Group Blog
 
All Blogs
 

ฟุ่มเฟือยยังไงให้มีตังค์เก็บ



สวัสดีค่ะ

มีใครเคยสังเกตหรือจำได้บ้างไหมคะว่า ในแต่ละวันเราจับจ่ายใช้สอยไปกับเรื่องอะไรบ้าง แล้วรายจ่ายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นรายจ่ายจำเป็นหรือฟุ่มเฟือยกันแน่ หากเรารู้ว่าเรามีรายจ่ายฟุ่มเฟือย จะดีกว่าไหม ถ้าสามารถแปลงค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตรงนี้มาเป็นเงินลงทุน เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับเราในอนาคต ซึ่งจะมีวิธีการอย่างไร แล้วต้องลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลงเท่าไรถึงจะนำเงินมาลงทุนได้ K-Expert มีคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝากค่ะ

ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในชีวิตประจำวัน

   เริ่มจากการสำรวจค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในชีวิตประจำวันของเรากันก่อนค่ะ เชื่อว่าทุกคนจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แอบแฝงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวหรือคาดไม่ถึงมาก่อน ซึ่งผู้ชายและผู้หญิงจะมีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยบางอย่างที่แตกต่างกัน โดย

      ผู้ชาย มีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่าบุหรี่ ค่าไปเที่ยวปาร์ตี้สังสรรค์ เป็นต้น

      ผู้หญิง มีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าชอปปิงเครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น

   สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ หากเราลองมานั่งจดรายจ่ายที่เกิดขึ้นดู จะเห็นว่าเดือนๆ นึง เราหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหล่านี้เป็นหลักพัน ถือว่าไม่น้อยเลยล่ะค่ะ

   ดังนั้น เมื่อเห็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหล่านี้แล้ว เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสักนิด ไม่ได้บอกให้ลดทั้งหมด แค่ปรับลดลงสักหน่อย เดือนละ 500 บาทเท่านั้น ไม่มากเลย แล้วนำเงินมาลงทุนในกองทุนรวมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยที่เราไม่ต้องใช้เงินใหม่ เพียงแค่นี้เราก็จะมีเงินงอกเงย เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ แถมผลตอบแทนในส่วนของกำไรที่ได้รับยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วยล่ะค่ะ 

ผลลัพธ์การลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน

   คราวนี้ลองมาดูกันว่า หากเราสามารถลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยลงได้เดือนละ 500 บาท แล้วนำเงินตรงนี้มาลงทุนในกองทุนรวมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร สมมติเรารับความเสี่ยงได้ปานกลาง ก็แนะนำให้ลงทุนในกองทุนผสมซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป เงินส่วนนี้จะงอกเงยมากขึ้นดังนี้ค่ะ 

ระยะเวลาลงทุน (ปี)

ยอดเงินลงทุนเมื่อครบระยะเวลา

5

34,003

10

77,642

15

133,645

20

205,517

25

297,755

30

416,130

   เมื่อเห็นผลลัพธ์การลงทุนแบบนี้แล้ว ใครอยากมีเงินเก็บ อยากให้เงินงอกเงย ออกดอกออกผลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ลองนำวิธีนี้ไปใช้กันดูนะคะ เพราะไม่แน่ว่าจากเรื่องเล็กๆ ที่เราสามารถลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลงได้ตั้งแต่วันนี้ เพียงแค่เดือนละ 500 บาท จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เรามีเงินออม เงินลงทุนงอกเงยมากขึ้นเรื่อยๆ มากถึงหลักแสน และสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้ในอนาคตค่ะ 


เขียนโดย... K-Expert หน่อย




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2560    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2560 14:43:09 น.
Counter : 4617 Pageviews.  

5 Steps ติวเข้มก่อนเป็นนักลงทุน



สวัสดีค่ะ

เมื่อพูดถึงความมั่งคั่ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการลงทุน หรือกล่าวได้ว่า ถ้าอยากรวยต้องรู้จักลงทุน แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่รู้ว่าต้องลงทุนอย่างไร ซึ่งการลงทุนที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ต้องมีเงินลงทุนมากๆ หรือลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แต่อยู่ที่การวางแผนการลงทุน โดยสิ่งที่เราควรทำหรือวางแผนก่อนลงทุนมีอะไรบ้าง K-Expert มีคำแนะนำค่ะ 

Step 1: กำหนดเป้าหมายการลงทุน

   ก่อนเริ่มต้นลงทุน ควรถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า "เป้าหมายการลงทุนคืออะไร" หรือพูดง่ายๆ ว่า "ออมเงินไปเพื่ออะไร" และไม่ควรตอบเพียงว่า เพื่อความร่ำรวย เพื่อเรียนรู้ เพื่อให้เงินทำงาน หรืออยากมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เพราะคำตอบเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่กว้างเกินไป จับต้องยาก ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ โดยเป้าหมายที่ดีต้องชัดเจน เป็นไปได้ และมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เช่น ตั้งเป้าหมายว่ามีเงินเก็บ 1 ล้านบาท ภายใน 10 ปี อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรายได้หรือความสามารถในการเก็บเงินของแต่ละคน ซึ่งหากประเมินแล้วเป้าหมายนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ หรือทำได้ยาก จะได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย

   การกำหนดเป้าหมายมีความสำคัญ เพราะเมื่อรู้เป้าหมายว่าลงทุนเพื่ออะไรแล้ว จะสามารถประเมินได้ว่า ต้องลงทุนนานแค่ไหน ลงทุนต่อเดือนเท่าไร และลงทุนอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น นอกจากนี้ หากมีหลายเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายตามความจำเป็นในชีวิต

Step 2: ลงทุนด้วยเงินเหลือหรือเงินเย็น

   เงินที่นำมาลงทุนควรเป็น “เงินเหลือ” หรือ “เงินเย็น” คือ เป็นเงินที่เหลือจากการกันเงินส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉินแล้ว โดยเงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินควรมีประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 10,000 บาท ควรกันเงินส่วนนี้ไว้ประมาณ 60,000 บาท สามารถเก็บในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง อย่างเงินฝาก หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น แล้วจึงนำเงินส่วนที่เหลือมาลงทุน ดังนั้น ก่อนลงทุน อย่าลืมกันเงินสำรองเอาไว้ให้เพียงพอใช้จ่ายยามฉุกเฉินนะคะ

   นอกจากนี้ เงินที่นำมาลงทุนไม่ควรเป็นเงินที่มีภาระผูกพัน เช่น เงินกู้ยืมที่มีดอกเบี้ยจ่าย และมีกำหนดชำระคืน เนื่องจากผู้ลงทุนจะได้รับกำไรจากการลงทุนเมื่อสามารถสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลงทุนได้สูงกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย หากผลตอบแทนที่ได้รับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไป ก็คือ การขาดทุน รวมถึงการนำเงินกู้ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น แม้ว่ามีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน และหากถึงครบกำหนดชำระเงิน แต่เป็นภาวะตลาดหุ้นขาลง อาจต้องขายหุ้นในราคาที่ขาดทุนเพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้ค่ะ

Step 3: ทำความรู้จักตัวเอง

   ในโลกการลงทุนมีสินทรัพย์ให้ลงทุนหลายประเภท แต่ละประเภทมีอัตราผลตอบแทน (return) และความเสี่ยง (risk) ที่แตกต่างกัน ซึ่งความเสี่ยงจากการลงทุน คือ ความผันผวนหรือความไม่แน่นอนของผลตอบแทน การตัดสินใจว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดนั้น จำเป็นต้องทำความรู้จักหรือสำรวจตัวเองเสียก่อน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการลงทุน คือ ตัวนักลงทุนเอง ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำเงินไปลงทุนอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

   การทำความรู้จักตัวเองเพื่อเลือกสินทรัพย์ลงทุนควรพิจารณาถึงความสามารถในการรับความเสี่ยง (ability to take risk) เช่น อายุ รายได้ ระยะเวลาการลงทุน ควบคู่ไปกับความเต็มใจในการรับความเสี่ยง (willingness to take risk) เช่น ทัศนคติ ความชอบหรือความสนใจในสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท โดยความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจะบอกว่าสามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดได้บ้าง ขณะที่ความเต็มใจในการรับความเสี่ยงจะบอกว่าเราเหมาะกับสินทรัพย์ประเภทนั้นๆ หรือไม่ เช่น คนวัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างหุ้น กองทุนรวมหุ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากขาดทุนจากการลงทุนมากนัก ก็จะเหมาะกับการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากกว่า อย่างพันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ ดังนั้น ทำความรู้จักตัวเองก่อนลงทุนสักหน่อย ยอมรับและเต็มใจรับความเสี่ยงหรือการขาดทุนได้แค่ไหน จะได้เลือกสินทรัพย์ลงทุนได้เหมาะสมนั่นเองค่ะ

