สนช.ผ่านกฎหมายการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญตอบรับกับการลงคะแนน 7 สิงหาคม 2559



สนช.ถกยาวกว่า 5 ชั่วโมงก่อนลงมติรับร่างก.ม.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญวาระสามด้วยคะแนน 171-1-3 กมธ.ยอมปรับแก้มาตรา 7 หลังสมาชิกท้วงหนัก ห้ามรณรงค์รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

 

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นประธานการประชุมสนช.ครั้งที่ 22/2559 เพื่อพิจารณาเรื่องเร่งด่วน คือวาระการพิจารณาประเด็นคำถามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 39/1 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ทั้งนี้ตามกฎหมายในการพิจารณา สนช.จะต้องพิจารณาข้อเสนอของ สปท.ที่ได้มีมติส่งคำถามพ่วงประชามติ โดยให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีวาระในการพิจารณาคือร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ....ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ด้วยคะแนน 171 ต่อ 1 งดออกเสียง  3 เสียง ให้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาพิจารณานานกว่า 5 ชั่วโมงเศษ 

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีทั้งหมด 65 มาตรา มีสาระสำคัญคือการเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้รอบด้าน ไม่มีการปิดกั้น แต่การแสดงความเห็นต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ขัดกฎหมาย โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะเป็นผู้ทำหน้าที่เผยแพร่อธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ กกต. ต้องวางตัวเป็นกลางในการทำหน้าที่

สำหรับการลงคะแนนครั้งนี้จะไม่มีการลงคะแนนด้วยวิธีใช้เครื่องลงคะแนน เนื่องจากเห็นว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความสำคัญ จึงไม่สมควรนำมาใช้ในการทำประชามติครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  นายตวง อันทะไชย  นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ได้อภิปรายท้วงติงเนื้อหาในมาตรา 7 อย่างหนักถึงกรณีที่ กมธ.แก้ไขหลักการตามร่างกฎหมายเดิม โดยตัดคำว่า “รณรงค์”ในการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญทิ้งไป ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ ทั้งที่เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนในการแสดงความคิดเห็น

ในเรื่องนี้พล.อ.สมเจตน์ ชี้แจงว่าการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทุกคนทำได้ ไม่ปิดกั้น แต่การรณรงค์ถือเป็นการชักจูงให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศ คนที่จะรณรงค์ได้มีแค่ กกต.เท่านั้น แม้แต่ กรธ.ก็ทำได้แค่ชี้แจงข้อดีร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทำได้แค่พูดข้อเสียเช่นกัน  การพูดว่าให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าชี้นำจะสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายประชามติ 

อย่างไรก็ตามสมาชิก สนช.หลายคนยืนยันไม่เห็นด้วยกับเนื้อหามาตรานี้ทำให้ต้องแขวนมาตรา 7 ไว้  เพื่อพิจารณามาตราอื่นก่อน

ต่อมาประธานฯ ได้สั่งพักการประชุม  ภายหลังเปิดการประชุม สนช.อีกครั้ง  กมธ.แจ้งต่อที่ประชุมว่ายินยอมแก้ไขข้อความในมาตรา 7 จากเดิมที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” เป็น “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”เพื่อให้บุคคลสามารถเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริตและไม่ขัดกฎหมาย

ส่วนมาตรา 9/1 ประเด็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรธ. ในการเผยแพร่และทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง สมาชิก สนช.มีความเห็นว่าอาจจะเป็นช่องทางให้มีผู้ร้องว่า กรธ. ดำเนินการไม่ทั่วถึงจนเกิดความวุ่นวายได้  

คณะ กมธ. จึงได้ปรับแก้ถ้อยคำเป็น "ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงเพิ่มเติม ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาระสำคัญของประเด็นให้แก่ประชาชนทราบเป็นการ“ทั่วไป”

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขให้ประเด็นให้ประชาชนร้องคัดค้านผลการประชามติ เดิมกำหนดไว้ 10 คน เป็น 50 คน เพื่อป้องกันความวุ่นวายและกลั่นแกล้ง

สำหรับพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญออกมาเพื่อตอบรับกับการที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ  โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะให้มีการออกเสียงทำประชามติวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559

ก่อนหน้านี้นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงการรณรงค์ให้รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มต่างๆว่า ขณะนี้มีกฎหมายคำสั่งของ คสช.อยู่ การแสดงความเห็นต่างๆจึงต้องระมัดระวัง ในส่วนของกกต.คงต้องรอร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติให้มีผลใช้บังคับก่อน

นายธีรวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลติงว่า กกต.ของบฯออกเสียงประชามติ 2,991 ล้านบาทสูงเกินไปว่า ไม่อยากให้มองว่าจะมีเรื่องของการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กรณีของการออกเสียงประชามติ ปัญหาคือทำอย่างไรให้ประชาชนมาออกเสียงให้มาก ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งที่จะมีพรรคการเมือง หัวคะแนนมาช่วยกันรณรงค์ แต่การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องของจิตสำนึกโดยตรง

“ฉะนั้นการรณรงค์เชิญชวนจึงเป็นเรื่องใหญ่ กกต.คิดอยู่เสมอว่า สมมุติรัฐบาลให้เงินมา 100 บาทก็ต้องให้คนมาออกเสียงให้ได้ 100 คน อยากให้มาออกเสียงกันเยอะๆ กกต.มีการระดม พนักงานเจ้าหน้าที่ในการให้ประชาชนมาออกเสียงให้มาก และตั้งเป้าว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 บางคนอาจจบอกว่าเป็นฝันที่เลื่อนลอย แต่ว่ายังฝันอยู่และพยายามจะทำให้เป็นจริงให้ได้”นายธีรวัฒน์กล่าว

ที่มา thaitribune




Create Date : 08 เมษายน 2559
Last Update : 8 เมษายน 2559 15:09:19 น. 0 comments
Counter : 298 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.