
1. ควรเป็นพันธุ์เหมาะสมที่จะปลูกในประเทศไทย คือเป็นพันธุ์ไม้ดอกเมืองร้อน เช่น ดาวเรือง, บานชื่น, สร้อยไก่, ดาวกระจาย และรักแรก เป็นต้น ถ้าต้องการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวต้องคัดเลือกพันธุ์ที่ทนร้อน เช่น ผีเสี้อ สายพันธุ์เทลสตาร์ (Telstar) เป็นต้น
2. ควรเป็นพันธุ์เตี้ย เพื่อให้เหมาะกับการปลูกเป็นไม้กระถาง ความสูงวัดจากผิวหน้าเครื่องปลูก อยู่ระหว่าง 30 ถึง 50 ซม.
3. ควรเป็นพันธุ์ดี คือ ทนทานต่อโรคและแมลง, ขนาดและสีดอกตรงตามพันธุ์, เปอร์เซ็นต์การงอกดี (มากกว่า 80% ขึ้นไป) ราคาพอสมควร และหาซื้อได้ง่าย
ตัวอย่างพันธุ์ไม้ดอกกระถางที่นิยมปลูก เช่น บานชื่น สายพันธุ์ดรีมแลนด์ (Dreamland), ผีเสี้อ สายพันธุ์เทลสตาร์ (Telstar), พังพวย สายพันธุ์คูเลอร์ (Cooler) และดาวกระจาย สายพันธุ์ซันนี่ (Lady bird) เป็นต้น ในแต่ละสายพันธุ์ยังมีสีต่าง ๆ ให้เลือก เช่น สีเหลือง, สีทอง, สีแดง, สีส้ม, สีม่วง, สีชมพู และแบบ Mixed คือแบบคละสีในซองเดียวกันก็มี แต่บางสายพันธุ์มีสีให้เลือกเฉพาะบางสีเท่านั้น
1.กระถางดินเผา
มีข้อดีคือดูเป็นธรรมชาติ, แข็งแรง, มีน้ำหนักทำให้ไม่ล้มง่าย และทำให้รากได้รับอากาศและเย็นกว่ากระถางพลาสติกเพราะกระถางดินเผามีรูพรุนขนาดเล็กมากมาย เมื่อน้ำระเหยออกจากรูเหล่านี้จะทำให้กระถางเย็นลง ข้อเสียคือแตกง่าย, มักมีตะใคร่น้ำขึ้นที่ผิวกระถางทำให้ดูไม่สวยและเสียแรงงานขนย้ายมากเนื่องจากความหนักของกระถาง
2.กระถางเคลือบ
คุณสมบัติคล้ายกับกระถางดินเผา แต่จะมีสีและลวดลายให้เลือกมาก และไม่มีตะไคร่น้ำขึ้นที่ผิวกระถาง แต่การระบายความร้อนและอากาศจะน้อยลง เพราะที่ผิวกระถางถูกเคลือบไว้
3.กระถางพลาสติก
มีน้ำหนักเบา ราคาพอสมควรมีให้เลือกหลายสี เก็บรักษาน้ำได้ดีกว่ากระถางดินเผา ทำให้ลดระยะเวลาการให้น้ำลง ในปัจจุบันยังไม่มีการทำลายที่กระถาง
การเพาะเมล็ดพันธุ์
เมล็ดไม้ดอกส่วนมากมีขนาดเล็ก (เล็กกว่า 1 ซม.) พวกที่เมล็ดมีขนาดพอจับต้องได้ไม่เล็กมาก ได้แก่ เมล็ดดาวเรือง, ดาวกระจาย, บานชื่น ฯ ส่วนพวกที่มีขนาดเล็ก เช่น เมล็ดหงอนไก่, แอสเตอร์, เวอร์บีน่า ฯ ส่วนเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก เช่น เมล็ดพิทูเนีย, โลบีเลีย, ฤาษีผสม, กล็อกซิเนีย ฯ
หลักการเพาะเมล็ด
ให้กลบเมล็ดหนา 2 เท่าของความหนาของเมล็ด และหว่านหรือโรยเมล็ดโดยไม่ให้เมล็ดทับกัน โดยให้เมล็ดนอนตามธรรมชาติ
วัสดุเพาะ
ควรมีคุณสมบัติ เบา, โปร่ง, สะอาด, อุ้มน้ำได้ดีพอสมควร เช่น ทรายหยาบ (เลือกทรายก่อสร้าง ไม่ควรใช้ทรายขี้เป็ด) ร่อน 1 ส่วน, ขุยมะพร้าวร่อน 1 ส่วน โดยปริมาตร ผสมคลุกให้เข้ากันในขณะที่แห้ง เมื่อเข้าเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงพรมน้ำเล็กน้อย คลุกใหม่อีกครั้งให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้มือสัมผัสวัสดุเพาะ ถ้ารู้สึกเย็นมือหรือเมื่อกำแล้วจับเป็นก้อนได้แต่จะแตกออกได้ง่ายเมื่อสัมผัส แสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้ายังไม่เย็นมือให้พรมน้ำและคลุกใหม่อีก ทำเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ความรู้สึกเย็นมือเมื่อสัมผัส ถ้าไม่มีวัสดุเพาะดังกล่าวให้เลือกใช้วัสดุอื่นได้ เช่น ทราย + ถ่านแกลบ หรือ ขุยมะพร้าว + ถ่านแกลบ เป็นต้น ในต่างประเทศนิยมใช้ พีชมอส, เวอร์มิคูไลท์ หรือทั้ง 2 อย่างผสมกัน
ภาชนะเพาะเมล็ด
อาจใช้ตระกร้าพลาสติกสี่เหลี่ยมแบบที่ขอบตระกร้าทั้งสี่ด้านและที่พื้นเป็นตระแกรง มีขนาดของช่องประมาณ 3 ถึง 5 มิลลิเมตร ส่วนขนาดตระกร้าไม่จำกัด แล้วแต่จำนวนเมล็ดและความสะดวก หรืออาจใช้กระถางปากกว้างทรงเตี้ยหรือภาชนะอื่นๆ แทน
ถ้าใช้ตระกร้าพลาสติกสี่เหลี่ยม ให้ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ (เลือกใช้เฉพาะที่ซึมน้ำได้ง่าย) 5 ชิ้น โดย 4 ชิ้น จะตัดให้มีขนาดเท่ากับภายในด้านข้างทั้งสี่ของตระกร้า ส่วนอีก 1 ชิ้น ตัดให้พอดีกับก้นตระกร้าด้านใน กระดาษแต่ละชิ้นต้องไม่เลื่อมกันหรือเป็นผืนเดียวกัน นำวัสดุเพาะที่ทำให้ชื้นแล้วใส่ลงในตระกร้า โดยใส่ที่มุมทั้งสี่ก่อน ใส่วัสดุเพาะให้สูงประมาณ 3 ส่วน 4 ของความสูงสองตระกร้า แล้วเกลี่ยผิวหน้าวัสดุเพาะในตระกร้าให้เรียบ ได้ระดับขนาดกับขอบตระกร้า เพื่อให้ผิวหน้าวัสดุปลูกเก็บความชื้นได้สม่ำเสมอ
