คลังความรู้เรื่องวิศวกรรมและการเกษตร ที่คนทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้

<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 มีนาคม 2556
 

การปลูกกุหลาบตัดดอก ตอนที่ 2

การป้องกันกำจัดศัตรูกุหลาบ

       กุหลาบเป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่มีศัตรูมากพืช หนึ่ง ดังนั้นการป้องกันและกำจัดศัตรูกุหลาบให้มีประสิทธิภาพ ผู้ปลูกควรทราบลักษณะสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และวงจรชีวิตของศัตรูนั้นๆ รวมทั้งการป้องกันกำจัด และ การใช้สารเคมีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่น และควรฝึกเจ้าหน้าที่ให้หมั่นตรวจแปลง และสังเกตต้นกุหลาบทุกวัน จะช่วยให้พบโรคหรือแมลงในระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถกำจัดได้ง่าย ในการฉีดพ่นสารเคมี ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวกัน ติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้สารนั้นๆ แสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ จากนั้นควรเปลี่ยนกลุ่มของสารเคมีเพื่อลดการดื้อยา

          โรคกุหลาบ

       1. โรคราน้ำค้าง ( Downey mildew )  

       เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Peronospora spasa

       ลักษณะการทำลาย อาการ จะแสดงบน ใบ กิ่ง คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก การเข้าทำลายจะจำกัดที่ส่วนอ่อน หรือส่วนยอด

       ที่ใบเพสลาด ( ใบกึ่งแก่กึ่งอ่อน ) ใบจะมีสีอ่อนกว่าธรรมดา และกระด้าง ใบจะเกิดจุดสีม่วงแดงหรือน้ำตาล ต่อมาขยายวงกว้างออกไปและถูกจำกัดด้วยเส้นใบ จึงเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใบจะเหลืองและร่วงหล่นอย่างรวดเร็ว เมื่อสภาพอากาศมีความชื้น และเย็น ด้านหลังใบบนแผลสีน้ำตาลจะเห็นเส้นใยหยาบๆ สีขาวอมเทา เจริญเป็นกระจุกอยู่ด้านหลังของใบ เมื่อเขี่ยดูจะพบสปอร์สีขาว หากสภาพอากาศไม่เหมาะสม มักจะสังเกตเห็นสปอร์ได้ยาก

       บนกิ่ง และคอดอก อาจจะพบบริเวณที่มีสีม่วง จนถึงสีดำ ที่มีขนาดเล็กเป็นจุด จนเป็นบริเวณที่มีความยาว 2 เซนติเมตร หรือมากกว่าได้ กลีบเลี้ยงอาจแสดงจุดลักษณะเดียวกัน และปลายยอดตาย และกิ่งที่ถูกเข้าทำลายอาจตายได้

       สภาพที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด  มัก พบบนที่สูง มีหมอกและน้ำค้างลงจัด ในฤดูหนาว หรือ ไม่มีแดดติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน อุณหภูมิต่ำ  ( น้อยกว่า 12 องศาเซลเซียส ) และความชื้นสัมพัทธ์สูง ( มากกว่า 95 % )  และอากาศไม่ถ่ายเท เช่น ถ้าปลูกในโรงเรือนมักจะพบโรคที่มุมของโรงเรือน ใต้รางน้ำ

       ราน้ำค้างจะผลิตสปอร์ได้เป็นเวลานานตราบใดที่ มีสภาพอากาศเย็น และ ชื้น กุหลาบจะไม่เป็นโรคราน้ำค้างหากความชื้นต่ำกว่า 85 % อุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอกของสปอร์คือ 18 องศาเซลเซียส  สปอร์จะถูกทำลายหากอยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

       สปอร์จะงอกภายใน 4 ชั่วโมง ในช่วงฤดูหนาวหากมีสภาวะแวดล้อมเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อใบเปียกชื้นเกิน 3 ชั่วโมง เข้าทำลายพืชทางปากใบ และจะสร้างสปอร์ใหม่บนผิวใบ ภายใน 3 วัน ในสภาพที่เหมาะสม สปอร์จะยังสามารถมีชีวิตอยู่ในใบกุหลาบแห้งได้นานถึง 1 เดือน

