กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มกราคม 2567
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
18 มกราคม 2567
space
space
space

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ในประวัติศาสตร์



     “นครของเราชื่อว่ากบิลพัสดุ์. พระราชา พุทธบิดา พระนามว่าสุทโธทนะ. พระมารดา ผู้ชนนี มีพระนามว่ามายาเทวี. เราครองอาคาริยวิสัยอยู่ ๒๙ พรรษา, มีปราสาทเลิศ ๓ หลัง ชื่อว่า สุจันทะ โกกนุท และโกญจะ. พร้อมด้วยสตรีสี่หมื่นนางเฝ้าแหนอลังการ. ยอดนารีมีนามว่ายโสธรา , โอรสนามว่าราหุล.

     “เราเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงออกบวชด้วยอัศวราชยาน, ได้บำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ ๖ พรรษา. เราประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤทายวัน แขวงเมืองพาราณสี.

     “เราคือพระสัมพุทธเจ้า นามว่าโคตมะ เป็นสรณะของสรรพสัตว์ ฯลฯ อายุของเราในยุคสมัยบัดนี้ น้อยเพียงชั่วร้อยปี. ถึงจะดำรงชีวีอยู่เพียงเท่านั้น เราก็ช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นวัฏฏะไปได้จำนวนมากมาย, และได้ตั้งคบเพลิงธรรมไว้ปลุกประชาชนภายหลังให้เกิดปัญญาตื่นขึ้นมาตรัสรู้ต่อไป.

     “ไม่นานเลย เรา พร้อมทั้งหมู่สาวก ก็จักปรินิพพาน เหมือนไฟดับไปเพราะสิ้นเชื้อ. เรือนกายร่างนี้ที่ทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติ วิจิตรด้วยวรลักษณ์ทั้ง ๓๒ ประการ มีเดชหาที่เทียบเทียมมิได้ กับทั้งทศพลและประดาฤทธิ์ ฉายประภาฉัพพรรณรังสี สว่างไสวทั่วทศทิศ ดุจดังดวงอาทิตย์ศตรังสี ก็จักลับดับหาย สังขารทั้งหมดทั้งหลายไร้แก่นสาร ล้วนว่างเปล่าดังนี้แหละหนอ.”


235 ฟังเล่า  450

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ในประวัติศาสตร์ | Point of View (youtube.com)
 


 

235 สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน

     พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ ว่าเป็นศาสนา (religion) หรือ เป็นปรัชญา (philosophy) หรือว่า เป็นเพียงวิธีครองชีวิตแบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือแสดงเหตุผล ทำให้เรื่องยืดยาวออกไปอีกทั้งมติในเรื่องนี้ ก็แตกต่างไม่ลงเป็นแบบเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด

     ในที่นี้จะมุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรมสอนว่าอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่า พุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของปรัชญาเองที่จะมีขอบเขต ครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบคลุมถึงพุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่า พุทธธรรม ก็คือ พุทธธรรม และยังคงเป็นพุทธธรรมอยู่นั่นเอง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริง เพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมิได้มุ่งหมาย และมิได้แสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง อันนั้น ให้ถือว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างที่ถือว่า เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าซึ่งในที่นี้เรียกว่าพุทธธรรม


     การจะประมวลคำสอนแล้วสรุปลงว่า พุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน และทรงมุ่งหมายแท้จริงเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องยาก แม้จะยกข้อความในคัมภีร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพุทธพจน์มาอ้าง เพราะคำสอนในคัมภีร์มีปริมาณมากมาย มีแง่ ด้าน ระดับ ความลึกซึ้งต่างๆ กัน และขึ้นต่อการตีความของบุคคลโดยใช้สติปัญญาและความสุจริตใจ หรือไม่เพียงไรด้วย ในบางกรณี ผู้ถือความเห็นต่างกันสองฝ่าย อาจยกข้อความในคัมภีร์มาสนับสนุนความคิดเห็นของตนได้ด้วยกันทั้งคู่ การวินิจฉัยความจริง ขึ้นต่อความแม่นยำในการจับสาระสำคัญ และความกลมกลืนสอดคล้องแห่งหลักการ และหลักฐานที่แสดงทั้งหมดโดยหน่วยรวมเป็นข้อสำคัญ แม้กระนั้น เรื่องที่แสดงและหลักฐานต่างๆ ก็มักไม่กว้างขวางครอบคลุมพอ จึงหนีไม่พ้นจากอิทธิพลความเห็นและความเข้าใจพื้นฐานต่อพุทธธรรมของบุคคลผู้แสดงนั้น

     ในเรื่องนี้ เห็นว่า ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่ง ที่ควรนำมาเป็นเครื่องวินิจฉัยด้วย คือความเป็นไปในพระชนม์ชีพ และพระปฏิปทาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นแหล่ง หรือที่มาของคำสอนเอง

     พระพุทธจริยา รวมทั้งบรรดาพุทธกิจ คือ สิ่งที่พระองค์ผู้ทรงสอนได้กระทำ ในบางกรณีอาจแสดงพุทธประสงค์ที่แท้จริงได้ดีหรือชัดกว่าคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ อย่างน้อยก็เป็นเครื่องประกอบความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงหากจะมีผู้ติงว่า องค์ประกอบข้อนี้ ก็ได้จากคัมภีร์ต่างๆ เช่นเดียวกับคำสอน และขึ้นต่อการตีความได้เหมือนกัน แม้กระนั้น ก็ยังต้องยอมรับอยู่นั่นเองว่า เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาที่มีประโยชน์มาก


     จากหลักฐานต่างๆทางฝ่ายคัมภีร์และประวัติศาสตร์ พอจะวาดภาพเหตุการณ์ และสภาพสังคมครั้งพุทธกาล ได้คร่าวๆ ดังนี้

     พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในชมพูทวีป  เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีล่วงแล้ว ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองแคว้นศากยะซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของชมพูทวีป ติดเชิงเขาหิมาลัย ในฐานะโอรสกษัตริย์ และเป็นความหวังของราชตระกูล พระองค์จึงได้รับการปรนปรือด้วยโลกียะสุขต่างๆ อย่างเพียบพร้อม และได้ทรงเสวยความสุขอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานถึง ๒๙ ปี ทรงมีทั้งพระชายาและพระโอรส

     ครั้งนั้น ในทางการเมือง  รัฐบางรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตยกำลังเรืองอำนาจขึ้น และกำลังพยายามทำสงครามแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขตออกไป รัฐหลายรัฐโดยเฉพาะที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม  (หรือแบบสาธารณรัฐ)  กำลังเสื่อมอำนาจลงไปเรื่อยๆ บางรัฐ ก็ถูกปราบรวมเข้าในรัฐอื่นแล้ว บางรัฐ ที่ยังเข้มแข็งก็อยู่ในสภาพตึงเครียด สงครามอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แม้รัฐใหญ่ที่เรืองอำนาจ ก็มีการขัดแย้งรบพุ่งกันบ่อยๆ

     ในทางเศรษฐกิจ  การค้าขายกำลังขยายตัวกว้างขวางขึ้น เกิดมีคนประเภทหนึ่ง มีอิทธิพลมากขึ้นในสังคม คือ พวกเศรษฐี ซึ่งมีสิทธิมีเกียรติยศ และอิทธิพลมากขึ้นแม้ในราชสำนัก

     ในทางสังคม คนแบ่งออกเป็น ๔ วรรณะ ตามหลักคำสอนของพราหมณ์ มีสิทธิเกียรติฐานะทางสังคมและอาชีพการงาน แตกต่างกันไปตามวรรณะของตนๆ แม้นักประวัติศาสตร์ฝ่ายฮินดูจะว่า การถือวรรณะในยุคนั้น ยังไม่เคร่งครัดนัก แต่อย่างน้อยคนวรรณะศูทร ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟัง หรือกล่าวความในพระเวทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ได้ ทั้งมีกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรงถึงผ่าร่างกายเป็น ๒ ซีกด้วย และ คนจัณฑาล หรือ พวกนอกวรรณะก็ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษาเลย การกำหนดวรรณะก็ใช้ชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยก โดยเฉพาะพวกพราหมณ์ กำลังพยายามยกตนขึ้น ถือตนว่าเป็นวรรณะสูงสุด

     ส่วนในทางศาสนา   พวกพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้รักษาศาสนาพราหมณ์สืบต่อกันมาก็ได้พัฒนาคำสอนในด้านลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ให้ลึกลับซับซ้อนใหญ่โตโอ่อ่าขึ้นพร้อมกับที่ไร้เหตุผลลงโดยลำดับ การที่ทำดังนี้ มิใช่เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาเท่านั้น แต่มุ่งสนองความต้องการของผู้มีอำนาจที่จะแสดงเกียรติยศ ความยิ่งใหญ่ของตนประการหนึ่ง และด้วยมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทน ที่จะได้จากผู้มีอำนาจเหล่านั้น อย่างหนึ่ง

     พิธีกรรมเหล่านี้ ล้วนชักจูงให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเองมากขึ้น เพราะหวังผลตอบแทนเป็นทรัพย์สมบัติและกามสุขต่างๆ พร้อมกันนี้ ก็ก่อความเดือดร้อนแก่คนชั้นต่ำ พวกทาสกรรมกรที่ต้องทำงานหนัก และการทารุณต่อสัตว์ด้วยการฆ่าบูชายัญครั้งละเป็นจำนวนมากๆ  (ดูวาเสฏฐสูตร และ พราหมณ์ธัมมิกสูตร)

     ในเวลาเดียวกันนี้ พราหมณ์จำนวนหนึ่งได้คิดว่า พิธีกรรมต่างๆ ไม่สามารถให้ตนประสบชีวิตนิรันดรได้ จึงได้เริ่มคิดเอาจริงเอาจังกับปัญหาเรื่องชีวิตนิรันดร และหนทางที่จะนำไปสู่ภาวะเช่นนั้น ถึงกับยอมปลีกตัวออกจากสังคมไปคิดค้นแสวงคำตอบอาศัยความวิเวกอยู่ในป่า


     คำสอนของศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้ ซึ่งเรียกว่า ยุคอุปนิษัท ก็มีความขัดแย้งกันเองมาก บางส่วนอธิบายเพิ่มเติมเรื่องพิธีกรรมต่างๆ บางส่วนกลับประณามพิธีกรรมเหล่านั้น และในเรื่องชีวิตนิรันดรก็มีความเห็นต่างๆกัน มีคำสอนเรื่องอาตมันแบบต่างๆ ที่ขัดกัน จนถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า อาตมัน คือ พรหมัน ที่เป็นมา และแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง  มีภาวะที่อธิบายไม่ได้  อย่างที่เรียกว่า  “เนติ เนติ”  (ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นั่น) เป็นจุดหมายสูงสุดของการบำเพ็ญเพียรทางศาสนา และพยายามแสดงความหมายโต้ตอบ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสภาพของภาวะเช่นนี้ พร้อมกับที่หวงแหนความรู้เหล่านี้ไว้ ในหมู่ของพวกตน

