

สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบ่งตามชนิดของพืชได้หลายอย่าง ควรใช้ยาให้ถูกกับศัตรูพืช อาการผิดปกติบางอย่างเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต เช่น อาการใบไหม้ที่เกิดจากแดดเผา อาการใบเหลืองเนื่องจากขาดธาตุไนโตรเจน เป็นต้น ก่อนใช้ยาควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร? ควรพ่นยาฆ่าเชื้อรา และยาฆ่าแมลงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะยังไม่ปรากฏอาการก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนซึ่งดีกว่าการรักษา
อาการผิดปกติ ที่มักพบเป็นส่วนมากกับไม้ดอกกระถาง คือ
1. อาการใบไหม้ อาจเกิดจากแดดเผา (อาการไม่ลาม) หรือ เกิดจากเชื้อโรค (อาการจะลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง) ควรใช้ยาฆ่าเชื้อราหรือแบคทีเรีย เช่น คาร์เบนดาซิม, เทอเอม 45, ออร์โธไซด์ฯ
2. อาการเหี่ยว อาจเกิดจากการขาดน้ำ (ถ้าไม่ขาดน้ำมากเมื่อรดน้ำแล้วก็จะฟื้นเป็นปกติ) หรือ เกิดจากเชื้อโรค (ถึงแม้จะให้น้ำแล้วอาการจะไม่ดีขึ้น) ต้องนำไปเผาทำลายทิ้ง มิฉะนั้นอาจแพร่กระจายโรคให้กับต้นอื่น ๆ ไม่มียารักษาสำหรับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อโรค
3. อาการโรคเน่า มักเกิดกับต้นกล้า สาเหตุอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา จึงควรลดการให้น้ำลง นำต้นที่เป็นโรคไปทิ้ง และใช้ยาฆ่าแบคทีเรียหรือยาฆ่าเชื้อรา เช่น เทอร์คาคลอร์
4. อาการใบด่าง เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคใบด่างของพิทูเนีย ไม่มียารักษา ต้องนำไปเผาทิ้งหรือฝัง
5. อาการเน่าเละ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรตัดส่วนที่เน่าทิ้ง ลดการให้น้ำ และใช้ยาฆ่าแบคทีเรีย เช่น แอกริไมชิน
ยาที่ใช้กันมากสำหรับไม้ดอกกระถาง คือ ยาฆ่าเชื้อรา, ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าไร เราสามารถผสมยาหลายอย่างแล้วพ่นพร้อมกันได้ เช่นยาฆ่ารา+ปุ๋ยใบ+ยาเปียกใบ โดยมีขั้นตอนการผสมดังนี้ (ห้ามลัดขั้นตอน แต่สามารถเว้นบางขั้นตอนได้ถ้าไม่ใส่สารนั้น)
1. ผสมยาที่เป็นผงกับน้ำน้อย ๆ (ประมาณ 250 ซีซี.) ก่อน คนให้เป็นสารละลายเข้มข้นก่อนในถังผสมยา (อาจใช้บัวรดน้ำพลาสติกสีฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีปริมาตรประมาณ 10 ลิตร เป็นถังผสมยา) และควรหาไม้ไว้คนยาด้วย
2. เติมน้ำลงไปให้ได้ประมาณครึ่งถัง ผสมยา แล้วคนให้เข้ากัน
3. ใส่ยาที่เป็นน้ำลงไป แล้วคนให้เข้ากัน
4. เติมน้ำลงไปให้เต็มถังผสมยา แล้วคนให้เข้ากัน
5. ใส่ปุ๋ยใบลงไป แล้วคนให้เข้ากัน
6. ใส่ฮอร์โมนและอาหารเสริมลงไปแล้วคนให้เข้ากัน แต่ไม่แนะนำให้ผสมสารพวกนี้กับยาอื่น ๆ ควรแยกพ่นต่างหากจะดีกว่า
7. ใส่ยาเปียกใบลงไป แล้วคนให้เข้ากัน
ควรกะประมาณยาที่จะใช้ก่อนผสมยา แล้วอ่านฉลากยา สังเกตอัตราการผสมยา เช่น 30 ถึง 60 ซีซี. ต่อ น้ำ 20 ลิตร คือ ถ้าจะใช้อัตราต่ำสุดให้ใช้ 30 ซีซี. ต่อ น้ำ 20 ลิตร ถ้าต้องการยาเพียง 5 ลิตร ต้องใช้ยา 7.5 ซีซี. เป็นต้น
นำยาที่ผสมแล้วเทลงถังหรือเครื่องพ่นยา (ถ้ามีกรวยกรองเศษผงอย่าลืมใส่กรวยกรองทุกครั้งที่เทยาลงถัง มิฉะนั้นเศษตะกอนยาจะไปตันหัวพ่นยา) แล้วปิดฝาถังผสมยานำไปพ่นได้ หลักการพ่นยาคือ พ่นเหนือลมให้ลมพัดละอองยาออกจากผู้พ่นยา เดินขวางทางลม หรือเดินขึ้นไปทางต้นลม ปรับหัวพ่นให้น้ำยาออกเป็นฝอยละเอียด และละอองยาจับอยู่ที่ใบพืช ไม่พ่นนานจนยาไหลออกจากใบ ควรใส่ถุงมือ รองเท้าบู๊ท เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว แว่นกันละอองยา หน้ากากป้องกันละอองยาเข้าจมูก
