<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
1 กุมภาพันธ์ 2554

83 ปีสงครามชีวิตโอชิน



มาขอบคุณคุณ Edna
ด้วยการส่งท้ายเดินทางไปกับโอชิน


สงครามชีวิตโอชิน
คือการเผชิญชะตากรรมของผู้หญิงคนหนึ่งใน 3 รูปแบบ
คือสงครามกับความยากจน สงครามกับขนบนิยม
และสงครามกับญี่ปุ่นยุคทุนใหม่

ในแต่ละสงคราม โอชินได้ใช้วิธีการชนะผ่านมาได้อย่างไร

สงครามกับความยากจน : ขยัน อดออม
โอชินคือตัวอย่างของรากหญ้าที่อยู่ในสถานะต้อยต่ำ
ชีวิตลำบาก ยากจน มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า
ย่าผู้ปลูกข้าวมายาวชั่วชีวิต
แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ลิ้มรสสัมผัสข้าวที่ตัวเองปลูกเลย
ลูกๆพี่น้องของโอชิน ไม่เคยอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา
เพราะต้องแยกย้ายไปทำงานที่อื่น
รวมทั้งโอชินก็ต้องถูกขายไปเป็นคนรับใช้ต่างถิ่น
(เออ น้องๆโอชินหายไปไหน บทไม่ได้พูดถึงเลย)
โอชินใช้ความมานะอุตสาหะ ขยันและอดออม
สู้ชีวิตทุกรูปแบบฝ่าฟันสงครามแห่งความยากจน
ล้มแล้วลุก คลุกคลานหลายต่อหลายครั้ง
จนไม่สะพรั่นกลัว การเริ่มต้นจากศูนย์อีกครั้ง

ตั้งแต่เป็นเด็กคนใช้ในบ้าน เลี้ยงลูกๆผู้มีอันจะกิน
เป็นเลขาส่วนตัวของคุณนายใหญ่ร้านคานาย่า
เป็นช่างทำผม เป็นช่างเย็บเสื้อผ้า เป็นชาวไร่ ชาวนาที่ซาง่า
เป็นเจ้าของแผงขนมโตเกียว(ชื่อเป็นทางการจำไม่ได้แล้ว)
เป็นเจ้าของร้านอาหารราคาถูก
เป็นเจ้าของร้านขายปลาโดยเริ่มจากรถเข็น
เปิดเป็นร้านแล้วก็เป็นรถเข็นอีกครั้งก่อนจะเป็นสามล้อ
แล้วก็เป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต

ถ้าไม่ได้ดูเป็นละคร คงงงว่า เป็นไปได้อย่างไร
โอชินแมวสิบชีวิต

สงครามกับขนบนิยม : อดทน อดกลั้น
ยุคสมัยของโอชินคาบเกี่ยวกับประตูเปิด-ปิดของประเทศ
ขนบนิยมสมัยดั้งเดิมยังค้ำคอผู้หญิงญี่ปุ่นเต็มอัตรา
โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นลูกสะใภ้ตระกูลอื่น
ไม่ต่างจากคนล้างเท้าประจำบ้าน
ต้ำเตี้ย ไร้สถานะใดๆทั้งสิ้น
ถูกโขกสับ ว่ากล่าว สารพัด
โอชินจำต้องออมปาก ออมคำ ใช้ความอดทน อดกลั้น
จนท้ายสุด้เชือกโอบิเส้นสุดท้ายขาดผึง
หนีออกจากบ้านไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับลูกชายคนเดียว

ครั้นโอชินมาเป็นแม่สามีบ้าง
ยุคสมัยได้เปิดสิทธิเสรีให้กับผู้หญิงญี่ปุ่นมากขึ้น
กลายเป็นฝ่ายสะใภ้สามารถต่อล้อต่อกรกับแม่สามีทัดเทียมกัน
จะวางท่านั่งเฉยเป็นคุณผู้หญิงก็ไม่มีใครว่ากล่าวได้
หรือถ้าตำหนิได้ก็ไม่ขอฟัง