ทำร่องที่วัสดุเพาะ แต่ละร่องห่างกันประมาณ 1.5 นิ้ว ทำร่องเป็นลักษณะตัววี ปากกว้าง ความลึกแล้วแต่ขนาดเมล็ด คือร่องต้องลึกประมาณ 2 เท่าของความหนาของเมล็ดที่จะเพาะ โรยเมล็ดลงในร่อง ๆ ละ 1 ชนิด ถ้าเมล็ดมีความงอกดีให้โรยเมล็ดห่างกว่าเมล็ดที่มีความงอกไม่ดี เพราะถ้าโรยเมล็ดมากเกินไป ต้นกล้าจะงอกขึ้นมาเบียดเสียดกัน จะทำให้การระบายอากาศไม่ดี เกิดโรคโคนเน่าได้ง่าย และต้นกล้าจะผอมและยืด ซึ่งเป็นลักษณะต้นกล้าที่ไม่ดี เขียนชื่อพันธุ์และวันที่ที่เพาะลงที่ป้ายชื่อและปักไว้ที่หัวร่องทุกร่องเพื่อกันลืม ต่อไปให้กลบเมล็ด โดยปาดดินจากขอบร่องทั้งสองข้างกลบร่อง และเกลี่ยผิวหน้าวัสดุเพาะให้เรียบและได้ระดับเช่นเดิม แต่ระวังไม่ให้เมล็ดโผล่ขึ้นมา จากนั้น ตัดกระดาษให้มีขนาดเท่ากับผิวด้านบนวัสดุเพาะแล้วปิดทับด้านบน
การรดน้ำตระกร้าเพาะเมล็ด
ทำได้ 2 วิธี จะใช้วิธีใดก็ได้ คือ
1) ใช้บัวฝอยละเอียดรดไปมา พอน้ำเริ่มท่วมผิวหน้าวัสดุเพาะให้หยุด รอจนน้ำซึมลงไปแล้วจึงรดอีก ทำเช่นนี้สัก 2 ถึง 3 ครั้ง แล้วยกตระกร้า ถ้าตระกร้ายังเบาให้รดน้ำอีกแล้วยกใหม่ ทำเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกว่ารู้สึกว่าตระกร้าหนักพอเหมาะจึงหยุดรดน้ำ ปิดผิวหน้าด้วยกระดาษที่เตรียมไว้แล้วโปรยน้ำพอกระดาษเปียก
2) ปิดผิวหน้าด้วยกระดาษที่เตรียมไว้ แล้วใช้บัวฝอยละเอียดรดไปมา เมื่อน้ำเริ่มท่วมกระดาษให้หยุดรด รอจนน้ำซึมลงไปก่อนจึงรดต่อ ทำเช่นนี้ 2 ถึง 3 ครั้ง แล้วแยกตระกร้าเช่นเดียวกับข้อ 1.) ถ้ายังเบาให้รดอีก ถ้าหนักแล้วจึงหยุด
วางตระกร้าบนที่ราบเรียบและได้ระดับน้ำ และควรวางบนโต๊ะ สูงจากพื้นดินอย่างน้อย 50 ซม. ไม่ควรวางที่พื้นโดยตรง เมื่อกระดาษที่ปิดอยู่ด้านบนเริ่มแห้งให้เปิดกระดาษเพื่อดูว่าผิวหน้าวัสดุปลูกยังเปียกหรือชื้นอยู่ให้โปรยน้ำที่กระดาษพอให้เปียก แต่ถ้าผิวหน้าวัสดุปลูกแห้ง ต้องรดน้ำที่วัสดุปลูกให้เปียกดีก่อนปิดด้วยกระดาษแล้วจึงรดให้กระดาษเปียก
ถ้าเพาะโดยใช้กระถางปากกว้างทรงเตี้ย วิธีเพาะคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ไม่ต้องตัดกระดาษ 5 ชิ้น เพียงตัดแค่ชิ้นเดียวเพื่อปิดด้านบนเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือต้องเอาเศษกระถางแตกวางคว่ำปิดรูระบายน้ำที่ก้นกระถาง แล้วปิดทับด้วยใยมะพร้าวหนาประมาณ 1 ซม. เพื่อกันวัสดุเพาะไหลออกทางรูก้นกระถาง
ในกรณีที่เมล็ดมีขนาดเล็กมาก เช่น เมล็ดพิทูเนีย จะนำเมล็ดมาคลุกกับทรายละเอียด ประมาณ 1 ช้อนชาก่อน แล้วหว่านทั่วผิวหน้าวัสดุเพาะที่ชื้น แล้วจึงนำตระกร้าหรือกระถางวางบนจานรองที่มีน้ำอยู่พอสมควร ปล่อยให้น้ำซึมขึ้นจนผิวหน้าวัสดุเพาะเปียกจึงยกกระถางออกจากจานรอง แล้วปิดปากกระบะหรือกระถางด้วยแผ่นกระจกใสหรือพลาสติกใส เพื่อรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ แต่ต้องเผยอกระจกขึ้นบ้างเพื่อไม่ให้อากาศภายในร้อนและอบจนเกินไป นำกระบะหรือกระถางไปวางในที่แสงรำไร เมื่อเมล็ดนั้นต้องการแสงในการงอก เช่น เมล็ดพิทูเนีย แต่ถ้าเมล็ดบางชนิดงอกดีในที่มืด เช่น เมล็ดพังพวย ให้นำกระบะหรือกระถางไปไว้ในที่มืด หรือใช้ผ้าหรือพลาสติกสีดำคลุมกันแสง เมื่อกล้าเริ่มงอกแล้วต้องรีบนำกระบะเพาะหรือกระถางไปไว้ในที่ได้แสงมากขึ้น มิฉะนั้นกล้าจะยืด เมื่อด้านบนของวัสดุเพาะเริ่มแห้งให้นำไปวางบนจานรองที่มีน้ำอยู่เหมือนครั้งแรกตอนเพาะเมล็ด เมื่อกล้ามีใบจริง 2 ถึง 4 ใบ สามารถย้ายปลูกได้
การย้ายกล้า
ก่อนย้ายกล้า ควรงดน้ำกล้าก่อน 1 วัน หรือให้วัสดุเพาะแห้งหมาด ๆ เพื่อให้กล้าแกร่งทนต่อการบอบช้ำระหว่างการย้ายกล้า และต้นกล้าทั่วไปควรมีใบเลี้ยงกางเต็มที่ หรือใบจริงคู่แรกเริ่มโผ่ลให้เห็น ซึ่งกล้าจะมีอายุประมาณ 7 ถึง 10 วัน แต่ยกเว้นไม้ดอกบางชนิดควรรอให้มีใบจริงคู่แรกก่อน เช่น เยอร์บีร่า, ผีเสื้อ และพิทูเนีย
