ลอว์เรนซ์ ออฟ อาราเบีย:ราชาแห่งทะเลทราย
ใครที่ได้ดูหนังเรื่องลอว์เรนซ์ ออฟ อาราเบีย ฉบับที่ปีเตอร์ โอทูลเล่นเป็นลอว์เรนซ์
จะได้เห็นว่าทะเลทรายนั้นงามนัก ทะเลทรายในเรื่องนั้นเหมือนมีชีวิตเหมือนมีมนต์ขลังเต็มไปด้วยปริศนา
และก็เหมือนชีวิตของลอว์เรนซ์
ที่เต็มไปด้วยสีสัน ความโลดโผน ความลุ่มลึกและปริศนาอันชวนขบคิด
เราไม่รู้จักลอว์เรนซ์อย่างจริงจังจนกระทั่งได้เจอหนังสือเล่มเล็ก ๆในงานหนังสือแห่งชาติที่เขียนประวัติของลอว์เรนซ์ไว้อย่างน่าอ่านก็เลยนำมาถ่ายทอดให้เพื่อน ๆในกระทู้ชาวเรือสหมิตรแห่งห้องสมุดพันทิพได้อ่านกันด้วย
และบัดนี้ลอว์เรนซ์ก็ได้มาอยู่ที่นี่แล้ว




นักข่าวสงครามที่ได้เจอลอว์เรนซ์ในซาอุดิอาเรเบียบอกว่าเขาเป็นคนลึกลับ ซับซ้อนและเข้าใจยากมาก... สิ่งที่ลอเรนซ์เก็บเป็นความลับมากที่สุดก็คือชาติกำเนิดของเขาเอง เพราะว่ามันทำให้เขาอับอาย

Lawrence เป็นนามสกุลของมารดาของเขา ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้แน่ว่าเธอชื่อจริงว่าอะไร ซาร่าห์ หรืออาจจะเป็น Junna พ่อของเขามียศขุนนางระดับสูง และร่ำรวยมาก ตกหลุมรักแม่ของเขา เมื่อเธอเป็นมาทำงานเป็นพี่เลี้ยงลูกให้เขา ทั้งสองคนหนีไปด้วยกัน ทิ้งภรรยาตามกฏหมายไว้กับสมบัติมหาศาล ปราสาทและที่ดิน...

ทั้งสองคนไม่สามารถแต่งงานกันได้ตามกฏหมาย เพราะว่าไม่ได้หย่ากับภรรยาเก่าเป็นทางการ ในยุคสมัยที่ศิลธรรมแบบวิคตอเรียนได้รับการเชิดชู ทำให้ทั้งสองไม่สามารถสู้หน้าคนอื่นได้อย่างเต็มที่ ครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่และลูกชายทั้ง 5 คนนี้ได้ย้ายตามเมืองต่าง ๆบนเกาะอังกฤษบ่อยครั้ง เพื่อนของครอบครัวของมีอยู่ไม่กี่คน

แม่ของลอว์เรนซ์เพื่อชดเชยความผิดที่อยู่ในใจ เธอหันไปพึ่งพิงศาสนา กลายเป็นคนเคร่งศาสนา เธอหวังอย่างยิ่งให้ลูกชายศึกษาและใกล้ชิดกับศาสนา Thomas Edward ลูกชายคนที่สองนั้นฉายแววเป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่วัยเยาว์ ในวัยรุ่นนั้นก็เป็นครูสอนศาสนาที่โรงเรียนวันเสาร์อาทิตย์แล้ว....

