Group Blog
 
All Blogs
 

โบกมือลาการเป็นหนี้

สวัสดีค่ะ

เชื่อว่า คนที่มีภาระหนี้สิน สิ่งที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอย ก็คือ วันที่หมดหนี้ หรือหมดภาระการเงินทั้งหลายแล้ว เพราะแต่ละวัน แต่ละเดือน จะได้ไม่ต้องเป็นกังวลว่า รายได้จะพอใช้จ่าย หรือพอชำระหนี้มั้ย ซึ่งหนทางที่เราจะไปถึงวันที่เป็นไทจากภาระหนี้ได้อาจไม่ง่ายนัก ยิ่งใครที่มีหนี้หลายก้อน คิดเป็นหลายเท่าเมื่อเทียบกับรายได้ อาจต้องเหนื่อยหน่อย แต่ก็เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าเราอยากปลดหนี้ให้หมดอย่างแน่นอน ซึ่งการเป็นหนี้สร้างปัญหายังไงบ้างนั้น แล้วจะทำยังไงให้ปลดหนี้ได้ K-Expert มีคำแนะนำเพื่อโบกมือลาการเป็นหนี้มาฝากค่ะ

ใครๆ ก็รู้ว่าการเป็นหนี้ไม่เพียงแค่สร้างความกังวลใจให้กับตัวเรา แต่ยังมีโอกาสสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น

ไม่สามารถทำตามความฝันได้

หลายๆ ครั้งเราไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่เราต้องการได้ เช่น อยากพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อน อยากซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เพราะต้องนำเงินไปชำระหนี้สินก่อน หรือคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่อยากออกมาทำฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจของตัวเอง ก็ต้องพับความฝันเก็บไป ไม่กล้าตัดสินใจลาออก เพราะถ้ารายได้จากงานฟรีแลนซ์ หรือธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คิด หรือไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือภาระผ่อนหนี้ทั้งหลายแล้ว อาจสร้างปัญหาการเงินให้เพิ่มขึ้นได้

ไม่มีเงินออม

หลายคนไม่สามารถเก็บออมเงินได้ เพราะลำพังแค่กิน ใช้ จ่ายหนี้ ให้พอในแต่ละเดือนยังยากเลย ซึ่งการที่เราไม่สามารถเก็บออมเงินได้นั้น อาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้สินของตัวเราเพิ่มเข้าไปอีก เช่น ต้องจ่ายค่าเทอมลูก ใช้เงินเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลของตนเองหรือครอบครัว หรือใช้เงินซ่อมบ้าน แต่เมื่อไม่มีเงินออม ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน อาจทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่าย นอกจากนี้ ถ้าคิดจะเก็บออมเงินเพื่ออนาคต เช่น เก็บเงินแต่งงาน หรือเก็บเงินเกษียณ ก็ดูเป็นเรื่องไกลตัว ถ้ายังมีภาระหนี้สินติดตัวอยู่

เมื่อหนี้สินเป็นปัญหา สร้างภาระให้เรา จึงมีความจำเป็นที่เราควรวางแผนจัดการหนี้สินที่เรามีอยู่ โดยแนะนำดังนี้ค่ะ

1. หยุดสร้างหนี้เพิ่ม

อันดับแรกที่ต้องทำก่อนเลย คือ หยุดสร้างหนี้เพิ่มเด็ดขาด ประเภทการกดบัตรนั้นมาจ่ายบัตรนี้ กู้เงินที่นั่นมาจ่ายที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้นอกระบบควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นดินพอกหางหมู ยากที่จะแก้ไข อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องหยิบยืมจริงๆ เช่น ต้องชำระคืนหนี้สินที่ถึงกำหนดต้องจ่าย แต่เงินที่มีไม่เพียงพอ ก็สามารถกู้ยืมได้ แต่ขอให้เป็นการกู้ยืมที่ไม่ได้มีดอกเบี้ยแพงจนสร้างปัญหาการเงินเพิ่มขึ้นให้ตัวเราอีก เช่น หยิบยืมจากเพื่อนฝูง ญาติมิตร ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะเป็นการยืมจากญาติมิตรหรือคนรู้จัก ก็ควรมีดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนให้เพื่อแสดงการขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือ และถ้าให้ดี ควรมีสัญญาหรือหลักฐานว่าเราจะชำระคืนในภายหลัง

2. ทำบัญชีรับจ่าย

ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเราออกมาว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รวมถึงค่าผ่อนชำระหนี้ต่างๆ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ดูว่าทั้งเดือนเราใช้จ่ายเท่าไร รายได้พอกับรายจ่ายหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่เขียนออกมา เราจะไม่รู้เลยว่าสถานะการเงินของเราเป็นยังไง เป็นบวก เท่าตัว หรือติดลบ โดยถ้าเท่าตัวหรือติดลบ ก็แสดงว่า เราเริ่มมีปัญหาการเงินขึ้นมาแล้ว นอกจากนี้ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยให้รู้ว่า เรามีค่าใช้จ่ายอะไรที่เป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น พอจะปรับลดได้บ้าง เช่น ค่าสังสรรค์ทานข้าวนอกบ้าน ค่ากาแฟ ซึ่งถ้าลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงได้ สถานะการเงินของเราก็จะดีขึ้น หรือมีเงินเหลือมาชำระคืนหนี้ได้มากขึ้นด้วย

