Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
6 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
6 กค 53 " จันทสาโรวาท " ตอนที่ 2 ธรรมโอวาทท่านพระอาจารย์มั่น




หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


พรรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ จำพรรษาถ้ำผาปู่ จ.เลย
ความจริงปรากฏเมื่อมีสติ สงบนิ่ง
- ธรรมะแสดงเอง ปล่อยรู้เห็นตามจริง วางอุปาทานจึงวางอารมณ์ได้ จึงรู้อารมณ์ปกติ
- พิจารณาให้รู้จักนิสัยของจิตและอารมณ์ เอาธรรมะเฉพาะที่เกิดในจิต พิจารณาตามนิสัยของตน ให้จิตเป็น
กลางอย่าให้เกิดความรักความชัง


พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๘๓จำพรรษาบ้านโพนสว่าง จ. สกลนคร
พิจารณาสภาวะธรรมโดยธรรมชาติ

ธรรมเป็นอัพยากฤต ให้รู้เองเห็นเอง ตามจริตนิสัย อย่าเชื่อจิต ให้เชื่อธัมมะ คือ ความเป็นเอง คือ ความเกิดความดับของสังขาร ไม่คลุกเคล้าด้วยอารมณ์ต่างๆ


ธรรมโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่นจากบันทึกของหลวงปู่หลุย
๒๘ ตค. ๒๔๘๓

- ปัญญากับสติให้รู้เท่าทันกัน
- พิจารณากายจิต ความไม่เที่ยงของสังขารเป็นธัมมะส่อให้เห็นเรื่อยๆ ทำความรู้ในนั้นเห็นในนั้น
- ในโลกนี้เป็นธาตุทั้งนั้นให้รู้เท่าทันกับธาตุอย่าหลงตามธาตุ
- มหาสติเรียนกายกับจิตให้มาก
- ให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตอนาคตและอดีต
- ธาตุ ๘๔๐๐๐ ธาตุออกมาจากจิตหมด
- นิโรธเป็นของดับเพราะรู้เท่าแล้ว จิตไม่เกิดยินดียินร้าย
- ให้เอากายวาจาใจนี้ยกขึ้นพิจารณา อย่าเพิ่มอย่าเอาออก ให้เห็นเป็นปกติ
- ให้รู้ธัมมะและอาการของธรรมถึงขั้นละเอียดแล้วก็จะรู้เองเห็นเอง
- แสดงตนดูถูกท่านว่าท่านเป็นคนโกรธ เพราะผู้ฟังไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะยุ่งแต่จิตของตัวเองเท่านั้น
- ทำจิตให้เสมออย่าขึ้นอย่าลง อย่าไปอย่ามา ให้รู้เฉพาะปรกติของจิต
- ถ้าส่งจิตรู้เห็นนอกกายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้รู้เห็นอยู่ในกายกับจิตนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
- นักปฏิบัติใจต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่สุดจึงจะรู้ธรรมเห็นธรรม
- ให้รู้ธาตุ เห็นธาตุจิตจึงไม่ติดทางราคะ
- คนเราจะดีจะชั่วต้องเกิดวิบัติเสียก่อน
- ท่านกำชับว่าอย่าให้จิตเพ่งนอก ให้รู้ในตัวเห็นในตัว เมื่อรู้ในตัวแล้วรู้ทั่วไปเพราะตัวเป็นต้นเหตุ
- ให้แก้ปัจจุบัน เมื่อแก้ปัจจุบันได้แล้ว ภพ ๓ นั้นหลุดหมด ไม่ต้องส่งอดีต อนาคต ให้ลบอารมณ์ภายนอกให้หมด จึงเข้าอารมณ์ภายในได้ เพ่งนอกเป็นตัวสมุทัย เป็นทุกข์ และเป็นตัวมิจฉาทิฏฐิ เพ่งในตัวเป็นสัมมาทิฏฐิ
-เล่นนิมิตก็ดี ยินดียินร้ายก็ดี เรียกว่าค้นเงาตน เชื่อนิมิตเป็นบ้า


พรรษาที่ ๑๗-๒๐ พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖ จำพรรษาบ้านห้วยหีบ บ้านอูนโคก บ้านผักคำภู สกลนคร
หลุมพรางของกิเลส


พรรษาที่ ๒๐-๒๕ พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๒ จำพรรษาวัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร กับท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์วัน





หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และ พระอาจารย์วัน อุตตโม



กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าบ้านหนองผือ จ. สกลนคร


ธรรมโอวาทที่ท่านพระอาจารย์มั่นแสดง ณ วัดป่าบ้านหนองผือ
- ธัมมะ ธัมโม เรียนมาจากธรรมชาติเห็นความเกิดความแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์
- อย่าเชื่อหมอมากนัก ให้เชื่อธรรมมากจึงดี เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม อรหันต์ก็เป็นคุณอนันต์ นับหาประมาณมิได้ พระอรหันต์ตรัสรู้ในตัว เห็นในตัวมีญาณแจ่มแจ้งดี ล้วนแต่เล่าเรียนธรรมชาติทั้งนั้น
- ธัมมะชี้เข้ากายกับจิต เป็นคัมภีร์เดิม
- ภูเขาสูงที่กลิ้งมาบดสัตว์ให้เป็นจุณไปนั้น อายุ ๗๐ ปีแล้วไม่เคยเห็นภูเขา เห็นแต่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณะทุกข์เท่านั้นแล ทิฏฐิมานะเป็นภูเขาสูงหาที่ประมาณมิได้
- ธัมมะเป็นต้น เอโกมีอันเดียว แต่อาการโดยนัย ๘๔๐๐๐ ธาตุ๔ ธาตุ๖ ธาตุ๑๘ ให้เห็นด้วยจักษุด้วย ให้เห็นด้วยญาณ คือปัญญาด้วย นโม ดิน น้ำ บิดามารดาปั้นขึ้นมา
- ๘๔๐๐๐ เป็นอุบายที่ให้พระองค์ทรมานสัตว์ สัตว์ย่อมรู้แต่ ๘๔๐๐๐เท่านั้นจะรู้ยิ่งไปกว่านั้นเป็นไม่มี เว้นแต่นิสัยพุทธภูมิ รู้อนันตนัยหาประมาณมิได้ พ้นจากนิสัยของสาวก สาวกรู้แต่ ๘๔๐๐๐ เท่านั้น จะรู้ไปกว่านั้นมิได้
- ให้รู้ นโม นะ น้ำ โม ดิน ( อิ อะ ) อิติปิโสฯ อรหัง เมื่อรู้แล้วความรู้หาประมาณมิได้ อะอิ สำคัญนัก เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์
- ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ นี้เองทำให้บุคคลเป็นพระอรหันต์ ญาณ ของพระพุทธเจ้า ท่านหมายเอาสกนธ์กาย เช่น นิมิตธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุดิน และอาการ ๓๒ เป็นมติ ท่านบอกว่ารู้เห็นเช่นนี้ บรรดาท่านเจ้าคุณทั้งหลายไม่คัดค้านเลย
- สัตว์เกิดในท้องมารดาทุกข์แสน กามเป็นของต่ำช้าเป็นของที่นำทุกข์เดือดร้อน โลกสันนิวาส มีความแปรปรวนตั้งเที่ยงอยู่เช่นนั้น แต่จิตของเรารักษาไว้ให้ดี อย่าให้ติด ถ้าไม่ติดก็ได้ชื่อว่าเป็นสุข
- พิจารณาค้นกาย ตรวจกายถูกดีแล้ว ไม่เป็นปัญหาขึ้นมาได้ ถ้าไม่ถูกย่อมเป็นปัญหาขึ้นมา
- ค้นดูกายถึงหลักและเห็นอริยสัจของจริงแล้ว เดินตามมรรคเห็นตัวสมุทัย เห็นทุกขสัจ
- ต้องทำจิตให้เป็นเอก ต้องสงเคราะห์ธรรมให้เป็นเอกเสมอ
- อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือ กาย วาจา ใจ เป็นมรรค เข้าไปดับทุกข์ ดับสมุทัย ดับนิโรธ นิโรธดับไม่เอา เอาที่ไม่ดับ คือดับนั้นยังเป็นตัวมรรค เอาสิ่งที่ไม่ดับ สิ่งที่ตั้งอยู่นั้นแหละเป็นตัวให้สิ้นทุกข์
- ปฏิภาคนั้น อาศัยผู้ที่มีวาสนา จึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคหนิมิต นั้นเป็นของไม่ถาวร พิจารณาให้ชำนาญแล้วเป็น ปฏิภาคนิมิต ชำนาญทางปฏิภาคแล้วทวนขึ้นมาเป็นต้น ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนาฯ
- เจริญทางจิตอย่างเดียว ตั้งแต่ อุปจารสมาธิ รู้วาระจิตของผู้อื่นได้ แก้นิวรณ์ได้ แต่โมหะคุมจิต ถ้าเจริญวิปัสสนาถึง อัปปนาสมาธิ ทำความรู้ให้พอเสียก่อนจึงไม่หวั่นไหว
- ให้รู้ที่จะแก้จิตของตน ให้รู้จักภพของตนที่จะไปเกิด ท่านอาจารย์ได้พิจารณาวัฏฏะ ๕๐๐ ชาติ
- ต้องผ่านความผิดมาเสียก่อนจึงปฏิบัติถูก ความผิดเป็นเหตุ ความถูกเป็นผลของความดีทั้งหลาย ต้องเดินมรรค ๘ ให้ถูกจึงแก้ได้ เดินตามสายหนทางของพระอริยเจ้าใช้ตบะอย่างยิ่ง คือ ความเพียร จึงจะสอนตนได้ โลกีย์ โลกุตระ ๒ อย่างประจำอยู่ในโลก ๓ ภพ
- ปัญญามีสัมปยุตทุกๆภูมิ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตระ เหล่านี้ ล้วนแต่มีปัญญาประกอบ ควรที่เป็นเสียมก็เป็น ควรที่เป็นขวานก็เป็น ส่วนที่เฉยๆเรื่อยๆนั้น เช่นเหล็กเป็นแท่งกลม จะเอามาใช้อะไรก็ไม่ได้ นี้ฉันใด
- จะบอกการดำเนิน วิปัสสนา และ สมถะ โดยเฉพาะนั้นมิได้ เพราะมันไปหน้าเดียว จริตของแต่ละคนต่างๆกัน แล้วแต่ความฉลาดไหวพริบของใคร เพราะดำเนินจิตหลายแง่ แล้วแต่ความสะดวก
- ภายนอกให้ละเอียดเสียก่อน แล้วภายในจึงละเอียด
- ธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุ ดับเพราะเหตุ
- ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นนั้นอย่าย้าย มันเต็มแล้วมันย้ายเอง พระโยคาวจรเจ้า ละกิเลสส่วนใดได้แล้วท่านไม่กลับมาละอีก เพราะมรรคประหารสิ้นไปแล้ว เดินหน้าแก้กิเลสใหม่เรื่อยไป จนละกิเลสรอบไม่เกิดอีก นี้ก็เป็นอัศจรรย์
- ใครจะไปบังคับจิตนั้นไม่ได้เลย ต้องสอนจิตให้อยู่ด้วยอุบาย
- สนิมเกิดในเนื้อเหล็ก กิเลสมันเกิดในดวงจิต ต้องประหารจิตให้เป็นธรรม
- การนอน การสงบเข้าฌาณ เป็นอาหารของจิตและร่างกายอย่างหนึ่ง สมุถะต้องพักจิตสอบอารมณ์ ส่วนวิปัสสนาจิตเดินไตรลักษณ์ให้รู้อริยสัจ เหนื่อยแล้วเข้าพักจิต พักจิตหายเหนื่อยแล้ว จิตตรวจอริยสัจจอีกดังนี้ ฉะนั้นให้ฉลาดพักจิต การเดินจิตทั้งวิปัสสนาและสมถะ พระโยคาวจรเจ้าทิ้งไม่ได้ ชำนิชำนาญทั้งสองวิธีจึงเอาตัวทิ้งจากกิเลสทั้งหลายไปได้ เป็นมหาศีล เป็นมหาสมาธิ เป็นมหาปัญญา มีศีลทั้งอย่างหยาบอย่างกลาง อย่างละเอียด พร้อมทั้งจิตเจตสิก พร้อมทั้งกรรมบถ ๑๐ ไม่กระทำผิดในที่ลับและที่แจ้ง สว่างทั้งภายในและภายนอก มีมหาสติรอบคอบหมด วิโมกข์ วิมุตติ อกุปธรรม จิตบริสุทธิ์ จิตปกติเป็นจิตพระอรหันต์สว่างแจ้งทั้งภายนอกภายในสว่างโร่ ปุถุชนติเตียนเกิดบาปเพราะพระอรหันต์บริสุทธิ์ กายเป็นชาตินิพพาน วาจา ใจ เป็นชาตินิพพาน นิพพานมี๒อย่าง นิพพานที่ยังมีชีวิตอยู่๑ นิพพานตายแล้ว ๑ พระอรหันต์รอขึ้นรถขึ้นเรือไปนิพพานฉะนั้น
- ให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตอนาคตและอดีต
- ปัญญากับสติให้รู้เท่าทันกัน พิจารณากาย จิต ความไม่เที่ยงของสังขารเป็นธัมมะ ส่อให้เห็นเรื่อยๆ ทำความรู้ในนั้น เห็นในนั้น
- ในโลกนี้เป็นธาตุทั้งนั้น ให้รู้เท่าทันกับธาตุ อย่าหลงธาตุ
- มหาสติเรียนกายจิตให้มากๆให้เห็นจริงธัมมะจริง สมมุติ อย่าหลงรูป เสียง กลิ่น รส ของอันเต็มโลกอยู่เช่นนั้น
- นิโรธเป็นของดับเพราะรู้เท่าแล้ว จิตไม่เกิดยินดียินร้าย ดับไปเช่นนี้ชื่อว่านิโรธฯ
- ให้รู้ธรรมและอาการของธรรมถึงขั้นละเอียด แล้วจะรู้เองเห็นเองฯ
- พระอานนท์ ทรงไว้ซึ่งพระสัทธรรม ว่าเป็นของภายนอก ต่อหันเข้ามาปฏิบัติภายในจึงสำเร็จ
- หนัง คนในโลกยินดีในหนังและเครื่องอุปโภคบริโภค หนังอันนี้ทำให้มนุษย์หลงยินดีพากันตกทุกข์กันมาก
- ธรรมธาตุ สัตว์หลงธาตุ ชมธาตุ ยินดีธาตุ ยินร้ายธาตุ จึงได้ทำกรรมไปต่างๆ
- เรียนแบบตำราเป็นของไม่แน่นอน สู้เรียนทางกายและจิตให้เป็นธรรมชาติไม่ได้ ฉะนั้นผู้เรียน กาย วาจา จิต ไม่ใคร่สึก ปฏิบัติแต่ธรรมที่รู้ยิ่งเห็นจริงฯ
- ให้เรียนทางจิตทวนกระแส ตัดรากเหง้าเครื่องผูก ดุจรื้อเครื่องฟัก
- ปฏิภาคนิมิต เป็นปาฏิหาริย์ของจิต มีอำนาจทำให้เป็นอากาศว่างเปล่าได้ อันเป็นอัศจรรย์ใหญ่หลวงฯ
- ผู้มีราคะ ย่อมเศร้าโศกเสียใจเพราะราคะฯ
- เกิดตาย เกิดแล้วตาย ชมแต่หนังของเก่า ไม่หันไปหาทางที่พ้นทุกข์ฯ
- ทำจิตให้เสมออยู่ อย่าขึ้นอย่าลง อย่าไปอย่ามา ให้รู้เฉพาะปกติจิตฯ
- ฐานของธรรมเป็นบ่อเกิดอริยสัจของจริง
- เกิดความรู้อย่างวิเศษแล้ว ย่อมหาอานิสงส์ประมาณไม่ได้ฯ
- อัตตาหิฯลฯ เป็นของลึกลับเหลือที่สุดฯ
- ธรรมที่ลึกลับ ไม่ควรพูดคนอื่นรู้ เพราะคนอื่นไม่เห็นตามธรรมจะเสีย ต้องพูดต่อผู้ปฏิบัติเหมือนกัน
- ให้ถือตามมีตามได้ หันหาธรรมชาติ อย่าก่อความกังวลนั้นดีมาก เมื่อปฏิบัติได้แล้ว ก็ไม่ดีใจ เสียใจ
- เพ่งนอกนั้นไม่สิ้นสงสัย เพราะยังหมายนอกหมายในอยู่ ตกอยู่ในกระแสของสมุทัย
- ให้ระงับสังโยชน์ที่ละเอียดอยู่ในดวงจิตนั้นฯ
- มรรค๘ ใครภาวนาเจริญดีแล้ว แก้โลกธรรม๘ประการ ฉะนั้น จิตท่านอรหันต์ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ประการ มีไตรลักษณ์บังคับ แม้โลกีย์ทั้งหลาย มีไตรลักษณ์บังคับอยู่เสมอ ไตรลักษณ์บังคับไม่ได้ มีโลกุตระเท่านั้น โลกุตตระอันนี้อยู่เหนือไตรลักษณ์ สถานที่เกษมบุคคลที่จะพ้นโลกโลกีย์ ไปถึงโลกุตตระ ต้องสร้างบารมีเป็นการใหญ่ บุคคล ๓ จำพวกคือ พระพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจก๑ พระอรหันต์ ๑ พระพุทธเจ้า สร้างบารมี ๓ ชนิด ปัญญาบารมี ๔ อสงไขยแสนกำไรมหากัป ศรัทธาบารมี ๘ อสงไขยแสนกำไรมหากัป พระปัจเจกสร้างบารมี ๒ อสงไขย แสนกำไรมหากัป พระอรหันต์สร้างบารมี ๑ อสงไขยแสนกำไรมหากัป ดังนี้ สร้างพระบารมีมิใช่น้อย กว่าจะสำเร็จพระนิพพานได้ดังนี้ ชำนาญมากที่สุด ๑ อสงไขย เหลือที่จะนับนั้นประการหนึ่ง เอาสวรรค์ เอานรก เป็นเรือนอยู่สร้างพระบารมี พระนิพพานเป็นของแพงที่สุดต้องสร้างบารมี แลกเปลี่ยนเอาจึงได้พระนิพาน
- ชีวิตและนิพพาน ธาตุขันธ์มีจิตสิงอยู่เรียกว่า ชีวิต เมื่อพิจารณาวางตามสภาพได้แล้ว จิตหดหาจิตเดิมเข้า รู้เห็นในปัจจุบัน เจริญมหาสติรอบในสติ มหาปัญญารอบในปัญญา แล้วเห็นเป็นปกติฯ
- อคค มนุสเสสุ มนุษย์เลิศ มนุษย์น้ำใจสูง มีทุกข์ มีสมุทัย มีมรรค มีนิโรธ ครบทุกอย่าง จึงสำเร็จนิพพานได้ พระอินทร์ พระพรหม เป็นต้น บวชเป็นพระเป็นเณร ไม่ได้เหมือนมนุษย์ มนุษย์เป็นธาตุพอ ดุจแม่ครัวแกงช่างเอร็ดอร่อย มันพอพริกพอเกลือ จึงให้สำเร็จมรรคผลได้ ไม่ขัดข้องด้วยประการใดๆ ฉะนั้นมนุษย์ไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจ ปฏิบัติให้ได้สวรรค์ นิพพานได้ ธาตุพอเป็นชนิดที่สูงสุด
- นิพพาน นั้นคือ จิตหดโดยเห็นธาตุ รู้แจ้งธาตุ จิตฐีติภูตัง รู้อยู่นั้นเป็นตัวนิพพานฯ
- วิชชา ๓ ของพระพุทธเจ้า ลึกลับสุขุมมาก ในยามที่ ๑ พระองค์ทำความรู้เท่าอย่างนั้น ยามที่ ๒ พระองค์ทำความรู้เท่านั้น ยามที่ ๓ พระองค์ทำความรู้เท่าคือแก้อวิชชา และปฏิจสมุปบาทในของจิตในช่องแคบมารแย่งไม่ได้ มีความรู้อันพิเศษขึ้นมาว่า พระองค์เป็นสยมภู ความที่ท่านแก้อวิชชาเป็นของขั้นละเอียดยิ่งนัก บุคคลจะรู้เห็นตามนั้นน้อยที่สุด สุดอำนาจของจิต เมื่อกำหนดรู้ลงไปเป็นของว่างหมด ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคลเราเขา ไม่ใช่ผู้หญิงผู้ชาย ธาตุสุญโย เป็นธาตุสูญ แล้วกำหนดจิต รู้จิต ตั้งอยู่ใน ฐีติธรรม
- ธาตุกับจิตติดกัน จึงวนเวียน แก่ เจ็บ ตาย อยู่ทุกชาติ หาที่สิ้นสุดมิได้ ธาตุเป็นของที่มีอยู่เช่นนั้น จิตของคนที่ไม่ไปยึดไปถือ ก็เป็นจิตสิ้นทุกข์ได้ฯ
- อายตนะภายในภายนอก แปรปรวนอยู่เป็นนิจสว่างโร่ทั้งภายในภายนอกไม่ขาดระยะของ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ฟังเทศน์ธรรมชาติแสดงเรื่อยๆ พระโยคาวจรฟังเทศน์ในตอนนี้ฉลาดในตอนนี้ สิ้นกิเลสในตอนนี้ เป็น ปัจจัตตัง ความเพียร มรรคผล ถือสมถะพอ วิปัสสนาพอ มันผลักกิเลสมันเอง
- จิตตั้งจิตมิได้ ตั้งจิต ตั้งธาตุ จึงแสดงรู้เห็นด้วยกันได้ เพราะจิตมันเป็นนามธรรม
- อย่าถอนทำความเพียร มันจะเคยตัว ให้ทำจนชินให้ได้เนื้อ หรือคุ้นเคย จึงจะเห็นมรรคเห็นผล
- วาจาของท่านเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีลาภ ยศ อามิส เจือ วาจาของท่าน เทศน์จึงขลังดี พูดถูกธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เห็นแก่หน้าบุคคลและอามิส
- ท่านไม่ให้ศีลแก่โยมที่รู้ศีล อ้างว่าแม้พระภิกษุที่บวชนั้นก็ไม่ให้ศีล ๒๒๗ เลย ให้แต่เพียงศีล ๑๐ ชั้นสามเณรเท่านั้น ต่อนั้นประกาศสงฆ์ตั้งสมมติให้กันเอง แล้วก็พากันรักษาพระปาฏิโมกข์นี้ฉันใด เพียงศีล ๕ ให้เจตนารักษาแต่เฉพาะตนเองเท่านั้นเป็นพอ
- จิตนั้นเมา สุราไม่ได้เมา สุราไม่ติดคน คนติดสุราต่างหาก เมื่อคนดื่มไปแล้วทำให้เป็นบ้าไปต่างๆฯ
- เรื่องของโลกย่อมมีการยุ่งอยู่เรื่อยๆ มาตั้งแต่ไหนๆ
- วิธีละกิเลสฝังแน่นอยู่ในสันดานนั้น ตีลิ่มใหม่ใส่ลงไปลิ่มเก่ากระดอนออก นี้ฉันใด มรรคเข้าไปฟอกกิเลสเก่าออกมาแล้วจึงเห็นความบริสุทธิ์
- ต้องเจริญทุกข์ให้พอเสียก่อน ดับต้องอยู่ในที่นั้น ดุจตีลิ่มลงไป ลิ่มเก่าถอน ลิ่มใหม่เข้าแทน คือ กิเลสออก ความบริสุทธิ์เข้าแทน ดุจของดีอยู่ในของชั่ว คือ อวิชชาออก วิชชาเข้าแทน
- จิตเสวยเวทนาอย่างละเอียดนั้นให้ละลายเวทนาเข้าไปอีก เอามรรคเข้าไปฟอก แล้วทำความรู้ตั้งอยู่แทนเวทนา จึงจะเห็นตน เห็นธรรม เห็นความบริสุทธิ์ฯ
- สมณะ พราหมณ์ มีการเพ่งอยู่เป็นนิจ มันไม่รู้ไม่ฉลาดแล้ว จะไปอยู่ ณ ที่ไหน อาพาธก็หาย บุญก็ได้ด้วย พระองค์ตรัสให้พระสารีบุตรทำเช่นนั้น แท้ที่จริงพระสารีบุตรก็ทำชำนาญมาแล้ว แล้วทำอีก อาพาธก็หายฯ
- ให้พิจารณาธาตุ เมื่อเห็นธาตุแปรปรวนอยู่เป็นนิจ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
- อารมณ์ภายนอกและภายใน เป็นที่ตั้งอยู่เป็นธรรมดา แต่จิตเป็นของที่รับรู้ฉะนั้นต้องทรมานทางจิตให้มากๆ แก้อวิชชา แก้อาสวะ แก้ทุกข์ แก้สมุทัย นิโรธ เกิดญาณ ตั้งอยู่เป็นอมตธรรมที่ไม่ตาย
- สกลกายตัวเดียวนี้แหละเป็นตัวธรรม
- ละกิเลสด้วยสติ สติฟอกอาสวกิเลสเอง
- ธรรมเป็นฐีติธรรม ตั้งเที่ยงอยู่เช่นนั้น แปรปรวนอยู่เช่นนั้น ให้รู้ให้เห็นเฉพาะที่เกิดกับจิต
- จิตเป็นธรรมที่บริสุทธิ์หมดจดทุกอย่าง มนุษย์ เทวดา ไม่มีที่ครหาเลย
- บรรดานักปฏิบัติให้เฉลียวฉลาดรู้เท่าทันโจร เมื่อรู้เท่าทันโจรแล้ว โจรย่อมไม่มีโอกาสลักสิ่งของไปได้ ปฏิบัติให้มีสติและปัญญารักษาตน กิเลสมิอาจเข้าถึงได้
- ที่แผ่นดินย่อมเป็นฝุ่นผีทั้งสิ้น ให้จิตพิจารณาตกลงถึงฐานฯ จิตจึงไม่กังวลฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย
- มนุษย์ตาย จะเอาไปกินและไปใช้ไม่ได้ ไม่เหมือนวัวควาย วัวควายเอาเนื้อกินได้
- ในขณะมีชีวิตนั้นทำบุญดีมาก การทำบุญศพถึงผู้ตายนั้นไม่ได้เป็นส่วนมาก แต่ทำตามประเพณีเท่านั้น พระอรหันต์นิพพาน ภูเขาถ้ำต่างๆใครทำศพท่านเล่า ท่านทำไมถึงนิพพาน
- ใช้ไหวพริบเป็นอาชาไนยอยู่เนืองนิจ
- ธรรมทั้งหลาย จิตประกอบกายยกขึ้นแสดง ปราศจากกายแล้วจะยกนามธรรมขึ้นแสดงมิได้เลย
- พระอรหันต์ทั้งหลายจิตไม่มี มีแต่สติ เพราะจิตสังขารมันเป็นตัวสังขาร สังขารไม่มีในจิตของพระอรหันต์
- มนุษย์วนเวียนเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ติดของเก่ากามาวจรสวรรค์๑ สัตว์ดิรัจฉาน ๑ มนุษย์ ๑ ท่านพวกนี้ติดของเก่า พระไตรปิฏก มี กิน๑ นอน๑ สืบพันธุ์ ๑ แม้ปู่ย่า ตายาย ของเราล้วนแต่ติดของเก่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกก็ดี พระอรหันต์ก็ดี เมื่อท่านยังไม่ตรัสรู้ก็ติดของเก่า เพลิดเพลินของเก่าในรูป เสียง กลิ่น รสของเก่าทั้งนั้น ไม่มีฝั่ง ไม่มีแดน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ย่อมปรากฏอยู่เช่นนั้น ตื่นเต้นกับของเก่า ติดรสชาดของเก่า ใช้มรรค๘ ให้ถอนของเก่า ให้อิทธิบาท ๔ ตีลิ่มสะเทือนใหญ่ ปังปัง ลิ่มเก่าถอนคืน คือ อวิชชา ลิ่มใหม่คือ วิชชาเข้าแทน ดังนี้ใช้ตบะความเพียรอย่างยิ่ง ที่จะถอนได้ต้องสร้างบารมีมานาน จึงจะถอนได้ เพราะของเก่ามันบัดกรีกัน ได้เนื้อเชื้อสายของกิเลสมาพอแล้ว ย่อมเป็นอัศจรรย์ของโลกนั้นทีเดียว
- ส่งจิตออกนอกกายทำให้เผลอสติ
- มัคโคหนทางดำเนินมีที่สิ้นสุด ส่วนหนทางเดินเท้าไม่มีที่สิ้นสุดฯ
- น้ำใจของสัตว์ยุ่งด้วยธาตุ ระคนอยู่ด้วยธาตุ ธาตุไม่มีที่สิ้นสุด แม้จิตก็ไม่มีที่สิ้นสุด
- จิตรับภาระหมดทุกอย่าง จิตเป็นแดนเกิด รู้เท่าอาการของจิตได้แล้ว รู้ปกติของธาตุ
- เอโก มัคโค หนทางอันเอก วิสุทธิยา เป็นหนทางอันบริสุทธิ์มีทางเดียวเท่าน้น มโนปุพพัง จิตเป็นบุพภาคที่จะได้เป็นใหญ่ จึตถึงก่อนสำเร็จด้วยจิต ( มโน ปุพพงคมา ธมมา มโน เสฏฐา มโนมย )
- จิตเป็นเครื่องบังคับกายกับวาจา ให้พูดและให้ทำการงานฯ
- จิต ที่ไม่ติดพัวพันในอารมณ์ทั้งปวง เรียกว่า บริสุทธิ์
- พระองค์แสดงอนุปุพพิกถาไปโดยลำดับ ยกทานขึ้นก่อน ดุจบันได้ขั้นต้น แม้ฉันใด โลกุตระ โลกีย์ก็ดี ก็ต้องเจริญต้นขึ้นไปก่อน ไม่เจริญขั้นต้นไปก่อนเป็นผิด จะกระโดดขึ้นสูงทีเดียวไม่ได้ ตายกัน
- ธรรมเป็นของธรรมดา ตั้งอยู่อย่างนั้น คือ ตั้งอยู่ด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงได้ชื่อว่า ธรรมของจริง ไม่มีอาการไป ไม่มีขึ้น ไม่มีลง เป็นสภาพที่ตั้งไว้
- ไม่อ้างสวรรค์ นิพพาน ไม่อ้างทุคติ อ้างความเป็ฯไปทางปัจจุบันอย่างเดียว เพราะชั่วดีก็ปัจจะบันที่ยังเป็นชาติมนุษย์
- เอาธรรมชิ้นเดียวนี้เอง คือกายนี้เองไปเจ็บ ไปแก่ ไปตาย เมื่อตายแล้วไปเกิดอีกล้วนแต่ตื่นเต้นอยู่ด้วยธาตุอันนี้เอง หาที่จบที่สิ้นสุดไม่ได้
- เรื่องของโลกธาตุนั้น กระทบกระเทือนถึงกันหมด กำหนดรู้เฉพาะจิตก็รู้สิ้นทางอื่นหมด
- พระธรรมแสดงทั้งกลางวัน กลางคืน อกาลิโก กำหนดกาลเวลามิได้ แสดงทั้งภายนอกภายใน
- ให้กำหนดจิตให้กล้าแข็ง เรียนมรรคให้แข็งแรง จึงจะเห็นทางสิ้นทุกข์ไปได้
- ให้ปล่อยจิต อย่ากดจิต เหตุผลเคลื่อนคลื่นอยู่ภายใน ให้พิจารณาความรักความชัง พิจารณานิสัยของตน จิตดื้อ บริษัทมากพึ่งนิสัยเดิมมิได้ ตะครุบจิตจึงมีกำลัง
- คนในโลกหลงของเก่า คือ หลงธาตุนั่นเองแหละ ชังแล้วมารัก รักแล้วมาชัง หาที่สิ้นสุดมิได้ พระองค์ไม่หลง
- สติปัฏฐาน เป็นความรู้ อนันตนัย หาประมาณมิได้ ไม่เหมือนความรู้ชนิดอื่น สันทิฏฐิโก เห็นด้วยเฉพาะนักปฏิบัติ ปัจจัตตัง รู้เฉพาะในดวงจิต รู้ธรรมลึกลับสุขุมคัมภีรภาพ
- ธาตุมนุษย์เป็นธาตุตายตัว ไม่เป็นอื่นเหมือน นาค เทวดา ทั้งหลายที่เปลี่ยนเป็นอื่นได้ มนุษย์มีนิสัยภาวนาให้สำเร็จง่ายกว่าภพอื่น มีปัญญาเฉียบแหลมคม คอยประดิษฐ์ กุศล อกุศล สำเร็จกุศล....มหาอเวจีเป็นที่สุด ฝ่ายกุศลมีพระนิพพานให้สำเร็จได้ ภพอื่นไม่เลิศเหมือนมนุษย์ เพราะมีธาตุที่บกพร่องไม่เฉียบขาดเหมือนชาติมนุษย์ ไม่มีปัญญากว้างขวางพิสดารเหมือนมนุษย์ มนุษย์ธาตุพอหยุดทุกอย่าง สวรรค์ไม่พอ อบายภูมิธาตุไม่พอ มนุษย์มีทุกข์ สมุทัย ฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี กุศลมรรค ๘ นิโรธ รวมเป็น ๔ อย่าง มนุษย์จึงทำอะไรสำเร็จ ดังนี้
- ให้แก้ปัจจุบัน เมื่อแก้ปัจจุบันได้แล้ว ภพ ๓ นั้นหลุดหมด ไม่ต้องส่งอดีต อนาคต ให้ลบอารมณ์ภายนอกให้หมด จึงจะเข้าอารมณ์ภายในได้ เพ่งนอกเป็นตัวสมุทัย เป็นตัวทุกข์ และเป็นตัว มิจฉาทิฏฐิ เพ่งในเป็นตัว สัมมาทิฏฐิ
- ความรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นอนันตนัย มากยิ่งกว่า ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์เป็นอุบาย ที่จะทรมานสัตว์ พ้นวิสัยของสาวกที่จะรู้ตามเห็นตามได้หมด สาวกกำหนดรู้แต่เพียง ๘๔๐๐๐ เท่านั้น นี้ก็เป็นอัศจรรย์ฯ


อ้างอิง จันทสาโรวาท หน้า ๑๒- ๒๖


ตอนที่แล้ว //www.bloggang.com/mainblog.php?id=mcayenne94






Create Date : 06 กรกฎาคม 2553
Last Update : 6 กรกฎาคม 2553 18:59:13 น. 2 comments
Counter : 2672 Pageviews.

 
สาธุ


โดย: supernova IP: 117.47.91.74 วันที่: 6 กรกฎาคม 2553 เวลา:23:02:29 น.  

 
สาธุ สาธุ สาธุ


โดย: gps IP: 115.87.2.31 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2553 เวลา:23:32:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.