<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
24 พฤศจิกายน 2551

สหัสวรรษประเทศไทย ( 4 )



ฤาธุรกิจครอบครัวจะสูญสิ้น : บทเรียนจากตระกูลมารส์

ณ สำนักงานเลขที่ ๖๘๘๕ ถนนเอมสตรีท ชานเมืองแมคลีน
มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา
ภาพชินตาที่ชาวเมืองละแวกนั้นจะเห็นในทุกๆเช้าก็คือ
เมื่อถึงเวลา ๖.๓๐ นาฬิกาตรง จอห์น มารส์ ชายวัยกลางคนอายุ ๕๖ ปี
ขับรถจี๊บสเตชั่นวากอนปี ๑๙๘๙ เทียบเข้าจอดลานจิดรถกะทัดรัด
เคียงข้างกับตึกทำงาน ๒ ชั้น
ตึกเรียบๆธรรมดาที่มองเผินๆละม้ายคล้ายโรงเก็บของ
ไม่มีการตกแต่งหรูหราเหมือนบริษัทชั้นนำอื่นๆ
เขาเปิดประตูชั้นล่างตัวอาคารเข้าไป เปิดไฟ เดินขึ้นบันไดสู่ชั้นสอง
และทำในสิ่งที่บรรดา CEO น้อยคนนักที่อยากจะปฏิบัติ นั่นก็คือ
หยิบบัตรชื่อจอห์น เอฟ มารส์ ตอกบัตรเวลาเข้าทำงานของตัวเอง

ครับ เรากำลังพูดถึง ประธานกรรมการบริหารบริษัท มารส์
บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตขนมหวานและช็อคโกแล็ต
ที่มียอดขายทั่วโลกมากกว่า ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้วยขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่าจ้าวฟาสต์ฟู้ด แม็คโดนัลด์
และบริษัทผู้ผลิตซีเรียลอย่างเคลล็อค
ผลิตภัณฑ์ของมารส์มีทั้งท้อฟฟี่ อมยิ้ม ขนมหวาน ช็อคโกแล็ตสารพัด
ซึ่งเด็กๆทุกคนทั่วโลกต้องรู้จัก เคยได้ลิ้มชิมรสกันถ้วนหน้ามาแล้ว
มารส์ครองตลาดอมยิ้ม (Lollipops) กว่าหนึ่งในสี่ของตลาดสหรัฐอเมริกา
เฉพาะแค่ช็อคโกแล็ตเม็ดเคลือบ M&M ตัวเดียว
ก็สร้างรายได้มากกว่ารองเท้ารีบ็อคเสียอีก
ไม่เพียงแต่อาหารของมนุษย์เท่านั้น มารส์ยังเข้าใจพฤติกรรมสัตว์
ผลิตอาหารสัตว์ชื่อดัง อาหารสุนัข เพคดีกรี อาหารแมว วิสกัส
ซึ่งก็มีวางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเราแทบทุกแห่ง

ย้อนกลับไปที่สำนักงานใหญ่ของมารส์อีกครั้งซิครับ
เผื่อจะพาให้ท่านผู้อ่านเห็นความโอ่อ่าของการตกแต่งภายในบ้าง
จอห์น มาร์สเดินผ่านสำนักงานบนชั้น ๒
ซึ่งไม่มีการตกแต่งอะไรเป็นพิเศษ เราจะเห็นบริเวณพื้นที่กว้าง
มีโต๊ะโลหะสีดำและเก้าอี้พลาสติกสีส้ม สีเบจ (เหมือนสีช็อคโกแล็ต M&M)
เรียงรายประปรายไปทั่ว อีกด้านหนึ่งเป็นห้องกระจกธรรมดา ๔ ห้อง
ตีฝากั้นไว้สำหรับใช้ประชุม ไม่มีใครมีห้องทำงานส่วนตัว
จอห์น มารส์เดินฝ่าเฟอร์นิเจอร์สีสันเหล่านั้น
ตรงเข้าไปนั่งที่โต๊ะทำงานประจำตัว แล้วก็เริ่มงานประจำวัน

ท่านผู้อ่านคงจะประหลาดใจเหมือนกับผู้เขียน
เรากำลังอยู่ในสำนักงานใหญ่ของบริษัทยักษ์ใหญ่
ที่มียอดสินทรัพย์ของตระกูลซึ่งได้รับการบันทึกไว้ในนิตยสารForbesว่า
มีสูงถึง ๑๒,๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ออฟฟิคที่เห็นอยู่นี้ วางผังรูปแบบปฏิบัติงาน
ให้ดูเสมือนเป็นเพียงสำนักงานส่วนสนับสนุน (Back Office Support) เท่านั้นเอง
ความแปลกใจงุนงงเล็กๆคงจะได้รับการคลี่คลายลง
ถ้าเรามีโอกาสย้อนกลับไปดูภูมิหลังของบริษัทมารส์กันบ้าง



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2551 19:38:53 น. 7 comments
Counter : 1208 Pageviews.  

 


บริษัทมารส์ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลตระกูลมารส์ตั้งแต่ปี ๑๙๒๒
ดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทเอกชนมาตลอด
ไม่เคยข้องเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์
ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ไม่เคยเผยแพร่เรื่องราวใดๆของตระกูลออกมานอกจากผลิตภัณฑ์ในตลาด
ไม่เคยมีบทสัมภาษณ์จากประธานกรรมการบริหารตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก
จดหมายขอสัมภาษณ์จากนิตยสารใดๆจะถูกเก็บเงียบนอนสงบนิ่งในแฟ้ม
และไม่เคยมีการหยิบยกปัดฝุ่นขึ้นมาพิจารณาใหม่
ข้อมูลเท่าที่ปรากฏสู่การรับรู้ของคนภายนอกก็คือ
จอห์น มารส์ แชร์ตำแหน่ง CEO ร่วมกับพี่ชายอีกคน
คือ ฟอร์เรส มารส์ จูเนียร์
โดยแบ่งสายงานรับผิดชอบคนละสายงานออกจากกันไป

CEO สองคนจะนั่งด้านในสุดของชั้น ๒
โดยมีแจ็คเกอลีน มารส์ น้องสาวอีกคนนั่งถัดมาในฐานะตำแหน่ง Vice President
พวกเขาทั้งหมดใช้เลขานุการร่วมกัน

ความลึกลับของตระกูลมารส์ได้รับการกล่าวขานถึงอย่างน่าชวนทึ่ง
และเผยแพร่ในวงการนักการตลาดหัวสมัยใหม่
เพราะสิ่งที่สามพี่น้องตระกูลมารส์ปฎิบัติอยู่ทุกวันนี้
ขัดแยังอย่างสิ้นเชิงกับทฤษฎีการบริหารองค์กรทั้งหลาย

ปรมาจารย์หลายสำนักพยายามสรรหาทฤษฏีใหม่ๆเพื่ออธิบายลักษณะเฉพาะตัวของมารส์
และองค์ประกอบของความสำเร็จเชิงธุรกิจ
ซึ่งบริษัทมารส์นำหน้ามาตลอด
จนถึงทุกวันนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า
มารส์เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แต่เงียบและสงวนเนื้อสงวนตัวมากที่สุด

แล้วอะไรล่ะครับ ที่ทำให้มารส์เป็นองค์กรที่น่าอัศจรรย์ใจปานนั้น

ขอยังไม่เฉลย แต่จะให้ท่านลองอ่านบันทึกเบื้องล่างต่อไปนี้ซิครับ
ข้อความบางส่วนเป็นการตัดตอนมาจากบันทึกภายใน
ของเอเยนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง (กูรูก็เคยทำงานที่นี่)
ที่ให้บริการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของมารส์อยู่ปัจจุบัน
ข้อความเหล่านี้กำลังแนะนำให้เอเยนซี่ท้องถิ่นประเทศ
หนึ่ง
เตรียมการเสนองานและพบกับผู้บริหารระดับสูงของมารส์
ที่จะมาเยี่ยมเยือนตลาดลูกอมในภูมิภาคต่างๆ

คำแนะนำดังกล่าวได้แก่

หนึ่ง เตรียมข้อมูลการตลาดให้พร้อม
ตัวเลขต่างๆจะต้องทันกับสภาวะตลาดปัจจุบันให้มากที่สุด
ห้ามปั้นตัวเลขเด็ดขาด

สอง เตรียมผู้เข้าประชุมให้พร้อม
ไม่ต้องขนเข้าไปเยอะ ขอเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับงานจริงๆ
ระบุตำแหน่งและหน้าที่ของแต่ละคนให้ชัดเจนว่า
เกี่ยวข้องกับการดูแลลูกค้ามารส์อย่างไร
ทุกคนที่ร่วมประชุมจะต้องเอ่ยปากพูด
ถ้าคิดว่าการนิ่งเฉยนั้นดีที่สุด
ก็จงออกจากห้องไปอย่างเงียบๆ

สาม จงแสดงความกระตือรือร้นที่อยากจะร่วมงานกับมารส์
แต่อย่ามากเกินไปจนถึงขนาดถ้าไม่ได้มารส์มาเป็นลูกค้าแล้ว
เอเยนซี่จะต้องพังทลายในไม่ช้า
มารส์ไม่ชอบการแสดงบทบาทเกินจริง
( ฝ่ายบริการลูกค้าผู้หญิง
กรุณาสำรวจเครื่องแต่งกายของตนด้วย
ขอให้งดใส่ตุ้มหูกระตุ้งกระติ้งหรือสร้อยข้อมือแวววาว ระหว่างประชุม
เพราะอาจจะดึงดูดความสนใจของการประชุมมากเกินไป)

สี่ รูปแบบการนำเสนอนั้น
ขอให้เรียบง่ายต่อความเข้าใจ ด้วยตัวเลข และเหตุผลที่ประกอบอย่างหนักแน่น
อย่าหวือหวาหรือเน้นเทคนิคแพรวพราว
จนทำให้คนฟังลืมไปว่ากำลังดูหนังการ์ตูนหรือฟังบทวิเคราะห์การตลาด
อย่าใช้เวลานำเสนอมากจนเกินความจำเป็น
ขอให้ตรงประเด็นและชัดเจน

ห้า หากตอบคำถามใดๆไม่ได้ หรือไม่แน่ใจ
ให้ยอมรับออกไปตรงๆ อย่าอ้อมค้อมหรือเฉไฉ
ลูกค้ามารส์จะตะขิดตะขวงใจถ้ารู้ว่าถูกหลอกด้วยข้อมูล จงสืบเสาะหาข้อมูลนั้นกลับมาตอบให้ได้โดยเร็วที่สุด

หก ลูกค้ามาร์สอาจจะอยากตรวจตลาดท้องถิ่นนั้นๆ
โดยจะไปตามลำพังหรือไปกับเอเยนซี่
ขอให้ดูความประสงค์ของพวกเขาด้วย

เจ็ด ไม่ต้องจัดงานเลี้ยงต้อนรับใดๆทั้งสิ้น
ผู้บริหารมารส์ให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัวมาก
ไม่นิยมการสังสรรค์ใดๆนอกเหนือจากเรื่องงานและผลิตภัณฑ์ของบริษัท



โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:47:16 น.  

 


ครับ คำแนะนำเหล่านี้
มาจากมุมมองของคนที่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมชาวมารส์
จนรู้ดีว่าเอเยนซี่โฆษณาที่จะร่วมงานกับมารส์
ควรจะนำเสนอและปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะชนะใจ
ได้รับมอบหมายรับผิดชอบแคมเปญโฆษณาของผลิตภัณฑ์มารส์ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล
และจะยิ่งชนะใจยิ่งขึ้นหากได้รู้ลึกถึงวัฒนธรรมองค์กรของมารส์
ที่ได้รับการถ่ายทอด ปลูกฝังกันอย่างเข้มแข็ง ในหลายๆประการ เช่น

• ยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นคำที่สกปรกสำหรับมารส์
( Status at Mars is a dirty word)
ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ไม่มีใครมีออฟฟิคส่วนตัว
ทุกคนถ่ายเอกสารเอง รับโทรศัพท์เอง
หากจะต้องเดินทางโดยเครื่องบิน
ตั๋วโดยสารชั้นประหยัดเท่านั้นที่บริษัทจะอนุญาต
ไม่มีนอกเหนือจากนี้

• ระบบราชการเป็นสิ่งที่พึงรังเกียจ
การออกบันทึกภายใน (Memo)
เป็นการกระทำที่ค้านกับนโยบายบริษัท
ทุกคนทำงานบนพื้นฐานความเสมอภาค เรียกชื่อหน้ากัน
( A first name basis)ไม่เว้นเจ้าของตระกูล
พนักงานของมารส์จะถูกเรียกว่า ผู้ร่วมงาน (Associate)

• การจ่ายเงินค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทเป็นหลัก

• เงินทุกเซ็นต์ที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจ
จะถูกนำกลับไปรวมในบัญชีของบริษัท
จอห์น, ฟอเรส และแจ็คเกอร์ลีน
จะได้รับเฉพาะเงินปันผลตามสัดส่วนปกติเท่านั้น

• มารส์ดำรงสถานะทางการเงินที่ปลอดหนี้
ทุกครั้งที่จะขยายกิจการหรือธุรกิจออกไป
ตระกูลมารส์จะใช้เงินสดเท่านั้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของธุรกิจอเมริกัน
(แต่สำหรับบ้านเรา เป็นเรื่องปกติครับ โดยเฉพาะยุคหลังฟองสบู่แตก)

• ความสะอาดและอนามัยเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักให้ขึ้นใจในชาวมารส์ทุกคน
กล่าวกันว่า ชาวมารส์ภูมิใจนักหนา
ที่จำนวนแบคเตอเรียนพื้นโรงงานหน่วยผลิตของบริษัท
มีจำนวนน้อยกว่าแบคเตอเรียในอ่างล้างจานตามบ้านทั่วไป

• คุณภาพ คือ ข้อกำหนดบังคับอันยิ่งยวด
เม็ดช็อคโกแล็ค M&M นับล้านเม็ดต้องถูกทิ้งไป
เพราะเพียงตัวหนังสือที่ปรากฏบนเม็ดเลือนหรือไม่ชัดพอ ฯลฯ

ทุกองค์กรใหญ่ๆจะต้องมีปรัชญาในการดำเนินงานของตัวเอง




โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:56:31 น.  

 


ทุกองค์กรใหญ่ๆจะต้องมีปรัชญาในการดำเนินงานของตัวเอง
ที่บริษัทมารส์ก็ไม่มีข้อเว้นเช่นเดียวกัน
ฟอร์เรส จูเนียร์ มารส์ พี่ชายคนโตของตระกูล
ได้พัฒนาปรัชญาการดำเนินงานของบริษัทที่รู้จักกันดีในชื่อว่า
“บัญญัติห้าประการของมารส์”(The Five Principle of Mars)
พนักงานทุกคนจะมีคู่มือบัญญัติดังกล่าว
อันเปรียบเสมือนไบเบิ้ลส่องทางในการทำงานที่มารส์
จัดพิมพ์หนาถึง ๒๔ หน้า วางอยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานตลอดเวลา
ทุกถ้อยคำ ทุกประโยคจะถูกท่องจำจนขึ้นใจในเหล่าคนทำงานทุกคน

The Five Principle of Mars”ประกอบด้วยอะไรบ้าง

๑. คุณภาพ(Quality)
มารส์จะเคร่งครัดและพิถีพิถันกับทุกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาด
สิ่งที่พี่น้องตระกูลมารส์หวาดวิตกที่สุดก็คือ
การถดถอยทางคุณภาพทีละน้อยๆ (incremental degradation)
ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทใดๆก็ตาม
นำวัตถุดิบที่ด้อยคุณภาพลงกว่าเดิม
มาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง

๒. ความรับผิดชอบ (Responsibility)
มารส์ถือว่า พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อบรรดาเพื่อนร่วมงาน
ซึ่งยกย่องให้พวกเขาเป็นAssociate
ในการประชุมประจำปีครั้งหนึ่ง ฟอเรส จูเนียร์ ถึงกับเอ่ยปากว่า
“จริงๆแล้ว ทั้งผมและพี่น้องมีความเชื่อว่า
เราทำงานเพื่อเพื่อนร่วมงานของเรา
หากไม่มีพวกเขาก็คงจะไม่มีบริษัทมารส์”