       การป้องกัน  รักษา ความชื้นให้ต่ำโดยจัดการระบายอากาศ และ/หรือ รักษาอุณหภูมิให้สูงกว่า 27 องศาเซลเซียส ในช่วงกลางวัน และ ค่ำ จะช่วยควบคุมราน้ำค้างกุหลาบในโรงเรือนได้ ความชื้นสัมพันธ์ไม่ควรเกิน 85 % เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง  จัดสภาพในโรงเรือนไม่ให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำใต้หลังคาพลาสติก ซึ่งหยดน้ำนี้ จะหยดลงมาสู่พืชได้ ทำได้โดยการควบคุมอุณหภูมิ ภายในโรงเรือน และการไหลเวียนของอากาศ เช่น การสร้างโรงเรือนให้สูง หากระยะระหว่างยอดกุหลาบกับหลังคาใกล้กันจะส่งเสริมให้ความชื้นภายในโรง เรือนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้มากขึ้น

       ควรฉีดสารเคมีป้องกันราน้ำค้างเมื่อสภาพอากาศ เหมาะสำหรับการระบาด โดยฉีดพ่นด้วยสารเคมี เมตาแล็กซิล+แมนโคเซ็บ แต่ใช้ได้ไม่เกิน 4 - 5 ครั้ง ซึ่งต้องใช้สลับกับ เคอร์เซล+โพรพิเน็บ ทุกเดือน แต่ไม่เกิน 3 ครั้ง ตั้งแต่ กันยายน ถึง กุมภาพันธ์

       สุขลักษณะในแปลงมีความสำคัญมากในการป้องกัน ไม่ให้เชื้อราน้ำค้างอยู่ข้ามปี โดยเผาทำลาย ใบ กิ่ง หรือดอก ที่เป็นโรค หรือสงสัยว่าจะเป็นโรค เนื่องจากเชื้อราน้ำค้างสามารถพักตัวอยู่บนกิ่งได้นานถึง 7 ปี

       การกำจัด  ตัด แต่งส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกแล้วเผาทำลายทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมี สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากมีการระบาดมากให้ฉีดพ่นทุก 4 - 5 วัน สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันและจำกัดโรคราน้ำค้าง  ได้แก่ เมตาแล็กซิล+แมนโคเซ็บ, เคอร์เซท+โปรพิเน็บ, ออฟูเรส และ โพซีธิล-อลูมิเนียม

       การให้สารเคมี ด้านล่างใบ

       2. โรคราแป้ง (Powdery mildew)

       เชื้อสาเหตุ  เชื้อรา Sphaerotheca pannosa

       ลักษณะการทำลาย  อาการเริ่มแรกผิวใบด้านบนจะมีลักษณะนูน อวบน้ำเล็กน้อย และบริเวณนั้นมักมีสีแดง และจะสังเกตเห็นเส้นใย และอัปสปอร์สีขาว เด่นชัดบนผิวของใบอ่อน ใบจะบิดเบี้ยว และจะถูกปกคลุมด้วยเส้นใยสีขาว ใบแก่อาจไม่เสียรูปแต่จะมีราแป้งเป็นวงกลม หรือรูปทรงไม่แน่นอน

       เชื้อราแป้งจะเริ่มเจริญบนกิ่งอ่อนอวบน้ำ  โดยเฉพาะบริเวณโคนของหนามซึ่งเชื้อราจะยังคงเจริญต่อไปเมื่อเปลี่ยนเป็นกิ่งแก่

       นอกจากนี้ เชื้อรายังเกิดกับดอก คอดอก กลีบเลี้ยง และฐานดอก โดยเฉพาะเมื่อดอกยังไม่บาน และจะทำให้ดอกเสียคุณภาพ

