ตุลาคม 2550

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
31
 
 
All Blog
ม.ล.ชูชาติ กำภู ผู้อยู่เบื้องหลังความเป็นมาของวัดชลประทานฯ





ม.ล.ชูชาติ กำภู



เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่ท่านหลวงพ่อปัญญาฯละสังขารไปใหม่ๆ ว่าจะต้องเขียนถึงท่านสักครั้งเพื่อเป็นการแสดงความเคารพศรัทธาและไว้อาลัยท่าน แต่ก็ยังไม่ได้จังหวะสักที

วันนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความของคุณธีรภาพ โลหิตกุล ใน นสพ.คมชัดลึก เห็นว่าน่าสนใจมาก จึงขอนำมาถ่ายทอดให้อ่านกันอีกครั้ง

เคยรู้สึกกันไหมว่าการไปงานศพคือการไปสังสรรค์กับญาติมิตรที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานาน ขณะที่พระสวด คนก็นั่งคุยกันไป ระหว่างพักสวด ยังมีข้าวต้ม กระเพาะปลา ชา กาแฟ มาแกล้มการคุย พอพระสวดเสร็จ ต่างคนแยกย้ายกลับบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีใครเข้าใจความหมายของบทสวดในภาษาบาลี แต่ที่สำคัญคือไม่มีใครสนใจสาระที่แท้ของการไปงานศพ

ผมเป็นชาวพุทธและไม่เคยคิดจะเปลี่ยนศาสนาทว่ารู้สึกชื่นชมกุศโลบาย (อุบายอันเป็นกุศล) ของศาสนาคริสต์ ที่แปลบทสวดเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย แล้วยังฟังเพลินเพราะใส่ทำนองให้เป็นบทเพลงอันไพเราะ เช่นนี้แล้ว พระเถระชั้นผู้ใหญ่ของชาวพุทธกำลังทำอะไร? ที่ผ่านมามีอยู่ไม่กี่วัด ที่ปฏิรูปงานศพจากความเคยชินเดิมๆ อย่างจริงจัง หนึ่งในจำนวนอันน้อยนิด คือวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ที่มีหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เป็นแม่ทัพโบกธงธรรมเด่นตระหง่าน

ท่านไม่ถึงกับแปลบทสวดเป็นบทเพลงแต่เป็นที่รู้กันว่าแบบแผนงานสวดศพของวัดชลประทานฯ จะมีการแสดงธรรมเทศนาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ให้ตระหนักในสัจธรรมของการเกิดแก่ เจ็บ ตาย เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง แล้วพระจึงจะทำพิธีสวดแบบย่นย่อ รวมถึงงานบวชวัดนี้ก็เน้นบวชแบบประหยัด ตัดพิธีกรรมพะรุงพะรังออกหมด เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้แห่งพุทธะ มากกว่าจะบวชกันแต่เปลือก เช่น"...การทำขวัญ แห่แหนสนุกสนานตัดหมด อาตมาให้บวชพร้อมกันทีละ 100 รูป...แล้วไม่ให้ซื้อดอกไม้ธูปเทียนเพราะรกวัดคิดดูว่า 100 คน ถ้าซื้อหมดจะสูงท่วมหัวให้มีแต่ผ้า ไม่ให้มีงานเลี้ยง มานอนวัด โกนหัว ซ้อมบวชเท่านั้น..." (ปัญญานันทภิกขุ จาก"ศรัทธาแห่งชีวิต-ม.ล.ชูชาติกำภู)
การละสังขารของหลวงพ่อปัญญาฯจึงถือเป็นการสูญเสีย "แม่ทัพธรรม"ของวงการพุทธศาสนา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านมีวัดชลประทานฯ เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการเผยแผ่แนวคิดเชิงปฏิรูป เป็นเวลานับ40 ปี ในวาระแห่งการรำลึกและอาลัยการจากไปของหลวงพ่อ บุคคลที่คนไทยพึงถวิลหาอีกท่านหนึ่ง คือ ม.ล.ชูชาติ กำภู ในฐานะผู้นิมนต์หลวงพ่อ สู่ฐานที่มั่นอันงามสง่าแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อ 47 ปีก่อน จนกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีท่านในวันนั้น ก็อาจไม่มีวัด "ทางเลือก" อย่างวัดชลประทานฯ ในวันนี้

พ.ศ.2503 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ผู้กำลังขับเคลื่อนโครงการใหญ่ของชาติ คือโครงการเขื่อนยันฮี (เขื่อนภูมิพล) ได้พบกับภิกขุปัญญานันทะโดยบังเอิญขณะนำชาวต่างชาติไปชมฝายแม่แฝก อ.แม่แตง ส่วนพระปัญญานันทะก็นำญาติโยมจากปักษ์ใต้ไปเที่ยวชมฝายเช่นกัน "...เดินสวนทางกับท่านท่านยกมือไหว้...แล้วมาขออภัยที่เดินผ่านแล้วไม่รู้จักไม่ถือตัวเลยว่าเป็นข้าราชการระดับสูง นั่งพับเพียบกราบเรียบร้อย ท่านบอกอาตมาว่า ผมสร้างวัดที่ปากเกร็ดหาพระเป็นสมภารไม่ได้ ที่หาได้ก็ไม่เหมาะ อยากนิมนต์พระคุณท่านไปอยู่วัดชลประทานฯ ได้หรือไม่..."
ภิกขุปัญญานันทะในขณะนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะพระนักเทศน์ชื่อดังจากปักษ์ใต้ แต่ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2492 เพื่อเผยแผ่ธรรมและฟื้นฟูวัดตามคำนิมนต์ของเจ้าชื่น สิโรรส ราชนิกุลฝ่ายเหนือ เมื่อได้ฟังคำของอธิบดีหนุ่ม ท่านจึงต้องตัดสินใจกับชีวิตบนเส้นทางธรรมครั้งสำคัญ เพราะ "เดิมตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่าจะไม่เป็นสมภาร เว้นไว้แต่ว่า 1.เป็นวัดใหม่เอี่ยมถ้าเป็นสมภารก็เป็นรูปแรก 2.ถ้าเป็นวัดเก่า ก็ขอเป็นวัดร้างไม่มีพระ ที่วางเงื่อนไขอย่างนี้เพราะถ้าเราไปเป็นสมภารในวัดที่มีพระอยู่แล้ว เกิดความขัดแย้งจะปฏิรูปอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะหลวงตามีพวกมาก ชอบขัดแย้ง ทำงานไม่สะดวก แต่ถ้าไม่มีพระอยู่ก่อนเลย เราจะปฏิรูปหรือวางรากฐานอะไรก็ทำได้สะดวกวัดนี้ (วัดชลประทานฯ) ที่ท่านอธิบดีมานิมนต์เข้าหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เลยรับเป็นสมภาร..."

บวชแบบประหยัดสวดศพอย่างมีสาระ ไม่ปลุกเสกพระ ไม่ใบ้หวย ไม่รดน้ำมนต์ ไม่ดูฤกษ์ดูยาม ต่อต้านไสยศาสตร์มนต์ดำ มุ่งชี้นำชาวพุทธให้รู้จักแกะเปลือกนอก เข้าให้ถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา สวนกระแสพุทธพาณิชย์และวัตถุนิยมอย่างหาญกล้า โดยได้รับการสนับสนุนจาก ม.ล.ชูชาติ กำภู อย่างแข็งขัน เพราะ "...เห็นเราทำแบบนี้ท่านพอใจเราพัฒนาทั้งวัตถุทั้งจิตใจ ยึดหลักมาวัดต้องฉลาด ไม่ใช่ได้ความโง่กลับไป...หม่อมหลวงท่านเป็นคนก้าวหน้า ไม่หัวเก่า..."

ส่งผลให้วัดชลประทานฯโดดเด่นเป็นเสาหลักฝ่ายคามวาสี ของชาวพุทธผู้ใฝ่หาแก่นธรรม โดยมีหลวงพ่อปัญญาฯ เป็นแม่ทัพ ขณะที่สวนโมกขพลาราม ที่สุราษฎร์ธานี ดั่งเสาหลักฝ่ายอรัญวาสี ที่มีสหายธรรมผู้พี่ คือท่านพุทธทาสภิกขุเป็นแม่ทัพใหญ่ แล้ววันหนึ่ง สามแม่ทัพใหญ่ทั้งทางโลกและทางธรรมก็มาพบกันโดยมิได้นัดหมาย เมื่อท่านพุทธทาสเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ พอดี เป็นวันที่คุณหญิงโฉมศรี กำภู ภริยา ม.ล.ชูชาติไม่เคยลืมเลือน แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานับ 40 ปี

"...เย็นวันนั้นคุณชูชาติต้องไปงานเลี้ยงที่สถานทูตอเมริกันพอรถไปถึง กลับบอกว่าไม่ไปได้ไหม รู้สึกไม่สบายใจเรื่องงานขอไปวัดชลประทานฯ ดีกว่า พอไปถึงมีท่านเจ้าคุณพุทธทาสกับท่านปัญญาฯคอยท่าอยู่ที่โบสถ์ เปิดประตูหน้าต่างรอรับอยู่...ตอนขึ้นรถกลับคุณชูชาติบอกว่าด้วยอานิสงส์ของหลวงพ่อทั้งสอง ทำให้เปลี่ยนใจมาวัด ความทุกข์ใจจากการงานจึงหายไปหมด ได้สติ เพราะท่านปัญญาฯ มักคอยท้วงให้คุณชูชาติช้าลงบ้าง เพราะชีวิตคุณชูชาติไม่เคยช้า ตอนนอนยังฝันถึงงาน..."

ก็ด้วยชีวิตที่มีแต่งานกับวิสัยทัศน์อันยาวไกลมิใช่หรือ ที่ทำให้สังคมไทยควรรำลึกถึงและขอบคุณ ม.ล.ชูชาติ กำภู ผู้สร้างวัดชลประทานฯ ดั่งฐานที่มั่นบนแผ่นดินอันอุดม ให้เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธปัญญาที่ท่านปัญญานันทภิกขุฟูมฟัก ได้งอกเงยอย่างงดงามขึ้นกลางใจชนเป็นนิรันดร

เรื่องและภาพ...ธีรภาพ โลหิตกุล
นสพ.คมชัดลึก ฉบับประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2550








Create Date : 30 ตุลาคม 2550
Last Update : 30 ตุลาคม 2550 7:49:47 น.
Counter : 3115 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง