Group Blog
 
All Blogs
 
3 ข้อควรรู้ ก่อนลงทุนกองทุนตราสารหนี้









สวัสดีค่ะ

“ลงทุนอะไรดี ที่ความเสี่ยงต่ำ และได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก” น่าจะเป็นคำถามยอดฮิตในช่วงนี้ ซึ่งกองทุนตราสารหนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในยุคอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำแบบนี้ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนกองทุนตราสารหนี้ เราควรทราบก่อนว่า กองทุนตราสารหนี้มีกี่แบบ ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุน รวมทั้งเทคนิคในการลงทุน ซึ่ง K-Expert ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาฝากกันแล้วค่ะ

ทำความรู้จักกับกองทุนตราสารหนี้

กองทุนตราสารหนี้เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เช่น เงินฝาก พันธบัตร และหุ้นกู้ โดยสามารถลงทุนได้ทั้งในตราสารหนี้ของภาครัฐและเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนค่ะ กองทุนตราสารหนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

1. กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลา กองทุนประเภทนี้มีการกำหนดอายุของกองทุนที่ชัดเจนเช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งเงินที่ลงทุนในกองทุนประเภทนี้ควรเป็นเงินเย็น ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลาที่ลงทุนในกองทุน จุดเด่นของกองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลาคือ มีการคาดการณ์อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ทำให้ผู้ลงทุนทราบว่า จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้มากน้อยแค่ไหนค่ะ

2. กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนประเภทนี้ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี จึงมีความเสี่ยงที่ต่ำ แต่ผลตอบแทนของกองทุนก็ไม่สูงมากด้วยเช่นกัน จุดเด่นของกองทุนประเภทนี้คือ สภาพคล่องสูง หากต้องการใช้เงิน สามารถขายกองทุนและได้รับเงินในวันทำการถัดไป (T+1) จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นแหล่งพักเงิน หรือเก็บออมเพื่อเป็นสภาพคล่อง

3. กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว กองทุนประเภทนี้ลงทุนในตราสารหนี้อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นแล้ว กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่สูงกว่า จึงเหมาะที่จะเป็นเครื่องมือในการลงทุนของผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำค่ะ

ปัจจัยที่กระทบกับผลตอบแทนของกองทุน

กองทุนตราสารหนี้ที่เราลงทุนจะให้ผลตอบแทนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยค่ะ ปัจจัยแรกคือ ประเภทของตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุน ตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนนั้นมีหลากหลายตั้งแต่เงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งโดยปกติแล้ว กองทุนที่ลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ของภาครัฐมักจะมีความเสี่ยงน้อยกว่ากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ผลตอบแทนของกองทุนประเภทแรกก็ย่อมน้อยลงมาด้วยค่ะ นอกจากนี้ กองทุนตราสารหนี้อาจมีการลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศสูงกว่าบ้านเรา ก็มีโอกาสที่กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ในไทยเพียงอย่างเดียวค่ะ

ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ อายุคงเหลือของตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุน (Duration) โดยกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวๆ มักจะให้ผลตอบแทนมากกว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือสั้นกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบตราสารหนี้ประเภทเดียวกันซึ่งมีอายุต่างกัน ตราสารหนี้ที่อายุยาวมักให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น แต่ถ้ามองในแง่ความเสี่ยงแล้ว ความเสี่ยงของกองทุนแบบแรกก็ย่อมสูงกว่า เพราะราคาตราสารหนี้ของกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเคลื่อนไหวผันผวนมากกว่าค่ะ

ปัจจัยสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ ปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยกับราคาตราสารหนี้มักเคลื่อนไหวสวนทางกัน ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3% ต่อปี จากนั้นอีก 1 ปีต่อมา อัตราดอกเบี้ยของไทยเป็นขาขึ้น ทำให้พันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ซึ่งอายุ 5 ปีเช่นกัน ให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็น 3.2% ต่อปี ดังนั้นพันธบัตรรัฐบาลรุ่นเก่าที่เราเป็นเจ้าของอยู่จึงมีความน่าสนใจลดน้อยลง ซึ่งทำให้ราคาของพันธบัตรรุ่นเก่านี้ปรับลดลงมาด้วย จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ราคาของพันธบัตรลดลง โดยคนที่ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้นี้คือ คนที่ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งราคาของกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ยิ่งในช่วงที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ซึ่งเราสามารถติดตามทิศทางได้จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย (Thai Government Bond Yields) ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่งผลให้ราคาของกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงค่ะ

เทคนิคลงทุนกองทุนตราสารหนี้

แม้ว่ากองทุนตราสารหนี้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่การเลือกประเภทของกองทุนให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนก็เป็นสิ่งที่สำคัญนะคะ อย่างถ้ารู้ตัวว่า ตนเองเป็นคนที่รับไม่ได้กับความผันผวนของราคา และต้องการทราบผลตอบแทนจากการลงทุนที่แน่นอน กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลาน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่ากองทุนตราสารหนี้ประเภทอื่น

ส่วนคนที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้บ้าง ก็สามารถลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวค่ะ โดยระยะเวลาในการลงทุนเป็นตัวช่วยบอกว่า ควรลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเภทไหน หากระยะเวลาลงทุนไม่ถึง 6 เดือน หรือยังไม่แน่ใจว่า จะลงทุนได้นานแค่ไหน แนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นดีกว่าค่ะ เพราะราคาของกองทุนผันผวนไม่ค่อยมากนัก แต่ถ้าระยะเวลาลงทุน  6 เดือนขึ้นไป ก็จะเหมาะกับกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เพราะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น โดยระยะเวลาในการลงทุนที่นานจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากราคากองทุนที่ปรับตัวขึ้นลงได้ค่ะ

นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก็มีส่วนในการตัดสินใจเลือกลงทุนกองทุนตราสารหนี้ค่ะ หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ควรเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะถ้าลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวมีโอกาสที่ราคาของกองทุนจะปรับลดลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ในทางกลับกัน หากดอกเบี้ยเป็นแนวโน้มขาลง ก็ควรลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เพราะมีโอกาสที่ราคาของกองทุนจะปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นค่ะ

สำหรับคนที่รับความเสี่ยงในการลงทุนได้ต่ำ กองทุนตราสารหนี้ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน อยากให้ศึกษาดูให้ดีก่อนว่า กองทุนจะนำเงินของเราไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน โดยไม่ควรดูเฉพาะผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเพียงอย่างเดียว เพราะถ้ากองทุนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ก็อาจจะทำให้เงินต้นของเราลดน้อยลงไปได้ค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Article: มั่นใจเมื่อลงทุนในตราสารหนี้ <<< โหลดฟรี 




Create Date : 28 มิถุนายน 2559
Last Update : 28 มิถุนายน 2559 16:55:09 น. 0 comments
Counter : 1417 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.