Step 4: ศึกษาสินทรัพย์ที่จะลงทุน

   เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองสนใจในสินทรัพย์ลงทุนประเภทใด ควรถามตัวเองก่อนลงทุนว่ามีความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นมากน้อยเพียงใด ทั้งผลตอบแทน ความเสี่ยง วิธีการซื้อขาย หากยังไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ลงทุนประเภทนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน เช่น สนใจลงทุนในกองทุนรวม ก็ควรอ่านหนังสือชี้ชวนเพื่อศึกษาว่ามีนโยบายการลงทุนอย่างไร ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่ มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ตรงกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่

   การศึกษาทำความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้ว่าตัวเราจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์มากเท่าใด ยิ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นเท่านั้น

Step 5: มุ่งมั่นกับการลงทุนให้สำเร็จ

   สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรมีติดตัว คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจ การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในเรื่องใดๆ ก็ตาม ตัวเราเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด แม้ว่าแผนการลงทุนที่วางแผนไว้จะดีเพียงใด แต่หากขาดความตั้งใจ ขาดวินัย และขาดความอดทนในการออมการลงทุนแล้ว การไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้คงเป็นไปได้ยากค่ะ เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งเป้าหมายการเงินให้ตัวเองได้แล้ว รีบลงมือทำตามแผน อย่าผัดวันประกันพรุ่ง จนไปไม่ถึงเป้าหมายนะคะ

   นอกจากนี้ เมื่อเริ่มลงทุนแล้ว ควรมีการประเมินผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก 6 เดือน หรือ 12 เดือน หรือมีเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของแผนการลงทุน เช่น ภาวะตลาดหุ้นผันผวน หรือการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เพื่อปรับปรุงแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าการเป็นนักลงทุนต้องทำอย่างไรบ้าง อย่าลืมทำตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่งคั่งในชีวิตค่ะ


เขียนโดย... K-Expert กิฟท์




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2560    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2560 15:23:03 น.
Counter : 977 Pageviews.  

เทคนิคลงทุนให้ครอบครัวรวยสุข (ภาคใช้เงิน)




สวัดดีค่าาา

   จากส่วนก่อนหน้าที่เราได้พูดถึงแนวทางการลงทุนแบบลงเงินและลงแรงกันไปแล้ว หลายคนอาจจะแอบบ่นในใจว่า โอ๊ย! ทุกวันนี้เราทำงานประจำก็กลับบ้านสามสี่ทุ่ม เสาร์-อาทิตย์ก็ยังต้องทำงาน หรือยังต้องพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ อย่าคิดเล๊ย! ว่าจะเอาเวลาที่ไหนไปหาเงินเพิ่ม “เสียงกระซิบจากคนทางบ้าน” เรื่องนี้ผู้เขียนเข้าใจดีค่ะ ว่าคุณอาจจะกำลังเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ งั้นเรามาดูวิธีการลงทุนแบบไม่ต้องใช้แรง และไม่ต้องใช้เวลาทุ่มเทถึงขั้นทำธุรกิจกัน นั่นคือการลงทุนด้วยเงิน  และยกหน้าที่ลงแรง ติดตามและจับจังหวะทำกำไร ผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมืออาชีพ อย่างผู้จัดการกองทุน ใช่แล้วค่ะ เราจะแนะนำให้ลงทุนผ่าน “กองทุนรวม”

   ทำไมต้อง “กองทุนรวม”

   อย่างแรกเลย คือลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ เค้าจะช่วยจับจังหวะซื้อขายทำกำไร ติดตามผล ตามนโยบายกองทุนนั้นๆแบบ 24 ชม.แทนเรา หน้าที่เราแค่ศึกษาในกองทุนนั้นๆก่อนนำเงินไปลงทุน และติดตามข่าวที่อาจเกี่ยวข้องกับการลงทุน  อย่างที่สองคือ ลงทุนเงินไม่ต้องมาก ขั้นต่ำ 500 บาทก็เริ่มลงทุนได้แล้ว  อย่างที่สาม คืออยากลงทุนอะไร ก็มีให้เลือกหมด ทั้งตราสารหนี้  หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ ทองคำ น้ำมัน สารพัดอยากจะเลือก แต่ที่สำคัญต้องรู้นะคะว่า สินทรัพย์แต่ละประเภท มีความเสี่ยงสูงต่ำไม่เท่ากัน ก่อนลงทุนเราจึงจะได้ทำแบบประเมินความเสี่ยงของตัวเองให้รู้ตัวกันก่อนว่า เรารับความเสี่ยงได้ระดับไหน แล้วค่อยเลือกลงทุนในสินทรัพย์หรือกองทุนที่เหมาะกับเรา จะได้ไม่ต้องเสียวสันหลังวาบหลังเอาเงินไปลงทุน