     พร้อมกันนั้น นักบวชอีกพวกหนึ่ง  ซึ่งเบื่อหน่ายต่อความไร้สาระแห่งชีวิตในโลกนี้ก็ได้ไปบำเพ็ญเพียรแบบต่างๆ ตามวิธีการของพวกตนๆ ด้วยหวังว่าจะได้พบชีวิตอมตะ หรือ ผลสำเร็จอันวิเศษอัศจรรย์ต่างๆ ที่ตนหวังบ้าง ก็บำเพ็ญตบะทรมานตนด้วยประการต่างๆ ตั้งต้นแต่อดอาหาร ไปจนถึงการทรมานร่างกายแบบแปลกๆ ที่คนธรรมดาคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ บ้างก็บำเพ็ญสมาธิ ได้ฌานจนถึงรูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ บ้างก็บำเพ็ญฌานจนเชียวชาญชำนาญถึงขั้นที่กล่าวว่าทำปาฏิหาริย์ได้ต่างๆ

     อีกด้านหนึ่ง นักบวชประเภทที่เรียกว่าสมณะ อีกหลายหมู่หลายพวก ซึ่งได้สละเหย้าเรือนออกบวชแสวงหาจุดหมายชีวิตเช่นเดียวกัน ก็ได้เร่ร่อนท่องเที่ยวไปในบ้านเมืองต่างๆ ถกเถียงถามปัญหากันบ้าง ตั้งตนเป็นศาสดาแสดงทัศนะของตนต่างๆ กันหลายแบบหลายอย่าง
การเพียรแสวงหาจุดหมาย และเผยแพร่แสดงแข่งลัทธิกันนี้ ได้ดำเนินไปอย่างแข็งขันเข้มข้น จนปรากฏว่า เกิดมีลัทธิต่างๆขึ้นเป็นอันมาก เฉพาะที่เด่นๆ ซึ่งกล่าวถึงบ่อยในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึง ๖ ลัทธิ

     สภาพเช่นนี้  สรุปสั้นๆ คงได้ความว่า  ยุคนั้น  คนพวกหนึ่ง  กำลังรุ่งเรืองขึ้นด้วยอำนาจวาสนา และกำลังเพลิดเพลินมัวเมา แสวงหาทรัพย์สมบัติ และ ความสุขทางวัตถุต่างๆ พร้อมกับที่คนหลายพวก กำลังมีฐานะ และความเป็นอยู่ด้อยลงๆ ทุกที ไม่ค่อยได้รับความเหลียวแล ส่วนคนอีกพวกหนึ่ง  ก็ปลีกตัวออกไปเสียจากสังคมทีเดียว  ไปมุ่งมั่นค้นหาความจริงในทางปรัชญา โดยมิได้ใส่ใจสภาพสังคมเช่นเดียวกัน

     เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับความปรนปรือด้วยโลกียะสุขอยู่เป็นเวลานานถึง  ๒๙ ปี และมิใช่เพียงปรนปรือเอาใจเท่านั้น  ยังได้ทรงถูกปิดกั้นไม่ให้พบเห็น สภาพความเป็นอยู่ที่ระคนด้วยความทุกข์ของสามัญชนทั้งหลายด้วย แต่สภาพเช่นนี้ ไม่สามารถถูกปิดบังจากพระองค์ได้เรื่อยไป ปัญหาเรื่องความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ ของมนุษย์ อันรวมเด่นอยู่ที่ความแก่ เจ็บ และตาย เป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ต้องครุ่นคิดแก้ไข

     ปัญหานี้ คิดสะท้อนออกไปในวงกว้าง ให้เห็นสภาพสังคม ที่คนพวกหนึ่งได้เปรียบกว่า ก็แสวงหาแต่โอกาสที่จะหาความสมบูรณ์พูนสุขใส่ตน แข่งขันแย่งชิง เบียดเบียนกันหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในความสุขเหล่านั้น ไม่คิดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของใคร ดำรงชีวิตอยู่อย่างทาสของวัตถุ ยามสุขก็ละเมอมัวเมาอยู่ในความคับแคบของจิตใจ ถึงคราวถูกความทุกข์ครอบงำ ก็ลุ่มหลงไร้สติเหี่ยวแห้งคับแค้นกับตัวเอง แล้วก็แก่เจ็บตายไปอย่างไร้สาระ ฝ่ายคนที่เสียเปรียบ ไม่มีโอกาส ถูกบีบคั้นกดขี่อยู่อย่างคับแค้น แล้วก็แก่เจ็บตายไปโดยไร้ความหมาย

     เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมองเห็นสภาพเช่นนี้แล้ว ทรงเบื่อหน่ายในสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ มองเห็นความสุข ความปรนปรือเหล่านั้น เป็นของไร้สาระ ทรงคิดหาทางแก้ไข จะให้มีความสุขที่มั่นคงเป็นแก่นสาร ทรงคิดแก้ปัญหานี้ไม่ตก และสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ ท่ามกลางความเย้ายวน สับสนวุ่นวายเช่นนั้น ไม่อำนวยแก่การใช้ความคิดที่ได้ผล ในที่สุด ทรงมองเห็นภาพพวกสมณะ ซึ่งเป็นผู้ได้ปลีกตัวจากสังคมไปค้นคว้าหาความจริงต่างๆโดยมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ปราศจากกังวล และสะดวกในการแสวงหาความรู้ และคิดหาเหตุผล สภาพความเป็นอยู่แบบนี้น่าจะช่วยพระองค์ให้แก้ปัญหานี้ได้ และบางทีสมณะพวกนั้น ที่ไปคิดค้นหาความจริงกันต่างๆ บางคนอาจมีอะไรบางอย่างที่พระองค์จะเรียนรู้ได้บ้าง

     เมื่อถึงขั้นนี้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกบรรพชา อย่างพวกสมณะที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาหาความรู้เท่าที่พวกนักบวชสมัยนั้นจะรู้และปฏิบัติกัน ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบโยคะ ทรงบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ ถึงอรูปสมาบัติชั้นสูงสุด กับทั้งอิทธิปฏิหาริย์อย่างเชียวชาญ ทรงบำเพ็ญตบะทรมานพระองค์

     ในที่สุดก็ทรงตัดสินได้ว่า วิธีการของพวกนักบวชเหล่านี้ทั้งหมด ไม่สามารถแก้ปัญหาดังที่พระองค์ทรงประสงค์ได้ เมื่อเทียบกับชีวิตของพระองค์ก่อนเสด็จออกบรรพชาแล้ว ก็นับว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างเอียงสุดทั้งสองฝ่าย พระองค์  จึงทรงหันมาดำเนินการคิดค้นของพระองค์เอง ต่อมาจนในที่สุดได้ตรัสรู้   ธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนี้ต่อมาเมื่อทรงนำไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง  ทรงเรียกว่า “มัชเฌนธรรม” หรือ หลักธรรมสายกลาง และทรงเรียกข้อปฏิบัติอันเป็นระบบที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ ทางสายกลาง

     จากความท่อนนี้ จะมองเห็นทัศนะตามแนวพุทธธรรม ว่า การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างลุ่มหลงหมกมุ่น ปล่อยตัวไปเป็นทาสตามกระแสกิเลส ก็ดี การหลีกหนีออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอย่างใดต่อสังคม อยู่อย่างทรมานตนก็ดี นับว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ผิด เอียงสุดด้วยกันทั้งสองอย่าง ไม่สามารถให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีความหมายแท้จริงได้

     เมื่อตรัสรู้แล้วเช่นนี้ พระองค์ จึงเสด็จกลับคืนมาทรงเริ่มต้นงานสั่งสอนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมของชาวโลกอย่างหนักแน่นจริงจัง และทรงดำเนินงานนี้จนตลอด ๔๕ ปี แห่งพระชนม์ชีพระยะหลัง

     แม้ไม่พิจารณาเหตุผลด้านอื่น มองเฉพาะในแง่สังคมอย่างเดียว ก็จะเห็นว่า พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยนั้น จะสำเร็จผลดีที่สุด ก็ด้วยการทำงานในบรรพชิตเพศเท่านั้น พระองค์ จึงได้ทรงชักจูงคนชั้นสูงจำนวนมาก ให้ละความมั่งมีศรีสุขออกบวช ศึกษาเข้าถึงธรรมของพระองค์แล้ว ร่วมทำงานอย่างเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ด้วยการจาริกไปเข้าถึงคนทุกชั้นวรรณะ และทุกถิ่นที่จะไปถึงได้ ทำให้บำเพ็ญประโยชน์ได้กว้างขวาง

     อีกประการหนึ่ง คณะสงฆ์เองก็เป็นแหล่งแก้ปัญหาสังคมได้อย่างสำคัญ เช่น ในข้อว่า ทุกคนไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เข้าบวชแล้วก็มีสิทธิเสมอกันทั้งสิ้น

     ส่วนเศรษฐี คฤหบดี ผู้ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละได้เต็มที่ ก็ให้คงครองเรือนอยู่เป็นอุบาสกอุบาสิกา คอยช่วยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ในการบำเพ็ญกรณียกิจของท่าน และนำทรัพย์สมบัติของตนออกบำเพ็ญประโยชน์สงเคราะห์ประชาชนไปด้วยพร้อมกัน

     การบำเพ็ญกรณียกิจ ทั้งของพระพุทธเจ้า และ ของพระสาวกมีวัตถุประสงค์และขอบเขตกว้างขวางเพียงใด จะเห็นได้จากพุทธพจน์ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า

        “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”  (วินย.4/32/39)

     พุทธธรรมนั้นมีขอบเขตในทางสังคมที่จะให้ใช้ได้ และเป็นประโยชน์แก่บุคคลประเภทใดบ้างพึงเห็นได้จากพุทธพจน์ในปาสาทิกสูตร ซึ่งสรุปความได้ว่า

     พรหมจรรย์  (คือพระศาสนา) จะชื่อว่า สำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เป็นปึกแผ่น ถึงขั้นที่ว่าเทวดา และมนุษย์ประกาศไว้ดีแล้ว ต่อเมื่อมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบถ้วน คือ

        ๑. องค์พระศาสดา เป็นเถระ รัตตัญญู ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

        ๒. มีภิกษุสาวก ที่เป็นเถระ มีความรู้เชียวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี แกล้วกล้า อาจหาญ บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ สามารถแสดงธรรมให้เห็นผลจริงจัง กำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้ง หรือวาทะฝ่ายตรงข้าม) ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม และมีภิกษุสาวกชั้นกลาง และชั้นนวกะที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

        ๓. มีภิกษุณีสาวิกา ชั้นเถรี ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

        ๔. มีอุบาสก ทั้งประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

        ๕. มีอุบาสิกา ทั้งประเภทพรหมจารินี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

     เพียงแต่ขาดอุบาสิกาประเภทครองเรือนเสียอย่างเดียว พรหมจรรย์ ก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์เป็นปึกแผ่นดี. (ดู ปาสารทิกสูตร ที.ปา. 11/104/135.)  (พึงสังเกตความหมาย “พรหมจรรย์” ที่ครอบคลุมผู้ครองเรือนด้วย)

     ความตอนนี้แสดงว่า พุทธธรรมเป็นคำสอนที่มุ่งสำหรับคนทุกประเภททั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์คือครอบคลุมสังคมทั้งหมด.


235 ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม

   ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ ๒ อย่าง คือ

        ๑. แสดงหลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า "มัชเฌนธรรม” หรือ เรียกเต็มว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ ตามกระบวนการของธรรมชาตินำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายามที่จะเข้าถึงสัจธรรม ด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้น แล้วยึดมั่นปกป้องทฤษฎีนั้น ๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา

        ๒. แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”  อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน   ผู้รู้เท่าทันชีวิต   ไม่หลงงมงาย   มุ่งผลสำเร็จ คือ ความสุข สะอาด สว่างสงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้ ในทางปฏิบัติ ความเป็นสายกลางนี้ เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพชีวิตของบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ เป็นต้น

     พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาท และ กิริยวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล

     การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้ ความรู้ในหลักที่ว่า มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี การประพฤติตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพ และระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควร แก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ ถ้าความห่วงใย ในเรื่องชีวิตหลังจากโลกนี้มีอยู่ ก็จงทำชีวิตดีงามอย่างที่ต้องการนั้นให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติแต่บัดนี้ จนมั่นใจตนเองว่าจะไปดี โดยไม่ต้องกังวล หรือหวาดหวั่น ต่อโลกหน้านั้นเลย  (สํ.ม.19/1572/487)

     ทุกคน มีสิทธิเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงผลสำเร็จเหล่านี้ แม้ว่าความสามารถจะต่างกัน ทุกคนจึงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะสร้างผลสำเร็จนั้นตามความสามารถของตน และความสามารถนั้น ก็เป็นสิ่งดัดแปลงเพิ่มพูนได้ จึงควรให้ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถของตนอย่างดีที่สุด และแม้ว่าผลสำเร็จที่แท้จริง ทุกคนจะต้องทำด้วยตนเอง โดยตระหนักในความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มที่ แต่ทุกคนก็เป็นอุปกรณ์ในการช่วยตนเองของคนอื่นได้ ดังนั้น หลักอัปปมาทธรรม และหลักความมีกัลยาณมิตร จึงเป็นหลักธรรมที่เด่น และเป็นข้อที่เน้นหนักทั้งสองอย่าง ในฐานะความรับผิดชอบต่อตนเองฝ่ายหนึ่ง กับ ปัจจัยภายนอกที่จะช่วยเสริมอีกฝ่ายหนึ่ง

     หากจะยกเอาผลงาน และ พระจริยาของพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นหลักพิจารณา จะมองเห็นแนวทาง การบำเพ็ญพุทธกิจ ที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ทรงพยายามล้มล้างความเชื่อถืองมงาย ในเรื่องพิธีกรรมอันเหลวไหลต่างๆ โดยเฉพาะการบูชายัญ ด้วยการสอนย้ำถึงผลเสียหาย และความไร้ผลของพิธีกรรมเหล่านั้น

     การที่ทรงสอนเน้นนักให้ละเลิกการบูชายัญ ก็เพราะยัญพิธีเหล่านั้น ทำให้คนมัวแต่หวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก อย่างหนึ่ง ทำให้คนกระหายทะยาน และคิดหมกมุ่นในผลประโยชน์ทางวัตถุเพิ่มพูนความเห็นแก่ตน ทำการเบียดเบียนชีวิต โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์และสัตว์ อย่างหนึ่ง ทำให้คนคิดหวังแต่เรื่องอนาคต จนไม่คิดปรับปรุงปัจจุบัน อย่างหนึ่ง แล้วทรงสอนย้ำหลักแห่งทาน ให้เสียสละแบ่งปันและสงเคราะห์กันในสังคม

     สิ่งต่อไป ที่ทรงพยามสอนหักล้าง คือ ระบบความเชื่อเรื่องวรรณะ ที่นำเอาชาติกำเนิดเป็นขีดขั้นจำกัดสิทธิและโอกาส ทั้งในทางสังคม และ ทางจิตใจของมนุษย์ ทรงตั้งคณะสงฆ์ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะ ให้เข้าสู่ความเสมอภาคกัน เหมือนทะเลที่รับน้ำจากแม่น้ำทุกสายกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน (องฺ.อฏฺฐก.23/109/205) ทำให้เกิดสถาบันวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรม และการศึกษาที่สำคัญยิ่ง จนศาสนาฮินดูต้องนำไปจัดตั้งขึ้นบ้าง ในศาสนาของตน เมื่อหลังพุทธกาลราว ๑,๔๐๐ หรือ ๑,๗๐๐ ปี

     ตามหลักพุทธธรรม ทั้งสตรีและบุรุษสามารถเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้เช่นเดียวกัน เมื่อได้ทรงตั้งภิกขุสังฆะขึ้นแล้ว หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แม้ว่าสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ ก็ได้ทรงตั้งภิกขุนีสังฆะขึ้น โดยทรงกระทำด้วยความตระหนักพระทัย ถึงความยากลำบาก และด้วยความความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะเตรียมการวางรูป ให้สภาพการณ์ให้นักบวชสตรีนี้ ดำรงอยู่ด้วยดีในสังคมสมัยนั้น ในขณะที่โอกาสของสตรีในการศึกษาทางจิตใจ ได้ถูกศาสนาพระเวทจำกัดแคบเข้ามาจนปิดตายไปแล้ว

     ประการต่อไป ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้ เพื่อให้คนทุกชั้น ทุกระดับการศึกษาได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง ตรงข้ามกับศาสนาพราหมณ์ ที่ยึดความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และจำกัดความรู้ชั้นสูงไว้ในวงแคบของพวกตนด้วยวิธีการต่างๆโดยเฉพาะ คือ ด้วยการใช้ภาษาเดิมของสันสกฤต ซึ่งรู้จำกัดในหมู่พวกตนเป็นสื่อถ่ายทอดและรักษาคัมภีร์ แม้ต่อมา จะมีผู้ขออนุญาตพระพุทธเจ้า ให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ภาษาพระเวท พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ทรงยืนยันให้ใช้ภาษาของประชาชนตามเดิม  (วินย.7/181/70.)

