<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
25 กุมภาพันธ์ 2551

สถิตในดวงใจ



ตอนที่แล้ว ได้เล่าถึง ชัยพฤกษ์
นิตยสารเล่มเก่งที่เติบโตคู่กันมากับยุคสมัยของกูรู
ทำให้ได้รู้จักโลกแห่งความรู้ที่เกาะเกี่ยวไปกับ ภาษา วรรณกรรม
วิทยาศาสตร์ และปกิณกะทั่วไป


วันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ชัยพฤกษ์ช่อนั้นก็ร่วงจากไป
เหลือแต่ความทรงจำของดอกเหลืองละออ

มาครั้งนี้ ขอพูดถึงหนังสือวรรณกรรมอีกเล่มซึ่งประทับใจมาตลอด
ดวงใจ ของ ซิม วีระไวทยะ
ฉบับที่ตัวเองครอบครองอยู่เป็นของพี่ๆในตระกูล
เป็นฉบับที่จำหน่ายโดย ห้างหุ้นส่วนรวมสาสน์จำกัด
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์เฟื่องนคร ในปี 2507 ว้าว..
ได้รับมอบในฐานะรางวัลเรียนดีประเภทประถมศึกษาตอนปลาย

ฟังชื่อเรื่องแล้วแสนโรแมนติค น่าจะเป็นเรื่องราวความรักนิรันดร์ของหนุ่มสาว
ฮืมม์...ก็น่าจะใช่
แต่ความรักใน "ดวงใจ" ครอบคลุมมากไปกว่านั้น

ซิม วีระไวทยะ (เข้าใจว่าเป็น 1ในเสรีไทยด้วย)
ได้เรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือโรแมนติคเล่มนี้
จากโครงเรื่อง IL Course ของ Edmondo De Amieis ชาวอิตาเลียน
ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชนเล่มเก่งที่มีการแปลเป็นภาษาต่างๆในอารยประเทศ
ในญี่ปุ่นให้ชื่อว่า โรงเรียนแห่งความรัก
ในอังกฤษ ให้ชื่อว่า Heart
ตีพิมพ์ครั้งแรกไม่ประจักษ์ชัดแต่ต้องนานมากๆแน่
จากคำนิยมด้านในที่เขียนโดยพระยาอนุมานราชธน
ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ไว้ว่า

"หนังสือเรื่อง ดวงใจ ของนายซิม วีระไวทยะ
ดีทั้งเนื้อเรื่องและสำนวนเรียบเรียงเป็นภาษาไทย
เนื้อเรื่องดีเพราะปลุกใจให้ผู้อ่านเห็นแต่คุณงามความดี
สำนวนดีเพราะใช้ถ้อยคำเรียบๆง่ายๆเข้าใจดี
มีสำนวนเป็นภาษาไทยมากกว่าเป็นภาษาต่างประเทศ
นายซิม วีระไวทยะกล่าวไว้ในคำนำว่า
หนังสือเล่มนี้ได้รับรองกันว่าเป็นหนังสือเรืองนามสำหรับเด็กเล่มหนึ่ง
แต่เราเห็นว่าไม่แต่เด็กควรอ่านเท่านั้น
ควรจะถือเป็นหนังสืออ่านทั่วไป จึงกล้าแนะนำให้บิดามารดาและครูอาจารย์
ที่มีความสัมพันธ์ต่อเด็กโดยตรง เอาใจใส่เป็นพิเศษ"

เนื้อเรื่องของ ดวงใจ คือบทบันทึกของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ ประเสริฐ
ผู้เกิดอยู่ในครอบครัวฐานะปานกลาง แต่ร่ำรวยด้วยเพื่อนฝูงต่างวรรณะ
บทบันทึกใน 1 ปีการศึกษานับตั้งแต่เปิดภาคเรียนจนถึงปิดภาค
ล้วนมีเรื่องชวนประทับใจเกี่ยวกับความผูกพัน
ระหว่างคุณครู โรงเรียนและเพื่อนๆในชั้น
ซึ่งมีทั้งเด็กรวย หยิ่ง เด็กจน เจียมตัวทว่ามานะ
และแน่ล่ะต้องมีเด็กแก่นแก้ว
เหลือขอ สร้างปัญหาให้กับโรงเรียน