การเลือกยา ต้องรู้ด้วยว่าเป็นยาดูดซึม (ยาจะซึมเข้าไปในทุกส่วนของพืช เมื่อศัตรูพืช เช่น แมลงเข้ากัดกินหรือดูดน้ำเลี้ยงของพืชก็จะตายเนื่องจากยา ) หรือเป็นยาแบบถูกตาย (คือเมื่อพ่นยาถูกศัตรูพืช เช่น แมลง แมลงจะตาย) ยาบางชนิดออกฤทธิ์ทั้งแบบดูดซึมและถูกตัวตาย

ไม้ดอกบางชนิดทรงพุ่มใหญ่เกินขนาดกระถาง หรือในบางฤดูทรงพุ่มพอเหมาะกับกระถางแต่อีกฤดูหนึ่งทรงพุ่มใหญ่เกินไป ถึงแม้จะเด็ดยอดแล้วก็ตาม จึงจำเป็นต้องใช้สารชลอการเจริญเติบโต สารเหล่านี้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม จะยกตัวอย่างบางกลุ่มที่สามารถหาซื้อได้ง่าย เช่น
ชื่อสามัญ ชื่อการค้า
แพคโคบูทราโซล พรีดิกซ์, คัลทา
เอฟเทฟอน อีเทรล
ควอมิควอทคลอไรด์ ซี ซี ซี
สารเหล่านี้ต้องศึกษาการใช้อย่างละเอียด ถ้าใช้ปริมาณหรือความเข้มข้นหรือระยะเวลาไม่เหมาะสมจะทำให้ไม่ได้ผล หรือเกิดผลเสีย วิธีให้สารคือ พ่นให้ถูกใบ หรือราดลงกระถาง ซึ่งทั้งสองวิธีก็ให้ผลต่างกันในพืชแต่ละชนิด

ไม้ดอกไม้ประดับเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย ก่อให้เกิดรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก จากการใช้กันภายในประเทศและจากการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศสามารถก่อให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่ผู้ปลูก ทั้งรายที่เป็นมืออาชีพและรายสมัครเล่น จนสามารถยึดเป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง และเมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิดแล้ว ไม้ดอกไม้ประดับเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง
ในกลุ่มของไม้ดอกไม้ประดับนั้น ไม้ดอกกระถางได้รับความสนใจนิยมจากผู้บริโภคมากกว่าสมัยก่อน และมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าพืชอื่น ๆ เนื่องจากพื้นที่ของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยลดน้อยลง และการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่รีบเร่ง ประกอบกับไม้ดอกกระถางมีความต้องการพื้นที่ไม่มาก มีความสวยงามหลายหลาก และบางชนิดสามารถปลูกและดูแลรักษาง่าย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ จึงทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้อกับการปลูกไม้ดอกกระถางอย่างมากมาย
แม้ว่าการปลูกไม้ประดับรวมทั้งไม้ดอกกระถางจะก่อให้เกิดรายได้อย่างงดงามแก่ผู้ปลูกก็ตาม และแม้ว่าไม้กระถางบางชนิดจะสามารถปลูกเลี้ยงดูได้ง่าย แต่ปัญหาการปลูกเลี้ยงดูให้เจริญงอกงามและรักษาป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายก็มีอยู่มิใช่น้อย ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดกับต้นพืช อย่างหนึ่งนั้นเป็นผลที่เกิดจากการทำลายของโรค ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านคุณภาพ ความสวยงามที่ลดต่ำลง หรือความผิดปกติที่เกิดกับส่วนของต้นพืช ซึ่งจะทำให้เกิดความกังวลแก่ผู้ปลูกหรือได้รับการปฏิเสธจากผู้บริโภค ระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไม้ดอกไม้ประดับมีความสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพทางการตลาด เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับนั้นจะใช้ประโยชน์จากความสวยงามเป็นหลัก ความเสียหายหรือความผิดปกติจากการทำลายของโรคหรือศัตรูพืช แม้เพียงเล็กน้อย แต่บางครั้งอาจจะถือว่าคุณภาพต่ำกว่าคุณภาพทางการตลาด และไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นการดูแลปฏิบัติไม้ดอกไม้ประดับหรือไม้กระถาง จึงเป็นเรื่องที่ต้องการความปราณีตและพิถีพิถันพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