     ประการต่อไป ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ที่จะทำเวลาให้สูญเสียไปกับการถกเถียงปัญหา ที่เกี่ยวกับการเก็งความจริงทางปรัชญา ซึ่งไม่อาจนำมาพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยวิธีแสดงเหตุผลทางคำพูด ถ้าใครถามปัญหาเช่นนี้ พระองค์จะทรงยับยั้งเสีย แล้วดึงผู้นั้นกลับมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะต้องเกี่ยวข้อง และปฏิบัติได้ในชีวิตจริงโดยทันที (อง.ทสก. 24/95-96/206-212) สิ่งที่จะพึงรู้ได้ด้วยคำพูด ทรงแนะนำด้วยคำพูด สิ่งที่จะพึงรู้ด้วยการเห็น ทรงให้เขาดู มิใช่ให้ดูสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยคำพูด

     ทั้งนี้ ทรงสอนพุทธธรรมโดยปริยายต่างๆ เป็นอันมาก มีคำสอนหลายระดับ ทั้งสำหรับผู้ครองเรือน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ผู้สละเรือนแล้ว ทั้งคำสอนเพื่อประโยชน์ทางวัตถุ และเพื่อประโยชน์ลึกซึ้งทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมทั่วถึงกัน พุทธกิจที่กล่าวมานี้ เป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมที่พูดมาแล้วข้างต้น

     การที่ต้องสอนพุทธธรรมท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ และ ความเชื่อถือตามลัทธิต่างๆของพวกสมณะสมัยนั้น ทำให้พระพุทธเจ้า ต้องทรงเกี่ยวข้องกับถ้อยคำทางศาสนา ในลัทธิความเชื่อถือเหล่านั้น ทั้งโดยการได้รับฟัง และการพูดพาดพิงถึง และโดยที่พระองค์มีพระประสงค์ให้พุทธธรรมเผยแพร่ไป เป็นที่เข้าใจและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็ว จึงปรากฏว่าพระองค์มีวิธีการปฏิบัติต่อถ้อยคำทางศาสนาเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ไม่ทรงนิยมหักล้างความเชื่อถือเดิมในรูปถ้อยคำที่ใช้ ทรงหักล้างเฉพาะแต่ตัวความเชื่อถือที่แฝงอยู่เป็นความหมายของถ้อยคำเหล่านั้นเท่านั้น กล่าวคือ ไม่ทรงวิธีใช้รุนแรง แต่ทรงให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปเองโดยรู้เข้าใจใช้ปัญญา ด้วยการศึกษาพัฒนาคนขึ้นไป

     โดยนัยนี้   พระองค์จึงทรงนำคำบัญญัติ    ที่ใช้กันอยู่ในศาสนาเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ตามแนวของพุทธธรรมโดยเฉพาะบ้าง ทรงสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิมบ้าง เช่น ใช้ “พรหม” เป็นชื่อของสัตว์โลกที่เกิดตายประเภทหนึ่ง บ้าง หมายถึง บิดามารดาบ้าง ทรงเปลี่ยนความเชื่อถือ เรื่องกราบไหว้ทิศ ๖ ตามธรรมชาติ มาเป็นการปฏิบัติหน้าที่ และรักษาความสัมพันธ์รูปต่างๆ ในสังคม เปลี่ยนความหมายของการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์ สำหรับยัญพิธี ๓ อย่างของพราหมณ์ มาเป็นความรับผิดชอบทางสังคมต่อบุคคล 3 ประเภท เปลี่ยนการตัดสินความเป็นพราหมณ์ และอารยะโดยชาติกำเนิด มาเป็นตัดสินด้วยการประพฤติปฏิบัติ

     บางครั้ง ทรงสอนให้ดึงความหมายบางส่วนในคำสอนของศาสนาเดิมมาใช้แต่ในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ คำใดในศาสนาเดิม ถูกต้องดีงาม ก็ทรงรับรอง โดยถือความถูกต้องดีงามเป็นของสากลโดยธรรมชาติ ในกรณีที่หลักความประพฤติปฏิบัติในศาสนาเดิมมีความหมายหลายอย่าง ทรงชี้แจงว่าแง่ใดถูก แง่ใดผิด ทรงยอมรับและให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในแง่ที่ดีงามถูกต้อง

     บางครั้ง ทรงสอนว่า ความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาดเสียหายบางอย่างของศาสนาเดิมในสมัยนั้น เป็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในศาสนานั้นเอง ซึ่งในครั้งดั้งเดิมทีเดียว คำสอนของศาสนานั้นก็ดีงามถูกต้อง และทรงสอนให้รู้ว่า คำสอนเดิมที่ดีของศาสนานั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างในข้อนี้ มีเรื่อง ตบะ การบูชายัญ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง และเรื่องพราหมณ์ธรรม (องฺ.ทสก. 24/94/204) เป็นต้น

     ข้อความที่กล่าวมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นความใจกว้างของพุทธธรรม และ การที่พระพุทธเจ้า ทรงตั้งพระทัยสอนแต่ความจริง และ ความดีงามถูกต้องที่เป็นกลางๆ แล้วยังเป็นเรื่องสำหรับเตือน ให้รู้จักแยกความหมายคำบัญญัติทางศาสนาที่ใช้ในพุทธธรรมกับที่ใช้ในศาสนาอื่นๆด้วย

