Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
26 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
เรื่องราวจาก ‘รัฐมืด’ ในกำมือทหารพม่า ผ่านลมหายใจของสาย ‘สาละวิน’ นที

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง





‘สาละวิน’นที ไหลรี่ร้อยรอยจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน คือปัจจุบันที่มีเรื่องราวนับร้อยพันชีวิตเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปตลอดเวลา ประดุจร่างกายสอดร้อยวิญาณที่ไม่อาจแยกจากกันฉันใด หลากชีวิตที่สอดร้อยกับสายน้ำล้วนไม่อาจแยกขาดจากกันได้ฉันนั้น ยาม ‘สาละวิน’ นที รินไหลล้วนสร้างสรรชีวิตด้วยสีสันบนรอยทางที่ผ่านผัน จากการเริ่มต้นในความเย็นเยียบของน้ำแข็งใสหิมะขาวบนเทือกเขาสูงประเทศทิเบตละลายไหลหลากกลายเป็นธารน้ำ รี่ๆ รวยริน ที่นั้นพลันสร้างสรรค์เป็นชีวิตรูปแบบหนึ่ง ครั้นเข้าไหลสู่แดนดินยูนนาน แม่น้ำกลับร้อนแรงเกรี้ยวกราดฟาดฟันไปกับเทือกภูผาหินจนผู้คนพากันขนานนามว่าแม่น้ำ ‘นู่เจียง’ (แม่น้ำเกรี้ยวกราด) ตามลักษณะ



จากเส้นทางน้ำแข็งอุดรสู่ทะเลทักษิณ ‘สาละวิน’ นทียังต้องไหลล่องผ่านเทือกเขาแนวป่าใจกลางรัฐฉาน รัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ล้านนาตะวันตกชายแดนไทย ดินแดนเหล่านี้ล้วนใช้คำเรียกขานแม่น้ำนี้ว่า ‘คง’ มีแต่ชาวพม่าเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นจึงเรียกแม่น้ำนี้ว่า ‘ตาลวิน’ อันเป็นที่มาของ ‘สาละวิน’ เมื่อฝรั่งอังกฤษเจ้าอาณานิคมเมื่อครั้งหนึ่งในรัฐพม่าออกเสียงเพี้ยนไป



ตามรายทาง ‘สาละวิน’ นที มีชุมชนหย่อมบ้านมากมายซุกซ่อนเรียงรายไปกับแม่น้ำและผืนป่าสองฟากฝั่ง และคงเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อดีตกาล ร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของนักโบราณคดีบ่งบอกกับเราว่า ‘สาละวิน’ นทีนี้ มีบรรพบุรุษของมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานน่าจะไม่ต่ำกว่า 12,000 ปีมาแล้ว ตามแนวสาขาของสาละวินอย่างที่ถ้ำผีแมน จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการค้นพบโลงไม้และโครงกระดูกมนุษย์โบราณ หรือในช่วงเวลาต่อมายังพบว่า ‘สาละวิน’ นที คงเป็นเส้นทางคมนาคมโบราณเพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้ากันไปมาระหว่างคนในพญามังกรจีนกับชุมชนลุ่มน้ำสาละวินหรือชุมชนอื่นๆในอุษาคเนย์ จากการขุดค้นของนักโบราณคดีบนเนินเขาริมแม่น้ำซึ่งเรียกกันว่า ‘แหล่งโบราณคดีบ้านตาฝั่ง’ อันเป็นสบน้ำระหว่าง ‘ห้วยแม่กองคา’ กับ ‘สาละวิน’ เศษภาชนะดินเผาทั้งจากแหล่งเตาที่นิยมในล้านนากับภาชนะดินเผาแบบราชวงศ์หมิงคงบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ค้าระหว่างจีนกับผู้คนแถบนี้ผ่าน ‘สาละวิน’ นทีได้เป็นอย่างดี...และนั่นเป็นเพียงหลักฐานเรื่องราวเล็กๆน้อยๆเท่านั้นเอง



