วันเวลาที่ผ่านไปของแต่ละชีวิต ที่ลิขิตด้วยตนเอง

การนำศพออกจากบ้าน

๘.การนำศพออกจากบ้าน

เมื่อศพได้ทำการบรรจุโลงแล้ว จะยกลงจากเรือนและนำออกจากบ้านไปยังวัด มีปฏิบัติการดังนี้ คือ

(ก) ไม่หามศพลอดขื่อ คือแต่ก่อนมาเมื่อผู้ป่วยได้นอนตายอยู่ในห้องใด เมื่ออาบน้ำศพและบรรจุโลงตลอดจนการที่จะตั้งศพไว้บำเพ็ญการกุศลก็ใช้ห้องนั้นตลอดไป ไม่ย้ายศพจากห้องที่ตายไปไว้ห้องอื่นเหมือนอย่างที่ทำกันในปัจจุบันนี้ และเมื่อยกออกจากห้องไปก็ไม่ยอมหามลอดขื่อไปออกประตูอีกห้องหนึ่งตามที่ได้เคยเห็นมา บางบ้านที่เรือนเป็นฝากระดานลูกปะกนถึงกับต้องเปิดฝาออกกระแบะหนึ่ง เพื่อยกศพออกทางนั้นมาหาระเบียงหามลงนอกชานแล้วลงบันไดเรือนไป นอกจากนี้ยังได้เห็นชาวสวน ซึ่งอยู่ในเรือนฟากไม้หมากไม่แข็งแรงคงทนเท่าเรือนเราในปัจจุบันนี้ และขื่อก็เตี้ย เกรงว่าเมื่อหามศพลอดมาศรีษะผู้ยกหีบศพอาจจะไปโดนขื่อเข้าเขาจึงห้าม

(ข) การชักฟากสามซี่ตีหม้อน้ำสามใบ ข้อนี้เป็นปริศนาธรรมฟากสามซี่ได้แก่ชาติ ความเกิด อาศัยภพสามคือ กามภพ ๑ รูปภพ ๑ อรูปภพ ๑ หม้อน้ำสามใบนั้นได้แก่วัยทั้งสาม คือ ประถมวัย ๑ มัชฉิมวัย ๑ ปัจฉิมวัย ๑ เหตุด้วยสัตว์ที่เกิดมาจะต้องแตกทำลายไปในวัยทั้งสาม จะยืนยงคงอยู่ต่อไปหาได้ไม่ แต่ปัญหาธรรมข้อนี้บุคคลเราแก้ไม่ได้ไม่รู้เรื่อง แต่ก็คงรักษาประเพณีอันนั้นมาอยู่จนทุกวันนี้

(ค) ประตูป่า คือเอาใบไม้มาปักไว้บนประตูที่จะนำศพออก ผูกปลายจดกัน การที่ทำเช่นนี้จะให้ผู้ตายรู้ตัวว่าเราจะได้นำศพไปป่าช้าแล้ว อีกอย่างหนึ่งเพื่อจะป้องกันไม่ให้ผีกลับมาเรือนได้อีก เพราะเมื่อผีออกไปพ้นประตูป่าแล้ว เขาก็ถอนกิ่งไม้นั้นทิ้งเสีย เมื่อผีกลับมาหาที่สังเกตุไม่ได้ก็จะหลงทางไปที่อื่น อีกนัยหนึ่งกล่าวเป็นปัญหาธรรมว่า ประตูป่าช้าใครไปแล้วไม่ได้กลับมาเห็นญาติมิตรอีกต่อไป ควรเป็นที่ปลงธรรมสังเวชยิ่งนัก

(ง) ซัดข้าวสาร เพื่อจะให้ผีออกจากบ้านไปสู่ป่าช้า เมื่อเผาแล้วจะได้ไปผุดไปเกิด ไม่มารบกวนคนในบ้านเรือนต่อไป

(จ) ไม้ขีดทางที่ไป เห็นจะทำเป็นเครื่องหมายให้คนที่จะตามไปทีหลังได้สังเกตุและตามไปหาที่ไว้ศพถูก

