Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
23 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
23 กย 53 วัดราชบูรณะ พิษณุโลก

วัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก


ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุ ประวัติวัดบนไม้แผ่นป้ายของวัด มีความว่า “วัดราชบูรณะเดิมไม่ปรากฏชื่อ ก่อสร้างมานาน ๑,๐๐๐ ปีเศษ ก่อนที่พระยาลิไทได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ดังนั้นวัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดราชบูรณะ” รวมความยาวนานถึงปัจจุบันประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเศษ


พระยาลิไท ได้เสด็จครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ๗ ปี คือ ในระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๐๕ ถึง ปี พ.ศ. ๑๙๑๒ พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุง ซ่อมแซมโบราณสถาน และโบราณวัตถุเมืองในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง สูงที่สุดในกรุงสุโขทัยตอนปลาย


พระยาลิไททรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว ทองยังเหลืออยู่จึงได้หล่อพระเหลือขึ้น และทรงทอดพระเนตรเห็นว่าวัดนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้บูรณะขึ้นมาอีกครั้งจึงได้นามว่า “ราชบูรณะ”


วัดราชบูรณะนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย ๓ สมัย ดังนี้ คือ


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก ๒๕ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๐๖ ถึง พ.ศ. ๒๐๓๑


และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งเสด็จเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก ๒๑ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๙๑ ถึง ปี พ.ศ. ๒๑๑๒


และในรัชสมัยพระบรมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในปี พ.ศ. ๒๒๙๙


ทำให้วัดราชบูรณะมีสภาพที่แข็งแรง มั่นคงมาตลอดกรุงศรีอยุธยา


ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสันนิษฐานว่าได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เพราะได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์ และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารแล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพระพุทธประวัติ


เดิมนั้นอาณาเขตของวัดราชบูรณะ ติดต่อกับวัดนางพญา เป็นพื้นที่เดียวกันในสมัยก่อน อยู่ในฐานะวัดพี่วัดน้อง ต่อมาในช่วงเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ กรมทางหลวงได้ตัดถนนพิษณุโลก-หล่มสัก คือ ถนนมิตรภาพ ตัดผ่านเนื้อที่ของวัดนางพญา และวัดราชบูรณะเฉียดอุโบสถไปจนต้องรื้อย้ายใบเสมาด้านตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เหลือเนื้อที่เพียง ๑๑ ไร่ ๓ งาน ๕๕ ตารางวา


กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะไว้เป็นโบราณสถาน
วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙

กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๒๘ บูรณะวิหารหลวง

ปีพ.ศ. ๒๕๓๐ อนุรักษ์ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ

และ พ.ศ. ๒๕๓๓ บูรณะเจดีย์หลวง

โดยเสริมความมั่นคงทางรากฐาน
และต่อยอดพระเจดีย์ทรงลังกาซึ่งหักชำรุดหายไปให้บริบูรณ์





วิหารหลวงพ่อทองดำ และเจดีย์ของวัดอยู่ทางด้านหลัง



“เจดีย์ทรงกลมด้านหลังพระวิหารวัดราชบูรณะ เป็นเจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ฐานแปดเหลี่ยมนั้นทำเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป บนสุดเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบอยุธยามีกำแพงแก้วล้อมรอบ มุมกำแพงแต่ละมุมมีเจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่บนพนักกำแพงนั้น ปัจจุบันเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ยอดหัก เหลือแต่ชั้นบัลลังก์ที่รับยอด จากรูปทรงของฐานที่เห็นได้ในขณะนี้ ภายในอาจจะเป็นฐานเจดีย์แบบสุโขทัยและคงจะถูกซ่อมแปลงโดยการพอกภายนอกก็เป็นได้ ถ้าหากวัดราชบูรณะถูกซ่อมแปลงและมีอายุเก่าถึงสมัยสุโขทัยตอนปลาย”


พ.ศ. ๒๕๓๓ กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์รากฐานและก่อยอดพระเจดีย์วัดราชบูรณะ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและสมบูรณ์ดี


วิหารวัดราชบูรณะ เป็นวิหารทรงโรงเช่นเดียวกับโบสถ์แบ่งเป็น ๙ ห้อง ประตูทางด้านหน้า ๓ ประตู มุขทางด้านหน้าเป็นมุขแบบพะไลลอยตั้งรับเสา ๔ ต้น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยเฉพาะหางหงส์เป็นหัวนาคปูนปั้น นาคปักมุมเช่นเดียวกันเป็นนาคปูนปั้น หน้าบันเป็นแบบภควัม ภายในกรอบลูกฟักสลักลายเปลวแบบช่อหางโต ภายในวิหารมีเสาปูนกลม ๒ แถวๆ ละ ๗ ต้น เสาในประธานมีขนาดเส้นรอบวงประมาณ ๒.๔๙ เมตร เสาเฉลียงมีขนาด เส้นรอบวง ๒.๑๕ เมตร


พ.ศ. ๒๕๒๘ กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระวิหารวัดราชบูรณะ โดยทำการซ่อมหลังคา ฝาผนัง และพื้นให้มีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ดีขึ้นมาก


พ.ศ. ๒๕๓๖ กรมศิลปากร ได้จัดส่งช่างศิลปกรรม มาอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารวัดราชบูรณะ ให้มีสภาพดีขึ้น





หลวงพ่อทองดำเป็นพระประธาน



พระประธาน เป็นพระประธานปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ เมตร สูง ๕.๕๐ เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัย มีรูปร่างละม้ายคล้ายพระพุทธชินราชมาก ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 2 ชั้น สูง ๑.๕๐ เมตร ชั้นล่างสูง ๑ เมตร เป็นรูปเท้าสิงห์ชั้นบนสูง .๕๐ เมตร เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายปิดทอง









วัตถุโบราณ ที่เก็บไว้ในวิหารหลวงพ่อทองดำ


จิตรกรรมภายในวิหารหลวงทั้งสี่ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือสกุลช่างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เขียนเรื่อง พุทธประวัติ แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ถูกน้ำฝนลบเลือนชำรุดเสียหายไปเกือบหมดแล้ว คงเห็นเป็นภาพจิตรกรรมได้เด่นชัดเฉพาะตรงผนังกลองหน้าพระวิหาร เขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าผจญมารเต็มทั้งฝาผนัง





อุโบสถ
พระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ ที่ชายคาตกแต่งด้วยนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม


สถาปัตยกรรมแบบทรงโรง มี ๖ ห้อง ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย มีหลังคาโค้งตรงกลางเล็กน้อย มุงด้วยกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคานั้นเป็นปีกนกคลุมสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบเกล็ดพระยานาค จั่วหน้าหลังเป็นจั่วแบบภควัม มีการเข้าไม้แบบฝาประกน มี ๓ ชั้น ไม่มีการแกะสลักลวดลาย ประดับด้วยกระจกสีน้ำเงินและเหลือง มีช่อฟ้าบนหลังคาอุโบสถหน้าหลัง มีรวยระกาที่หน้าบรรณ ลำยองไม่ทำเป็นงวงแบบนาคสดุ้ง หางหงส์และนาคปักทำเป็นนาคเบือน ตามลักษณะความแหลมตามแนวหลังคา ทำเป็นรูปนาคปูนปั้นมีนาคสามเศียรปูนปั้นมีด้านหน้า ๔ ตน ด้านหลังหลัง ๔ ตน ซึ่งเป็นศิลปะแบบเก่าที่ใช้กับรวยระกา และป้านลมแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย บานประตูด้านหน้า และหลังรวม ๕ คู่ แกะสลักดอกไม้มีสี่กลีบแบบดอกลำดวน ประดับกระจกสีน้ำเงินและสีเหลืองรอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ ๑.๒๕ เมตร โดยรอบ





พระประธานในอุโบสถ หลวงพ่อทองสุข หรือหลวงพ่อขาว


เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ก่ออิฐถือปูนชั้นล่าง เป็นฐานเท้าสิงห์ ๒ ชั้น ชั้นบนสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ปิดทองประดับกระจกสีน้ำเงิน







ภายในอุโบสถ มีภาพวาด แต่เลือนลาง มองเห็นไม่ชัด


ที่ฝาผนังพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือสกุลช่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เขียนเรื่องรามเกียรติ์บนฝาผนังทั้งสี่ด้าน ภาพเขียนที่สำคัญคือ ภาพตอนทศกัณฑ์สั่งเมือง


ตอนล่างของภาพรามเกียรติ์ ที่เขียนเป็นภาพเรื่องชนชาติต่าง ๆ ภาพกามกรีฑา ภาพสัตว์หิมพานต์ และภาพการละเล่นพื้นบ้าน





พ.ศ. ๒๕๒๘ กรมศิลปากรได้ขุดค้นเจดีย์หลวงวัดราชบูรณะ เพื่อจะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้ขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุไว้ในคอระฆังของเจดีย์-หลวง ซึ่งบรรจุอยู่ในผอบ และเจดีย์จำลองเล็กๆ ที่ทำจากทองสำริด









เรือพระที่นั่งรัชกาลที่ 5 วันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๐
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จวัดราชบูรณะ


