คลังความรู้เรื่องวิศวกรรมและการเกษตร ที่คนทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้

<<
ธันวาคม 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
13 ธันวาคม 2555
 

การขยายพันธุ์กล้วยไม้ แบบไม่อาศัยเพศ


การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (asexual propagation)

      การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ คือ การนำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของกล้วยไม้ที่ไม่ใช้วิธีการผสมเกสรไปขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ ซึ่งการขยายพันธุ์แบบนี้ ใช้วิธีการตัดแยกหรือแบ่งแยก (division)นับเป็นวิธีที่สะดวก ง่าย และได้ต้นใหม่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นพันธุ์เดิมแต่อาจมีผิดเพี้ยน บ้าง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ปลูกเลี้ยงแตกต่างกันและเป็นวิธีที่เหมาะ สำหรับนำมาใช้ขยายพันธุ์กล้วยไม้ที่มีลักษณะต้นเหมือนเดิมอยู่ ควรทำในช่วง ที่กล้วยไม้ไม่พักตัว คือ ช่วงต้นฤดูฝน ส่วนที่ตัดแยกควรมีอาหารสะสมอยู่พอสมควร มีจำนวนลำต้นมากพอ มีรากงอกแล้ว จะทำให้ส่วนที่ตัดแยกเจริญไปเป็นหน่ออย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ นอกจากนี้ควรทา บริเวณรอยตัดด้วยปูนแดง เพื่อทำให้บริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นด่างทำให้เชื้อ จุลินทรีย์ไม่สามารถเข้าทำลายและทำให้เกิดโรคได้ สามารถแยกเป็นวิธีต่างๆ ตามลักษณะการเจริญเติบโตของกล้วยไม้  ดังนี้

การขยายพันธุ์กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นกอ
กล้วย ไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบนี้ ได้แก่ สกุลหวาย ออนซิเดียม แคทลียา รองเท้านารี ซิมบิเดียม กล้วยไม้ดินฯลฯ คือ มีการเจริญเติบโตไปตามแนวนอน (sympodial) โดยเหง้า (rhizome) นอนทอดไปตามเครื่องปลูก มีข้อและปล้องเสมือนลำต้น ทิศทางของยอดอ่อนอยู่ทางด้านที่แตกหน่อ (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 2 แสดงการแตกหน่อและการตัดแยกลำกล้วยไม้สกุลหวาย

ภาพที่ 3 แสดงการปักชำกล้วยไม้สกุลหวาย

ภาพที่ 4 แสดงการแตกตะเกียงกล้วยไม้สกุลหวาย

ล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบนี้ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี  คือ
การตัดแยกลำหน้า ลำหน้าหมาย ถึง ลำที่มีอายุน้อย ควรตัดแยกเมื่อกล้วยไม้ไม่พักตัว ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตัดแยกกล้วยไม้ ประเภทนี้ โดยเฉพาะกลุ่มแคทลียา คือเมื่อลำหน้าสุดมีรากยาวไม่เกิน 1เซนติเมตร ควรตัดแยกให้กลุ่มลำหน้ามีจำนวนลำ 2 -3 ลำติดกันและสามารถนำไปปลูกได้เลย
การตัดแยกลำหลัง ควรตัดแยกลำหลัง 1 – 2 ลำ ปล่อยทิ้งในภาชนะเดิมให้แตกหน่อเป็นลำใหม่ และมีรากจึงนำไปปลูกได้

ภาพที่ 5 แสดงวิธีการตัดแยกลำหน้า


ภาพที่ 6 แสดงวิธีการตัดแยกลำหลัง

  การปักชำหรือ ตัดชำ ใช้ กับกล้วยไม้สกุลหวายที่ตา หรือโคนลำแห้งตายโดยตัดราก และปักชำในกาบมะพร้าว หรือวัสดุที่อุ้มความชื้น ตาที่อยู่ใกล้ปลายลำจะแตกเป็นต้นใหม่ จึงตัดแยกออกปลูก ตอที่เหลืออยู่ปักชำทิ้งไว้ อาจจะแตกตะเกียงได้ใหม่
การตัดตะเกียงในบางครั้งจะพบการแตกต้นใหม่บริเวณข้อตรงกลาง หรือปลายลำต้นกล้วยไม้ในสกุลหวายตะเกียงนี้สามารถตัดออกแล้วนำมาปลูกได้

ภาพที่ 7 แสดงวิธีการขยายพันธุ์กล้วยไม้โดยการตัดตะเกียง

การขยายพันธุ์กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบไม่แตกกอ
ล้วย ไม้ที่มีการเจริญเติบโตประเภทนี้ คือ สกุลแวนดา สกุลช้าง สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลรีแนนเธอร่า สกุลฟาแลนนอปซิส สกุลม้าวิ่ง สกุลพญาไร้ใบ สกุลตีน เต่า สกุลแลงปอ เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด (monopodial) คือ ตาที่ยอดจะแตกใบใหม่เจริญขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำต้นเดี่ยว ส่วนโคนต้นจะออกรากไล่ตามยอดขึ้นไปสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 
การตัดยอด ถ้า เป็นกล้วยไม้พวกที่มีข้อถี่ปล้องสั้น เช่น สกุลช้าง สกุลแวนดาใบแบน แอสโคเซนดายอดที่ตัดต้องมีรากติดไปด้วยอย่างน้อย 1 เส้น แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้พวกข้อห่างปล้องยาว เช่น สกุลรีแนนเธอร่า สกุลแมลง ปอ สกุลแวนดาใบกลม อะแรนดา ควรตัดยอดที่มีรากติดไปด้วยอย่างน้อย 2 เส้น และต้นที่เหลืออยู่ต้องมีใบติดอยู่เพื่อให้สามารถแตกยอดใหม่ได้ ( ภาพที่ 8 ก – ข )

ภาพที่ 8 แสดงการตัดยอดกล้วยไม้ประเภทแวนด้า

การตัดตะเกียงหรือแขนง เป็น ต้นกล้วยไม้ที่มีแขนงเกิดขึ้นที่กลางลำต้น และมีรากสามารถตัดออกไปปลูกได้โดยจะตัดแยกเมื่อหน่อหรือแขนงมีใบ 2 – 3 คู่ และมีรากโดยตัดให้ชิดต้นแม่

การขยายพันธุ์กล้วยไม้โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (Plant Tissue Culture) หมายถึง เทคนิคการนำเอาโปรโตพลาสต์ (protoplast) ,เซลล์ (cell), เนื้อเยื่อ (tissue) หรือ อวัยวะ (organ) ของพืชมาเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อภายใต้สภาพแวดล้อม ที่ควบคุมได้ ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นแสง ปริมาณและการถ่ายเทของก๊าซ ส่วนของพืชเหล่านี้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาได้หลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก็สามารถชักนำให้เกิด เป็นต้นได้เป็นจำนวนมากได้ในที่สุด 

หลักการที่สำคัญของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชคือ ต้องใช้เทคนิคปลอดเชื้อตัดเอาชิ้นส่วนของพืชที่สะอาด มาเลี้ยงในขวดแก้วที่บรรจุอาหารวิทยาศาสตร์ ซึ่งผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อรามาเรียบร้อยแล้ว เมื่อเซลล์จากชิ้นส่วนต่างๆ ของพืชที่นำมาเลี้ยงได้รับแร่ธาตุ วิตามิน สารควบคุมการเจริญเติบโต และน้ำตาลจากอาหารวิทยาศาสตร์ ที่ใช้เลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อจะมีการเจริญเติบ โตเป็นต้นโดยตรงหรือเกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ที่เรียกว่า แคลลัส หรือเกิดเป็นคัพภะที่เรียกว่า โซมาติก เอมบริโอหรือเอมบริออยด์ และเมื่อตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ แล้วเปลี่ยนอาหารใหม่บ่อยๆ ก็สามารถเพิ่มปริมาณได้ไม่มีที่สิ้นสุด ผลสุดท้ายก็จะได้ต้นที่มีลักษณะ เหมือนกันทุกประการเป็นจำนวนมาก

ถึงแม้ กล้วยไม้สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ  คือ โดยสภาพธรรมชาติการผสมข้ามชนิดหรือสกุลเกิดน้อยมาก และการงอกของเมล็ดในป่าเกิดได้จำนวนน้อยมาก จากการที่มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ที่มีความต้องการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ได้ผสมข้าม เพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ เมื่อได้ต้นพันธุ์ดีย่อมต้องการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน อย่างรวดเร็ว จึงได้คิดค้นวิธีการเพาะเมล็ดและประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกโดย Knudson, L.(1930) กับการเพาะเมล็ดกล้วยไม้สกุลแคทลียาในสภาพปลอดเชื้อและมีการพัฒนาเทคนิคการ เพาะเมล็ดและการเพาะเนื้อเยื่อ รวมทั้งสูตรอาหารให้เหมาะสมกับการเจริญเติบ โตของกล้วยไม้แต่ละชนิดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและต่าง ประเทศ สามารถทำได้สำเร็จในกล้วยไม้หลายชนิด /สกุล  จนสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้

ดังนั้น การเลี้ยงกล้วยไม้ในสภาพปลอดเชื้อจึงเป็นการช่วยขยายพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ กล่าวคือ หากเป็นการผสมเกสรแล้วเพาะเมล็ดเป็นการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ และหากเป็นการ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น ตายอด ตาข้าง ก้านช่อดอก เป็นต้น จึงจัดเป็นการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ จึงกล่าวได้ว่า การขยายพันธุ์กล้วย ไม้โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถทำได้  2  วิธี  คือ
การเพาะเมล็ด หรือ การเลี้ยงคัพภะ(Embryo Culture, Ovule Culture, Green pod Culture)
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ(Tissue Culture)

การเพาะเมล็ด
นปัจจุบันการเก็บฝักมาเพาะ นิยมเก็บเมื่อฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง โดยอายุของฝัก ที่นำมาเพาะควรมีอายุประมาณ 1 ใน 3 ของอายุฝักแก่ (ตารางที่ 1) ไม่นิยมปล่อยทิ้งไว้จนแก่ ในทางปฏิบัติกล้วยไม้คู่ผสมใหม่ควรผสมให้ติดฝักไว้พร้อมๆกัน ครั้งละหลายๆ ฝัก และทยอยเพาะให้มีอายุแตกต่างกัน เพื่อให้ได้ลูกกล้วยไม้มากขึ้น

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
      การเลือกชิ้นส่วนเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้  สามารถใช้ส่วนต่างๆ ได้  ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดของพืช (ตารางที่ 2)  ดังนี้

ที่มา: จิตราพรรณ  พิลึก (2536)

วิธีการเพาะเลี้ยงตากล้วยไม้ (Meristem culture) ใช้หน่ออ่อนของสกุลหวายเป็นตัวอย่าง

 เลือก หน่ออ่อนที่สมบูรณ์แข็งแรงที่แทงหน่อใหม่ๆ มีความสูงประมาณ 2 – 3 นิ้ว ตัดรากทิ้งรวมทั้งกาบใบแห้งและตัดปลายใบทิ้ง ระวังอย่าให้โดนตายอด ล้างหน่อด้วยน้ำประปา โดย เปิดน้ำไหลผ่าน 2 – 3  นาที

 แช่หน่อในสารละลาย Clorox เข้มข้น 10% และเติมสารจับผิวใบ Tween –20 ลงไป1-2 หยด  จากนั้นเขย่าขวดเป็นเวลาประมาณ 10 นาที

 นำขวดที่ทำการฟอกหน่อแล้วเข้าในตู้ปลอดเชื้อ ลอกกาบใบออกให้หมด  จนสังเกตเห็นตาข้างและตายอด
แช่หน่อในสารละลาย Clorox เข้มข้น 5% เขย่านาน  5 นาที
นำหน่ออกจากขวด ใช้มีดผ่าตัด ตัดแยกเอาเฉพาะส่วนตาข้างและตายอด
แช่ชิ้นตาที่ตัด ในสารละลาย Clorox เข้มข้น 1% นาน 1 นาที
ล้างชิ้นตาในขวดที่มีน้ำกลั่นซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อแล้วไม่น้อยกว่า 1 นาที จำนวน 2 ครั้ง
ย้ายชิ้นตาลงในอาหารเหลวสูตรสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสูตรที่ 1 โดยใส่ 1 ชิ้นต่อ 1 ขวด
วาง ขวดอาหารเหลวบนเครื่องเขย่าในอัตราความเร็ว 100 – 120 รอบ/นาที ความเข้มแสงประมาณ 200 ฟุตเทียน อุณหภูมิประมาณ 25 -30 องศาเซลเซียส
เปลี่ยนอาหารเหลวสูตรเดิมทุกๆ 10 -14 วัน ตัดส่วนที่ดำทิ้ง รวมทั้งลอกกาบที่มีลักษณะเน่าดำทิ้ง
ประมาณ 2 -3 เดือน จะเกิดกลุ่มเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายโปรโตคอร์ม หรือ คัพภะ(embryo) เมื่อได้โปรโตคอร์มมากพอแล้วจึงย้ายลงอาหารสูตรสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สูตรที่ 2 เพื่อให้เจริญและพัฒนาไปเป็นต้นและราก
เมื่อ โปรโตคอร์มเจริญและพัฒนาไปเป็นต้นและใบอย่างชัดเจน ย้ายลงอาหารสูตร ย้ายต้นกล้า (สูตรสำหรับเพาะเลี้ยงสูตรที่ 3) เพื่อเร่งให้ต้นและรากเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากหน่ออ่อนกล้วยไม้


ก. ล้างทำความสะอาดหน่ออ่อนกล้วยไม้
ข. ฟอกฆ่าเชื้อหน่ออ่อนด้วย Clorox 10%
ค. นำหน่ออ่อนที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อ เข้าตู้ปลอดเชื้อ ลอกกาบใบออกให้หมด จนเห็นตาข้างและตายอด
ง. ภายหลังเลี้ยงในอาหารเหลว จนเกิดโปรโตคอร์ม เมื่อได้ปริมาณมากพอจึงย้ายลงอาหารสูตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสูตรที่ 2
จ. โปรโตคอร์มที่เจริญและพัฒนาไปเป็นใบและต้นแล้วจึงย้ายลงอาหารสูตรย้ายต้นกล้า
ฉ. ต้นอ่อนกล้วยไม้ที่มีต้นและรากสมบูรณ์ พร้อมย้ายออกปลูก

การย้ายปลูกต้นกล้า
เมื่อต้นกล้ามีรากและใบพอสมควรก็สามารถนำต้นกล้าออกจากขวดเพื่อปลูกในเรือนเพาะชำ  ซึ่งการนำเอาต้นกล้าออกจากขวดอาจจะใช้เหล็กปลายงอคล้ายตะขอดึงเอาต้นออกจากขวด  ล้างวุ้นที่ ติดมากับต้นและรากออกให้หมด แล้วจึงนำไปปลูก ในระยะแรกถ้าต้นยังมีขนาดเล็ก ให้ปลูกรวมกัน เป็นกระถางหมู่ใส่ถ่านไว้ส่วนล่าง (เพื่อช่วยระบายน้ำและถ่ายเทอากาศ)   ส่วนบนจะวางออสมันด้า (เพื่อเก็บความชื้น) เมื่อต้นกล้าทั้งตัวและระบบรากแข็งดีแล้วจึงย้ายลงในกาบมะพร้าวที่มัดมีขนาด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว เมื่อต้นโตจนคับภาชนะปลูกจึงย้ายลงกระถางหรือกระเช้าที่มีขนาด ใหญ่ขึ้นตามลำดับ

 เก็บฝักกล้วยไม้ที่ต้องการนำมาเพาะ และควรจะเพาะหลังเก็บทันที  ถ้ายังไม่เพาะให้เก็บไว้ในช่องเก็บผักของตู้เย็นล้างทำความสะอาดภายนอกของฝักด้วยน้ำประปาและสบู่  ตัดส่วนของดอกที่ติดมากับฝักออกให้หมด
 นำฝักกล้วยไม้เข้าในตู้ปลอดเชื้อ จุ่มฝักกล้วยไม้ใน ethyl alcohol  95 % แล้วลนไฟจากตะเกียงทันที ในกรณีที่ฝักแก่และแตกแล้วอาจมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนมากับเมล็ด ควรนำเมล็ดแช่ในไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์(H2O2 ) เข้มข้น 3% จากนั้นใช้หลอดยาหยอดตาดูดเมล็ดที่แขวนลอยใน H2O2ลงบนอาหารโดยไม่ต้องนำไปลนไฟก่อน
 ตัดฝักกล้วยไม้ด้วยมีดที่ฆ่าเชื้อแล้ว เขี่ยเมล็ดลงบนอาหารสูตรสำหรับเพาะฝักอ่อน โดยเกลี่ยให้ทั่วและสม่ำเสมอบนผิวอาหาร
เขียนรายละเอียดบนผิวภาชนะที่ใส่อาหาร เช่น  ชื่อพันธุ์  ชื่อต้นแม่และต้นพ่อ คู่ที่ผสมวันที่เพาะเมล็ด  เป็นต้น
 ภายหลังเพาะเมล็ด 0.5 – 1 เดือน เมล็ดเริ่มมีสีเขียวขยายตัวเกิดเป็นก้อนโปรโตคอร์ม ถ้าแน่นมากให้เคาะภาชนะจนแยกกระจายไปทั่วผิวอาหารเพื่อให้ดูดอาหาร ไปใช้ได้อย่างทั่วถึง
ควรย้ายต้นกล้าหลังจากการเพาะเมล็ดประมาณ 2 -3 เดือน เมื่อต้นกล้วยไม้มีใบให้เห็นชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องมีราก เพราะในช่วงนั้นอาหารที่อยู่ในขวดเพาะเมล็ดอาจถูกใช้หมดไปจึงต้องย้ายลงบนอาหารสูตรสำหรับย้ายต้นกล้า ซึ่งเพิ่มกล้วยหอมดิบ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต
การย้ายต้นกล้าต้องใช้เทคนิคปลอดเชื้อ โดยใช้ปากคีบวางต้นกล้าให้กระจายทั่วผิวหน้าอาหาร เขียนรายละเอียดบนผิวภาชนะที่ใส่อาหาร เช่น ชื่อพันธุ์ ชื่อต้นแม่และต้นพ่อ คู่ที่ผสม วันที่เพาะเมล็ด เป็นต้น

 วิธีการเพาะเมล็ด

ก. ล้างทำความสะอาดภายนอกฝัก
ข. นำฝักกล้วยไม้เข้าตู้ปลอดเชื้อ จุ่มฝักใน ethyl alcohol  95%  แล้วลนตะเกียงทันที
ค. ตัดฝักกล้วยไม้ด้วยมีดที่ฆ่าเชื้อแล้ว
ง. เขี่ยเมล็ดลงบนอาหารสูตรเพาะเมล็ด เกลี่ยให้ทั่วผิวอาหาร
จ. ภายหลังเพาะเมล็ด เมล็ดเริ่มมีสีเขียว ขยายตัวเกิดเป็นโปรโตคอร์ม
ฉ. เมื่อโปรโตคอร์มเจริญและพัฒนาเป็นต้นและใบชัดเจน ให้ย้ายลงอาหารสูตรย้ายต้นกล้า

แหล่งที่มา : เอกสารวิชาการกล้วยไม้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอกสารวิชาการลำดับที่ 15/2547 ISBN 974-436-352-5

ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก

ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2555
0 comments
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2556 14:06:14 น.
Counter : 4942 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Mr.Evo_IV
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




[Add Mr.Evo_IV's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com