Group Blog
 
<<
กันยายน 2559
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
10 กันยายน 2559
 
All Blogs
 

ความคลุมเครือของสิ่งที่เรียกว่าชาติ



ผมเชื่อว่าคุณประโยชน์ของบางสิ่งบางอย่าง

เกิดจากการยอมรับในสิ่งที่มันเป็นอยู่

และใช้ประโยชน์จากมันตามสภาพที่มันเป็น

..................................................................

ถ้าช้อนไม่คดงอ เราคงไม่สามารถใช้ตักอาหารได้

การจะไปดัดแปลงช้อนให้เป็นเส้นตรง

ย่อมเป็นการลดประโยชน์ในการใช้ตักอาหารของมัน

..................................................................

คนทั่วไปมักเห็นว่า ความว่างหาประโยชน์อะไรไม่ได้

เพราะมันไม่มีอะไรที่จะจับต้องสัมผัสได้

แต่ลัทธิเต๋ากล่าวว่า เพราะมีความว่าง

จึงสามารถบรรจุสิ่งต่าง ๆ ลงไปได้

ยิ่งว่างมากเท่าไหร่ก็ยิ่งบรรจุสิ่งต่าง ๆ ลงไปได้มากเท่านั้น

..................................................................

และแม้กระทั่ง "ความคลุมเครือ" ของบางสิ่งบางอย่าง

หากเรายอมรับในสิ่งที่มันเป็นอยู่

เข้าใจถึงสภาพตามความเป็นจริงของมัน

การแสวงหาประโยชน์จากความคลุมเครือของสิ่งนั้น

ก็ไม่ใช่เรื่องพ้นวิสัย

..................................................................

หนึ่งใน "ความคลุมเครือ" ที่ยังเถียงกันไม่จบไม่สิ้น

ในทุกวันนี้...นั่นก็คือ คำถามว่า "ชาติ" คืออะไร


อ.นิธิ กล่าวว่า ชาติ คือสำนึกของประชาชน

ที่มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ

(มองในแง่สังคมวิทยา)


อ.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า ชาติ คือ ผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน

(มองในแง่เศรษฐศาสตร์)


อ.เสกสรร กล่าวว่า ชาติ คือ ชุมชน x ชุมชน

(มองในแง่รัฐศาสตร์)


Professor Benedict Anderson กล่าวว่า

ชาติ คือชุมชนจินตกรรม

ก่อนหน้านี้มีผู้แปลไว้ว่า "ชุมชนในจินตนาการ"

ซึ่งผมชอบคำแปลแบบเก่ามากกว่า

ฯลฯ

..................................................................

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็ตาม ผมยอมรับได้ทั้งนั้น

ผมเห็นด้วยกับ อ.นิธิ ว่าเราไม่ควรผูกขาด

ความเป็นชาติเอาไว้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ความเป็นชาติ ควรเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้กับทุกคนในสังคม

มองในทางกลับกัน เพราะ "ชาติ" เป็นสิ่งที่คลุมเครือ

จึงทำให้มันมีความหลากหลาย

และรองรับสภาพสังคมในหลาย ๆ รูปแบบได้

ความคลุมเครือของ "ชาติ" จึงเป็นตัวละลายอัตลักษณ์

และทำให้สังคมหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน (เอกภาพ)

ซึ่งลำพังปัจจัยด้านเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ หรือศาสนา

ไม่สามารถทำได้เหมือนในอดีต

เพราะสังคมปัจจุบันมันมีความหลากหลายมากกว่านั้น

..................................................................

ถ้าจะให้ผมสรุปความก็คือ

การไม่สามารถจำกัดความหมายของบางสิ่งบางอย่างนั้น

มิได้เป็นการลดคุณค่าของสิ่งนั้นแต่อย่างใด

ปัญหาก็คือ...มีคนกลุ่มหนึ่งเริ่มปฏิเสธ

ไม่ยอมรับสิ่งที่เรียกว่า "ชาติ" ด้วยเหตุผลที่ว่า

มันหาความหมายที่แท้จริงไม่ได้

และที่สุดก็เชื่อว่า มันไม่มีอยู่จริง ?

หรือมันไม่ควรมีอยู่ ?

ทั้ง ๆ ที่ คำถามว่า "ชาติ" คืออะไร

เป็นคนละประเด็นกับคำถามว่า "ควรมีชาติหรือไม่"

ผมรู้สึกว่า บางครั้งการมุ่งแต่จะเอาความหมายมาผูกกับคุณค่า

มันก็ทำให้เราหลงลืมคุณค่าที่แท้จริงของบางสิ่งไป

โดยเฉพาะคุณค่าสูงสุดของชาติ ที่ทำให้มนุษย์

ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อประโยชน์สุขของสังคม

โดยไม่มีสิ่งที่เป็นมูลค่าเข้ามาเกี่ยวข้อง

..................................................................