       สภาพที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด อุณหภูมิกลางคืนประมาณ 15.5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 - 99 % ส่งเสริมให้เชื้อราสร้างสปอร์งอก ส่วนอุณหภูมิกลางวันประมาณ 26.7 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ 40 - 70 % จะเอื้อให้สปอร์แก่ปลดปล่อย และกระจายสปอร์ สภาพกลางวันและกลางคืนดังกล่าวติดต่อกัน 2 - 3 วัน จะก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อได้

       ในสภาพที่เหมาะสม สปอร์จะเริ่มงอกภายในเวลา 3 ชั่วโมง หลังจากที่ตกลงบนใบ

       การป้องกัน  เมื่อ อุณหภูมิภายในโรงเรือนใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่เหมาะแก่การระบาด ความชื้นสัมพันธ์กลางคืนสูง และกลางวันต่ำ อาจพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดโรคราแป้งภายใน 3 - 6 วัน หลังจากมีสภาพดังกล่าว ดังนั้น จึงควรใช้สารเคมีป้องกันราแป้งทุก 7 วัน และวันถัดไปพ่นด้วยกำมะถันผง

       การลดความชื้นในอากาศช่วงกลางคืน โดยใช้พัดลม หรือการระบายอากาศ หรือ โดยการให้ความร้อนและระบายอากาศ

       การกำจัด  กำจัด ใบหรือส่วนที่แสดงอาการออกจากแปลงปลูก แล้วเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อรา การกำจัดราแป้งเมื่อพบครั้งแรกต้องใช้สารเคมีควบคุมกทันที การพ่นยาช้าไป 1 วัน   จะทำให้เชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว การกำจัดควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีชนิดเดียวกัน 3 ครั้ง ทุก 4 - 7 วัน   ควรผสมสารจับใบด้วย และหากมีการระบาดอีกครั้งให้ฉีดพ่นอีก 3 ครั้ง ด้วยสารเคมีต่างกลุ่ม   สารเคมี ที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดโรคราแป้ง ได้แก่ โดดีมอร์ฟ อะซีเตท , ไตรดีมอร์ฟ , ไตรโฟรีน , เฮกซาโคนาโซล และ ไพราโซฟอส เป็นต้น

       การให้สารเคมี   ด้านล่างใบ เมื่อเริ่มแสดงอาการ ด้านบนและด้านล่างใบ เมื่อระบาดมาก

       3. โรคใบจุดสีดำ (black spot : Diplocarpon rosae)

       เป็นโรคที่พบเสมอๆ ในกุหลาบที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ๆ หรือปลูกประดับอาคารบ้านเรือนเพียง 2 - 3 ต้น โดยมากจะเกิดกับใบล่างๆ อาการเริ่มแรกเป็นจุดกลมสีดำขนาดเล็กด้านบนของใบ และจะขยายใหญ่ขึ้นหากอากาศมีความชื้นสูงและผิวใบเปียก หากเป็นติดต่อกันนาน จะทำให้ใบร่วงก่อนกำหนด ต้นโทรม ใบและดอกมีขนาดเล็กลง โรคนี้เกิดได้ตลอดปี แต่จะระบาดรุนแรงในฤดูฝน การป้องกันควรดูแลรักษาความสะอาดแปลงสม่ำเสมอ สามารถพ่นสารเคมี เช่น ไตรโฟรีน เฮกซาโคนาโซล คลอโรธาโลนิล ป้องกันใบที่ยังไม่เป็นโรค โดยพ่นด้วยสารเคมีทุก 7 วัน ช่วงฤดูฝน และทุก 15 วัน ในช่วงฤดูร้อน  และควรปลูกกุหลาบภายใต้หลังคาพลาสติก จะลดการเกิดโรคได้ดีมาก การกำจัดต้องเผาทำลายใบที่เริ่มเป็นโรค เนื่องจากไม่สามารถรักษาใบที่เป็นโรคให้หายได้

