18.6 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬธรรมสมาทานสูตร [พระสูตรที่ 45]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
18.5 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬธรรมสมาทานสูตร [พระสูตรที่ 45]

ความคิดเห็นที่ 4-56
GravityOfLove, 17 มิถุนายน เวลา 12:01 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
             มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
              ๘. โกสัมพิยสูตร ทรงโปรดภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9992&Z=10133&bgc=papayawhip&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม
เขตพระนครโกสัมพี
             สมัยนั้น พวกภิกษุในเมืองโกสัมพี เกิดทะเลาะกัน
ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก (วาจา) อยู่
             ภิกษุรูปหนึ่งไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลเล่าให้ฟัง
             พระองค์จึงตรัสให้ไปตามภิกษุที่ทะเลาะกันเหล่านั้นให้มาพบ
             เมื่อภิกษุเหล่านั้นมาถึงแล้ว พระองค์ตรัสถามว่า
             ทะเลาะกันดังนั้นจริงหรือ
             ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
             ตรัสถามว่า
             ตอนที่ทะเลาะกัน ได้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และ
เมตตามโนกรรม ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลังบ้างหรือไม่
             ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า ไม่ พระพุทธเจ้าข้า
             ตรัสว่า
             โมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนั้น พวกเธอรู้อะไร เห็นอะไร
(ที่ประเสริฐกว่าสิ่งที่ควรกระทำในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย) จึงทะเลาัะกัน
             การทะเลาะกันไม่เกิดประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

ว่าด้วยสาราณิยธรรม ๖ (ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน)
             สาราณิยธรรม เป็นธรรมที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำความรักกัน
(ทำให้เป็นที่รัก)
             ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน
เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
             มี ๖ ประการคือ
             ๑. เข้าไปตั้งกายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ (ทั้งต่อหน้าและลับหลัง)
             ๒. วจีกรรม ...
             ๓. มโนกรรม ...
             ๔. แบ่งปันลาภที่เกิดขึ้นโดยธรรม (เช่น อาหารในบาตร) กับเพื่อนสพรหมจารี
ผู้มีศีล ทั้งในที่แ้จ้งและที่ลับ
             บริโภคโดยไม่เกียดกันไว้เพื่อตน (บริโภคโดยไม่แบ่งแยกอามิส โดยคิดว่า
จะให้เท่านี้ๆ และไม่แบ่งแยกบุคคลโดยคิดว่า จะให้แก่คนนั้น ไม่ให้แก่คนนี้)
             ๕. มีศีลไม่ขาด ไม่เป็นช่อง (ไม่ทะลุ) ไม่ด่าง ไม่พร้อย
             มีศีลเสมอกันกับเพื่อนสพรหมจารี ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ
ตัณหาทิธรรมไม่ครอบงำ (ตัณหาและทิฏฐิไม่ครอบงำ)
             ๖. มีทิฏฐิอันไกลจากกิเลส เสมอกันกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งในที่แจ้งและที่ลับ
             เป็นนิยยานิกธรรม (ธรรมที่ตัดมูลรากแห่งวัฏฏะ ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์
แล้วนำสัตว์ออกจากวัฏฏะ)
             ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสนี้ เป็นเหมือนยอดที่ยึดคุมธรรม ๖ ประการไว้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สาราณียธรรม
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=นิยยานิก&detail=on

ทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรม
             เป็นทิฏฐิอันไกลจากกิเลสเป็นข้าศึก
             เป็นนิยยานิกธรรมนำออกซึ่งบุคคลผู้ทำตามนั้น เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
(เป็นทิฏฐิอันประเสริฐ ญาณนี้มีแก่ผู้ประเสริฐ ไม่มีแก่ปุถุชน)
             ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่า โคนต้นไม้ หรือเรือนว่างเปล่า
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลส (กิเลสเป็นเครื่องครอบงำจิต) ในภายในใด
กลุ้มรุมแล้ว ทำให้ไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง ที่ยังละไม่ได้ มีอยู่หรือไม่?
             ถ้าภิกษุมีจิตอันนิวรณ์ ๕ ใดๆ กลุ้มรุม ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้ว
             เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้ ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้ว
             เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกหน้า ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้ว
             และการทะเลาะวิวาท ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้ว
             ภิกษุนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า
             เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว ทำให้ไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง
ที่ยังละไม่ได้ ไม่มี
             จิตเราตั้งไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย (อริยสัจจ์ ๔)
             นี้ญาณที่ ๑ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระไม่ทั่วไป (อสาธารณะ) กับพวกปุถุชน
อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อริยสัจจ์_4

             ๒. อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ย่อมได้ความระงับเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตนหรือ?
             อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า
             เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ย่อมได้ความระงับเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตน
             นี้ญาณที่ ๒ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

             ๓. อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มีอยู่หรือไม่?
             อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า
             เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ไม่ได้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น
             นี้ญาณที่ ๓ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

             ๔. อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้นหรือไม่
             นั่นคือ ถ้าต้องอาบัติ อริยสาวกนั้นรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้นซึ่งอาบัตินั้น
ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
             ครั้นแสดงเปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป
             เปรียบเหมือนเด็กอ่อนที่นอนหงาย ถูกถ่านไฟด้วยมือหรือด้วยเท้าแล้ว
ก็รับชักหนี
             อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
             นี้ญาณที่ ๔ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

             ๕. อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
             นั่นคือ อริยสาวกขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำของเพื่อนสพรหมจารี
             พร้อมทั้งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา
และอธิปัญญาสิกขาด้วย
             เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อนย่อมเล็มหญ้ากินด้วย ชำเลืองดูลูกด้วย
             อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
             นี้ญาณที่ ๕ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ไตรสิกขา

             ๖. อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
             นั่นคือ อริยสาวกนั้น เมื่อบัณฑิตแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
อริยสาวกนั้นย่อมทำให้มีประโยชน์ ทำไว้ในใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวง ตั้งใจฟังธรรม
             อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
             นี้ญาณที่ ๖ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

             ๗. อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
             นั่นคือ อริยสาวกนั้น เมื่อได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วจากบัณฑิต
ย่อมได้ความรู้อรรถ (ผล ความหมาย ประโยชน์ ความมุ่งหมาย)
             ย่อมได้ความรู้ธรรม (เหตุ บาลี)
             ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
             อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
             นี้ญาณที่ ๗ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อรรถ

             ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้
ตรวจดูดีแล้ว ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล
             พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
             ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #4-57]

ความคิดเห็นที่ 4-57
ฐานาฐานะ, 19 มิถุนายน เวลา 00:00 น.

GravityOfLove, เมื่อวานนี้ เวลา 12:01 น.
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๕. จูฬยมกวรรค
             ๘. โกสัมพิยสูตร ทรงโปรดภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9992&Z=10133&bgc=papayawhip&pagebreak=0
...
12:01 PM 6/17/2013

             ย่อความได้ดี รวบรวมประเด็นได้ครบถ้วน.
             มีข้อติงเล็กน้อยดังนี้ :-
             ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า จริง
             ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า ไม่
ควรเพิ่มคำลงท้ายด้วย (ในกรณีย่อความเป็นบทถามตอบ)
             ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
             ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า ไม่ พระพุทธเจ้าข้า.

             ๖. มีทิฏฐิอันไกลจากกิเลสเสมอกันกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งในที่แจ้งและที่ลับ
ควรเว้นช่องว่าง
             ๖. มีทิฏฐิอันไกลจากกิเลส เสมอกันกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งในที่แจ้งและที่ลับ

ความคิดเห็นที่ 4-58
GravityOfLove, 19 มิถุนายน เวลา 00:04 น.

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 4-59
ฐานาฐานะ, 19 มิถุนายน เวลา 00:12 น.

             คำถามในโกสัมพิยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9992&Z=10133

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. พระอริยสาวก คือสังฆรัตนะ
             ขอให้คุณ GravityOfLove เทียบว่า
             ทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรมข้อใด เทียบได้สังฆรัตนะข้อใด
ในรตนสูตร.
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=7662&Z=7746

ความคิดเห็นที่ 4-60
GravityOfLove, 19 มิถุนายน เวลา 00:47 น.

             ตอบคำถามในโกสัมพิยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9992&Z=10133

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             ๑. ธรรม ๖ ประการเป็นเหตุให้ระลึกถึงกันทําความรักกัน ทําความเคารพกัน
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพียงกัน
เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน
             ๒. ทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรม ๗ ประการ
             ๓. อริยสาวกผู้ประกอบด้วยญาณ ๗ ประการย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อม
ด้วยโสดาปัตติผล
             ๔. อริยสาวกเมื่อต้องอาบัติ จะรีบแสดง เปิดเผยทําให้ตื้น เหมือนเด็กอ่อน
ถูกถ่านไฟด้วยมือ หรือเท้าแล้วรีบชักหนี
             ๕. สาเหตุการทะเลาะกันของพระฝ่ายทรงวินัยและฝ่ายทรงพระสูตร อันเป็นที่มาของ
พระสูตรนี้
             ๖. เหตุการณ์ในพระสูตรนี้ น่าจะเกิดประมาณพรรษาที่ ๑๐ ของพระผู้มีพระภาค
             พ.๙ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี
             พ.๑๐ ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พุทธกิจ_๔๕_พรรษา&detail=o
             ๗. ที่มาของชื่อกรุงโกสัมพี
              เรื่องราวของเศรษฐี ๓ คนในกรุงโกสัมพี คือ กุกกุฏเศรษฐี (สร้างกุกกุฏาราม)
              ปาวาริกเศรษฐี (สร้างปาวาริกัมพวัน ในป่ามะม่วง) โฆสิตเศรษฐี (สร้างโฆสิตาราม)
             ๘. เมตตากายกรรมของพระภิกษุ ได้แก่ อภิสมาจาริกธรรม
(ขนบธรรมเนียมเพื่อความประพฤติดีงามยิ่งขึ้นไปของพระภิกษุ) อันประกอบด้วยเมตตา
              เมตตากายกรรมของคฤหัสถ์ ได้แก่ การไปเพื่อประโยชน์ไหว้เจดีย์ ไหว้ต้นโพธิ์  
นิมนต์พระสงฆ์ การเห็นภิกษุทั้งหลายผู้เข้าไปโคจรคามเพื่อบิณฑบาตแล้วต้อนรับ
การรับบาตร การปูอาสนะ การตามส่ง

              เมตตาวจีกรรมของภิกษุ ได้แก่ การบอกสิกขาบท (บัญญัติเกี่ยวกับมารยาท)
การบอกกัมมัฏฐาน การแสดงธรรม การบอกพุทธพจน์ (คือพระไตรปิฏก)
             เมตตาวจีกรรมของคฤหัสถ์ ได้แก่ การกล่าวว่า
             เราจะไปไหว้พระเจดีย์ ไหว้ต้นโพธิ์ จะให้ทำการฟังธรรม จะบูชาด้วยประทีปมาลัยดอกไม้
จะประพฤติสมาทานสุจริตสาม ถวายสลากภัตรเป็นต้น ถวายผ้าจำนำพรรษา
ถวายปัจจัย ๔ แก่สงฆ์ในวันนี้ พวกท่านจงนิมนต์พระสงฆ์แล้วจัดแจงของเคี้ยวของฉันเป็นต้น
จงปูอาสนะ จงตั้งน้ำดื่ม จงต้อนรับแล้วนำมาพระสงฆ์นั้นมาด้วยตนเอง จงนิมนต์พระสงฆ์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้