   ข้อดีที่ต้องขยาย สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม นั่นคือ นอกจากเราจะเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้แล้ว เรายังสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวม แยกตามเป้าหมายการเงินในบ้านได้อีกด้วย เรื่องนี้ “ดีงามล้านแปด” ดีงามอย่างแรกคือ เราจะสามารถเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จะถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แทนการฝากเงินแค่ในธนาคาร  “ดีงาม” อย่างที่สอง คือ เราจะถึงเป้าหมายการเงินในบ้านได้จริง โดยไม่ต้องไปเสี่ยงจนพลาดเป้า  เราลองมาหลักในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมให้ถึงเป้าหมายการเงินในบ้านกันดูค่ะ ต้องเลือกยังไง ในที่นี้ของกล่าวถึงเป้าหมายที่พ่อๆแม่ๆกำลังทยอยเก็บรายเดือน (ไม่นับเป้าหมายที่มีเงินครบแล้วนะคะ) ดังนี้ค่ะ

1.เป้าหมายแรก คือเงินก้อนเผื่อฉุกเฉิน

   หลายๆครั้งที่เรามักเงินก้อนแรกที่ควรมีก่อนลงทุน อย่างเงินก้อนเผื่อฉุกเฉิน สำคัญอย่างไร ข้อแรก คือเงินก้อนนี้จะเป็นเงินของตัวเองที่เป็นหลักประกันการใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ครอบครัวประสบปัญหา ไม่ว่าจะเกิดมีคนในบ้านไม่สบาย ต้องเข้าโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายก้อนโตอาจทำให้เราก็ต้องดึงเงินที่กำลังลงทุนอยู่ ออกมาใช้จ่ายทั้งๆที่ยังขาดทุน หรือถ้าหัวหน้าครอบครัวเกิดโดนพิษเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้างรายได้ขาดหาย เงินก้อนนี้จะยังทำให้คนในบ้านยังคงกินอยู่ได้อิ่มท้องสบายตัวไปได้ถึง 6 เดือน ยืดเวลาให้หารายได้ก้อนใหม่ได้ไม่เดือดร้อนดังนั้นเงินก้อนนี้จึงควรมีอย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่ายทั้งบ้านต่อเดือน เช่นถ้าทั้งครอบครัวมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท ก็ควรมีเงินก้อนนี้อย่างน้อย 120,000 บาท เก็บไว้ในเงินฝากออมทรัพย์ 1 เท่า และแบ่งลงทุนไว้ในกองทุนตลาดเงิน ซึ่งมีความคล่องตัวสูงใกล้เคียงกับเงินฝากอีก 5 เท่า ให้มีความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินในครอบครัวได้เงินก้อนนี้ได้ทันทีค่ะ

2. เป้าหมายนั้นสำคัญแค่ไหน

   ดั่งคำพูดที่ว่า “เป้าหมายการเงินในบ้านมีเยอะแยะเต็มตะกร้า แต่เงินมีจิ๊ดเดียว”สิ่งที่เราทำให้ถึงเป้าหมายได้ คือเขียนเป้าหมายเหล่านั้นออกมา เรียงลำดับเป้าหมายจากสำคัญมาก ไปสำคัญน้อย (สำคัญมาก คือ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องถึงเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ห้ามขาดแต่เกินได้ เช่น ค่าเทอมลูก ถ้าถึงเวลาแล้วไม่มีลูกอดเรียนหนังสือ ส่วนสำคัญน้อย คือ เรื่องที่เมื่อถึงเวลาเงินมีไม่ครบตามจำนวน ก็ไม่เดือดร้อน แต่เงินเกินได้จะ Happy มากๆ เช่น เป้าหมายไปท่องเที่ยว ยังไม่ได้ไปตามระยะเวลาที่กำหนด ก็ยังไม่เป็นไร เป็นต้น) ซึ่งถ้าเราแบ่งเป้าหมายได้ตามนี้ การจะพอเห็นว่า เป้าหมายที่สำคัญมากๆ ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำๆ อย่างกองทุนตราสารหนี้ จะได้ไม่ต้องรับความเสี่ยงจากความผันผวนจากการลงทุนมากนัก ส่วนเป้าหมายที่สำคัญน้อยๆ ก็เลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ ผันผวนสูงขึ้นได้ เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ด้วย (High Risk High Return)

