Group Blog
 
All Blogs
 
หุ้นกู้ ลงทุนไม่ยากอย่างที่คิด





สวัสดีค่ะ

ในภาวะที่เงินฝากให้ดอกเบี้ยไม่สูงนัก ประมาณ 0.5-2.0% ต่อปี และหุ้นก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ บางปีให้ผลตอบแทนสูงถึง 10% แต่บางปีก็ผันผวนติดลบมากกว่า 10% ทำให้ “หุ้นกู้” ที่ออกโดยบริษัทเอกชนเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูงนัก แต่ยังอยากได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและมากกว่าเงินฝาก อย่างไรก็ตาม ก่อนลงทุนในหุ้นกู้ ก็มีหลายเรื่องที่ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ เพื่อให้เงินลงทุนของเราสามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ในการลงทุนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีเรื่องไหนบ้างที่ควรรู้ K-Expert มีคำแนะนำมาฝากค่ะ

ลักษณะหุ้นกู้เป็นอย่างไร 

หลักโดยทั่วไปที่เราควรรู้เมื่อซื้อหุ้นกู้คือ เราจะมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” ซึ่งความเป็นเจ้าหนี้ของเรานั้น สามารถเป็นได้หลายแบบตามลักษณะของหุ้นกู้ ดังนั้น เมื่อซื้อหุ้นกู้ ควรดูลักษณะของหุ้นกู้ด้วย เช่น มีประกันหรือไม่มีประกัน ด้อยสิทธิหรือไม่ด้อยสิทธิ ถ้าหุ้นกู้เขียนว่า มีประกัน แสดงว่า หุ้นกู้นี้มีการให้หลักประกันแก่เรา เช่น ที่ดิน อาคาร ผลก็คือ ถ้าบริษัทมีปัญหาไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นให้เราได้ เราจะมีสิทธิในหลักประกันนั้นเพื่อนำมาชำระหนี้ให้เราก่อนเจ้าหนี้รายอื่น  ส่วนด้อยสิทธิ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามีสิทธิด้อยกว่าเจ้าหนี้รายอื่น แต่ก็ยังสูงกว่าเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นนะคะ โดยถ้าบริษัทมีปัญหา หรือล้มละลาย เราในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะได้รับชำระเงินคืนเมื่อเจ้าหนี้รายอื่นซึ่งมีลำดับสิทธิที่เหนือกว่า เช่น ผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ได้รับชำระหนี้ในส่วนของตัวเองแล้ว

ผลตอบแทน/ดอกเบี้ยเป็นเท่าไร 

หุ้นกู้มีการกำหนดผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่จะได้รับเอาไว้ โดยทั่วไปมีรูปแบบการจ่ายดอกเบี้ย 2 แบบหลักๆ คือ (1) กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนตายตัวตลอดระยะเวลาของหุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี และ (2) กำหนดเป็นแบบขั้นบันได ปกติแล้วจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น เช่น หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 3% ต่อปี ปีที่ 3 เท่ากับ 4% ต่อปี และปีที่ 4-5 เท่ากับ 5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของหุ้นกู้ อายุของหุ้นกู้ โดยทั่วไปหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ที่มีอายุยาวกว่าจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่มีอายุสั้นกว่า นอกจากนี้ จะมีการกำหนดงวดของการจ่ายดอกเบี้ย เช่น จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วยนะคะ เช่น อัตราดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย เท่ากับว่าจะได้รับดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 4.675% ต่อปี อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีไม่ถึง 15% สามารถขอคืนภาษีส่วนที่ถูกหักไว้เกินคืนได้ตอนยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปีค่ะ

ระยะเวลาลงทุนนานแค่ไหน

หุ้นกู้มักมีการกำหนดอายุของหุ้นกู้เอาไว้ เช่น 3 ปี 5 ปี 10 ปี เป็นต้น เมื่อครบกำหนดบริษัทก็จะคืนเงินต้นให้เรา ซึ่งเราควรดูอายุของหุ้นกู้ให้สอดคล้องกับระยะเวลาลงทุนที่เราต้องการ ทั้งนี้ มีหุ้นกู้ประเภทที่กำหนดเงื่อนไข “ไถ่ถอนก่อนกำหนดได้” ซึ่งมี 2 กรณีคือ (1) บริษัทสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้กู้ขอคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด และ (2) ผู้ถือหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้ให้กู้ขอเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด ซึ่งเรามักจะเห็นแบบแรก คือ บริษัทขอไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดมากกว่าแบบที่สองค่ะ เช่น หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี ซึ่งบริษัทมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป โดยถ้าบริษัทใช้สิทธิไถ่ถอน เสมือนขอยกเลิกหุ้นกู้ตัวนั้น บริษัทจะคืนเงินต้นให้กับผู้ลงทุน ซึ่งหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขว่าบริษัทสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้นั้น โดยทั่วไปจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ที่ไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อชดเชยความเสี่ยงของการถูกไถ่ถอนก่อนกำหนด เพราะผู้ลงทุนต้องหาหุ้นกู้ตัวใหม่เพื่อลงทุน ซึ่งอาจไม่มีหุ้นกู้ออกใหม่เสนอขายในช่วงนั้น หรือถ้าเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง การลงทุนในหุ้นกู้ตัวใหม่อาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่น้อยลงกว่าเดิม