การป้องกันความเสียหายหรือการรักษาอาการผิดปกติของไม้ดอกกระถางมีวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุของความเสียหายหรือความผิดปกติ ชนิดของพืช และการพิจารณาตัดสินใจตามหลักวิชาการ ผู้ปลูกเลี้ยงพืชหรือเกษตรกรบางรายอาจตัดสินใจใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีวางจำหน่ายอยู่อย่างแพร่หลาย เพื่อควบคุมความเสียหายหรือการทำลายของโรค ซึ่งหลายรายปฏิบัติหรือเลือกปฏิบัติโดยไม่ถูกต้องเช่น เลือกชนิดของสารเคมีไม่ถูกต้องตรงกับสาเหตุของโรค ปฏิบัติไม่ละเอียดถี่ถ้วนตามคำแนะนำในรายละเอียดของสารเคมี ทั้งในด้านของอัตราการใช้ วิธีการฉีดพ่น และข้อระมัดระวังอื่น ๆ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่ถูกต้อง และอาจก่อให้เกิดผลเสียหายข้างเคียงตามมา เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีในสภาพแวดล้อม การเป็นอันตรายหรือความเป็นพิษต่อผู้ปลูกหรือผู้บริโภค รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มหรือสิ้นเปลืองไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และกลายเป็นต้นทุนของการผลิตที่สูงขึ้นสำหรับผู้ปลูกหรือผู้ผลิต โดยอาจจะยังคงมีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการควบคุมความเสียหาย หรือการรักษาความผิดปกติของพืชได้
การตัดสินใจใช้ หรือเลือกใช้วิธีการใด ๆ เพื่อการป้องกันกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช หรือ การควบคุมความเสียหายและรักษาอาการผิดปกติของพืชที่เกิดจากศัตรูพืชหรือโรคพืช ของผู้ปลูกเลี้ยงหรือเกษตรกรผู้ผลิต จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับต้นพืช การเลี้ยงดูปฏิบัติที่ถูกต้องกับชนิดของพืช การให้ปุ๋ยและแร่ธาตุอาหาร การให้น้ำ ต้องรู้หรือเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะอาการผิดปกติหรือความเสียหายที่เกิดจากศัตรูพืช ชนิดหรือสาเหตุของความผิดปกติหรือความเสียหาย สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเกิดอาการผิดปกติ การระบาดของอาการผิดปกติ ตลอดจนวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถเลือกนำมาปฏิบัติเพื่อป้องกันควบคุมความเสียหายนั้น ๆ ได้
การปฏิบัติืเพื่อให้ไม้ดอกกระถางมีอายุอยู่ได้นาน
1. ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ขาดน้ำจนเหี่ยว
2. ถ้าจำเป็นต้องไว้ในอาคารหรือในร่ม ต้องนำออกแดดบ้างเพื่อให้พืชได้ใช้แสงแดดในการปรุงอาหาร ยกเว้นพืชที่ไม่ชอบแสงจัด เช่น อัฟริกันไวโอเลท ซึ่งได้แสงสว่างจากหน้าต่างก็เพียงพอแล้ว
3. ต้องให้ปุ๋ยต่อไป จะใช้สูตรกลางสูง หรือหลังสูงก็ได้
4. ห้ามรดน้ำถูกดอก เพราะจะทำให้ดอกเน่าง่าย
5. ตัดดอกที่โรยทิ้ง
6. พ่นยาป้องกันศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ
ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ห้องสมุดความรู้การเกษตร
- กรมส่งเสริมการเกษตร
- ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ
ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ ==>