“มะลิเฉลิมนรินทร์”พรรณไม้พระราชทานนามชนิดใหม่ของโลก

วว. โชว์“มะลิเฉลิมนรินทร์”พรรณไม้พระราชทานนามชนิดใหม่ของโลก

    สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โชว์พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในสกุลมะลิที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม “มะลิเฉลิมนรินทร์” เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 7 รอบ พร้อมจัดทำเข็ดกลัดที่ระลึกจำหน่ายในงานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี 50 ปี วว. มอบรายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนสภากาชาดไทย

     นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า วว. ได้ทำการสำรวจพบมะลิเฉลิมนรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2552 ณ เนินเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งนี้ได้ทำการตรวจสอบพรรณไม้ดังกล่าวร่วมกับ Ms. Ruth Kiew ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะลิชาวอังกฤษ ที่มาปฏิบัติงานอยู่ในหอพรรณไม้ Forest Research Institute of Malaysia (FRIM) ประเทศมาเลเซีย จึงได้ร่วมกันเขียนรายงานเตรียมลงตีพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติ Blumea แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ทั้งนี้ วว. ได้ขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum bhumibolianum Chalermglin และชื่อภาษาไทย คือ มะลิเฉลิมนรินทร์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 มีความหมายว่า มะลิเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน

     “เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี วว. เราได้จัดทำเข็มกลัดมะลิเฉลิมนรินทร์เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในวันแม่แห่ง ชาติ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปมอบให้แก่สภากาชาดไทย...ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุน กิจกรรมนี้ได้ในงานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ปี วว. ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2556 ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

     นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มะลิเฉลิมนรินทร์ ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว (endemic) ของประเทศไทย ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ (rare & endangered) จัดอยู่ในสกุลมะลิ (Genus Jasminum) วงศ์มะลิ (Family Oleaceae) มีลักษณะเด่นแตกต่างจากมะลิพื้นเมืองและมะลิชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกคือ มีกลีบเลี้ยง แหลม หนาแข็งขนาดใหญ่จำนวน 4-5 ซี่ รองรับดอกสีขาวที่มีกลีบดอก 6-8 กลีบและมีกระเปาะเกสรเพศผู้สีเหลืองเด่นชัด กระจายพันธุ์อยู่บนเนินเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

มะลิเฉลิมนรินทร์ มีลักษณะเด่นแตกต่างจากมะลิพันธุ์ไทยและทั่วโลก เช่น มีกลีบเลี้ยง แหลม หนาแข็ง ขนาดใหญ่จำนวน 4-5 ซี่ รองรับดอกสีขาวที่มีกลีบดอก 6-8 กลีบและมีกระเปาะเกสรเพศผู้สีเหลืองเด่นชัด


     ลักษณะโดยทั่วไปของมะลิเฉลิมนรินทร์ เป็นไม้เถาเลื้อยได้ไกล 1-2 เมตร กิ่งยอดเรียวเล็ก เรียบ ใบรูปรีหรือรูปหอกกว้าง โคนใบเว้า ปลายใบเป็นตุ่มแหลม ใบหนา เหนียวสีเขียวเข้มเป็นมัน กว้าง 3-3.5 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร เส้นแขนงใบมี 3-4 คู่เห็นไม่เด่นชัด ก้านใบยาว 4-5 มิลลิเมตร มีใบประดับเรียวยาว 5-6 มิลลิเมตร ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งยอดหรือปลายกิ่งข้าง มีดอกย่อย 7-13 ดอก กลีบเลี้ยง แหลม หนาแข็งขนาดใหญ่จำนวน 4-5 ซี่ ยาว 3-4 มิลลิเมตร หลอดกลีบดอกยาว 12-15 มิลลิเมตร ตอนบนมีกระเปาะเกสรเพศผู้สีเหลืองเด่นชัด กลีบดอกสีขาว 6-8 กลีบ แต่ละกลีบกว้าง 3-4 มิลลิเมตร ยาว 10-12.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบเป็นติ่งแหลมสั้น ผลกลมรี 1-2 ผล กว้าง 9 มิลลิเมตร ยาว 11 มิลลิเมตร เมื่อสุกสีดำ เป็นมะลิที่เจริญเติบโตช้าเมื่อเทียบกับมะลิชนิดอื่นๆ ออกดอกบานในช่วงเดือน กรกฎาคมถึงกันยายน ส่งกลิ่นหอมแรง มีผลแก่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม

     ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา วว.ได้ทำการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์มะลิเฉลิมนรินทร์ เพื่อการอนุรักษ์พรรณไม้ดังกล่าวอย่างยั่งยืน ผลการศึกษาพบว่า สามารถใช้วิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เพื่อขยายพันธุ์ไม้ดังกล่าว โดยต้นกล้าที่เกิดจากการเพาะเมล็ดจะเจริญเติบโตได้ช้ากว่า จะเลื้อยไต่ซุ้ม สูง 1 เมตรและออกดอกได้ต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี ในขณะที่การขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำกิ่งได้ผลดี มีเปอร์เซ็นต์ออกรากและรอดตายได้สูงมาก สามารถเลื้อยไต่ซุ้มและออกดอกได้ในเวลาเพียง 1 ปี ส่วนการขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนกิ่งไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากกิ่งยอดมี ขนาดเล็กมากและตอนได้ยากมาก ในการปักชำ ควรเลือกกิ่งยอดที่แข็งแรง สมบูรณ์ สีของเปลือกกิ่งเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม ซึ่งจะมีความยาวไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร ปักลงในถุงเพาะชำหรือกระถางที่มีทรายผสมขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุปักชำ ราดหรือฉีดพ่นด้วยสารป้องกันเชื้อรา ให้น้ำจนมีความชื้นเหมาะสมทุกวัน ราว 1 เดือนก็จะออกรากและนำไปปลูกได้

     “…มะลิเฉลิมนรินทร์ชอบดินปลูกที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีธาตุอาหารเพียงพอ เป็นดินร่วนระบายน้ำได้ดี สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั้งการปลูกลงกระถางหรือปลูกลงแปลงกลางแจ้ง หรือในที่มีร่มเงาเล็กน้อย ไม่ชอบสภาพดินปลูกที่แฉะ ระบายน้ำไม่ได้หรือมีร่มเงามากเกินไป การปลูกเลี้ยงในกระถางให้สวยงามและออกดอกได้เร็ว ควรทำซุ้มหรือค้างให้เลื้อยไต่ แล้วจับยอดให้เลื้อยพันคลุมเต็มซุ้มอย่างมีสมดุล ได้รับแสงแดดทั่วทั้งซุ้ม จะออกดอกได้ดก สวยงามและส่งกลิ่นหอมแรง มะลิเฉลิมนรินทร์ที่ได้รับการบำรุงรักษาดี ให้ปุ๋ยและน้ำเหมาะสมจะออกดอกได้เกือบตลอดปี…” ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น กล่าวสรุปในตอนท้าย

     สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center วว. โทร. 0 2577 9300 หรือที่ โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th ในวันและเวลาราชการ

ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก : กองประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ




Create Date : 04 กันยายน 2556
Last Update : 4 กันยายน 2556 11:56:46 น.
Counter : 1312 Pageviews.

0 comments
การ์ตูนจากกล่องอาหาร สมาชิกหมายเลข 4313444
(14 เม.ย. 2567 04:14:16 น.)
หนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่น SN_monchan
(7 เม.ย. 2567 05:39:08 น.)
กาแฟคั่วเข้ม เหมาะกับเมนูไหนดี สมาชิกหมายเลข 7983004
(29 มี.ค. 2567 02:14:10 น.)
AI คืออะไร ? ข้อดีของ AI Technology Robotic เข้ามาช่วยในการผ่าตัด newyorknurse
(19 เม.ย. 2567 02:45:03 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Axiom.BlogGang.com

Mr.Evo_IV
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]

บทความทั้งหมด