             เมตตามโนกรรมของภิกษุ ได้แก่ คิดว่า "ขอพวกภิกษุในวิหารนี้ จงมีสุขไม่มีเวร ไม่พยาบาทกันเถิด"

             ๙. สาราณียธรรมแตก สาราณียธรรมเต็ม
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67&p=1#เรื่องสาราณียธรรมแตก
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67&p=1#เรื่องสาราณียธรรมเต็ม

             ๑๐. ผู้บำเพ็ญสาราณียธรรม
             - ผู้มีศีลทั้งหลายย่อมไม่ถือเอาสิ่งของของผู้ทุศีล
             - ไม่เจาะจงว่าจะให้ผู้ใด แต่สามารถให้แก่ภิกษุที่ป่วยไข้ได้ เป็นต้น
             - เป็นผู้พ้นจากความกังวลเท่านั้น จึงจะบำเพ็ญได้
             - ผู้มีศีลไม่ให้ของแก่ผู้ทุศีล ก็ควร
             - สาราณิยธรรมก็เหมือนกับติตถิยปริวาส คือถ้าขาด ก็ต้องเริ่มใหม่
             - ความริษยาและความตระหนี่ จะไม่มีแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญสาราณิยธรรมอย่างนี้แน่นอน
             จะเป็นที่รักของพวกมนุษย์ ทั้งปัจจัยก็หาได้ง่ายกว่านัก ถึงสิ่งของที่อยู่ในบาตรที่เขาถวายก็ไม่สิ้นไป
             ย่อมได้สิ่งของดีเลิศ ถ้าไม่มีพวกเทพย่อมขวนขวายถวายให้
-----------------------------------
             2. พระอริยสาวก คือสังฆรัตนะ
             ขอให้คุณ GravityOfLove เทียบว่า
             ทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรมข้อใด เทียบได้สังฆรัตนะข้อใด

                          เสาเขื่อนที่ฝังลงดิน ไม่หวั่นไหว << ๑.  เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว ... เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย
                          เพราะลมทั้งสี่ทิศ ฉันใด ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย
                          เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นสัตบุรุษ ผู้ไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม
                          มีอุปมาฉันนั้น สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วย
                          สัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

                          พระอริย- << ๑.  เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว ... เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย
                          บุคคลเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจทั้งหลาย อันพระ-
                          ศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริย-
                          บุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้าอยู่ก็จริง
                          ถึงกระนั้นท่านย่อมไม่ยึดถือเอาภพที่ ๘ สังฆรัตนะแม้นี้เป็น
                          รัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมี
                          แก่สัตว์เหล่านี้

                          สักกายทิฐิและวิจิกิจฉา หรือแม้สีลัพพต- << ๑.  เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว ... เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย
                          ปรามาส อันใดอันหนึ่งยังมีอยู่ ธรรมเหล่านั้นอันพระ-
                          อริยบุคคลนั้นละได้แล้ว พร้อมด้วยความถึงพร้อมแห่งการ
                          เห็น (นิพพาน) ทีเดียว อนึ่งพระอริยบุคคลเป็นผู้พ้นแล้ว
                          จากอบายทั้ง ๔ ทั้งไม่ควรเพื่อทำอภิฐานทั้ง ๖ (คือ
                          อนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีด) สังฆรัตนะแม้นี้ เป็นรัตนะ
                          อันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์
                          เหล่านี้

                          พระอริยบุคคลนั้น ยังทำบาปกรรมด้วยกาย << ๔. ถ้าต้องอาบัติ ...ครั้นแสดงเปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป
                          ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็จริง ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ควรเพื่อจะ
                          ปกปิดบาปกรรมอันนั้น ความที่บุคคลผู้มีธรรมเครื่อง
                          นิพพานอันตนเห็นแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อปกปิดบาปกรรมนั้น
                          พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอัน
                          ประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์
                          เหล่านี้

ความคิดเห็นที่ 4-61
ฐานาฐานะ, 19 มิถุนายน เวลา 01:28 น.