(ฉ) ห้ามไม่ให้หามข้ามนาข้ามสวน การหเามข้อนี้ไม่เกี่ยวกับลัทธิหรือศาสนาเลย แต่การที่ห้ามก็โดยเจ้าของนาหรือสวนรังเกียจในการที่เราจะนำศพผ่าเข้าไปเขตที่ดินของเขา หรืออีกอย่างหนึ่งเกรงว่าจะไปเหยียบต้นข้าวและต้นไม้ของเขาตาย ครั้นนานเข้าผู้ที่ไม่ทราบความหมายก็เลยถือเป็นประเพณีกันต่อๆมา และเห็นว่าศพนั้นเป็นอัปมงคล เมื่อผ่านเข้าไปในที่ดินของตน ที่ดินนั้นจะพลอยเป็นอัปมงคลต่อไปด้วย

ในมหากาลเถรสูตรว่า ล้างฟากตีหม้อหมางขีดหนทางนั้น เพื่อจะให้เห็นว่า เราท่านทั้งปวงไม่ควรเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภพทั้งสาม ให้อุตสาหะบำเพ็ญทานรักษาศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใสประดุจดังฟากที่ล้างสะอาดแล้วก็จะพ้นจากภพทั้งสามเหมือนตีหม้อหมางและขีดหนทางเสียฉะนั้น




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2553    
Last Update : 16 สิงหาคม 2553 14:55:57 น.
Counter : 2701 Pageviews.  

การตั้งศพ

๗.การตั้งศพ

เมื่อบรรจุศพลงในโลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะตั้งศพนั้นไว้ที่บ้านเพื่อบำเพ็ญกุศลไปก่อนก็ดี จะเอาไปตั้งก่อิฐถือปูนไว้ หรือจะฝังก็ดี ตลอดตั้งบนเชิงตะกอนทำการเผาต้องตั้งหันศรีษะของศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ ทั้งนี้ถือเป็นประเพณีสืบกันมา โดยมีเรื่องราวกล่าวกันว่า "เมื่อครั้งพระอิศวรกระทำการโกนจุกพระขิเนต(เห็นจะเป็นพระพิฆเนศ) พระขินายไม่ได้บอกพระอังคารให้ทราบ พระอังคารโกรธ บันดาลให้มีดมาตัดเศียรพระขิเนตพระขินายไปทิ้งในแม่น้ำ พระอิศวรจึงได้ใช้พระเพชฉลูกรรณ์ (เห็นจะเป็นพระวิศวกรรม) เอาศรีษะมนุษย์และเดียรรัจฉานที่นอนหันศรีษะไปทางทิศตะวันตก พระเพชฉลูกรรณ์ไปพบช้าง ๒ ตัวนอนหันศรีษะไปทางทิศตะวันตก จึงตัดศรีษะมาถวายพระขิเนตพระขินายๆ จึงมีเศียรเป็นช้าง" สำหรับผู้มีชีวิตอยู่ไม่นอนหันศรีษะไปทางทิศตะวันตก แม้แต่ทิศใต้ก็ไม่มีใครนิยมหันศรีษะไป โดยถือกันว่าเป็นเสนียดจัญไร เพราะเหตุนี้ แต่การตั้งศพของผู้ตายแล้วให้หันศรีษะไปทางทิศตะวันตกหรือถ้ามีความจำเป็นที่จะตั้งศพให้หันศรีษะไปแต่ทางทิศตะวันตกไม่ได้ ก็นิยมหันศรีษะไปทางทิศใต้ ไม่มีตั้งศรีษะศพไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือเลย

ยังมีชาวอุดรและอีสานของประเทศสยาม ซึ่งเป็นเชื้อสายสืบมาแต่ชาวล้านช้าง ถือประเพณีนอนหันศรีษะไปทางทิศใต้ทิศเดียว เรียกทิศใต้ว่า หัวนอน และเรียกทิศเหนือว่า ปลายตีน (ชนชาวแถบนี้ปลูกเรือนตามตะวัน คือ ตามยาวของเรือนไปทางทิศตะวันออกกับทิศตะวันตกหน้าเรือนไปสู่ทิศเหนือนอนตามขวางของเรือน เอาหัวนอนไปไว้ทิศใต้ และเหยียดเท้าไปทางทิศเหนือ) การถือประเพณีเช่นนี้ มีผู้ใหญ่แถบนั้นเล่าให้ฟังว่าชั้นบรรพบุรุษถือกันว่าแต่เดิมมาภูมิลำเนาของเขาอยู่ตอนเหนือนี้ขึ้นไป เมื่อได้เลื่อนลงมาประกอบการอาชีพทางใต้แล้ว ก็ยังคำนึงถึงถิ่นฐานเดิมซึ่งเคยอยู่จึงได้นอนหงายหันหน้าสู่ทางเหนือ และดูเพื่อเป็นเครื่องระลึกโดยไม่ถือว่า การนอนหันศรีษะไปทางทิศใต้จะเป็นเสนียดจัญไร เหตุนี้จึงเป็นประเพณีที่นอนหันศรีษะไปทางใต้ต่อๆ กันมา จนบัดนี้

ผู้ที่ตายในตอนบ่ายหรือเย็น ซึ่งจะจัดการบรรจุศพลงโลงในวันนั้นไม่ทัน และจะจัดการในวันรุ่งขึ้น โดยเขาเอาผ้าคลุมศพไว้ก่อนก็ดี หรือศพที่บรรจุโลงเสร็จแล้วตั้งไว้ที่บ้านเพื่อบำเพ็ญการกุศลต่อไปก็ดี แต่ชั้นเดิมๆมา เขาใช้กะลามะพร้าวพร้อมทั้งเนื่อด้วยซีกหนึ่ง ใส่น้ำมันมะพร้าวใช้นมทองหลางร้อยด้ายดิบเป็นไส้ลอยในน้ำมันมะพร้าว จุดตามไว้ทางปลายเท้าศพ แต่ในกรุงเทพฯ เวลานี้ยังมีทำกันอยู่บ้าง ก็มักจะใช้ชามแทนกะลามะพร้าวบ้าง ตามด้วยตะเกียงลานบ้าง คงมีใช้กะลามะพร้าวเป็นเครื่องภาชนะเครื่องตามไฟอยู่บ้างก็แต่ตามเรือกตามสวนเท่านั้น การที่ใช้กะลามะพร้าวทั้งเนื้อเป็นที่ใส่น้ำมันตามนี้คงสอบถามได้ความตามคำบอกเล่าว่า เมื่อศพยังตั้งบำเพ็ญการกุศลอยู่ที่บ้านหลายวัน (ไม่ใช่เก็บศพไว้กับบ้าน) ก็ต้องใช้เครื่องตามไฟนี้เรื่อยไป ถ้าจะใช้แต่ตัวกะลามะพร้าวใส่น้ำมันโดยไม่มีเนื้ออยู่ด้วย กะลามะพร้าวอาจจะแห้ง ไฟจะแลบเลียทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้ จึงต้องใช้กะลามะพร้าวทั้งเนื้อด้วย ส่วนไฟที่จุดตามไว้นี้ ต้องคอยระวังกันไว้ไม่ให้ดับ หรือถ้าเกิดดับขึ้นด้วยความจำเป็นก็ต้องรีบจุดใหม่ทันที แต่เหตุที่ต้องตามไฟไว้นี้ บางท่านก็อธิบายไว้ว่า "จุดไว้แทนไฟธาตุของผู้ตาย" แต่บางท่านได้กล่าวไว้ว่า แต่ดิมมาพวกเราไม่มีเครื่องตามไฟที่จะใช้ในเวลาค่ำคืน มีแต่ใช้ไต้จุดกันไม่ชนะจะเขี่ย เช่น พระตามวัดที่อัตคัด ไม่มีไต้จะจุดดูหนังสือสำหรับท่องบ่นในเวลากลางคืน เวลาเย็นลงกวาดวัด ก็รวมใบไม้แห้งๆ ไวุ้มและผ่อนใส่ไฟ เพื่อหาแสงสว่างดูหนังสือสำหรับท่อง ส่วนตามบ้านใช้ไต้จุดกันเป็นพื้น เมื่อมีศพอยู่กับบ้านไม่อยากให้ศพอยู่มืดๆ เนื่องด้วยเกิดจากความกลัว ถ้าจะเอาไต้ไปจุดไว้ที่ปลายเท้าศพคงไม่มีใครรับอาสาไปนั่งเขี่ยไต้ให้ลุกอยู่ได้ตลอดรุ่ง จึงต้องตามฟด้วยน้ำมันมะพร้าว และใช้กะลามะพร้าวทั้งเนื้อเป็นภาชนะดีกว่าใช้อย่างอื่น ดังนี้

ศพที่ตั้งอยู่กับบ้านเพื่อบำเพ็ญการกุศล ในระหว่าง ๓ วันนับตั้งแต่วันตายมา มีการตั้งอาหารให้แก่ศพวันละ ๒ เวลา คือเช้ากับเย็น มีพร้อมทั้งกระโถนขันน้ำ จัดเหมือนกับเวลารับประทานอาหารในขณะที่ที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ เวลาไปตั้งเสร็จแล้วก็เคาะโลงบอกให้รับประทานอาหาร ไปตั้งไว้ราวชั่วโมงหนึ่งจึงยกกลับมา บางแห่งก็ทำการตั้งดั่งนี้ถึง ๗ วันจนทำบุญ ๗ วัน แล้วปิดศพหรือนำศพไปวัด การที่ทำเช่นนี้ได้ความว่าสืบเนื่องมาจากทางไสยศาสตร์ แต่จะมีมูลเหตุมาอย่างไรยังไม่ได้ความปรากฏ

ในระหว่างตั้งศพบำเพ็ญการกุศลอยู่ที่บ้านนี้ เวลากลางคืนมีพระภิกษุ ๔ รูป เรียกกันว่าสำรับหนึ่งสวดพระอภิธรรม ก่อนที่จะตั้งต้นสวดนั้นเมื่อเจ้าภาพได้จุดธูปเทียนเครื่องสักการะแล้วอาราธนาศีล และเคาะที่ข้างโลงบอกให้ศพรับศีล ฝ่ายพระภิกษุซึ่งเป็นผู้อาวุโสในจำนวน ๔ รูปนั้นเป็นผู้ให้ศีล เมื่อจบแล้วจึงตั้งต้นสวดพระอภิธรรมต่อไป ครั้นเวลาเช้า บางแห่งเจ้าภาพก็นิมนต์พระภิกษุ ๔ รูปนั้นฉันหน้าศพแล้วบังสุกุลบ้าง บางแห่งก็ถวายสัฆทานบ้างและบางแห่งก็ไม่มีการเลี้ยงพระ หรือถวายสังฆทาน เป็นแต่ถวายจตุปัจจัยในการสวดพระอภิธรรมเท่านั้น การถวายจตุปัจจัยแก่พระภิกษุในการสวดพระอภิธรรมนี้ แต่เดิมมามีกำหนดถวายจบละบาท คือสวดถึงเที่ยงคืนเพียง ๒ จบก็ถวาย ๒ บาท ถ้าสวดตลอดคือ ๔ จบก็ถวาย ๔ บาท แต่ต่อมาปัจจุบันนี้ ถวายไม่เป็นกำหนดแล้วแต่เจ้าภาพจะศรัทธา และการสวดพระอภิธรรมก็ไม่จำกัดว่าสวดตลอดคืนหรือครึ่งคืนจะต้องเป็นกี่จบ พระภิกษุที่สวดพระอภิธรรมซึ่งสำรับหนึ่งต้องมี ๔ รูปนั้น เพราะความประสงค์แต่เดิมมาต้องการให้เป็นความสะดวกแก่การที่เจ้าภาพจะถวายสังฆทานให้พระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายในเวลาเช้าแห่งวันรุ่งขึ้น เพราะจำนวนพระภิกษุ ๔ รูปนั้น เป็นจำนวนที่กำหนดอย่างต่ำแห่งความเป็นคณะสงฆ์ ส่วนการเคาะโลงให้ศพรับศีลนั้น มีบางท่านที่ได้อธิบายว่า เป็นทิฐิของพราหมณ์ซึ่งถือว่า สัตว์ตายไปแต่ร่างกาย ส่วนวิญญาณนั้นไม่ดับ บางทีชาวเราถือเอาเหตุนี้มาลองทำดูเป็นการเสี่ยง จึงได้เลยทำกันเป็นประเพณีสืบๆมา นอกจากนี้การมีสวดพระอภิธรรมหน้าศพนั้น ท่านก็ได้อธิบายไว้ว่า สวดเพื่อคนที่ยังเป็นอยู่ฟัง สำหรับจะได้พิจารณาในมรณานุสสติกัมมัฏฐาน ว่าเกิดมาเป็นสังขารร่างกายแล้วย่อมมีความตายเป็นที่สุด จะได้เป็นเครื่องดับความวิปโยคทุกข์ถึงผู้ล่วงลับไปแล้วให้บรรเทาลง และอีกอย่างหนึ่งการสวดพระอภิธรรมนั้นก็ถือกันว่า เหมือนอย่างสร้างพระอภิธรรมฉลองคุณบิดามารดาตามพุทธประเพณี จึงนิยมสวดพระอภิธรรมมากกว่าสวดอย่างอื่น





 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 16 สิงหาคม 2553 13:56:59 น.
Counter : 2187 Pageviews.  

เครื่องประกอบโลง (๒)

ค.บรรไดวางหลังโลง เขาใช้ไม้ไผ่ขัดผูกเป็นขั้นเหมือนบรรไดขนาดส่วนยาวและกว้างเท่ากับปากโลง ส่วนขั้นนั้น ได้พบคำอธิบายของผู้เขียนบางฉบับว่า มี ๓ ขั้น เปรียบเทียบไว้ว่าเป็นปัญหาธรรม คือหมายความว่า ภพ ทั้ง ๓ แต่ตามที่ได้เคยเห็นปรากฏแก่ตาที่เขาทำกันก็ดี และบางตำราก็ดี มี ๔ ขั้น ยังมีคำกล่าวกันอยู่ว่า "สี่ขั้นบันไดผี ขั้นคี่บันไดคน" ดังนี้

ตามที่พากันทำไม้ไผ่เป็น ๔ ขั้น เรียกว่าบันไดผีนี้นิยมกันว่า เพื่อให้ผู้ตายพาดขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามที่ได้ถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนไว้แล้วนั้น แต่ในท้ายตำนานพระโกศและหีบศพบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นหนังสือของขอพระสมุด มีอธิบายว่า เมื่อครั้งใช้หีบบรรจุศพซึ่งยังไม่มีฝานั้น ใช้ผ้าคลุมแทน ถ้าเป็นผ้าชนิดที่หนาหนักก็ตกท้องช้างเลยหลุดลงไปเสียในหีบ จึงต้องผูกไม้เป็นคานพาดปากหีบรับผ้าไว้กันไม่ให้ตกลงไป

ในมหากาลเถรว่า บันไดสามชั้นนั้นเปรียบเหมือนภพทั้งสาม คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ อันภพทั้งสามนี้สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเวียนเกิดเวียนตายอยู่ไม่รู้ขาด ดุจคนขึ้นและลงบรรได ฉะนั้น ต่อเมื่อได้วาสนาและบารมีแก่กล้าเต็มเปี่ยมดีแล้ว จนได้บรรลุมรรคผลและนิพพานนั้นแหละจึงพ้นจากภพทั้งสามนี้ได้

ส่วนบรรไดสี่ขั้นนั้นยังไม่ได้พบที่มา น่าจะหมายถึงอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นทางหรือบรรไดให้หลุดพ้นจากภพทั้งสามนั้น




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2553 12:28:21 น.
Counter : 810 Pageviews.  

เครื่องประกอบโลง

๖.เครื่องประกอบโลง

โลงที่บรรจุศพนั้น เมื่อทำการเบิกเสร็จแล้ว จะต้องมีสิ่งประกอบดังนี้ คือ

ก.ฟากหรือเฝือก ใช้ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดกว้างราว ๕ เซ็นนติเมตร ยาวพอกับขนาดที่จะลงโลงได้ ๗ อัน เกลาข้อและลบเหลี่ยมพอเรียบๆ ถักด้วยหวายให้เรียงติดกันเป็นผืนเอาผิวขึ้น แล้วมัดติดกับกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งทำเป็นหมอนรองยาวเท่าขนาดความกว้างโลงเป็น ๓ ระยะ เพื่อประสงค์ว่าเมื่อวางฟากหรือเฝือกนั้นได้ (แต่โลงที่จีนต่อขายในปัจจุบันนี้ ฟากหรือเฝือกใช้ไม้นอกหน้ากว้างราว ๓ เซ็นติเมตร ตีตะปูติดกับหมอนห่างๆ เพียง ๔ ซี่บ้าง ๕ ซี่บ้างไม่เป็นกำหนด) มีใส่ไว้ในโลง การที่มีเฝือกนี่เป็นการสะดวกสองประการ คือจะยกศพออกจากโลงได้โดยง่ายอย่างหนึ่ง เวลาเผา ไฟจะได้ลอดขึ้นตามซี่เฝือกสังหารศพให้ย่อยยับได้ง่ายอย่างหนึ่ง
ศพอนาถาที่จะนำไปเผาหรืฝังสดๆอย่างแต่ก่อนเขาใช้ผ้าห่มนอนห่อพันเข้า แล้วห่อด้วยเฝือกไม้ไผ่ ๗ ซี่ ชนิดนี้สัปเหร่อ ๒ คน หามหัวหามท้ายเอาไปวัดโดยไม่ต้องใช้โลง
ในเรื่องนี้มีคำภาษาเก่าๆ พูดกันเป็นนัยว่า ผู้นั้นเขานอนเฝือก ๗ ซี่ ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า ผู้นั้นตายเสียแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งพูดเป็นการเย้ยหยันกันว่า "ถึงจะถือเนื้อไว้ตัวว่าเป็นคนมั่งมีอย่างไรก็ตาม ไม่มีใครพ้นนอนเฝือก ๗ ซี่ ไปได้ " ในที่นี้ก็หมายความว่า เมื่อตายไปแล้ว ผู้มั่งมีซึ่งบรรจุโลงอย่างงดงาม ก็ไม่พ้นที่จะนอนบนเฝือก ๗ ซี่ที่รองก้นโลง และคนเข็ญใจซึ่งไม่มีโลงใส่ ก็ต้องนอนบนเฝือก ๗ ซี่เหมือนกัน

ข.ใบตองตานี ๓ ยอด เมื่อวางเฝือกหรือฟากลงไว้ในโลงแล้วเอาใบตองตานีอย่างงาม ต้องการอย่างไม่ให้ใบแตก และตัดอย่างไม่ไว้หูรวม ๓ ยอด มาปูไว้บนเฝือกหรือฟาก แล้วปูเสื่อหรือที่นอนลงบนใบตองนั้นอีกทีหนึ่งให้มีพร้อมทั้งหมอนหนุน จึงยกศพลงวางให้นอนตะแคง แล้วบรรจุเครื่องซับน้ำเหลือง และเครื่องดับกลิ่นเหม็นตามสมควร
การที่ใช้ใบตองปูนี้ ได้ความว่า ปูไว้เพื่อรองรับน้ำเหลืองไม่ให้ไหลตกลงไปก้นโลงได้ง่าย แต่การที่ใช้ยอดตองจำกัดเพียง ๓ ยอด เพราะเหตุไรนั้นยังไม่พบหลักฐานกล่าวไว้ในที่ใด เป็นแต่มีผู้กล่าวให้ฟังว่า การที่ปูเพียง ๓ ยอด คือปูตามยาว๒ข้างๆละยอด และปูทาบลงกลางอีกยอดหนึ่งพอดีแล้ว ถ้าจะใช้ใบตองน้อยกว่านี้ก็ไม่พอ หรือใช้มากกว่านี้ก็เหลือเฟือไป และการที่ใช้ใบตองชนิดที่ตัดไม่มีหูนั้นโดยเกรงว่า เมื่อให้ตัดไว้หูเสียด้วยแล้ว จะเหลือทางของใบตองสั้นไปกว่าความยาวของโลงมากไป
การตัดใบตองใช้กันตามปกติ เขาตัดไว้หู คือต้องเหลือใบไว้บ้างต้นจะได้ไม่เฉา เมื่อจะนำขึ้นเรือนทั้งทางโดยไม่เลื่อนก้านออกมาแล้วต้องหักยอดเสียก่อน ถ้าตัดใบตองถึงจะตัดไว้หูก็ดี หรือตัดไม่ไว้หูก็ดี และนำขึ้นเรือนโดยไม่หักยอดเสียก่อนแล้ว เขาหาว่าเป็นใบตองรองโลงผี ถือกันว่าเป็นเสนียด









 

Create Date : 10 ธันวาคม 2550    
Last Update : 30 มิถุนายน 2553 14:12:59 น.
Counter : 951 Pageviews.  

โลงและการเบิกโลง

๕.โลง

ก.โลง ที่บรรจุศพนั้น ได้ความว่า แต่กาลก่อน ในสมัยเมื่อยังไม่มีเลื่อยใช้ เขาเอาไม้ทั้งท่อนมาขุดเป็นรางอย่างเรือโกลน มีไม้อุดหัวอุดท้ายให้ดี แล้วจึงเอาศพบรรจุลงไว้ เพื้อกันความอุจาดตา ครั้นต่อมาถึงสมัยที่มีเลื่อยใช้แล้ว จึงได้เลื่อยไม้ทั้งต้นออกเป็นแผ่นไม้กระดาน และทำเป็นโลงต่อ เลิกใช้โลงขุดอย่างแต่ก่อนนั้นเสีย ส่วนไม้ที่จะใช้ต่อโลงนั้นนิยมใช้กันมาแต่ก่อนๆ คือผู้ที่ป่วยไข้ตายตามปรกติแล้ว เขาใช้โลงซึ่งต่อด้วยไม้อุโลกหรือไม้งิ้วเห็นจะเป็นด้วยเป็นไม้ที่เบา ถึงจะเป็นไม้ที่ไม่แข็งแรงหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะศพที่บรรจุลงไว้นั้นตราสังแล้ว และทั้งราคาก็ย่อมเยาด้วย ส่วนศพที่ตายอย่างไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเขาไม่ได้ตราสังนั้น เขานิยมบรรจุโลงซึ่งต่อด้วยไม้สัก จึงมีคำที่เด็กๆนำเอามาร้องเล่นอยู่แต่ก่อนว่า "ผีตายโหงใส่โลงไม้สักฯลฯ" การที่นิยมดังนี้น่าจะเป็นด้วยไม้สักเป็นไม้ที่แข็งแรง และทนทานถึงแม้จะเอาลงฝังในดินก็ไม่ผุง่าย แต่ต่อมาถึงเดี๋ยวนี้ ศพของผู้ตายจะตายด้วยอะไรก็ช่าง ใช้บรรจุด้วยโลงไม้สักกันเป็นพื้น เว้นไว้แต่ผู้ขัดสนและจะเอาศพไว้น้อยวัน จึงใช้โลงไม้นอก ซึ่งจีนเป็นผู้ต่อสำเร็จ ตั้งไว้ขายตามร้านทั่วไป

ข.การเบิกโลง โลงที่บรรจุศพผู้ตายนั้น เมื่อได้ต่อหรือซื้อมาแล้วสัปเหร่อเป็นผู้ทำพิธีเบิกโลง คือเอาไม้ไผ่มาเกรียกโตเท่านิ้วก้อย ยาวประมาณเกรียก ๑ ผ่าข้างหนึ่งไว้สำหรับคาบกับปากโลง และผ่าปลายอีกข้างหนึ่งสำหรับ คาบด้วยสายสิญจน์ ทำดังนี้รวม ๘ อัน เรียกว่าไม้ปากกา ทางเจ้าภาพศพต้องจัดหากระทงเล็กๆ ใส่กุ้งพล่าปลายำ ๘ กระทง เทียนเล่มเล็กๆ ๙ เล่ม (สำหรับทำน้ำมนต์เล่ม ๑ ใช้ติดปากโลง ๘ เล่ม) ด้ายสายสิญจน์กลุ่ม ๑ น้ำสำหรับทำน้ำมนต์ขัน ๑ กับเงินอีก ๖ สลึง ครั้นแล้วสัปเหร่อคนหนึ่งเอาไม้ปากกามาคีบเข้ากับปากโลงทางด้านยาวด้านละ ๔ อัน วงด้วยสายสิญจน์หย่อนๆให้ปลายปากกาคาบไว้จนรอบ แล้วงวางกระทงกุ้งพล่าปลายำตามปากโลงเคียงกับไม้ปากกานั้น และจุดเทียนด้วยเล่ม ๑ จนครบ ๘ กระทง สัปเหร่ออีกคนหนึ่งตั้งพิธีทำน้ำมนต์ธรณีสารเดินคาถา "สีโรเมพุทธเทว้ญจ ฯลฯ" เมื่อเสร็จแล้ววักน้ำมนต์ในขันขึ้นเสยผม ๓ ครั้ง แล้วนำน้ำมนต์มาพรมที่โลง และวักน้ำมนต์เสยผมไปด้วยอีก สัปเหร่ออีกคนหยิบเอาเทียนที่จุดติดปากโลงนั้นเล่ม ๑ มาจุดด้ายสายสิญจน์ระหว่างช่องปากกานั้นให้ไหม้ขาดทุกช่อง เว้นไว้แต่ช่องด้านสะกัดด้านหนึ่งซึ่งจะกำหนดให้เป็นหัวโลง แล้วสัปเหร่อคนที่พรมน้ำมนต์เสร็จแล้วนั้น ถือพร้าโต้มากดลงที่ด้ายสายสิญจน์ระหว่างกลางหัวโลง ว่าคาถา ครั้นแล้วร้องถามว่า "โลงของใคร" พวกเจ้าภาพต้องบอกไปว่าเป็นโลงของผู้นั้น (ออกชื่อผู้ตายซึ่งจะต้องเอาศพบรรจุลงในโลงน้น) แล้วสัปเหร่อผู้ถือพร้าโต้ก็สับด้ายสายสิญจน์นั้นลงกับปากโลง ๓ ที คือสับลงตรงกลางก่อน และสับข้างซ้ายและข้างขวา มีระยะห่างกันราวนิ้วหนึ่งให้ด้ายสายสิญจน์ขาด แล้วล้มปากกาและเทียนที่จุดยังเหลืออยู่ลงในโลง และกระทงกุ้งพล่าปลายำโยนทิ้งไป นับว่าเป็นอันเสร็จการทำพิธีเบิกโลง

เรื่องการเบิกโลงนี้ มีปรากฏตามเรื่องราวกล่าวมาว่า เมื่อครั้งยังใช้ท่อนไม้มาขุดเป็นโลงนั้น บางแห่งที่หาไม้ท่อนขนาดใหญ่ไม่ได้ ได้แต่ไม้ท่อนขนาดย่อมเมื่อขุดเป็นรางเสร็จแล้ว ได้เนื้อที่แคบไม่พอจะบรรจุศพจึงจำเป็นต้องเบิกให้กว้างออกไปอย่างเบิกเรือโกลน เพื่อให้บรรจุศพลงได้ ครั้นต่อมาถึงสมัยใช้โลงต่อด้วยไม้กระดานแล้วก็ยังมีการเบิกโลงกันต่อๆ มา แต่ทำพอเป็นพิธี โดยอาศัยเหตุที่กล่าวมาแล้วนั้น

ถ้าจะยกเหตุผลของท่านที่กล่าวไว้นั้นมา พิเคราะห์กับอาการที่กระทำพิธีเบิกโลงแล้ว น่าจะเห็นพ้องด้วย เพราะการขุดไม้ให้เป็นเรือโกลน ก็ต้องทำการเบิก คือใช้ไฟสุมลน และใช้ปากกาจับปากเรือทั้งสองข้าง เอาเชือกรั้งเพื่อให้ปากเรือที่รวมอยู่ขยายออกไป คล้ายกับการเบิกโลงเหมือนกัน







 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2550 13:29:24 น.
Counter : 6636 Pageviews.  

1  2  

ลมตะเภา
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับทุกท่านทุกเพศทุกวัย






Google



website analytics and web stats guide
powered by website analytics guide.

Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ลมตะเภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.