3. เป้าหมายนั้นมีระยะเวลาลงทุนนานแค่ไหน

   การวางเป้าหมายต้องชัดเจน ถึงขึ้นรู้จำนวนเงินที่ต้องใช้และรู้ระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน ว่าอีกกี่เดือน หรืออีกกี่ปีข้างหน้า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เราจะได้เคลียร์ว่าจะมีเวลาเก็บเงินนานแค่ไหน แต่เราจะได้รู้อีกด้วยว่าเราควรลงทุนในระดับความเสี่ยงต่ำ หรือสูง เพราะการลงทุนในระดับความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น จะมีระดับความเสี่ยงที่ลดลงได้จากการซื้อถัวเฉลี่ยระยะยาว จากสถิติคือ การซื้อแบบถัวเฉลี่ย หรือเท่าๆกันในทุกเดือน ได้นานถึง 10 ปี จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 5-10% ต่อปี เรียกว่าไม่ขาดทุน และรับผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินธนาคาร แต่ถ้าเรามีระยะเวลาการลงทุนน้อย และยังเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากๆ ก็แนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำต่อไปค่ะ

   เพราะการเงินในบ้าน ถ้าไม่มีการลงทุนเลย ก็มีความเสี่ยงในการรับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ถ้าไม่มีการวางแผนเลย ก็เสี่ยงที่จะไม่สามารถทำเป้าหมายต่างๆได้ ถ้าลงทุนแล้วไม่ติดตาม ก็เสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนในระดับที่ต้องการ อย่าลืมนะคะ ว่าผู้จัดการกองทุน ช่วยนำเงินไปลงทุนให้ แต่เราเป็นเจ้าของเงิน ต้องติดตามผลตอบแทนทุกๆ ปีด้วยค่ะ


เขียนโดย... K-Expert คุณแม่แอน

ใครพลาดบทความก่อนหน้านี้ไป ตามไปอ่านได้ ที่นี่ ค่ะ




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2560    
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2560 11:35:40 น.
Counter : 1167 Pageviews.  

เทคนิคลงทุนให้ครอบครัวรวยสุข (ภาคใช้แรง)




สวัสดีวันแห่งความรักค่ะ ^__^

   วันนี้ Valentine's Day เลยขอเขียนอะไรที่เกี่ยวกับคนมีคู่ก็แล้วกันนะคะ จะได้เข้ากับบรรยากาศสักหน่อย วันนี้ K-Expert จะมาพูดถึงแนวทางการหารายได้สำหรับคนมีครอบครัวค่ะ ว่าแล้วก็ไปอ่านกันเลย

   ในยุคสมัยที่ใครๆก็ต้องการหารายได้มากกว่าหนึ่งทาง ไม่ว่าคนโสดหรือคนมีคู่ ก็กำลังพยายามหาลู่ทางในการสร้างรายได้ในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งไม่แปลกเลยที่กลุ่มพ่อแม่วัยทำงานหลายๆ คนก็มีความคิดนี้ ก็แหม... รายจ่ายสมัยนี้วิ่งเร็วแซงหน้ารายรับไปถึงไหนต่อไหน จะใช้ชีวิตแบบเดิมๆ จากรายได้เท่าเดิม แค่มองหน้าลูก ความดิคอยากได้บ้าน อยากส่งลูกเรียนดีๆ หลากหลายความอยาก เรื่องทำธุรกิจเลยกลายเป็น เรื่องแรกๆ ที่พ่อแม่มองหา

   แต่ครั้นจะทำธุรกิจ ก็ต้องมีเงินทุน ซึ่งก็ไม่ใช่เงินที่ไหน เงินในบ้านก้อนเดียวที่เรามี จะเอาไปลงทุนทั้งหมดก็เสียวไส้ว่าจะเกลี้ยง มองหน้ากันเราจะ โยกเงินมาลงทุนก็ยังทำใจลำบาก ไหนจะเรื่องเวลาที่จำกัด ทำงานมากขึ้นก็ต้องมีเวลาให้ลูก สรุปแล้วการลงทุน หรือทำธุรกิจ ของคนมีลูก จึงต้องตอบโจทย์ได้ทั้งการเงินและเวลา ไม่งั้นยังไงก็ไปไม่รอด