วัสดุที่ใช้ย้ายกล้า อาจใช้วัสดุเพาะกล้าก็ได้ หรืออาจผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า (ซึ่งปุ๋ยทั้งสองต้องแห้ง และร่อนให้มีขนาดเดียวกับวัสดุเพาะ) ลงไปประมาณ 1 ใน 10 ส่วนของวัสดุเพาะ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับวัสดุย้ายกล้า หรืออาจใช้ปุ๋ยละลายช้าใส่ลงในวัสดุย้ายกล้า ประมาณ 2 ถึง 4 เมล็ดต่อต้นกล้า 1 ต้น แทนการใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า
กระถางหรือถุงที่ใช้ย้ายกล้า ไม่ควรใหญ่เกินไป โดยทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ควรเกิน 3 นิ้ว นำวัสดุย้ายกล้าใส่กระถางหรือถุง โดยใส่แค่ถึงปากถุงหรือกระถาง แล้วตบกระถางหรือถุงเบา ๆ วัสดุปลูกจะยุบตัวลงเล็กน้อย
มือซ้ายใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้จับใบเลี้ยงใบหนึ่ง ขณะที่มือขวาจับเศษไม้หรือดินสอซึ่งปลายได้เหลาไว้แล้วแต่ไม่แหลมมาก มือขวาจับดินสอแทงลงในวัสดุเพาะข้าง ๆ ต้นกล้าเพื่อทำให้วัสดุเพาะหลวม ในขณะที่มือซ้ายค่อย ๆ ดึงต้นกล้าขึ้นมา เมื่อได้ต้นกล้าแล้วใช้มือขวาจัดดินสอแทงลงกึ่งกลางถุงเพาะซึ่งใส่วัสดุย้ายกล้าไว้แล้ว โดยแทงให้ถึงก้นถุง แล้วยกดินสอขึ้น มือซ้ายนำต้นกล้าวางบนหลุมให้ส่วนต่อระหว่างต้นกับรากอยู่บนปากหลุม มือขวาจับดินสอโดยให้ปลายดินสอกดดันต้นกล้าลงในหลุม ส่วนของรากและลำต้นจะลงไปพร้อม ๆ กัน
เมื่อใบเลี้ยงอยู่ระดับผิววัสดุย้ายกล้า ถ้ามีรากบางส่วนที่ยังไม่ลงในหลุมให้ใช้ดินสอดันรากเหล่านั้นลงไป และดันวัสดุย้ายกล้าลงกลบหลุม รดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียดไปมาจนน้ำไหลออกก้นถุงหรือก้นกระถาง นำถุงกล้าไปไว้ในที่รำไร 1 วัน เมื่อกล้าตั้งตัวได้ให้รีบนำออกแดดมิฉะนั้นกล้าจะยืด โดยทั่วไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์กล้าจะมีใบจริงประมาณ 4 ถึง 6 ใบ ซึ่งพร้อมสำหรับการย้ายลงปลูกลงกระถางที่ใหญ่ขึ้น
การย้ายปลูกลงกระถาง
กระถาง
มีขนาดตั้งแต่ 6 ถึง 12 นิ้ว แล้วแต่ชนิดและจำนวนกล้าที่จะปลูก โดยทั่วไปถ้าปลูกต้นเดียวมักใช้กระถางขนาด 6 ถึง 9 นิ้ว
ดินผสม
ดินผสมที่ใช้ย้ายปลูกลงกระถางควรเป็นดินผสมที่มีเนื้อดินจริง ๆ น้อยซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสูตร ซึ่งแต่ละสูตรพอที่จะใช้แทนกันได้ เพียงขอให้เป็นสูตรที่มีดินจริง ๆ อยู่น้อย ถ้าใช้ไม่มากแนะนำให้ซื้อดินผสมสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไป แต่ถ้าจะผสมใช้เองควรเลือกสูตรที่หาวัสดุได้ง่าย หรือดัดแปลงสูตรให้ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายแทน
ตัวอย่างสูตรดินผสมสำหรับปลูกไม้ดอกทั่วไป
(1) ทรายหยาบ 1 ส่วน (4) ดิน 1/2 ส่วน
(2) ขุยมะพร้าว 1 ส่วน (5) ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 1/2 ส่วน
(3) ถ่านแกลบ 1 ส่วน (6) แกลบดิบ 1/2 ส่วน
การย้ายปลูก
การย้ายปลูกเริ่มด้วยการนำเศษกระถางแตกวางคว่ำ ปิดรูก้นกระถางเพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุปลูกไหลออกทางรูก้นกระถาง ถ้าเป็นกระถางพลาสติกซึ่งมีรูที่ก้นกระถางมากอาจใส่วัสดุปลูกได้เลย ถ้าเป็นรูขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นรูขนาดใหญ่ให้ใช้ใยมะพร้าวที่เหลือจากการร่อนขุยมะพร้าว, มะพร้าวสับ, เปลือกถั่วลิสงหรือแกลบดิบรองก้นกระถางให้หนาประมาณ 1 นิ้วก่อน จากนั้นใส่วัสดุปลูกลงไปให้หนาประมาณ 1 นิ้ว ใส่ปุ๋ยเม็ดสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 ลงบนวัสดุปลูก ประมาณกระถางละ 10 ถึง 15 เม็ด แล้วเอาวัสดุปลูกกลบปุ๋ยเม็ดให้สูงอย่างน้อย 1 นิ้ว
ไม้ดอกกระถางนำกล้าออกจากถุงหรือกระถาง โดยพยายามให้รากขาดน้อยที่สุด นำกล้าวางบนวัสดุปลูกในกระถาง ให้ต้นตั้งตรงอยู่กลางกระถาง แล้วใส่วัสดุปลูกให้ถึงประมาณ 1 นิ้วจากปากกระถาง ถ้ากล้าต้นเตี้ย เมื่อกลบวัสดุปลูกอาจทับยอด ให้ขยับต้นกล้าขึ้นกะให้วัสดุปลูกอยู่ระดับเดียวกับใบเลี้ยง แต่ถ้ากล้าต้นสูงมาก ให้นำดินบริเวณรากของต้นกล้าออกบ้างเพื่อทำให้ต้นกล้าอยู่ต่ำลง ใช้นิ้วมือกดผิวด้านบนวัสดุปลูกเบา ๆ เพื่อให้วัสดุปลูกกระชับกับรากมากขึ้น
