Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
15 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
ความรู้ความเข้าใจเชิงทฤษฎีรัฐศาสตร์ ความรุนแรง ณ ข้อต่อประวัติศาสตร์ เผด็จการ และประชาธิปไตย


รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



บทความ ๓ เรื่องต่อไปนี้เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
๑. การก่อการร้ายและความรุนแรง ณ ข้อต่อประวัติศาสตร์
๒. เผด็จการหน่อมแน้ม / เผด็จการครึ่งใบ
๓. เผด็จการทุนนิยม VS ประชาธิปไตยราชการ?
เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรอบความรู้เชิงทฤษฎีรัฐศาสตร์ ในการทำความเข้าใจ
ปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยร่วมสมัย (รัฐประหาร ๑๙กันยา)




1. การก่อการร้ายและความรุนแรง ณ ข้อต่อประวัติศาสตร์
เหตุระเบิดนองเลือดในกรุงเทพฯ ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นสัญญาณบ่งบอก
ลักษณะเฉพาะของสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงช่วงหลัง
เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475, หลังรัฐประหาร พ.ศ.2490, และหลังการลุกฮือของ
นักศึกษาประชาชน พ.ศ.2516 กล่าวคือมันล้วนเป็นช่วงข้อต่อในประวัติศาสตร์ที่ชุก
ชุมไปด้วยเหตุก่อการร้ายทั้งโดยฝ่ายรัฐเองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน และความ
รุนแรงทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ

เราสามารถหวนนึกถึงเหตุการณ์การพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม โดยฝ่ายคณะเจ้า
หลัง 2475, ฆาตกรรมทางการเมืองนับสิบๆ ราย โดยตำรวจอัศวินแหวนเพชรของ พล.ต.อ.
เผ่า หลัง 2490, การลอบยิง ขว้างระเบิดและล้อมปราบฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนฝ่าย
ซ้าย โดยกลุ่มอันธพาลการเมืองและพลังฝ่ายขวาหลัง 2516 รวมถึงการกบฏและรัฐประหาร
ซ้ำซ้อนยอกย้อนไปมาหลายตลบทั้งสามช่วงเวลา

ปรากฏการณ์ก่อการร้ายและความรุนแรงคล้ายๆ กันเหล่านี้ สะท้อนหัวเลี้ยวหัวต่อของ
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลัง อันมีองค์ประกอบหลักๆ ได้แก่

1) แบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจกำลังพลิกเปลี่ยน หลังจากพลังใหม่ค่อยๆ สะสมบ่ม
เพาะเพิ่มพูนอำนาจอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองวัฒนธรรมในเชิงปริมาณมา
เป็นเวลานาน ก็ถึงจุดปะทุขั้นคุณภาพ ระเบิดเป็นการเข้าช่วงชิงอำนาจรัฐจากพลัง
เก่าโดยตรง

2) ความขัดแย้งในลักษณะแย่งชิงอำนาจรัฐและอำนาจรัฐเปลี่ยนมือนี้ ดุเดือดรุนแรง
เหลือวิสัยที่จะประคับประคองชักนำให้เป็นไปตามครรลองช่องทางในกรอบของโครงสร้าง
สถาบันการเมืองเดิมได้ จึงลุกลามออกไปเป็นการก่อการร้ายและความรุนแรงทางการ
เมืองในรูปแบบต่างๆ

3) ผ่านเวลาช่วงยาวของการผลัดกันรุกผลัดกันรับ พลิกแพลงได้เปรียบเพลี่ยงพล้ำ
เสียเปรียบยุคยื้อรื้อปรับระบบโครงสร้างสถาบันการเมืองกลับไปกลับมา จนต่างฝ่าย
ต่างบาดเจ็บสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตทรัพย์สินกันพอสมควรและตระหนักว่า

ก) ไม่อาจทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งให้ราบคาบสิ้นซากลงไปได้

ข) อีกทั้งไม่มีเส้นทางก้าวหน้าสายตรงที่ฝ่ายพลังใหม่ผู้มาทีหลังจะต้องชนะเสมอ
ไป และฝ่ายพลังเก่าผู้อยู่ก่อนจะต้องแพ้เสมอไป หากทว่าสถานการณ์สามารถพลิกย้อน
กลับไปกลับมาได้เสมอแล้ว

