Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
22 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
ประชาธิปไตยแบบ “ไทยๆ” คืออะไร

ปิยบุตร แสงกนกกุล




“ท่านอาจได้ยินวาทะของบางคนว่าระบอบประชาธิปไตยในอนาคตของประเทศไทยนั้นจะต้องเป็น ประชาธิปไตยอย่างไทยๆ วาทะนี้ฟังดูแล้วน่าเลื่อมใส ถ้าผู้กล่าวปรารถนาอย่างจริงใจให้ระบอบการเมืองของไทยเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาลสมัยของมวลราษฎรไทย แต่ก็ควรพิจารณาว่าคำที่ว่าอย่างไทยๆนั้น ขออย่าให้เหมาะสมเพียงแต่เฉพาะคนไทยส่วนน้อยของสังคมเท่านั้น”

ปรีดี พนมยงค์

ปาฐกถาเนื่องในโอกาสประชุมสมาคมนักเรียนไทย ประเทศอังกฤษ เรื่อง “อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด” วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๖




“ฟาร์อีสเทิร์นฯ : ประชาธิปไตยแบบไทยๆแตกต่างอย่างไรกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก

พล.อ.เปรม : เราคือราชอาณาจักร คุณไม่ใช่ คุณก็เลยต้องคิดหาวิธีการบริหารประเทศที่แตกต่างออกไปบ้าง คนไทยทั่วไปรักในหลวงมาก คุณรู้ไหม ถ้าคุณเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นวันที่ ๙ มิถุนายน คุณก็จะเห็นได้ว่าเรารักพระมหากษัตริย์เพียงใด นี่คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศของคุณกับผม”

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิครีวิว ๑๒ ชั่วโมงก่อนรัฐประหาร

(คัดมาจาก “คุณมีรัฐธรรมนูญของคุณ เรามีรัฐธรรมนูญของเรา” แปลโดย พงศ์เลิศ พงศ์วนานต์ ใน ฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ รัฐประหาร ๑๙ กันยา, ๒๕๕๐, หน้า ๒๕๔-๒๕๙.)

..............................

นับแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา เราได้ยินคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” อยู่บ่อยครั้ง อย่างน้อยที่สุด ถ้อยคำนี้ก็ถูกหยิบยกมาใช้เป็นเหตุผลเพื่อตอบโต้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารว่าประเทศไทยมีการปกครองอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ปัญญาชนที่ไม่ยอมรับรัฐประหารครั้งนี้ ก็เพราะรับอิทธิพลประชาธิปไตยแบบตะวันตกมากเกินไป ซึ่งไม่เหมาะสมกับประเทศไทย

แล้วประชาธิปไตยแบบไทยๆ คืออะไร? เราอาจสรุปได้ ดังนี้

๑. ประชาธิปไตยที่องคมนตรีมีอำนาจแทรกแซงการเมือง

ในระบอบประชาธิปไตย องคมนตรีเป็นเพียงองค์กรที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ตีกรอบอำนาจให้แก่องคมนตรีเพียง ๔ ประการ ได้แก่ การถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา (มาตรา ๑๒ วรรคสอง) การเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๙) ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน (มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๔) และในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ (มาตรา ๒๓ วรรคสอง)

ไม่เป็นความจริงเสมอไปว่าประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์จะต้องมีองค์กรองคมนตรี ดังเช่น สเปน ญี่ปุ่น ก็ไม่มีองคมนตรี ในหลายประเทศองค์กรที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในกิจการของ “วัง” ก็คือ สำนักพระราชวังและราชเลขาธิการนั่นเอง ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ต้องมีบทบบัญญัติว่าด้วยองคมนตรีเสมอ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามแตะต้องบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองคมนตรีเป็นอันขาด หากจะแก้ไข ก็ต้องแก้ไปในทางที่เพิ่มอำนาจ

ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ องคมนตรีมีบทบาททางการเมืองสูง แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้ให้อำนาจทางการเมืองแก่องคมนตรี หากในความเป็นจริง องคมนตรีสามารถเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เสมอ เราพบเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง รัฐบาลจำเป็นต้องส่งรายชื่อให้องคมนตรีบางคนพิจารณาดูก่อน หรือกรณีนายกรัฐมนตรีต้องเข้าบ้านองคมนตรีบางคนเพื่อปรึกษาหารือ หากไม่ปฏิบัติตามนายกรัฐมนตรีอาจมีข้อหากระด้างกระเดื่องต่อองคมนตรี ข้อหานี้ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เป็นความผิด และไม่มีศาลใดรับพิพากษา แต่อาจส่งผลให้ต้องหลุดจากวงการการเมืองในระยะยาวได้

จะเห็นได้ว่าแม้ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดที่กล่าวถึงอำนาจขององคมนตรีในกรณีดังกล่าว แต่ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ เชื่อกันว่า “บารมี” ขององคมนตรีบางคนสำคัญกว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร จนอาจนำมาซึ่งสภาวะ “แตะต้องมิได้” ขององคมนตรี

ก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ประธานองคมนตรีเดินสายปาฐกถาทั่วประเทศมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื้อหาที่เขากล่าวนั้น เป็นไปในทำนองปลุกทหารให้ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเมือง หลังรัฐประหาร ประธานองคมนตรีกต้องนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าฯ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีโดยคณะรัฐประหาร ก็ต้องผ่านการหารือกับประธานองคมนตรี ดังจะเห็นได้จาก “ใบอนุญาต” ที่ประธานองคมนตรีระบุว่า “คนนี้ดีที่สุด” มิพักต้องกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ลดตัวลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี “ดีที่สุด” ความจริงแล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดที่องคมนตรีต้องลาออกเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ คนๆเดียวก็อาจดำรงตำแหน่งทั้งองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีเพื่อสนองนโยบายใช้คนอย่าง “พอเพียง”

พึงระลึกไว้เสมอว่า องคมนตรีจะเข้าแทรกแซงการเมืองได้อย่างดี ต้องมาพร้อมกับม็อตโต้ “จงรักภักดี” “คุณธรรม” และ “ความพอเพียง”

๒. ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นได้เพียง “ข้าแผ่นดิน” ไม่ใช่ “พลเมือง”

ประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้คุณค่าประชาชนทุกคนในฐานะ “พลเมือง” คำว่า “พลเมือง” ย่อมสะท้อนถึงการให้สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองแก่ประชาชนนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง พลเมืองสามารถแสดงออกทางการเมืองได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิ การใช้เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายต่างๆ

ข้อความคิดว่าด้วยพลเมือง เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพราะพลเมืองมักจะเรียกร้องประโยชน์และขอเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ โดยหารู้ไม่ว่าการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆนั้นสงวนให้กับอภิชนเท่านั้น พลเมืองจึงมักสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับบรรดาอภิชนผู้ปกครองอยู่เสมอๆ ตรงกันข้าม ประชาธิปไตยแบบไทยๆต้องการประชาชนที่เป็น “ข้าแผ่นดิน” ที่คอยรับคำสั่งของผู้ปกครอง แม้ไม่เห็นด้วยก็จำต้องอดทน จะลุกขึ้นโต้แย้งแสดงความเห็นต่างไม่ได้ ข้าแผ่นดินที่ดีต้องเชื่อว่าอภิชนกระทำแต่สิ่งที่ดี มีความปรารนาดีให้กับข้าแผ่นดิน สิ่งใดที่ผู้ปกครองอภิชนสั่งลงมา ย่อมพิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูก ดังนั้น หากอภิชนกลุ่มหนึ่งทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โปรดจงรู้ไว้ว่าที่อภิชนกลุ่มนั้นทำลงไปก็เพราะพิจารณาแล้วว่าถูกต้อง ข้าแผ่นดินจึงไม่ควรมาต่อต้านหรือชุมนุมประท้วง แต่ควรตั้งใจฟังคำสั่งให้ดี จะได้ไม่ต้องย้ำว่า “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง”

๓. ประชาธิปไตยที่รัฐบาลเสียงข้างมากจำต้องประนีประนอมกับเหล่าอภิชน

เมื่ออภิชนมีบทบาททางการเมืองสูง จำเป็นอยู่เองที่รัฐบาลเสียงข้างมากต้องประนีประนอมกับบรรดาอภิชน การดำเนินนโยบายต่างๆที่ไปกระทบผลประโยชน์ของอภิชนหรือทำให้รากหญ้าได้ลืมตาอ้าปากย่อมไม่อาจทำได้ ในกรณีที่รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ไม่ขวางทางปืนของอภิชน ไม่แสดงตัวก้าวร้าว หรือเด่นเกินหน้าเกินตา เสถียรภาพของรัฐบาลก็จะมั่นคง แม้บางครั้งอาจต้องยุบสภาและเลือกตั้งใหม่แต่ก็อาจได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ในทางกลับกันรัฐบาลใดที่ดำเนินนโยบายที่กระทบผลประโยชน์ของอภิชน จองหองพองขน ลำพองตน เชื่อมั่นว่ารัฐบาลมาจากคะแนนเสียงล้นหลาม ก็เป็นไปได้ที่อาจถูกอภิชนกำจัดออกไป การกำจัดเช่นว่า ไม่เพียงเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น แต่อาจรุนแรงถึงขนาดไม่เปิดโอกาสให้แกนนำรัฐบาลบางคนกลับเข้าสู่วงการการเมืองได้อีก

สมควรกล่าวด้วยว่าอภิชนที่รัฐบาลต้องประนีประนอมด้วยนั้น ไม่ได้มีฐานที่มาจากประชาชนแม้แต่น้อย

๔. ประชาธิปไตยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ตัวบ่งชี้ประชาธิปไตย

แน่นอนที่สุด ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง หากยังมีการชุมนุม การแสดงความเห็น การประท้วงอย่างสันติ การมีส่วนร่วมของพลเมือง การคุ้มครองเสียงข้างน้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง เพราะเราไม่อาจหากระบวนการใดที่เป็นตัวชี้วัดเสียงประชาชนทั้งประเทศได้ดีไปกว่ากระบวนการเลือกตั้ง อีกนัยหนึ่ง การเลือกตั้งเป็นหลักประกันขั้นต่ำของระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในความคิดของผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆแล้ว พวกเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ของจำเป็น เพราะมีแต่กลโกงสกปรก ซื้อสิทธิขายเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชาวบ้านต่างจังหวัดไร้การศึกษา เลือกใครมาก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโดนซื้อเสียงเป็นแน่ ดังนั้นจึงสมควรให้บรรดาอภิชนทั้งหลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียเอง หรือให้อภิชนเป็นผู้แต่งตั้ง การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ (ถ้าหากจะมี) สมควรสงวนไว้ให้กับบรรดาอภิชนเท่านั้น เพราะ พวกเขาเป็นผู้มีคุณธรรม เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถ หากให้พวกเขาเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง รับประกันได้ว่าจะได้แต่ส.ส.ที่ดีมีคุณภาพ นักการเมืองชั่วช้าสามานย์ โกงชาติบ้านเมือง จะหมดไปจากประเทศแน่นอน

ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นายกรัฐมนตรีคนไหนดีหรือไม่ดี อภิชนเท่านั้นที่เป็นผู้บอก หากนายกรัฐมนตรีคนใดที่อภิชนบอกว่า “ดีที่สุด” นายกรัฐมนตรีคนนั้นก็เหมือนผ่านการรับรองยิ่งกว่ามาตรฐานไอเอสโอ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีคนใดที่อภิชนบอกว่า “ไม่เหมาะ” นายกรัฐมนตรีคนนั้นก็ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป แม้จะมีเสียงข้างมากเพียงใดก็ตาม

๕. ประชาธิปไตยที่มีกองทัพเป็นผู้อนุบาล

กองทัพมีหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ สำหรับประชาธิปไตยแบบไทยๆ กองทัพไม่ได้มีหน้าที่เพียงเท่านี้ แต่กองทัพยังต้องเป็นผู้อนุบาลให้กับการเมืองอีกด้วย ในฐานะผู้อนุบาล กองทัพต้องคอยสอดส่องดูว่าสถานการณ์การเมืองเป็นเช่นไร มีความขัดแย้งมากขนาดไหน ถึงเวลาที่ควรเข้ามาแก้ไขวิกฤตหรือยัง ถามว่าความขัดแย้งนั้นใครเป็นผู้ประเมินว่าร้ายแรงจนถึงขนาดกองทัพต้องเข้ามา คำตอบก็คือกองทัพนั่นเองที่เป็นผู้ประเมิน ซึ่งอาจประเมินจากจำนวนไปรษณียบัตรหรือจดหมายที่ประชาชนส่งเข้ามาบอกกองทัพก็ได้ เพราะจำนวนจดหมายเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าคะแนนเสียงเลือกตั้ง

เมื่อกองทัพเห็นว่าถึงเวลาอันสมควร ก็จะเข้ามาจัดการไล่รัฐบาลออกไปแล้วยึดอำนาจไว้แทน กองทัพต้องมีเหตุผลประกอบการกระทำดังกล่าวเสมอ หากนึกหาเหตุผลไม่ได้ ก็ให้ใช้สองเหตุผลหลัก คือ หนึ่ง รัฐบาลมีพฤติกรรมไม่จงรักภักดีและหมิ่นสถาบันกษัตริย์ สอง รัฐบาลคอร์รัปชั่น

หากจะให้กองทัพเป็นผู้อนุบาลที่ดียิ่งขึ้น ควรแต่งตั้งนายทหารจากกองทัพไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ๆ หรือกรรมการรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ จะให้ดีที่สุด ก็ควรเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรีเองเสียเลย โดยมีนายทหารใหญ่จากกองทัพทำหน้าที่ “เปลือกหอย” คุ้มครองรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง

๖. ประชาธิปไตยที่ปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด

ประชาธิปไตยต้องอยู่เคียงคู่กับการแบ่งอำนาจให้เกิดดุลยภาพและการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจ เมื่อผู้ใดมีและใช้อำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยจารีตประเพณีหรือโดยกฎหมายลายลักษณ์อักษร ย่อมต้องถูกตรวจสอบและมีความรับผิดชอบตามมา ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีที่ว่างให้กับ “อำนาจซึ่งปราศจากความรับผิด”

ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ การตรวจสอบและความรับผิดไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราเชื่อว่าผู้ปกครองของเรามีคุณธรรมสูงส่ง เมื่อมีคุณธรรมสูงส่งแล้ว ก็จงเชื่อและไว้ใจในการใช้อำนาจของผู้ปกครอง สิ่งใดที่ผู้ปกครองกระทำ ย่อมถือว่าถูกต้องและดีเสมอ เพราะคุณธรรมกำกับตัวผู้ปกครองไว้ ในกรณีที่ผู้ปกครองทำผิดกฎหมายหรือกติกาไปบ้าง ก็โปรดอย่าใส่ใจและอย่าเรียกร้องให้รับผิด ต้องไม่ลืมว่าผู้ปกครองมีคุณธรรม เมื่อมีคุณธรรมก็ไม่ผิดกฎหมาย แม้จะผิดกฎหมาย คุณธรรมก็อยู่เหนือกฎหมายอยู่ดี

เห็นไหมว่าเมื่อผู้ปกครองมีคุณธรรมแล้ว การตรวจสอบและความรับผิดก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

อนึ่ง คุณธรรมที่ว่าๆมานั้น ผู้ที่จะบอกว่าสิ่งใดเป็นคุณธรรม ก็คือบรรดาผู้ปกครองทรงคุณธรรมนั่นเอง

จากลักษณะการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยๆที่กล่าวมาทั้งหมด ๖ ข้อนี้ ใครจะบอกว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอันขาด ก็ในเมื่อชื่อบ่งบอกอยู่แล้วว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

เห็นไหมคำว่าประชาธิปไตยตัวเบ้อเริ่ม...

ที่มา //www.onopen.com/2007/01/1630


Create Date : 22 สิงหาคม 2550
Last Update : 22 สิงหาคม 2550 18:16:23 น. 0 comments
Counter : 1093 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.