พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
1 พฤศจิกายน 2550

จิตวิกฤตหลัง 11 กันยายน

8 กันยายน 2550

มีโอกาสได้เข้าร่วมเสวนาทางจิตวิญญาณ ไม่รู้จะไปแปะที่ไหนก็ขอมาไว้ที่ห้องนี้แล้ว เผื่ออ่านสบายๆในวันหยุดสุดสัปดาห์ ใจปลอดโล่ง ไร้ตัวเลขเขียว ๆ แดงๆ หน้าจอมากวนสมาธิ

เนื้อหาของบทความนี้ เป็นการสรุปจากเกาะสนามของกูรูในบรรยากาศล้อมวงเสวนาในหัวข้อ " จิตวิญญาณของยุคสมัยหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน : ความหวังหรือสิ้นหวัง " จัดโดย เครือข่ายพุทธิกา/เครือข่ายธรรมโฆษณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 นี้เอง

วิทยากร : ผศ.ดร.วีระ สมบูรณ์, รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์, นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, พระไพศาล วิสาโล (ผู้ดำเนินรายการ)

เอาล่ะครับ ลองหาเครื่องดื่มเบาๆ อย่างชาร้อนๆอุ่นๆจิบไปพลาง ก็คงจะหมดถ้วยพอดีครับ เมื่ออ่านจบ




ไม่มีใครลืมเหตุการณ์ที่พลิกประวัติศาสตร์โลกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เมื่อเครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ลำหนึ่งชนตึกแฝดหลังแรกของ World Trade Center ในมหานครนิวยอร์ค ณ ตอนรุ่งสายในชั่วโมงทำงานของชาวเมืองใหญ่ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาทีก็มีเครื่องบินโดยสารอีกลำชนเข้ากับตึกแฝดหลังที่ 2 ไฟลุกท่วมตึก ไม่กี่นาที ตึกสูงตระหง่านอันเป็นสัญญลักษณ์ของมหานครแห่งโลกทุนนิยมอันดับหนึ่ง ก็ค่อยๆทรุดลงมากองกับพื้น เป็นละอองผงฝุ่นคละคลุ้งทั่วทุกตารางนิ้ว ท่ามกลางสายตาตะลึงงันและช็อคไปทั้งโลก

ความโกลาหล มึนงงแต่แรกแปรเป็นความโกรธ เคียดแค้น นี่ย่อมไม่ใช่อุบัติเหตุธรรมดาแน่นอน มันคือการก่อการร้ายที่มีแผนเตรียมการล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายถล่มเขย่าขวัญชาวมะกันทั้งประเทศ ใครเหล่าคือผู้บงการ ใครเล่าคือผู้กล้าพลีชีพไปกับปฎิบัติการครั้งนี้ ใครเล่าคือเหยื่อเคราะห์แรกที่ถูกดึงเข้าร่วม และใครเล่าคือซากแห่งความรันทดของการก่อวินาศกรรมอันใหญ่หลวงที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ในวงเสวนามิได้ตั้งวงประเด็นจำเพาะสืบเสาะเรื่องราวความเป็นมาของการก่อการสนั่นโลก แต่มานั่งถกประเด็นในวิถีปุถุชนว่า เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจของมนุษย์แม้หลังเหตุการณ์ 11 กันยายนผ่านพ้นไปถึง 6 ปีแล้วก็ตาม

ทุกคนประณามการกระทำที่หยาบช้า แต่ยิ่งประณาม ความรุนแรงก็ยิ่งกระจายไปทั่ว กระทั่งกลายเป็นสงครามความเชื่อระหว่างลัทธิและลามมาถึงใกล้ๆบ้านเรานี้เอง หลายหน่วยงานพยายามหาหนทางเยียวยา บรรเทาทุกข์ แต่แสงสว่างดูเหมือนช่างริบหรี่ จนพลอยให้ผู้คนในสังคมเริ่มท้อแท้ สิ้นหวัง มีชีวิตแขวนอยู่บนความหวาดหวั่นและระแวง กระนั้นก็ตามในความมืดมิดก็ยังมีเชื้อรอจุดประทุไฟให้สว่างขึ้นมาอีกได้หากถอดใจออกมาคุยกัน

เข้าใจปรากฏการณ์ใหม่
ก่อนจะเยียวยาบำบัดความรันทด หดหู่ของมนุษย์ เราควรมาทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงปรากฏการณ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 แยกแยะเหตุที่เกิดและผลที่ติดตามมา อันนำไปสู่ความหวังในศานติ

1.การแบ่งขั้วที่แสนชัดเจน
ปรากฏการณ์ใครคือมิตร ใครคือศัตรู ไม่เคยเด่นชัดในประวัติศาสตร์แห่ง มนุษยชาติเหมือนเช่นทุกวันนี้ ผู้นำของสหรัฐอเมริกันถึงกับประกาศชัดว่า “If you are not with us, you are against us” ว้าว....เลยมีอังกฤษเท่านั้นที่เป็นมหามิตรเอกอุ ไม่เป็นไรเพราะพี่ใหญ่สามารถประกาศ ลุยลูกเดียว “Go it Alone” ได้อยู่แล้ว การจำแนกศัตรูให้ชัดเจนนี้เอง กลายเป็นข้ออ้างและเป้าหมายในการคุกคามอย่างสมเหตุสมผล แม้ที่จริงจะมีวัตถุประสงค์แฝงเร้นเพื่อครอบครองแหล่งพลังงานสำคัญใต้พิภพ( กรณีสหรัฐอเมริกาบุกอิรักโดยอ้างว่าซัดดัมเป็นแนวร่วมศัตรูตัวยง)

เมื่อสามารถจำแนกศัตรูออกมาเป็นตัวตนเช่นนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะโทษเหตุการณ์ทุกอย่างที่บัง เกิดขึ้นว่าเป็นผลพวงจากการกระทำของศัตรูนั่นเอง (Enemies are others นรกคือคนอื่นๆ ฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่เกี่ยว) ซึ่งย่อมนำไปสู่การทำสงครามที่(อ้างว่า)ชอบธรรมในท้ายสุด

การแบ่งขั้วศัตรูชัดเจน ยังความหวาดระแวงลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลให้กับคนร่วมชาติที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่ยอมปฏิบัติตามกฏระเบียบใหม่ๆเพื่อป้องกันเหตุร้าย กีดกันและละเมิดขนบวิถีของคนต่างชาติที่สืบเชื้อสายใกล้เคียง (เช่น ห้ามผู้หญิงมุสลิมโพกผ้าคลุมศรีษะและหน้า)รวมไปถึงชาวเอเชียแบบพี่ไทยที่ถูกเหยียดมองว่าให้การพักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายไปด้วย พลอยให้เพิ่มการตรวจตราตามสถานที่สาธารณะเป็นอย่างหวาดระแวง เสียบุคคลากรและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ต้องเซ็คอินที่สนามบินก่อนขึ้นเครื่องมากกว่า 2 ชั่วโมงปกติ ห้ามนำของมีคมและของเหลวขึ้นเครื่อง การเปิดกระเป๋าให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจค้นก่อนจะเข้าสถานที่สำคัญๆหรือโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน

2. Reality Show เลือดทะลุจอ
ด้วยเทคโนโลยีและอิทธิพลของระบบการสื่อสาร Global Media Network ทันเหตุการณ์ทั่วทุกมุมโลก สื่อใหญ่ๆได้เข้าไปเจาะสนาม ตั้งกล้อง 24 ชั่วโมงเพื่อนำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆมาปรากฏบนหน้าจอเห็นจะจะ เราจะเห็นภาพความโหดร้ายสดๆเกาะอุ่นๆบนจอสี่เหลี่ยมไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ การยิงสังหารตัวประกันทีละคนๆ โดยมีกำหนดการถ่ายทอดแจ้งประกาศล่วงหน้า การยิงจรวดพุ่งทำร้ายเป้าหมาย พร้อมเสียงเฮของคนดูนับเคาน์ดาวน์ถอยหลังร่วมไปด้วยอย่างมีส่วนลุ้นระทึก หลายคนสะอิดสะเอียนกับภาพที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังฝืนดูเฝ้าติดตามต่อ จนนานเข้าเกิดความเคยชิน เปิดโทรทัศน์ช่องข่าวทิ้งไว้เพื่อดูว่ามี Reality Show ของสงครามอันใหม่เกิดขึ้นหรือยัง ระดับของการแสดงจะยิ่งน่าสะพรึงกลัวยิ่งขึ้นเพื่อสยบอำนาจของฝ่ายตรงข้าม

3. การเผชิญหน้าบนศรัทธาของศาสนาและความเชื่อ
ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นวังวนของประวัติศาสตร์อารยธรรมโลกทุกสมัย แต่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อประกอบเหตุผลและศรัทธาในการเข้าห่ำประหัตประหารซึ่งกันและกัน เช่น “ยอมพลีชีพตายในนามของพระเจ้า” “ขอจบชีวิตในพระหัตถ์ของพระเจ้า” เป็นการนำศาสนามาประทับความถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์ก่อนยาตราประกาศสงคราม แม้ในระดับท้องถิ่นก็หนีไม่พ้น สงครามความเชื่อของ ฮินดูกับอิสลามในประเทศอินเดีย ฮินดูกับพุทธในศรีลังกา พุทธกับอิสลามในชายแดนภาคใต้ของไทยเราเอง หรือแม้แต่พุทธกับพุทธในกลุ่มความเชื่อของลัทธิที่แตกต่างกัน

ทางออกของความสิ้นหวัง
เมื่อปัญหาไม่สามารถแก้ได้โดยสันติ ทุกคนจึงหาทางออกในภาวะจำยอมที่สิ้นหวังด้วยตัวเอง
1. เพิกเฉย ถอยห่าง >(Ignorant) มองเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างรับรู้แต่ทิ้งระยะห่าง ไม่ขอยุ่งเกี่ยว หันไปหมกมุ่น ทุ่มเทความสนใจกับกิจกรรมอื่นๆแทน นานๆทีก็เปิดดู Reality Show ว่ายังดำเนินอยู่หรือเปล่า

2. ต่อต้าน ก้าวร้าว >( Anarchist) เมื่อไม่สามารถปรากฏตนในที่สาธารณะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็แสดงแค่อารมณ์ ความรู้สึกที่ไร้เสียง ไร้ตัวตนแทน เช่น การเขียนคำหยาบก่นด่า เคืองแค้น บนกำแพงหรือพื้นถนน หรือที่นิยมมากพักหลังๆก็คือ การแสดงออกผ่านเว็ปบอร์ดต่างๆ

3. บำบัดส่วนตน ( Secularist) จะเรียกว่าเป็นการแสวงหา หรือตัดช่องน้อยเฉพาะตัวก็ได้ เช่น การใช้ธรรมชาติเข้าบำบัดอย่าง SPA โยคะ การนั่งสมาธิ การใช้ศิลปะบำบัดแบบ Art Therapy มีผลสำรวจว่า หลังเหตุการณ์ 9/11 เครื่องถักนิ้ตติ้งขายดีขึ้นมาก เนื่องจากคุณแม่บ้านทั้งหลายเลือกที่จะอยู่กับบ้านมากขึ้น และถักไหมพรมเพื่อที่จะไม่ทนทรมาน (Trauma)กับความทรงจำเก่าๆ ซึ่งสลัดไม่หลุด การบำบัดส่วนตนเป็นกิจกรรมปัจเจก หากสามารถรวมกลุ่มกันได้ก็จะเกิดการแบ่งปัน ถ่ายทอด รับรู้ความรู้สึก เยียวยาได้ดีกว่าทำคนเดียว เช่น กรณีสึนามิในบ้านเราเมื่อปลายปี ธันวาคม 2548 ก็มีกลุ่มบำบัดเกิดขึ้นมากมาย กลุ่มทอผ้าจากญี่ปุ่น ซาอูริ ได้เข้ามาสอนและตั้งกลุ่มให้แม่บ้าน เด็กๆที่สูญเสียคนรัก มานั่งล้อมวงทอผ้าด้วยลายของตัวเอง สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกลงไปในผืนผ้านั้นๆ

