คลังความรู้เรื่องวิศวกรรมและการเกษตร ที่คนทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้

<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
4 มีนาคม 2556
 

หน้าวัวตัดดอก ตอนที่4

ศัตรูหน้าวัว

       หน้าวัวเป็นพืชใบหนา โรคแมลงจะเข้าทำลายได้ยากกว่าพืชชนิดอื่นที่มีใบบางกว่า ดังนั้นหากดูแลรักษาสุขภาพอนามัยที่ดี โดยรักษาโรงเรือนให้สะอาด สะดวกในการปฏิบัติงาน ปราศจากวัชพืช หากพืชเป็นโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออกใส่ถุงพลาสติกทันทีเพื่อป้องกันการ แพร่กระจายของเชื้อ ทำลายด้วยการเผาหรือฝังอย่างเคร่งครัด อย่าปล่อยซากพืชไว้ข้างแปลง หรือบริเวณรอบแปลง อย่าให้น้ำขังแฉะ หากปฏิบัติได้ดังนี้จะลดการใช้สารเคมีลงได้อย่างมาก

1. โรคใบไหม้ (Anthurium blight) สาเหตุเกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. dieffenbachiae

ลักษณะการทำลาย เชื้อจะเริ่มเข้าบริเวณขอบและใต้ใบ (บริเวณที่มีปากใบเป็นจำนวนมาก) ทำให้เกิดจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ ไม่มีรูปร่างที่แน่นอนกระจายอยู้ทั่วไป ซึ่งอาการจะเด่นชัดด้านหลังใบ บริเวณรอบรอยแผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและตายในที่สุด มักจะเห็นแถบสีเหลืองสดกั้นระหว่างเนื้อเยื่อที่ตายสีน้ำตาลและเนื้อใบปกติ หากใบที่เป็นโรคไม่ถูกตัดทิ้งในระยะเริ่มต้น เชื้อแบคทีเรียจะแพร่กระจายไปทั้งต้นพืชโดยผ่านทางท่อน้ำและอาหาร อาการต่อมาที่พบคือ ใบแก่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองด้านๆ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไปอุดท่อน้ำและอาหาร เมื่อผ่าตามขวางจะเห็นท่อน้ำท่ออาหารเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล และทำให้ก้านใบและก้านดอกหลุดร่วงได้ง่าย

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด ความชื้นและอุณหภูมิสูง ฝน หรือการให้น้ำถูกใบอาจทำให้ใบเป็นแผลและเป็นทางให้แบคทีเรียเข้าทำลายได้ง่าย

การป้องกันกำจัด โรคใบไหม้นี้เป็นโรคที่กำจัดได้ยากเพราะเชื้อจะกระจายอยู่ในต้นพืช (systemic) และระบาดได้รวดเร็ว หนทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อนี้ ซึ่งทำได้โดย ใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค รักษาให้ตัวคนงานและเครื่องมือเครื่องใช้อยู่ในสภาพปลอดเชื้อเสมอ ด้วยการฆ่าเชื้อบนใบมีดโดยจุ่มในยาฆ่าเชื้อ ประมาณ 5 วินาที ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่นน้ำยาฟอกผ้า (sodium hypochlorite: เช่น คลอร๊อก หรือ ไฮเตอร์) ความเข้มข้น 50 % เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในการตัดดอกควรใช้ มีด 2 เล่ม สลับกันตัดดอก วิธีนี้ทำให้มีโอกาสฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้นานกว่า และไม่ควรปลูกพืชในสกุลใกล้เคียง เช่น อโกรนีมา ดิฟเฟนบาเกีย ฟิโลเดนดรอนบอน และเดหลี ฯลฯ ในบริเวณใกล้กับหน้าวัว ตัดแต่งใบเป็นประจำเพื่อให้ต้นโปร่งและมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

