กล้วยไม้สกุลกุหลาบ กล้วยไม้สกุลกุหลาบ (Aerides) เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศใน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดดๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง มักมีกลิ่นหอม มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลีบดอกผึ่งผายสวยงามสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า (Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis) สำหรับกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยมีดังนี้ กุหลาบกระเป๋าปิด
กุหลาบกระเป๋าปิดเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลกุหลาบที่ส่วนปลายปากแคบกว่าหู และทั้ง 2 ส่วนพับขึ้นมาปิดเส้าเกสรไว้ พบขึ้นอยู่ทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า อินเดีย เนปาล และภูฎาน กุหลาบกระเป๋าเปิด
กุหลาบกระเป๋าเปิดพบขึ้นอยู่ในทุกภาคของประเทศไทยและยังพบในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นกล้วยไม้ที่มีปลายปากกว้างอ้าออก ยื่นไปข้างหน้า มีเดือยดอกค่อนข้างตรง ซ่อนอยู่ใต้ปลายปาก อยู่ชิดขนานกับปลายปาก ใบยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร กุหลาบเหลืองโคราช
กุหลาบเหลืองโคราชมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบกระเป๋าเปิด แต่มีพื้นกลีบเป็นสีเหลืองแทนที่จะเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นตะไคร้ ความยาวของใบและของช่อดอกจะสั้นกว่ากุหลาบกระเป๋าเปิด ในประเทศไทยพบเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบใน ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม กุหลาบแดง
กุหลาบแดง เป็นกุหลาบที่มีเดือยดอกยาวเห็นได้ชัดเจน เดือยงอนขึ้นและไม่ซ่อนตัวอยู่ใต้ปลายปาก ใบยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ใบหนา ผิวใบอาจย่นมากหรือน้อย โดยย่นตามขวางของใบ ในประเทศไทยพบที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งที่นครนายกและกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบในประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม กุหลาบอินทจักร
กุหลาบอินทจักรเป็นกุหลาบเดือยยาวชนิดเดียวที่ฝาครอบอับเรณูกว้างและมนซึ่ง ชนิดอื่นจะแหลมเป็นปากกา ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือ และพบในพม่า ลาว และมณฑลยูนานของจีน กุหลาบน่าน กุหลาบเอราวัณ กุหลาบไอยรา กุหลาบน่านเป็นพวกที่มีเดือยดอกสั้นมาก เห็นเป็นตุ่มขนาดใหญ่ มีปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายใบหยักกลางแต่หยักไม่เท่ากัน ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเท่านั้น และพบน้อยมาก นอกจากนี้ยังพบในภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม และมณฑลยูนานของจีน กุหลาบมาลัยแดง
กุหลาบมาลัยแดงมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบน่าน แตกต่างกันที่ปลายปาก คือ ปากของกุหลาบน่านเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ปากของกุหลาบมาลัยแดงเป็นรูปหัวใจ ปลายสุดของปากป้านและหยักกลาง ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์แถบภาคเหนือ อีสาน นครนายก ชลบุรี และกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบใน ประเทศเนปาล สิกขิม ภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก
ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ |
บทความทั้งหมด
|