บริษัทน่าเชื่อถือหรือไม่

เนื่องจากการซื้อหุ้นกู้ ก็คือ การให้บริษัทกู้ยืมเงิน ก่อนซื้อหุ้นกู้จึงต้องดูให้แน่ใจก่อนว่า บริษัทมั่นคงมากน้อยเพียงใด ฐานะการเงินเป็นอย่างไร เพราะสะท้อนว่าบริษัทมีเงินจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้เราได้หรือไม่ ซึ่งความมั่นคงแข็งแกร่งของบริษัท สามารถดูได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จัดทำโดยคนกลางที่เรียกว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) อันดับความน่าเชื่อถือมีการใช้สัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัวแรก คือ A B C และ D โดยอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดเท่ากับสามเอ (AAA) และในแต่ละขั้นยังมีการย่อยเป็นบวกและลบ เช่น AA+ A- BBB+ เป็นต้น ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไปถึง AAA จัดว่าเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำกว่า BBB- ถือว่าเป็นหุ้นกู้ที่ควรระมัดระวังในการลงทุน โดยทั่วไปหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อต่ำจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ดังนั้น การซื้อหุ้นกู้ไม่ควรดูเพียงแค่อัตราดอกเบี้ยสูงๆ เท่านั้น แต่ควรดูอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทด้วย เพราะหมายถึงโอกาสของการได้รับชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของเราค่ะ

ใครบ้างที่ลงทุนได้

หุ้นกู้ในบ้านเรามีการขายอยู่ 2 แบบ คือ (1) Public Offering เป็นการขายให้บุคคลทั่วไป ไม่มีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติหรือรายได้ และ (2) Private Placement เสนอขายเฉพาะเจาะจงแก่นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่จะต้องมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ (1) มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมที่พักอาศัย (2) มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือ (3) มีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยทั่วไปหุ้นกู้ที่ขายแบบ  Private Placement  จะมีเอกสารให้เซ็นรับรองว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติที่กำหนด เช่น หุ้นกู้ประเภทที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความเชื่อถือ หรือไม่มี Credit Rating (Non-rated Bond) เนื่องจากไม่มีบริษัทจัดอันดับความเชื่อถือเข้าไปประเมินบริษัท ผู้ลงทุนจึงต้องเป็นกลุ่มที่มีความรู้หรือมีเวลาศึกษาข้อมูลมากหน่อย ทำให้หุ้นกู้ประเภทนี้เสนอขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ โดยถ้าภายหลังตรวจสอบพบว่า ผู้ถือหุ้นกู้เป็นบุคคลทั่วไป ซึ่งไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ อาจทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในหุ้นกู้ก็ได้ ดังนั้น จะต้องดูว่าหุ้นกู้ที่บริษัทเสนอขายนั้น กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สามารถซื้อได้ไว้หรือไม่

ดังนั้น ก่อนลงทุนในหุ้นกู้ ควรศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของหุ้นกู้ให้ดี ทั้งลักษณะ ผลตอบแทน ระยะเวลาลงทุน และเงื่อนไขของหุ้นกู้ เพราะแม้ว่าการขายหุ้นกู้จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ไม่ได้การันตีว่าหุ้นกู้จะไม่มีปัญหานะคะ โดยถ้าต้องการรู้ข้อมูลของหุ้นกู้ออกใหม่ สามารถดูได้ที่ //www.thaibma.or.th/ และจำไว้เสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนก่อนตัดสินใจลงทุน” ทุกครั้งค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Article: รู้จักตราสารหนี้ สิ่งดีๆ ช่วยเพิ่มผลตอบแทน <<< โหลดฟรี 




Create Date : 19 พฤษภาคม 2559
Last Update : 19 พฤษภาคม 2559 11:46:39 น. 0 comments
Counter : 891 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.