กล้วยไม้เขาพระวิหาร Vandopsis Lissochiloides

      กล้วยไม้เขาพระวิหาร เป็นกล้วยไม้พันธุ์แท้ในสกุล Vandopsis มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vandopsis Lissochiloides   (Gaud.) Pfitz   ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นและเป็นพืชเด่นประจำอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเอื้องระฟ้า


พบมากบนเขาหินปูนในพื้นที่ป่าบริเวณเขาพระวิหารโดยเฉพาะในเส้นทางศึกษา ธรรมชาติ และตามตะเข็บชายแดนติดต่อระหว่างไทย-กัมพูชา มักขึ้นอยู่บนที่ราบ สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 200 - 500 เมตร พบได้ในที่โล่งแจ้งระหว่างโขดหินผาที่ร้อนระอุด้วยแสงแดดจนเกือบจะหาสิ่งปก คลุมได้ยาก กล้วยไม้เขาพระวิหารก็สามารถทนอยู่ได้ กล้วยไม้สกุลนี้มีแหล่ง กำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กระจายพันธุ์อยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดจีน จนถึงปาปัวนิวกินี ในประเทศไทยพบ 2 ชนิด คือ  1) พระยาฉัททันต์ 2) เขาพระวิหาร

ที่มา : //www.orchisasia.org/especes/v/vanlis/vanlis_03_fr.html
//www.orchisasia.org/especes/v/vanlis/vanlis_02_en.html

ลักษณะการเจริญเติบโต พบการเจริญเติบโต ตาม ก้อนหิน บนรอยแยกลานหิน ที่มีซากอินทรีย์วัตถุทับถม มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนทั้งธาตุอาหารและน้ำ โดยจะมีลำต้นและรากที่ใหญ่สะสมอาหารไว้เพื่อความอยู่รอด รูปแบบการเจริญเติบโตแบบโมโนโพเดียล (monopodial) โดยจะเจริญเติบโตที่ปลายยอดไปได้เรื่อย ๆ มีการแตกตาที่โคนต้นบ้าง แต่ ไม่แตกกอลำต้นเป็นแบบลำเดียว ขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 -2 นิ้ว ใบหนาแข็งขนาดใหญ่ รูปตัววีแคบ สีเขียวอ่อนถ้าอยู่ที่กลางที่โล่งแจ้งจะมีสีเขียวอมเหลือง ใบจะเรียงสลับตรงข้าม ตามแนวตั้ง ระนาบเดียวกัน (distichous)

ช่อดอกแบบกระจะ (raceme) คือ ช่อดอกที่ดอกย่อยมีก้านดอกแยกจากแกนกลาง ก้านดอกย่อยแต่ละดอกจะมีความยาวใกล้เคียงกัน ออก ที่ข้างลำต้น ตั้งตรง ช่อดอกยาวได้ถึง 2 เมตร หนึ่งต้นให้มีช่อดอกได้ 4 – 5 ช่อต่อปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น แต่ละช่อจะทิ้งช่วงเวลาออกช่อค่อนข้างห่าง หนึ่งช่อประกอบด้วยดอก 10-15 ดอก ขนาด ดอกกว้าง 5 เซนติเมตร ทรงกลม กลีบในและกลีบนอกคู่ล่างชิดซ้อนกัน กลีบนอกทั้ง 3 กลีบปลายรูปสามเหลี่ยมป้อม หน้างุ้มเข้าสู่ส่วนกลางของเกสร เนื้อกลีบดอกหนามาก สีดอกด้านหน้าพื้นสีเหลือง มีลายจุดสีม่วงปนน้ำตาล ถึงสีม่วงปนแดง ระบบรากเป็นระบบรากอากาศขนาดใหญ่แข็งแรง พันธุ์ที่พบในประเทศไทยและเขมร ด้านหลังดอกสีขาว ส่วนพันธุ์ที่พบในฟิลิปปินส์ ด้านหลังดอกสีชมพู ช่วงเวลาออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน ของทุกปี

การปลูก
   นิยมปลูกลงในกระถางขนาดใหญ่ ใช้วัสดุปลูกเปลือกมะพร้าว หรือรากเฟินสีดา ถ่านดำ ปุ๋ยชนิดละลายช้าสูตร 16 – 16 – 16
การเลี้ยง ควรให้อยู่ในที่ร่มชอบความชื้นสูง พรางแสงประมาณ 50 %

กล้วย ไม้เขาพระวิหาร เป็นกล้วยไม้ป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ในความนิยมของผู้ปลูกกล้วยไม้เพื่อการสะสม ทำให้เกิดการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่าเพื่อการค้า เนื่องจากการขยายพันธุ์ ของกล้วยไม้เขาพระวิหาร เกิดขึ้นได้ยากในสภาพธรรมชาติ ประกอบกับเป็นที่ต้องการของนักสะสม ทำให้เกิดการลักลอบนำออกจากป่าเพื่อการค้าและมีการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ ทำให้กล้วยไม้ชนิดนี้ลดปริมาณลงเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นกล้วยไม้ป่าที่จำเป็น ต้องทำการอนุรักษ์   ก่อนที่จะเกิดสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก

บรรณานุกรม
ประชิด วามานนท์. 2552. เขาพระวิหาร หนังสือที่ระลึกงานกล้วยไม้ช้างชนช้างครั้งที่ 3 . หน้า 37-43.

ระพี สาคริก. กล้วยไม้สกุลแวนดอพซิส //kukr.lib.ku.ac.th/Fulltext/KU0057448c3.pdf
//www.benorchid.com/genera/vandopsis.htm
//www.agri.ubu.ac.th/horticulture/pdf/Conservative_Plants.pdf
//www.cpflower.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=207382&Ntype=2
//orchids21.tripod.com/Html/Vandopsis.html
//kantalak.blogspot.com/2007/02/150-28-30.html
//www.panmai.com/Flower/Flower.shtml

เสาวนี เขตสกุล
นักวิชาการเกษตรชำนาญการ

ผู้รวบรวมและเรียบเรียง

ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ




Create Date : 04 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2556 15:45:11 น.
Counter : 2318 Pageviews.

0 comments
พระพุทธสิหิงค์ : หลวงพ่อเพชร ผู้ชายในสายลมหนาว
(27 มิ.ย. 2568 15:34:46 น.)
พ่อแม่ที่ติดโทรศัพท์ มีผลต่อลูกอย่างไร newyorknurse
(22 มิ.ย. 2568 21:04:21 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องเวกเตอร์ นายแว่นขยันเที่ยว
(11 มิ.ย. 2568 06:11:02 น.)
กำแพงแสน : นกโพระดกธรรมดา ผู้ชายในสายลมหนาว
(10 มิ.ย. 2568 12:43:20 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Axiom.BlogGang.com

Mr.Evo_IV
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]

บทความทั้งหมด