ภาพพี่น้องของลอว์เรนซ์ จากซ้ายไปขวา เอ๊ดเวิร์ด ลอว์เรนซ์ (อายุ 22 ปี), Frank, Arnold, Bob, and Will (คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขยาย)

แม่ของลอว์เรนซ์นั้นเป็นคนเลี้ยงดูแลลูกทุกคน เธอเป็นคนที่ซับซ้อนและผูกขาดความรักความสนใจจากคนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ลอว์เรนซ์เหมือนแม่มากทั้งรูปกายและหน้าตา เขารูปร่างเล็กสูงไม่ถึง 6 ฟุต นัยน์ตาคมราวกับมองทะลุถึงจิตใจคนซึ่งถอดเบบมารดามาอย่างไม่ผิดเพี้ยน เมื่อเติบโตขึ้นเขาเริ่มชิงชังมารดา แต่ว่าเมื่อยิ่งโตขึ้นและได้ไปผจญภัยในทะเลทราย เขาก็ยิ่งรู้สึกตัวว่าเขามิได้เหมือนมารดาเพียงแค่หน้าตาเท่านั้น หากหมายรวมถึงจิตใจด้วย

ยิ่งโต ลอเรนซ์ก็ยิ่งแสดงนิสัยรักการผจญภัยและความระห่ำออกมามากขึ้นเรื่อย พร้อมกับนิสัยแปลก ๆ ตอนเป็นวัยรุ่น เขาเริ่มที่จะฝึกควบคุมจำนวนอาหารที่ร่างกายรับเข้าไป ออกกำลังกาย ไม่กินเหล้าและสูบบุหรี่ พร้อมกับฝึกร่างกายให้ทนต่อความไม่สุขสบายทั้งหลาย อย่างเช่น อยู่ว่าง ๆก็ลงไปนอนในหีบไม้เผื่อฝึกให้ตนเองทนต่อที่แคบ

ลอว์เรนซ์เป็นคนร่างเล็ก สูงเพียง 5 ฟุต 6 นิ้วแต่แข็งแกร่งมาก อย่างที่เขาเรียกตัวเองว่า เฮอร์คิวลิสฉบับกระเป๋า

บ๊อบ น้องชายของเขาบอกว่า เน็ด ชื่อเรียกย่อๆจากชื่อกลาง เอ๊ดเวิร์ด สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ที่วางกลับหัวได้รู้เรื่องทั้งหมดตั้งแต่อายุ 5 ขวบเท่านั้นเอง

เมื่อตอนที่เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ในสาขาประวัติศาสตร์ในช่วงปี 1907 แม้ว่าตามกฏของมหาวิทยาลัยเขาจะต้องย้ายไปอยู่หอ แต่ที่จริงแล้วยังอาศัยอยู่ที่บ้านบนถนนโพลสตีด พ่อแม่ของเขาได้สร้างกระท่อมเล็กให้เขาบนที่ดินหลังบ้าน

ลอว์เรนซ์ไม่สนใจใช้ชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเลยแม้แต่น้อย เขาจะปรากฏตัวให้ใคร ๆเห็นแต่เฉพาะยามกลางคืน แล้วก็ไม่ค่อยจะทำงานที่ได้รับมอบหมาย วันๆเอาแต่อ่านโคลงและเรื่องราวในยุคกลางของยุโรป ซึ่งความประทับใจต่อความกล้าหาญของอัศวิน การผจญภัยของผู้กล้า ได้ส่งผลต่อจินตนาการและพฤติกรรมของเขาอย่างลึกซึ้ง

ด้วยความไม่ค่อยสนใจในการเรียนของเขา ทำให้อาจารย์บอกให้ลอว์เรนซ์ทำวิทยานิพนธ์ส่งเพื่อจะได้เรียนจบปริญญาตรี ซึ่งเขาก็เลือกทำในหัวข้อที่เกี่ยวกับยุคกลาง "The influence of the Crusades on the medieval military architecture of Europe" (อิทธิพลของสงครามครูเสดที่มีต่อสถาปัตยกรรมทางการทหารของยุโรป) และก็ได้ขออนุญาตอาจารย์ไปซีเรียเพื่อหาข้อมูลมาเขียนรายงาน

ปี 1909 ลอเรนซ์ใช้เวลา 2 เดือนกว่าเดินทางโดยการเดินหลายพันไมล์เยี่ยมชมปราสาท 6 แห่งในซีเรีย และเมื่อเขากลับบ้านก็แทบไม่มีใครจำได้ ลอว์เรนซ์ป่วยเพราะเป็นมาเลเรียและขาดอาหาร วิทยานิพนธ์เล่มนี้ทำให้เรียนจบและได้ First Class Honours Degree (น่าจะเทียบได้กับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)