รดน้ำด้วยบัวฝอย ให้น้ำท่วมผิวหน้าวัสดุปลูกประมาณ 1/2 นิ้วจึงหยุดรด รอให้น้ำซึมลงไปก่อนค่อยรดต่อ รดเช่นนี้จนกว่าน้ำไหลออกก้นกระถางจึงหยุดรด นำกระถางไปไว้ในที่รำไรประมาณ 1 ถึง 2 วัน จึงค่อยนำออกแดดเต็มที่ การรดน้ำครั้งต่อไปจะรดเมื่อผิวหน้าวัสดุปลูกเริ่มแห้ง ถ้ารดด้วยสายยางให้เปิดน้ำเบา ๆ ให้ปลายสายยางอยู่ใกล้ปากกระถาง แล้วรดแบบวนไปมารอบต้นกล้าเพื่อให้น้ำขังเหมือนการรดด้วยบัวรดน้ำ รอให้น้ำซึมลงไปก่อนค่อยรดอีก แต่ถ้าเริ่มเห็นน้ำไหลออกก้นกระถางให้หยุดรดได้ ไม่รดน้ำถูกดอกเพาะอาจทำให้ดอกช้ำหรือเน่าได้
หมายเหตุ
1. กองวัสดุที่เบาที่สุดไว้ชั้นล่างสุด และวัสดุที่หนักกว่าวางไว้ชั้นต่อไป
2. ต้องย่อยวัสดุทั้งหมดให้มีขนาดไล่เลี่ยกัน ใหญ่สุดไม่เกิน 3/4 นิ้ว
3. วัสดุทั้งหมดไม่ต้องร่อน
4. วัสดุทั้งหมดต้องแห้งหรือชื้นไม่เปียก
5. ต้องผสมแบบย้ายกอง ประมาณ 3 ถึง 4 ครั้ง
6. ควรผสมปูนมาร์ล, ปูนดิบ หรือปูนขาว ประมาณ 1/2 กก. และปุ๋ยเม็ดสูตรเสมอ เช่น สูตร16-16-16 ประมาณ 1/2 กก. ต่อดินผสมที่ผสมเสร็จแล้วในสภาพแห้ง 1 ลบม.
7. เมื่อผสมเสร็จในสภาพแห้งแล้ว ให้พรมน้ำและคลุกให้ชื้นหรือเย็นมือเหมือนผสมวัสดุเพาะ
8. ส่วนผสมข้างต้นไม่ตายตัว สามารถปรับเพิ่มหรือลดอัตราส่วนต่าง ๆ ได้ โดยมีหลักดังนี้ คือ ถ้าเป็นดินไม่ดี เช่น ดินเค็ม, ดินเปรี้ยว, ดินด่าง ไม่ควรใส่มาก ปุ๋ยหมักจะมีความเป็นด่าง ไม่ควรใส่มาก ปุ๋ยคอกสดไม่ควรใช้ถึงแม้จะตากแห้งแล้วก็ตาม เพราะมียูเรียและจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุโรคพืชอยู่มาก แกลบดิบถ้าเป็นแกลบใหม่ห้ามใส่มากเพราะเวลาสลายตัวจะใช้ธาตุไนโตรเจนมากทำให้พืชขาดธาตุไนโตรเจน
การให้น้ำ
การให้น้ำมีหลักคือ หลังจากย้ายกล้าหรือย้ายปลูกต้องรดน้ำให้มาก จนน้ำไหลออกก้นกระถาง จากนั้นจะไม่รดจนกว่าผิวหน้าวัสดุปลูกเริ่มแห้งหมาด ๆ จึงจะเริ่มรดน้ำอีก จนน้ำไหลออกก้นกระถาง การที่เหลือที่ว่างระหว่างปากกระถางถึงผิวเครื่องปลูกประมาณ 1 นิ้วเพราะต้องการให้เป็นที่เก็บน้ำตอนรดน้ำ น้ำจะค่อย ๆ ซึมลงยังก้นกระถางทำให้ ประหยัดเวลาในการรดน้ำ
การเด็ดยอด
ไม้ดอกส่วนมากควรจะเด็ดยอด เพื่อทำให้ต้นแตกพุ่มมากขึ้น, ออกดอกมากขึ้น, ดอกบานพร้อมกันทีละหลายดอก และความสูงของต้นลดลง จะเด็ดยอดเมื่อใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูก เช่นเมื่อต้องการให้แตกกิ่งข้าง 4 กิ่ง ต้องเด็ดยอดให้เหลือใบจริง 4 ใบ หรือถ้าต้องการ 6 กิ่ง ต้องเด็ดให้เหลือใบจริง 6 ใบ การเด็ดยอดจะเด็ดขณะที่ต้นกล้ายังมีอายุน้อย คือ เริ่มมีใบจริงตามจำนวนที่ต้องการ
วิธีเด็ด ให้ใช้นิ้วทั้ง 4 ยกเว้นนิ้วก้อยของมือซ้ายหนีบใบคู่บนสุดที่จะเหลือไว้ ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือขวาจับที่โคนยอดของส่วนที่จะเด็ดออก แล้วค่อย ๆ ใช้มือขวาโน้มยอดลงจนยอดหักที่บริเวณข้อพอดี ควรเด็ดยอดในตอนเช้า เพราะเนื้อเยื่อพืชจะอวบน้ำเวลาเด็ดจะหักง่ายกว่าตอนสายหรือตอนบ่าย
พืชทั้งหลายดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมบูรณ์เมื่อได้รับปัจจัยการเจริญเติบโตที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นแสง อุณหภูมิ น้ำ อากาศ และอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ดุลยภาพของกลไกการเจริญเติบโตเกิดขึ้นได้ เช่น พืชซึ่งขึ้นในที่ร่มของเขตอากาศร้อนจะไม่อาจเจริญเติบโตในที่ซึ่งมีแสงแดดจัดหรือมีอุณหภูมิต่ำ การผลิตพืชให้ได้ผลดีจึงต้องมีการควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตเหล่านี้ ซึ่งในเรื่องของแสงและอุณหภูมินั้นอาจใช้โรงเรือนช่วยปรับสภาพได้ ขณะที่เรื่องอากาศนั้นจะมีปัญหาเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมหรือมีการจราจรคับคั่ง การเลือกพื้นที่ซึ่งปราศจากมลพิษทางอากาศจึงไม่ยากนัก
การให้น้ำ
น้ำเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทำให้เซลล์พืชแตกละลายเกลือแร่และสารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต นอกจากนี้น้ำยังถูกนำไปใช้ในขบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์ต่าง ๆ อีกมาก ปกติพืชจะหาน้ำจากดินหรือวัสดุปลูก แต่ในบางกรณีพืชอาจนำน้ำซึ่งอยู่ในสภาพเป็นไอในอากาศมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย ความชื้นในอากาศนี้ยังมีผลต่ออุณหภูมิภายในต้นพืชอีกด้วย เนื่องจากสภาพที่อากาศมีความชื้นสูง ปากใบของพืชจะปิด ไม่มีการแลกเปลี่ยนแก๊สและคายน้ำ อาจทำให้อุณหภูมิภายในต้นและใบพืชสูงกว่าอุณหภูมิภายนอกได้
คุณภาพของน้ำเป็นสิ่งที่เกษตรกรหรือผู้ปลูกเลี้ยงต้นไม้ต้องให้ความสนใจ อุณหภูมิของน้ำที่ใช้รดต้นไม้จะต้องไม่ต่ำหรือสูงเกินไป เนื่องจากใบและรากต้นไม้อาจได้รับอันตรายจากการที่น้ำมีอุณหภูมิต่ำหรือสูงเกินไป เช่น ใบของต้นแอฟริกันไวโลเล็ตจะเกิดรอยแผลเมื่อรดด้วยน้ำที่เย็นเกินไป ซึ่งมักจะพบในกรณีที่ปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางประดับโต๊ะในห้องปรับอากาศ แล้วรองน้ำสำหรับรดต้นไม้เก็บไว้ในห้องนั้นเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น ซึ่งเรื่องอุณหภูมิของน้ำนี้เป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามความสำคัญไปอยู่เสมอ
ความเป็นกรด-เบสของน้ำ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดคุณภาพของน้ำ เนื่องจากเกลือแร่แต่ละชนิดจะมีความเป็นประโยชน์ต่อพืชแตกต่างกันเมื่อละลายในน้ำที่มีความเป็นกรด-เบสต่างกัน โดยทั่วไปแล้วค่าความเป็นกรด-เบสของน้ำจะมีหน่วยจัดเป็น pH ซึ่งน้ำที่เป็นกรดจะมี pH ต่ำกว่า 7 ขณะที่น้ำที่เป็นเบสมีค่า pH มากกว่า 7 น้ำที่มีความเป็นกรด-เบสเหมาะสมสำหรับการรดน้ำพืชควรมีค่า pH ราว 5-7 ซึ่งเป็นระดับที่เกลือแร่และยากำจัดศัตรูพืชถูกทำลายได้ดี สำหรับค่า pH ซึ่งสูงเกินไปเราอาจใช้กรด เช่น กรดไนตริก กรดเกลือ หรือแม้กระทั่งน้ำส้มสายชู ปรับลดลงมาได้ ส่วนกรณีที่น้ำมีค่า pH ที่ต่ำเกินไปเราอาจใช้โซดาไฟ ด่างคลี หรือสบู่ ปรับให้ค่า pH สูงขึ้นได้
ปริมาณและชนิดของเกลือแร่ในน้ำ เป็นปัจจัยด้านคุณภาพของน้ำที่สำคัญที่สุด น้ำที่มีเกลือแร่ละลายเจือปนอยู่มากอาจเป็นพิษหรือเกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากระบบรากที่สัมผัสกับน้ำที่มีเกลือแร่เจือปนอยู่มากนั้นจะปลดปล่อยน้ำออกจากราก ทำให้รากเหี่ยวเสียหายได้ เกลือแร่บางชนิด เช่น โลหะหนักจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น จะมีพิษโดยตรงกับพืช น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ในแหล่งชุมชนอาจมีปัญหาคุณภาพน้ำได้เช่นกัน เนื่องจากน้ำเสียจากบ้านเรือนนั้นมักมีไขมันและเกลือฟอสเฟตปะปนมากับสารอินทรีย์อื่น ๆ ทำให้น้ำมีปริมาณออกซิเจนต่ำและมีสิ่งเจือปนมาก จนไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช การเลือกหาแหล่งน้ำคุณภาพดีจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูกต้นไม้
การให้น้ำต้นไม้นั้น อาจกระทำได้หลายวิธี เช่น
1. การใช้สายยางฉีด วิธีนี้เป็นวิธีที่กระทำกันมานานอย่างค่อนข้างจะได้ผลดี เนื่องจาก คนรดน้ำที่มีประสิทธิภาพจะรดน้ำให้ต้นไม้ได้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามชนิดของพืชและวัสดุปลูก แต่วิธีนี้ต้องใช้แรงงานมากและขยันขันแข็ง ปกติการใช้สายยางฉีดนี้มักนิยมให้หัวบัวหรือหัวฉีดพ่นฝอยแทนการบีบปลายสายยาง เพื่อให้แรงดันน้ำสม่ำเสมอ ไม่เป็นอัตรายต่อต้นไม้
2. การใช้ปริงเกอร์ วิธีนี้เป็นวิธีที่กระทำกันในระยะหลังเมื่อมีภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีประสิทธิภาพ โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ระบบอัตโนมัติหรืออาจใช้คนควบคุมการทำงานก็ได้ การให้น้ำระบบนี้จะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศบริเวณที่ปลูกพืชได้ และสามารถช่วยลดอุณหภูมิในบริเวณดังกล่าวได้หากมีการไหลเวียนของกระแสลมที่ดี อย่างไรก็ตาม การใช้สปริงเกอร์มีข้อจำกัดอยู่บ้างคือ หัวสปริงเกอร์อาจติดขัด ทำให้พื้นที่บางจุดอาจไม่ได้รับน้ำตามปกติ และเนื่องจากการให้น้ำระบบนี้จะค่อนข้างสม่ำเสมอกันทั้งพื้นที่ จึงไม่เหมาะสมสำหรับกรณีปลูกต้นไม้ที่มีความต้องการน้ำแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้นไม้มีความหนาแน่นของทรงพุ่มต่างกัน เพราะความหนาแน่นของทรงพุ่มจะมีผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำที่ระบบรากจะได้รับ
3. การใช้น้ำหยด วิธีนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กระทำกันในระยะหลังเมื่อปลูกพืชในโรงเรือนกันฝน แต่การใช้มีจำกัดมาก โดยใช้เฉพาะพืชที่ดอกและใบบอบบาง ชอกช้ำจากแรงกระแทกของน้ำได้ง่าย การให้น้ำวิธีนี้อาจใช้ระบบอัตโนมัติหรือใช้คนควบคุมการทำงานก็ได้ ข้อจำกัดของระบบนี้คือ ต้นทุนการติดตั้ง ซึ่งต้องรวมระบบกรองน้ำด้วย นอกจากนี้ การใช้น้ำหยดจะทำให้ฝุ่นละอองที่ติดค้างบนผิวใบไม่ถูกชะล้าง จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งกับพืชที่ปลูกในบริเวณที่มีฝุ่นละอองในอากาศมาก อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดน้ำมากที่สุด
จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่า การเลือกวิธีการให้น้ำแก่ต้นไม้นั้นขึ้นกับปริมาณน้ำ สภาพแวดล้อม และรูปแบบการปลูกพืช ชาวสวนไม้ดอกไม้ประดับของไทยส่วนใหญ่มักปลูกพืชหลาย ๆ ชนิด หลาย ๆ ขนาดในบริเวณเดียวกัน จึงนิยมใช้การให้น้ำด้วยสายยาง แต่การที่ขาดแคลนแรงงานจึงทำให้ระบบสปริงเกอร์ถูกนำมาใช้ทั้งที่ไม่เหมาะสมนัก ซึ่งเกษตรกรต้องยอมรับการลดลงของคุณภาพต้นไม้ที่ใช้ระบบสปริงเกอร์ด้วย
ปริมาณและความถี่ในการให้น้ำนั้นขึ้นกับความสามารถในการอุ้มน้ำของวัสดุปลูกและอัตราการระเหยน้ำ โดยปกติเรานิยมให้น้ำตอนเช้าวันละครั้ง ในปริมาณที่มากพอที่จะไม่ทำให้พืชเหี่ยวในตอนบ่าย และไม่มากจนวัสดุเปียกชื้นถึงการรดน้ำครั้งต่อไป เนื่องจากสภาพที่เปียกชื้นตลอดเวลาอาจทำให้ระบบรากขาดอากาศหายใจ และพืชอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโลก
การให้ปุ๋ย
ประโยชน์ของปุ๋ย
พืชอาจสร้างอาหารส่วนใหญ่ได้จากแสงและอากาศผ่านขบวนการสังเคราะห์แสง อย่างไรก็ตาม พืชยังต้องการธาตุอาหารอีกกว่า 10 ชนิดจากภายนอกเพื่อให้ขบวนการเจริญเติบโตสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ และหากต้องการให้พืชมีการเจริญเติบโตผิดไปจากธรรมชาติ เราก็อาจใช้ปุ๋ยและ/หรืออาหารเสริมควบคุมได้ ดังที่ผู้ผลิตโป๊ยเซียนได้กระทำกัน
ปกติแล้วพืชต้องการธาตุอาหาร 16 ชนิดเพื่อการเจริญเติบโต แต่ได้ คาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน จากน้ำและอากาศ ธาตุอีก 6 ธาตุเป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมาก คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแทสเซี่ยม แคลเซี่ยม แมกนีเซี่ยม และกำมะถัน โดย 3 ธาตุแรกนั้นพืชต้องการมาก ดังนั้น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแทสเซี่ยม จึงถูกเรียกว่าธาตุปุ๋ย ซึ่งต้องถูกระบุและรับรองอัตราส่วนไว้ที่ฉลาดปุ๋ยเสมอ ส่วนธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอีก 10 ชนิดนั้น อาจถูกผสมไว้ในปุ๋ยโดยไม่ได้ระบุรับรองไว้ในฉลากปุ๋ยด้วย
สำหรับธาตุปุ๋ย 3 ชนิดซึ่งมักถูกเรียกย่อ ๆ ว่า N-P-K (เอ็ม-พี-เค) นั้นมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของพืชต่างกันคือ ไนโตรเจนหรือเอ็นนั้นช่วยให้ต้นและใบของพืชมีการเจริญเติบโตดี ถ้าได้รับน้อยเกินไปจะทำให้ใบมีสีซีดเหลือง ไม่ค่อยเติบโต ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้ใบมีสีเขียว อวบ เปราะ ขาดความแข็งแรง ไม่ค่อยออกดอก ส่วนฟอสฟอรัสหรือพีนั้นช่วยให้ระบบรากเติบโตได้ดี พืชมีดอกได้ง่ายขึ้น ถ้าพืชได้รับน้อยเกินไปจะทำให้มีการสร้างสารสีม่วงแดงขึ้นบริเวณต้นและใบ และไม่ออกดอก แต่ถ้าได้รับมากเกินไป จะทำให้ต้นแคระเกร็น พืชออกดอกเร็วผิดปกติ ขณะที่โปแทสเซี่ยมหรือเคนั้น เป็นธาตุที่ทำให้กลไกทางเคมีภายในพืชดำเนินไปได้ตามปกติ ถ้าพืชได้รับน้อยเกินไป จะอ่อนแอต่อโรค ต้นเปราะ หักง่าย แต่ถ้าพืชได้รับมากเกินไป จะแคระเกร็น
ประเภทของปุ๋ย
ปุ๋ยโดยทั่วไป แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากซากหรือมูลสิ่งมีชีวิต เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ย กทม. ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยมูลไก่ ปุ๋ยมูลวัว และปุ๋ยปลา เป็นต้น ปุ๋ยพวกนี้มีธาตุปุ๋ยอยู่มากน้อยแตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยคอกซึ่งมีความเข้มข้นของธาตุปุ๋ยต่างกันตามชนิดของอาหารและปริมาณน้ำที่สัตว์ดื่ม เช่น ปุ๋ยมูลไก่ จะมีธาตุปุ๋ยมากกว่าปุ๋ยมูลวัว ปุ๋ยอินทรีย์มักถูกใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูก เนื่องจากจะช่วยปรับสภาพวัสดุปลูกและค่อย ๆ สลายตัวปลดปล่อยธาตุอาหารแก่พืช ปุ๋ยปลาเป็นปุ๋ยที่มีธาตุปุ๋ยน้อย แต่มีผลกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ดี สันนิษฐานว่าอาจมีสารควบคุมการเจริญเติบโต หรือ กรดอมิโนบางชนิดอยู่ อย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ยปลากับพืชในช่วงฤดูฝน อาจทำให้พืชอ่อนแอเป็นโรคง่าย จึงต้องระมัดระวังในการใช้
2. ปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี เป็นปุ๋ยที่ได้จากเกลือแร่ต่าง ๆ มักมีธาตุปุ๋ยในปริมาณมากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยประเภทนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ คือ
2.1 ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย เป็นปุ๋ยที่มีธาตุปุ๋ยไม่ครบ 3 ธาตุ เช่น ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งมีไนโตรเจนเพียงธาตุเดียว ปุ๋ยดินประสิว ซึ่งมีไนโตรเจนและโปแทสเซี่ยม ปุ๋ยกลุ่มนี้มักจะถูกนำมาผสมกันเป็นปุ๋ยผสม แต่บางครั้งอาจถูกนำมาใช้โดยตรงเพื่อปรับการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งการใช้จะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง
2.2 ปุ๋ยผสม เป็นปุ๋ยที่มีธาตุปุ๋ยครบ 3 ธาตุ โดยเป็นผลจากการผสมปุ๋ยเดี่ยวหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยแบ่งตามสูตรปุ๋ยได้ เป็น 4 ประเภทคือ
(ก). ปุ๋ยสูตรเสมอ คือ ปุ๋ยที่มีธาตุทั้ง 3 ในปริมาณที่เท่ากัน ใช้เมื่อไม่ต้องการเร่งส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ คือให้พืชเจริญเติบโตตามปกติ เช่นสูตร 15-15-15, 20-20-20 เป็นต้น
(ข) ปุ๋ยหน้าสูง คือ ปุ๋ยที่มีธาตุ ไนโตรเจนมากกว่าธาตุฟอสฟอรัสและธาตุโปรแตสเซียม ใช้เมื่อต้องการเร่งการเจริญเติบโตทางต้น มักให้ในระยะกล้า จะทำให้พืชมีใบเขียวขึ้น ต้นโตขึ้น เช่นสูตร 30-20-10, 20-10-10 เป็นต้น
(ค) ปุ๋ยสูตรกลางสูง คือ ปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสมากกว่าธาตุไนโตรเจนและธาตุโปรแตสเซียม ใช้เมื่อต้องการเร่งการเจริญเติบโตทางราก หรือเร่งให้ออกดอกเร็วขึ้น เช่น ปุ๋ย สูตร 15-30-15, 12-24-12 เป็นต้น
(ง) ปุ๋ยหลังสูง คือ ปุ๋ยที่มีธาตุโปรแตสเซียมมากกว่าธาตุไนโตรเจนและธาตุฟอสฟอรัส ใช้เร่งสีให้เข้มขึ้น หรือเพิ่มความหวานให้มากขึ้น เช่นสูตร 12-12-27, 10-20-30 เป็นต้น
ปุ๋ยผสมนี้ยังแบ่ง ตามลักษณะ เป็น 3 กลุ่มย่อย คือ
(ก) ปุ๋ยเม็ด เป็นปุ๋ยที่มักคลุกเคล้าดินกับธาตุปุ๋ยจากการผสมของปุ๋ยเดี่ยว เป็นปุ๋ยที่ปลดปล่อยธาตุอาหารแก่พืชได้ค่อนข้างรวดเร็วตามการละลายของเม็ดปุ๋ย ซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน ปุ๋ยกลุ่มนี้มักมีราคาถูก เป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไป มักใส่ให้พืชทุก 1-4 สัปดาห์
(ข) ปุ๋ยเม็ดละลายช้า เป็นปุ๋ยที่ธาตุปุ๋ยได้จากการผสมของปุ๋ยเดี่ยว ถูกปั้นให้เป็นเม็ด แล้วเคลือบผิวด้วยสารที่ยอมให้น้ำผ่านเข้าไปภายในได้ทีละน้อย ทำให้การปลดปล่อยธาตุอาหารผันแปรตามอุณหภูมิ และ/หรือความชื้นของวัสดุปลูก ปุ๋ยจึงอาจให้อาหารแก่พืชได้อย่างต่อเนื่อง 3-12 เดือน ปุ๋ยกลุ่มนี้มักมีราคาแพง จึงใช้กันในวงจำกัด เฉพาะที่ปลูกพืชเป็นเวลานาน โดยมีแรงงานให้ปุ๋ยไม่เพียงพอ
(ค) ปุ๋ยเกร็ด เป็นปุ๋ยที่มีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง สามารถละลายน้ำได้ดี เกิดจากการนำปุ๋ยเดี่ยวคุณภาพสูงมาคลุกเคล้ากัน ซึ่งบ่อยครั้งจะมีการเพิ่มไวตามินบี และสารควบคุมการเจริญเติบโตเข้าไปด้วย ปุ๋ยกลุ่มนี้ต้องละลายน้ำรดให้แก่พืช หรือผสมไปในระบบน้ำก็ได้ ปุ๋ยกลุ่มนี้อาจถูกเรียกว่าปุ๋ยใบ เพราะพืชดูดไปใช้ได้ทั้งทางรากและใบ มักนิยมใช้กับกล้วยไม้ หรือพืชที่ต้องการปุ๋ยอย่างเร่งด่วน การที่ต้องให้ปุ๋ยกลุ่มนี้บ่อยจึงทำให้เป็นปุ๋ยที่มีค่าใช้จ่ายในการใช้ค่อนข้างสูง
เมื่อเลือกชนิดของปุ๋ยได้ตามความเหมาะสมแล้ว เราต้องเลือกสูตรและตราของปุ๋ยที่จะใช้ด้วย การเลือกในกรณีหลังนี้คงต้องมีการศึกษาทดลองกับพืชที่เราปลูกเลี้ยงอยู่ เนื่องจากการเลือกสูตรนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของวัสดุปลูกที่ใช้อยู่ เพราะวัสดุปลูกที่ต่างกันจะมีธาตุอาหารพืชในปริมาณที่ต่างกัน ความต้องการธาตุปุ่ยจึงต้องต่างกันไป นอกจากนี้ปุ๋ยแต่ละตรายังมีธาตุอาหารอื่น ๆ แตกต่างกันไป จึงเหมาะกับวัสดุปลูกที่ต่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อปุ๋ยควรต้องคำนึงเรื่องราคาไว้ด้วย
การให้ปุ๋ย
วิธีการให้ปุ๋ยไม้ดอกกระถางนั้นค่อนข้างง่าย แต่ก่อนการให้ปุ๋ยทุกชนิดใบต้องไม่เหี่ยว วัสดุปลูกต้องชื้น ไม่แห้ง ใบต้องแห้ง ควรให้เวลาเช้าหรือเย็น และใช้หลัก ให้จำนวนน้อยแต่บ่อยครั้ง ดีกว่าให้จำนวนมากแต่น้อยครั้ง การให้ปุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 แบบ ตามชนิดของปุ๋ยคือ
1. การให้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ (ปุ๋ยใบ) ปุ๋ยชนิดนี้มีลักษณะเป็นเกล็ดขนาดเล็ก หรือเป็นผง ต้องนำมาละลายน้ำให้เจือจางก่อนใช้ อัตราการใช้ 50 ถึง 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ระยะใบเลี้ยง ถึง 6 ใบจริง ให้ใช้อัตราต่ำคือ 50 กรัม/20 ลิตร ต่อจากนั้นใช้อัตรา 60 ถึง 100 กรัม/20 ลิตร รดตอนเช้า และรดน้ำล้างอีกเล็กน้อยในตอนสายเพื่อป้องกันการตกค้างของปุ๋ยบนใบหรือดอก
ปุ๋ยใบ 1 ช้อนโต๊ะปาด มีน้ำหนักประมาณ 15 กรัม
ปุ๋ยใบ 1 ช้อนโต๊ะปาด ผสมน้ำ 3 ลิตร มีความเข้มข้นเท่ากับ 100 กรัม/ 20 ลิตร ปุ๋ยใบควรละลายน้ำแล้วพ่นให้เปียกทั่วต้นพืช เพราะปุ๋ยใบสามารถซึมเข้าทางใบเป็นประโยชน์กับพืชได้อย่างรวดเร็ว ถ้าพ่นกับพืชที่ใบติดน้ำยากต้องผสมสารจับใบ (ยาเปียกใบ) ต้นละประมาณ 5 ถึง 20 ซีซี. แล้วแต่ขนาดของกล้า จึงจะได้ผลดี แต่ในระยะกล้าควรใส่บัวฝอยละเอียดราดให้ถูกทั้งใบ และให้ไหลลงดินด้วย รากพืชจะได้ปุ๋ยด้วย
2. การให้ปุ๋ยเม็ด ปุ๋ยชนิดนี้มีลักษณะเป็นเม็ด ใช้หว่าน หรือโรย โดยหว่านรอบ ๆ ของกระถางด้านใน หรือให้เป็นจุดบนดิน หรือฝังเป็นจุดบนวัสดุปลูก หรือรองก้นกระถางตอนย้ายปลูกถ้าเป็นปุ๋ยเม็ดจะใช้ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
ปุ๋ยเม็ดแบ่งได้ 2 อย่างคือ ปุ๋ยเม็ดปกติ และปุ๋ยเม็ดละลายช้า (ปุ๋ยละลายช้า)
ปุ๋ยเม็ดปกติ 1 ช้อนโต๊ะมาตรฐานปาด หนักประมาณ 12 ถึง 14 กรัม
ปุ๋ยเม็ดละลายช้า 1 ช้อนโต๊ะมาตรฐานปาด หนักประมาณ 12 กรัม ปุ๋ยเม็ดละลายช้าจะใช้ครั้งละมาก แต่นาน ๆ ครั้ง เพราะต้องให้เนื้อปุ๋ยเท่ากันในเวลาที่เท่ากัน (การให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าไม่ช่วยให้ประหยัดปริมาณการใช้ปุ๋ย)
ระยะกล้าถึง 6 ใบจริงไม่ควรให้ปุ๋ยเม็ดปกติ แต่ให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าได้ หลังจากนั้นให้ปุ๋ยเม็ดปกติได้ประมาณ 3 ถึง 20 เม็ด ต่อกระถาง เมื่อต้นยังเล็ก ให้ 3 เม็ด และเพิ่มขึ้นเมื่อกล้ามีอายุมากขึ้น ข้อระวังคือ ไม้ดอกบางชนิดโตช้า เช่น พังพวย และผีเสื้อ ต้องให้ปุ๋ยน้อยกว่าไม้ดอกที่โตเร็ว เช่น ดาวเรือง และบานชื่น
นอกจากการใช้ปุ๋ยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอกอาจให้อาหารเสริม ธาตุรอง ไวตามิน น้ำตาล สารเร่งราก หรือยาโด๊ปชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพของต้นไม้อีกก็ได้ แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มักไม่คุ้มทุนในเชิงการค้า จึงไม่กล่าวถึงในที่นี้
***โปรดติดตามตอนต่อไป***
ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ห้องสมุดความรู้การเกษตร
- กรมส่งเสริมการเกษตร
- ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ
ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ ==>