3. สำรวจภาระหนี้สิน

เขียนรายการหนี้สินที่เรามีออกมาทั้งหมด ทั้งจำนวนยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย และยอดผ่อนชำระต่อเดือน โดยแยกประเภทหนี้ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด แล้วเรียงลำดับยอดหนี้จากน้อยไปมาก เพื่อดูลำดับเวลาชำระคืนหนี้สิน โดยถ้าเราไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ทั้งหมด ก็ดูว่ารายการหนี้สินที่มีอยู่มียอดชำระขั้นต่ำเท่าไร ก็ให้จ่ายอย่างน้อยขั้นต่ำ หรือจ่ายมากกว่าขั้นต่ำได้ก็ดี โดยพยายามปิดหนี้ก้อนที่เหลือยอดน้อยสุดก่อน เพื่อให้จำนวนเจ้าหนี้ของเราลดลง แล้วค่อยๆ ไล่ปิดหนี้แต่ละก้อนไปเรื่อยๆ ค่ะ แม้ว่าการจ่ายขั้นต่ำ หนี้อาจจะหมดช้า แต่ยังคงรักษาเครดิตหรือประวัติการชำระหนี้ของเราอยู่ โดยอย่าขาดการชำระหนี้ เพราะจะทำให้เสียประวัติได้นะคะ     

4. เก็บออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

เมื่อชำระคืนหนี้สินได้หมดแล้ว ก็พยายามไม่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นภาระการเงินให้กับตัวเราอีก ถ้ามีการรูดใช้จ่ายผ่านบัตร ก็ต้องมั่นใจว่ามีเงินมาชำระคืนตรงเวลาและเต็มจำนวน และเพื่อให้เราสามารถเก็บออมเงินได้ ไม่ใช้จ่ายจนหมด แนะนำให้หักเงินรายได้มาเก็บออมก่อนใช้จ่ายก่อนเลยทุกเดือน อย่างน้อย 10-20% ของรายได้ แล้วเก็บเป็นเงินสำรองเผื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินให้ได้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยสามารถเก็บออมในบัญชีเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะถ้าจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนขึ้นมา จะได้มีเงินที่สำรองเก็บไว้มาใช้จ่าย ไม่ต้องกู้ยืมให้กลายเป็นหนี้เป็นสินตามมาอีก

สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราหมดหนี้ได้นั้นอยู่ที่ “ตัวเรา” โดยต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะเป็นอดทนต่อการชำระคืนหนี้ โดยไม่หนีหายไป อดทนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น ปรับลดการใช้จ่ายบางอย่างลงเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่ขอให้นึกถึงตอนที่ตัวเราไม่มีภาระหนี้สินมาผูกมัดแล้ว จะทำให้เรามีกำลังใจเพิ่มขึ้นมาอย่างแน่นอนค่ะ  

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมรับ-จ่ายอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2558    
Last Update : 8 ธันวาคม 2558 11:32:16 น.
Counter : 957 Pageviews.  

ขจัดข้ออ้าง ออมเงินทุกเดือน

สวัสดีค่ะ

มนุษย์เงินเดือนหลายคน ใจจดใจจ่อรอวันที่เงินเดือนออกกันใช่ไหมล่ะคะ และพอเงินเดือนออกปุ๊บ ก็คิดถึงเรื่องใช้เงินปั๊บ คิดว่าวันนี้จะไปกินอะไร เที่ยวไหนดี โดยที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องออมเงินกันสักเท่าไร นอกจากจะไม่สนใจเก็บเงินแล้ว มิหนำซ้ำบางคนยังมีข้ออ้างต่างๆ นานา มาสาธยาย เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องเก็บเงินอีกด้วย และไม่ว่าข้ออ้างเหล่านั้นจะเป็นอะไร ถ้าใครยังอยากมีชีวิตที่สุขสบายและ strong ต่อไปในวันข้างหน้าแล้วล่ะก็ K-Expert แนะนำให้รีบขจัดข้ออ้างเหล่านั้นทิ้งไป และมาเริ่มต้นเก็บเงินไปพร้อมๆ กันค่ะ รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ

ข้ออ้างยอดฮิตของคนไม่คิดเก็บเงิน

เงินเดือนน้อย

สำหรับเด็กจบใหม่ หรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นานอาจรู้สึกว่าเงินเดือนตัวเองน้อยนิด ก็เลยเอาเรื่องเงินเดือนมาเป็นข้ออ้างในการเก็บเงินด้วยเหตุผลที่ว่า เงินเดือนแค่นี้แค่ใช้ให้พอไปวันๆ เอาตัวรอดไปได้ในแต่ละเดือนก็เก่งแล้ว จะให้เอาเงินที่ไหนมาออม ไว้รอให้ได้เงินเดือนมากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยว่ากัน จริงๆ แล้วการที่เรามีเงินเดือนน้อยก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ถ้าเราตั้งใจจะเก็บออมเงินซะอย่าง ยังไงเราก็ทำได้

ค่าใช้จ่ายเยอะ

ส่วนคนที่ทำงานมาได้สักพัก เริ่มผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือแต่งงาน มีครอบครัวแล้ว ก็มักจะเอาเรื่องค่าใช้จ่ายมาเป็นข้ออ้างในการเก็บเงินด้วยเหตุผลที่ว่า ค่าใช้จ่ายเยอะแยะมากมายขนาดนี้ ไม่มีเงินเหลือมาออมหรอก แม้ว่าความเป็นจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ว่าเยอะนั้นอาจจะมีทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและฟุ่มเฟือยรวมอยู่ด้วยก็ตาม ซึ่งถ้าเราลองจดบันทึกรับจ่ายและลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลงก็จะมีเงินออมทุกเดือนได้ไม่ยากเลยล่ะค่ะ

อายุยังไม่มาก ยังมีเวลาเก็บเงินอีกนาน

คนที่อายุยังไม่มาก อาจจะเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่กี่ปี หรือยังไม่มีครอบครัว ก็มักจะใช้เรื่องอายุมาเป็นข้ออ้างในการเก็บเงินด้วยเหตุผลที่ว่า ยังมีเวลาให้เราเก็บเงินอีกตั้งนาน ไม่เห็นต้องรีบร้อนเลย ขอเอาเงินที่หามาได้ไปซื้อความสุขใส่ตัวก่อนล่ะกัน สำหรับคนที่คิดแบบนั้นจะเรียกว่าเป็นคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งก็ว่าได้ค่ะ และถ้ายังคิดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ พอรู้ตัวอีกทีก็แก่ก่อนมีเงินเก็บซะแล้ว คราวนี้ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร อนาคตดูท่าจะไม่สดใสเท่าที่ควร อย่าลืมนะคะว่า ออมก่อนรวยกว่า ถ้ายิ่งออมช้าก็ยิ่งต้องเก็บเงินออมมากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น ใครที่ยังไม่คิดจะเริ่มออมเงิน ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างอะไรก็ตาม ให้รีบขจัดข้ออ้างเหล่านั้นทิ้งไป แล้วมาเริ่มต้นสร้างวินัยในการออมเงินทุกเดือนกันใหม่ด้วยวิธีง่ายๆ 2 วิธี ดังนี้ค่ะ

1. ออมก่อนใช้ทุกเดือน เป็นวิธีแรกที่อยากแนะนำเพราะทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะมีเงินออมทุกเดือน โดยแนะนำให้เริ่มจากการเก็บออมก่อนใช้ทุกเดือน อย่างน้อย 20% ของรายได้ในแต่ละเดือนค่ะ เช่น ถ้ามีรายได้เดือนละ 30,000 บาท พอเงินเดือนออกก็ให้เก็บออมก่อนเลยอย่างน้อย 6,000 บาท เงินที่เหลือหลังจากนั้นค่อยเอาไปใช้ และวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนให้พอค่ะ

2. หาตัวช่วยในการออมเงิน หากใครรู้ตัวว่าเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ แนะนำให้หาตัวช่วยในการเก็บเงินที่เราสนใจค่ะ เช่น ให้ธนาคารหักบัญชีอัตโนมัติทุกเดือนในวันที่เงินเดือนออกเพื่อฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี 24 เดือน หรือเพื่อลงทุนในกองทุนรวมเป็นประจำทุกเดือน โดยสามารถเริ่มออมได้ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ถือเป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะค่ะ เพราะนอกจากจะทำให้เรามีเงินออมทุกเดือนแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนกลับมา ทำให้เงินออมของเรางอกเงยมากขึ้นอีกด้วย

ขอยกตัวอย่างให้เห็นตัวเลขเงินออมเลยละกัน สมมติว่าเราออมเงินทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี โดยถ้าอายุเรายังไม่มากและรับความเสี่ยงได้สูง หากนำเงินที่เก็บออมได้นั้นไปลงทุนในกองทุนหุ้น ได้ผลตอบแทนกลับมา 10% ต่อปี เราจะมีเงินก้อนประมาณ 230,000 บาทเลยล่ะค่ะ เห็นไหมคะว่า เก็บเงินแค่เดือนละ 3,000 บาท ผ่านไปแป๊บเดียว ก็มีเงินเก็บหลักแสนได้เลยทีเดียว

การออมเงินทุกเดือนไม่ใช่เรื่องยาก และข้ออ้างต่างๆ ที่เราเคยมีจะไม่ใช่ข้ออ้างในการออมเงินอีกต่อไป ถ้าเรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจจะเก็บออมเงิน และลงมือทำอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ ต่อให้มีอุปสรรคใดๆ เราก็จะสามารถข้ามผ่านไปได้ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีเป้าหมายในการออมเงินนะคะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณเงินออมอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2558    
Last Update : 1 ธันวาคม 2558 15:34:34 น.
Counter : 935 Pageviews.  

3 แหล่งลงทุนปลอดภาษี

สวัสดีค่ะ

“อยากลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเยอะๆ ทำไงดี” หลายคนคงอยากจะทราบคำตอบของคำถามนี้กันใช่ไหมคะ วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้นก็คือ การลงทุนที่ผลตอบแทนไม่ถูกหักภาษีออกไปค่ะ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างดอกเบี้ยเงินฝากประจำซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ถ้าเราได้ดอกเบี้ยมา 10,000 บาท ก็ต้องถูกหักภาษีสูงถึง 1,500 บาทเลยล่ะค่ะ ดูๆ แล้วก็เป็นเงินไม่น้อยเลย แล้วอะไรบ้างล่ะที่เราลงทุนแล้วไม่ถูกหักภาษี K-Expert ได้รวบรวมมาฝากเพื่อนๆ แล้วล่ะค่ะ

กองทุนรวม

เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการลงทุนกองทุนรวมกันแล้ว ถ้าเราลงทุนกองทุนรวม แล้วได้กำไรจากราคา NAV ที่แตกต่างกัน กำไรส่วนนี้ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ากองทุนรวมจ่ายเงินปันผล และเราได้แจ้งให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในวันที่เปิดบัญชีกองทุนครั้งแรก เมื่อได้เงินปันผลมา เราก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ค่ะ มาถึงตรงนี้ อาจมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า ถ้าอยากได้เงินกลับมาจากการลงทุน แต่ไม่อยากถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะมีวิธีมั้ย คำตอบก็คือ “มี” ค่ะ แต่อาจจะยุ่งยากขึ้นซักหน่อยนั่นคือ เราต้องลงทุนในกองทุนที่ไม่ได้มีนโยบายจ่ายเงินปันผล แล้วส่งคำสั่งขายกองทุนรวมด้วยตัวเองเมื่อกองทุนมีกำไร เช่น ได้กำไร 5% เราก็ส่งคำสั่งขายเอาส่วนที่เป็นกำไรออกมา วิธีนี้จะเป็นการจ่ายปันผลให้ตัวเราเองโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ก็อย่าลืมเช็คด้วยว่า กองทุนที่เราจะขายเอากำไรออกมานั้น มีกำหนดยอดเงินขั้นต่ำที่สามารถขายกองทุนออกมาได้หรือไม่ด้วยค่ะ อีกวิธีหนึ่งคือ การลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto Redemption) ซึ่งกองทุนแบบนี้มีนโยบายขายคืนหน่วยลงทุนกลับคืนมาให้กับเรา เมื่อราคาขึ้นไปถึงราคาที่กำหนดเอาไว้ หรือเมื่อถึงวันที่บลจ.กำหนดเอาไว้ล่ะค่ะ

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

กองทุนประเภทนี้เรียกได้ว่า เป็นน้องใหม่ในวงการกองทุนรวม เพราะเพิ่งออกขายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยกองทุนประเภทนี้จะนำเงินจากนักลงทุนอย่างเราๆ ไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานเช่น ระบบขนส่งทางราง ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น ดังนั้นทางการก็เลยมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมจากกองทุนรวมแบบปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนนำเงินมาลงทุนในกองทุน โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น หากเป็นกำไรจากส่วนต่างราคายังคงได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนกองทุนรวมแบบปกติ ส่วนเงินปันผลนั้นจะพิเศษหน่อยค่ะคือ ได้รับยกเว้นภาษีเป็นเวลาถึง 10 ปี นับตั้งแต่ปีที่มีการจัดตั้งกองทุนค่ะ ดังนั้น ใครที่ลงทุนในช่วง 10 ปีแรกที่กองทุนจัดตั้ง ก็จะได้ผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกหักภาษีไปแม้แต่บาทเดียวเลยค่ะ

เงินฝากปลอดภาษี

ส่วนคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำหรือยังคุ้นเคยกับการฝากเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียว เงินฝากปลอดภาษีก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะคะ เพราะเงินฝากประเภทนี้มีจุดเด่นคือ อัตราดอกเบี้ยมักสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วๆ ไป แถมพอได้ดอกเบี้ยมาแล้วก็ไม่ต้องถูกหักภาษีเหมือนเงินฝากประจำด้วยค่ะ โดยเงินฝากประเภทนี้มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องฝากเงินเท่าๆ กันทุกเดือนเป็นเวลา 24 หรือ 36 เดือน ซึ่งยอดเงินฝากในแต่ละเดือนก็จะเริ่มต้นตั้งแต่ 500 ไปจนถึง 25,000 บาท สำหรับระยะเวลา 24 เดือน ส่วนระยะเวลา 36 เดือน ยอดเงินฝากประมาณ 1,000 ถึง 16,000 บาทค่ะ แต่ถ้าในช่วง 2 หรือ 3 ปีที่ฝาก เกิดมีเหตุจำเป็นต้องถอนเงินหรือไม่สามารถฝากได้ทุกเดือน ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เรายังคงได้เงินต้นกลับมาครบ เพียงแต่ว่า ดอกเบี้ยที่จะได้จากธนาคารก็จะไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสูงๆ อย่างที่ธนาคารกำหนดไว้ในตอนแรก โดยอาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้นล่ะค่ะ

แม้ว่าการลงทุนบางประเภท ผลตอบแทนที่เราได้รับจะถูกหักภาษีออกไปบ้าง แต่ถ้าดูแล้วเป็นรูปแบบการลงทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงที่เรารับได้ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับตัวเรา เช่น เกษียณแล้ว และอยากมีรายได้จากดอกเบี้ยเป็นประจำสม่ำเสมอ การลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดี แม้ว่าจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป 15% ก็ตามค่ะ ดังนั้น 3 แหล่งลงทุนแบบปลอดภาษีที่นำมาฝากกัน น่าจะเป็นส่วนเสริมให้การลงทุนของเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้นนะคะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณภาษีอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2558 14:50:12 น.
Counter : 894 Pageviews.  

เคล็ดไม่ลับ ลงทุนให้ถึงเป้าหมาย


สวัสดีค่ะ

หลายคนที่มีความฝันก็อยากทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงใช่ไหมล่ะคะ ไม่ว่าจะเป็น อยากมีบ้านหลังใหญ่ อยากมีรถไว้ใช้ อยากไปเที่ยวทริปไกลๆ หรืออยากรวยเป็นเศรษฐี จะได้มีเงินไปชอปปิ้ง ซื้อทุกสิ่งที่เราอยากได้ แต่บางคนก็ยังไม่รู้เลยว่า ฝันของเราจะเป็นจริงได้มั้ย ... ต้องบอกว่า ใครๆ ก็สามารถทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้ โดยเริ่มจากการแปลงความฝันเหล่านั้นให้เป็นเป้าหมายที่ดีซะก่อน ซึ่งเป้าหมายที่ดีนั้นเป็นอย่างไร แล้วจะทำยังไงให้ไปถึงความฝันหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก ไปดูกันเลยค่ะ

เป้าหมายที่ดี ต้องมีความชัดเจน เป็นไปได้ และมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เพราะเป้าหมายที่กว้างเกินไป เช่น บอกว่าอยากรวย โดยที่เราไม่รู้จำนวนเงิน และระยะเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย ทำให้เกิดความสับสนได้ว่า ควรบริหารจัดการเงินของตัวเองยังไง เปรียบเหมือนกับการขับรถที่เราต้องรู้จุดหมายปลายทางที่ชัดเจน และรู้ว่าต้องไปถึงที่หมายเมื่อไหร่ จะได้วางแผนเดินทางถูก ไม่งั้นเราก็จะขับรถไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมาย

เมื่อเรากำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งจำนวนเงินและระยะเวลาแล้ว เช่น อยากมีเงินล้านในอีก 5 ปี ทำให้รู้ว่าต้องออมปีละ 2 แสนบาท หรือตกเดือนละประมาณ 16,000-17,000 บาท ซึ่งช่วยให้เราประเมินได้ว่า เป้าหมายนี้เป็นไปได้มั้ย ต้องปรับลดค่าใช้จ่าย หรือหารายได้เพิ่มยังไง เพื่อเก็บออมเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ถ้าประเมินแล้ว รู้ว่าเป้าหมายเป็นจริงได้ยาก เช่น ต้องเก็บเงินเยอะมากๆ ในแต่ละเดือน แม้จะปรับลดค่าใช้จ่ายหรือเพิ่มรายได้แล้วก็ตาม ก็คงต้องมานั่งปรับเปลี่ยนเป้าหมายกันใหม่ โดยอาจเลื่อนระยะเวลาของเป้าหมายออกไปก่อน หรือลดขนาดของเป้าหมายลงมาค่ะ

นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายยังเป็นตัวกำหนดรูปแบบการออมการลงทุนที่เหมาะสมให้เราได้ด้วย หากว่ากันตามหลักการออมเงินทั่วไปแล้ว ถ้าเรามีเวลาเก็บเงินสั้นๆ ก็ไม่ควรนำเงินไปเสี่ยงกับการซื้อหุ้นค่ะ เช่น ตั้งใจจะเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้านในอีก 2-3 ปี ก็เหมาะกับการเก็บออมไว้ในเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน แต่ถ้ามีเวลาเก็บเงินนานหน่อย เช่น เก็บเงินเกษียณ ก็สามารถแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้นได้ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั่นเองค่ะ

เมื่อตั้งเป้าหมาย รู้ว่าควรเก็บเงินเดือนละเท่าไร และเก็บไว้ในสินทรัพย์ประเภทไหนแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญ นั่นก็คือ ลงมือทำด้วยการเก็บออมเงินอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง เพราะเราจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่นั้น ตัวเราเองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ถึงแม้ว่าเราจะวางแผนการออมไว้ดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดวินัยและความอดทนในการออมเงินแล้วล่ะก็ เป้าหมายจะสำเร็จได้ยากค่ะ

การติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นการเช็คดูว่าเราใกล้ถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง ถ้ายังห่างไกลจากเป้าหมาย จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการออมเงินยังไง เช่น ตั้งเป้าหมายเก็บเงินไปเที่ยวในอีก 1 ปี ใช้เงินทั้งหมด 1 แสนบาท เท่ากับว่าเราจะต้องเก็บออมเดือนละประมาณ 8,000 บาท แต่ผ่านไปแล้ว 6  เดือน ยังเก็บได้ไม่ถึง 5 หมื่นบาท ถ้าเป็นแบบนี้ ช่วง 6 เดือนที่เหลือก็ต้องเร่งเก็บเงิน โดยเก็บเงินในแต่ละเดือนให้มากขึ้นเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริงได้ แต่ถ้าเราสามารถเก็บเงินได้ถึงเป้าหมายก่อนเวลาที่ตั้งไว้ ก็ถือว่าเยี่ยมมากเลยล่ะค่ะ เพราะมั่นใจได้เลยว่า เราได้ทำตามความฝันอย่างแน่นอน ขอแนะนำอีกนิดนึงว่า ถ้าเราได้แบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในหุ้นด้วย แล้วในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่หุ้นขาขึ้น ทำให้เงินที่เราเก็บออมไว้ถึงเป้าหมายแล้ว เราก็สามารถโยกเงินออมนั้นไปพักไว้ในเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงินได้ค่ะ

เห็นไหมคะว่า ความฝันจะเป็นจริงได้ไม่ยาก เพียงแค่เราแปลงความฝันนั้นให้กลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้ เพื่อให้รู้ว่าต้องวางแผนออมเงินยังไง สิ่งสำคัญ คือ ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง และติดตามผลเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางการออมเงินให้เหมาะกับสถานการณ์ ซึ่ง K-Expert ได้คิดค้น K-Expert MyPort (ผู้ช่วยจัดการสินทรัพย์ออนไลน์) ขึ้นมา เพื่อช่วยให้เราสามารถตั้งเป้าหมายของตัวเอง รู้จำนวนเงินที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย และยังสามารถติดตามความคืบหน้าของการออมเงินได้ด้วยค่ะ ลองใช้กันดูนะคะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: ผู้ช่วยจัดการสินทรัพย์ออนไลน์ <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2558 11:26:29 น.
Counter : 839 Pageviews.  

ขาย LTF ผิดเงื่อนไข ทำไงดี


สวัสดีค่ะ

มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ชอบซื้อกองทุน LTF มาลดหย่อนภาษีกันใช่ไหมคะ และพอเห็นตลาดหุ้นผันผวนแรงๆ  ไม่ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลงก็ตาม ก็ตกอกตกใจ แอบหวั่นไหวตามไม่ได้ จึงตัดสินใจขายกองทุนที่มีอยู่ในมือทันที ถ้าขาย LTF ที่ครบกำหนดก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่หากใครเผลอไปขาย LTF ที่ยังไม่ครบกำหนดเข้าแล้วล่ะก็ คราวนี้เรียกว่างานเข้ากันเลยทีเดียว ยังไงก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปนะคะเพราะ K-Expert จะมาอธิบายให้ฟังว่า ถ้าขาย LTF ผิดเงื่อนไขไปแล้วจะต้องทำยังไงบ้าง ไปติดตามจากตัวอย่างกันเลยค่ะ 

ตัวอย่างที่ 1 ขาย LTF ที่เพิ่งซื้อปีนี้

หากใครซื้อ LTF ปีนี้เป็นปีแรก แล้วด่วนตัดสินใจขาย LTF ออกไปในปีนี้เลยทันที คือถือครองไว้น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ถ้าขายแล้วได้กำไรมาล่ะก็ เราจะต้องเอากำไรที่ได้มารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีภาษีที่ขายด้วยนะคะ ซึ่งตอนที่ขาย นายทะเบียนจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% ของกำไร และส่งให้กรมสรรพากร แต่เรายังต้องนำกำไรที่ได้รับทั้งหมดมาคำนวณเป็นเงินได้ก่อนแล้วค่อยเอาภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายมาเครดิตกลับค่ะ เช่น ซื้อ LTF มา 100,000 บาท เมื่อเดือนมกราคม ปี 2558 และขายคืนในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน ได้เงินมา 120,000 บาท เท่ากับได้กำไรมา 20,000 บาท ซึ่งเงินที่ได้รับจริงๆ แล้วจะเท่ากับ 119,400 บาท เพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 600 บาท (20,000 x 3%) ดังนั้น กำไรที่ได้จากการขายคืน LTF 20,000 บาท จะถือเป็นเงินได้ในปีที่ขายคือปี 2558 และถือเป็นรายได้มาตรา 40(8) นั่นเองค่ะ ซึ่งจะต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย เมื่อคำนวณแล้วรู้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไรก็ให้เอา 600 บาทที่ถูกหักภาษีไปก่อนหน้านี้มาหักลบภาษีที่เราต้องจ่าย เช่น ถ้าคำนวณแล้วว่าต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 6,000 บาท (สมมติฐานภาษี 30%) ให้เอา 600 บาท มาลบออก เท่ากับว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 5,400 บาทค่ะ

สรุปว่า ถ้าทำผิดเงื่อนไข ซื้อและขาย LTF ในปีเดียวกัน โดยที่เราไม่เคยซื้อ LTF มาก่อน กำไรที่ได้รับจากการขายต้องเอามารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีที่ขายด้วยค่ะ 

ตัวอย่างที่ 2 ขาย LTF ที่ได้ใช้สิทธิทางภาษีไปแล้ว

สำหรับคนที่เคยซื้อ LTF มาแล้วในปีก่อนหน้าคือปี 2557 และมาขายคืนในปี 2558 นี้จะถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน LTF เช่นกันค่ะ เช่น ซื้อ LTF มา 100,000 บาท ในปี 2557 พอถึงเดือนมีนาคม ปี 2558 ก็เอามาลดหย่อนภาษีทันที ได้เงินคืนภาษีมา 30,000 บาท (สมมติฐานภาษี 30%) ต่อมาเดือนตุลาคม ปี 2558 เห็นว่าตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจึงตัดสินใจขายหน่วยลงทุนที่ลงทุนไปในปีที่แล้วทันที ได้เงินมาทั้งหมด 120,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเท่ากับ 119,400 บาท เพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 600 บาท (20,000 x 3%) เมื่อขายคืน LTF ผิดเงื่อนไขแบบนี้ สิ่งที่เราควรทำมีดังนี้ค่ะ

รีบคืนภาษีที่ได้รับจากการลดหย่อนเมื่อต้นปี 2558 ทันที ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะให้เรากรอกแบบ ภ.ง.ด.ใหม่ เพื่อคำนวณภาษีที่เราควรจะเสียหากไม่ได้ลงทุนใน LTF เพื่อลดหย่อนภาษี จากตัวอย่างจะเห็นว่า ถ้าเราไม่ลงทุนซื้อ LTF จะต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรอีก 30,000 บาท (สมมติฐานภาษี 30%) ซึ่งเงินจำนวนนี้คือเงินที่เราได้รับการลดหย่อนภาษีมา เราจึงต้องคืนให้กรมสรรพากรกลับไป แถมยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับจากวันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงเดือนที่ยื่นคืนภาษีให้กับกรมสรรพากรอีกด้วย ดังนั้น หากเผลอขายคืน LTF ไปในเดือนตุลาคม ปี 2558 แล้ว ให้รีบยื่นภาษีใหม่ทันที เท่ากับต้องเสียเงินเพิ่มอีกจำนวน 3,150 บาท (30,000 x 1.5% x 7 เดือน) (7 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม) และกำไรที่ได้รับจากการขายคืนจำนวน 20,000 บาท ให้นำมารวมเป็นเงินได้ในปี 2558 เพื่อคำนวณภาษีเหมือนกับตัวอย่างที่ 1 ค่ะ  

สรุปว่า ถ้าได้ลดหย่อนภาษีไปแล้ว และขายคืน LTF แบบผิดเงื่อนไข ควรรีบคำนวณภาษีและยื่นภาษีให้เร็วที่สุด เพราะนอกจากจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาแล้ว ยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ของปีที่ได้เงินคืนจนถึงเดือนที่เราคืนเงินให้กับกรมสรรพากรค่ะ นอกจากนี้ กำไรที่ได้รับมานั้นยังต้องคิดเป็นเงินได้เพื่อเอามารวมคำนวณเสียภาษีในปีที่ขายคืนด้วย

ตัวอย่างที่ 3 ขาย LTF ของปีที่ลงทุนล่าสุด โดยเคยลงทุนและใช้สิทธิภาษีมาก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนคนที่ซื้อ LTF มาแล้วหลายปี เช่น ซื้อปี 2556 ปี 2557 และซื้อล่าสุดในปี 2558 โดยที่ซื้อกองทุนเดียวกัน และได้ขายคืนเฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อในปี 2558 เท่านั้น การคำนวณจะเป็นแบบนี้ค่ะ

ถ้าเราซื้อ LTF ปีละ 100,000 บาท แล้วได้รับภาษีคืนปีละ 30,000 บาท สำหรับการลงทุนในปี 2556 และ 2557 ส่วนของปี 2558 ยังไม่ได้เอามายื่นลดหย่อนภาษี แต่ตั้งใจจะขายหน่วยลงทุนของปี 2558 และได้ขายคืนไปแล้ว สมมติว่าขายแล้วได้เงินมา 120,000 บาท จะถือว่าทำผิดเงื่อนไขการลงทุนเช่นกันค่ะ เพราะ LTF มีเงื่อนไข FIFO (First In First Out) หมายความว่า การขายคืน LTF จะเป็นการขายคืนก้อนแรกก่อนเสมอ ดังนั้น แม้ว่าเราจะขายคืนเฉพาะส่วนที่ได้ซื้อเมื่อปี 2558 ก็ยังผิดเงื่อนไข เพราะถือว่าเป็นการขายคืนของปี 2556 ซึ่งยังไม่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทินอยู่ดี จึงผิดเงื่อนไขการลงทุน และต้องคืนสิทธิทางภาษีที่ได้รับเหมือนกับตัวอย่างที่ 2 แต่ในส่วนของเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 จะถูกคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2557 จนถึงเดือนที่ได้ยื่นรายการหรือนำส่งภาษีเลยล่ะค่ะ

ปี

2556

2557

2558

ลงทุน

100,000.-

100,000.-

100,000.-

ได้เงินคืน

  30,000.-

  30,000.-

ขายคืนเดือน ต.ค. ปี 2558 ได้เงินจำนวน

(120,000.-)

ดังนั้น เราจึงต้องคืนสิทธิภาษีที่ได้รับเมื่อต้นปี 2557 โดยกรอกแบบ ภ.ง.ด. ใหม่ เพื่อคำนวณภาษีที่ควรจะเสีย จากตัวอย่าง ถ้าในปี 2556 เราไม่ได้ลงทุนซื้อ LTF จะต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรอีก 30,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เท่ากับว่าเป็นเงินที่เราได้รับการลดหย่อนภาษีมา จึงต้องคืนให้กับกรมสรรพากร และเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับจากวันที่ 1 เมษายน 2557 จนถึงเดือนที่ยื่นคืนกรมสรรพากร ดังนั้น หากขายคืนในเดือนตุลาคม ปี 2558 ก็ให้รีบยื่นภาษีใหม่เลยทันที เท่ากับต้องเสียเงินเพิ่มถึง 8,550 บาท (30,000 x 1.5% x 19 เดือน) (19 เดือนคือนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2557 – เดือนตุลาคม ปี 2558) และกำไรที่ได้รับจากการขายคืนจำนวน 20,000 บาท ให้นำมารวมเป็นเงินได้ในปี 2558 เพื่อเอามาคำนวณภาษีเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 ค่ะ     

สรุปว่า ในกรณีที่ได้ลดหย่อนภาษีไปแล้ว และมีการขายคืน LTF แบบผิดเงื่อนไข เราควรรีบคำนวณภาษีและยื่นให้เร็วที่สุด เพราะนอกจากจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับแล้ว ยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ของปีที่ได้เงินคืนจนถึงเดือนที่เราคืนเงินให้กับกรมสรรพากร ดังนั้น ยิ่งได้รับเงินคืนมาแล้วนานเท่าไร ก็ยิ่งต้องเสียเงินเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ กำไรที่ได้รับยังต้องคิดเป็นเงินได้เพื่อเอามารวมคำนวณเสียภาษีในปีที่ขายคืนด้วยค่ะ 

จากตัวอย่างที่ได้อธิบายไปจะเห็นได้ชัดเลยค่ะว่า การลงทุนในกองทุน LTF นั้นมีประโยชน์มากสำหรับคนที่ต้องการลดหย่อนภาษี และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น แต่เราเองก็ต้องศึกษาเงื่อนไขการลงทุนและทำตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดด้วยนะคะถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด จะได้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับการคำนวณภาษีใหม่ ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับมา หรือต้องเสียเงินเพิ่มอีกด้วย แต่ถ้าใครคิดว่า ตัวเองคงไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของ LTF ได้ ก็แนะนำให้ลงทุนในกองทุนหุ้นจะดีกว่าค่ะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขายคืนก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วยล่ะค่ะ  

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณภาษีอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2558 11:37:48 น.
Counter : 708 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.