ประสบการณ์ในซีเรียทำให้เขาฝังใจกับทะเลทราย ความยิ่งใหญ่และความเงียบสงัด และยิ่งทำให้เขาเก็บตัวจาก"ความเจริญ" ในเมืองอ๊อกซฟอร์ดมากขึ้น ลอว์เรนซ์เอาพรมหนามากรุผนังทุกด้าน เพื่อกันมิให้เสียงของเมืองเล็ดรอดเข้ามาในกระท่อมหลังน้อยที่เขาอยู่ได้

ด้วยอิทธิพลของนายกสภามหาวิทยาลัย (เดาเอาเขาเรียกว่า Chancellor )ของอ๊อกซฟอร์ดน่ะ ลอว์เรนซ์ได้รับทุนให้เรียนต่อปริญญาโทที่วิทยาลัยแมกดาเลน นอกจากนี้ก็ยังได้รับจ้างให้ไปทำงานขุดค้นแหล่งโบราณคดี ที่เชื่อว่าเป็นเมืองของพวกฮิทไทท์บนแม่น้ำยูเฟรตีสในซีเรียอีกด้วย

เดือนมีนาคม ปี 1911 ลอว์เรนซ์เดินทางไปถึงแหล่งโบราณคดีและอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสามปี หน้าที่คือคอยบันทึกภาพสิ่งที่ขุดค้นได้ ทั้งถ่ายรูปและเขียนบันทึก ลอว์เรนซ์เริ่มหัดเรียนภาษาอารบิคจนพูดได้คล่องและแต่งตัวแบบอาหรับ

ลอว์เรนซ์เริ่มสนิทสนมกับคนงานชาวอาหรับ โดยเฉพาะชีค อามุดดีหัวหน้าคนงาน และเด็กชายวัย 15 ปีชื่อ ดาอูม ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกับลอว์เรนซ์

ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับดาอูมทำให้คนทั้งหลายเดาเอาว่าเขาเป็นเกย์ แต่J Anderson Black ผู้เขียนหนังสือเรื่องThe life & times of Lawrence of Arabia บอกว่าเขาเป็น asexual ต่างหาก เขาไม่มีความกระตือรือล้นในเพศสัมพันธ์เลยแม้แต่น้อย

ลอเรนซ์หลงไหลทะเลทรายอย่างจริงจัง เขาเขียนจดหมายไปบอกที่บ้านว่า Here one learns the economy of beauty, England is fat-obese. ที่นี่ เราได้เรียนรู้ถึงสมถะของความงาม(แห่งชีวิต), อังกฤษนั้นเทอะทะและฟุ้งเฟ้อ….(ปล.จากผู้แปล-แปลเองเอาตามใจชอบ)

ปี 1913 บรรยากาศแห่งสงครามครอบคลุมไปทั่วยุโรปและเอเชียกลาง พวกเคิร์ดที่อยู่ภายใต้การปกครองของเติร์กพยายามดิ้นรนเพื่ออิสระภาพ อังกฤษและเยอรมันก็ปีนเกลียวกันขึ้นทุกขณะ พวกอังกฤษทุกคนในทะเลทรายรู้ดีว่าอาณาจักรออตโตมาน (ก็คือดินแดนของพวกเติร์ก) เป็นพันธมิตรกับเยอรมัน หากว่าสงครามระหว่างอังกฤษกับเยอรมันเกิดขึ้น การกระทบกระทั่งกับออตโตมาน ที่ครองอำนาจส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางจะตามมาในที่สุด

กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษก็ได้เริ่มรับสมัครสายลับ เพื่อเอาไว้สอดแนมท่าทีของเยอรมัน และเติร์กในภูมิภาคดังกล่าว และลอว์เรนซ์ก็ไม่พลาดโอกาสที่ได้ร่วมมหกรรม หน้าที่ได้รับมอบหมายก็คือ การรวบรวมข้อมูลการสร้างทางรถไฟสายเบอร์ลิน-แบกแดด ที่อุดหนุนโดยเยอรมัน

