Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
30 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
ฝ่ายการเมืองปะทะฝ่ายตุลาการ: ประสบการณ์จากฝรั่งเศส

นิติรัฐ
ปิยบุตร แสงกนกกุล



ในยุคทศวรรษที่ ๖๐ สมัยประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอโกลล์ ฝรั่งเศสประสบปัญหากรณีดินแดนอาณานิคมแอลจีเรีย ชาวแอลจีเรียบางส่วนต้องการเป็นเอกราช ในขณะที่อีกบางส่วนและชาวฝรั่งเศสบางกลุ่มยังต้องการรักษาแอลจีเรียให้เป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสไว้ ความขัดแย้งบานปลายจนก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมๆ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องส่งกองทัพไปประจำการที่แอลจีเรียเพื่อปราบปรามการจราจล

ประธานาธิบดีเดอโกลล์และรัฐบาลได้นำร่างรัฐบัญญัติฉบับหนึ่งเสนอให้ประชาชนได้ลงประชามติเพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการแก้ไขวิกฤตการณ์แอลจีเรีย ซึ่งประชาชนก็เห็นด้วยให้ใช้กฎหมายดังกล่าวและมีผลบังคับใช้เป็นรัฐบัญญัติเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๑๙๖๒

บทบัญญัติในมาตรา ๒ ของรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๓ เมษายน ๑๙๖๒ ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการออกมาตรการทั้งทางนิติบัญญัติและทางปกครองเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์แอลจีเรีย ประธานาธิบดีเดอโกลล์จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒ ดังกล่าว ออกรัฐกำหนดลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๑๙๖๒ จัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียเพื่อเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในทุกข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในดินแดนแอลจีเรีย ต่อมาศาลทหารนี้ได้พิพากษาให้นาย Canal โดนโทษประหารชีวิต นาย Canal ได้ฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารดังกล่าว

ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส รัฐกำหนดอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง จนกว่ารัฐสภาจะได้ออกรัฐบัญญัติมารับรองรัฐกำหนดนั้นแล้ว เมื่อนั้นรัฐกำหนดก็จะมีค่าบังคับเช่นเดียวกับรัฐบัญญัติซึ่งจะหลุดพ้นจากการตรวสอบของศาลปกครองทันที ด้วยเหตุนี้ศาลปกครองสูงสุดจึงรับคำฟ้องขอเพิกถอนรัฐกำหนดของนาย Canal เข้าสู่การพิจารณา เพราะในขณะฟ้องคดียังไม่มีการออกรัฐบัญญัติมารับรองรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรีย

ในที่สุด วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๑๙๖๒ ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาว่ารัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีสถานการณ์พิเศษที่จำเป็นเพียงพอถึงขนาดต้องจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง และบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียเป็นศาลชั้นต้นและศาลสุดท้ายโดยไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอื่นได้เป็นการขัดหลักกฎหมายอาญาทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนาย Canal ที่โดนโทษประหารชีวิตกลับไม่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวได้ จึงพิพากษาให้เพิกถอนรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียเสีย

รัฐบาลไม่พอใจกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดได้เข้ามาแทรกแซงการบริหาร และคำพิพากษาเพิกถอนการจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินนโยบายแก้ไขวิกฤตการณ์แอลจีเรียของรัฐบาล ปฎิกริยาของรัฐบาลที่มีต่อศาลปกครองสูงสุดนับว่ารุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นายกรัฐมนตรีแถลงว่า “รัฐบาลเห็นถึงความผิดปกติของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คำพิพากษานี้เป็นความพยายามเข้ามาปฏิบัติภารกิจซึ่งอยู่ในแดนของฝ่ายบริหารและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่รับอาณัติมาจากประชาชน และกระทบต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ของรัฐบาลและชาติ” ๔ วันถัดมา คณะรัฐมนตรีแถลงว่า “การแทรกแซงของศาลปกครองสูงสุดปรารถนาให้การปฏิบัติการตามรัฐกำหนดต้องสะดุดหยุดลง” รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารถึงกลับกล่าวว่า “รัฐบาลเห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีอยู่จริง แต่ไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายแต่ประการใด”

รัฐบาลตัดสินใจแข็งข้อต่อฝ่ายตุลาการและไม่สนองตอบคำพิพากษา แทนที่รัฐบาลจะยุบศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียและเยียวยาให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนมีการจัดตั้งศาลทหาร รัฐบาลกลับใช้อำนาจตอบโต้คำพิพากษาด้วยการเสนอร่างรัฐบัญญัติจัดตั้งศาลความมั่นคงแห่งรัฐต่อรัฐสภาอย่างรีบด่วน ร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ หนึ่ง เพื่อรับรองรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรีย และสอง ปิดช่องไม่ให้ศาลปกครองเข้ามาตรวจสอบการจัดตั้งศาลทหารในแอลจีเรียอีก เพราะเมื่อออกกฎหมายในรูปรัฐบัญญัติแล้ว ศาลปกครองก็ไม่อาจเข้ามาตรวจสอบได้ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวและมีผลบังคับใช้เมื่อเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๑๙๖๓

เมื่อมีรัฐบัญญัติรับรองรัฐกำหนด ก็เป็นอันว่ารัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียหลุดพ้นจากการตรวจสอบของศาลปกครองทันที อีกทั้งรัฐบัญญัติดังกล่าวยังมีบทบัญญัติในมาตรา ๕๐ ซึ่งยืนยันให้รัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียมีผลสมบูรณ์ย้อนหลังนับแต่วันที่ประกาศใช้บังคับ อีกนัยหนึ่งคือ ให้รัฐกำหนดมีผลสมบูรณ์นับแต่เริ่มต้นนั่นเอง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดเพื่อปรับปรุงโครงสร้างของศาลปกครองสูงสุดเสียใหม่ โดยมีนโยบายป้องกันไม่ให้เกิด “การปกครองบ้านเมืองโดยผู้พิพากษา”

สมควรตั้งเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า ประธานาธิบดีเดอโกลล์และรัฐบาลกล้า “ชน” กับศาลปกครองอย่างชัดแจ้งก็ด้วยเหตุว่าประธานาธิบดีเดอโกลล์ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูงและรัฐบาลในขณะนั้นมีเสถียรภาพมาก อีกทั้งตัวรัฐบัญญัติที่ใช้เป็นฐานของการออกรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารก็ผ่านการลงประชามติซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างท่วมท้น

อุทาหรณ์ของฝรั่งเศสในกรณีนี้อาจเปรียบเทียบกับกรณีประเทศไทยได้ ดังนี้

ฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเดอโกลล์ได้รับความนิยมสูง

ไทย นายกรัฐมนตรีทักษิณได้รับความนิยมสูง

ฝรั่งเศส รัฐบาลมีเสถียรภาพ

ไทย รัฐบาลมีเสถียรภาพ

ฝรั่งเศส รัฐบัญญัติที่ใช้เป็นฐานของการออกรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างท่วมท้น

ไทย พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนน ๑๖ ล้านเสียงในการเลือกตั้ง ๒ เมษา

ฝรั่งเศส ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหาร

ไทย ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพิกถอนการเลือกตั้ง ๒ เมษา

ฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเดอโกลล์และรัฐบาลกล้า “ชน” กับศาลปกครอง

ไทย ???

อนึ่ง หากผู้ใดท้วงติงว่าบริบทของฝรั่งเศสกับไทยแตกต่างกัน ฝ่ายการเมืองกล้ารุกกลับศาลปกครอง ก็เพราะว่า เพราะศาลปกครองสูงสุด หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สภาแห่งรัฐ” เป็นองค์กรสังกัดฝ่ายบริหาร ไม่ใช่องค์กรตุลาการ ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการ ก็แสดงว่าผู้นั้นไม่เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของศาลปกครองฝรั่งเศส แม้ “สภาแห่งรัฐ” จะสังกัดฝ่ายบริหาร แต่ก็ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีปกครองอย่างอิสระ ฝ่ายการเมืองไม่อาจเข้าแทรกแซงหรือกดดันให้พิพากษาคดีไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ แม้รัฐมนตรียุติธรรมจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาแห่งรัฐ แต่ก็เป็นเพียงตำแหน่งทางรูปแบบตามประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยธรรมเนียมปฏิบัติ รัฐมนตรียุติธรรมจะไม่เข้าร่วมประชุมหรือร่วมพิจารณาคดีเลย หากปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเพียงการออกงานรัฐพิธีเท่านั้น

ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส ยังมีอาวุธลับอีกอาวุธหนึ่งที่ฝ่ายการเมืองใช้ตอบโต้กับองค์กรตุลาการ นั่นคือ การผลักดันให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกรัฐบัญญัติเพื่อ “ฟื้นชีวิต” ให้แก่การกระทำต่างๆที่มีผลสิ้นไปอันเป็นผลต่อเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองได้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง หรือที่เรียกกันในภาษากฎหมายว่า “กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่การกระทำทางปกครอง” (La loi de validation) หรือ “การให้ผลสมบูรณ์แก่การกระทำทางปกครองโดยวิธีการทางนิติบัญญัติ” (La validation législative)

ตัวอย่างเช่น มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบย้อนหลังไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การรื้อถอนรางที่เริ่มทำไปแล้ว หรือการเริ่มต้นกระบวนการประกาศอนุญาตให้ก่อสร้างเสียใหม่ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลานาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและการเงิน ส่งผลต่อการจ้างงาน อีกทั้งงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการไปแล้ว เมื่อประเมินแล้วก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย จึงจำเป็นต้องออกรัฐบัญญัติเพื่อกำหนดให้สิ่งต่างๆที่เสียไปเพราะผลจากคำพิพากษานั้นให้กลับมามีผลสมบูรณ์เสียใหม่

แม้การให้ผลสมบูรณ์แก่การกระทำทางปกครองโดยวิธีการทางนิติบัญญัติ (La validation législative) จะดูราวกับว่าเป็นการตอบโต้และไม่เคารพคำพิพากษา เป็นการใช้อำนาจชนกับอำนาจ แต่ในบางครั้งมาตรการเช่นนี้ก็อาจเป็น “ความชั่วร้ายที่จำเป็น” เพราะในบางกรณี การที่ศาลวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎอาจมีผลต่อเนื่องตามมามากมายจนยากแก่การเยียวยากลับคืนสู่สถานะเดิม

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถออกกฎหมาย “โต้” คำพิพากษาได้ในทุกกรณี ตรงกันข้าม การออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ๕ ข้อ ดังนี้

หนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจออกกฎหมายมา “ลบ” คำพิพากษาของศาลได้โดยตรง หากต้องทำโดยอ้อม เช่น กรณีที่ศาลปกครองเพิกถอนการเลือกตั้งทั่วประเทศ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจออกกฎหมายเพื่อประกาศว่าคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวไม่มีผล หรือไม่อาจออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้การเลือกตั้งทั่วประเทศกลับมามีผลใหม่ ฝ่ายนิติบัญญัติทำได้แต่เพียงออกกฎหมายมา “ฟื้นชีวิต” ให้แก่การกระทำหรือคำสั่งต่างๆที่เป็น “ผลิตผล” อันเกิดจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ เช่น กำหนดให้เงินเดือนที่ ส.ส.ได้รับไปแล้วมีผลสมบูรณ์ เป็นต้น

สอง กฎหมายดังกล่าวห้ามมีโทษย้อนหลัง สาม ต้องไม่ขัดกับหลักการระดับรัฐธรรมนูญแเว้นแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ สี่ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เพียงพอ เช่น การรักษาไว้ซึ่งการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของบริการสาธารณะ การรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งของข้ารัฐการ การคุ้มครองความมั่นคงของสถานะทางกฎหมายและป้องกันผลอันคาดหมายไม่ได้ที่อาจเกิดขึ้น และ ห้า ต้องมีผลอย่างจำกัดและเคร่งครัดที่สุด

.....................

ประสบการณ์ของฝรั่งเศสบอกเราว่า การใช้อำนาจตอบโต้กับอำนาจเป็นเรื่องปกติที่อาจพึงมีได้ในระบบการเมืองการปกครองที่แบ่งแยกอำนาจอย่างสมดุล การใช้อำนาจตามขอบเขตที่องค์กรหนึ่งมีเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนไม่เห็นด้วยกับการที่องค์กรอื่นใช้อำนาจมากระทบองค์กรของตน ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ตรงกันข้าม อาจเป็นการรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจตอบโต้กันระหว่างองค์กรนี้ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย กล่าวคือ แต่ละองค์กรต้องใช้อำนาจของตนตามที่กฎหมายวางขอบเขตเอาไว้ นอกจากนี้จำต้องคำนึงถึงบริบททางการเมืองในขณะนั้นประกอบด้วย ดังกรณีของประธานาธิบดีเดอโกลล์ที่กล้าชนกับศาลปกครองก็เพราะประเมินว่าตนยังมีคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างสูง

กรณีของฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่าทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายตุลาการตอบโต้กันตาม “กรอบ” อำนาจที่ตนมี ใช้ “ไพ่” ที่ตนเองมีอยู่ในมือ โดยไม่จำเป็นต้องควานหา “โจ๊กเกอร์” เพื่อช่วยให้ตนได้ชัยชนะ หรือ เล่นตาม “ใบสั่ง” ของใครคนใดคนหนึ่ง

ที่มา //www.onopen.com/2006/01/822


Create Date : 30 มิถุนายน 2551
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 12:27:49 น. 0 comments
Counter : 1077 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.