ขนบนิยมที่แปรผันนี้เอง ทำให้ผู้หญิงที่เกิดยุคเมจิอย่างโอชิน
เกิดช่องว่างกับเด็กๆยุคหลังสงครามโลก
อันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ
หากใช้ความเข้าอกเข้าใจ อดทน อดกลั้น อีกนั่นแหละ
ทำให้เธอผ่านความขัดแย้งนี้หลุดมาอีกเปลาะ

สงครามกับญี่ปุ่นยุคทุนใหม่: ปรับประยุกต์ตน

หลังสงครามสิ้นสุดลง
ประตูเปิดสู่โลกการค้าแบบตะวันตก
ทำให้ร้านค้าเล็กๆของคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย
ถูกคลื่นทุนและวิทยาการยุคใหม่ล้มทับระเนระนาด

หากโอชินยังฝืนปฏิบัติดำเนินการค้าในแบบดั้งเดิม
ก็คงต้องเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ล้มเหล่านั้น
ทว่า โอชิน กล้าพอที่จะสลัดทิ้งวิธีการค้าแบบเก่า
ที่ฝังอยู่ในจิตวิญญานโอชินมาตั้งแต่สมัยอยู่ร้านข้าวคานาย่า
และต้อนรับวิถีใหม่ที่รุกกรายเข้ามา
ด้วยการเข้าไปศึกษาให้ถ่องแท้ เรียนรู้ สัมมนาระบบ Self Service
จนตระหนักในแนวโน้มที่กำลังถาโถมทั่วประเทศ
แทนการปฎิเสธ แล้วก้มหน้าก้มตางุดๆไม่สนใจภัยคุกคาม
โอชิน ประยุกต์ตัวและแนวคิดทันการณ์เพื่อต่อสู้กับสงครามไม่มีตัวตน
จนประสบความสำเร็จ หรือกล่าวให้ชัดเจน
สามารถปรับระบบ Self Service
ให้เหมาะสมกับร้านค้าในจังหวัดเล็กๆของตัวเองได้อย่างเหมาะสม
สู้อุตส่าห์ลงทุนกับเครื่องจักรอัตโนมัติเช่น เครื่องบันทึกเงินสด
ศซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มากขณะนั้น
(แน่นอน ถ้าคอมพิวเตอร์เข้ามาตอนนั้น
โอชินก็คงจะต้องขอทดลองใช้ด้วย)

เมื่อซูเปอร์มาร์เก็ตของตระกูลถึงจุดวิกฤตเพราะพลังทุนต่างถิ่น
โอชิน ยอมรับกับความจริงข้อนี้ ไม่ฝืนระบบทุนนิยม
กล่าวให้กำลังใจลูกๆเผชิญกับความเจ็บปวดพร้อมทั้งเริ่มต้นใหม่อีก

ทั้งหมดนี้คือ สงคราม 3 รูปแบบที่โอชินเผชิญตลอด 83 ปี

3 ครู 3 มิตร บนสงครามชีวิต
ในความหนาวเหน็บมีแดดอุ่น
ในความแล้งผากมีสายน้ำ

ในวิบากกรรมของโอชินก็มีบุคคลที่แวะเวียนมาให้ความอนุเคราะห์อยู่เนืองๆ
ทำให้ชีวิตที่บากบั่นอุตสาหะของโอชินไม่สิ้นหวังจนเกินไปนัก

โอชินโชคดีมีครูดีๆในชีวิตถึง 3 คน
ครูคนแรกคือ พี่ชุนซากุ บุรุษหนุ่มผู้หนีเกณฑ์ทหารมาหลบบนภูเขาสูง
ได้สอนให้โอชินขีดๆเขียนๆ นับเลข ท่องกลอน
และสำคัญสุดคือปลูกฝังทัศนคติของการต่อต้านสงคราม
เด็กหญิงโอชิน ขณะนั้นยังคงไม่รู้หรอกว่า มันคืออะไร
แต่เป็นสิ่งที่เธอจำฝังใจพร้อมๆกับเพลง The Last Rose of Summer
ที่พี่ซุนซากุมักเป่าฮาร์โมนิก้าให้ฟังบ่อยๆ
จนเมื่อโอชินโตเป็นสาวก็ลองเป่าเองได้

ครูคนที่สองคือ คุณนายใหญ่แห่งร้านคางาย่า
ผู้เปลี่ยนวิถีชีวิตของโอชินจากคนเลี้ยงเด็กมาเป็นเลขาส่วนตัว
เรียนรู้การงานทุกอย่างทั้งการเขียนหนังสือ การคิดบัญชี กิจการค้าขาย
เย็บปักถักร้อย การบ้านการเรือน
รวมทั้งธรรมเนียมนิยมต่างๆของผู้หญิงญี่ปุ่น
โอชินอยู่กับคุณนายใหญ่นานนับปี
จนซึมซับความรู้และแบบอย่างที่ดีงามของคุณนายใหญ่จนหมดสิ้น
กล่าวได้ว่า ที่โอชินเป็นตัวเป็นตนเยี่ยงแม่ค้ามาได้
ก็เพราะการปลูกฝังจากร้านคานาย่าแต่อ้อนแต่ออก
ดูคุณนายใหญ่ก็มีบารมีสูงสุดในร้าน
ลูกชายสู้ไม่ได้ (พ่อของคุณหนูคาโย่)ยังจ๋องๆ เกรงๆเลย
เมื่อโอชินได้เป็นคุณนายใหญ่ของธุรกิจครอบครัว
ก็ขับรังสีบารมีนี้เช่นกัน

ครูคนที่สามคือ อาจารย์สอนทำผมที่โตเกียว
ผู้กล้าฉีกขนบของช่างทำผมสมัยนั้น
โดยให้โอชินเรียนลัด ออกไปฝึกปรือฝีมือทำผมข้างนอก
เพื่อตัดปัญหาความวุ่นวายและแรงอิจฉาจากศิษย์คนอื่นๆ
เป็นคุณครูคนเดียวที่โอชินต้องนึกถึงเมื่อยามมาพักพิงใจที่โตเกียว
ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่สะบัดสะบอมหนีมาจากครอบครัวสามีที่ซาง่า
หรือตอนที่มาตามหาฮาจึโกะ ลูกเลี้ยงที่หายตัวไป

คุณครูทั้ง 3 คนมีส่วนหล่อหลอมให้โอชิน
เป็นศิษย์มีครูสู้ชีวิตได้ด้วยฐานความรู้ปนประสบการณ์จริง

3 กัลยาณมิตรที่พึ่งพาตลอดกาล
คนแรกคือคุณเคน นักเลงยากูซาแห่งโตเกียว
ผู้ให้ความยกย่อง เคารพเชิดชูโอชิน
นับแต่วันที่เธอเอาผ้าไปขายที่ข้างถนนถิ่นยากูซา
เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้โอชินทำแผงขนมโตเกียวขายดิบขายดี
ให้ความสนิทสนมจนเกิดเรื่องราวกับภรรยาของตัวเอง

เช่นเดียวกับอาจารย์ผู้สอนทำผม
เมื่อไหร่ที่โอชินต้องอาศัยเส้นสายคนโตเกียวดำเนินกิจธุระให้
คุณเคนคือคนแรกที่โอชินถามหาได้
น้ำใจไมตรีที่คุณเคนมอบให้ ไม่มีทางที่โอชินจะลืมได้
โดยเฉพาะเรื่องของฮาจึโกะ