ลอว์เรนซ์ดึงชีค อามุดดีและดาอูมเข้ามาเป็นพวก และพาไปฝึกงานที่อังกฤษ..... นอกจากนี้ลอว์เรนซ์กับเพื่อนนักโบราณคดีที่ชื่อ วูลเลน ยังได้เข้าร่วมงานลับของอังกฤษ คือการสำรวจทะเลทรายไซนายส่วนที่เป็นของเติร์ก โดยเอาโบราณคดีบังหน้า



เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้นในปี 1914 ลอว์เรนซ์ก็ไม่รั้งรอที่จะสมัครเข้าเป็นทหาร เขากลับไปอังกฤษสังกัดอยู่หน่วยสืบราชการลับ มียศร้อยตรี และงานแรกก็คือเขียนแผนที่ของทะเลทรายไซนายที่เขาพึ่งไปสำรวจมาปลายปีนั้นเองเขาก็ถูกส่งกลับไปยังทะเลทราย เพราะว่าเติร์กได้ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายเยอรมันเสียแล้ว

กองทัพอังกฤษที่กรุงไคโรมีความต้องการนายทหารที่พูดอาหรับอย่างยิ่งยวด และลอว์เรนซ์ก็มีคุณสมบัติดังกล่าว เขากับวูลเลนและนายทหารอีกคนหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งหน่วยงานสืบราชการลับขึ้นในไคโร ลอว์เรนซ์ยังคงทำหน้าที่เป็นนายทหารแผนที่ ไม่นานก็ได้รวมการสอบสวนเชลยเติร์กที่จับมาได้ อาหรับบิวโร หรือหน่วยงานอาหรับของกองทัพอังกฤษทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก และความสามารถของลอว์เรนซ์ก็เข้าตากรรมการ ผู้บังคับบัญชาชื่นชมเขามาก และพยายามมองข้ามความประหลาดต่าง ๆไป เพื่อนร่วมงานของเขาบอกว่า เขาไม่เคยแต่งตัวเนี้ยบตามระเบียบเหมือนทหารอื่น ๆ และบ่อยครั้งลืมวันทยาหัตถ์

เมื่อยิ่งทำไปเรื่อย ๆ ลอว์เรนซ์ก็เริ่มอยากจะออกรบด้วยตัวเอง ในปี 1915 ลอว์เรนซ์ได้รับข่าวการเสียชีวิตของน้องชายสองคนคือ วิลล์ กับ แฟรงค์ในระหว่างการรบที่ชายแดนตะวันตก ปี 1916 ลอว์เรนซ์ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก เขาถูกส่งไปพร้อมกับกองหทารเพื่อไปปฏิบัติการที่เมโสโปเตเมีย (เดี๋ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิรัก) เพื่อช่วยทหารอังกฤษกองหนึ่งที่ถูกเติร์กล้อมไว้ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อ คูต เอล อมาราบนแม่น้ำไทกริส ลอว์เรนซ์ถูกกำหนดหน้าที่ให้เป็นตัวเจรจาและติดสินบนกับกองทัพเติร์กเพื่อให้ปล่อยทหารอังกฤษออกมา เขามีอำนาจจะต่อรองให้สินบนได้ถึงหนึ่งล้านปอนด์ แต่เมื่อหน่วยเดินทางไปถึงก็สายเสียแล้ว สถานการณ์พัฒนาไปมากจนต่อรองไม่ได้แล้ว เติร์กเรียกร้องให้ทหารอังกฤษในเมืองวางอาวุธและเดินทางไปเป็นเชลยศึกยังตุรกี

เท่าที่ลอว์เรนซ์และหน่วยทำได้ก็คือแลกกันระหว่างเติร์กกับทหารอังกฤษพันคน ส่วนทหารอังกฤษอีก 9000 คนนั้นต้องเดินทางไปยังตุรกี ซึ่งส่วนมากตายเสียระหว่างทาง