๓. พึ่งพาซึ่งกันและกัน (Mutuality)
ไม่ว่าใครจะทำงานในตำแหน่งไหน
ต่างต้องอาศัยพึ่งพาความสามารถซึ่งกันและกัน
มารส์แบ่งระดับเงินเดือนเพียง ๖ ระดับ
รองประธานกรรมการทุกคนไม่ว่าจะอยู่สายงานไหน สำคัญเท่าเทียมกันหมดและได้รับเงินเดือนเท่ากัน
ฉะนั้นการถูกโยกย้ายไปอยู่สายงานอื่น
จึงไม่มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ และสั่งการ

๔. ประสิทธิภาพ (Efficiency)
เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญแล้ว
มารส์บริหารงานด้วยขนาดขององค์กรเล็กกว่าถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์
แต่เมื่อเทียบกำลังการผลิตต่อหนึ่งคนแล้ว
เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน
การจัดสรรทรัพยากรบุคคลในบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ
มีส่วนช่วยบ่มเพาะคุณภาพการทำงานของชาวมารส์อย่างได้ผล

๕. อิสรภาพ (Freedom)
มีข้อความตอนหนึ่งระบุในบัญญัติห้าประการของมารส์ไว้ว่า
“เราต้องการอิสรภาพเพื่อจะกำหนดอนาคตของเราเอง
เราต้องการผลกำไรเพื่อดำรงภาวะความเป็นอิสระ”
( We need freedom to shape our future: we need profit to remain free)
นัยที่ซ่อนไว้ในรูปประโยคข้อนี้ก็คือ
ตระกูลมารส์ต้องการความเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจ
เหตุนี้เองครับ มารส์จึงไม่เคยพินิจพิจารณาข้อเสนอจากตลาดหลักทรัพย์ใด
ที่เชื้อชวนให้เข้าระดมทุนเป็นบริษัทมหาชน
เพราะไม่ต้องการสูญเสียอิสรภาพ หรือก็คือความเป็นส่วนตัวของตระกูล

The Five Principle of Mars
ฟังดูแล้วก็เหมือนกับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจทั่วๆไปที่เราๆท่านๆชินตาทุกวันๆ
แต่สิ่งที่แตกต่าง ทำให้ปรัชญาของมารส์โดดเด่นก็คือ
ความเคร่งครัด เอาจริงเอาจังของผู้บริหารประจำตระกูล ผสานกับความร่วมมือร่วมใจของบรรดา Associate ทั้งหลาย
ซึ่งมารส์ได้ให้รางวัลตอบแทนสมนาคุณพวกเขาอย่างสาสมกับ
ที่ได้อุทิศตนอย่างหนักเพื่อบริษัทมาตลอด
จึงทำให้ธุรกิจมารส์มีความเข้มแข็ง ครองส่วนแบ่งในตลาดมายืนยาว
มีการขยายงานอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
ที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันต้องล้มระเนระนาด
แต่มารส์ยังผงาดท้าทายคลื่นวิกฤตหลายต่อหลายครั้ง




โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:07:59 น.  

 


แต่ถึงกระนั้นก็ตาม
จุดแข็งที่สุดขององค์กรก็สามารถเป็นจุดอ่อนได้เหมือนกัน
เมื่อแนวนโยบายต่างๆของบริษัทมารส์ล้วนกำหนดมาจากผู้บริหารสูงสุด
ในลักษณะของการสั่งงานจากเบื้องบน (Top Down Management)
ภายใต้กรอบของการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัวอนุรักษ์นิยมอย่างจัดๆ
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกหนแห่ง
การแข่งขันชิงความได้เปรียบในระบบการค้าเสรี
ภายใต้กติกาของโลกใบเดียวกัน
การรวมและซื้อขายอาณาจักรธุรกิจเข้าด้วยกันของบริษัทใหญ่ๆ
เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองสูงสุด
เกมส์การต่อสู้ดังกล่าวกำลังดำเนินอย่างดุเดือด
และมารส์เอง ถึงจะยืนกรานกับสาธารณชนว่า
ไม่จำเป็นต้องไปข้องแวะกับใครๆ
ก็ต้องตระหนักในความจริงดังกล่าว

ณ เวลานี้คนภายนอกล้วนเฝ้าจับตามองว่า
สิ่งท้าทายที่สุดที่บริษัทมารส์ต้องเผชิญจะมาถึงเมื่อใด
นั่นก็คือวันที่น้องตระกูลมารส์ลดบทบาทลง
หรือไม่ได้อยู่บนสังเวียนนี้อีกต่อไป
อาณาจักรมารส์จะเป็นอย่างไร
มีนักวิชาการ นักจัดการบริหารธุรกิจ นักการตลาด
ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมองค์กร
ได้คาดการณ์ล่วงหน้าถึงอนาคตบริษัทยักษ์ใหญ่
ของพี่น้องตระกูลมารส์ไว้มากมาย
ซึ่งคงจะมีโอกาสนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านรับทราบในวาระต่อไป อดใจรอนะครับ




โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:12:05 น.  

 
ไปค้นเพิ่มเติมจากน้องวีกี้ เจอข้อมูลล่าสุด
ปัจจุบันบริษัทมารส์ได้เปลี่ยนถ่ายการบริหารสู่รุ่นที่ 4 เป็นผู้บริหารจากนอกตระกูล
แต่กระนั้นก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลนโยบายของพี่น้องมารส์นั่นเอง


"Moving into fourth generation family ownership,
the company recently passed from family leadership
into non-family leadership however,
the business is still owned by the family.

The global CEO of Mars, Inc. is Paul Michaels.
Michaels is part of a new group of non-family management
that has taken over since the retirement of John and Forrest Mars, Jr..

The family now oversees the business as a council or board of directors."

ความเป็นส่วนตัวของพี่น้องตระกูลมารส์ยังได้รับการปกปิดอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง
เมื่อฟอเรส มารส์ เสียชีวิตปี 1999
สาธารณะชนแทบจะไม่รู้เรื่องเลย
ไม่มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าเขายังทำงานอยู่ที่ที่หรือเปล่า

หรือ มารส์กลายเป็นแดนสนธยาไปแล้วก็ไม่รู้


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:20:42:27 น.  

 
ของโปรดเลยค่ะ MARS

อ่านแล้วรุ็สึกถึงความสมถะ ผ้าขี้ริ้วห่อทอง

แต่เขาก็พัฒนาช็อกโกแลตให้ซื้อง่าย เป็นอะไรที่เห็นแล้ว

ต้องหยิบ ใส่ตระกร้า

อึ้มมม....

ดิฉันย้ายมาเป็น Counselor ตรงบล็อกนี้แล้วค่ะ


คงจำกันได้นะคะ


โดย: ๋jane (Masseffect ) วันที่: 28 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:55:17 น.  

 
ขอบคุณ ท่าน มหาGURU ที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ Mars
สมัยเด็กๆผมก็ชอบทาน แต่ไม่ได้คิดว่าบริษัทนี้จะมีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรถึงปานนี้ และ ที่น่าแปลกใจคือสามารถถ่ายทอดมาถึงรุ่นที่ 4

ประเทศไทยจะมีบริษัทแบบนี้บ้างไหมหนอ

เฮ้อ อยากจะเขียนต่อแต่พอฟังรายการจากทีวี ก็เลย"....."

เฮ้อ แล้วป่ระเทศไทยจะจบลงอย่างไรหนอ

หลุมดำมรณะทางเศรษฐกิจที่กำลังดึงดูดประเทศไทยลงอุโมงค์ แล้วปลายอุโมงค์จะเป็นอย่างไรผมนึกไม่ออก

แต่ว่าเวลานี้ เนยของผมได้หายไปหมดแล้ว และ ผมก็ยังตามหา "กลิ่นเนย" ยังไม่เจอเลย


โดย: moonfleet วันที่: 30 พฤศจิกายน 2551 เวลา:22:07:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]