GravityOfLove, 14 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในโกสัมพิยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9992&Z=10133
12:46 AM 6/19/2013

             ตอบคำถามได้ดีครับ
             คำถามข้อที่ 2 ว่า พระอริยสาวก คือสังฆรัตนะ
             ขอให้คุณ GravityOfLove เทียบว่า
             ทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรมข้อใด เทียบได้สังฆรัตนะข้อใด

             ผมเห็นว่า เทียบได้ชัดเจนในทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรมข้อ 4 ด้วยเนื้อความดังนี้ :-
             [๕๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดานี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ ความออกจากอาบัติเช่นใด
ย่อมปรากฏ อริยสาวกย่อมต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้ ถึงอย่างนั้น อริยสาวกนั้นรีบแสดง เปิดเผย
ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัตินั้น ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
             ครั้นแสดงเปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป.
             เปรียบเหมือนกุมารที่อ่อนนอนหงาย ถูกถ่านไฟ ด้วยมือหรือด้วยเท้าเข้าแล้ว ก็ชักหนีเร็วพลัน
ฉะนั้น. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดา เช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
             นี้ญาณที่ ๔ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
//84000.org/tipitaka/read/?12/546

             และเนื้อความแสดงสังฆรัตนะ ข้อว่า
             พระอริยบุคคลนั้น ยังทำบาปกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็จริง
ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ควรเพื่อจะปกปิดบาปกรรมอันนั้น ความที่บุคคลผู้มีธรรม
เครื่องนิพพานอันตนเห็นแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อปกปิดบาปกรรมนั้น
             พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต
             ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=7662&Z=7746

ความคิดเห็นที่ 4-62
GravityOfLove, 19 มิถุนายน เวลา 09:24 น.

ขอบพระคุณค่ะ
ทิฏฐิข้อที่ ๔ ถูกต้องนะคะ
นอกนั้น (มั่วตอบ) ผิดนะคะ

ความคิดเห็นที่ 4-63
ฐานาฐานะ, 19 มิถุนายน เวลา 17:09 น.

             รับทราบครับ.
             1. ศึกษาพระไตรปิฎก ใกล้จะจบเล่มที่ 4 แล้ว งดตอบมั่วครับ.
             2. โปรแกรมพระไตรปิฎกฉบับเรียนพระไตรปิฎก พร้อมใช้งานหรือยังครับ?
             โปรแกรมพระไตรปิฎกฉบับเรียนพระไตรปิฎก
//learntripitaka.com/Download.html

ความคิดเห็นที่ 4-64
GravityOfLove, 19 มิถุนายน เวลา 17:55 น.

ยังไม่พร้อมใช้งานเลยค่ะ

ความคิดเห็นที่ 4-65
ฐานาฐานะ, 19 มิถุนายน เวลา 17:58 น.

             ติดปัญหาอะไรหรือครับ ที่ว่า ยังไม่พร้อมใช้งาน.

ความคิดเห็นที่ 4-66
GravityOfLove, 19 มิถุนายน เวลา 18:01 น.

ยังไม่ได้เอาโน๊ตบุ๊คไปซ่อมค่ะ

ความคิดเห็นที่ 4-67
ฐานาฐานะ, 19 มิถุนายน เวลา 18:07 น.

             รับทราบครับ.

ย้ายไปที่

สารบัญ ๑



Create Date : 06 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 7:52:35 น.
Counter : 590 Pageviews.

0 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 31 : กะว่าก๋า
(9 เม.ย. 2567 05:58:44 น.)
สักกายทิฐิ **mp5**
(8 เม.ย. 2567 11:07:04 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 20 : กะว่าก๋า
(30 มี.ค. 2567 05:09:59 น.)
ร่างกาย นาฬิกาสีชมพู
(30 มี.ค. 2567 08:11:11 น.)

Gravity-of-love.BlogGang.com

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด