Group Blog
 
All Blogs
 
ขาย LTF ผิดเงื่อนไข ทำไงดี


สวัสดีค่ะ

มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ชอบซื้อกองทุน LTF มาลดหย่อนภาษีกันใช่ไหมคะ และพอเห็นตลาดหุ้นผันผวนแรงๆ  ไม่ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลงก็ตาม ก็ตกอกตกใจ แอบหวั่นไหวตามไม่ได้ จึงตัดสินใจขายกองทุนที่มีอยู่ในมือทันที ถ้าขาย LTF ที่ครบกำหนดก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่หากใครเผลอไปขาย LTF ที่ยังไม่ครบกำหนดเข้าแล้วล่ะก็ คราวนี้เรียกว่างานเข้ากันเลยทีเดียว ยังไงก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปนะคะเพราะ K-Expert จะมาอธิบายให้ฟังว่า ถ้าขาย LTF ผิดเงื่อนไขไปแล้วจะต้องทำยังไงบ้าง ไปติดตามจากตัวอย่างกันเลยค่ะ 

ตัวอย่างที่ 1 ขาย LTF ที่เพิ่งซื้อปีนี้

หากใครซื้อ LTF ปีนี้เป็นปีแรก แล้วด่วนตัดสินใจขาย LTF ออกไปในปีนี้เลยทันที คือถือครองไว้น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ถ้าขายแล้วได้กำไรมาล่ะก็ เราจะต้องเอากำไรที่ได้มารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีภาษีที่ขายด้วยนะคะ ซึ่งตอนที่ขาย นายทะเบียนจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% ของกำไร และส่งให้กรมสรรพากร แต่เรายังต้องนำกำไรที่ได้รับทั้งหมดมาคำนวณเป็นเงินได้ก่อนแล้วค่อยเอาภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายมาเครดิตกลับค่ะ เช่น ซื้อ LTF มา 100,000 บาท เมื่อเดือนมกราคม ปี 2558 และขายคืนในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน ได้เงินมา 120,000 บาท เท่ากับได้กำไรมา 20,000 บาท ซึ่งเงินที่ได้รับจริงๆ แล้วจะเท่ากับ 119,400 บาท เพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 600 บาท (20,000 x 3%) ดังนั้น กำไรที่ได้จากการขายคืน LTF 20,000 บาท จะถือเป็นเงินได้ในปีที่ขายคือปี 2558 และถือเป็นรายได้มาตรา 40(8) นั่นเองค่ะ ซึ่งจะต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย เมื่อคำนวณแล้วรู้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไรก็ให้เอา 600 บาทที่ถูกหักภาษีไปก่อนหน้านี้มาหักลบภาษีที่เราต้องจ่าย เช่น ถ้าคำนวณแล้วว่าต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 6,000 บาท (สมมติฐานภาษี 30%) ให้เอา 600 บาท มาลบออก เท่ากับว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 5,400 บาทค่ะ

สรุปว่า ถ้าทำผิดเงื่อนไข ซื้อและขาย LTF ในปีเดียวกัน โดยที่เราไม่เคยซื้อ LTF มาก่อน กำไรที่ได้รับจากการขายต้องเอามารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีที่ขายด้วยค่ะ 

ตัวอย่างที่ 2 ขาย LTF ที่ได้ใช้สิทธิทางภาษีไปแล้ว

สำหรับคนที่เคยซื้อ LTF มาแล้วในปีก่อนหน้าคือปี 2557 และมาขายคืนในปี 2558 นี้จะถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน LTF เช่นกันค่ะ เช่น ซื้อ LTF มา 100,000 บาท ในปี 2557 พอถึงเดือนมีนาคม ปี 2558 ก็เอามาลดหย่อนภาษีทันที ได้เงินคืนภาษีมา 30,000 บาท (สมมติฐานภาษี 30%) ต่อมาเดือนตุลาคม ปี 2558 เห็นว่าตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจึงตัดสินใจขายหน่วยลงทุนที่ลงทุนไปในปีที่แล้วทันที ได้เงินมาทั้งหมด 120,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเท่ากับ 119,400 บาท เพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 600 บาท (20,000 x 3%) เมื่อขายคืน LTF ผิดเงื่อนไขแบบนี้ สิ่งที่เราควรทำมีดังนี้ค่ะ

รีบคืนภาษีที่ได้รับจากการลดหย่อนเมื่อต้นปี 2558 ทันที ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะให้เรากรอกแบบ ภ.ง.ด.ใหม่ เพื่อคำนวณภาษีที่เราควรจะเสียหากไม่ได้ลงทุนใน LTF เพื่อลดหย่อนภาษี จากตัวอย่างจะเห็นว่า ถ้าเราไม่ลงทุนซื้อ LTF จะต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรอีก 30,000 บาท (สมมติฐานภาษี 30%) ซึ่งเงินจำนวนนี้คือเงินที่เราได้รับการลดหย่อนภาษีมา เราจึงต้องคืนให้กรมสรรพากรกลับไป แถมยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับจากวันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงเดือนที่ยื่นคืนภาษีให้กับกรมสรรพากรอีกด้วย ดังนั้น หากเผลอขายคืน LTF ไปในเดือนตุลาคม ปี 2558 แล้ว ให้รีบยื่นภาษีใหม่ทันที เท่ากับต้องเสียเงินเพิ่มอีกจำนวน 3,150 บาท (30,000 x 1.5% x 7 เดือน) (7 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม) และกำไรที่ได้รับจากการขายคืนจำนวน 20,000 บาท ให้นำมารวมเป็นเงินได้ในปี 2558 เพื่อคำนวณภาษีเหมือนกับตัวอย่างที่ 1 ค่ะ  