       4. โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

       ลักษณะอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของไวรัส เช่น ใบด่างซีดเหลือง หรือด่างเป็นซิกแซก

       การป้องกันกำจัด โดยนำท่อนพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อไวรัสมาปลูก ไม่ควรนำต้นตอ หรือ ตาพันธุ์ที่เป็นโรคไปติดตาหรือทาบกิ่ง หากพบต้นที่เป็นโรคไวรัส ควรกำจัดเสียอย่าปล่อยทิ้งไป เพราะอาจถ่ายทอดไปยังต้นอื่นๆ ได้โดยติดไปกับเครื่องที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่ง หรือ ถ่ายทอดไปกับแมลง

       5. โรคราสีเทา (botrytis : Botryotinia fuckeliana syn. Botrytis cinerea)

       มักพบในสภาพอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสัมพันธ์สูง และการระบายอากาศไม่ดีพอ ดอกตูมจะเป็นจุดสีน้ำตาล และลามขยายใหญ่และเน่าแห้ง การป้องกันกำกัด เพื่อไม่ให้ดอกกุหลาบถูกฝนควรปลูกกุหลาบในโรงเรือนพลาสติก การป้องกันควรฉีดพ่นสารเคมีด้านข้างและด้านบนดอกด้วย คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์ แมนโคเซ็บ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์

       6. โรคกิ่งแห้งตาย (die back)

       เกิดจากตัดกิ่งเหนือตามากเกินไป ทำให้เชื้อราเข้าทำลายกิ่งเหนือตาจนเป็นสีดำ และอาจลามลงมาทั้งกิ่งได้ ดังนั้น จึงควรตัดกิ่งเหนือตา ประมาณ 1/4 นิ้ว ทำมุม 45 องศาเฉียงลง

แมลงและไรศัตรูกุหลาบ

1. ไรแดง (Spider mite)

       สาเหตุ Tetranychus urticae , T.piercei , T.hydrengeae , Eutetranychus orientalis , Schizotetranychus sp , Oligonychus biharensis และ O.mangiferus

       ลักษณะการทำลาย ไรแดงจะทำลายกุหลาบที่ใบแก่มากกว่าใบอ่อน โดยดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบเป็นกลุ่มๆ ทงให้เห็นเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆ อยู่ทั่วไป และกลายเป็นสีน้ำตาลจนกระทั่งใบแห้งและร่วงหล่น บางครั้งจะพบการทำลายที่ดอก ทำให้ดอกบิดเบี้ยว เมื่อเห็นใยแสดงว่าการระบาดรุนแรงแล้ว

       สภาพที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด มักระบาดในช่วงร้อนและแห้งแล้ง (อุณหภูมิสูง และความชื้นต่ำ)

       การป้องกัน  ฉีด พ่นด้วยสารเคมี ชนิดเดียวกัน 3 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน และฉีดพ่นด้วยสารเคมีต่างกลุ่มจากครั้งแรกอีก 3 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน สารเคมีกำจัดไรแดงได้แก่ โอเม็ทโธเอท , อะบาเม็คติน , อะมิทราซ , เฮ็กซี่โธอะซ๊อก , แลมด้าไซฮาโลธริน และ เท็ทตระไดฟอน เป็นต้น

       การให้สารเคมี ใต้ใบ

       2. เพลี้ยไฟ (Thrips)

       สาเหตุ  Scirtothrips dorsalis และ Thrips coloratus

       ลักษณะการทำลาย  เพลี้ยไฟมีปากแบบเขี่ยดูด ซึ่งจะดูดน้ำเลี้ยงของพืช ทำให้ส่วนนั้นเป็นทางสีขาว ต่อมาก็เหี่ยวแห้งเป็นสีน้ำตาล หรือฝ่อไม่เจริญเติบโต เพลี้ยไฟทั้งตัวแก่และตัวอ่อน จะดูดน้ำเลี้ยงที่ตาดอก และ ยอดอ่อน ทำให้ใบและดอกหงิก และ มีรอยสีน้ำตาล มักฝังตัวอยู่ในยอดอ่อน เห็นได้ยาก ยกเว้นเมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม

       สภาพที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด  เพลี้ยไฟระบาดอย่างรุนแรงในฤดูร้อน หรือ ในช่วงที่อากาศแห้ง หรือ ฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในระหว่างเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม

       การป้องกัน ใช้กับดักกาวเหนียวเพื่อทำลายการระบาด ไม่ปล่อยดอกบานในแปลง เผาทำลายดอกบาน ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีป้องกัน

       การกำจัด ฉีดพ่นด้วยสารเคมีติดต่อกัน 4 ครั้ง ช่วงห่างไม่เกิน 4 วัน สารเคมีกำจัดเพลี้ยไฟได้แก่ ไดอะซิโนน อิมิดาคลอพิด อะบาเม็คติน เม็ทโธมิล ไซเปอร์มิธิรน

       การให้สารเคมี เหนือใบที่ยอด และ ดอก

       3. หนอนเจาะสมอฝ้าย (Heliothis armingera)

        หนอนชนิดนี้จะกัดกินดอก และ เจาะเข้าไปอยู่ภายในดอก ทำให้ดอกเสียหายส่งขายไม่ได้ และเป็นปัญหา ในการป้องกันกำจัดอย่างมาก หากมีการระบาดอาจใช้สารเคมีได้หลายประเภท เช่น เชื้อแบคทีเรีย เช่น คอนดอร์   สารไพรีทรอยด์ เช่น เฟนวาลีเรท ไซเพอร์เมทริน ฟลูทริน เดลต้าเมทริน ไซฮาโลทรินแอล   สารระงับการลอกคราบ เช่น คลอฟลูอาซูรอน และสารเคมีพวกโปฟีโนฟอส ไธโอดิคาร์ป และ ไซเพอร์เมทริน+ฟอสซาโลน เป็นต้น

       4. หนอนกระทู้หอม หรือ หนอนหนังเหนียว (onion cutworm : Spodoptera exigua)

       หนอนชนิดนี้จะกัดกิน ใบ และ ดอก ให้เป็นรูเว้าแหว่ง เมื่อมีการระบาดของหนอนชนิดนี้แล้วจะปราบได้ยากมาก การป้องกันกำจัดอาจทำได้ดังนี้ การใช้มุ้งตาข่าย ขนาด 16 ช่องต่อตารางนิ้ว คลุมแปลง การใช้เชื้อแบคทีเรีย B.thuringiensis เช่น ธูริไซด์ แบคโทสปิน หรือ B.kurstaki เช่น แบคคัท-พี เดลฟิน คอนดอร์   สารระงับการลอกคราบ เช่น คลอฟลูอาซูรอน หรือ ฟลูเฟลนโนซูรอน เป็นต้น

       5. ด้วงกุหลาบ (rose beetle : Adoretus compressus)

       ด้วงกุหลาบจะออกหากินในเวลากลางคืนระหว่าง 19.00 - 21.00 น. โดยการกัดกินใบ และดอกทำให้เสียคุณภาพ ส่วนในเวลากลางวันจะพบตามดินใกล้รากพืช การป้องกันกำจัด เก็บตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน ติดตั้งกับดักแสงไฟ หรือ ใช้สาร คาร์บาริล ฉีดพ่น 5 - 7 วัน ในช่วงระบาด

       6. เพลี้ยหอย (scale insect : Aulucaspis rosae)

       ทำลายกุหลาบโดยเกาะดูดน้ำเลี้ยงตามกิ่งก้านลำ ต้นของกุหลาบ ถ้าทำลายมากๆ ต้นอาจทรุดโทรมถึงตายได้ ถ้ามีการระบาดไม่มากนัก ทำการรดูเพลี้ยหอยออกจากพืชแล้วทำลายเสีย และฉีดพ่นสารฆ่าแมลง หรือถ้ามีการระบาดทำลายค่อนข้างมาก ใช้มาลาไธออน หรือ อะเซฟเฟท ฉีดพ่นให้ทั่ว