   งั้นวันนี้ลองมาหาแนวทางลงทุนแบบฉบับคนมีลูกกันค่ะ ว่าอะไรเข้าข่ายเป็นการลงทุนที่ “ใช่” เวลางานประจำก็ไม่กระทบ เวลาให้ลูกก็ไม่เป็นศูนย์  แบ่งตามไตล์พ่อๆ แม่ๆ เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่หนึ่ง คือลงทุนเงินและแรง กับแบบที่สอง คือลงทุนเงินอย่างเดียว  โดยในส่วนนี้ขอกล่าวถึง ลงทุนแบบแรกกันก่อน  ส่วนแบบที่สอง วันนี้ขออุบไว้ก่อน ไว้จะมาแชร์วันพรุ่งนี้นะคะ

   การลงทุนแบบใส่เงินและลงแรง พูดอีกอย่างก็คือการลงทุนแบบสร้างธุรกิจ ถ้าจับทางถูกอาจขยายเป็นธุรกิจส่งต่อให้กับลูกหลานได้ แต่ถ้าถามว่าข้อเสียคืออะไร คือ ต้องยอมลงแรง ให้เวลาธุรกิจ วันนี้ลองมายกตัวอย่างธุรกิจที่เหมาะกับสไตล์พ่อแม่ที่อยากทำธุรกิจดู 3 กลุ่มใหญ่ๆ  มาดูกันค่ะว่าจะทำธุรกิจอะไรที่เข้าข่ายบ้าง

1. พ่อแม่ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจ : ธุรกิจแฟรนไชส์  คือคำตอบเป็นลำดับต้นๆ ที่อยากแนะนำ เพราะธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่มีผู้เริ่มต้น(เจ้าของแฟรนไชส์)เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาไม่น้อยกว่า 3-5 ปี จนสร้างเป็นแผนทางการตลาดที่ดี สินค้าขายได้ ลูกค้ารู้จักแบรนด์ สร้างรายได้ที่ชัดเจน ซึ่งได้บางแฟรนไชส์สามารถการันตีรายได้กับธนาคาร ให้ธนาคารพร้อมปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ลงทุนในแฟรนไชส์นั้นๆได้ทันทีที่ผู้กู้ได้รับคัดเลือกจากเจ้าของแฟรนไชส์เลยทีเดียว เรียกได้ว่าไม่ต้องเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ แถมยังมีเงินกู้จากธนาคารช่วยสนับสนุนให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย (ต้องเป็นแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมในโครงการกับธนาคารเท่านั้น)

   แต่ต้องอย่าเข้าใจผิดว่า ทำธุรกิจแบบนี้แค่มีเงินก็จบนะคะ เพราะเราได้ประโยชน์ด้านแผนธุรกิจที่ชัดเจนแล้ว แต่ยังต้องให้เวลาบริหารธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ต้องใช้เวลามากน้อย ขึ้นอยู่กับแฟรนไชส์ที่เราเลือก ดังนั้นต้องศึกษาแฟรนไชส์ที่ใช่ ดูทั้งเงินลงทุน รายได้ที่ได้รับ และเวลาที่ใช้ทำธุรกิจให้ดีค่ะ

2. พ่อแม่แนวออนไลน์ ทุกคนจะคิดออกเป็นอย่างแรก คือ “ขายของออนไลน์” ฮ็อตแน่นอน ไม่ต้องดูใครที่ไหนแค่เราเอง ตื่นมาก็ช้อป เข้านอนก็ช็อป ตราบใดที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ อยากได้อะไรแค่”กด” และไม่ใช่แค่คนช็อปจะง่ายแล้ว คนขายก็เริ่มต้นง่าย ไม่ว่าจะมีโปรแกรมทำเวปฟรีสำเร็จรูปก็เยอะ เวปหน้าร้านออนไลน์ก็แยะ หรือจะเปิดแค่เพจบน Facebook  Line@ หรือ instagram ก็ทำได้ทันที ค่าเช่าก็ไม่มี เรื่องเงินลงทุนก็ต่ำสุดๆ เลยไม่แปลกที่ปัจจุบันจะมีพ่อค้าแม่ค้าเพิ่มเร็วยิ่งกว่าดอกเห็ด สิ่งสำคัญที่ร้านออนไลน์จะครองใจลูกค้าได้ จึงจำเป็นต้องสร้างจุดแข็งของร้าน เช่น การตั้งชื่อร้านได้จำง่ายและสื่อถึงสินค้าที่ขาย เจาะจงสินค้าที่ขาย เช่น เสื้อผ้าสำหรับคนสูงวัย ก็ควรมีแต่สินค้าสำหรับคนสูงวัย ไม่เอาเสื้อผ้าเด็กมาขายด้วยแบบนี้ลูกค้างงค่ะ