ด้วยภาษาที่เรียบง่ายและพยายามลดกลิ่นนม กลิ่นเนย สปาเก็ตตี้
เราจึงรู้สึกเหมือนว่า ประเสริฐได้แนะนำบันทึกของตนในแบบฉบับน้ำพริกปลาทู
กลมกล่อม ได้อรรถรสแบบไทยๆ
แม้จะมีบางตอนของบทบันทึกเรื่องเด่นประจำเดือน
ที่เล่าเรื่องวีรบุรุษชาวอิตาลีแก้เลียนนิดหน่อย
(ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของทหาร หริอเยาวชนที่รักชาติ
จนออกแนวโน้มเอียงไปทางชาตินิยม)

แต่ที่ชอบที่สุดก็คือ การเล่าเรื่องเพื่อนๆของประเสริฐ
ที่มาจากฐานะต่างๆกัน เช่น ลูกแม่ค้า ลูกนักโทษ ลูกกรรมกร
แต่ทุกคนก็สามารถเป็นเพื่อนเล่นด้วยกันได้
ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
เพื่อนที่ตัวใหญ่กว่าจะคอยปกป้องเพื่อนคนพิการ
ซึ่งมักจะเป็นเหยื่อของการถูกล้อเลียนจากเด็กแก่นเซี้ยว
เพื่อนที่เรียนเก่งก็จะเป็นหัวโจทก์นำช่วยติวเพื่อนที่เรียนอ่อนกว่า
บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจในชะตาชีวิตของแต่ละคน
ที่ไม่สามารถกำหนดเองได้
แต่ภายใต้ข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ และสติปัญญา
ทุกคนเลือกวิถีชีวิตที่ปูด้วยคุณธรรมส่องนำทาง

หลายตอนใน ดวงใจ ที่สื่อความนัยของความรักฉันท์เพื่อน
มีพ่อแม่คอยเฝ้าดูแลและปฎิบัติเป็นแนวทาง
เช่น เมื่อครั้งที่ประเสริฐเชิญเพื่อนๆมาเที่ยวบ้าน
พ่อของเขาเก็บภาพจิตรกรรมคนหลังโกงออกไป
เพราะเพื่อนคนหนึ่งของเขาพิการหลังโก่ง
หรือเมื่อเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกช่างปูนน้อย
ใส่เสื้อพ่อตัวเองที่มีฝุ่นเกาะมาเที่ยวบ้านประเสริฐ
เศษฝุ่นเปรอะเปื้อนเบาะเก้าอี้นั่ง ประเสริฐทำท่าจะปัด
แต่พ่อของเขาไล่ให้เด็กๆออกไปเที่ยวนอกบ้าน
แล้วค่อยมาทำความสะอาดเก้าอี้ทีหลัง
เพื่อสอนบทเรียนทางอ้อมว่า
หากปัดฝุ่นต่อหน้าเพื่อน ก็แสดงว่า
เรารังเกียจฝุ่นงานที่มาจากงานสุจริต
เรารังเกียจพ่อของเขา และตัวช่างปูนน้อยด้วย

เรื่องของการสำนึกผิดและให้อภัย
เพื่อนคนหนึ่งชื่อ พณิช ลูกพ่อค้า
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามีหัวค้าขายตั้งแต่เด็ก
พณิชเป็นคนขยัน ช่างสรรหาและสะสมสิ่งของจุกจิก
นำมาแลกเปลี่ยนหรือขาย ได้ค่าขนมมาก็เก็บเป็นทุนซื้อของต่อ
ปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรจนเพื่อนรู้สึกถึงความแล้งน้ำใจนิดหน่อย
กระทั่งวันหนึ่ง พณิชก่ออุบัติเหตุให้กับเด็กผู้หญิงในโรงเรียนเดียวกันโดยไม่ตั้งใจ
ด้วยสำนึกผิดทั้งหมด เด็กชายพณิชลูกพ่อค้า
จึงตัดสินใจมอบสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ตัวเองมี
คือสมุดสแตมป์ที่เฝ้าเพียรเก็บนับดวงสะสมมาสิบๆปี
ให้กับพ่อของเด็กหญิงแทนคำกล่าวขอโทษทั้งปวง
ด้วยอานิสงค์ความตั้งใจและสำนึกดี
เช้าวันหนึ่งพณิชได้รับสมุดสแตมป์เล่มนั้นกลับคืน
พร้อมดวงตราสแตมป์หายากเพิ่มขึ้นมาอีกสองสามดวง
จากพ่อของเด็กหญิงผู้ให้อภัยกับสำนึกผิดของเขา

การเก็บความลับของเพื่อน
ซุ่นหลีเป็นลูกแม่ค้าผักยากจน
แม่ทำงานหนักเพื่อส่งเสียลูกชายได้ร่ำเรียน
ขณะที่พ่อกลับไปทำงานที่เมืองจีนตั้งแต่ตัวเองยังแบเบาะ
ส่งเงินทองมาจุนเจือเป็นระยะๆ
ซุ่นหลีมีภาพพ่อเป็นวีรบุรุษประจำใจ
หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ว พ่อถูกจำจองกักขังในคุกเมืองไทยนี้เอง
ด้วยข้อหาอุกอาจเป็นนักโทษคดีอาชญากรรม
ความลับข้อนี้ มีเพียงประเสริฐและเพื่อนอีกคนรับรู้โดยบังเอิญ
ทั้งคู่ไม่เคยปริปากทำลายภาพวีรบุรุษในดวงใจของซุ่นหลีเลย
ตรงกันข้าม กลับรักและให้กำลังใจซุ่นหลีเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

อ่านจบแล้ว นึกไม่ออกเลยว่า จะมีโรงเรียนไหนบ้างในบ้านเรา
จะสร้างความประทับแนบแน่นเป็นดั่งดวงใจได้สนิทเนียนเท่านี้
ระหว่างครู โรงเรียน เพื่อนนักเรียนและผู้ปกครอง

เคยเอาเรื่องนี้อ่านลงในหนังสือเสียงให้กับมูลนิธิคนตาบอด
ไม่รู้ว่าป่านนี้จะยังอยู่หรือเปล่า
หรืออาจจะทิ้งไว้ไม่สนใจเลยก็ได้
เพราะไม่ใช่หนังสือวรรณกรรมประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่

เป็นแค่บทบันทึกฝังใจของเด็กคนหนึ่งที่มีต่อความทรงจำในเยาว์วัย...เท่านั้นเอง

ปล..ดวงใจ กลายเป็นหนึ่งในหนังสือหายากเสียแล้ว
ที่มีขายในเวปหนังสือมือสองก็หมดสต็อคไปนาน
สำนักพิมพ์ไหนที่มีนโยบายพิมพ์งานคลาสสิค
น่าจะสนใจพิมพ์ใหม่ก็ดี



Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 5 กรกฎาคม 2552 9:26:21 น. 2 comments
Counter : 1309 Pageviews.  

 
เขาเป็นอะไรกับนายมีชัยล่ะท่าน แถลงด้วย


โดย: ตาพรานบุญ วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:2:15:13 น.  

 
พยายามค้นหาใน Google
เจอเพียงข้อมูลบอกเล่าว่าเป็นลูกศิษย์ อ.จ. ปรีดี พนมยงค์
และเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร์ฯสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475


โดย: กูรูขอบสนาม IP: 124.121.93.93 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:20:28:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]