จากต้นสู่สุดปลายน้ำรวมเป็นเส้นทางกว่า 2,800 กิโลเมตร ที่ ‘สาละวิน’ นทีคดเคี้ยวเลี้ยวผ่านไปบนเส้นทางที่แตกต่าง มีชีวิต เผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมหลากหลายไม่สิ้นสุดไปทั้งสองฝั่งน้ำ ‘สาละวิน’ จวบจนกระทั่งแม่น้ำสายนี้ไหลล่องลงสู่ทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ น่ะแหล่ะจึงถือเป็นการสิ้นสุดการเดินทางรอบหนึ่งของสายน้ำ



แต่ ‘สาละวิน’ นที จะเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลาและในทุกลมหายใจ ตราบใดที่ยังคงสามารถรินไหลได้โดยไม่ถูกอุดตันหรือปิดกั้น ในเวลานี้ ‘สาละวิน’ นที เป็นสายน้ำใหญ่เส้นเดียวในอุษาคเนย์ที่ยังไหลรี่ได้อย่างเสรี ทำให้วันเวลาแห่งชีวิติบนสายน้ำเส้นนี้ยังคงมีมนต์ขลังและสร้างความหมายเสมอมานับแต่อดีตกาลถึงปัจจุบัน...ทว่าในยามนี้ เรื่องราวเหล่านี้อาจกำลังสิ้นสุดลง เมื่อ โครงการเขื่อน ! มากมายกำลังจะเกิดขึ้นมาอุดตันและพาดขวาง ‘สาละวิน’ อย่างยากหยุดยั้งได้





เขื่อน กับ สา ละ วิน

‘เขื่อน’ คงเป็นคำที่ฟังดูคุ้นเคยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นคำหรือวาทะที่มาควบคู่กับคำว่า ‘การพัฒนา’ ‘ไฟฟ้า’ ‘การบริการจัดการน้ำ’ ‘การป้องกันน้ำท่วม’ ‘การแก้ปํญหาน้ำแล้ง’ จนฟังดูเหมือนเป็นยาวิเศษที่แก้ไขโรคจากปรากฏการณ์ธรรมชาติได้สาระพัด กระนั้น บทเรียนจากทุกเขื่อนที่ผ่านทั้งในแทบทุกสังคม กลับฝากคราบเลือดและรอยน้ำตามากมายไว้บนที่ที่มันทาบทับกดฝัง ส่วนน้ำท่วมหรือน้ำแล้งจะยังคงเกิดและดำเนินไปอย่างเป็นปกติคลับคล้ายในวันเวลาที่ไม่มีเขื่อน







ในประเทศไทย เสียงคัดค้าน ‘เขื่อน’ ดังกระหึ่มขึ้นแทบทุกพื้นที่ในเวลาต่อมา ทว่าสำหรับดินแดนที่การแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพไม่สามารถทำได้นั้น กลับคล้ายโอกาสที่นรกประทานมาให้ ‘นักนิยมเขื่อน’ ผู้พร้อมเขมือบสรรพชีวิตทั้งมวลและโชคร้ายประการหนึ่งคือ ‘สาละวิน’ เป็นแม่น้ำที่พาดผ่านดินแดนแบบนั้นแทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นจีน พม่า หรือ ‘ไทย’ ในเวลานี้ ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายน้ำเส้นเดียวในอุษาคเนย์ที่ไม่เคยถูกปิดกั้นนี้จึงกำลังตกอยู่ในอาการที่น่าหวั่นวิตก



ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่หลายชีวิติจะถูกดับลมหายใจไปพร้อมๆกับแม่น้ำ ‘สาละวิน’ หลายความกังวลระคนห่วงใยกำลังขับเคลื่อนแข่งกับเวลาและอำนาจ ความร่วมมือน้อยใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งเพื่อทัดทานกระแสการสร้างเขื่อน รวมทั้งกิจกรรมเล็กๆของนักศึกษากลุ่มหนึ่งในช่วงเย็นวันที่ 29 ส.ค. 50 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เสียงจากสาละวินถูกสื่อความออกมาอย่างแจ่มชัด



กิจกรรมเล็กๆ นี้มีตัวตั้งตัวตีหลักในการจัดงานคือ ‘ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’ และ ‘ชมรมชาติพันธุ์’ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานจัดขึ้น ณ บริเวณตึกกิจกรรม ผู้มาร่วมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามีราวๆ 50 คน กิจกรรมวันนั้นมีทั้งดนตรี อ่านบทกวี และเชิญผู้ทำงานกับสายน้ำสาละวินอย่างใกล้ชิดอย่าง เพียรพร ดีเทศน์, วันดี สันติวุฒิเมธี และออง กับ เดเด ซึ่ง 2 บุคคลหลัง นอกจากมีประสบการณ์ตรงหลังผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายในดินแดนพม่าเมื่อวัยเด็กมาบอกเล่าแล้ว ยังทายทักถึงอนาคตที่จะมืดมนเลวร้ายจากรัฐทหารพม่าที่จะแผ่ขยายอย่างรุนแรงกว้างขวางหากเกิดการสร้าง ‘เขื่อนสาละวิน’



‘เพียรพร’ กล่าวถึงแม่น้ำสาละวินว่าเป็นแม่น้ำที่มีลักษณะพิเศษที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือคนชาติพันธุ์อาศัยอยู่แทบทั้งสิ้น จะไม่มีพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศอยู่เลย ห่างไกลจากเมืองหลวงของแต่ละประเทศที่ไหลผ่านจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นแม่น้ำชายขอบที่ไหลอย่างอิสระ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำแห่งนี้ยังไม่มีใครศึกษามากนัก อาจเป็นเพราะครึ่งหนึ่งของสายน้ำอยู่ในพม่าซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบจึงไม่สะดวกในการวิจัย แต่เมื่อมีโครงการเขื่อนเกิดขึ้น (ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970) สิ่งที่กังวลคือนอกจากการทำลายสายน้ำที่ยาวสุดในอุษาคเนย์ที่ยังไม่ถูกปิดกั้นแล้ว อาจทำลายพันธุ์ปลาอีกมากมายซึ่งยังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง และยังจะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โบราณสถาน และวัฒนธรรม ทั้งนี้ แม่น้ำสายนี้เป็น 1 ใน 21 แม่น้ำสายยาวที่ยังเหลือในโลกที่ยังไม่มีเขื่อน



เพียรพร เล่าต่อไปว่าโครงการเขื่อนในแม่น้ำสาละวินถูกผลักดันขึ้นโดยกลุ่มทุนธุรกิจพลังงานและกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองในหลายประเทศที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งไม่ได้ต่างไปจากการเกิดขึ้นของเขื่อนในประเทศไทย ทางตอนบนในเขตจีน บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนได้รับสัมปทานให้สร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินในเขตจีนได้เต็มที่ เพื่อผลิตไฟฟ้าและขายให้รัฐ ส่วนทางชายแดนไทยพม่า ในรัฐฉาน ในรัฐกะเหรี่ยงในประเทศพม่า มีทั้งหมดจำนวน 5 โครงการ ส่วนหนึ่งจะปั่นไฟฟ้าขายให้กับไทย เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อ้างว่าไฟฟ้าที่เราใช้ไม่สามารถผลิตไหว แต่คำถามที่สำคัญคือไทยต้องการไฟฟ้าจริงเพิ่มอีกหรือไม่



“ทุกปีเราใช้ไฟฟ้าเหลือมากมาย บางปีเหลือถึง 40% แต่ในภาคอุตสาหกรรมกลับใช้ไฟฟ้าสูงมาก ทำไมจึงไม่คุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ แต่ผลักภาระการใช้ไฟให้ประชาชนทุกคน ส่วนต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสังคมกลับไม่เคยถูกนับรวมในแผนเหล่านี้เลย”



จากนั้น เพียรพรจึงระบุว่า สิ่งที่รัฐบอกเกี่ยวกับโครงการเขื่อนที่จะสร้างในแม่น้ำสาละวินคือ การบอกว่าเขื่อนจะถูกสร้างในเขตพม่า น้ำจะท่วมบริเวณชายแดนนิดเดียว บริเวณนั้นมีคนอยู่น้อยถึงท่วมก็ไม่เป็นไร ซึ่งเรื่องมีหมู่บ้านจำนวนน้อยนั้นเป็นเรื่องจริง หากไปสำรวจที่ อำเภอแม่สะเรียงเราก็จะพบไม่กี่หมู่บ้านจริง แต่ความจริงแล้วในป่าทุกลำห้วยที่ไหลลงสู่สาละวินจะมีหย่อมบ้านกระจายไปอีกมากมาย ในไทยเองมีกว่า 50 หย่อมบ้าน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ตกหล่นไปจากทะเบียนราษฎร์ เพราะแค่จะเข้ามาที่อำเภอแม่สะเรียงยังต้องใช้เวลาถึง 2-3 วัน ดังนั้นคนเหล่านี้จะนับเป็นพลเมืองด้วยหรือไม่ เวลานี้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นชายขอบที่ไม่ได้รับการยอมรับของรัฐใด หากสร้างเขื่อนชีวิตจะของเขาจะเป็นอย่างไร







ชีวิตชายขอบกับกฎหมายสัญชาติที่มีปัญหา

หลังจากทิ้งท้ายคำถามของเพียรพร ผู้มาร่วมเสวนาอีกคนหนึ่งได้แก่ อ.ลักคนา พบร่มเย็น นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสาละวินเป็นแม่น้ำที่ติดชายแดน การเข้าไปจึงลำบาก แต่หากเข้าไปแล้วจะพบว่าชาวบ้านไม่มีสัญชาติเยอะมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะเดินทาง ในขณะที่บางยุคสมัย อำเภอจะไม่นับชาวเขาเป็นคนไทย หรือการที่บางคนพูดไทยไม่ได้ก็ทำให้ชื่อตกหล่น แม้จะมาแจ้งชื่อภายหลังราชการก็ไม่เดินเรื่องให้



การแก้ปัญหาในปัจจุบัน แม้กำลังจะแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แล้ว แต่ยังคงมี มาตรา 7 ทวิ[1] ที่ปิดกั้นว่าลูกของคนต่างด้าวจะไม่ได้สัญชาติไทย ดังนั้นจึงอาจมีปัญหาอีก เช่น ลูกชาวเขาที่เกิดในประเทศไทย แต่พ่อแม่ไม่มีหลักฐานอะไรบอกว่าเป็นคนไทย แบบนี้หากจะบอกว่าเป็นคนต่างด้าวก็ดูกระไรเพราะเกิดในดินแดนไทย จึงขอเรียกคนกลุ่มนี้ว่าว่า ‘ไร้รัฐ’ ซึ่งคนไร้รัฐเหล่านี้จะกลับพม่าก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดที่พม่า พม่าก็ไม่รับรอง ไม่มีรัฐใดรับรอง มาตรานี้รัฐไทยต้องแก้ เพราะหากเจ้าหน้าที่ตีความการเกิดมาไร้รัฐว่าเป็นต่างด้าวก็ทำให้เขาผิดกฎหมายไป





สร้างเขื่อน แถมผู้ลี้ภัย

จากนั้น เพียรพร กล่าวต่อในรอบที่ 2 ว่า การที่ไทยใช้วิธีดูดทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้านแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือ ‘ผู้ลี้ภัย’ ยกตัวอย่างโครงการแรกที่ไทยเคยลงทุนอย่างเป็นทางการกับพม่า คือ การสร้างท่อก๊าซไทย-พม่า เมื่อ 11 ปีก่อน โดยเชื่อมท่อก๊าซจากพม่ามาที่จังหวัดราชบุรี จากวันแรกที่ท่อก๊าซต่อท่อเข้ามาที่โรงไฟฟ้าราชบุรีภายในเดือนเดียวของโครงการมีผู้ลี้ภัยลงทะเบียนทันที 8,000 คน ส่วนสาละวินถ้าเกิดการสร้างเขื่อน เช่น ถ้าสร้างเขื่อนท่าซางกั้นแม่น้ำสาละวินในที่รัฐฉาน มีตัวเลขจากการประเมินคาดว่าจะมีชาวบ้าน 25,000 คน ในรัฐคะเรนีที่อยู่ริมแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขามี 30,000 คน กะเหรี่ยง อีก8,000 คน ส่วนในไทยประมาณไว้ 20,000 คน เท่ากับผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมแล้วประมาณ 83,000 คน ที่อาจเป็นผู้ลี้ภัยและอาจจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยถาวร เนื่องจากไม่สามารถกลับสู่พม่าได้เพราะบ้านหรือไร่นาต่างจมอยู่ใต้น้ำหมดแล้ว



เพียรพร กล่าวอีกว่า เขื่อนที่จะเกิดในพม่าทั้งหมดผลักดันโดยรัฐบาลไทย สาเหตุก็คือการสร้างเขื่อนจะต้องเกิดในที่ที่ต้องไม่มีเอ็นจีโอ ที่ที่ไม่มีความเป็นธรรม ซึ่งพื้นที่แบบนี้คือพม่า ทั้งนี้ การสร้างเขื่อนในประเทศไทยนั้นไม่สามารถทำได้อีกแล้ว เพราะคนไทยเข้าใจหมดแล้วและต่อต้าน



ประเด็นดังกล่าว ‘วันดี’ กล่าวเสริมว่า เขื่อนที่สร้างในพม่ามีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือน้ำท่วม ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ผู้ลี้ภัยกว่า 80,000 คนแล้ว ยังมีผู้ลี้อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลทหารพม่าส่งกองทหารเข้าไปเคลียร์พื้นที่สร้างเขื่อนเพื่อให้ไม่มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งที่ตามมาคือ การเผาหมู่บ้าน การปล้น ฆ่า และข่มขืนชาวบ้าน



วันดี ได้ยกตัวอย่างเขื่อนบารูซอง ที่สร้างแล้วในรัฐคะเรนี (แต่ต่อไฟไปที่ย่างกุ้ง) เมื่อสร้างเสร็จทหารพม่าจะวางกับระเบิดไว้รอบโรงไฟฟ้า ชาวบ้านได้รับกระทบจากกับระเบิดเหล่านี้ อีกทั้งชาวบ้านคะเรนนีเองกลับไม่ได้ใช้ไฟฟ้านั้น ในฐานะเจ้าของพื้นที่เลย ในขณะที่เมื่อเหยียบกับระเบิดก็ไม่ได้รับค่าเสียหาย แต่ต้องเสียค่าทำทรัพย์สินรัฐบาล (อาวุธ) เสียหายด้วย





แว่วเสียงระทมจากคนในรัฐมืด

ตัวแทนจากองค์กรเคซานประเทศพม่าบอกเล่าประสบการณ์ของการอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารพม่าอันหมายถึงอำนาจของรัฐมืดที่จะแผ่ขยายต่อไปในอนาคตหากเขื่อนสาละวินสามารถสร้างได้สำเร็จ



‘ออง’ มีพื้นเพเดิมในรัฐฉานก่อนที่จะอพยพมายังประเทศไทย เธอบอกว่า ตนเองนับว่าเป็นผู้ที่โชคดีมากจากคนหลายล้านคนเพราะสามารถรอดเข้ามาในประเทศไทยได้



ถึงตอนนี้บรรยากาศเงียบงันไปพักหนึ่ง หยดน้ำตาของอองเริ่มไหลซึมไปตามขอบตา และคล้ายมีก้อนแข็งๆ จุกอยู่ที่คอให้พูดไม่ออก เธอฝืนกลืนลงไปก่อนจะหล่นคำพูดต่อมาอย่างยากเย็นแต่เข้มแข็งว่า



“ไม่มีใครอยากย้ายจากบ้านเกิดตัวเองหรอก นักศึกษาแค่จากบ้านมาเล่าเรียนไกลๆ ก็คงจะรู้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อเดินทางมาเราสูญเสียทุกอย่างโดยที่อาจจะไม่มีใครข้างหน้า เราไม่รู้ว่าข้างหน้ามีอะไรบ้าง เมื่อมาถึงเราก็กลายเป็นคนแย่งที่ดิน แย่งงาน แย่งทุกอย่าง 50 ปีที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ในขณะที่รัฐบาลพม่าพูดถึงด้านที่สวยงามและการท่องเที่ยวในรัฐสีขาว แต่เราถูกแบ่งแยกให้อยู่ในพื้นที่ของรัฐสีดำ นั่นหมายถึงการเสียทุกอย่าง รวมทั้งสิทธิมนุษยชน”



สิ่งที่เกิดในรัฐสีดำที่อองเคยอยู่คือการมีรัฐบาลทหารพม่าที่ปิดกั้นทุกอย่างที่เป็นการรับรู้ เวลานั้นอองไม่รู้จักแม้กระทั่งไฟฟ้าหรือรถยนต์ เธอบอกว่า รัฐบาลเผด็จการ เมื่อผ่านเวลาที่นานไปยิ่งหมายถึงการกดขี่



“ตอนเด็กๆ เคยอยู่บนเขา เมื่อรถของทหารพม่าเข้ามา เราไม่รู้จักว่าคืออะไร เรากลับวิ่งไล่รถคันนั้น เพราะสงสัยว่าคืออะไร มันเป็นเหล็กชนิดหนึ่งที่วิ่งได้ มันแปลก เราเคยเห็นแต่เกวียน แต่รถเป็นสิ่งวิ่งไวมากและเราไม่เคยเห็น คนแก่ก็นำข้าวตอกสีขาวมาโปรยกราบไหว้ ทั้งที่สิ่งนั้นเมื่อมาถึงแล้วกลับยึดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่เราเคยมี ในเวลาต่อมา สิ่งที่เราไล่กราบกลับกลายเป็นสิ่งโหดร้าย ยึดบ้านไม้ไผ่ ผู้ชายถูกมัดรวมไว้ที่วัดเพื่อไม่ให้มีการต่อสู้ ในหมู่บ้านเหลือคนแก่ ผู้หญิงและเด็ก จากนั้นของอะไรในบ้านที่มีค่าจะถูกเอาไปหมด แม้แต่จานข้าว เมื่อถูกแย่งที่อยู่ที่กิน ก็มีคนหนีบ้าง ยังอยู่บ้าง”



อองเล่าต่อไปว่า เมื่อถูกไล่จากพื้นที่ที่ตามเทือกเขาเคยมีต้นไม้มากมายมหาศาล ต้นไม้บางต้นอายุไม่รู้กี่ร้อยปีจนหลายสิบคนโอบไม่รอบเนื่องจากชาวเขาไม่มีใครทำร้ายต้นไม้ใหญ่ เพราะชาวบ้านรู้ว่าจะใช้อะไร พอเพียงเท่าไหร่ เรารักษาป่าและสายน้ำที่เลี้ยงชีวิตไว้ แต่ตอนนี้ภูเขากลายเป็นภูเขาโล้น มองเห็นทุกจุด ส่วนพวกเราถ้าเขาไล่แล้วไม่ไปก็หมายถึง “ไม่ต้องมีชีวิตอยู่ ! ”



หลังถูกไล่ อองต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่ทางทหารพม่าจัดให้ สถานที่นั้นไม่มีสาธารณูปโภคอะไรเลยแม้แต่น้ำสะอาด ผู้คนจำนวนมากถูกนำไปรวมไว้ที่นั่น ครั้งหนึ่งมีหนูระบาด รัฐบาลจึงวางยาเบื่อหนูแล้วทิ้งลงไปแม่น้ำ ชาวบ้านไม่มีความรู้อะไรไปดื่มน้ำก็เสียชีวิตเกือบหมด นี่คือความมืดมัวที่เผด็จการพม่ามอบให้



อองบอกว่าสิ่งสุดท้ายที่เหลือตอนนี้คือแม่น้ำสาละวินที่ชายแดน แต่เขากำลังจะทำเงินจากแม่น้ำโดยไม่เคยถามสิทธิของเราทั้งที่เราดูแลกันมาตั้งแต่สมัยคนเฒ่าคนแก่ เขาไม่เคยถาม แต่จะนำเงินที่กำลังจะได้มาไปซื้ออาวุธเพื่อมาล้างเผ่าพันธุ์เรา ยิ่งขายป่าและแม่น้ำ อาวุธในมือก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ



ต่อมา ‘เดเด’ ซึ่งอพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยง กล่าวถึงผลกระทบต่อชาติพันธุ์ต่างๆหากสร้างเขื่อนสาละวินว่า พื้นที่ชายแดนตั้งแต่แม่ฮ่องสอนไปจนเกือบถึงด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) คือ พื้นที่เขื่อนฮัตจี ซึ่งมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก ประเด็นคือ เมื่อมีโครงการเขื่อนเข้ามา รัฐบาลทหารพม่าจะพยายามกวาดล้างชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีศูนย์อพยพอยู่ติดกับแม่น้ำสาละวิน ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้มีผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงที่ใกล้เขตตองอูซึ่งมาจากการย้ายเมืองหลวงใหม่มาเป็นจำนวนมาก บางส่วนก็ไปหลบตามป่าบริเวณนั้นแล้วถ้าสร้างเขื่อนสาละวินจะเกิดอะไรขึ้น



“ในหน้าเก็บเกี่ยวทหารพม่าจะมาเผ่าไร่นาทิ้งหลังจากเอาข้าวไปแล้ว เอาไปแม้แต่จานชาม และหากสร้างเขื่อนสาละวินจะแถมผู้ลี้ภัยำนวนมาก ปัจจุบันในไทยมีอพยพถึง 5 ค่ายแล้ว โดยค่ายใหญ่ที่สุดอยู่ที่ท่าสองยาง มีผู้อพยพ 40,000 คน ส่วนที่หลบอยู่ในป่ายังไม่มีข้อมูลแน่ชัดแต่ไม่น่าจะต่ำกว่าแสนคน ถ้ามีเขื่อนก็จะเข้ามายังไทย สำหรับผู้ที่อยู่ในป่าการสร้างเขื่อนจะทำให้พื้นที่ในการหลบซ่อนน้อยลง ถ้า กฟผ.ไปลงทุนเท่ากับเสริมเขี้ยวเล็บให้รัฐบาลทหารพม่า และความรุนแรงก็จะทวีอีกหลายเท่า” เดเด กล่าวทิ้งท้าย











--------------------------------------------------------------------------------

[1] มาตรา 7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็น คนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือ บิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็น กรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตาม วรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย คนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น [ มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535]



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 25/9/2550




Create Date : 26 กันยายน 2550
Last Update : 26 กันยายน 2550 12:17:08 น. 4 comments
Counter : 2173 Pageviews.

 
แวะมารับความรู้ ส่วนของพม่า ที่กำลัง ให้ความสนใจอยู่ค่ะ


โดย: tiki_ทิกิ วันที่: 26 กันยายน 2550 เวลา:12:43:09 น.  

 
ได้รับความรู้มาก ๆ เลยคะ
ขอบคุณนะคะ


โดย: aomaom_amam วันที่: 26 กันยายน 2550 เวลา:14:04:21 น.  

 
ด้วยความยินดีคร๊าปปปปปปปปปปปป


โดย: Darksingha วันที่: 28 กันยายน 2550 เวลา:12:08:40 น.  

 
ชอบเรื่องเกี่ยวกับพม่ามาก
เป็นประโยชน์มากเลย ขอบคุณค่า


โดย: PPpIRCU วันที่: 26 พฤศจิกายน 2550 เวลา:5:23:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.