กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
ธันวาคม 2564
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
space
space
23 ธันวาคม 2564
space
space
space

แทรกเสริม ธรรมวินัย




235 ถ้าจะดูให้เข้าใจพระพุทธศาสนา  ก็อย่าดูแต่ด้านธรรมะที่เด่นด้านนามธรรม  พุทธศาสนามิใช่หมายถึงเฉพาะเรื่องหลักธรรมอย่างเดียว  ต้องดูให้คลุมด้านวินัย  ที่ว่าด้วยเรื่องวัตถุและสังคมพร้อมไปด้วย  ให้ครบตามที่ท่านเรียกไว้ว่าเป็น "ธรรมวินัย

(1119)

รู้จักบ้านของตัวเองไว้ 450 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

https://www.youtube.com/watch?v=lYxjiCRt5A4

    ไตรปิฎก "ปิฎกสาม" ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆว่า กระจาด หรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎก จึงแปลว่า    "คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์   (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา)  ๓ ชุด"   หรือ    "ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด"  กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก

    พระไตรปิฎกบาลี ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทยครั้ง แรก ในรัชกาลที่ ๕ เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ เสร็จและฉลองพร้อมกับงานรัชดาภิเษก ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ยังมีเพียง ๓๔ เล่ม (ขาดคัมภีร์ปัฏฐาน) ต่อมา พ.ศ.๒๔๖๘ ในรัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ใหม่เป็นฉบับที่สมบูรณ์ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ ๖ เรียกว่า สฺยามรฏฺฐสฺส เตปิฎกํ (พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ) มีจำนวนจบละ ๔๕ เล่ม

    พระไตรปิฎก  มีสาระสำคัญและการจัดแบ่งหมวดหมู่โดยย่อ ดังนี้

    ๑. พระวินัยปิฎก   ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆของภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อ หรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ

๑. อาทิกัมมิกะ หรือปาราชิก    ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปราชิกถึงอนิยต
๒. ปาจิตตีย์   ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด
๓. มหาวรรค   ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน
๔. จุลวรรค   ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ
๕. ปริวาร   คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย

    ๒. พระสุตตันตปิฎก   ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคล และโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย   (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ

๑. ทีฆนิกาย   ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร
๒. มัชฌิมนิกาย   ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย    ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒ สูตร
๔. อังคุตตรนิกาย   ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร
๕. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตรคาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้มี ๑๕ คัมภีร์

    ๓. พระอภิธรรมปิฎก    ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรม และคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่ง เป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ

๑. สังคณี หรือธัมมสังคณี    รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภทๆ
๒. วิภังค์    ยกหมวดธรรมสำคัญๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวข้อแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
๓. ธาตุกถา   สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
๔. ปุคคลบัญญัติ    บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
๕. กถาวัตถุ    แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
๖. ยมก    ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
๗.ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์    อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร

พระไตรปิฎกบาลีที่พิมพ์ด้วยอักษรไทย    ท่านจัดแบ่งเป็น ๔๕ เล่ม  ก. พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม ข. พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม 
พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์




    พระไตรปิฎกบาลี   ที่พิมพ์ด้วยอักษรไทย ท่านจัดแบ่งเป็น ๔๕ เล่ม แสดงพอให้เห็นรูปเค้า ดังนี้ 

ข. พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม 
๑. ทีฆนิกาย ๓ เล่ม
เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
เล่ม ๑๐ มหาวรรค  มีพระสูตรยาว ๑๐ สูตร  ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย มหา เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค  มีพระสูตรยาว ๑๑ สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียง เช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม
เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลาง มี พระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ บั้นปลาย มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒ สูตร
๓. สังตุตตนิกาย ๕ เล่ม
เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุตต์
เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือ หลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้นมีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์
เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ด รวมทั้งเรื่องสมาธิ และทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุตต์
เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่ม ว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์
เล่ม ๑๙ มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียยงลำดับเป็น มรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบัน และอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์   (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้ เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความมีกัลยาณมิตร เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)
๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม
เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑, ๒, ๓, รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ
เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๔
เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๕, ๖
เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๗, ๘, ๙
เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑๐,๑๑ ในอังคุตตรนิกาย มีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะ ถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิต และสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน

๕. ขุททกนิกาย ๙ เล่ม

เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ ขุททกปาฐะ  (บทสวดย่อยๆ โดยเฉพาะ มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร) ธรรมบท (เฉพาะตัวคาถาทั้ง ๔๒๓) อุทาน (พุทธอุทาน ๘๐) อิติวุตตกะ (พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย เอวมฺเม สุตํ แต่เชื่อมความเข้าสู่ถาคาด้วยคำว่า อิติ วุจฺจติ รวม ๑๑๒ สูตร) และ สุตตนิบาต (ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว รวม ๗๑ สูตร)

เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อยที่เป็นคาถาล้วน ๔ คือ วิมานวัตถุ (เรื่องผู้เกิดในสวรรค์ อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง) เปตวัตถุ (เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง) เถรคาถา (คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๕ รูปทีกล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น) เถรีคาถา (คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น)

เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ใน อดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง

เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้น เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา รวมอีก ๒๒ เรื่อง บรรจบทั้ง ๒ ภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก

เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสามีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกาวรรคแห่งสุตตนิบาต

เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตรในปารายนวรรค และขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต

เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทานวรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่น เรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน

เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์ แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเถระ พระอานนท์ ต่อเรื่อยไป จนจบภาค ๑ รวมพระอรหัตตเถระ ๔๑๐ รูป

เล่ม ๓๓ ภาค ๒ คาถาประพันธ์ แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีก จนถึงรูปที่ ๕๕๐ ต่อนั้น เป็นเถรีอปทาน แสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญเรียงลำดับ คือ พระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสาโคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ ครั้นจบอปทานแล้ว
ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์ แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้า และได้รับพยากรณ์ จนถึงประวัติของพระองค์เอง   รวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ จบแล้ว   มีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก  แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ

ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม

เล่ม ๓๔ ธรรมสังคณี  ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด ๓ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอตีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และชุด ๒ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม โลกุตรธรรม ชุดหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา
จากนั้น ขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม ที่กระจายออกไป โดย จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้น จนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)

เล่ม ๓๕ วิภังค์   ยกหลักธรรมสำคัญๆขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจนจบ ไปเป็นเรื่องๆ   รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณ ประเภทต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่า วิภังค์ของเรื่องนั้นๆ เช่น อธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียก ขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์

เล่ม ๓๖ ธาตุกถา  นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า โสดาบัน ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ดังนี้ เป็นต้น

เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ  คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่นความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา

เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่) เช่น ถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์, หรือว่า รูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นในกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก

เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก)

เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน  ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐาน  อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็ คือ ข้อธรรมที่มีในมาติกา คือ แม่บท หรือ บทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา
ปัฏฐานเล่มแรกนี้   อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน จากนั้น จึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน  อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า
กุศลธรรมเป็นปัจจัย แก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย   (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ ) กุศลธรรมเป็นปัจจัย แก่อกุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้ว ดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ, มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้น จึงถูกต้อง ฯลฯ) 
อกุศลธรรมเป็นปัจจัย แก่กุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะความอยากบางอย่าง หรือเพราะมานะ หรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำให้ฌานเกิด ฯลฯ) 
กุศลธรรม เป็นปัจจัย แก่ อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย  (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่เสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ)   อย่างนี้เป็นต้น   (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลม คือ ตามนัยปกติไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธ จึงเรียกว่า อนุโลมปัฏฐาน)

เล่ม ๔๑   ปัฏฐาน   ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น
อดีตธรรม เป็นปัจจัย แก่ ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย   (พิจารณารูป เสียง เป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น

เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน   อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น
โลกียธรรมเป็นปัจจัย แก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย   (รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น

เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ

เล่ม ๔๔  ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมทุกปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับ ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) เช่น อธิบาย
"กุศลธรรมที่เป็นโลกุตรธรรม เป็นปัจจัย แก่กุศลธรรมที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติปัจจัย" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บบชุด ๒ (ทุกมาติกา) อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่น อธิบายว่า
กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรม เป็นปัจจัย แก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับ ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่น  ชุดโลกียะ โลกตุระ กับ ชุดสังขตะ อสังขตะ เป็นต้น

เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน   ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กัน  แห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง   แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ   แยกเป็นปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม + ปฏิเสธ   เช่นว่า   อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่่ไม่ใช่โลกุตรธรรม   เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร 
ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ + อนุโลม เช่นว่า อาศ้ยธรรมที่ไม่ใช่กุศล ธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร และ
ในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้ว ต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับ ชุด ๓ ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับ ชุด ๓ ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน

ดังนั้น แต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก- ทุก - ทุกติก- ติกทุก- ติกติก - ทุกทุก- ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไป จนถึงท้ายสุด คือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)

คัมภีร์ปัฏฐานนี้    ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้น เล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนวและทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้วเอาไปแจกแจง  โดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่าสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด   แม้กระนั้น   ก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์   ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว

ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า มหาปกรณ์ แปลว่า "ตำราใหญ่" ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ 

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า  พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์


Create Date : 23 ธันวาคม 2564
Last Update : 17 มกราคม 2567 16:29:29 น. 0 comments
Counter : 585 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space