เป็นเรือพระที่นั่งรับเสด็จมีขนาดความยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๑.๗๐ เมตร โดยทรงใช้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช และเสด็จไปในที่ต่างๆ เพื่อทรงนมัสการศาสนสถาน รวมทั้งเสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ วัดราชบูรณะ และทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกร โดยใช้เรือลำนี้แทนเรือพระที่นั่งที่มาจากเมืองหลวง (บางกอก) หลังจากนั้นเวลาผ่านมาเนิ่นนานเรือลำนี้ได้ถูกปล่อยทิ้งไว้จนจมดินเหลือให้เห็นแต่ท้ายเรือเท่านั้น


พ.ศ.๒๕๒๗ ทหารค่ายสฤษณ์เสนา จำนวน ๓๐๐ นาย ได้มาพัฒนาวัดราชบูรณะ รวม ๓ วัน ๓ คืน ได้มีมีการขุดเรือพระที่นั่งรับเสด็จขึ้นมาบูรณะซ่อมแซม แล้วนำมาตั้งไว้กลางลานวัดหน้ากุฏิไม้


พ.ศ. ๒๕๓๓ ในงานฉลอง ๔๐๐ ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทางศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลกได้อัญเชิญไปทำรบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง แล้วนำลงลอยในแม่น้ำน่านเป็นครั้งแรกเพื่อเฉลิมฉลองในนามเรือ "พระยาจีนจัตตุ" ซึ่งในว่าเป็นเวลากว่าร้อยปีที่เรือลำนี้ไม่ได้สัมผัสผิวน้ำเลย จากนั้นได้อัญเชิญกลับมาไว้ที่วัดราชบูรณะดังเดิม จนปัจจุบัน พร้อมจารึกอักษรไว้ว่า


"นาวาเสด็จน่านนทีราชบูรณะ"


อ้างอิง;เสนอ นิลเดช (๒๕๓๒ : ๗๐) สองแคววันวาน พิษณุโลกวันนี้

สิ่งประทับใจในวัดนี้คือ เป็นโบราณสถาน ที่มีคุณค่าอย่างมาก
ชอบวิหารหลวงพ่อทองคำ รวมทั้งการตกแต่งภายในวิหาร
เพราะสถาปัตยกรรม รูปแบบสวยงาม
เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโบราณสถาน
การวางผังของเจดีย์ อุโบสถ
และวิหารหลวงพ่อทองดำ สามารถจัดวางได้อย่างสวยงามลงตัว
เมื่อเข้าไปภายในอุโบสถและวิหาร
ก็สัมผัสได้ถึงความเป็นโบราณสถาน
เนื่องจากไม่มีความรู้ทางสิ่งก่อสร้างได้แต่อาศัยการสังเกต
(พบว่าในสมัยโบราณนั้นมักสร้างเป็นอุโบสถขนาดเล็กๆ )
สภาพจิตรกรรม ภาพวาดที่ฝาผนังถึงแม้จะดูเลอะเลือน
แทบจะมองไม่เห็น แต่ก็ยังเห็นเค้าความเก่าแก่อย่างแท้จริง


บางส่วนที่รู้สึกเสียดายมากคือถนนตัดผ่านหน้าอุโบสถชิดจนเกินไป
หนทางเข้าอุโบสถ ไม่สามารถเข้าทางด้านหน้าได้
ต้องเดินเข้าทางประตูหลัง เพราะด้านหน้าติดกำแพงวัด
ข้อคิดที่ได้คือ ไตรลักษณ์ของสรรพสิ่งทั้งปวง



ข้อเสนอแนะ
วัดไทย เปรียบเสมือนแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์
มีข้อมูล วัฒนธรรมและ เรื่องราวของบุคคลอันยาวนาน
สะสมอยู่ในวัด และควรจะต้องได้รับการสืบทอดต่อไป
ดังนั้นวัดจึงควรได้รับการอนุรักษ์และดูแลโดยคณะทำงาน
ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสืบทอดมรดกเหล่านี้ไปยังคนรุ่นหลัง
และทำโครงการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว
การก่อสร้างต่อเติม อาคารลงไปในบริเวณวัด
ควรมีหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถในระดับชาติ เข้ามาร่วมให้ความคิดเห็น
เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และยังคงมีภูมิทัศน์ที่งดงามค่ะ




Create Date : 23 กันยายน 2553
Last Update : 23 กันยายน 2553 22:08:59 น. 2 comments
Counter : 4283 Pageviews.

 
ได้มาอ่านประวัติเต็มๆ ก็ที่นี่เอง
ไปพิดโลกมาก็บ่อย แต่ยังไม่ได้เข้าไปดูอย่างจริงจัง
มีสิ่งของเก่าๆ ที่มีคุณค่ามากมายเลยนะครับ


โดย: the mynas วันที่: 24 กันยายน 2553 เวลา:16:15:00 น.  

 
โอ้โฮ..วัดสวยงามมากเลยครับ...


โดย: ja9pai วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:21:29:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.