4. เผชิญปัญหาแบบมนุษย์นิยม (Humanist) ยอมรับปัญหาและนำมาตั้งวงเสวนาพร้อมหาทางออกด้วยความหวัง บนความเชื่อมั่นในศักยภาพด้านบวกของมนุษย์

กลับไปสู่แก่นแท้คือศาสนา

แม้ไม่ใช่จะเป็นทางออกสุดท้ายสำหรับทุกคน แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ศาสนาเป็นสิ่งเดียวที่ยืนอยู่คงเผ่าพันธุ์มนุษย์มาตลอด ( อีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยาวคู่มนุษย์ด้วยกันกึคือ เชื้อโรคครับ... ฮา )เราอาจจะมีทางบรรเทาทุกข์อื่นๆเช่น กลุ่ม Secularist ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ศาสนาเป็นสิ่งที่ทุกคนมีต้นทุนอยู่แล้วในจิตใจ ตกทอดสั่งสมจากบรรพบุรุษชั่วกัลป์ หากนำมาขัดเกลาอีกนิดให้กระจ่างขึ้น สามารถอธิบายได้แจ่มแจ้งขึ้น ก็จะเป็นสรรพคุณที่เยียวยาบำบัดโดยไม่ต้องออกไปเสาะซื้อหาที่ไหนเลย

ไม่มีใครปฏิเสธได้ ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนทำความดี แต่ด้วยกลไกแห่งอำนาจรัฐที่พยายามครอบคลุมเหนือกว่า ศาสนาจึงถูกตีความกลายเป็นเรื่องวิถีบังคับของคนในชาติ ทำให้แก่นแท้ของคำสอนบิดเบือนและลางเลือนไป ศาสนาถูกมองเป็นเรื่องของกฏ ระเบียบ ปฎิบัติ (Regulative) และรัฐชาติ มากกว่าเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ การแสวงหา เรียนรู้และแรงบันดาลใจ (Inspirational) เช่น การประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ถ้าเราคิดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าคือสิ่งสูงสุดแล้ว ทำไมต้องแขวนหรือหาสถาบันอื่นมารับรองพุทธวจีอีกเล่า หรือ การกล่าวหาว่าใครไม่ได้นับถือศาสนาพุทธย่อมไม่ใช่คนไทย เป็นต้น

เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะทำอย่างไรให้ทุกศาสนาหันมามาคุยกันได้โดยละทิ้งเรื่อง อัตตา อภินิหาริย์ ไว้เบื้องหลัง ปรับระนาบความคิด(น่าจะเป็น Wave Length นะครับ) ให้สามารถโยงใยสื่อสารถึงกันได้ เพื่อให้แตกบรรลุถึงปัญญาฌาณอย่างเคารพในเหตุผลของแต่ละฝ่าย

และนี่แหละคือความหวังของมนุษย์หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544
ส่วนใครจะนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนครับ

ออกจากห้องประชุมมาเจอตลาดนัดวันศุกร์ที่ยังคลาคล่ำด้วยผู้คน เสียงซื้อขายต่อราคากันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อยังคึกคัก ก่อนตลาดจะวายพร้อมกับแสงอาทิตย์สุดท้ายของวัน เอ...นี่อาจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้ตลาดนัดเพื่อบำบัดความจนในกระเป๋าของคนไทยขณะนี้ก็ได้

อา...ชาหมดถ้วยหรือยังครับ



Create Date : 01 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2551 13:29:27 น. 0 comments
Counter : 943 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]