   ที่พลาดไม่ได้คือ ความเร็วในการตอบลูกค้า การจัดเก็บสต๊อกสินค้า และการจัดส่งสินค้า ซึ่งมักกินเวลาส่วนใหญ่ในการทำงานนี้ไป สำหรับพ่อๆแม่ๆที่ต้องการประหยัดเวลาในส่วนนี้  อาจให้ผู้ให้บริการระบบหลังบ้านช่วยทำแทน มีค่าบริการตามยอดขายต่อชิ้นไม่แพงมากเช่น Shipyour หรืออื่นๆ ให้ไม่ต้องกลัวว่าต้องเก็บสินค้าเต็มบ้าน จนหาลูกไม่เจอ ของเสียหายจนคุมต้นทุนไม่อยู่ หรือไม่มีเวลาส่งชองที่ไปรษณีย์ด้วยตัวเองค่ะ 

3. พ่อแม่มีของ “รถยนต์” สำหรับพ่อแม่ที่ไม่อยากลงทุนเงิน มียังพอมีเวลาหลังเลิกงานบ้าง การหารายได้เพิ่มจากเวลาที่จำกัด และเลือกเวลาได้เอง ก็มีทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ เช่น การขับรถรับผู้โดยสารผ่านแอปพิเคชั่นอย่าง Uber  ทำได้ง่ายเพียงมีรถยนต์เก๋ง 4 ประตู ปี2006 ขึ้นไป และมีสมาท์โฟน แค่นี้ก็สมัครร่วมขับกับ Uber  ได้แล้วค่ะ ตอบโจทย์คนสมัยใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว และความปลอดภัยที่มากขึ้นด้วย โดยเราจะได้เงิน 80% ของค่าโดยสาร รวมกับโบนัสที่ทางบริษัทจ่ายให้ รวมๆแล้วอาจสร้างรายได้ได้หลักหมื่นต่อสัปดาห์ และยิ่งถ้าใครกำลังผ่อนรถอยู่ด้วย ก็ช่วยผ่อนภาระค่าผ่อนได้ไม่น้อยเลยง่ายและเลือกเวลาได้แบบนี้ใช่มากๆสำหรับพ่อๆที่มีลูกอย่างเราๆค่ะ

ฝากไว้ค่ะ ธุรกิจทำได้ให้พลาดน้อย เราต้องศึกษาธุรกิจให้ดี จัดสรรเวลาให้เหมาะสม ไม่ว่าพ่อจะทำ หรือแม่จะทำ เพียงพ่อแม่ผนึกกำลังช่วยกันสลับเวลาให้ลูก  Partners ที่ดีที่สุด ไม่พ้นคุณสองคนเองค่ะ

เขียนโดย... K-Expert คุณแม่แอน

coming up tomorrow: เทคนิคลงทุนให้ครอบครัวรวยสุข (ภาคใช้เงิน)




 

Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2560    
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2560 10:54:16 น.
Counter : 1196 Pageviews.  

ไม่ลงทุนก็ไม่เสี่ยง…จริงเหรอ?





สวัสดีค่ะ

เพื่อนๆ หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า“การลงทุนมีความเสี่ยง…” และเชื่อว่ามีบางคนที่กลัวความเสี่ยงมากๆ จนไม่กล้านำเงินไปลงทุนเลย เพราะกลัวว่าเงินที่อุตสาห์เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตจะหดหายไปแต่รู้หรือไม่ว่า การที่เราไม่ลงทุนเลยนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าและน่ากลัวกว่าการนำเงินไปลงทุนเสียอีก แต่จะเสี่ยงกว่าและน่ากลัวอย่างไรนั้น K-Expertมีคำตอบในเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ   

ข้อเสียของการไม่ลงทุน

สำหรับใครที่กลัวความเสี่ยงจนไม่กล้านำเงินบางส่วนที่มีไปลงทุนโดยปล่อยให้เงินเก็บทั้งหมดที่หามาได้นอนแน่นิ่งอยู่ในบัญชีเงินฝากเพียงอย่างเดียวสิ่งที่เราจะต้องเจออย่างแน่นอนเลยคือ

1. มูลค่าเงินลดลง สิ่งที่เราต้องเจออย่างแรกและไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือ มูลค่าเงินของเราจะลดลงเนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไป       เงินเฟ้อก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆปีละประมาณ 3% ทำให้ข้าวของเครื่องใช้มีราคาสูงขึ้นแต่เงินเก็บที่มีกลับนอนแน่นิ่งอยู่ในบัญชี ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เพียงแค่ 0.5%ต่อปีเท่านั้น ไม่งอกเงยเท่าทันเงินเฟ้อ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่มูลค่าเงินของเราจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆและเมื่อถอนเงินออกมาใช้จ่ายจึงนำไปจับจ่ายซื้อของได้น้อยลง หรือเรียกง่ายๆว่าทำให้เราจนลงๆ นั่นเอง  

2. คุณภาพชีวิตแย่ลง เมื่อมูลค่าเงินลดลงไปเรื่อยๆหากเราไม่ได้มีรายได้มากขึ้น หรือไม่ได้ขยันหารายได้เสริมเพิ่มเติมเข้ามาก็ย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเราแย่ลงไปด้วยจริงไหมคะเพราะจากเดิมที่เคยจับจ่ายใช้สอยได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เงินที่มีกลับนำไปซื้อของที่ต้องการได้น้อยลงจึงต้องหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์การชีวิต รวมถึงคุณภาพชีวิตของเราได้ในที่สุดหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ในอนาคต เราอาจโชคร้ายถึงขั้นต้องหันไปพึ่งพาสถานสงเคราะห์คนชราเพราะไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณก็เป็นได้ค่ะ

3. มีเงินไม่พอทำตามฝัน ในเมื่อเงินเก็บที่มีทั้งหมดได้ลดมูลค่าลงไปเรื่อยๆโอกาสที่เราจะเก็บเงินได้ครบตามที่ตั้งใจไว้เพื่อเอาไปทำตามฝันก็คงเป็นไปได้ยากมากหรือต้องใช้เวลานานมากกว่าจะทำสำเร็จได้ โดยเฉพาะความฝันที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง อย่างการซื้อบ้านซื้อรถ หรือการส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ เรียกว่าขยันทำงานเก็บเงินเท่าไรก็ยังไม่ครบสักทีความฝันที่มีก็ยังเป็นเพียงแค่ความฝันต่อไป ไม่มีทางจะสำเร็จลงได้อย่างที่ตั้งใจไว้ค่ะ

มาเริ่มต้นลงทุนกันเถอะ

เมื่อเห็นถึงความเสี่ยงและความน่ากลัวของการไม่ลงทุนแล้วเพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เรามาเริ่มต้นลงทุนกันตั้งแต่วันนี้ดีกว่าค่ะโดยเริ่มจากการนำเงินที่เหลือจากการเก็บออมเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้และเหมาะสมกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน ขอแนะนำให้เริ่มจากการลงทุนในกองทุนรวมก่อนค่ะเนื่องจากกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญคอยบริหารเงินลงทุนให้เราจึงเหมาะกับคนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน หรือคนที่ไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์การลงทุนแถมยังมีกองทุนมากมาย ระดับความเสี่ยงหลากหลายให้ได้เลือกลงทุน ที่สำคัญคือ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปและกำไรที่ได้รับยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วยค่ะ และเพื่อให้เห็นภาพเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี การฝากเงินและการนำเงินไปลงทุนในกองทุนผสมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ลองดูจากตารางนี้ค่ะ

มูลค่าเงินปัจจุบัน

ระยะเวลา

1 ปี

3 ปี

5 ปี

10 ปี

15 ปี

20 ปี

ค่าอาหาร 100 บาท

(อัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี)

103

109

115

134

155

180

ฝากเงิน 100 บาท

(อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี)

100.50

101.50

102.52

105.11

107.76

110.48

ลงทุนกองทุนผสม 100 บาท

(อัตราผลตอบแทน 5% ต่อปี)

105

115.76

127.62

162.88

207.89

265.32


รู้อย่างนี้แล้วอยากให้ลองเปิดใจรับความเสี่ยงกันดูสักนิด ในเมื่อไม่ลงทุนแล้วเสี่ยงกว่า ก็อย่ารอช้าที่จะเริ่มต้นลงทุนกันตั้งแต่วันนี้โดยศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของกองทุนรวมที่เราสนใจก่อนตัดสินใจลงทุนและจัดสรรเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตที่สดใส และสุขภาพการเงินที่แข็งแรง เพิ่มพูน มั่งคั่งต่อไปในอนาคตนั่นเองค่ะ 


เขียนโดย... K-Expert หน่อย

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2560    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2560 10:41:28 น.
Counter : 964 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.