบคทีเรีย สายพันธุ์อซิโดฟิลลัสที่เจริญเติบโตในธรรมชาติ มีประโยชน์กับระบบย่อยอาหารของมนุษย์อย่างมาก เพราะจะเข้าไปช่วยย่อยอาหารในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างเต็มร้อย การเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์เหล่านี้ยังมีผลให้แบคเรียที่เป็นพิษต่อระบบย่อยอาหารไม่สามารถเจริญเติบโตได้ โอกาสในการเกิดโรคอาหารเป็นพิษจึงลดลง

ถั่วและเมล็ดพืชแห้งก็ถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของรอว์ฟู้ด โดยการเปลี่ยนให้อยู่ในกลุ่มอาหารที่เรียกว่า พืชต้นอ่อน (Sprouted Food) ก่อน ถั่วและพืชเมล็ดแห้งเมื่อนำมาแช่น้ำ เปลือกหุ้มเมล็ดจะนิ่มขึ้น ชั้นเคลือบยับยั้งเอนไซม์จะละลายออกมา เอนไซม์ต่างๆ ในเมล็ดก็จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมที่จะทำงาน จากเมล็ดแห้งก็กลายเป็นเมล็ดนุ่มๆ และเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่เต็มไปด้วยเอนไซม์ เช่น ซูชิที่ใช้ลูกเดือยที่ผ่านการแช่น้ำจนนุ่มแทนข้าวสุก ซุปถั่วอัลมอนด์ที่ผ่านการแช่น้ำจนนุ่มก่อนที่จะนำไปบดละเอียด หากมีอากาศ แสงแดดและให้น้ำไหลเวียน เมล็ดเหล่านั้นก็จะกลายเป็นต้นอ่อนของพืชที่เต็มไปด้วยคลอโรฟิลล์อีกด้วย ตัวอย่างอาหารในกลุ่มนี้คือ ถั่วงอก อัลฟัลฟาสเปราท์ วีทกลาส สุดท้ายเป็นกลุ่ม อาหารแห้ง (Dehydrated Food) อาหารกลุ่มนี้จะอาศัยการระเหยน้ำที่อุณหภูมิต่ำๆ อย่างช้าเพื่อหยุดการทำงานของเอนไซม์ชั่วขณะ โดยที่ไม่ทำให้คุณค่าทางอาหารเสียไป ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ใช้ความร้อนตามธรรมชาติจากแสงอาทิตย์ หรือใช้เครื่องมือเรียกว่า dehydrator เป็นเครื่องอบลมร้อนที่ให้อุณหภูมิในการทำแห้งไม่เกิน 108 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่อน้ำระเหยไปน้ำหนักของอาหารย่อมลดลงมีผลให้สัดส่วนของสารอาหารที่มีในอาหารแห้งนั้นเข้มข้นขึ้น เมื่อกินเข้าไปก็จะได้รับสารอาหารในปริมาณที่สูงกว่าอาหารสดที่น้ำหนักเท่ากัน รวมถึงสารอาหารบางชนิดก็จะคงคุณค่าเหมือนเดิม ด้วยเพราะปริมาณน้ำในเซลลดลงนั่นเอง นอกจากประโยชน์ด้านคุณค่าสารอาหารแล้ว การทำแห้งอาหารยังทำให้เนื้อสัมผัสของอาหารเปลี่ยนไปด้วย นับเป็นเทคนิคหนึ่งที่เชฟรอว์ฟู้ดนิยมนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดอาหารนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทาร์โก้ ลาซานญ่า แกรโนล่า หรือแม้กระทั่งคุ้กกี้บาร์ ซึ่งส่งผลให้ชาวรอว์ฟู้ดมีอาหารหลากหลาย อิ่มอร่อยได้ทุกวัน เฉกเช่นเดียวกับการกินอาหารปกติ

//www.leksound.net




 

Create Date : 08 มกราคม 2553    
Last Update : 8 มกราคม 2553 7:55:29 น.
Counter : 565 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  

Kanphicha
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ที่มาของคำว่า Kefir By รัญรักษ์
ไม่ใช่ชื่อยี่ห้อ ไม่ใช่เครื่องหมายการค้า
แต่เป็นชื่อพ่อและแม่ของกานต์เองค่ะ
เมื่อกานต์ทำบุญครั้งใด ก็จะยกกุศลทั้งหมดให้พ่อและแม่
การแจกจ่ายบัวหิมะให้คนอื่นๆ
ถือเป็นการทำบุญอีกคร้งหนึ่ง
กานต์ขอยกกุศลผลบุญทั้งหมดให้บุพการีที่เป็นที่รักของกานต์ทั้งสองท่าน โดยการตั้งชื่อท่านทั้งสองในการแจกจ่าย Kefir นะคะ
free counters
Friends' blogs
[Add Kanphicha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.