คนที่สองคือ คุณน้าแห่งเมืองอิเสะ (จำไม่ได้ชื่อกระไร)
ที่รู้จักโอชินผ่านหลานชาย โคตะ
ผู้ให้ชีวิตใหม่แก่โอชินอย่างไม่รังเกียจเดียดฉันท์
ทั้งวิชาความรู้การหาปลาและที่พัก
แม้เมื่อริวโซเปลี่ยนวิถีดำเนินธุรกิจโดยรับปลาจากกองทัพมาขาย
คุณน้าดูเหมือนจะน้อยใจนิดๆ แต่ก็เข้าใจโอกาสทองของครอบครัวโอชิน
ที่จำเป็นต้องดิ้นรนเลี้ยงปากเลี้ยงท้องลูกๆอีกถึง 5 คน
หลังสงครามสิ้นสุด โอชินสิ้นเนื้อสิ้นตัว
คุณน้าก็ได้กลับมาให้ชีวิตใหม่แก่โอชินอีกครั้ง

และกัลยาณมิตรคนสุดท้ายที่ขาดเสียไมใด้เลยคือ คุณนามิกิ โคตะ
อดีตนักปลุกระดมมวลชนหัวรุนแรง แต่อ่อนหวานกับโอชินที่สุด
ด้วยข้อจำกัดของหน้าที่การงาน
ทำให้โคตะไม่สามารถจะใช้ชีวิตคู่เยี่ยงชายหนุ่มทั่วไปได้
มิฉะนั้น เราอาจจะเห็นเส้นทางชีวิตของโอชินเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้

โคตะเป็นหนุ่มจากตระกูลผู้ดี ความรู้สูง
แต่เกลียดเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นยิ่งนัก
เขาร่วมขบวนการปลดแอกชาวนาด้วยทฤษฎีของมาร์กซิส
แต่น่าเสียดายที่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
โคตะเองก็ถูกตามล่าจากทางการจนในที่สุดก็ต้องเลิกรา
อย่างไรก็ตาม ชาวนาในระยะต่อมาได้รับการปฏิรูปชีวิตและที่นา
ทำให้อนาคตที่ริบหรี่หนหลังกลับเรืองรองมีความหวัง

ความรักของโอชินและโคตะคือความผูกพันที่เก็บกักไว้ในก้นบึ้งหัวใจ
มีโอกาสก็นำขึ้นมาทบทวนอย่างอิ่มเอมใจ
คอยให้กำลังใจและความช่วยเหลือซึ่งกัน
โคตะคือรากไม้แก่นสุดท้าย
ที่ช่วยยึดธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตทาโนะกุระไว้ไม่ให้ล่มสลาย

สงครามชีวิตของโอชิน
ไม่ได้หดหู่สิ้นหวังเสียเลยทีเดียว
เพราะมีมือที่คอยยื่นให้ความช่วยเหลือระหว่างพงหนามเป็นระยะๆ

83 ปีของโอชิน (ที่แข็งแรงมาก ขนาดเดินเตาะแตะไปยืนบนโขดหินขรุขระได้)
ปิดฉากลงด้วยความคิดคำนึงถึงฉากชีวิตที่ผ่านมา
พร้อมใบหน้าผู้คนที่ให้ความเกื้อกูลแต่หนหลัง
ทั้งที่ลาจากและอยู่ตรงหน้า





Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2554 19:52:32 น. 4 comments
Counter : 1489 Pageviews.  

 
เห็นที่ ร.พ. ดูกันเยอะ แต่ไม่เคยดูสักที
เพราะ ไม่ใช่เวลาทำการในการดูทีวี


โดย: nat (nat85min ) วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:20:59:26 น.  

 
ดูตอนนำปลาใส่รถเข็นไปขายน่ะ


โดย: jejeeppe วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:21:41:36 น.  

 
แนะนำเว็บดูหนังซีรีย์เกาหลีฟรี


โดย: koreaserie (loveyoupantip ) วันที่: 6 สิงหาคม 2554 เวลา:6:26:01 น.  

 
ชอบ ดูตั้งแต่ออกอากาศปีแรก จำปีไม่ได้ และปีนี้ ปี 2559 ก็ยังดู


โดย: sunisa IP: 106.0.211.121 วันที่: 27 ธันวาคม 2559 เวลา:10:18:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]