อินโดจีน ย้อนอดีต เคียงคู่ อินโดนีเซีย ในหนังสือนี้
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samathijit&month=11-2021&date=24&group=29&gblog=13 ได้ปรารภเรื่องทัพ
มุสลิมเตอร์ก ที่ยกมาตีชมพูทวีป และตั้งรัฐสุลต่านขึ้นที่เดลี เมื่อ ค.ศ.
1206/ พ.ศ.๑๗๔๙ โดยบอกให้ทราบว่า การทำลายล้างครั้งนั้น เป็นจุดกำหนดแห่งการสูญสิ้นไปของพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย และได้เล่าความเป็นมาของชาว
มุสลิมเตอร์กนั้นไว้ อันสืบเนื่องจาก
การเกิดขึ้นของศาสนาอิสลาม ที่นับตาม
ฮิจเราะฮ์ศักราช เริ่มแต่ ค.ศ.
622/ พ.ศ.๑๑๖๕ ทั้งนี้ ได้เล่าไว้เพียงเท่าที่เกี่ยวกับชมพูทวีป
เนื่องจากประวัติศาสตร์ของชมพูทวีปในอดีต เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ
ประเทศไทย และดินแดนข้างเคียงโดยรอบมาช้านาน จึงเห็นควรเล่าเรื่องของดินแดนแถบนี้ไว้ด้วย เพื่อเป็นส่วนประกอบเสริมความรู้ แต่ในที่นี้จะเน้นเฉพาะดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจาก
ชมพูทวีปนั้นตลอดมาจนถึงยุคที่เปลี่ยนเข้าสู่
ศาสนาอิสลาม ได้แก่
มาเลเซีย และ
อินโดนีเซีย ทั้งนี้ จะพูดไว้เพียงคร่าวๆก่อน
จีน–อินเดีย แล้วเกิดมีอินโดจีน–อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย เป็นอู่อารยธรรมใหญ่ ที่เจริญต่อเนื่องมายาวนานหลายพันปี อีกทั้งสองประเทศนี้ก็ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก จึงมีการเดินทางติดต่อค้าขายถึงกันมาแต่โบราณ
ในช่วงที่ตะวันตกเริ่มต้นคริสต์ศักราช พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองมากในชมพูทวีป และแผ่มาถึงประเทศจีน ดังที่พระเจ้ามิ่งตี่แห่งราชวงศ์ฮั่นได้ทรงรับนับถือพระพุทธศาสนาเมื่อ
ค.ศ.65/พ.ศ.๖๐๘ และในอินเดียเอง ไม่กี่ปีหลังจากนั้น คือใน
ค.ศ.78/พ.ศ.๖๒๑ ก็เข้าสู่ราชสมัยของพระเจ้ากนิษกมหาราช
(มีนครหลวงชื่อปุรุษปุระ คือ Peshawar) องค์พุทธศาสนูปถัมภกที่ถือกันว่ายิ่งใหญ่มาก ถัดจากพระเจ้าอโศกมหาราช
ในยุคแห่งความรุ่งเรืองนี้ ผู้เดินทางระหว่างจีน กับ อินเดีย นอกจากพวกพ่อค้าวาณิชแล้ว ก็มีพระภิกษุที่เป็นธรรมาจารย์ และหลวงจีน ที่จาริกไปเผยแผ่ มาศึกษาและสืบพระพุทธศาสนา มากขึ้นตามลำดับ
จีน กับ อินเดียนั้น แม้จะดินแดนจะไม่ห่างไกลกันนัก แต่มีภูเขาหิมาลัยขวางอยู่ การเดินทางบกไปมาระหว่าง ๒ ประเทศนี้ จึงต้องอ้อมไกลไปโดยทางที่เรียกกันมาว่าทางสายไหม
(Silk Road; เส้นทางนี้ขยายไปเชื่อมกับถนนของจักรวรรดิโรมัน
/Roman roads ด้วย) ผ่านแผ่นดินที่แห้งแล้งกันดารแห่งเอเชียกลาง ข้ามภูเขา และทะเลทราย ยากลำบากอย่างยิ่ง ทั้งยังมีภัยจากโจรผู้ร้าย ตลอดจน
บางกาลบางสมัยมีสงครามและการสู้รบ
ระหว่างคนต่างถิ่นต่างเผ่า เป็นอุปสรรคมาก
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการ
ค้นหาทางเดินเรือขึ้นมาเป็นทางเลือก และการจาริกทางทะเลก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ทางบกนั้น ถ้าจากจีนมาอินเดีย ก็ผ่านเอเชียกลาง อ้อมวกเข้ามาทางแคว้น
โยนก และหรือแคว้น
คันธาระ (คืออัฟกานิสถานและปากีสถานในปัจจุบัน) โดยเฉพาะผ่านเมือง
ตักศิลาแล้วลงมาทางตะวันออกตามลำดับ