รายละเอียดเกี่ยวกับกล้วยไม้ ตอนที่ 1

เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับ กล้วยไม้
กล้วยไม้ เป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ตัดดอกที่ใหญ่ที่สุดของโลก จากการสำรวจพบว่า ในปี พ.ศ. 2533-34 มีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้ตัดดอกในไทยประมาณ 12,000 ไร่ โดยแหล่งปลูกที่สำคัญร้อยละ 34.5 อยู่ในกรุงเทพฯ ร้อยละ 29.5 อยู่ในจังหวัดนครปฐม อีกร้อยละ 20 อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และที่เหลือร้อยละ 16 อยู่ใน จังหวัดอื่น ๆ พันธุ์ที่นิยมปลูกตัดดอกมากที่สุดคือ กล้วยไม้สกุลหวายลูกผสม ซึ่งมีดอกสีขาว ม่วงอ่อน ม่วงเข้ม รวมกันมากกว่า 50 ชนิด เช่น พันธุ์ Dendrobium Walter Oumae, Dendrobium sonia 'Bom' เบอร์ 17, 18, 28 และพันธุ์กลายไปหลังจากนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ Dendrobium Ekapol, Dendrobium Sabin ส่วนพันธุ์ที่ชาวสวนส่วนน้อยปลูก คือสกุลออนซิเดียม (Oncidium) แวนด้า (Vanda) อะแรนดา (Aranda) และ ม๊อคคารา (Mokara)

ลักษณะพันธุ์กล้วยไม้ตัดดอก
      ต้นกล้วยไม้ที่คัดมาสำหรับปลูกตัดดอกนั้น ควรจะมีลักษณะที่ดีในด้านการเจริญเติบโต และมีลักษณะดอกตรงตามความ ต้องการของตลาด เนื่องจากความต้องการดอกกล้วยไม้ในตลาดมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดอกกล้วยไมัพันธุ์ใหม่ที่ แปลกตาย่อมขายได้ราคาสูงกว่าพันธุ์เก่าที่ล้าสมัย ดังนั้นการผสมพันธุ์ให้ได้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อได้ต้นพันธุ์ที่ดีแล้ว ก็สามารถใช้เทคนิคการเพาะเนื้อเยื่อขยายพันธุ์ เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วเพื่อปลูกตัดดอกขาย เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย 1 พันธุ์ ต้องการ 1 แสนต้น สามารถผลิตเป็นต้นให้ออกปลูกจากขวดวุ้นได้ โดยใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ที่สุด 1 ปี และเลี้ยงจนออกดอกช่อแรกใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี และสามารถตัดดอกขายได้หลังจากนี้อีก 2-3 เดือน รวมแล้วใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ก็สามารถตัดดอกขายได้ ดังนั้นขั้นตอนในการคัดเลือกต้นพันธุ์ดีจึงสำคัญที่สุด ถ้าคัดเลือกผิดต้น จะเสียเงินลงทุนจำนวนมาก

กล้วยไม้สกุลและพันธุ์ต่าง ๆ
Den. Sonia

กล้วยไม้พันธุ์ พันธุ์ Den. Sonia


Den. Pompadour

กล้วยไม้พันธุ์ Den. Pompadour


Den. Caesar

กล้วยไม้พันธุ์ Den. Caesar


Den. Walter Oumae

กล้วยไม้พันธุ์ Den. Walter Oumae


Den. Dr. Uthai

กล้วยไม้พันธุ์ Den. Dr. Uthai


สกุล Vanda

กล้วยไม้พันธุ์ สกุล Vanda


สกุล Mokara

กล้วยไม้พันธุ์ สกุล Mokara


สกุล Cattleya

กล้วยไม้พันธุ์ สกุล Cattleya


สกุล Arachnis

กล้วยไม้พันธุ์ สกุล Arachnis

กล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายลูกผสม (Dendrobium hybrids)
         ต้นกล้วยไม้สากุลหวายที่ปลูกตัดดอกนั้น ทั้งหมดเป็นกล้วยไม้ลูกผสม ซึ่งผสมข้ามชนิดจากกล้วยไม้ป่าที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบร้อนของประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และปากัวนิวกินี เช่น Dendrobium phalaenopsis, Dendrobium bigibbum, Dendrobium superbiens, Dendrobium discolor, Dendrobium lineale, Dendrobium stratiotes, Dendrobium gouldii และ Dendrobium schulleri การผสมข้ามระหว่างชนิดของกล้วยไม้ในสกุลหวายเหล่านี้ ทำให้ได้ลูกผสมที่มีดอกหลายหลากสี มีทั้งดอกฟอร์มกลม กลีบแคบหรือกลีบบิด ลูกผสมเหล่านี้ยังมีลักษณะดีเหนือพ่อแม่พันธุ์ คือ ช่อยาว ดอกบานทน ดอกดก และออกดอกตลอดปี เหมาะอย่างยิ่งในการนำมาปลูกตัดดอก นักผสมพันธุ์และชาวสวนกล้วยไม้ได้มีการผสมเกสร และเพาะเมล็ดเพื่อการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอตลอดมา อีกทั้งมีการคัดเลือกต้นที่มีจำนวนโครโมโซมเป็นสองเท่าจากปกติมาใช้เป็นต้นพ่อแม่พันธุ์ ทำให้ได้ลูกผสมใหม่ ๆ ที่มีดอกขนาดใหญ่กว่าเดิม กลีบหนา สีสวย เป็นที่ต้องการของตลาด

พันธุ์ที่นิยมปลูกตัดดอก แบ่งตามสีได้ดังนี้

  • สีขาว ได้แก่ Den Walter Oumae, Den. B.M.White, Den Jiad White, Den. Veravuth white, Den Kasemwhite
  • สีม่วง-ขาว ได้แก่ Den. Soia BOM # 17,18,28, Den. Venus, Den. Anna, Den. Superstar
  • สีม่วง ได้แก่ Den. Sabin, Den. Ekapol, Den. Anna, Den. Wanni, Den. Rinnapa
  • สีม่วงอมฟ้า ได้แก่ Den. Kultana Blue, Den. Halawa Beauty, Den. Izumi
  • สีเหลือง ได้แก่ Den. Mary Mak, Den. Mary Trouse, Den. Kasem Gold

พันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด
      พันธุ์ที่นิยมปลูกตัดดอกมากที่สุด คือ พันธุ์ที่มีดอกสีชมพู-ขาว หรือสีชมพูทั้งอ่อนและเข้าสำหรับพันธุ์ดอกสีเหลืองนั้น มีปลูกเลี้ยงจำนวนน้อย พันธุ์ที่ปลูกตัดดอกอยู่มีมากกว่า 50 พันธุ์

         กล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมที่ปลูกตัดดอกนั้น ต้นมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าต้นกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ ต้นจะผลิหน่อใหม่ 2-3 หน่อ/ปี หน่อผลิจากตาที่เหง้าซึ่งอยู่ที่โคนลำลูกกล้วย ปกติแล้วจะเกิดเพียง 1 หน่อ/ลำ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม อาจเกิดหน่อได้ 2 หน่อ/ลำ หน่อใหม่นี้ใช้เวลาเจริญเติบโตจนสุดลำนาน 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความสูงของลำ ซึ่งสูง 2-5 ฟุต และเมี่อสุดลำจะแทงช่อดอก 1-3 ช่อ จากตาที่ปลายลำและตาข้างที่ถัดลงมา และดอกจะบาน 3/4 ช่อ เมื่อช่อดอกอายุ 45-60 วัน หลังจากตัดช่อดอกออกไป ลำนั้นจะสามารถผลิช่อใหม่ออกมาได้อีกจากตาล่าง ๆ ดังนั้น ต้นกล้วยไม้สกุลหวาย แต่ละลำจึงสามารถผลิช่อดอกได้มากถึง 5-15 ช่อ ขึ้นกับชนิดพันธุ์และความสมบูรณ์ของต้น ช่อดอกที่ผลิออกมาในช่วงหลัง ๆ นี้มักจะออกมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ทำให้ดอกมีราคาถูก

แหล่งปลูก

    กล้วยไม้สกุลหวายต้องการอากาศร้อนและชื้น แหล่งที่มาปลูกได้ดีอยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งมีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตตลอดปี แต่ถ้าปลูกในภาคเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นกว่า และความชื้นในอากาศต่ำกว่ามากในช่วงฤดูหนาวต้นจะทิ้งใบ ทำให้มีการเจริญเติบโตไม่ดี และถ้าปลูกในเขตที่มีฝนตกชุก และติดต่อกันหลายวัน เช่น ในภาคใต้ จะทำให้เครื่องปลูกที่เป็นกาบมะพร้าวผุเร็ว ระบบรากเสีย การเจริญเติบโตลดลง ต้องแก้ไขโดยการใช้เครื่องปลูกที่ไม่อุ้มน้ำ และระบายน้ำได้เร็ว เช่น ถ่าน กระถางแตก หรือดัดแปลงวิธีการปลูกเพื่อให้ระบายได้เร็ว หรือทำหลังคากันฝนให้ในช่วงฤดูฝน แต่ต้องเพิ่มการรดน้ำในช่วงฤดูแล้วให้เพียงพอถ้าใช้เครื่องปลูกที่แห้งเร็ว

เครื่องปลูกและภาชนะปลูก
      ต้นกล้วยไม้ที่ได้จากการตัดแยก หรือลูกกล้วยไม้ในกระถางนิ้วที่มีลำลูกกล้วย 2-3 ลำ ต้นสูงประมาณ 10-20 ซ.ม. ปลูกได้หลายวิธี ดังนี้
ปลูกลงกระถางดินเผา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว ใช้ถ่านไม้ก้อนขนาดเท่าหัวแม่มือชนิดเดียว หรือถ่านผสมกับกระถางแตกชิ้นเล็ก ๆ เท่ากับถ่าน เครื่องปลูกชนิดนี้ค่อนข้างแห้ง เก็บความชื้นได้น้อย เหมาะสำหรับกล้วยไม้ที่ไม่ชอบความชื้น เครื่องปลูกมาก เช่น หวาย ดร. อุทัย และหวายแคระ เหมาะสำหรับการใช้ในแถบที่มีฝนตกชุก หรือตกติดต่อกันนาน สำหรับกล้วยไม้ลูกผสมสกุลหวายทั่ว ๆ ไปที่ปลูกในแถบกรุงเทพฯ ต้องรดน้ำมากกว่าปกติ เนื่องจากระบายน้ำได้ดี ดังนั้น ต้นจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน แต่ในฤดูร้อนถ้ารดน้ำไม่พอ ต้นกล้วยไม้จะเติบโตไม่ดี
ปลูกในกระถางดินเผา ขนาด 4-5 นิ้ว ใช้กาบมะพร้าวกาบแข็งเป็นเครื่องปลูก โดยเรียงกาบมะพร้าวที่หั่นเป็นท่อน ๆ ตามแนวตั้ง ให้หนีบส่วนรากไว้ในกระถาง วางกระถางที่ปลูกเสร็จแล้วบนโต๊ะ โดยหย่อนให้ก้นกระถางลงในร่องไม้ระแนง ให้ขอบกระถางพาดอยู่บนไม้ระแนง
ปลูกบนแท่งอัดกาบมะพร้าว ขนาดกว้าง 30 ซ.ม. ยาว 40 ซม. โดยปลูกแท่งละ 4-6 ต้น แล้ววางเรียง 2 แถวบนโต๊ะ
ปลูกบนกองกาบมะพร้าว (กาบอ่อนหรือกาบแข็ง) ซึ่งปูซ้อนกัน 2-3 ชั้น บนพื้นโต๊ะ ไม้ระแนงซึ่งตีห่าง ๆ เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี โดยปลูกเรียง 4 แถว บนโต๊ะกว้าง 1 เมตร แต่ละต้นห่างประมาณ 25 ซม. จะปลูกได้ 16 ต้น / ตารางเมตร หรือประมาณ 12,000 ต้น/ไร่

โรงเรือน
    โรงเรือนสร้างขึ้นเพื่อพรางแสงแดด และต้องมีการระบายอากาศที่ดี
    ความสูง      3-4 เมตร
    ให้ได้รับแสง    50-60 %
    อุณหภูมิ        21-27 ํ ซ.
    ขนาดโต๊ะกว้าง    1 เมตร   สูง    0.6-0.7 เมตร        ยาว    10-30 เมตร    แล้วแต่ขนาดพื้นที่ และความสะดวกในการทำงาน

การดูแลรักษา
การรดน้ำ ใช้หัวฉีดน้ำชนิดฝอยละเอียด รดทุกวัน เวลา 6.00-9.00 น. ถ้าวันใดอากาศร้อนจัดควรรดช่วงบ่าย หรือเย็นเพิ่มอีก 1 ครั้ง
การให้ปุ๋ย หลังจากปลูกให้ปุ๋ยสูตรเสมอ อัตรา 4 กรัม/100 ต้น ทุก 7 วัน เมื่อต้นมีขนาดใหญ่ขึ้น มีลำใหม่ขึ้น มีลำใหม่อีก 1-2 ลำ ควรเพิ่มปุ๋ยเป็น 8 กรัม / 100 ต้น ใช้สลับกับปุ๋ยเร่งดอกที่มีธาตุ P และ K สูง เช่น 15-30-20 ทุก 7 วัน เมื่อต้นมีจำนวนลำ/กอ เพิ่มขึ้น ควรเพิ่มปุ๋ยเป็น 12-16 กรัม/100 ต้น
    การป้องกันศัตรูพืช การควบคุม การเข้าทำลายของโรคและแมลง จำเป็นมากเพื่อไม่ให้ดอกและต้นเกิดความเสียหาย ควรพ่นสารกำจัดโรคและแมลงทุก 7 วัน ในช่วงฤดูฝนจะมีโรคระบาดมากกว่าในฤดูอื่น แต่แมลงรบกวนน้อย การปลูกต้นถี่เกินไป จะทำให้เกิดการระบาดของโรคและแมลงได้ง่าย
   การปลูกตัดดอก ต้องระมัดระวังไม่ให้ดอกถูกทำลายจากโรคแมลง หรือร่วงกลางช่อ เพราะไม่สามารถส่งขายยังตลาดต่างประเทศได้

การตัดดอก
ควรตัดในตอนเช้า โดยใช้มือหักที่โคนก้านช่อบริเวณข้อ ซึ่งจะหักได้ง่าย หรือใช้กรรไกรตัด จากนั้นผู้ปลูกจะนำมาคัดเกรดตามความต้องการของผู้ซื้อ

การเปลี่ยนเครื่องปลูก
         ต้นกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมเป็นชนิดที่มีการเจริญเติบโตเป็นกอ หลังจากปลูกนาน 3 ปี จะแตกกอเพิ่มจำนวนมากจนแน่น ทำให้ไม่สะดวกในการรดปุ๋ย และรดสารกำจัดโรค และแมลงเรื่องปลูกที่เป็นกาบมะพร้าวผุ ระบบรากเสียหาย มีการสะสมของโรคและแมลง ทำให้เกิดการระบาด ของโรคแมลง สมควรจะรื้อต้นออกปลูกใหม่ ทุก 3-4 ปี โดยแยกหน่อจากลำหน้าไปปลูกใหม่ และนำลำหลังไปปักชำให้เกิดหน่อใหม่

การขยายพันธุ์

  • การขยายพันธุ์โดยการตัดแยก
  • การขยายพันธ์โดยการเพาะเนื้อเยื่อ
  • การเพาะเมล็ด

การปลูกลงกระถางนิ้ว

  • เครื่องปลูก อาจใช้ได้หลายชนิดเช่น
  • กาบมะพร้าวแข็ง
  • กาบมะพร้าวอ่อน
  • ใยมะพร้าว
  • รากเฟิร์นออสมันดา

โรงเรือน
เลี้ยงต้นในเรือนที่มีหลังคากันฝน นาน 1-2 เดือน แล้วย้ายไปปลูกในเรือนที่พรางแสง


         ให้ได้รับแสง        40% นาน 3-10 เดือน
         อุณหภูมิ        21-32 ํ ซ.
         ความชื้นสัมพัทธ์    70-80 %

การเลี้ยงลูกกล้วยไม้
ต้นลูกกล้วยไม้ในขวดเพาะที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ลูกกล้วยไม้ที่ดีควรจะมี

  • ระบบรากแข็งแรง
  • มีต้นที่สมบูรณ์
  • มีอายุการปลูกเลี้ยงในขวดพอเหมาะ

สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับกล้วยไม้

ลักษณะต้นที่ดี มีดังนี้

  • ปลูกเลี้ยงง่าย ต้านทานโรค โดยเฉพาะโรคที่ระบาดได้ง่าย
  • ต้นเจริญเติบโตเร็ว ออกดอกเร็ว และดอกดกหรือออกดอกตลอดปี
  • รูปทรงต้นแข็งแรง ไม่ล้มง่าย ลำต้นไม่สูงเกินไป มีปล้องสั้น
  • เป็นพันธุ์ที่แมลงไม่ชอบ ทำให้ต้น ใบ และดอก ปลอดภัยจากแมลง
  • ใบมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปจนเป็นพุ่มทึบทำให้ไม่สะดวกในการพ่นยากำจัดศัตรูพืช


ลักษณะช่อดอกที่ดี มีดังนี้

  • ก้านช่อแข็งแรง ก้านยาว ตรง
  • ถ้าเป็นกล้วยไม้สกุลหวาย ปลายช่อควรอ่อนโค้งลง แต่ถ้าเป็นพันธุ์อื่น เช่น แวนดา แอสโคเซ็นดา อะแรนดา ช่อดอกต้องตั้งตรง ถ้าช่อมีแขนง เช่น ออนซิเดียม ต้องมองแล้วสวยงาม
  • ดอกเรียงบนช่อได้ระเบียบ ดูแล้วสวยงาม ไม่ว่าจะเรียงรอบช่อ เรียงสลับ หรือเรียงเป็นแถว ถ้าดอกเรียงไม่เป็นระเบียบ จะไม่สะดวกในการใช้จัดแจกัน หรือเข้าช่อ
  • ดอกบานทน มีอายุการปักแจกันนาน ไม่ควรต่ำกว่า 7 วัน
  • ใบมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปจนเป็นพุ่มทึบทำให้ไม่สะดวกในการพ่นยากำจัดศัตรูพืช

ลักษณะดอกที่ดี มีดังนี้

  • ดอกมีขนาดใหญ่
  • สีสดใส เป็นที่ต้องการของตลาด อาจจะมีสีอ่อนหรือเข้มก็ได้ ผิวดอกมีประกายความสดใสไม่ต้าน เมื่อดอกบานแล้วสีไม่ควรจางลงกว่าเดิม
  • กลีบหนา ทำให้ได้รูปทรงดี กลีบไม่งุ้มมาด้านหลัง หรือแอ่นไปด้านหลังมากเกินไป
  • กลีบไม่เปราะหักง่าย ถ้าหักง่ายเมื่อบรรจุลงกล่อง จะทำให้เสียหายได้มาก มีผลทำให้เกิดแผล เน่าได้ง่าย
  • รูปทรงของดอกสมดุล ไม่บิดเบี้ยว
  • ดอกไม่ร่วงจากช่อเมื่ออยู่ในระยะดอกตูม
  • ในกรณีที่ส่งไปขายยังประเทศที่บางเดือนมีสภาพอากาศต่างจากประเทศไทย เช่น มีหมอกหนาตลอดวัน ดอกต้องทนสภาพนั้นได้โดยไม่เหี่ยวเฉา

พันธุ์กล้วยไม้ตัดดอก
กล้วยไม้ที่ปลูกตัดดอกอยู่นั้นมีหลายพันธุ์ จำแนกได้ตามลักษณะการเจริญเติบโตและการออกดอกได้ดังนี้

  • พวกที่มีการเจริญเติบโตช้าออกดอกช้าและผสมพันธุ์ใหม่ได้พันธุ์ดียาก มีผู้ผสมพันธุ์ใหม่น้อยรายจึงมีการเปลี่ยนพันธุ์ปลูกช้า ราคาดอกจึงค่อนข้างจะคงที่ ได้แก่ สกุลออนซิเดียม (Oncidium) แคทลียา (Cattleya) และสกุลใกล้เคียงแวนด้า (Vanda) แอสโตเซ็นดา (Ascocenda) อะแรนดา (Aranda) ม๊อคคารา (Mokara)
  • พวกที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ออกดอกเร็ว ผสมพันธุ์ใหม่ได้ง่าย มีผู้นิยมผสมพันธุ์ใหม่ จึงมีพันธุ์ออกมาใหม่เสมอ จึงมีการเปลี่ยนพันธุ์ปลูกเร็ว ทำให้พันธุ์เก่ามีราคาตกเร็ว เช่น สกุลหวายลูกผสม (Dendrobium hybrid)

     พันธุ์กล้วยไม้ที่ปลูกตัดดอกในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมทั้งนี้เพราะปลูกเลี้ยงง่ายออกดอกดก มีความหลากหลาย เรื่องฟอร์มดอกขนาดดอกและสีดอก จึงมีผู้นิยมอยู่มาก

ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ห้องสมุดความรู้การเกษตร
  • กรมส่งเสริมการเกษตร

ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ




Create Date : 03 ธันวาคม 2555
Last Update : 6 ธันวาคม 2555 15:42:59 น.
Counter : 1121 Pageviews.

0 comments
วิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.6) เรื่องคำสุภาพ นายแว่นขยันเที่ยว
(25 มิ.ย. 2568 00:05:44 น.)
ทายอักษร I 猜字谜 I toor36
(18 มิ.ย. 2568 00:11:41 น.)
18 มิย 68 mcayenne94
(18 มิ.ย. 2568 17:08:30 น.)
แผ่นยิปซั่มกั้นห้องสามารถใช้งานกับห้องแบบไหน เลือกอย่างไรดี? gaopannakub
(13 มิ.ย. 2568 17:22:58 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Axiom.BlogGang.com

Mr.Evo_IV
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]

บทความทั้งหมด