เหตุการณ์ครั้งนี้กระชากอารมณ์ของลอว์เรนซ์มาก เขาได้เขียนรายงานถึงพลเอกเมอร์เรย์ผู้บัญชาการกองทหารในอียิปต์อย่างเลือดพล่าน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์แง่มุมการรบต่าง ๆมากมายไม่ว่าจะเป็นยุทธวิธีไปจนถึงการใช้แผนที่พื้นฐานของกองทัพอังกฤษ รายงานฉบับนี้ได้รับการดัดแปลงให้มีสำเนียงอ่อนลงก่อนที่จะถึงมือเมอร์เรย์



ในปี 1916 หน่วยของเขาก็เดินทางกลับถึงไคโร ในปีนั้นเองอาหรับก็ได้รวมตัวกันปลดแอกจากเติร์ก….. พวกอาหรับตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมานตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 และก็ไม่ค่อยสนใจที่จะปลดแอกเท่าไรนัก ในปี 1908 ผู้ปกครองใหม่ของอาณาจักรออตโตมานมีนโยบายบังคับใช้วัฒนธรรมเติร์กทุกที่ จึงก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านของพวกอาหรับทั่วไป และกลายเป็นขบวนการชาตินิยมอาหรับในที่สุด

กลุ่มต่อต้านที่สำคัญที่สุดก็คือ ฮุสเซน อิบ อาลี ผู้ดูแลเมกกะ และบุตรชาย ตระกูลนี้สืบทอดเชื้อสายมาจากพระมหหมัด ศาสดาสูงสุดของศาสนาอิสลาม ฐานอำนาจของกลุ่มอยู่ที่มณฑลฮีจาซแถบทะเลแดง

เมื่อเติร์กเข้าสู่สงคราม ฮุสเซนก็เห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะแยกตัวออกมา ปี 1916 ฮุสเซนประกาศการต่อสู้โดยยิงปืนจากระเบียงบ้านของเขาในเมกกะเข้าใส่ค่ายทหารเติร์กที่อยู่ใกล้ ๆ อังกฤษย่อมพอใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นเติร์กมีศัตรูเพิ่ม และเริ่มให้ความช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติอาหรับ โดยการส่งอาวุธที่เหลือใช้หรือยึดได้จากการสงครามให้ แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะส่งทหารไปช่วยเหลือ เพราะว่าอังกฤษเองก็ต้องใช้กำลังทหารในการต่อรบในยุทธภูมิตะวันตก

เมื่อปราศจากการช่วยเหลืออย่างจริงจังจากอังกฤษ ขบวนการกู้ชาติอาหรับก็เริ่มอ่อนแรงลงไป ดังนั้นอังกฤษจึงส่งตัวแทนไปเจรจากับฮุสเซนเพื่อกระตุ้นการต่อต้านเติร์ก และลอว์เรนซ์ซึ่งกระตือรือล้นจะมีส่วนร่วมอย่างมาก ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปด้วย นี่เป็นโอกาสที่ลอว์เรนซ์มองหามาแสนนาน

ที่เมืองเจดดาแถบทะเลแดง ลอว์เรนซ์ได้พบกับฮุสเซนและลูกชายหลายคน ซึ่งเขามองไม่เห็นความหวังในการที่จะดันคนเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้นำกองกำลังกู้ชาติเลย แต่เมื่อได้พบกับ ไฟซาล ลูกชายคนที่สาม เขาก็สมหวัง ลอว์ เรนซ์เขียนในหนังสือ Seven Pillars of Wisdom ซึ่งเป็นบันทึกของเขาเกี่ยวกับสงครามอาหรับว่า "ลอว์เรนซ์เขียนว่า "ผมรู้สึกได้ในแว่บแรกที่เห็น ว่าชายคนนี้แหละ ที่ผมมาอาเรเบียเพื่อที่จะเสาะหา-ผู้ซึ่งจะนำขบวนการกู้ชาติอาหรับสู่ความแข็งแกร่ง"


