Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
18 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

อนาคตของการเมืองบนท้องถนน

บทความเรื่อง"อนาคตของการเมืองบนท้องถนน"นี้นำมาจากเวปเครือข่ายสยามเสวนา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกที่ เซคชั่นกระแสทัศน์ วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐๖๙๑ เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ เนื้อหาเป็นการมองถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคตของพื้นที่ในการต่อสู้หรือการเรียกร้องของประชาชนโดยฉพาะชนชั้นล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความด้อยสมรรถนะของระบบการเมืองอย่างเป็นทางการที่จะจัดการปัญหาและสนองความต้องการต่อประชาชนได้ ด้วยระบบการเมืองขอไทยจึงปฏิเสธการเมืองบนท้องถนนไม่ได้ดังคำกล่าวของอาจารย์นิธิที่ว่า "การเมืองบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในระบบอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อใดที่คนกลุ่มใดรู้สึกว่าตัวไม่มีตัวแทนสำหรับส่งเสียงความต้องการของตนบนเวทีการเมือง เขาย่อมต้องส่งเสียงเองเป็นธรรมดา"


ภาพจาก หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย



นิธิ เอียวศรีวงศ์



ในขณะที่สื่อและคนกรุงเทพฯ (ลูกค้ารายใหญ่ของสื่อ) วิตกกังวลกับการชุมนุมที่ถูกเรียกว่า "ม็อบ" ถึงกับบางคนเรียกร้องให้ใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจัดการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านที่จะนะกำลังวิตกกังวลกับการวางท่อก๊าซจากโรงแยกก๊าซไปป้อนโรงไฟฟ้าจะนะ เพราะแนววางท่อพาดผ่านกลางหมู่บ้านป่างาม

การเคลื่อนไหวต่อต้านการวางท่อก๊าซของชาวบ้านที่จะนะดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเล็กน้อย เมื่อเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 16 พ.ค.2550 ไปถึงผู้อำนวยการบริษัทการปิโตรเลียม จำกัด ขอความร่วมมือระงับการวางท่อก๊าซชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้าน

แต่บริษัทดังกล่าวก็ยังคงวางท่อก๊าซต่อไปตามเดิม โดยไม่ได้ใส่ใจต่อคำขอร้องของ กอ.รมน.ภาค 4 แต่อย่างใด (ผมไม่ทราบว่ามีการตอบจดหมายหรือไม่ด้วยซ้ำ) ฉะนั้นความวิตกกังวลของชาวบ้านจึงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีผู้มีอิทธิพลประจำถิ่นที่รับจ้างบริษัทการปิโตรเลียม รักษาความปลอดภัยตามแนวท่อก๊าซ ช่วยคุ้มครองการทำงานวางท่อของบริษัท และยังมีโทรศัพท์ข่มขู่แกนนำชาวบ้านหลายคนจากมือลึกลับอื่นๆ

สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นจนอาจเกิดการปะทะกันได้ ลือกันว่าชายฉกรรจ์นอกพื้นที่จำนวน 40 คนถูกว่าจ้างให้ลุยชาวบ้านกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซ

บริษัทการปิโตรเลียม จำกัด คือใคร เขาคือ ปตท.เจ้าเก่านั่นเอง แต่เป็น ปตท.ที่ได้นำเข้าไปขายในตลาดแล้ว โดยไม่ได้แยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นของชาติออกไปจากทรัพย์สินของบริษัทด้วย ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผลกำไรส่วนหนึ่ง (ซึ่งไม่เล็ก) ของบริษัทย่อมตกเป็นของต่างชาติผู้ถือหุ้น เช่นใน พ.ศ.2548 21% ของเงินปันผลของเครือบริษัทจ่ายให้แก่ต่างชาติ เฉพาะงวดครึ่งปีนี้ก็จ่ายให้แก่ต่างชาติร่วม 2,000 ล้านบาทไปแล้ว

อันที่จริงชาวบ้านจะนะได้เคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านโครงการแยกก๊าซเพื่อป้อนให้มาเลเซียมานานหลายปี และหลายรัฐบาลมาแล้ว ปัญหานี้เคยถูกนำเข้าพิจารณาในวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถทำให้ฝ่ายบริหารทบทวนโครงการได้ อีกทั้งไม่ได้แรงหนุนจากสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ด้วยเหตุดังนั้นชาวบ้านจึงจำเป็นต้องใช้การเมืองบนท้องถนนสืบมาเป็นเวลานาน