     อนึ่ง เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิม และแตกต่างกันไปได้หลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อ มีพื้นความรู้การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง นำเอาความรู้ ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่น เข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง อิทธิพลศาสนา และวัฒนธรรม ในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง คำสอนบางแง่เด่นขึ้น บางแง่เลือนลง เพราะการย้ำ และ เลี่ยงความสนใจ ตามความโน้มเอียง และความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง ทำให้เกิดความแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ เช่น ที่แยกเป็นมหายานกับเถรวาทตลอดจนนิกายย่อยๆ ในสองนิกายใหญ่นั้น

     สำหรับเถรวาทนั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนิกายที่รักษาแบบแผนและคำสอนดั้งเดิมไว้ได้แม่นยำ ก็มิใช่จะพ้นไปจากความแปรเปลี่ยนได้โดยสิ้นเชิง คำสอนบางส่วน แม้ที่อยู่ในคัมภีร์เอง ก็ยังเป็นปัญหาที่คนรุ่นปัจจุบันต้องนำมาถกเถียงคิดค้นหาหลักฐานยืนยัน หรือปฏิเสธความเป็นของแท้แต่ดั้งเดิมยิ่งความรู้ความเข้าใจ ที่ประชาชนเชื่อถือและปฏิบัติอยู่ด้วยแล้ว ความคลาดเคลื่อนก็ยิ่งมีได้มากและชัดเจนยิ่งขึ้น บางกรณีกับเสมือนเป็นของตรงข้ามกับคำสอนเดิม หรือเกือบจะกลายไปเป็นลัทธิอื่น ที่คำสอนเดิมคัดค้านแล้วก็มี

     ยกตัวอย่างในประเทศไทยนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “กรรม” ความเข้าใจของคนทั่วไป ก็จะเพ่งไปยังกาละส่วนอดีตเจาะจงเอาการกระทำในชาติที่ล่วงแล้วหรือชาติก่อนๆบ้าง เพ่งไปยังปรากฏการณ์ส่วนผล คือ นึกถึงผลที่ปรากฏในปัจจุบันของการกระทำในอดีตบ้าง เพ่งไปยังแง่ที่เสียหายเลวร้าย คือ การกระทำชั่วฝ่ายเดียวบ้าง เพ่งไปยังอำนาจแสดงผลร้ายของการกระทำความชั่วในชาติก่อนบ้าง และโดยมาก เป็นความเข้าใจตามแง่ต่างๆ เหล่านี้รวมๆ กันไปทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาตัดสินตามหลักกรรมที่แท้จริงในพุทธธรรมแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า เป็นความเข้าใจที่ห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงเป็นอันมาก


     แม้ข้อธรรมอื่นๆ ตลอดจนคำบัญญัติทางธรรมแต่ละคำๆ เช่น อารมณ์ วิญญาณ บารมี สันโดษ อุเบกขา อธิษฐาน บริกรรม ภาวนา สมถะ สมาธิ วิปัสสนา กาม โลกีย์ โลกุตระ บุญ อิจฉา ฯลฯ ก็ล้วนมีความหมายพิเศษ ในความเข้าใจของประชาชน ซึ่งผิดแปลกไปจากความหมายดั้งเดิมในพุทธธรรมโดยตัวความหมายเองบ้าง โดยขอบเขตความหมายบ้าง มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคำนั้นๆ ในการศึกษาพุทธธรรม จำเป็นต้องแยกความหมายในความเข้าใจของประชาชนส่วนที่คลาดเคลื่อนนี้ออกไปต่างหาก จึงจะสามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้

     ในการแสดงพุทธธรรมต่อไปนี้ ผู้แสดงถือว่าได้พยายามที่จะแสดงตัวพุทธธรรมแท้อย่างที่องค์พระบรมศาสดาทรงสอนและทรงมุ่งหมาย ในการนี้ ได้ตัดความหมายอย่างที่ประชาชนเข้าใจออกโดยสิ้นเชิง ไม่นำมาพิจารณาเลย เพราะถือว่าเป็นเรื่องข้างปลาย ไม่จำเป็นต่อการเข้าใจตัวพุทธธรรมที่แท้แต่ประการใด

     แหล่งสำคัญอันเป็นที่มาของเนื้อหา และความหมายของพุทธธรรมที่จะแสดงต่อไปนี้ ได้แก่ คัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งในที่นี้ ถ้าไม่มีกรณีเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ  จะหมายถึงพระไตรปิฎกบาลีอย่างเดียว เพราะเป็นคัมภีร์ที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าเป็นแหล่งรวบรวมรักษาพุทธธรรม ที่แม่นยำและสมบูรณ์ที่สุด  แม้กระนั้น  ก็ได้เลือกสรรเอาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าเป็นหลักการดั้งเดิม  เป็นความหมายแท้จริงมาแสดง  โดยยึดเอาหลักความกลมกลืนสอดคล้องกันในหน่วยรวมเป็นหลัก และเพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น  จึงได้นำพุทธจริยา และพุทธกิจ ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาประกอบการพิจารณาตัดสินแนวทาง และขอบเขตของพุทธธรรมด้วย

     เมื่อได้หลักการพิจารณาเหล่านี้มาเป็นเครื่องกำกับการแสดงแล้ว ก็มั่นใจว่าจะสามารถแสดงสาระแห่งพุทธธรรมได้ใกล้เคียงตัวแท้เป็นอย่างยิ่ง

     อย่างไรก็ตาม ในขั้นพื้นฐาน การแสดงนี้ก็ยังต้องขึ้นกับกำลังสติปัญญาของผู้แสดง และความโน้มเอียงบางอย่างที่ผู้แสดงเองอาจไม่รู้ตัวอยู่นั่นเอง ฉะนั้น จึงขอให้ถือว่าเป็นความพยายามครั้งหนึ่ง ที่จะแสดงพุทธธรรมให้ถูกต้องที่สุดตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและมุ่งหมาย โดยอาศัยวิธีการและหลักการแสดงพร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่เชื่อว่าให้ความมั่นใจมากที่สุด