4) จึงนำไปสู่การตกลงชั่วคราวเพื่อปรับปรุงจัดวางแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจ และแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ใหม่ที่คู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ พอทนรับทนอยู่กับมัน
ด้วยกันได้ จึงเป็นอันผ่านพ้นข้อต่อทางประวัติศาสตร์นั้นไป และเข้าสู่ระยะใหม่
ของการแข่งขันช่วงชิงอย่างสันติในกรอบกติกาของโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่
ตกลงสร้างขึ้น

สังคมการเมืองไทยเริ่มเข้าสู่ข้อต่อทางประวัติศาสตร์ล่าสุด (ระยะที่ 1) พร้อม
กับการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ.2544 และอาจกล่าวได้
ว่าขณะนี้เพิ่งอยู่ในระยะที่ 2 (เมื่อย่างเข้าปี 2549) และคงใช้เวลาอีกนานพอควร
กว่าจะหลุดพ้นข้อต่อนี้ออกไป

เรื่องน่าเศร้าใจที่สุดของข้อต่อทางประวัติศาสตร์เหล่านี้คือมันชุ่มโชกไปด้วย
เลือด เดิมทีก็เป็นเลือดของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองด้วยกันเอง ทว่านับแต่
ปี พ.ศ.2501 เป็นต้นมาก็แผ่กว้างออกไปดื่มเลือดของสามัญชนชนชั้นต่างๆ มากขึ้น พร้อมกับที่ความขัดแย้ง เวทีและอำนาจอิทธิพลทางการเมืองขยายไปพัวพันถึงมือ "
ประชาชน"

เราทั้งหลายผู้มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะตกเป็นเหยื่อรายถัดไปของการก่อการ
ร้าย ณ ข้อต่อทางประวัติศาสตร์นี้ จะทำอย่างไรดี? ผมคิดว่าเราควรเริ่มโดยทำความ
เข้าใจให้เที่ยงตรงเสียก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของโลกและสังคมมนุษย์ และการเมืองย่อมขัดแย้งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันเป็นธรรมดา. คนไทยก็เป็น
มนุษย์ปุถุชน จึงย่อมขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจผลประโยชน์กันได้ และถ้าระวังไม่ดี
จัดการไม่ถูก ก็อาจลุกลามไปสู่การก่อการร้ายและความรุนแรงที่คนไทยลุกขึ้นมาฆ่า
ฟันคนไทยด้วยกันได้ เหมือนดังที่เราเห็นๆ กันอยู่

การเรียกร้องให้คนไทยมา "สมานฉันท์" กันทื่อๆ ลูกเดียวจึงผิดธรรมชาติและเปล่า
ประโยชน์ มิใช่เพราะคนไทยที่เป็น "พระ" กับคนไทยที่เป็น "โจร" มิอาจ "
สมานฉันท์" กันได้ด้วยสันดานต่างกัน หากแต่เพราะไม่ว่าจะในหมู่พระร่วมวัดเดียว
กันหรือในหมู่โจรร่วมแก๊งเดียวกัน ก็ย่อมขัดแย้งแก่งแย่งกันได้สารพัดเสมอเป็น
ธรรมดาในฐานที่เป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกัน

แทนที่จะมุ่งแต่ "สมานฉันท์" อย่างเดียวเราคนไทยจึงควรเรียนรู้และฝึกหัดที่จะ "
ทะเลาะกันอย่างสันติ" จะดีกว่า

สังคมการเมืองไทยเรายังมีเรื่องที่จะต้องทะเลาะกันอีกมาก เกี่ยวกับการปรับ
เปลี่ยนแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจในช่วงข้อต่อทางประวัติศาสตร์นี้ ปมเงื่อนคือ
ทำอย่างไรเราจะทะเลาะกันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน ไม่ต้องวางระเบิดใส่กัน ไม่ต้องขน
ทหารขับรถถังออกมาปฏิวัติซ้ำปฏิวัติซ้อนย้อนไปย้อนมาเหมือนที่เคยทำกันในอดีต

เพื่อเห็นแก่ชีวิตผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็กเล็กลูกหลานของเราจะได้ไม่ต้องตก
เป็นเหยื่อความรุนแรงและการก่อการร้าย เพื่อเห็นแก่ระบบเศรษฐกิจการค้าที่เปราะ
บางอ่อนไหวยิ่งต่อความผันผวนรุนแรงทางการเมือง ประชาชนผู้มีสติควรลุกขึ้นมาร่วม
กันประกาศปฏิเสธการก่อการร้าย ปฏิเสธความรุนแรงทางการเมืองทุกรูปแบบ ประณามคัด
ค้านพลังการเมืองทุกฝ่ายที่เลือกใช้มันมาแก้ไขความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจผล
ประโยชน์

อย่าสยบยอมอยู่ใต้การปกครองของใครก็ตามที่ช่วงชิงอำนาจไปโดยเอาเลือดเนื้อชีวิต
ของเรา และญาติมิตรลูกหลานของเราเป็นเครื่องเซ่นสังเวย - ไม่ว่าในนามของสิ่ง
ศักดิ์สิทธิ์หรืออุดมการณ์ใด ปักใจอารยะขัดขืนต่อพลังก่อการร้ายและพลังความ
รุนแรงเหล่านั้นอย่างสันติวิธีจนถึงที่สุด

ไม่มีหลักการนามธรรมใดในโลกที่มีค่าควรแก่การเอาชีวิตผู้อื่นมาสังเวย!

2. เผด็จการหน่อมแน้ม / เผด็จการครึ่งใบ
1) ด้านอำนาจรัฐ รายงานข่าวจากที่ประชุม คมช.แจ้งว่าเหตุผลที่ คมช.คิดขันน็อตและจัดระเบียบข้า
ราชการใหม่ เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ คมช.ว่าไม่สามารถทำงานได้ตามเป้า
หมาย และมีความล่าช้าต่อเหตุผลในการใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิรูปการปกครองทั้ง 4 ข้อ โดย พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) หยิบยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมว่า "มีคนหาว่าผม
หน่อมแน้ม ต่อไปนี้เราคงต้องใช้ยาแรงขึ้น"
("สนธิฉุนหาหน่อมแน้มฯ",มติชนรายวัน,10 ม.ค.2550)

คำครหาหัวหน้า คปค.-ประธาน คมช.ว่า "หน่อมแน้ม" ด้านหลักแล้วมิได้ส่อสะท้อน
บุคลิกภาพอุปนิสัยหรือความมักชอบส่วนตัวของท่านเท่ากับความจริงที่ว่า
ประสบการณ์ "ประชาธิปไตย" ต่อเนื่องกัน 14 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนสังคมการเมือง
ไทยไปพอควร ความเปลี่ยนแปลงนั้นมากพอที่ทางเดียวที่ทหารจะทำรัฐประหารสำเร็จก็
แต่โดยได้ความร่วมมือจากประชาสังคม - อย่างน้อยก็บางส่วนที่สำคัญ และดังนั้น
เผด็จการเดียวที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน จึงเป็นเผด็จการหน่อมแน้มหรือเผด็จการ
ครึ่งใบ (softie of semi-dictatorship) เท่านั้น

สื่อมวลชนภาคเอกชนโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์, ขบวนการเอ็นจีโอ, นักวิชาการ, เทคโน
แครต, กลุ่มทุนธนาคาร, เครือข่ายข้าราชการผู้จงรักภักดี ฯลฯ เหล่านี้คือกลุ่มผล
ประโยชน์ของคนชั้นกลางและชนชั้นนำอันหลากหลายที่เผด็จการทหารต้องช่วงชิงสามัคคี
และขอความร่วมมือ พวกเขาเปรียบประดุจภูมิประเทศหลืบซอกสลับซับซ้อนหลากหลายของ
ประชาสังคมที่หยั่งลึกแผ่กว้างออกมาในรอบ 14 ปี มิได้ราบคาบเป็นหน้ากองดังเก่า
ก่อน ซึ่งเผด็จการทหารจำต้องต่อรองปรับรับปรองดอง

ตัวแทนภาคประชาสังคมเหล่านี้แหละที่เข้าไปร่วมส่วนองค์การอำนาจต่างๆ ในโครง
สร้างการเมืองการปกครองใหม่ ตามประกาศคำสั่งทั้งหลายของคณะปฏิรูปการปกครองใน
ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ไม่ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สมัชชาแห่งชาติ, สภาร่างรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการ
ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ, และคณะกรรมการที่ปรึกษาชุด
ต่างๆ

(หุ้นส่วนอำนาจระหว่างทหาร+ประชาสังคม) ดังกล่าวเป็นฐานรองรับรัฐบาลของนายกฯ พล
เอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แท้จริง ภายใต้ร่มเงาความชอบธรรมคุ้มเกล้าปกกระหม่อม
ของสถาบันอำนาจนำตามประเพณี

อาการใช้อำนาจอาญาสิทธิ์แบบชักเข้าชักออกประเภท

ไม้แข็งวันนี้ ("ให้ไปดูประกาศ คปค.ฉบับที่ 10 และมาตรา 10 ของกฎอัยการศึกและ
อำนาจของ คมช." พลเอกวินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช., 10 ม.ค. 2550)

ไม้อ่อนวันพรุ่ง ("คำว่าขอความร่วมมือ นิยามศัพท์ตัวนี้ไม่ต้องแปล ถ้าให้ความ
ร่วมมือก็โอเค ถ้าไม่ให้ความร่วมมือเราก็ไม่ได้รับอะไรจากพวกท่านเท่านั้นเอง อยู่ที่ความสมัครใจของผู้ให้มากกว่า" พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คม
ช., 11 ม.ค. 2550)

ก็สะท้อนหุ้นส่วนอำนาจอันเป็นเงื่อนไขความเป็นจริงใหม่ของระบอบเผด็จการนี้

2) ด้านกลไกรัฐ "และผมอยากฝากทุกกระทรวง อย่าใส่เกียร์ว่าง และคิดว่าเหตุการณ์ระเบิดในปีมหา
มงคลคงไม่เกิดขึ้น อยากจะบอกว่าเลวบัดซบ ผมอยากบอกว่าข้าราชการทุกกระทรวงใส่
เกียร์ว่างอยู่ ไม่ให้ความร่วมมือ"
(พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วย ผบ.ทบ.และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. - มติชนราย
วัน 5 ม.ค. 2550)

ปรากฏการณ์ "ข้าราชการทุกกระทรวงใสเกียร์ว่าง" ทั้งที่อยู่ภายใต้เผด็จการทหาร สะท้อนว่าระบบราชการไทยปัจจุบันน่าจะต่างจากระบบราชการสมัยระบอบ "ประชาธิปไตย
ครึ่งใบ" ภายใต้รัฐบาลนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 20 ปีก่อนตามสมควร แม้
องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จะพรั่งพร้อมไปด้วย
ข้าราชการ-เทคโนแครตซื่อสัตย์จงรัก และเครือข่ายลูกป๋าละม้ายคล้ายรัฐบาลนายกฯ เปรมแต่ก่อนก็ตาม ทว่ากลไกเครื่องไม้เครื่องมือแห่งอำนาจที่คณะอำมาตยาธิปไตย
ฟื้นคืนชีพกลับมาหยิบใช้ในคราวนี้ ก็ทำท่าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งภายหลังประสบกับการบริหารแบบ CEO หรือสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือก
ตั้ง (elected capitalist absolutism) ของรัฐบาลทักษิณรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่คงต้องรอการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไป ผมใคร่ขยายความข้อสังเกต
เบื้องต้นของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ต่อไปว่า ระบบราชการปัจจุบันมีอิสระโดย
สัมพันธ์ (relative autonomy) แบบคิดเอง ทำเอง ต่างหากจากอำนาจเศรษฐกิจสังคมนอก
ภาครัฐน้อยลง, มันเชื่องต่ออำนาจทุนและขึ้นต่ออำนาจผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง
มากขึ้น ความเป็นปึกแผ่นภายในองค์กร ความมั่นคงก้าวหน้าในตำแหน่งการงานและความ
ตั้งมั่นในวิชาชีพของข้าราชการ ถูกสั่นคลอนตัดตอนด้วยอำนาจการเมืองและคำสั่ง
นโยบายรวมศูนย์ - ปรับยุบหน่วยราชการของฝ่ายบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ถ้าหากระบอบเลือกตั้งธิปไตย (electocracy) ได้บ่อนทำลายระบบบริหารจัดการเศรษฐ
กิจมหภาคของเทคโนแครตไทย จนล้มละลายลงคราววิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ตามข้อ
วิเคราะห์ของอาจารย์อันมาร สยามวาลา-ผาสุก พงษ์ไพจิตร - คริส เบเกอร์ ก็อาจพูด
ได้ว่าระบอบทักษิณได้กร่อนกำราบระบบราชการพลเรือน-ตำรวจส่วนใหญ่ จนสยบยอมแก่
อำนาจนอกภาคราชการ (extra-bureaucratic forces) ของกลุ่มทุนใหญ่ - พรรคการเมือง
ไปแล้ว

เหลือแต่กองทัพ ตุลาการ และคณะองคมนตรีที่ยังเหลือเป็นกระดูกสันหลังของพลังข้า
ราชการอำมาตยาธิปไตยเท่านั้น - ดังข้อสังเกตของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ในภาษาวิชาการเมืองเปรียบเทียบ (comparative politics) นี่เป็นปัญหาดุลยภาพของ
ระบบรัฐ ระหว่าง (ความเป็นปึกแผ่นภายในสถาบันรัฐ internal coherence) กับ (การ
ที่รัฐเข้าไปหยั่งฐานในสังคม embeddedness)

ความเป็นปึกแผ่นภายใน เป็นตัวกำหนดสมรรถนะของสถาบันรัฐที่จะตอบสนองความต้องการ
ของประชาชนและจัดหาสิ่งมีค่าสาธารณะมาให้สังคมอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการ
รักษากฎหมายบ้านเมือง ป้องกันประเทศ รักษาวินัยการเงินการคลัง ให้สวัสดิการ
สังคม มิฉะนั้นผู้คนจะวุ่นวายขัดแย้งกันจนไปหาทางออกอย่างอื่น

ส่วน การหยั่งฐานในสังคม หมายถึงสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกลไกรัฐกับกลุ่มพลังนอก
รัฐ ทั้งแบบที่เป็นสถาบันและแบบไม่เป็นทางการ เพื่อก่อเกิดความร่วมมือที่จำเป็น
ไปบรรลุหน้าที่ของรัฐ. ปัญหาคือ การหยั่งฐานดังกล่าวอาจกลับกลายเป็น ระบบพวก
พ้องเส้นสาย (cronyism) เพราะชนชั้นนำมั่งมีเรืองอำนาจกลุ่มน้อยมือยาวกว่า
เพื่อน จึงเอื้อมถึงและฉวยใช้รับได้อย่างผูกขาด

ฉะนั้นระบบรัฐต้องรักษาสมดุลของ ความเป็นปึกแผ่นภายใน กับ การหยั่งฐานในสังคม ให้ดี

ถ้าความเป็นปึกแผ่นภายใน ล่วงล้ำ การหยั่งฐานในสังคม ประชาธิปไตยอาจเสื่อมลง
เป็นระบอบอำนาจนิยม บีบคั้นคุกคามเสรีภาพบุคคล ดังที่สังคมไทยเคยตกอยู่ใต้อำนาจ
ราชการในอดีต. แต่ถ้า การหยั่งฐานในสังคม ก้ำเกิน ความเป็นปึกแผ่นภายใน อาจเกิด
พันธมิตรรัฐ - กลุ่มทุนพวกพ้องเส้นสาย แสวงหาค่าเช่าเศรษฐกิจกันจนรัฐบกพร่องใน
การบริการสิ่งมีค่าสาธารณะให้สังคม ดังที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเกิดขึ้นภายใต้
รัฐบาลทักษิณ

อาจประเมินตามแนวการวิเคราะห์ข้างต้นได้ว่าในสมัยระบอบทักษิณ ระบบราชการไทย
กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบพรรค - รัฐแบบเม็กซิโก - ไปเป็นแบบปารากวัย กล่าวคือ

จาก (ระบบพรรคที่ชนชั้นนำครอบงำ + รัฐที่แทรกแซงสังคม) ของเม็กซิโก ซึ่ง

- เป็นระบอบประชาธิปไตยที่จำกัด
- ประกอบด้วยองค์การพรรคที่รวมศูนย์สูง ทว่าถ่วงดุลด้วยระบบราชการที่มี
เอกลักษณ์แห่งองค์กรแข็งแรง
- อุดมการณ์และวิสัยทัศน์ของผู้นำพรรคชี้นำกิจกรรมของรัฐให้เข้าแทรกแซงสังคม แต่ความเป็นปึกแผ่นภายในของระบบราชการช่วยเป็นเกราะกำบังรัฐไว้ ไม่ให้ถูกผู้นำ
พรรคยึดกุมไปเสียหมด

ไปเป็น (ระบบพรรคที่ชนชั้นนำครอบงำ + รัฐที่ถูกแทรกแซง) ของปารากวัย ซึ่ง

- กลายเป็นระบอบคณาธิปไตย
- ชนชั้นนำกลุ่มน้อยครอบงำการเมืองผ่านการคุมพรรคเหนียวแน่นและเข้ายึดครอบรัฐ
- ไม่แยกพรรคกับรัฐออกจากกันชัดเจน สถาบันรัฐตั้งหน้าเชิดชูรับใช้ตัวบุคคล
นักการเมืองในพรรค แทนที่จะมุ่งบรรลุเป้าหมายกว้างๆ ของส่วนรวม

ทว่าแนวโน้มดังกล่าวถูกตัดตอนโดยรัฐประหาร 19 กันยายนเสียก่อน

แม้พลังอำมาตยาธิปไตย + ประชาสังคมบางส่วน จะร่วมกันยึดอำนาจรัฐและหยุดระบอบ
ทักษิณได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับระบอบราชการอันเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่เปลี่ยนไป
ใส่เกียร์ว่าง เพราะเสื่อมถอยทั้งความเป็นอิสระ ความเป็นปึกแผ่นภายในองค์กร ความมั่นคงในตำแหน่งและมั่นใจในวิชาชีพของตน

บรรดาข้าราชการไม่มั่นใจว่าหุ้นส่วนอำนาจใหม่และพลังอำมาตยาธิปไตยจะคงทนยั่งยืน
แค่ไหนหลังรัฐบาลสุรยุทธ์ซึ่งมีอายุแค่หนึ่งปี, ท่ามกลางเสียงกระซิบเข้าหูหลอน
ใจจนมือไม้สั่นเข้าเกียร์ไม่ติดว่า

"อีก 6 เดือน นายกูก็กลับมา..."

3. เผด็จการทุนนิยม VS ประชาธิปไตยราชการ?
ประธาน คมช.ยังได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า สาเหตุที่แท้จริงในการยึดอำนาจครั้ง
นี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงจาก "ระบอบเผด็จการทุนนิยม" ไป
เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง ส่วนเรื่อง
เหตุผลหลัก 4 ข้อที่ระบุก่อนหน้านี้ยังถือเป็นเรื่องรองลงไป
(พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. ให้สัมภาษณ์รายการ "สภาท่าพระ
อาทิตย์" ทางเอเอสทีวี, 18 ม.ค. 2550) //www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?
NewsID=9500000006469

คุณศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ได้บ่นไว้ใน
เวทีสัมมนา "สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร" จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียว
กัน และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มกราคมศกนี้ว่า เดี๋ยวนี้หาหนังสือเกี่ยวกับทหารกับการเมืองไทยได้น้อย เพราะไม่มีใครคิดว่าทหาร
จะยุ่งกับการเมืองอีกต่อไปแล้ว

เล่มใหม่ล่าสุดที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หาได้ เป็นงานวิจัยปี พ.ศ.2523 หรือเมื่อ 27 ปีก่อน. ส่วนคุณศุภลักษณ์เองเจอใหม่กว่านั้นคือเอกสารโรเนียว
เรื่องทหารไทยของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยปี พ.ศ.2529 หรือเมื่อ 21 ปี
ก่อน ("ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี : วิเคราะห์ระบอบสนธิ", ประชาไทออ
นไลน์, 20 ม.ค. 2550, //www.prachathai.com

ด้วยความกระดากใจ ผมใคร่เรียนว่า ความจริงยังพอจะมีงานวิชาการเกี่ยวกับทหารกับ
การเมืองไทยที่ใหม่กว่านั้นอยู่บ้างคือบทความปริทรรศน์เรื่อง "ฤๅทหารจะถอนทัพ
กลับค่าย? : ทฤษฎีลัทธิแก้ว่าด้วยทหารกับการเมือง ของมานีรุสซามัน, ลิยู, นาย
ผี และเบโธเฟ่น" ลงพิมพ์ในวารสาร รัฐศาสตร์สารของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม
ศาสตร์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ.2533 หน้า 40-71, ทว่าวารสารฉบับนี้ออกล่าช้ากว่าจะพิมพ์เสร็จจริงก็ในปี พ.ศ.2534

เผอิญบทความชิ้นนี้ผมเป็นคนเขียนครับ เขียนส่งมาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ตอน
นั้นผมกำลังเรียนต่ออยู่ เขียนเสร็จเมื่อวันสตรีสากล 8 มีนาคม พ.ศ.2534 พอดี และเขียนขึ้นในฐานที่เป็นปฏิกิริยาต่อรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ของคณะ รสช.

จะว่ากันไปก่อนหน้านั้น 4 ปี ผมก็ยังเคยเขียนบทความวิชาการอีกชิ้นที่มีเนื้อหา
เกี่ยวเนื่องกับปัญหาทหารกับการเมือง ในมุมมองภาพกว้างทางเศรษฐกิจการเมืองของ
ประเทศกำลังพัฒนาชื่อ "ประชาธิปไตยในโลกที่สาม : บทวิเคราะห์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
การเมืองมาร์กซิสต์" ลงพิมพ์ในวารสารรัฐศาสตร์สารฉบับพิเศษ : ปรัชญาและความคิด ฉบับรวมเล่มปีที่ 12 และ 13 (พ.ศ.2529-2530) หน้า 333-350

คำบ่นของคุณศุภลักษณ์ทำให้ผมนึกถึงงานเก่าๆ ของตัวเอง 2 ชิ้นนั้นขึ้นได้ ก็เลย
ค้นหิ้งหนังสือเก่ามาเปิดอ่าน อ่านแล้วก็รู้สึกว่าข้อวิเคราะห์มุมมองบางแง่
บางอย่างของมันก็ยังไม่ถึงกับล้าสมัยเสียทีเดียว ในการจะใช้มาช่วยทำความเข้าใจ
รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ของ คปค.

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมขอแบไต๋เลยว่าแรงบันดาลใจทางแนวคิดทฤษฎีที่ทำให้ผมเรียบ
เรียงบทความ "ประชาธิปไตยในโลกที่สาม" ขึ้นนั้นมาจากบทความชื่อ "State Power and Class Interests" หรือ "อำนาจรัฐกับผลประโยชน์ทางชนชั้น" ตีพิมพ์ใน
วารสาร New Left Review, I/138 (March/April 1983), 57-68, เขียนโดย
ศาสตราจารย์ Ralph Miliband (ค.ศ.1924-1994) นักรัฐศาสตร์สังคมนิยมเชื้อสายยิว
อพยพ ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายผู้เปี่ยมบารมี และทรงอิทธิพลที่สุด
คนหนึ่งของอังกฤษสมัยนั้น

ในบทความดังกล่าว Miliband ได้พยายามสังเคราะห์แนวทางวิเคราะห์การเมืองแบบ
มาร์กซิสต์ที่เน้น ชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น เข้ากับแนวคิดทฤษฎีรัฐศาสตร์
ชั้นหลังที่เน้น ความเป็นอิสระความเป็นตัวของตัวเองของรัฐและผู้กุมอำนาจรัฐใน
แง่ผลประโยชน์ส่วนตัวและอุดมการณ์ชาตินิยม เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างการเมือง
ในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าว่า

มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แบบ หุ้นส่วนอำนาจระหว่างชนชั้นนายทุนกับรัฐ ใน
ฐานะพลังสองพลังที่แตกต่างและแยกต่างหากจากกัน นั่นหมายความว่า ด้านหนึ่ง รัฐ ในสังคมทุนนิยมก็มิใช่เครื่องมือเซื่องๆ ว่า นอนสอนง่ายที่ไร้ชีวิตจิตวิญญาณของ
ตัวเองในกำมือชนชั้นนายทุนล้วนๆ. แต่อีกด้านหนึ่งก็ใช่ว่ารัฐในสังคมทุนนิยมจะ
เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองถึงขนาดกลายเป็นรัฐเพื่อตัวมันเองล้วนๆ และต่อต้านทุก
ชนชั้นและคนทุกกลุ่มในสังคมก็หามิได้

ณ ย่อหน้าที่กล่าวได้ว่าเป็นข้อเสนอใจกลางของบทความ, Miliband ได้ตั้ง
สมมติฐาน 3 ประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมืองอันยอกย้อนพลิกผันระหว่าง
หุ้นส่วนอำนาจของทุนกับรัฐในสังคมทุนนิยมไว้ดังนี้ (หน้า 61) คือ

(A) ส่วนใหญ่แล้ว ระดับความเป็นอิสระที่รัฐมีอยู่ในความสัมพันธ์กับพลังสังคม
ฝ่ายต่างๆ ในสังคมทุนนิยมนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับขอบเขตที่การต่อสู้ทางชนชั้น และ
แรงกดดันจากมวลชนชั้นล่างลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจนำของชนชั้นครอบงำในสังคมนั้นๆ เหนืออื่นใด

(B) ในกรณีที่ชนชั้นครอบงำกุมอำนาจนำในทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองและวัฒนธรรม
ได้อย่างแท้จริง และฉะนั้นจึงปลอดพ้นจากการท้าทายที่สำคัญและได้ผลใดๆ จากมวลชน
ชั้นล่าง ก็ย่อมมีโอกาสมากที่ตัวรัฐเองจะตกอยู่ใต้อำนาจนำของชนชั้นครอบงำด้วย และรัฐก็จะถูกเหนี่ยวรั้งจำกัดอย่างหนักด้วยอำนาจทางชนชั้นรูปแบบต่างๆ ที่ชน
ชั้นครอบงำยึดกุมอยู่

(C) ในทางกลับกัน ในกรณีที่อำนาจนำของชนชั้นครอบงำถูกท้าทายอย่างเหนียวแน่นหนัก
หน่วง รัฐก็น่าจะมีอิสระพอควรถึงขั้นที่หากการต่อสู้ทางชนชั้นเข้มข้นและการ
เมืองไร้เสถียรภาพ รัฐก็อาจสวมรูปแบบอำนาจนิยมเหมือนอย่างสมัยจักรพรรดิหลุยส์-
นโปเลียน โบนาปาร์ต (ดูด้านล่าง) และปลดปล่อยตัวมันเองจากกลไกตรวจสอบควบคุมตาม
รัฐธรรมนูญที่คอยจำกัดเหนี่ยวรั้งอยู่

(หมายถึง Louis-Napoleon Bonaparte ค.ศ.1808-1873 หลานของจักรพรรดิ นโปเลียน โบ
นาปาร์ต, ผู้ชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1848 แล้วต่อ
มาก่อรัฐประหาร ยุบสภานิติบัญญัติ ประกาศรัฐธรรมนูญใหม่และสถาปนาระบอบเผด็จการ
ขึ้นในปี ค.ศ.1851 ก่อนจะชนะการลงประชามติขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่สามใน
ปี ค.ศ.1852)

อย่างไรไม่ทราบ ผมอ่านทบทวนสมมติฐานข้อ (B) ข้างต้นแล้ว ก็หวนคิดถึงระบอบ
ทักษิณ, ส่วนสมมติฐานข้อ (C) ก็ชวนให้นึกถึงการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลทักษิณ
อย่างดุเดือดยืดเยื้อของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนเกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ ของ คปค. ตามมาในที่สุด

ด้วยแรงบันดาลใจและแนวคิดจากบทความของ Miliband, ผมได้เรียบเรียงสมมติฐานขึ้น
ชุดหนึ่งเกี่ยวกับกฎเกณฑ์แนวโน้มความเป็นไปของประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาไว้
ตอนท้ายบทความ "ประชาธิปไตยในโลกที่สาม" เมื่อ 20 ปีก่อน โดยดูจากความสัมพันธ์
อันสลับซับซ้อนยอกย้อนไปมาของความเป็นอิสระของรัฐ, อำนาจนำของชนชั้นนายทุน, และ
การต่อสู้ของประชาชน

ขออนุญาตคัดสรรปรับปรุงมาทดลองเสนอใหม่อีกครั้ง ในสถานการณ์ปัจจุบันดังนี้

(ก) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชนชั้นนายทุนในประเทศทุนนิยมโลกที่สาม เป็นแบบ
หุ้นส่วนระหว่างพลัง 2 ฝ่ายที่ต่างทำหน้าที่ตอบสนองรับใช้กัน พลัง 2 ฝ่ายนี้ไม่
เพียงแต่แตกต่างกันและแยกเป็นเอกเทศจากกันเท่านั้น หากยังเข้มแข็งไม่เท่ากัน
ด้วย กล่าวโดยทั่วไป รัฐมักจะเข้มแข็งกว่าชนชั้นนายทุนในประเทศ แต่ทว่าดุลกำลัง
ที่ว่านี้อาจผันแปรไปได้ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกลุ่มทุน
ในประเทศเข้ากับพลังเศรษฐกิจทุนนิยมโลกและบรรษัทข้ามชาติ

(ข) ความเป็นอิสระของรัฐกับอำนาจนำของชนชั้นนายทุน แปรผกผันกันโดยผ่านการต่อสู้
ของประชาชนที่จำแนกเป้าและจำกัดตัวเองเป็นสื่อประสาน กล่าวคือ

(ค) การต่อสู้ของประชาชนที่ถือรัฐเป็นเป้า จะแปรผกผันกับความเป็นอิสระของรัฐ ทว่าแปรตามอำนาจนำของชนชั้นนายทุน

(ง) ในขณะที่การต่อสู้ของประชาชนที่ถือนายทุนเป็นเป้า จะแปรผกผันกับอำนาจนำของ
ชนชั้นนายทุน แต่แปรตามความเป็นอิสระของรัฐ

(จ) ขบวนการต่อสู้ของประชาชนจะข้ามพ้นทางแพร่งในประวัติศาสตร์ระหว่าง "เผด็จการ
ทุนนิยม" กับ "ประชาธิปไตยราชการ" ได้หรือไม่ อย่างไร ย่อมขึ้นกับการนำทางแนว
คิดทฤษฎีและแนวทางการเมืองของขบวนการ



ที่มา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
//www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999771.html



Create Date : 15 สิงหาคม 2550
Last Update : 15 สิงหาคม 2550 17:59:47 น. 0 comments
Counter : 1910 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.