โฆษกคสช.เผยจับ 9 คนผิดพรบ.คอมพิวเตอร์-ม.116 ทำกันเป็นขบวนการอยู่ต่างประเทศ 1 คน



โฆษกคสช.เผยตำรวจ-ทหารจับกุม 9 รายฐานผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 116 ทำกันเป็นขบวนการอยู่ต่างประเทศ 1 คนแกนนำนปช.ไปขอเยี่ยมไม่ได้เยี่ยม เผยรายชื่อ 8 รายที่ถูกควบคุมตัว ศาลอนุมัติออกหมายจับ-นำตัวฝากขัง

 

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เปิดเผยกรณีที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากลุ่มผู้กระทำความผิดในการโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย ว่า ขณะนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหา 9 คน ในจำนวนนี้อยู่ต่างประเทศ 1 คน โดยเมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) มีการควบคุมตัว 10 คน และได้ปล่อยตัวไปแล้ว 2 คนเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดย 1 คนควบคุมมาจากจ.ขอนแก่น

สำหรับข้อกล่าวหาทั้ง 9 รายนั้นมีกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 มีการยุยงปลุกปั่น ทั้งนี้ ไม่ใช่การกระทำในลักษณะของบุคคล แต่เป็นขบวนการ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการโพสต์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีหลักฐานปรากฏชัดเจนอยู่แล้วประกอบกับคำให้การ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีได้ โดยพนักงานสอบสวนจะขออนุมัติศาลทหารในการฝากขังต่อไป

ส่วนพฤติกรรมจะมีความสัมพันธ์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือไม่นั้น หากมองการเชื่อมโยงทางคดียังไม่ชัดเจน ซึ่งการที่  นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ระบุว่าเป็นผู้บริหารเพจของเขานั้น เป็นเพียงความเชื่อมโยงส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่การเชื่อมโยงทางคดี

ขบวนการนี้มีบุคคลอยู่เบื้องหลัง

โฆษก คสช.กล่าวว่า มองว่าการกระทำของขบวนการนี้มีบุคคลอยู่เบื้องหลัง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ในการสืบสวนและขยายผลต่อไป

พ.อ.วินธัยยืนยันว่า เมื่อเจ้าหน้าที่พบผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยนั้น ได้ปฏิบัติด้วยแนวทางสุภาพและเปิดเผย ไม่ได้เป็นไปตามที่มีการกล่าวหาว่าดำเนินการในรูปแบบกระทำต่อคนที่ผิด พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ที่ผ่านมายังไม่พบเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ ยกเว้นคนที่ใช้ความรู้สึกตัดสิน

ส่วนที่องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนั้น ถือว่าเป็นองค์กรที่อยู่ในต่างประเทศ ไม่ได้เข้ามาสัมผัสข้อเท็จจริงเพียงพอ และได้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วน โดย คสช.ไม่รู้สึกกังวล เพราะเป็นเพียงบางองค์กรเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนใหญ่ที่แสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชน ที่มองการกระทำเจ้าหน้าที่ในแง่ลบ เจ้าหน้าที่พร้อมสร้างความเข้าใจ แต่ยืนยันว่าเรายึดตามกรอบกฎหมาย ดำเนินการตามหลักฐานไม่ใช่ความรู้สึก

โพสต์ข้อความทำให้รัฐบาลขาดความเชื่อถือ

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อไปว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่เรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามขั้นตอน ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับเจ้าหน้าที่ และในทางตรงกันข้ามต้องทำให้สังคมเชื่อมั่น และการดำเนินการใดๆ ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ ลักษณะการกระทำทั้ง 9 คน ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา มีการโพสต์ข้อความที่มีผลทางทางจิตวิทยา ทำให้บุคคล องค์กร รัฐบาล เกิดความไม่น่าเชื่อถือ และไม่ได้รับความไว้วางใจ ซึ่งขัดกับแนวทางการบริหารราชการ และรักษาความสงบของสังคม นำไปสู่การคล้อยตาม การต่อต้าน และทำให้เกิดการปลุกระดมได้

เสรี สุวรรณภานนท์ชี้การเคลื่อนไหวลักษณะจัดตั้ง

28 เม.ย.59 นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ และการดำเนินคดีโดยฝ่ายความมั่นคงต่อผู้ที่แสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้น ตนมองว่าเป็นสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อไม่ให้นำไปสู่การสร้างสถานการณ์ที่ไม่สงบหรือวุ่นวาย

ทั้งนี้ ตนมองด้วยว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกจัดตั้งเพื่อนำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เนื่องจากการเคลื่อนไหวหรือการแสดงความเห็นที่มีปัญหา และมีลักษณะชักนำไปสู่การรณรงค์ให้เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามตินั้นไม่สมควรรับ ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การยกเลิกการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ หรือไม่ ตนตอบไม่ได้

นปช.ขอเยี่ยมอยากพูดคุยกับลูกน้อง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 เมษายน ที่หน้ามณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการนปช. และนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. ตลอดจนแกนนำนปช. เดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องหาทั้ง 8 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามอำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) หลังมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย เข้าข่ายผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

นายจตุพร กล่าวว่า จะขออนุญาตผู้รับผิดชอบที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ซึ่งตนและคณะรู้จักกับนายนพเก้า คงสุวรรณ และน.ส.วรารัตน์ เหม็งประมูล ที่ทำเฟซบุ๊กให้กับตน ขณะที่นายธนวรรธ์ บูรณศิริ เคยเป็นอดีตพนักงานพีซทีวีแต่ลาออกไปตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม

นายจตุพรกล่าวว่าวันนี้ตนอยากสื่อสารกับผู้มีอำนาจว่าหากทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่กระทำการยิ่งกว่า พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ โดยใช้มาตรการอุ้มตัว และให้วิธีส่งพนักงานสอบสอบ และหาความผิดภายหลังนั้น ตนอยากให้เลิกพฤติกรรมแบบนี้ได้แล้ว

ทั้งนี้การใช้คำสั่งคสช.ที่ 13/2559 ก็ถูกองค์กรนานาชาติได้ทักทวงว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คสช.ยืนยันว่าใช้เพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพล แต่ในความจริงเป็นการบังคับใช้กับบุคคลที่เห็นต่าง ดังนั้นตนคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่ มทบ.11 คงจะให้ตนและคณะเข้าไปเยี่ยม

นายจตุพรกล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าบรรยากาศการทำประชามติไม่ควรสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวกับประชาชน และคิดว่าบรรยากาศจับน้องๆทั้ง 10 คนให้เป็นกรณีสุดท้าย  อย่างไรก็ตามตนคิดว่าผู้มีอำนาจควรใจกว้างและเปิดโอกาสให้องค์กรนานาชาติเข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติ แต่การออกอาการวิตกมากจนเกินเหตุยิ่งเข้าข่ายน่าสงสัย และอยากให้จำคำตนไว้ว่ายิ่งใช้วิธีการนอกรูปแบบ และวิธีการแบบกองโจรแบบนี้ ผลลัพธ์ในวันลงประชามติ 7 สิงหาคมจะตรงกันข้าม และจะหนักยิ่งกว่าประเทศเมียนมาร์ด้วย

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า มาแสดงความห่วงใยสถานการณ์ของประเทศ เพราะความหมายประชามติที่ทั่วโลกเข้าใจคือการที่ผู้มีอำนาจต้องรับฟังเสียงประชาชน แต่วันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนต้องฟังเฉพาะเสียงผู้มีอำนาจ โดยไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นตนซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และสายตาของนานาชาติ

“ไม่เข้าใจว่าทีมการเมืองของรัฐบาลคิดอย่างไรถึงเลือกใช้วิธีนี้กับคนที่เห็นต่าง ถ้าคิดว่าคนเหล่านี้เป็นคนเล็กคนน้อยจะทำอะไรก็ได้ ก็คงไม่ใช่”นายณัฐวุฒิกล่าวฃ

นายณัฐวุฒิกล่าวยืนยันว่าไม่มีบุคคลใดไปเดินเกมใต้ดินเพื่อเผชิญหน้ากับรัฐบาล ไม่มีขบวนการการเมืองไหนที่จะมาท้ารบกับผู้มีอำนาจทั้งสิ้น เพราะเชื่อว่าสนามการต่อสู้เกิดขึ้นจริงแล้ว คือสนามการลงประชามติ ซึ่งจะเป็นการหาคำตอบให้ประเทศอย่างสันติว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไร เพราะฉะนั้นขอให้สบายใจ และลดความหวาดระแวงลง

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ไว้เนื้อเชื้อใจ เคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของประชาชนบ้าง และหันหน้าไปในแนวทางเดียวกันคือหลักการประชาธิปไตยที่เป็นภาษาสากล แต่ตอนนี้ภาษาประชาธิปไตยในไทยกำลังสับสน นอกจากนั้น คสช.ควรจัดแถวองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประชามติทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ แม้กระทั้ง 5 คนใน กกต.ยังเดินคนละทิศทาง เหมือนไม่รู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร

ธิดาบอกมาในนามผู้รักประชาธิปไตย

ด้านนางธิดา กล่าวว่า  วันนี้เรามาในนามประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ห่วงใยการประทำของรัฐบาลที่กระทำต่อประชาชนที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งที่รัฐบาลทำเพราะคิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ในทัศนะของเรา สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเป็นการใช้อำนาจทางการทหารและคำสั่งของคสช.หรือมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ในการจัดการกับคนที่มีความคิดเห็นต่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับของประชาชน ถ้ามีความรุนแรงกระทำต่อประชาชนอย่างไม่มีเหตุผลสิ่งที่สะท้อนกลับมันก็จะรุนแรงเช่นกัน ดังนั้นเราไม่เห็นด้วยในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ เพราะสิ่งที่ทำนี้ห่างไกลต่อการเมืองและการปกครองที่ดี

“นอกจากนี้ขอให้เข้าใจว่ากลุ่มที่ถูกจับกุมโดยยังไม่แจ้งข้อหาเป็นกลุ่มเยาวชนทั้งสิ้น และบางคนก็เป็นแม่ของลูกที่ป่วยเป็นออทิสติก ซึ่งเขาเป็นคนธรรมดา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลังแต่เหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องจากการใช้อำนาจทางการทหารกับประชาชน”นางธิดากล่าวและว่า ถ้าอาฆาตพยาบาทจับกุมเช่นนี้ต่อไปเป็นเรื่องที่น่าห่วง โดยเฉพาะการเดินหน้าต่อไปเพื่อให้ประเทศเกิดประชาธิปไตย

หลังจากนั้น แกนนำ นปช. ได้เข้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.11 เพื่อขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดแต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต โดยระบุว่า เตรียมจะนำทั้งหมด ไปแจ้งข้อหาที่กองบังคับการปราบปราม พร้อมทั้งนำตัวไปขออำนาจศาลทหารฝากขังวันนี้

เผย 8 รายชื่อผู้ถูกจับกุมตัว

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้มาตรการตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ควบคุมตัวผู้มีพฤติกรรมกระทำผิดต่อพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวม 8 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรมและมีข้อมูลในการร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

แหล่งข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า หลังจากนำตัวทั้งหมดมาสอบถามและพูดคุย ก็ให้การรับสารภาพ ทั้งหมดได้เซ็นชื่อรับทราบการให้การต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย คสช.ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามกับผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เมื่อวันที่ 27 เมษายนแล้ว

ต่อมาเวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้นำสำนวนไปยื่นขอมติศาลทหารกรุงเทพ ออกหมายจับทั้ง 8 คน ประกอบด้วย 1.นางสาวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือนัท 2.นายชัยธัช รัตนจันทร์ 3.นายนพเก้า คงสุวรรณ 4.นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน 5.นายโยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย 6.นายธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี 7.นายศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี 8.นายหฤษฏ์ มหาทน อายุ 27 ปี และ 9.นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี เป็นผู้ต้องหาชาย 7 คน หญิง 1 คน และอยู่ต่างประเทศ 1 คน รวม 9 คน

ต่อมาศาลได้อนุมัติออกหมายจับ เลขที่ 24-32/2559 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยั่วยุปลุกปั่น และกระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ทหารจะได้นำตัวทั้ง 8 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และสอบปากคำเพิ่มเติมก่อนนำตัวไปฝากขังผลัดแรกที่ศาลทหารกรุงเทพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวนายนิธิ กุลธนศิลป์ ผู้จัดการร้านราเมง จ.ขอนแก่น จากการสอบถามนายนิธิน่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว จึงได้พากลับไปส่งที่บ้านพักย่านลาดพร้าวแล้วเมื่อคืนวันที่ 27 เมษายน

อนุพงษ์ยืนยันจับกุมเพื่อรักษากฎหมาย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยส่งตัวไปมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย สังคมต้องรับรู้และเข้าใจ การดำเนินการดังกล่าวจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ตนไม่ตอบ แต่หากมีการละเมิดหรือกระทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแมป

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ดูแลเรื่องการออกเสียงลงประชามติ ดังนั้นหากใครจะวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญในเชิงวิชาการทำได้ แต่ถ้าจะไปบอกให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นทำไม่ได้ ยิ่งไปอนุมานเอาเองและเอาไปบริภาษกันยิ่งทำไม่ได้ ทั้งนี้ในส่วนของการอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเผยแพร่และรณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ยืนยันว่าไม่มีการตั้งธงหรือให้ร้ายใดๆทั้งสิ้น

เมื่อถามว่าถือเป็นการป้องปรามไม่ให้มีการละเมิดหรือทำเกินกรอบกฎหมายหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า เป็นการป้องกันการลิดรอนความคิดและสิทธิของผู้อื่น

กลุ่มยืนเฉยๆถูกปล่อยตัว

เมื่อเย็นวันที่ 27 เมษายน ภายหลังจากทราบว่ารัฐบาลได้ควบคุมตัวบุคคลที่โพสต์เรื่องต่อต้านรัฐบาลแล้ว “กลุ่มยืนเฉยๆ”ได้ไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมตัวไปยังสน.พญาไท 16 คนสาเหตุเพราะไม่ได้แจ้งล่วงหน้าผิดพ.ร.บ.การชุมนุม 2558 จากนั้นก็ไดรับการปล่อยตัวทั้งหมด 

ที่มา thaitribune




Create Date : 29 เมษายน 2559
Last Update : 29 เมษายน 2559 8:59:46 น. 0 comments
Counter : 272 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.