ปัญหาประเภทเดียวกันนี้ทั่วประเทศไทย ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐสภา ชาวบ้านจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้การเมืองบนท้องถนน เพื่อสื่อความต้องการของตนให้เป็นที่รับรู้ของสังคม รวมทั้งต่อรองให้ฝ่ายบริหารทบทวนโครงการ

แน่นอนว่า ระบบราชการยิ่งไม่คิดว่าตัวมีหน้าที่สะท้อนปัญหาของชาวบ้านขึ้นไปสู่ระดับสูง นโยบายของรัฐบาลไม่ใช่สิ่งที่ราชการจะท้วงติง แม้แต่ท้วงติงภายในระบบก็ตาม (อย่าลืมว่า หวยบนดินซึ่งถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ผิดกฎหมายนั้น ดำเนินการมาเกือบ 4 ปี โดยไม่มีสุภาพบุรุษท่านใดในคณะกรรมการนั้นสะกิด-คือบอกอย่างไม่เป็นทางการ-ให้รัฐบาลรู้เลยว่าผิดกฎหมาย จนกระทั่งรัฐบาลนั้นถูกรัฐประหารไปแล้ว)

นี่เป็นปัญหาในระบบการเมืองของไทย ใหญ่กว่าปัญหาการซื้อเสียงเสียอีก ซึ่งไม่มีวันที่เทวดาอันจุติมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดจะเข้าใจได้ และไม่เคยถูกนำมาเป็นประเด็นในการ "ปฏิรูปการเมือง" เลย

ในตัวระบบการเมืองเอง จึงผลักดันให้เกิดการเมืองบนท้องถนนอยู่แล้ว ไม่ว่าเทวดาและคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จะชอบหรือไม่ก็ตาม

เพราะแท้ที่จริงแล้ว การเมืองบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในระบบอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อใดที่คนกลุ่มใดรู้สึกว่าตัวไม่มีตัวแทนสำหรับส่งเสียงความต้องการของตนบนเวทีการเมือง เขาย่อมต้องส่งเสียงเองเป็นธรรมดา ทั้งนี้รวมทั้งคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ด้วย

"ม็อบ" (ถ้าจะเรียกอย่างนั้น) ครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนเวทีการเมืองมาก่อนหน้าการรัฐประหาร เพราะความเดือดเนื้อร้อนใจของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ (ไม่ว่าจะเพื่อส่วนตัวหรือส่วนรวม) ไม่อาจสะท้อนผ่านระบบการเมืองในปลายสมัยทักษิณได้ หรืออย่างได้ผล

เช่นเดียวกับ "ม็อบ" สนามหลวงในทุกวันนี้ ก็เพราะไม่มีองค์กรใดในระบบการเมืองที่จะสะท้อนความคิดความต้องการของประชาชนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร จึงเป็นธรรมดาที่ต้องใช้การเมืองบนท้องถนน

การเมืองบนท้องถนนจึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ใช้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านซึ่งไม่มีพื้นที่การเมืองของตนเอง หรือคนชั้นกลางซึ่งครอบครองพื้นที่สื่อไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และทำให้การเมืองบนท้องถนนของคนชั้นกลางครอบครองพื้นที่ทางการเมืองได้กว้างขวาง

ฉะนั้น จึงคาดเดาได้เลยว่า ความขัดแย้งใดๆ ก็ตามในสังคมไทยปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะใช้ท้องถนนเป็นเวทีต่อรองกัน แม้แต่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่น่าจะทำให้ความขัดแย้งเลื่อนขึ้นไปอยู่ในระบบการเมืองที่เป็นทางการ เพราะระบบการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะมีคนจำนวนมากมองเห็นว่าขาดสิทธิธรรม (legitimacy) ที่จะสร้างอำนาจตามกฎหมายใดๆ ขึ้นมาได้

การเมืองบนท้องถนนซึ่งจะมีหนาตาขึ้น จะทำให้รัฐบาล (ทั้งรัฐบาลปัจจุบัน+คมช.และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในภายหน้า) หวั่นไหวต่อการสูญเสียอำนาจที่ยึดกุมมาได้ (ผ่านปืนหรือหีบบัตรเลือกตั้ง) จนกระทั่งไม่มีความสนใจเหลืออยู่ที่จะแก้ปัญหาของประชาชนระดับล่าง การเมืองบนท้องถนนของคนระดับล่างยิ่งน่ารำคาญ เพราะมาซ้ำเติมความเพลี่ยงพล้ำของอำนาจซึ่งถูกการเมืองของคนชั้นกลางเขย่า

ฉะนั้น รัฐบาลจึงจะปล่อยให้อิทธิพลในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นนายทุนใหญ่ที่ร่วมมือกับอิทธิพลท้องถิ่น หรือโครงการขนาดใหญ่ของเอกชนและรัฐว่าจ้างอิทธิพลท้องถิ่น ให้เข้ามาจัดการกับการเมืองบนท้องถนนด้วยความรุนแรง อย่างที่ชาวบ้านจะนะกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

ทำอะไรก็ได้ ขอแต่ให้ท้องถนนปลอดจากการเมืองไปเท่านั้น

จึงอาจคาดเดาได้ว่า การเมืองระดับล่างในสังคมไทยจะใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลกลางไม่มีสมรรถภาพจะจัดการอะไรได้ อย่างเดียวกับที่เกิดกับคุณเจริญ วัดอักษร, และนักอนุรักษ์ท้องถิ่นอีกหลายสิบชีวิตที่ต้องสูญเสียไปกับการเมืองบนท้องถนน ในการต่อรองกับกลุ่มทุนและรัฐ

ความพยายามที่จะทำให้ชาวบ้านต้องใช้การเมืองบนท้องถนนน้อยลง คือการออกกฎหมายสภาชุมชน กฎหมายนี้ไม่ได้ให้อำนาจอะไรแก่ประชาชนมากไปกว่าอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นไปอย่างมีความหมายมากขึ้น แต่ราชการไม่พร้อมที่จะให้ประชาชนตรวจสอบ มหาดไทยจึงเป็นหัวหอกที่จะขัดขวางมิให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาใช้

และดูเหมือนหัวหน้ารัฐบาลเองก็หวังเพียงการประนีประนอม มากกว่าการให้อำนาจตรวจสอบแก่ประชาชนจริง ฉะนั้น เมื่อร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมา ก็คงออกมาในรูปของการตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่เพียงพอที่จะทำให้ราชการต้องรับผิดชอบ (account for) การกระทำของตนเองต่อประชาชนต่อไป

สรุปก็คือระหว่างสภาชุมชนและการเมืองบนท้องถนน อาจเป็นได้ว่าอำนาจรัฐในปัจจุบันจะเลือกการเมืองบนท้องถนนต่อไป






 

Create Date : 18 ตุลาคม 2550
14 comments
Last Update : 18 ตุลาคม 2550 15:59:43 น.
Counter : 1900 Pageviews.

 






.....มีความสุขมากๆนะครับ.....

 

โดย: doctorbird 18 ตุลาคม 2550 22:47:49 น.  

 

ขอบคุณครับสหาย doctorbird

 

โดย: Darksingha 19 ตุลาคม 2550 11:53:42 น.  

 

น่าคิดว่าในหนังสือที่อ่านมาม็อบถนนมักเกิดกับประเทศที่มี low level of political culture (ไม่ทราบว่าแปลเป็นไทยว่าอะไร)เช่นเดียวกับการแทรกแซงทางการเมืองของทหารเลยค่ะ แต่ส่วนตัวคิดว่า ม็อบถนนนี่มันก้อแสดงถึง political culture อ่ะ หรือคุณคิดว่ายังไงคะ

 

โดย: PPpIRCU 19 ตุลาคม 2550 21:40:47 น.  

 

ขอบคุรที่เข้ามาแลกเปลี่ยนครับคุณ PPpIRCU เห็นด้วยกับคุณ PPpIRCU สงสัยจบ IR ที่จุฬามาแน่เลย เห็นใช้ IR CU
ตามความคิดผม(จบจากปั๊กเป้า)ผมเห็นด้วยกับคุณครับจบ

อะล้อเล่งนะกั๊บ ตามความคิดผมเพิ่มเติมการเมืองบทท้องถนนน่าจะเป็นlow level of formal political system but High level of political culture ตามแนวคิดของคุณป๋าAlmond และ Verba ที่ระดับสูงน่าจะเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (The participant political culture) เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองเป็นอย่างดี เห็นคุณค่าและความสำคัญในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อควบคุม กำกับ และตรวจสอบให้ผู้ปกครองใช้อำนาจปกครองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน หากแต่ระบบการเมืองที่ถูกชนชั้นนำกดไว้นั้นไม่เอื้อต่อการสนองความต้องการ ทางออกก็คงอยู่ที่การเมืองที่ไม่เป็นทางการ ผมว่าชนชั้นนำก็ใช้บอย เช่นการล้วงลูก การไปกระซิบ การคอรัปชั่นให้สินบน เป็นต้น เหล่านี้ก็เพราะระบบการเมืองที่ใช้จัดสรรคุณค่าของสังคม เพราะถ้าเปิดมากก็หมายถึงเพิ่มจำนวนส่วนแบ่งมาก เพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นล่างมากไปเข้ามามีส่วนแบ่งในคุณค่าของสังคมและทรัพยากรมากไป นี้คือปัญหาของระบบการเมืองไทยที่เอะอะอะไรก็คุณธรรม รู้รักษามักคี ก็ใช่ครับก็คุณได้อำนาจได้ประโยชน์แล้วนิครับ
โย้! มานึกอีกทีระบบการเมืองก็สะท้อนpolitical culture เพราะเห็นคุณป๋าGabriel Almond แกกระซิบมาว่ามันจะไม่สัมพันกันได้ไงก็เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองมันเป็นรูปแบบของทัศนคติส่วนบุคคลและความโน้มเอียงของบุคคลที่มีต่อการเมือง ในฐานะที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกของระบบการเมือง

คำถามทำไม พรบ.สภาชุมชนไม่ผ่าน ?

นี้ก็เป็นภาพสะท้อนสังคมการเมืองไทยได้ชัดเจน ดังที่อาจารย์นิธิแกสรุปไว้ท้ายบทความแก ว่าระหว่างสภาชุมชนและการเมืองบนท้องถนน อาจเป็นได้ว่าอำนาจรัฐในปัจจุบันจะเลือกการเมืองบนท้องถนนต่อไป
นั่นหละ

เออะคำหรือแนวคิดที่นำเข้ามาต่างบริบทก็อย่าไปเคลียดอะไรกับมัน เพราะมันต่างบริบทกัน งงแฮะ

มานึกขึ้นได้เราก็อธิบายโดยแนวคิดที่ต่างบริบทเหมือนกันนี้หว่า55555

 

โดย: Darksingha 20 ตุลาคม 2550 12:04:28 น.  

 



หุ หุ หุ.... การปกครอง แบบ ไท ไท ไงครับ

 

โดย: เซียน_กีตาร์ 20 ตุลาคม 2550 14:05:17 น.  

 

ขอบคุณครับสหาย เซียน_กีตาร์ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

 

โดย: Darksingha 20 ตุลาคม 2550 14:26:26 น.  

 



มีช่วงหนึ่งเคยไปทำรายงานข่าวเกี่ยวกับ mob
อยู่พักหนึ่งที่เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
ตอนที่กำลังมีปัญหากันอย่างรุนแรง


จนทุกวันนี้ก็ไม่เข้าใจว่า
ทำไมต้องมี mob มาปิดกั้นถนน
จนมาเข้า Blog คุณนี่แหละ
ขอบคุณนะคะ

 

โดย: อุ้มสี 21 ตุลาคม 2550 16:21:41 น.  

 

รัฐจมีกลยุทธในการปกครองเสมอครับ ไม่ว่า การเมืองแบบท้องถนนที่ประชาชนเข้ามากดดันเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรนั้นรัฐฯยังมีทางในการต่อรองไม่ให้มาเข้ายุ่งได้ กลุ่มเหล่านี้จะหาแนวร่วมจากคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ยากเพราะคนไทยจำนวนมากยังมองว่าการประท้วงเป็นสิ่งที่"ไม่เหมาะสม"ในสังคมทั้งที่มันเป็น civil disobedience อย่างหนึ่ง และกฎหมายสภาชุมชนในอนาคตก็อาจจะผ่านได้แต่เงื่อนไขนี่ต้องจำกัดอำนาจของประชาชนอีกนั้นแหละครับ ปัจจุบันนี้รัฐไทยเป็นรัฐข้าราชการ พวกนักการเมืองจะทำอะไรก็ต้องพึ่งข้าราชการเป็นหลัก

 

โดย: Johann sebastian Bach 21 ตุลาคม 2550 19:01:37 น.  

 

Come to say nice to talk to you today....

 

โดย: Princess in the Blue 21 ตุลาคม 2550 21:30:04 น.  

 

เมืองไทยเหมือนโดนสาปครับ พอจะเจริญก็ต้องมีอันเป็นไปทุกที

 

โดย: ลมตะเภา 21 ตุลาคม 2550 23:36:05 น.  

 

ขอบคุณครับสหาย ลมตะเภา ที่เขามาแลกเปลี่ยน
ผมว่าหากมองเป็นจิตรนิยมอาจเป็นไปได้ที่โดนสาปครับ แต่หากมองอย่างวัตถุนิยม ก็คนนั่นแหละทำ คนที่แสดงพฤติกรรมหรือบทบาทภายใต้ระบบสังคมการเมือง วัฒนธรรมและโครงสร้างที่ผลิตซ้ำมันออกมา

 

โดย: Darksingha 22 ตุลาคม 2550 10:09:35 น.  

 

ขอบคุณสหาย Johann sebastian Bach ที่มาแลกเปลี่ยนครับ
สหาย Johann sebastian Bach ครับ อันนี้ สำคัญยิ่งเลยครับที่คุณว่า "เพราะคนไทยจำนวนมากยังมองว่าการประท้วงเป็นสิ่งที่"ไม่เหมาะสม" เขาจะมองพวกนี้เป็นตัวปัญหา โดยเฉพาะพวกที่ไปจุดประเด็น ส่วนใหญ่พวกชนชั้นกลางและสูงโดยเฉพาะในเมืองจะมองพวกที่ออกมาทางด้านลบมากๆ เพราะพวกนี้ไม่ยอมให้ใครกำหนดชีวิตตนเองโดยเฉพาะพวกที่ตนเอกชอบดูถูก ทั้งๆที่น้ำ ไฟ อาหารที่เหลือทิ้งที่พวกคุณใช้อยู่หนะ สระสวยๆบนคอนโดหรูๆแลกมาด้วยอะไร เฮอ!

คำถามตกลงใครคือตัวปัญหากันแน่ ?

ผมหันไปถามเพื่อนนั่งข้างๆที่ใส่เสื้อเหลือง เห็นดูภาพเป็นคนดีจัง เผื่อมีคำตอบ เขาบอกว่า หมั่นทำบุญทำทานไว้ชาติหน้าจะได้สบาย ไอ้ที่เดือดร้อนนี้ก็เพราะทำกรรมไว้ชาติที่แล้วเยอะ อย่าออกมาก่อความวุ้นวายเลย รู้รักษามัคคีทำความดีเพื่อ ? เถอะ

ผมถามกลับไป ก็ถ้าหากปีนี้น้ำมันท่วมที่นาเพราะเอาที่ฉันไปทำแก้มลิง ป้องกันรถและเสือเหลืองที่คุณใส่จะเปียกหนะ ออกพรรษาปีนี้ไปตักบาทที่วัดน้อยหน่อยจะส่งผลให้ชาติหน้าเกิดมา โง่ จน เจ็บ อีกไหม แล้วถ้าให้เขาอยู่เฉยเชื่องๆรู้รักษามัคคีทำความดีเพื่อ ? ชีวิตเขาจะดีขึ้นไหม? เขาจะได้รับการแก้ปัญหาไหม ? เฮอ !!

เพื่อผม มันก็บอกว่ากลับไปนั่งสวดมนต์ ทำตัวแข็งเหมือนหินดู อาจจะดีขึ้น(บ้านเมืองจะได้สงบ เพราะไทยนี้รักสงบ)

ผมก็เลยเข้าใจว่าตายไปนรกคงไม่มีที่ให้เราแหงๆ ไม่เป็นไรนรกไม่มีที่ให้อยู่ก็อยู่มันบนโลกแห่งความเป็นจริงเหมือนเดิมมันนี้แหละ

และที่สำคัญ Princess in the Blue เช่นกันครับ ยิ้มเยอะๆนะครับจะได้ทำให้คนอื่นมีความสุข

 

โดย: Darksingha 22 ตุลาคม 2550 10:47:58 น.  

 

เข้ามาอ่านตามลิงค์ค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอาจารย์หรือเปล่า

 

โดย: สีน้ำกับพู่กัน 22 ตุลาคม 2550 10:52:26 น.  

 

ขอบคุณครับ สหาย สีน้ำกับพู่กัน ไม่หลอกครับ ผมยังเป็นคำตอบอะไรให้ใครไม่ได้ ยังอยู่ในช่วงคำถามครับ

 

โดย: Darksingha 22 ตุลาคม 2550 11:27:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.