Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
28 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
28 มิย 53 วัดอรุณฯ



วัดอรุณ (Wat Arun)
ศิลปินแห่งชาติ นาย เฉลิม นาคีรักษ์
สาขา : ทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์)
ปีที่ได้รับ : ๒๕๓๑
ปีที่สร้าง :: ๒๕๐๔
ผู้เป็นเจ้าของ (กรรมสิทธิ์) :: สมบัติของ คุณ วราวุธ ชูแสงทอง





แสนคำนึง 2 ชัยภัคร ภัทรจินดา




บล็อกนี้เป็นบล็อกเก่าที่เคยลบทิ้งไปนานแล้ว วันนี้เปิดพบโดยบังเอิญ จึงนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ เป็นเรื่องหนึ่งที่ชอบมากเพราะเป็นบล็อกแรกๆที่เริ่มหัดทำ และได้ระลึกถึงความรู้สึกที่ดีในช่วงวันเวลาขณะที่ได้ไปเที่ยวนั้นด้วย วัดอรุณฯเป็นสถานที่ที่สวยงามมากเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เมื่อชีวิตคนเข้าสู่จุดอับ หลายคนนิยมไปสักการะวัดอรุณฯ อาจเพราะว่าอีกชื่อของวัดอรุณฯ คือ" วัดแจ้ง"



คำว่า"แจ้ง" เป็นคำที่ให้ความหมายในทางที่ดีเยี่ยม "แสดงให้รู้, บอกให้รู้, เช่น แจ้งความประสงค์. ว. กระจ่าง, สว่าง, ชัด, เช่น แจ้งใจ" ถ้ารู้แจ้งนั่นหมายถึงรู้ในระดับสูงสุด คือรู้ซึ่งเข้าไปถึงจิตวิญญาณ เป็นความรู้ที่ไม่ใช่เพียงระดับ รู้อ่าน รู้จำ รู้คิด หรือรู้เข้าใจทางตรรกะ อีกแง่มุมหนึ่ง ยังหมายถึง ความสว่าง เมื่อทุกสิ่งแจ้งกระจ่างชีวิตของคนนั้นจะได้สว่างสดใส เหมือนได้รับแสงอาทิตย์ของเช้าวันใหม่ไม่มืดมนอีกต่อไป



วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง



เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา



นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ได้ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒โดยโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐาน ไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน(ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์)



เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร(ร. ๒) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง



แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสียก่อน ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"



ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๓๗ วา ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔



เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า"วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

//www.watarun.org

24 กค 52 วัดอรุณฯ
เมื่อวานมีโอกาสได้ล่องเรือด่วนแม่น้ำเจ้าพระยาไปไหว้พระที่วัดอรุณฯ ปกติถ้ามีโอกาสไปที่ใดที่มีบริการล่องเรือเที่ยวแม่น้ำที่ไม่ใช้เวลานานมากนักก็จะต้องทดลองไปนั่งดูทุกที่ แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงไหลผ่านกรุงเทพ นับว่าเป็นแม่น้ำที่มีเสน่ห์มากกว่าแม่น้ำที่อื่นใดในโลก ด้วยเงินค่าเรือด่วนเพียงไม่ถึง 20 บาทกลับให้ความรื่นรมย์และความคุ้มค่ามากกว่าการไปนั่งเรือล่องแม่น้ำดูตึกตามต่างประเทศมากนัก



ตลอดสองข้างทางมีวิถีชีวิตของคนให้เห็น มีสถาปัตยกรรมทั้งใหม่เก่า ทั้งราคาถูกราคาแพงคละเคล้ากันเหมือนต้นไม้ในป่าที่มีหลากหลายพันธุ์ผสมผสานอยู่กันอย่างเกื้อกูล





ฝั่งตรงข้ามยังเป็นตลาดท่าเตียนมาแต่โบราณ บรรยากาศดูเป็นธรรมชาติคลาสิกมาก



ลงเรือด่วนที่ท่าเตียน แล้วเดินมาท่าน้ำที่ติดกันข้ามเรือข้ามฟากไปวัดอรุณ รู้สึกชอบตัวหนังสือที่เขียนด้วยลายมือที่บนหลังคาเรือเพื่อบอกจุดหมายปลายทางของเรือ ดูได้บรรยากาศโบราณดีจัง





เดินเข้าไปในวัด หลังจากไม่ได้มานานแสนนาน พบว่าวัดได้รับการบูรณะสะอาดเรียบร้อยสวยงามมาก แต่วันนี้อุโบสถใหญ่ปิดไปแล้วจึงไม่มีโอกาสได้ชมพระประธานฝีมือของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้แต่สักการะพระรูปเหมือนของพระองค์ที่ด้านหน้า พระพักตร์ท่านก็บ่งบอกถึงความสุนทรีย์และอารมณ์ศิลปินในองค์ท่าน



เดินต่อไปในอุโบสถเล็กไปไหว้พระเพื่อขอพร หลวงพ่อรุ่งมงคล เป็นอุโบสถเล็กๆ หลังคาไม่สูง ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการ ดูให้บรรยากาศคล้ายห้องพระของส่วนบุคคล



เดินไปในอีกตึกหนึ่ง เพื่อสักการะถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ช่วยกอบกู้เอกราชของไทยครั้งที่ 2 นอกจากฝืมือด้านการทำศึก พระองค์ท่านยังมีชื่อเสียงส่วนพระองค์ในเรื่องการปฏิบัติธรรมอีกด้วย แต่เนื่องจากกาลเวลาอันยาวนานทำให้ประวัติบางส่วนขาดหายไป ถ้าได้เห็นบรรยากาศก็จะพบว่าสถานที่วัดแห่งนี้ก็เหมาะที่จะมาปฏิบัติธรรมมาก และสิ่งก่อสร้างแต่ละหลังก็เล็กๆ เหมาะกับบรรยากาศส่วนตัว





เสร็จแล้วเดินชมพระปรางค์ซึ่งได้รับการบูรณะโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มีตราพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ที่ทางเข้า สวยงามโดดเด่นมาก พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องสวยหวาน ในสมัยเสร็จใหม่ๆคงจะงดงามมาก ขนาดเวลาผ่านล่วงเลยมาร้อยกว่าปี ก็ยังพอมองเห็นความสวยงามของการแปะกระเบื้องและความงามของกระเบื้องแต่ละแผ่น โดยเฉพาะส่วนที่คนเดินไปแตะต้องไม่ถึงก็จะมีการผุกร่อนน้อยกว่า เหลือบไปเห็นดอกไม้สีม่วงอมชมพูประดับอยู่ที่หน้าบันใกล้ๆ สวยหวานดี





เดินขึ้นไปรอบองค์พระปรางค์ โดยรอบมีทางเดินแคบๆ แต่ก็ทำไว้สวยงาม ( ถ้าตัวอ้วนกว่านี้คงเดินไม่ได้ ) จึงถ่ายรูปเก็บไว้





เดินเที่ยวโดยรอบ เก็บภาพไว้ในใจอีกครั้ง และแวะซื้อรูปถ่ายของที่ระลึกอุดหนุนคนไทยกันเอง จะได้อยู่ได้





ลงเรือด่วนรวดเร็วทันใจมาเดินเที่ยวท่าพรานนก ได้ขนมหน้าตาดี ชื่ออาลัว ทำหน้าตาซะจำเค้าเดิมไม่ได้ แต่ทานแล้วก็งั้นๆ





วันนี้ก็จบไปอีกหนึ่งวัน แบบได้ความรู้ ได้ทำบุญ และซึมซับบรรยากาศวิถีชีวิตริมน้ำของคนไทย อากาศก็ไม่ร้อนมากและโชคดีที่ฝนไม่ตก แดดไม่แรง ได้เหงื่อประมาณ 2 ลิตร และได้ออกกำลังกายขาเดินขึ้นองค์พระปรางค์ซึ่งชันมาก ขาลงกลัวจะพุ่งหลาวลงมาใส่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้าใครยังไม่เคยมีโอกาสได้ไป ก็เป็นที่ the must อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย





Create Date : 28 มิถุนายน 2553
Last Update : 1 มิถุนายน 2555 11:39:26 น. 2 comments
Counter : 7807 Pageviews.

 
๏ หลัดหลัดมาลุด้าว...........................อาราม
วัดแจ้งแจ้งเจ็บกาม............................โศกสร้อย
อกเรียมยิ่งไฟลาม..............................ลำลาบ พระเอย
วัดแจ้งวัจนาหน้อย.............................แก่น้องนางเฉลย (โคลงนิราศชุมพร/พระพิพิธสาลี )

๏ บรรลุอาวาสแจ้ง.............................เจ็บกาม
แจ้งจากจงอาราม...............................พระรู้
เวรานุเวรตาม.....................................ตัดสวาท แลฤๅ
วานวัดแจ้งใจชู้...................................จากช้าสงวนโฉม (โคลงนิราศนรินทร์/พระยากลาโหมราชเสนา:(ทองอินทร์)

๏ วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง........................... เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน...........................คู่พร้อง
เคยลอบตอบสารสมร.......................สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง........................นกน้อยลอยลมฯ (นิราศสุพรรณ/สุนทรภู่)

วัดแจ้งหวังแจ้งรัก.............................เรียมถวิล
ค่อนคิดข่าวข้อยิน.............................ข่าวน้อง
บัวบงกชโกมิน.................................กมุทมาศ เรียมเอย
ใครจะแจ้งข่าวพร้อง ......................พร่ำให้เรียมฟัง ฯ (โคลงนิราศตลาดเกรียบ/พระเทพโมลี (กลิ่น)

พ. ณ ประมวญมารค ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือประชุมนิราศคำโคลงว่านิราศเรื่องนี้ชื่อว่านิราศตลาดเกรียบ หากในโคลงระบุปลายทางไว้ว่าเป็นเพนียดคล้องช้าง นอกจากนี้โคลงบทสุดท้าย ผู้ประพันธ์บอกว่าตัวเองไปในราชการคล้องช้างคราวนี้ด้วย ซึ่งผิดวิสัยพระสงฆ์เช่นพระเทพโมลี จึงทรงเห็นว่าผิดทั้งชื่อเรื่องและชื่อผู้ประพันธ์



โดย: กวินทรากร วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:14:28:15 น.  

 
มาอ่านโคลง คุณกวินทรากร โพสต์ไว้
แต่ไม่สันทัด อารมณ์ประมาณนี้ค่ะ

หัว หูดูชั่วช้า ไฉไล
ล้าน เลื่อมแลเงาใส เกือบแก้ว
ได้ ส่องกระจกใจ เจียนขาด
หวี แต่จับจ้องแล้ว ลูบโอ้อายเอง


โดย: mcayenne94 วันที่: 6 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:02:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.