<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
28 มกราคม 2554

โนซูมิ : ผู้ปั้นจิต ขอลิขิตชีวิตเอง



ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วซินะ แฟนคลับโอชินต้องกล่าวสวัสดีกัน
ตอนนี้มาดูเรื่องราวของหนุ่ม(แก่)อีกคน

โนซูมิ : ผู้ปั้นจิต ขอลิขิตชีวิตเอง

โอบดินประคองไว้
ปั้นแต่งเรื่องราว
โมงยามค้อมคำนับ


โนซูมิเป็นอีกตัวละครหนึ่งในครอบครัวทาโนะกุระ
จาก ละครชุด สงครามชีวิตโอชิน
หลายคนอาจมองว่า ตัวละครชายตัวนี้ช่างมีชีวิตที่ราบเรียบเสียเหลือเกิน
จืดชืด ไม่มีอะไรหวือหวาให้ลุ้นตื่นเต้นเลย
วันๆก็ก้มหน้าปั้นหม้อ ปั้นโถดินเผา
โผล่มาทีก็ ยิ้มฟันขาวเหมือนกระต่าย
แล้วก็เอ่ยทักทาย “คุณแม่ครับ” จบ.....

หากในความคิดของกูรู โนซามิคือตัวขับผิวละครให้เกิดการเปรียบเทียบ
นำคนดูลุ่มลึกไปกับความนิ่งเนิบ ทว่างดงาม

"น้ำที่ข้นกว่าเลือด"
แม้โนซูมิจะเกิดจากคุณหนูคาโย่
กับสามีบัณฑิตมหาวิทยาลัยอิมพิเรียลผู้สูงปัญญา
แต่เขาก็รับมรดกทางวิญญาณเพียงส่วนเดียว
คือ ความเป็นศิลปินจากมารดา
นอกเหนือจากนั้น ทั้งตัวตน อุปนิสัยใจคอ ทัศนะคติในการดำรงชีพ
ล้วนมาจากการบ่มเพาะเลี้ยงดูของตระกูลทาโนะกุระทั้งสิ้น

ก่อนจะรู้ว่าตัวเองเป็นเพียงลูกเลี้ยงบุญธรรม
โนซูมิก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป วิ่งเล่นซุกซนไปวันๆ
ต่อเมื่อมารับทราบภายหลังว่า
ตนเป็นเพียงลูกกำพร้าที่โอชินเก็บมาเลี้ยง
อันเนื่องมาจากบุญคุณของตระกูลฝ่ายแม่
โนซูมิเริ่มเปลี่ยนไป เงียบขรึม
หวาดกังวลในชีวิตที่อาจจะเปลี่ยนแปรไปในวันข้างหน้า

แม้ทั้งโอชินและริวโซ ได้ให้สัญญาเป็นมั่นเหมาะว่า
จะเลี้ยงดูให้ทัดเทียมลูกๆคนอื่นด้วยความรัก ใส่ใจไม่น้อยหน้ากัน
โนซามิก็ยังไม่ถึงกับวางใจทีเดียว
เนื่องจากโอชิน หมั่นเตือนเสมอว่า
ตนเองเป็นทายาทคนเดียวของตระกูลคานาย่า
เมื่อเติบใหญ่จะต้องกลับไปฟื้นฟูกิจการค้าข้าวที่ล่มสลายไป

โนซามิต้องแบกความคาดหวังนี้ตั้งแต่วัยเยาว์
ที่สำคัญคงต้องจากบ้านทาโนะกุระไปอยู่ที่อื่น
ไปเริ่มชีวิดใหม่บนสายสัมพันธ์ที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อนเลย
คุณทวด คุณตา คุณยาย และคุณแม่ ก็เห็นแค่เถ้ากระดูก
แล้วจะให้โนซามิผู้ไร้ญาติไปตั้งต้นอย่างไร
ความคิดเช่นนี้วนเวียนอยู่ในใจของเด็กชายมาตลอด

ความหวาดหวั่นของเด็กน้อยค่อยคลายลง
เมื่อโอชินรับฮาจึโกะเด็กผู้หญิงบ้านนอกอีกคนเข้ามาเลี้ยงดู
ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงทุกคน
ด้วยสถานะของความเป็นคนนอก(ตระกูล)เหมือนกัน
เด็กชายโนซูมิเริ่มรู้สึกอบอุ่นขึ้นเมื่อได้มีโอกาสพูดคุยสร้างความสนิทสนม
สายใยของพี่น้องนอกตระกูลทาโนะกุระ
ยังเหนียวแน่นแม้เมื่อทั้งคู่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

ด้วยเหตุนี้เอง เด็กชายโนซูมิจึงสงบเสงี่ยม เจียมตัว
เพราะสำนึกว่าตนเองอยู่ภายใต้ร่มเงาของตระกูลอื่น
และค่อนข้างจะยอมอ่อนข้อให้กับฮิโตชิ
เราจะเห็นโนซูมิช่วยงานบ้าน ช่วยพี่ฮาจึโกะเลี้ยงน้องเทอิ
ขณะที่ฮิโตชิเอาแต่วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ
แล้วก็โผล่หน้ามอมแมมมาถามว่า มีอะไรกินบ้าง
แล้วก็ออกไปวิ่งเล่นต่ออีก

ภาพพ่อและแม่บุญธรรมที่ตรากตรำทำงานหนักทุกวัน
เลี้ยงดูปลูกฝังลูกที่แท้และไม่แท้ถึง 5 คน เป็นสิ่งที่โนซูมิชินตามาตลอด
เขาพยายามทำตัวให้เป็นปัญหาน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้คู่สามี ภรรยาลำบากใจ
แต่ลึกๆแล้ว ก็เพื่อที่จะได้อยู่กับครอบครัวนี้นานๆ ไม่ถูกส่งไปอยู่ที่ไหน

ถ้าไม่นับสายเลือดศิลปินโดยกำเนิดแล้ว
โนซูมิจึงแตกต่างจากคุณหนูคาโย่โดยสิ้นเชิง
ขณะที่ผู้เป็นแม่แท้จริง ใจร้อน เอาแต่ใจ
ติดสำรวยนิดๆตามประสาคุณหนูตระกูลใหญ่
โนซูมิกลับเรียบง่าย ไม่เรื่องมาก

แต่ในความเรียบง่ายนี้เอง
ก็มีเรื่องที่เขาต้องใช้ความกล้าหาญตัดสินใจทางเดินชีวิตที่ขัดใจโอชินจนได้

"จากก้อนดินเขลอะขึ้นแท่นปั้นรูปงาม"
ถึงจะรู้ตัวว่า อนาคตข้างหน้าต้องกลับไปฟื้นฟูกิจการร้านคานาย่า
แต่โนซูมิไม่เคยมีใจฝักใฝ่ที่จะดำเนินการเลย
ตรงกันข้าม เขาชอบที่จะอยู่กับงานศิลปะ
ใช้ชีวิตเงียบๆกับตัวเองและคนรอบข้างไม่กี่คน

เมื่อโอชินเปิดร้านใหม่อีกครั้งหลังสงครามสิ้นสุด
สองพี่น้อง ฮิโตชิและโนซูมิเป็นแรงงานสำคัญ
ที่ช่วยให้ร้านขายปลาทาโนะกุระเปิดดำเนินธุรกิจได้
โนซูมิพยายามทำตัวเป็นพ่อค้าที่ดี แบ่งเบาภาระของโอชิน
แต่เขากลับทำได้ดีที่สุดก็คือ เขียนรูปแปะราคาสินค้าในร้านเท่านั้น

ในบทละครไม่ได้ให้รายละเอียดว่า
ทำไมโนซูมิถึงตั้งเข็มมุ่งไปเรียนศาสตร์เครื่องปั้นดินเผา
กระทั่งเมื่อวันที่ฮาจึโกะกลับมาช่วยงานที่ร้านอีกครั้ง
เขาจึงตัดสินใจบอกโอชินถึงเส้นทางอนาคตของตัวเอง