เจ้าชายไฟซาล

เจ้าชายไฟซาลทรงประกอบด้วยความฉลาด ความมุ่งมั่นที่ทำให้ลอว์เรนซ์ประหลาดใจ นอกจากนี้หน่วยรบบนหลังอูฐของเจ้าชายก็ชำนาญการรบอย่างยิ่งยวด

แม้ว่าลอว์เรนซ์จะเห็นว่าความไร้ประสบการณ์ในการทหารสมัยใหม่ และความเป็นตัวของตัวเองอันเป็นธรรมชาติของพวกอาหรับจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในไม่ช้า แต่เขาก็ไม่รั้งรอที่จะเจรจาผลักดันให้อังกฤษเชื่อว่าเจ้าชายไฟซาลและกองกำลังของพระองค์ จะเป็นหลักในการต่อสู้กับอาณาจักรออตโตมาน และกองบัญชาการที่ไคโรก็เห็นชอบตามนั้น ลอว์เรนซ์ถูกส่งกลับมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการรบที่ฮิจาซ ซึ่งเป็นที่ที่ลอว์เรนซ์แห่งอ๊อกฟอร์ดจะกลายมาเป็นลอว์เรนซ์แห่งอาเรเบีย จากปฏิบัติการอันห้าวหาญ บ้าบิ่นของเขาในเวลาสองปีที่อยู่ที่นี่...... เมื่อลอว์เรนซ์เดินทางกลับไปถึงฮิจาซ สถานการณ์ของพวกกู้ชาติอาหรับก็เข้าขั้นย่ำแย่ กองกำลังเติร์กรุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว ความระส่ำระสายเกิดขึ้นทั่วไปในกองกำลังของไฟซาล โดยเฉพาะกับหน่วยของซาอิด น้องชาย ความสงบนิ่งของไฟซาลท่ามกลางความโกลาหลได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งต่อลอว์เรนซ์ว่าเขาคิดไม่ผิด ที่เลือกสนับสนุนเจ้าชายผู้นี้ แม้กระนั้นก็ตามกองกำลังของไฟซาลทั้งหมด ก็ไม่อาจต้านเติร์กได้ต้องล่าถอยจากที่มั่นเดิมไปยังเยนโบ เมืองท่าชายฝั่งทะเลแดง

ที่นั่น ทัพเรืออังกฤษคุ้มครองพวกอาหรับอย่างเต็มที่ เติร์กที่เคลื่อนเข้าใกล้จะถูกระดมยิงอย่างหนัก ในที่สุดเมื่อเห็นว่าไม่มีทางจะยึดเมืองได้ ทัพของอาณาจักรออตโตมานอันเกรียงไกรก็ล่าถอยไป คืนนั้นเองที่ลอว์เรนซ์ประกาศเป็นแม่นมั่นว่าเติร์กจะต้องแพ้สงคราม

สมรภูมิเยนโบได้แสดงให้พวกอาหรับประจักษ์ว่าเติร์กหาใช่จะเป็นผู้ชนะตลอดกาลไม่ ความรู้สึกนี้กระจายทั่วไปในหมู่อาหรับที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมานมาเนิ่นนาน ลอว์เรนซ์ได้กระตุ้นให้ไฟซาลทำศึกอีกเพื่อเรียกความศรัทธา เวจฮ์ เมืองท่าที่อยู่ไกลออกไปทางเหนือ 180 ไมล์เป็นเป้าหมายสำคัญ ไฟซาลทรงระดมพลรบได้ 8000 คน ซึ่งเป็นอาหรับต่างเผ่าที่เคยเป็นศัตรูกันมาแต่ปางบรรพ์ทั้งสิ้น

การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ทัพไฟซาลเสียไพร่พลไปมากมาย และเมื่อฝ่ากองกำลังเติร์กเข้าเมืองได้ก็พบว่ากองทัพเรืออังกฤษ และหน่วยรบอาหรับภายใต้การนำของร้อยโทชาร์ลส์ วิคเคอรี่ได้ยึดเมืองไว้ก่อนแล้ว เมื่อลอว์เรนซ์เห็นดังนั้นก็เป็นฟืนเป็นไฟทันที เขาเชื่อว่ากองทัพอังกฤษสามารถป้องกันการล้มตายของหน่วยรบกู้ชาติอาหรับได้ แต่เพิกเฉยเสีย

ในหนังสือ Seven Pillars of Wisdom ลอว์เรนซ์บันทึกไว้ว่า "ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าการลงมือกระทำสิ่งใดที่ไม่จะเป็น อย่างเช่นการยิง การฆ่าฟัน นั้นไม่ใช่เป็นเพียงการเสียเวลาหรือเสียทรัพยากรเท่านั้น หากแต่เป็นบาปเลยทีเดียว... นักสู้ของเราไม่ได้เป็นแค่วัตถุเพื่อการสงคราม, หากแต่เป็นเพื่อนของเราเหมือนทหารอังกฤษทั้งหลาย..." ลอว์เรนซ์มักรู้สึกรับไม่ได้ต่อความตายที่เห็นตรงหน้าเสมอ ๆ แม้กระทั่งของศัตรู

เขาเชื่อว่าหากว่ากองทัพอังกฤษจะรอให้หน่วยรบของไฟซาลมาถึงและล้อมเมืองไว้ พวกเติร์กก็จะยอมแพ้โดยไม่มีการสู้รบและล้มตายกันเกลื่อนกล่นเช่นนี้




Create Date : 03 มีนาคม 2548
Last Update : 3 มีนาคม 2548 23:40:14 น.
Counter : 4337 Pageviews.

5 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
  
จำได้ว่ามีหนังเรื่องนี้
แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ
ดูมานานมากแล้วเลยจำไม่ค่อยได้
จำได้แค่ฉากขี่ม้าข้ามทะเลทรายมา
ได้แค่นั้นร่ะค่ะ
นอกนั้นลืมหมดแล้ว

โดย: นางมารร้าย วันที่: 4 มีนาคม 2548 เวลา:0:41:04 น.
  
คิดว่าเห็นDVDที่Fortune นะคะ
สนุกนะคะ เขามีเวอร์ชั่นที่ตัดใหม่ด้วยนะคะ
ความจริงก็ไม่ใหม่ แต่ตัดหลังจากหนังฉายแล้วหลายสิบปี
มีฉากใหม่ที่ถูกตัดทิ้งเพิ่มขึ้นมา น่าดูมากค่ะ ที่พูดนี่ก็ยังไม่ได้ดูเลย แต่เวอร์ชั่นเก่านี่พรุนไปแล้วค่ะ
โดย: daha (ดาหาชาดา ) วันที่: 4 มีนาคม 2548 เวลา:15:36:55 น.
  
ประทับใจกับเรื่องนี้มาก
แต่เราดูเวอร์ชั่นเก่าอ่ะ ฉากในทะเลทรายสวย
และให้มุมมองดีๆ ด้วย
โดย: บันไดไม้ IP: 61.90.21.198 วันที่: 29 กรกฎาคม 2548 เวลา:23:08:47 น.
  
ไม่มีอะอยากดูจัง ชอบลอเรนอะ อยากดูอยากดู เคยอ่านแต่การ์ตูนตั้งแต่นั้นเลยชอบมาก กำลังลังหา ภาพและประวัติต่างๆอยู่ใครมีอะไรน่าสนใจก็ได้โปรดจะกรุณาแบ่งให้จะเป็นพระคุณอย่างหลายเด้อค้าamp093@hotmail.com
โดย: amp IP: 61.91.197.188 วันที่: 13 ธันวาคม 2548 เวลา:16:23:29 น.
  
ดูสองรอบ หนังยาวมาก น่าจะเกินสามชั่วโมง
โดย: สนุกดี IP: 203.146.189.96 วันที่: 18 เมษายน 2556 เวลา:9:30:55 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Dahachada.BlogGang.com

ดาหาชาดา
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด