ไม้ตัดดอกเขตร้อน เรื่อง การปลูกปทุมมาและกระเจียว ตอนที่2

    ไม้ดอกกลุ่มปทุมมามีความเด่นอยู่ที่สีของใบประดับ รูปทรงพุ่มของใบประดับชนิด coma และช่อดอกที่ตั้งเหนือทรงพุ่ม ตลาดให้ความสนใจกับพันธุ์พืชในกลุ่มนี้ซึ่งมีสีของใบประดับชนิด coma ที่สะอาด สดใสเช่น สีขาวสะอาดของบัวขาวและเทพรำลึก สีชมพูของปทุมมาและบัวลาย ทรงพุ่มของใบประดับชนิด coma ของพืชในกลุ่มนี้ขึ้นกับจำนวนและความกว้างของใบประดับ ชนิด coma กล่าวคือ พันธุ์ที่มีทรงพุ่มของในประดับชนิด coma ที่ดี จะต้องมีในประดับชนิด coma จำนวนมากและกลีบเหล่านั้นต้องกว้าง ช่อดอกที่มีก้านยาว แข็ง และมีขนาดไม่ใหญ่มาก เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของผู้ใช้ การคัดเลือกพันธุ์พืชในกลุ่มปทุมมาจึงต้องพิจารณาลักษณะทั้ง สามเป็นหลัก

      ปทุมมาหรือบัวสวรรค์ ซึ่งปลูกกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ จนหลายคนคิดว่าเป็นพืชพื้นเมืองของเชียงใหม่นั้น ถูกคัดเลือกโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิศิษฐ์ วรอุไร ปทุมมาพันธุ์นี้ไม่ได้รับการตั้งชื่อพันธุ์จากผู้คัดเลือกแต่อย่างใดแต่ถูกเรียกกันติดปากว่า พันธุ์เชียงใหม่ โดยผู้ส่งออกบางรายได้ตั้งชื่อพันธุ์ปทุมมาพันธุ์นี้เป็นภาษาอังกฤษว่า พันธุ์ Chiang Mai Paradise ปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่มีใบประดับชนิด coma เป็นสีชมพูกลีบบัว โดยมีสีเขียวแต้มที่ปลายกลีบบัว ใบประดับชนิด coma กว้างและมีจำนวนมาก ทรงพุ่มของใบประดับชนิด coma มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ใบประดับมีสีเขียวเข้ม โดยอาจมีสีชมพูแต้มอยู่บริเวณด้านข้างหรือแก้มทั้งสองของแต่ละใบประดับส่วนล่างของช่อ นอกจากปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่ซึ่งเป็นพันธุ์การค้าแล้ว ได้มีผู้คัดพันธุ์ปทุมมาพันธุ์อื่นจากการกลายพันธุ์ของพันธุ์เชียงใหม่และจากธรรมชาติไว้อีกหลายพันธุ์ ซึ่งพันธุ์เหล่านี้กำลังถูกขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณให้มีจำนวนเพียงพอต่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ปทุมมาพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะต่าง ๆ เช่น บางพันธุ์ใบประดับชนิด coma เป็นสีขาว บางพันธุ์ใบประดับชนิด coma เป็นสีม่วงแดง บางพันธุ์มีใบประดับชนิด coma เป็นสีม่วงน้ำเงิน และบางพันธุ์มีใบประดับชนิด coma เป็นสีชมพูแต่ไม่มีแต้มสีเขียวที่ปลายกลีบ

    สำหรับพันธุ์ของบัวลาย บัวขาว และเทพรำลึกนั้น ปัจจุบันยังไม่มีพันธุ์การค้าแต่อย่างใด ผู้ปลูกจึงคัดพันธุ์จากธรรมชาติ และกำลังเร่งขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอต่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ทั้งนี้การคัดเลือกพันธุ์บัวลายซึ่งมีสีของใบประดับใกล้เคียงกัน ความยาวก้านช่อและช่อดอกและอัตราการแตกกอ จึงเป็นลักษณะที่สำคัญ ส่วนบัวขาวพันธุ์ดีนั้นควรมีก้านช่อยาว และมีใบประดับชนิด coma ที่กว้างจำนวนมาก และเรียงซ้อนกันแน่น ส่วนเทพรำลึกซึ่งมีการคัดเลือกไว้นั้น มีสีเขียวที่ใบประดับน้อยมาก และมีสีชมพูแต้มที่ด้านข้างของใบประดับส่วนล่าง

    ส่วนไม้ดอกกลุ่มกระเจียวซึ่งมีความสวยงามอยู่ที่ใบประดับซึ่งมีสีสดใส และเป็นมัน และทรงพุ่มของช่อดอก อย่างไรก็ตามพันธุ์ที่ก้านช่อยาวจะเป็นที่ต้องการของตลาด กระเจียวทั้ง 4 ชนิดซึ่งมีศักยภาพในการส่งออก คือ กระเจียวส้มหรือฉัตรทอง กระเจียวชมพูหรือฉัตรเงิน กระเจียวโคมและกระเจียวชมพูช่อยาวนั้น ปัจจุบันยังไม่มีพันธุ์การค้าของไทย ทั้งนี้เคยมีการคัดพันธุ์กระเจียวที่มีลักษณะดีแต่ได้ขายกระเจียวส้มพันธุ์นั้นให้กับบริษัทไม้ดอกในยุโรปไปแล้ว

    ปัจจุบันการคัดพันธุ์ไม้ดอกกลุ่มปทุมมาและกระเจียว กำลังดำเนินงานโดยผู้ปลูกเลี้ยงรายใหญ่ ผู้ส่งออก ตลอดจนหน่วยงานรัฐ เช่นมหาวิทยาลัยและกรมวิชาการเกษตร

การขยายพันธุ์

การผสมพันธุ์ไม้กอกกลุ่มปทุมมาและกลุ่มกระเจียวทั้ง 7 ชนิด ในบทความนี้จะกระทำได้ ในช่วงเช้าของวันที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ทั้งนี้เพราะดอกจะอยู่ในสภาพที่พร้อมกับการ ถ่ายละอองเกสรในช่วง 8-10 นาฬิกา และการที่เรณูของพืชสกุลนี้มีความเป็นหมันในระดับปาน กลางค่อนข้างต่ำ สภาพอากาศที่แห้งจะทำให้เรณูเสียชีวิตหมดไปก่อนที่จะเกิดการปฏิสันธิขึ้น

    การสร้างความหลากหลายจากการผสมพันธุ์แล้วนำเมล็ดมาเพาะนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีผสมข้าม ซึ่งจะต้องกำจัดเรณูออกก่อนการถ่ายละอองเกสร โดยใช้วัสดุปลายแหลมจำพวก ปากคีบ เข็มเขี่ย หรือไม้จิ้มฟันปลายแหลม ขูดเรณูออกด้านบนสู่ด้านล่างของอับเรณู การขูดดับกล่าวจะไม่ทำให้อับเรณูกระดกขึ้นจนเรณูสัมผัสกับยอดเกสรตัวเมีย เพราะปกติอับเรณูจะกระดกขึ้นได้ตามกลไกลธรรมชาติที่ช่วยในการถ่ายละอองเกสร การถ่ายละอองเกสรสามารถกระทำได้ง่ายเพียงแต่นำเรณูซึ่งมีลักษณะคล้ายแป้งไปป้ายบนยอดเกสรตัวเมีย เมื่อถ่ายละอองเกสรแล้วควรตัดใบประดับที่รองดอกนั้นออก เพื่อป้องกันการขังของน้ำซึ่งอาจทำให้ผลเน่าและเพื่อสะดวกในการกำจัดดอกตูมที่เหลือของช่อย่อยเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องแขวนป้ายระบุคู่ผสมและวันผสมได้ด้วย หากเกิดการปฏิสนธิขึ้นผลสีเขียวจะเจริญเติบโตขึ้นจากบริเวณใต้กลีบเลี้ยง เมื่อผลแก่จะมีสีเขียวอ่อนลง และเปลือกบางใสขึ้นจนพอจะเห็นสีดำของเมล็ดภายในควรเก็บเมล็ดแก่ไว้ก่อนที่ผลจะแตกจนเมล็ดหลุดร่วง เนื่องจากพืชสกุลนี้มีการพักตัวจึงควรนำเมล็ดมาเพาะในฤดูปลูกถัดไป โดยการเก็บเมล็ดไว้ในที่ร่ม

      การเพาะเมล็ดควรเพาะในกระบะทรายผสมขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1:1) โดยให้เมล็ดจมอยู่ใต้ผิววัสดุ ปลูกราว 0.5 - 1 เซนติเมตร การรดน้ำต้องกระทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เมล็ดกระเด็น เมล็ดจะทยอยงอกตามระดับของการพักตัวที่เหลืออยู่ เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 3 - 4 ใบจึงค่อย ๆ แยกต้นกล้าไปปลูกในดินผสมด้วยระยะปลูก 10 x 10 เซนติเมตร จนออกดอกเพื่อคัดเลือกต่อไป

         ปกติผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอกสกุลนี้นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกเหง้า ซึ่งจะได้ต้นที่มีลักษณะ เหมือนเดิม การขุดหัวของไม้ดอกสกุลนี้เมื่อสิ้นฤดูปลูกจะพบว่าแต่ละกอจะมีเหง้าหลาย เหง้าเชื่มติดกัน จึงควรแยกเหง้าเหล่านั้นออกจากกันก่อนที่จะนำเหง้าไปผึ่งและเก็บรักษา เพราะแผลจะไม่ถูกเชื้อโรคเข้าทำลาย วิธีแยกเหง้าจะเพิ่มปริมาณได้ในอัตราเท่าไรจึง ขึ้นกับขนาดของกอ หากผู้ปลูกมีจำนวนเหง้าไม่เพียงพอ อาจนำเหง้าที่มีอยู่มาผ่านแบ่งตามความยาวเป็น 2 ชิ้น แต่ละชิ้นมีตาซึ่งอยู่ในสภาพดี ติดอยู่ไม่น้อยกว่า 1 ตา ซึ่งเมื่อผ่าเหง้าแบ่งแล้วจะต้องจุ่มชิ้น ส่วนของเหง้าในสารละลายของยาป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทน ในอัตราที่ใช้ฉีดพ่นต้นไม้แล้วนำ ชิ้นส่วนดังกล่าวไปผึ่งให้แห้งในที่ร่มก่อนปลูก วิธีนี้จะทำให้เพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ได้อีกเท่าตัว แต่ การผ่าเหง้านี้จะต้องดูแลต้นไม้มากกว่าปกติด้วยเพราะต้นที่เกิดขึ้นนั้นได้อาหารสะสมเพียงครึ่ง ของเหง้าปกติและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

        การเพิ่มปริมาณพืชพันธุ์ใหม่เพื่อให้ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องใช้ เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเข้าช่วย สำหรับการขยายพันธุ์ด้วยชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของไม้ดอก สกุลนี้ สามารถกระทำได้โดยนำช่อดอกอ่อนมาเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่ดัดแปลงโดยเติม AB เข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร วิธีนี้จะทำให้ได้ต้นเพิ่มเป็น 3 เท่า ทุก ๆ สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ 1 ต้น เพิ่มเป็น 6,500 ต้น ใน 1 ปี หรือ 500,000 ต้นใน 18 เดือน ต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์วิธีนี้จะมีขนาดใกล้เคียงกับต้นกล้าได้จากการเพาะเมล็ด จึงต้อง ใช้เวลาอีกระยะหนึ่งราว 2 ปี ที่จะผลิตดอกหรือหัวขายได้


    การเลือกดอกซึ่งมีระยะการพัฒนาที่เหมาะสมเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการตัดดอกช่อที่เหมาะจะตัดดอกได้ดีนั้น ควรมีดอกจริงบานแล้วราว 3 - 5 ดอก โดยการตัดดอกนั้นอาจใช้กรรไกรตัดบริเวณที่ก้านช่อดอกโผล่พ้นลำต้นเทียมหรืออาจใช้วิธีกระตุกช่อดอกขึ้นมาคล้ายการตัดดอกเยอบีราก็ได้ แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นการถอนต้นขึ้นมา การตัดดอกควรกระทำให้ตอนเช้า และเมื่อตัดดอกแล้วต้องรีบนำก้านช่อดอกไปแช่โคนในน้ำสะอาดทันที เนื่องจากช่อดอกของพืชสกุลนี้ไวต่อสภาพการขาดน้ำเป็นอย่างมาก

ความต้องการของดอกไม้ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูดอกของไม้ดอกกลุ่มปทุมมาและกลุ่มกระเจียว นั้นมีค่อน่ข้างต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูที่มีดอกไม้หลายชนิดในตลาด ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดต้องการดอกไม้จำนวนมากนั้น การผลิตดอกไม้ไม่สามารถสนองได้ ดังนั้น การผลิตดอกไม้นอกฤดูจึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรสนใจกระทำกันมาก

    ไม้ดอกกลุ่มปทุมมาและกลุ่มกระเจียวเป็นพืชวันยาว จะพักตัวในช่วงที่วันสั้น โดยจะได้รับสัญญาณให้พักตัวหลังจากวันที่ 23 กันยายน การผลิตดอกของไม้ดอกทั้ง 2 กลุ่มนี้ในช่วงฤดูหนาวจึงต้องมีการปฏิบัติพิเศษ โดยการคั่นช่วงกลางคืนนั้นควรกระทำในช่วง 24.00 - 3.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย การติดตั้งหลอดห่างกัน 1.5 เมตร ซึ่งการเปิดไฟเพื่อคั่นช่วงกลางคืนต้องเริ่มกระทำราววันที่ 31 สิงหาคมโดยไม่ช้ากว่าวันที่ 15 กันยายน การปฏิบัตินี้ได้ผลดีในแปลงรวมพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    การผลิตไม้ดอกทั้ง 2 กลุ่มนี้นอกฤดู จำเป็นต้องมีการดูแลด้านปุ๋ยและสภาพดินเป็นพิเศษด้วย กล่าวคือให้ปุ๋ยสูตรเสมอหลังฤดูฝน และใช้ปุ๋ยหมักใส่เสริมเพื่อทำให้ดินไม่อยู่ในสภาพที่ติดเชื้อโรคเน่า จะแพร่ระบาดได้ง่ายถ้าเป็นการผลิตนอกฤดูโดยการยึดฤดูปลูก อย่างไรก็ตามการผลิตดอกนอกฤดูก็อาจกระทำโดยปลูกในช่วงฤดูฝนซึ่งฝนทิ้งช่วงนานพอจะขึ้นแปลงได้ การผลิตนอกฤดูโดยปลูกช้านี้จะทำให้การสะสมโรคในแปลงเกิดขึนน้อยกว่าการผลิตแบบยืดฤดูปลูก

    วัชพืชเป็นศัตรูที่พบและเป็นปัญหามากในแปลงปลูก เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองแรงงานในการถอนกำจัดวัชพืชเป็นอย่างมาก ซึ่งจัดเป็นต้นทุนการผลิตส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างสูง การใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดยาคุมกำเนิดหญ้า ซึ่งทำลายเมล็ดวัชพืชได้หรือการใช้ยากำจัดวัชพืชใบกว้างน่าจะถูกลองนำมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานในท้องที่ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูงหรือหาแรงงานยาก

    โรครากเน่าเป็นศัตรูที่ทำลายต้นและดอกของไม้ดอกกลุ่มปทุมมาและกลุ่มกระเจียว โรคนี้จะทำให้เหง้า, โคนเน่า และทำให้ใบประดับและใบเป็นจุดเน่า เชื้อสาเหตุของโรคนี้มี 2 ชนิดคือ เชื้อรา Rhizoctomia และเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas เชื้อรานั้นเจริญได้ดีในสภาพดินเป็นด่าง แต่ป้องกันกำจัดได้โดยการฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราเช่น เทอร์ราคลอร์ ซูเปอร์เอ๊กซ์ หรือรอฟรอล (Rovral) ขณะที่เชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคนั้นเจริญได้ดีในสภาพดินที่เป็นกรด ซึ่งเป็นสภาพดินที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่อง และป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีได้ยาก การป้องกันที่ดีที่สุดโดยทำให้ดินเป็นด่างอย่างอ่อน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมักหรือปูนขาว ดังนั้นจึงควรจัดการให้สภาพแปลงปลูกไม่เหมาะต่อการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรีย โดยยอมให้เชื้อราเจริญได้แต่ควบคุมเชื้อราด้วยสารเคมีแทน

    ไรแดง หนอนม้วนใบ และตั๊กแตน เป็นแมลงที่พบในแปลงปลูกอยู่บ้าง การใช้ยากำจัดแมลงจึงอาจต้องการทำบ้างเป็นครั้งคราว นอกจากแมลงเหล่านี้แล้วยังอาจพบการทำลายของหอยทากด้วย อนึ่งปัญหาเรื่องแมลงนี้เป็นปัญหาที่ไม่รุนแรงเท่ากับปัญหาเรื่องโรค

ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ห้องสมุดความรู้การเกษตร
  • กรมส่งเสริมการเกษตร
  • กองส่งเสริมพืชสวน

ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ ==>




Create Date : 23 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2555 12:05:40 น.
Counter : 1340 Pageviews.

0 comments
14 มิ.ย. 68 ไปเรียน kae+aoe
(19 มิ.ย. 2568 06:48:33 น.)
ทายอักษร I 猜字谜 I toor36
(18 มิ.ย. 2568 00:11:41 น.)
กำแพงแสน : นกกระปูดใหญ่ ผู้ชายในสายลมหนาว
(6 มิ.ย. 2568 11:30:07 น.)
บทบาทของล่ามในภารกิจทูตทางทหารและข้อพิพาทชายแดน: เสียงที่เชื่อมโยงสันติภาพกับความขัดแย้ง สมาชิกหมายเลข 6145569
(6 มิ.ย. 2568 01:04:56 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Axiom.BlogGang.com

Mr.Evo_IV
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]

บทความทั้งหมด