รู้ทั้งรู้ว่าจะต้องถูกปฏิเสธจากโอชินแน่ๆ
หากเมื่อตั้งเป้าไว้แล้ว จะยอมเลิกราได้อย่างไร
โนซูมิตระหนักดีว่า หนทางของการเป็นช่างปั้นดินเผา
กว่าจะประสบความสำเร็จจนเป็นที่นับหน้าถือตา
ต้องผ่านการทดสอบของกาลเวลา ลมปาก คำตำหนิติชม
ในระหว่างนั้น ถ้าเกิดท้อแท้ เลิกถอยก่อนก็เสียศูนย์ชีวิตได้

ทว่าสิ่งที่โนซูมิได้รับกลับมามีคุณค่ายิ่งโดยไม่รู้ตัว
นั่นคือ เยี่ยงอย่างที่ดีงามจากอาจารย์ผู้ฝึกสอน
สิ่งที่เรียกว่า Role Model ซึ่งฮิโตชิแสวงหามาตลอดแต่ไม่พานพบ

"กว่าจะเข้าถึงวิถีคนปั้น :อดทน อดกลั้น อดออม"
ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเรียนรู้ศาสตร์หนึ่งๆจนแตกแขนง
ไม่มีการเรียนลัดเพื่อให้จบและมีชื่อเสียงไวๆ (เพื่อเงินทองตามมา)

ชายหนุ่มเริ่มต้นจากการฝึกปั้นจิตให้อดทน
โดยเป็นคนตัดและใส่ฟืนในเตาเผา รับใช้ทั่วไป วันแล้ววันเล่า
แล้วค่อยๆเลื่อนลำดับขั้นทีละนิดๆ
เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เคร่งครัด มีระเบียบ
(คล้ายๆกับสมัยที่โอชินเรียนรู้การทำผมจากอาจารย์ที่โตเกียว)

อดกลั้น ทุกครั้งที่ขึ้นรูปเครื่องปั้นไม่ได้ดังใจ
แล้วต้องทำลายรื้อดินทิ้งเพื่อขึ้นรูปใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อดออม ต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร
ใช้ชีวิตที่ติดดิน(จริงๆ) ไม่ร้องขอ ไม่เรื่องมาก
จนโอชินผู้เป็นแม่บุญธรรม ทนไม่ได้
ต้องมาให้ความอนุเคราะห์เนืองๆ

แต่นี่แหละคือโนซูมิ ผู้ตระหนักรู้ความต้องการของตัวเอง
ความทะเยอทะยานเดียวที่เขามุ่งหวัง
คือการเป็นช่างปั้นฝีมือดี มีผลงานยอมรับ
ไม่ยอมให้เสียชื่อสำนักอาจารย์

วิถีของโนซูมิไม่ร่ำรวยอุดมด้วยทรัพย์สินเงินทอง
แต่ชายหนุ่มก็ดูมีความสุขตามอัตภาพ
โชคดีที่มีภรรยาอย่างยูริที่รู้ใจ ถึงจะด่วนจากไปก่อน
ก็เป็นบททดสอบว่า เพียงเขาคนเดียว
จะเลี้ยงลูกชายท่ามกลางกองดินเขลอะได้อย่างไร

โนซูมิปั้นเค่ ลูกชายสุดที่รักเหมือนกับปั้นดินเผาชั้นยอด
จากดินเขลอะๆ ไร้รูปทรง ค่อยๆประคอง
ขัด เกลา ปรับ แต่งและหมุนกลึงไปช้าๆ
ด้วยระเบียบ วินัย จนลูกน้อยเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ในฉากละคร จะเห็นหลายตอน
ที่โนซูมิแสดงความเด็ดขาดกับลูกชายเล็กๆที่งอแง
เมื่อถูกพะนอพะเน้าเอาใจจากคุณย่าและคุณป้าจนไม่ยอมกลับบ้าน
โนซูมิหน้าเข้ม พูดชัดเจนว่า เค่ต้องกลับ
เพราะเป็นความรับผิดชอบของเขาในฐานะผู้เป็นพ่อ
ที่จะต้องเลี้ยงดูลูกชายคนเดียวให้ได้
ถึงจะไม่ครบสมบูรณ์ตามแบบฉบับครอบครัวทั่วไปก็ตาม


