รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย วสิษฐ เดชกุญชร



เพื่อนฝูงหลายคนอยากรู้ว่าผมรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างกันเสร็จแล้วและหลายฝ่ายกำลังพิจารณากำลังอยู่ในขณะนี้ เพื่อนที่ว่านี้ มีทั้งที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันซึ่งอายุเลย 80 แล้วและยังเหลืออยู่ไม่กี่คน และเพื่อนรุ่นน้องซึ่งอายุ 60 หรือต่ำกว่าและมีจำนวนมากกว่า

 

อันที่จริงเพื่อนรุ่นเดียวกันนั้นนอกจากจะได้ผ่านรัฐธรรมนูญมาเกือบ 20 ฉบับเช่นเดียวกับผม แล้วบางคนยังเคยมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันกับผม โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่จำเป็นจะต้องฟังความเห็นของผมเลย คิดเอาเองก็ได้ 

ความรู้สึกของผมนั้นกล่าวได้โดยสั้นที่สุดคือเบื่อ รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ แรกคือฉบับปี พ.ศ.2475, 2489 และ 2490 นั้น ประกาศใช้เมื่อผมยังเป็นเด็กอยู่ ผมจึงไม่รู้จักและไม่ได้สนใจ แต่รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา ผมรู้จักและโดยเฉพาะฉบับปี พ.ศ.2492 จำเป็นต้องสนใจเพราะ ผมเรียนวิชารัฐศาสตร์ และในหลักสูตรมหาวิทยาลัยบังคับให้ผมต้องเรียน กฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย และเมื่อผมเริ่มรับราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 เป็น ต้นมา โดยตำแหน่งหน้าที่ผมก็จำเป็นต้องสนใจในรัฐธรรมนูญทุกฉบับใน ปี พ.ศ.2517 ผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีส่วนในการพิจารณา และรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ในปีนั้นด้วย

ที่ทำให้ผมเบื่อนั้นก็คือการยกเลิกแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแล้วฉบับเล่าหลังรัฐประหาร ซึ่งผมเห็นว่าเปลืองทั้งกำลังกายและกำลังสมองของผู้ร่าง และเปลืองเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลอันมาจากภาษีอากรที่ประชาชนเป็นผู้ชำระด้วย เพราะฉะนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณากัน อยู่ในขณะนี้ผมจึงขอรับตรงๆว่าเบื่อ ไม่อยากอ่าน และแทบไม่อยากจะมีส่วน แม้แต่ในการลงประชามติที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

แต่ก็เพราะตระหนักในหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมือง ผมจึงจำเป็นจำใจต้องศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ศึกษาแล้วจึงพบและมีความรู้สึกต่างจากที่เคยรู้สึกมาแล้วในบางประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ผมเห็นว่าจะมีประโยชน์แก่บ้านเมืองมาก และไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แม้ใน ฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ถือกันว่าดีที่สุดนั้น_ก็คือในส่วนที่ 2 ซึ่งว่าด้วยการกระทำ ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ในมาตรา 251และ 252 ซึ่งบัญญัติห้าม นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ใช้สถานะหรือตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในเรื่องต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติราชการ หรือการ ดำเนินงาน ในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(2) การ บรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐ

(3) การให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจาก ตำแหน่ง

(4) การแต่งตั้งและการให้กรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือ องค์การ มหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้เว้นแต่จะเป็นการ กระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ ยิ่งกว่านั้นยังต้องป้องกันหรือกำกับดูแลไม่ให้คู่สมรสและบุตรของตน รวมทั้งบุคคลใดในพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัดอยู่กระทำการดังกล่าวด้วย

ถ้าหากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ผ่านการเห็นชอบด้วยประชามติและประกาศใช้ ก็จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่มีเครื่องมือสำหรับป้องกันนักการเมืองมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงในการแต่งตั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะเป็นการประกันคุณภาพของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

ที่มา thaitribune




Create Date : 19 เมษายน 2559
Last Update : 19 เมษายน 2559 12:34:41 น. 0 comments
Counter : 235 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.