

ชื่อไทย แอสเตอร์
ชื่อสามัญ (Common name) Aster
ชื่อวิทยาศษสตร์ (Scientific name) Aster ericoides
ชื่อวงศ์ (Family) Compositae
ถิ่นกำเนิด (Native) -
ชื่อไทย แอสเตอร์จีน
ชื่อสามัญ (Common name) China Aster
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) Callistephus chinensis
ชื่อวงศ์ (Family) Compositae
ถิ่นกำเนิด (Native) จีน, ญี่ปุ่น

แอสเตอร์เป็นไม้ดอกที่ปลูกกันมากกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งปลูกได้เฉพาะฤดูหนาวหรือสภาพอากาศเย็นเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถปลูกกันได้ตลอดปีและได้มีการนำพันธุ์แอสเตอร์ชนิดใหม่คือ Aster ericoides ซึ่งเป็นไม้ข้ามปีเข้ามาอีก พื้นที่การผลิตในปี 2534/2535 มีประมาณ 400 ไร่ นอกจากปลูกเพื่อถอนต้นขายแล้วยังเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถางได้ การผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศและได้มีการส่งออกบ้างแล้วแต่มีปริมาณน้อย ประเทศรับซื้อคือ กรีกและซาอุดิอาระเบีย

1. แอสเตอร์จีน (China Aster)
1.1 พันธุ์พาวเดอร์ฟัฟฟ์ (Powder puff) พุ่มต้นขนาดกลางสูงประมาณ 15-24 นิ้ว กลีบดอกสั้น ซ้อนกันแน่นและบิดเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 2-3 นิ้ว เจริญเติบโตได้ดีในที่มีอากาศเย็น โดยเฉพาะในฤดูหนาวของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นพันธุ์ที่เหมาะจะปลูกเพื่อถอนต้นจำหน่าย ต้านทานโรคเหี่ยวได้ดี
1.2 พันธุ์แดงไส้เหลือง พุ่มต้นเตี้ย สูงไม่เกิน 24 นิ้ว ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกชั้นนอกมีสีแดง ไส้กลางสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 1-1.5 นิ้ว ออกดอกเร็ว ก้านช่อดอกและต้นสีเปลือกมังคุด เป็นต้นพันธุ์ที่ติดเมล็ดดี จึงนิยมที่จะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ไม่มีผลกระทบต่อช่วงแสงและและอุณหภูมิจึงปลูกได้ตลอดปี ทุกภูมิภาคของประเทศไทย แตกกิ่งก้านและดอกแน่น ก้านดอกแข็งและตั้งตรงจึงเหมาะที่จะถอนต้นล้างรากนำปักแจกันหรือใช้ดอกทำช่อดอกไม้ได้ดี จึงเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก

2. Aster ericoides
2.1 แอสเตอร์ดาวเงิน เป็นแอสเตอร์ที่นิยมใช้กันมาก ดอกชั้นนอกสีขาว ดอกชั้นในสีเหลือง ดอกขนาดเล็กเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมาย ใบเรียวเล็ก ขอบใบเรียบ เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี แอสเตอร์ดาวเงินนี้ บางทีเรียกว่า "แอสเตอร์พีค็อก"
2.2 แอสเตอร์ดาวทอง เป็นแอสเตอร์พันธุ์ใหม่ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยและก็สามารถปลูกได้ดี ดาวทองหรือ Solidaster นี้ เป็นลูกผสมข้ามระหว่างสร้อยทอง (Solidago) และแอสเตอร์ (Aster ptarmicioides) ปลูกง่ายขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด ดอกเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมาย ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลืองทั้งดอกชั้นนอกและชั้นใน แต่เมื่อบานนาน ๆ สีดอกจะจางลงเป็นสีครีม ใบเรียวเล็ก ขอบใบเรียบ
2.3 แอสเตอร์ดาวชมพู ดอกมีลักษณะคล้ายดาวเงินโดยต่างกันที่ดอกชั้นนอกจะมีสีชมพูอ่อน ดอกชั้นในสีเหลือง เมื่อบานนาน ๆ ดอกจะซีดจางลง ดอกขนาดใหญ่กว่าดาวเงินเล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมาย ใบเรียวขนาดใหญ่กว่าดาวเงิน ขอบใบเรียบ
2.4 แอสเตอร์ดาวพระศุกร์ ดอกมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มนี้ ดอกชั้นนอกมีสีม่วงแกมน้ำเงินดอกชั้นในมีสีเหลือง ช่อดอกแข็งแรงตั้งตรง แตกกิ่งย่อยสั้น ๆ ขนาดเท่า ๆ กัน ใบอ้วนกว้าง ขอบใบหยักนิยมปลูกประดับแปลงปัจจุบันใช้เป็นไม้ตัดดอกได้แต่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าดาวเงิน แอสเตอร์นี้บางทีเรียกว่า "มากาเร็ต"
2.5 แอสเตอร์ดาวอังคาร ดอกขนาดกลาง ดอกชั้นนอกมีสีชมพูสวยงาม ดอกชั้นในมีสีเหลือง ดอกออกเป็นช่อแตกกิ่งมากมาย ใบอ้วนใหญ่ ขอบใบเรียบ ใช้ปลูกประดับแปลงและใช้เป็นไม้ตัดดอกได้แต่บานไม่ทน แอสเตอร์นี้ปลูกกันในเมืองไทยนานแล้วโดยปลูกคู่กับแอสเตอร์ดาวพระศุกร์
2.6 แอสเตอร์ดาวจุฬา เป็นแอสเตอร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีชื่อว่า "Pink Star" ช่อดอกยาว แตกกิ่งย่อยขนาดไล่เลี่ยกัน ดอกขนาดเล็กกว่าแอสเตอร์ดาวพระสูกร์ ดอกชั้นนอกมีสีชมพูสวยงาม ดอกชั้นในสีเหลือง ใบเรียวเล็ก ขอบใบหยัก ปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี

แอสเตอร์จีน (China Aster) มีลักษณะลำต้นคล้ายกับเบญจมาศ ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกเป็นแบบ Head ประกอบด้วยดอกย่อย 2 ประเภทคือ ดอกชั้นนอกและดอกชั้นในเรียงซ้อนกัน ดอกมีหลายสีชั้นนอกและชั้นในจะมีสีเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ สีของดอกเช่น สีขาว แดง ชมพูและม่วง เป็นต้น ส่วน Aster ericoides เป็นแอสเตอร์ที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกและไม้ประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ข้ามปี (Perenial) เมื่อออกดอกแล้วต้นยังไม่ตาย สามารถปลูกให้ดอกได้ตลอดปี ใบเป็นใบเดี่ยวเช่นเดียวกันดอกแบบ Head มีดอกย่อย 2 ประเภทเช่นกัน สีของดอกเช่น ขาว เหลือง ชมพูและม่วง เป็นต้น

การขยายพันธุ์ ทำได้ 3 วิธี คือ
1. การเพาะเมล็ด การเพาะในภาชนะ เช่น ตะกร้าพลาสติกโปร่ง โดยมีความลึกของภาชนะประมาณ 2.5-3 นิ้ว ปูพื้นและด้านข้างของตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ชั้น วัสดุเพาะใช้ดิน : ทราย : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1:1 ปรับหน้าดินให้เรียบ ตีร่องลึกประมาณ 0.5 ซม. แต่ละร่องห่างกันประมาณ 2.5 ซม. โรยเมล็ดลงในร่องบาง ๆ เนื่องจากเมล็ดมีขนาดเล็กจึงควรนำเมล็ดผสมรวมกับทรายละเอียดแห้ง อัตรา 1:10 กลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะบาง ๆ พอมิดเมล็ด ปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้นหนึ่งรดน้ำแล้วรดยากันราและยาฆ่าแมลง รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากเพาะประมาณ 5-10 วัน เมล็ดจะงอก n การเพาะในแปลงเพาะ เป็นวิธีการเพาะที่ได้ผลดี เช่นเดียวกับการเพาะในภาชนะ ถ้าหากมีการปฏิบัติดูแลอย่างใกล้ชิด วัสดุเพาะ การดูแลอื่น ๆ และการปฏิบัติเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดในภาชนะ ต่างกันที่ตรงที่ต้องยกแปลงเพาะขึ้นมา การทำแปลงเพาะแบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีความชำนาญแล้ว หลังจากกล้างอกแล้วไม่ต้องย้ายกล้าลงไปชำในถุง สามารถย้ายปลูกได้เมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 4 ใบ เทคนิคการทำให้เมล็ดแอสเตอร์งอกเร็วและสม่ำเสมอ โดยการนำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 40 องศา C นานประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนหว่านจะทำให้เมล็ดงอกภายใน 3-5 วัน หลังจากงอกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์หรือใบจริง 1-2 คู่ จึงทำการย้ายกล้าซึ่งมี 2 วิธี คือ (1) การย้ายกล้าลงในถุงชำ โดยใช้ถุงขนาด 10 x 15 ซม. โดยใช้วัสดุปลูกคือ ดิน : ทราย : ปุ๋ยคอก : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 2:2:1:1 เลี้ยงไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงย้ายปลูกลงแปลงอีกครั้งหนึ่ง วิธีการนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะว่า เสียค่าใช้จ่ายและแรงงานเพิ่มขึ้น (2) การย้ายปลูกลงแปลง
2. การแยกหน่อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่นิยมทำกับ Aster ericoides เท่านั้น เป็นการขยายพันธุ์จากยอด หรือหน่อ จะต้องชำให้ออกรากในกระบะพลาสติกเสียก่อน วัสดุที่ใช้เป็นดิน : ทราย : ขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1:1:1 ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ในการออกรากแล้วย้ายแต่ละต้นลงปลูกในถุงพลาสติกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้
3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ปลอดโรคได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วเหมาะที่จะนำไปใช้ขยายพันธุ์แอสเตอร์พันธุ์ใหม่ ๆ
***โปรดติดตามตอนต่อไป***
ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ห้องสมุดความรู้การเกษตร
- กรมส่งเสริมการเกษตร
ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ ==>