แล้วโนซุมิไม่ผิดหวัง เมื่อเค่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ยิ่งสบายใจขึ้นเมื่อรู้ว่า
ลูกชายได้ใช้ไหวพริบออกติดตามคุณย่าไปไหนๆ
จนรับทราบปูมชีวิตหนหลัง

หลังกลับจากเส้นทางทัวร์อดีตของคุณย่า
เค่ให้คำมุ่งมั่นว่าจะกลับไปฟื้นฟูกิจการของร้านคานาย่า
ผู้เป็นพ่ออึ้งไปนิด พูดไม่ออก แต่แววตาฉายแสงประกายตื้นตัน
เนื่องจากเป็นสิ่งที่โนซูมิละอายใจลึกๆ
เพราะละเลยมาตลอดด้วยข้อจำกัดของตัวเอง

เค่ จึงกลายเป็นประติมากรรมรูปงามที่โนซูมิภูมิใจที่สุด
สมกับระยะเวลาที่เฝ้าปั้นแต่งมาเกือบยี่สิบปี

"คือก้าวรั้งที่ยึดญี่ปุ่นยุคทุนใหม่"
มองภาพให้ไกลกว่าเดิมอีกนิดในเชิงมิติผนวกสัญญลักษณ์
ผู้เขียนบทละครต้องการจะให้โนซูมิคือศาสตร์และศิลป์ประจำชาติญี่ปุ่น
คือขนบ ธรรมเนียม ประเพณีโบราณ อันเป็นรากหยั่งของผืนแผ่นดิน
คัดง้างกับวิถีทุนใหม่ที่เปิดรับเข้ามาโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

แม้ก้าวที่รั้งนี้ไม่สามารถฉุดญี่ปุ่นให้นิ่งกับที่ได้
ด้วยเข้าใจได้ถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับกงล้อที่ชื่อพัฒนาการ
แต่อย่างน้อยก็ยังมีเวลาเปิดพื้นที่ว่าง
ให้กลับมาตระหนักคิดถึงย่างก้าวที่พาดผ่าน
(ภาษาสมัยใหม่ก็คือ ทำทุนนิยมให้เชื่องขึ้น )

ถ้าฮิโตชิ คือพายุที่โหมถลาเปลี่ยนกระแสทุนญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว
โนซูมิ คือ ลมเย็นเอื่อยๆที่ให้ความสดชื่น
เปิดโอกาสทุกคนได้หยุดพัก เป็นช่วง เป็นครา

ถ้าฮิโตชิคือสำนักธุรกิจที่มีเงินตราแลกเปลี่ยนไปมา
โนซูมิคือ วัดเซ็นที่โรยตัวด้วยหินกรวดให้คนเข้ามาเยี่ยมชมเพ่งพินิจ

ถ้าฮิตาชิคือ Hi-Tech ด้วยวิทยาการก้าวล้ำนำหน้าเพื่อสร้างชาติอนาคต
โนซูมิ คือ Hi- Touch ที่คอยเตือนคนญี่ปุ่นไม่ให้ลืมอดีต

และนี่คือความขัดแย้งที่สุนทรีบนสายสัมพันธ์ของคนแผ่นดินเดียวกัน

ปั้นดินขึ้นแท่นหมุน
เกลา เกลี่ย กลึง
ดินกับจิตกระซิบกัน







Create Date : 28 มกราคม 2554
Last Update : 28 มกราคม 2554 20:54:55 น. 2 comments
Counter : 1247 Pageviews.  

 
ขอบคุณมากค่ะ เป็นบทความที่วิเคราะห์ที่มาที่ไปของตัวละครโนซุมิได้อย่างยอดเยี่ยม


โดย: คนภูเก็ต IP: 172.22.64.229, 202.29.50.66 วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:21:15:40 น.  

 
ภาษาคอ่ยเยื้องก้าวอย่างคิดคำนึง
แต่มั่นคงทางความคิดอันงดงามนัก


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 29 มกราคม 2554 เวลา:15:50:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]