สรุปว่า ถ้าได้ลดหย่อนภาษีไปแล้ว และขายคืน LTF แบบผิดเงื่อนไข ควรรีบคำนวณภาษีและยื่นภาษีให้เร็วที่สุด เพราะนอกจากจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาแล้ว ยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ของปีที่ได้เงินคืนจนถึงเดือนที่เราคืนเงินให้กับกรมสรรพากรค่ะ นอกจากนี้ กำไรที่ได้รับมานั้นยังต้องคิดเป็นเงินได้เพื่อเอามารวมคำนวณเสียภาษีในปีที่ขายคืนด้วย

ตัวอย่างที่ 3 ขาย LTF ของปีที่ลงทุนล่าสุด โดยเคยลงทุนและใช้สิทธิภาษีมาก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนคนที่ซื้อ LTF มาแล้วหลายปี เช่น ซื้อปี 2556 ปี 2557 และซื้อล่าสุดในปี 2558 โดยที่ซื้อกองทุนเดียวกัน และได้ขายคืนเฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อในปี 2558 เท่านั้น การคำนวณจะเป็นแบบนี้ค่ะ

ถ้าเราซื้อ LTF ปีละ 100,000 บาท แล้วได้รับภาษีคืนปีละ 30,000 บาท สำหรับการลงทุนในปี 2556 และ 2557 ส่วนของปี 2558 ยังไม่ได้เอามายื่นลดหย่อนภาษี แต่ตั้งใจจะขายหน่วยลงทุนของปี 2558 และได้ขายคืนไปแล้ว สมมติว่าขายแล้วได้เงินมา 120,000 บาท จะถือว่าทำผิดเงื่อนไขการลงทุนเช่นกันค่ะ เพราะ LTF มีเงื่อนไข FIFO (First In First Out) หมายความว่า การขายคืน LTF จะเป็นการขายคืนก้อนแรกก่อนเสมอ ดังนั้น แม้ว่าเราจะขายคืนเฉพาะส่วนที่ได้ซื้อเมื่อปี 2558 ก็ยังผิดเงื่อนไข เพราะถือว่าเป็นการขายคืนของปี 2556 ซึ่งยังไม่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทินอยู่ดี จึงผิดเงื่อนไขการลงทุน และต้องคืนสิทธิทางภาษีที่ได้รับเหมือนกับตัวอย่างที่ 2 แต่ในส่วนของเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 จะถูกคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2557 จนถึงเดือนที่ได้ยื่นรายการหรือนำส่งภาษีเลยล่ะค่ะ

ปี

2556

2557

2558

ลงทุน

100,000.-

100,000.-

100,000.-

ได้เงินคืน

  30,000.-

  30,000.-

ขายคืนเดือน ต.ค. ปี 2558 ได้เงินจำนวน

(120,000.-)

ดังนั้น เราจึงต้องคืนสิทธิภาษีที่ได้รับเมื่อต้นปี 2557 โดยกรอกแบบ ภ.ง.ด. ใหม่ เพื่อคำนวณภาษีที่ควรจะเสีย จากตัวอย่าง ถ้าในปี 2556 เราไม่ได้ลงทุนซื้อ LTF จะต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรอีก 30,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เท่ากับว่าเป็นเงินที่เราได้รับการลดหย่อนภาษีมา จึงต้องคืนให้กับกรมสรรพากร และเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับจากวันที่ 1 เมษายน 2557 จนถึงเดือนที่ยื่นคืนกรมสรรพากร ดังนั้น หากขายคืนในเดือนตุลาคม ปี 2558 ก็ให้รีบยื่นภาษีใหม่เลยทันที เท่ากับต้องเสียเงินเพิ่มถึง 8,550 บาท (30,000 x 1.5% x 19 เดือน) (19 เดือนคือนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2557 – เดือนตุลาคม ปี 2558) และกำไรที่ได้รับจากการขายคืนจำนวน 20,000 บาท ให้นำมารวมเป็นเงินได้ในปี 2558 เพื่อเอามาคำนวณภาษีเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 ค่ะ     

สรุปว่า ในกรณีที่ได้ลดหย่อนภาษีไปแล้ว และมีการขายคืน LTF แบบผิดเงื่อนไข เราควรรีบคำนวณภาษีและยื่นให้เร็วที่สุด เพราะนอกจากจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับแล้ว ยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ของปีที่ได้เงินคืนจนถึงเดือนที่เราคืนเงินให้กับกรมสรรพากร ดังนั้น ยิ่งได้รับเงินคืนมาแล้วนานเท่าไร ก็ยิ่งต้องเสียเงินเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ กำไรที่ได้รับยังต้องคิดเป็นเงินได้เพื่อเอามารวมคำนวณเสียภาษีในปีที่ขายคืนด้วยค่ะ 

จากตัวอย่างที่ได้อธิบายไปจะเห็นได้ชัดเลยค่ะว่า การลงทุนในกองทุน LTF นั้นมีประโยชน์มากสำหรับคนที่ต้องการลดหย่อนภาษี และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น แต่เราเองก็ต้องศึกษาเงื่อนไขการลงทุนและทำตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดด้วยนะคะถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด จะได้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับการคำนวณภาษีใหม่ ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับมา หรือต้องเสียเงินเพิ่มอีกด้วย แต่ถ้าใครคิดว่า ตัวเองคงไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของ LTF ได้ ก็แนะนำให้ลงทุนในกองทุนหุ้นจะดีกว่าค่ะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขายคืนก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วยล่ะค่ะ  

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณภาษีอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




Create Date : 19 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2558 11:37:48 น. 0 comments
Counter : 698 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.