     ถ้าแยกพุทธธรรมออกเป็น ๒ ส่วน คือ สัจธรรมส่วนหนึ่ง กับ จริยธรรมส่วนหนึ่ง แล้วกำหนดความหมายขึ้นใช้ในที่นี้โดยเฉพาะ  โดยกำหนดให้สัจธรรมเป็นส่วนแสดงสภาวะ หรือ รูปลักษณะตัวจริง และให้จริยธรรมเป็นฝ่ายข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหมด  ก็จะเห็นว่าสัจธรรมในพุทธธรรม ย่อมหมายถึงคำสอนเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลาย หรือ ธรรมชาติ และความเป็นไปโดยธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย หรือ กฎธรรมชาตินั่นเอง  ส่วนจริยธรรม  ก็หมายถึงการถือเอาประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจในสภาพ และความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย  หรือการรู้กฎธรรมชาติแล้วนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์   อีกนัยหนึ่ง สัจธรรม คือธรรมชาติ และกฎธรรมดา จริยธรรมคือความรู้ในการประยุกต์สัจธรรม   หลักการทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับตัวการนอกเหนือธรรมชาติ เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น แต่ประการใด


     ด้วยเหตุนี้  ในการแสดงพุทธธรรมเพื่อความรู้ความเข้าใจที่มุ่งในแนวทฤษฎี  คือ มุ่งให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร  จึงควรแสดงควบคู่กันไปทั้งสัจธรรมและจริยธรรม   คือ   แสดงหลักคำสอนในแง่สภาวะแล้วชี้ถึงคุณค่าที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติไว้ด้วยให้เสร็จไปแต่ละอย่างๆ

     ดังนั้น  บทตอนทั้งหลายในหนังสือนี้   ที่ว่าด้วยธรรมซึ่งเป็นฝ่ายสภาวะ จึงมีส่วนที่กล่าวถึงคุณค่าทางจริยธรรมประกอบไว้ด้วย  เช่น  เมื่อกล่าวถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตเสร็จแล้ว  ก็กล่าวถึงความหมายและคุณค่าในทางปฏิบัติของความรู้ความเข้าใจนั้นต่อท้ายด้วย   แม้มองอย่างกว้างตลอดทั้งเล่ม  ก็ดำเนินตามแนวนี้เช่นเดียวกัน  กล่าวคือ   ภาคแรกทั้งหมดแสดงธรรมฝ่ายสภาวะ และตัวกฎของธรรมชาติ  เรียกว่า  มัชเฌนธรรมเทศนา  ภาคหลังกล่าวถึงความรู้ภาคปฏิบัติ  คือ  การนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะและตัวกฎนั้นไปใช้ประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ   หรือดำเนินชีวิตจริง  เรียกว่า  มัชฌิมาปฏิปทา

 
     อย่างไรก็ดี  ถ้ามองโดยถือเอาหลักธรรมสำคัญเป็นแม่บท   ลำดับเนื้อหาของหนังสือนี้  ก็สอดคล้องกับวิธีแสดงแบบอริยสัจ  กล่าวคือ  การแสดงแบบอริยสัจนั้น  มุ่งผลในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ  จึงเริ่มด้วยปัญหาที่ปรากฎโดยเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาและสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปัญหานั้นก่อน   แล้วค้นหาสาเหตุ  กำหนดจุดหมาย  และวางวิธีแก้ไข  แม้ในหนังสือนี้  ก็เริ่มด้วยสภาวะของชีวิตที่เป็นปัญหา  แล้วสืบสาวความรู้เกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา   บรรยายถึงจุดหมายและชี้แนะวิธีการแก้ปัญหาเพื่อลุถึงจุดหมายนั้น  ต่อเนื่องกันไปตามลำดับ  โดยนัยนี้แม้ว่าดูผิวเผินจะมองเห็นเป็นเสมือนธรรมบรรยายแนวใหม่  แต่ในสาระสำคัญ  แนวประพันธ์ยังคงดำเนินตามเทศนาวิธีที่เป็นของดั่งเดิมนั่นเอง* (เทศนานุกรม ใน ม.อ.2/295)


     อนึ่ง  ในบางตอนของข้อเขียนนี้ ได้แสดงความหมายภาษาอังกฤษของศัพท์ธรรมที่สำคัญๆ  ไว้ด้วย  โดยเหตุผลอย่างน้อย  ๓  อย่าง  คือ  ประการแรก   ในภาษาไทยปัจจุบัน ได้มีผู้นำศัพท์ธรรมบางคำมาใช้เป็นศัพท์บัญญัติ   สำหรับคำในภาษาอังกฤษ  ที่มีความหมายไม่ตรงกันกับศัพท์ธรรมนั้น  อันอาจทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้   จึงนำความหมายในภาษาอังกฤษมาแสดงควบไว้ด้วย   เพื่อไม่ให้ผู้อ่านถือไปตามความหมายที่มีผู้บัญญัติใช้ใหม่ในภาษาไทย   ประการที่สอง   จำต้องยอมรับความจริงว่า  นักศึกษาวิชาการสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยเข้าใจความหมายในภาษาไทยได้ชัดเจนขึ้นในเมื่อเห็นคำภาษาอังกฤษควบอยู่ด้วย  ประการที่สาม  ตำราภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้  มีจำนวนมาก  การรู้ความหมายศัพท์ธรรมที่นิยมใช้ในภาษาอังฤษ   ย่อมเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาที่ต้องการค้นคว้าอย่างกว้างขวางต่อไป
 
 


Create Date : 18 มกราคม 2567
Last Update : 19 มกราคม 2567 7:24:25 น. 0 comments
Counter : 156 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space