       7. เพลี้ยอ่อน (aphids : Macrosiphum rosae และ Myzaphis rosarum)

       ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยง ช่อดอก ยอดอ่อน และใบอ่อน ทำให้ดอกที่ถูกทำลายมีขนาดเล็ก ใบเหลืองร่วงหล่น ควรป้องกันโดยใช้สารเคมี เช่น มาลาไธออน เดลต้ามีธริน อะซินฟอส-เอ๊ทธิล ไพริมิคาร์บ เฟนไธออน ฉีดพ่นติดต่อกัน 2 - 3 ครั้ง


การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

 ระยะเก็บเกี่ยว

       ระยะที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวกุหลาบ คือ ตัดเมื่อดอกตูมอยู่หรือเห็นกลีบดอกเริ่มแย้ม (ยกเว้นบางสายพันธุ์) หากตัดดอกอ่อนเกินไปดอกจะไม่บาน ในฤดูร้อนควรตัดในระยะที่ยังตูมมากกว่าการตัดในฤดูหนาว เพราะดอกจะบานเร็วกว่า

       วิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

       1. การตัดดอก ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่คม และ สะอาด

       2. เมื่อตัดดอกจากต้นแล้ว รีบนำก้านดอกแช่ในน้ำสะอาดทันที (ในแปลง) ph ของน้ำที่ใช้แช่ประมาณ 3 - 4 (โดยใช้กรดซิตริก หรือ กรดมะนาว) ใช้เวลาแช่ ประมาณ 0.5 - 1 ชั่วโมง ในอุณหภูมิปกติ

       3. การลดอัตราการหายใจ และการคายน้ำของกุหลาบ กระทำได้โดยนำกุหลาบไปแช่ในห้องเย็น (ในกรณีที่ไม่มีห้องเย็น ก็อาจนำดอกกุหลาบเก็บไว้ในที่เย็นชื้น ไม่มีลมโกรก และ มืด เช่น ในห้องน้ำ) และการเก็บรักษาสภาพกุหลาบให้สด ควรแช่กุหลาบในน้ำยารักษาสภาพดอกไม้นาน อย่างน้อย 2 - 3 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 2 - 4 องศาเซลเซียส

       4. การคัดเกรดดอกกุหลาบ มักจะคัดตามความยาวก้านดอก ตามความต้องการของแต่ละตลาดเป็นเกณฑ์ โดยจะวัดจากปลายก้าน ถึง ปลายดอก (ไม่ใช่ฐานดอก) อย่างไรก็ตามขนาดของดอกในเกรดหนึ่งๆ จะขึ้นอยู่กับกุหลาบแต่ละพันธุ์ แต่ขนาดของดอกจะต้องได้สัดส่วน เหมาะสมกับความยาวของก้าน ตัวอย่าง การคัดเกรดของกลุ่มผู้ปลูกกุหลาบเชียงใหม่ คือ ความยาวก้านดอก 30 , 40 , 50 , 60 , 70 , 80 เซนติเมตร

       5. การเข้ากำและห่อดอก การมัดกำจะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแต่ละแห่ง เช่น กำละ 10 , 20 , 25 , 50 ดอก ในการห่อดอกควรเรียงหน้าดอกกุหลาบให้เสมอกัน และตัดปลายก้านให้เสมอกัน ถ้าหากขนส่งระยะทางไกลๆ ควรห่อดอกกุหลาบด้วยพลาสติกประเภทพลาสติกใส หรือกระดาษลูกฟลู หน้ากว้างประมาณ 15 - 30 เซนติเมตร ห่อให้เหลือปลายเหนือดอก ประมาณ 1 - 1.5 นี้ว เพื่อป้องกันการกระแทกระหว่างการขนส่ง

       6. การบรรจุกล่อง ขนาดกล่องมาตรฐานสำหรับบรรจุดอกไม้ขนส่งเครื่องบินไปต่างประเทศ คือ กล่องขนาด 0.4 x 1 x 0. 3 เมตร ซึ่งบรรจุดอกกุหลาบได้ประมาณ 250 - 400 ดอก น้ำหนักประมาณ 13 - 15 กิโลกรัม การขนส่งระยะทางไกลๆ ควรบรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งอาจรองพื้นกล่องด้วยพลาสติกประเภท โพลีเฟกซ์ (Poly flex)  เพราะพลาสติกชนิดนี้อากาศและความชื้นสามารถผ่านเข้าออกได้ สำหรับการวางกุหลาบ จะวางเรียงสลับหัวท้ายโดยในกล่องควรจะมีวัสดุสำหรับดูด ซับเอทธิลีนที่ดอกไม้คายออกมา

       7. การขนส่ง ใช้ในกรณีที่ใช้เวลาขนส่งจากสวนถึงตลาด ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มักจะขนส่งดอกกุหลาบโดยจัดวางมัดห่อดอกเป็นชั้นๆ ในรถบรรทุก และแต่ละชั้นจะมีแผ่นไม้ ซึ่งพาดคานอยู่กับราวทั้ง 2 ข้าง วางคั่นอยู่เพื่อไม่ให้ห่อดอกกดทับกันเอง การทำเช่นนี้จะทำให้สะดวกในการแยกพันธุ์ แยกสี และขนาด อีกทั้งสะดวกในการจำหน่ายอีกด้วย สำหรับดอกไม้ขนส่งเป็นระยะทางไกล ควรบรรจุในกล่องและขนส่งโดยรถห้องเย็น หรือรถปรับอากาศ ในการขนส่งดอกกุหลาบจะต้องขนส่งด้วยความระมัดระวัง และอุณหภูมิในระหว่างการขนส่งจะต้องไม่สูงหรือต่ำเกินไป อีกทั้งไม่ควรขนส่งดอกกุหลาบไปพร้อมกับผักหรือผลไม้ ซึ่งจะมีการผลิตแก๊สเอทธิลีนออกมามาก ส่งผลให้ดอกกุหลาบเสื่อมคุณภาพเร็ว ตลอดจนสีของดอกกุหลาบซีดลง

ในกรณีที่เก็บรักษาคุณภาพกุหลาบเพื่อรอการขนส่งหรือจำหน่าย ทำได้โดยเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นมีวิธีการเก็บรักษาได้ 2 วิธี คือ

       1. เก็บรักษาแบบเปียก (Wet method) โดยการนำดอกกุหลาบที่คัดเกรดและตัดก้านแล้วแช่ในน้ำยารักษาสภาพดอกไม้ ที่อุณหภูมิ0 - 4 องศาเซลเซียส จะเก็บดอกไม้ได้ ประมาณ 4 - 5 วัน

       2. เก็บรักษาแบบแห้ง (Dry method) โดยนำดอกกุหลาบที่ตัดแล้วตามขั้นตอนที่ 1 - 3 บรรจุลงในกล่องปิดสนิท เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0.5 - 3 องศาเซลเซียส วิธีนี้สามารถเก็บดอกได้นาน 1 - 2 สัปดาห์ เมื่อจะนำดอกไม้ออกจำหน่าย ให้ตัดปลายก้านออก ประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วแช่ในน้ำหรือน้ำยา เก็บไว้ในห้องเย็นนานประมาณ 12 ชั่วโมง หรือ 1 คืน จากนั้นจึงนำมาคัดเกรด มัดกำ และบรรจุกล่องรอการขนส่งหรือจำหน่ายได้

ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ




 

Create Date : 18 มีนาคม 2556
0 comments
Last Update : 18 มีนาคม 2556 13:45:04 น.
Counter : 1815 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Mr.Evo_IV
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




[Add Mr.Evo_IV's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com