การแต่งตั้งตำรวจ : แผลเรื้อรังที่ยังรักษาไม่หาย โดยวสิษฐ เดชกุญชร

ตำรวจตกเป็นข่าวอื้อฉาวอีกครั้งหนึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ เมื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายเรียก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในกรณีส่งข้อความทางแอพพลิเคชันไลน์ว่านายทหารยศพลเอกมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งให้เพิ่มข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณากับพล.ร.อ. พะจุณณ์ อีกข้อหาหนึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ พล.ร.อ.พะจุณณ์เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

และเป็นประธาน คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจของสภานั้นเป็นที่ทราบกันว่าขณะดำรง ตำแหน่งดังกล่าว ในการประชุม พล.ร.อ.พะจุณณ์ได้วิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติมิชอบของตำรวจอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเสมอในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาของตำรวจนั้น พล.ร.อ.พะจุณณ์อธิบาย ว่าตนมิได้เป็นต้นตอของข่าวการซื้อขายตำแหน่งแต่ทราบข่าวนั้นจาก เพื่อนในกลุ่มไลน์จึงอยากรู้และได้สอบถามต่อไปยังเพื่อนในกลุ่มเดียวกันว่าใครคือพลเอกผู้นั้น พล.ร.อ.พะจุณณ์กล่าวด้วยว่าแทนที่จะกล่าวหาตนตำรวจควรจะไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่

เรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น นานแสนนานแล้วสมัยเมื่อผมยังอยู่ในราชการตำรวจ ผมก็เคยได้รับมอบหมายให้สอบสวนเรื่องเช่นนี้ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 นายกรัฐมนตรี (คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็ได้แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานคณะกรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการตำรวจที่ส่อไปในทางทุจริตและไม่เป็นธรรมในหลาย ภาคตำรวจภูธร

แม้ผลการสอบสวนจะปรากฏว่าในหลายกรณีมีการทุจริตและไม่เป็นธรรมจริงตามที่มีผู้ร้องเรียน แต่ลงท้ายผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ก็หาได้รับโทษอันควรแก่การกระทำความผิดไม่ ทั้งนี้ก็เพราะว่าตามระเบียบของ ทางราชการนั้น การพิจารณาโทษกระทำโดยคณะกรรมการสอบสวนที่ เป็นตำรวจด้วยกันแม้ในคณะกรรมการจะมีข้าราชการสังกัดอื่นร่วมอยู่ด้วยแต่ก็เป็นส่วนน้อย ผู้กระทำความผิดจึงมักจะถูกลงโทษในสถานเบา หรือเพียงแต่ถูกภาคทัณฑ์ การซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจจึงเป็นแผลเรื้อรังที่ยังรักษาไม่หายมาจนทุกวันนี้

การซื้อขายตำแหน่งจะยุติได้โดยเด็ดขาดก็ต่อเมื่อการสอบสวนกระทำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลภายนอกที่เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสำนักงานตำรวจ แห่งชาติหรือหน่วยราชการใดๆ ในต่างประเทศหลายประเทศมีคณะกรรมการอิสระสำหรับพิจารณาการกระทำความผิดของตำรวจโดยเฉพาะคล้าย ศาลทหาร คณะกรรมการน้ีไม่่ทำงานแบบประชุมเป็นคราวๆ แต่ทำเต็ม เวลา และมีคณะเจ้าหน้าที่ประจำช่วยสืบสวนหาข้อมูลไม่ต่างอะไรกับหน่วยราชการที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาทั่วไป

ในพ.ศ.2549 คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจที่ตั้งขึ้นในสมัย ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งผมเป็นประธาน ได้เคยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระสำหรับรับและพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับ ตำรวจ และได้ถึงกับร่างเป็นกฎหมายให้ด้วยแต่ก็ปรากฏว่าถูกดึงเรื่องเอาไว้จนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นอายุ

หากจะตั้งคณะกรรมการเช่นว่านี้ขึ้นโดยออกกฎหมายในขณะนี้การ ดำเนินการทางนิติบัญญัติก็คงจะล่าช้าไม่ทันการณ์และก็คงไม่แคล้วมีผู้คัด ค้านขัดขวางหรือดึงเรื่องเช่นเดิมแต่ถ้านายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้น การชำระสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ปลอดพ้นจากโรคซื้อขายตำแหน่งก็คงจะเป็นไปได้โดยเร็ว

การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อรับและพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับตำรวจอาจจะแก้ปัญหาบุคลากรของตำรวจทั้งระบบไม่ได้แต่อย่างน้อยก็จะเป็นหลักประกันว่าผู้มีเงินหรืออิทธิพลจะไม่สามารถซื้อตำแหน่ง ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โดยสะดวกอย่างที่แล้วมา.

ที่มา thaitribune




Create Date : 09 มีนาคม 2559
Last Update : 9 มีนาคม 2559 15:28:15 น. 0 comments
Counter : 227 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.