ในหนังสือเรื่อง พฤติกรรมพยากรณ์

ที่เขียนโดย Dan Ariely กล่าวเอาไว้ว่า

เราอาศัยอยู่ในโลกสองใบที่แตกต่างกันในเวลาเดียวกัน

ใบหนึ่งบรรทัดฐานทางสังคม (social norms)

และอีกใบหนึ่งบรรทัดฐานทางตลาด (market norms)

บรรทัดฐานทางสังคมจะทั้งอบอุ่นและคลุมเครือ

ไม่จำเป็นต้องมีการตอบแทนในทันทีทันใด

กล่าวคือ คุณอาจช่วยเพื่อนบ้านย้ายโซฟา

แต่นั่นไมได้หมายความว่าเขาจะต้องมาที่บ้าน

เพื่อช่วยคุณย้ายโซฟาเดี๋ยวนั้น

ต่างกับบรรทัดฐานทางตลาดที่ไม่มีทั้งความอบอุ่น

และความคลุมเครืออยู่เลย

และการแลกเปลี่ยนต้องเป็นไปอย่างชัดแจ้ง

ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าเช่า ดอกเบี้ย ฯ

ความสัมพันธ์ทางตลาดไม่จำเป็นต้องเลวร้าย

หรือเอารัดเอาเปรียบเสมอไป มันเพียงแต่บ่งบอกถึง

การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกัน

และการตอบแทนในทันทีทันใด

แต่ Ariely กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

เงินเดือนเพียงอย่างเดียวไม่อาจจุงใจให้คนยอมเสี่ยงชีวิตได้

ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ พนักงานดับเพลิง หรือทหาร

อาชีพเหล่านี้ล้วนไม่ยอมตายเพื่อแลกกับ

ค่าจ้างรายสัปดาห์ของพวกเขาแน่ ๆ

แต่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่จุงใจพวกเขาให้ยอมเอา

ชีวิตและสวัสดิภาพของตัวเองเข้ามาเสี่ยง


ครับ...สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ

สำนึกในความเป็นชาติ..มันมีอะไรบางอย่าง

ที่อยู่ในฟากของบรรทัดฐานทางสังคม

และหากสำนึกแบบนี้ต้องหายไปจากสังคมไทย

นั่นหมายความว่า เราอาจต้องสูญเสีย

คนจำนวนหนึ่งที่เต็มใจเสี่ยงเพื่อสังคมไทยไปก็ได้

..................................................................

ในความคิดของนักศึกษาคนหนึ่งที่พยายาม

รณรงค์ให้สังคมไทยไม่ถูกบังคับให้ต้องเคารพธงชาติ

มองอีกแง่หนึ่งบมันคือการลดบทบาทของสัญลักษณ์

ที่สะท้อนถึงความเป็นชาติ (หรือผูกขาดความเป็นชาติ)

ส่วนตัวแล้ว ผมไม่แน่ใจว่า

เป็นการแก้ประเด็นได้ตรงจุดหรือเปล่า

เพราะปัญหาของประเทศนี้อาจไม่ได้อยู่ที่

ควรมีสำนึกแห่งความเป็นชาติหรือไม่ ?

แต่ประเด็นมันน่าจะอยู่ที่การแชร์

อำนาจในการกำหนดนิยามของคำว่า "ชาติ" มากกว่า

ตราบใดที่สำนึกเรื่องชาติยังคงอยู่

ย่อมต้องมีความเปลี่ยนแปลง

ไปตามสภาพการณ์ของสังคม

ดังนั้น สิ่งที่น้องนักศึกษาคนนั้นควรทำ

จึงไม่ใช่การลดสำนึกเกี่ยวกับความเป็นชาติ

แต่มันคือการเพิ่มพื้นที่ความเป็นชาติ

ให้กับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม เปิดโอกาสให้สังคม

มีส่วนในการกำหนดนิยามของความเป็นชาติ

ยกตัวอย่างเช่น อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้

ย่อมไม่ถือเป็นอำนาจในนามของชาติ

..................................................................

สำนึกเรื่องชาติยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศนี้อยู่

เพราะมันคือเบ้าหลอมที่ดีที่สุด

ในการทำให้สังคมมีแกนกลางที่หลอมเป็นเนื้อเดียวกัน

ในท่ามกลางความหลากหลายขององค์ประกอบต่าง ๆ

เป็นเหมือนแกนกลางของล้อเกวียน

ที่ขับเคลื่อนให้ซี่ล้อต่างๆ มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

เพียงแต่กระบวนการสร้างแกนกลางที่ว่านั้น

จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกส่วนได้มีส่วนร่วม

แกนกลางที่ว่านั้นจึงไม่มีใครมีสิทธิ์ยึดกุมผูกขาด

มันจึงต้องมีช่องพร้อมที่จะให้

ไม้แกนสอดเข้ามาได้ตลอดเวลา










 

Create Date : 10 กันยายน 2559
0 comments
Last Update : 10 กันยายน 2559 0:11:40 น.
Counter : 3682 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.