       หากมีเชื้อในแปลงแล้ว จะต้องมีมาตรการกำจัดและป้องกันไม่ให้โรคระบาดไปยังแปลงอื่นอย่างเคร่งครัด โดยตัดใบที่แสดงอาการเริ่มแรกของโรคกำจัดต้นที่เป็นโรคและมีโรคซึมอยู่ในท่อ น้ำท่ออาหาร แล้วนำต้นที่เป็นโรคใส่ถุงพลาสติก นำออกจากแปลงและเผาไฟหรือฝัง เพื่อกำจัดแหล่งแพร่เชื้อ เชื้อนี้จะอยู่นอกต้นพืชได้ไม่นาน ดังนั้นหลังจากนำต้นไปทำลายแล้ว 2 เดือน แปลงนั้นควรปลอดจากเชื้อแล้ว การปลูกใหม่ควรปลูกใหม่ทั้งแปลง ไม่ใช่ปลูกแซมต้นที่เป็นโรคเท่านั้น

       การป้องกันกำจัดโดยใช้สาร เคมี ควรฉีดพ่นด้วย ฟอสเอ็ทธิล อลูมิเนียม (สารเคมีสำหรับควบคุมเชื้อรา) เพื่อการป้องกันโรคใบไหม้และช่วยให้เชื้อเข้าทำลายได้ยากขึ้น

2. โรคแอนแทรกโนส (Antracnose, black nose, spadix rot) สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Coletotrichum gloeosporioides

ลักษณะการทำลาย หากเกิดที่ปลี อาการเริ่มแรกจะสังเกตเห็นจุดสีเข็มเล็กๆ บนปลี จากนั้นจะขยายเป็นรูปทรงเหลี่ยมตามรูปทรงของดอกย่อยๆ หากมีเชื้อมากก็ทำให้ปลีเน่าทั้งปลีได้ โรคแอนแทรกโนสเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกมีตำหนิไม่สามารถจำหน่ายได้ โรคนี้ยังสามารถเกิดที่ใบเป็นแผลค่อนข้างกลมขอบแผลสีน้ำตาลและเหลืองชัดเจน เนื้อเยื่อตรงกลางแห้งเป็นสีน้ำตาล ตรงกลางแผลมักมีเชื้อราเป็นจุดสีดำเล็กๆ เรียงกันเป็นวงซ้อนกันออกไป เวลาอากาศชื้นจะมีสปอร์สีส้มอ่อนๆ เกิดบนจุดดำเหล่านี้ แผลของโรคแอนแทรกโนส อาจขยายใหญ่จนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 - 3 ซม. และแผลอาจมารวมติดกันจนเกิดเป็นแผลใหญ่ได้

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด เมื่ออุณหภูมิสูง และความชื้นสูง แหล่งของเชื้อมักมาจากดอกที่เป็นโรคในแปลง การแพร่กระจายของเชื้อโดยมากเกิดขึ้นจากการกระเซ็นของหยดฝน หรือการให้น้ำ

การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราทั่วไป เป็นระยะๆ (ยกเว้นสารจำพวกกำมะถัน ซึ่งไม่ได้ผลในการป้องกัน) เช่น แคปแทน หรือ ไดเทนเอ็ม 45 สลับกับคาร์เบนดาซิม หรือโปรคลอราท ฉีดพ่นทุก 15 วัน อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยคุมโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตามการใช้พันธุ์ต้านทานเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด

3. โรครากเน่า (Root rot)

3.1 โรครากเน่า สาเหตุเกิดจากเชื้อเห็ด Marasmius sp.

ลักษณะการทำลาย ใบล่าง เหลือง และขอบใบแห้งเล็กน้อย ใบอ่อนจะเล็กน้อย ในกระถางมีราสีขาวเป็นเส้นใยหยาบๆ หรือเป็นกลุ่มของราสีขาว ซึ่งเจริญแพร่ออกไปตามก้อนอิฐที่ใช้ปลูกและจับเกาะที่รากด้วย ทำให้โคนต้นและรากเน่าผุ เปื่อยเป็นสีน้ำตาล

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด อากาศชื้นเส้นใยรวมกันออกเป็นดอกเห็ดขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางของเห็ดประมาณ 0.5 - 2 ซม.

การป้องกันกำจัด ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ให้รีบแยกกระถางไว้ต่างหากหรือเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ ต้นที่เป็นโรคให้ตัดเอาเส้นใยสีขาวออกให้มากที่สุดหรือเฉือนรากเน่าทิ้งเสีย แล้วจุ่มน้ำยาป้องกันกำจัดเชื้อราประมาณ 5 นาที หรือแช่ด้วยน้ำยาคลอรอกซ์ 1 : 10 ส่วน เป็นเวลา 5 - 10 นาที แล้วนำไปปลูกใหม่ แต่ถ้ามีมากไม่สามารถจะทำได้ก็ต้องใช้น้ำยาป้องกันกำจัดเชื้อราราดลงไปใน กระถางติดต่อกันสัก 4 - 5 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 5 - 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อดังกล่าวให้หมดสิ้นไป ก้นกระถางและพื้นที่วางกระถางให้ใช้น้ำยาฟอร์มาลีน 1 : 40 ส่วน รดให้ทั่ว กระถางถ้าจะใช้ใหม่ให้แช่ในน้ำยาฟอร์มาลีนสัก 1 ชั่วโมง

3.2 โรครากเน่า สาเหตุมาจากเชื้อรา เช่น Phythium splenden, Calonectria crotalariae, Rhizoctonia sp., Phytophthora sp., และ Fusarium sp. ซึ่งเชื้อเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่เกิดเมื่อมีปัจจัยภายนอกหนึ่งหรือมากกว่า ที่เป็นสาเหตุหลัก

ลักษณะการทำลาย ต้นมีความสูงลดลง ใบและดอกเล็ก ใบและดอกไม่มีความมันวาว และไม่แข็งแรง ระดับความเสียหายของรากมีหลายระดับ ในบางกรณีรากทั้งหมดที่อยู่ในเครื่องปรุงจะเน่า และส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งเกิดจากการเข้าทำลายระยะที่สองของเชื้อแบคทีเรีย

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด สภาพที่มีการระบายน้ำไม่ดี ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่วัสดุผุเปื่อยและยุบตัวลง วัสดุปลูกที่อุ้มน้ำมากเกินไป วัสดุปลูกตื้น วัสดุเดิมอาจติดมากับรากต้นกล้าซึ่งอุ้มความชื้นได้มากกว่าวัสดุปลูกใหม่ ทำให้ความชื้นในบริเวณนั้นมากเกินไป และทำให้รากเน่าได้ในที่สุด รากอาจเสียหายจากปุ๋ย หรือสารเคมีที่ให้ หรือไส้เดือนฝอย

การป้องกันกำจัด ทำเครื่องปลูกให้มีการระบายน้ำได้ดี หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยสลายตัวช้าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในช่วงฤดูแล้งจะมีปุ๋ยสะสมมากเกินไปเป็นอันตรายต่อราก ปรับความเป็นกรดเป็นด่างของเครื่องปลูก สารเคมีที่ใช้ในการกำจัดโรคเน่า ได้แก่ โพรพาโมคาร์บ อัตรา 200 กรัม/100 ลิตร ฟอสเอ็ทธิท อลูมิเนียม อัตรา 150 กรัม/100 ลิตร สำหรับหน้าวัวที่ยังเล็กอยู่ และ250 กรัม/น้ำ 10 ลิตร สำหรับหน้าวัวที่โตแล้ว

 4. โรคใบแห้ง (leaf blight) สาเหตุ เชื้อรา Phytophthora sp.

ลักษณะการทำลาย อาการเป็นจุดสีช้ำสีเขียวหม่น แผลจะขยายออกไปอย่างรวดเร็วจนเป็นแผลใหญ่ แผลอาจจะเน่าเป็นสีน้ำตาล หรืออาจแห้งกรอบ ถ้าอากาศไม่ชื้นพอ ดอกหรือหน่ออ่อนเชื้อโรคก็จะเข้าไปทำให้เน่าตายได้เช่นกัน

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด ระบาดมากในฤดูฝน ความชื้นสูง

การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อราเป็นระยะๆ สารเคมีที่มีประสิทธิภาพดีสำหรับเชื้อรา คือ ไดโฟลาแทน 80

5. ไส้เดือนฝอย (nematode) สาเหตุ ไส้เดือนฝอย Radopholus similis

ลักษณะการทำลาย ต้นหน้าวัวแคระแกรน ใบและดอกเล็กลง ใบเหลืองก่อนเวลาอันควร และโดยทั่วไปต้นมีลักษณะไม่สมบูรณ์ บริเวณรากจะพบรอยแผลสีเข้มจากเนื้อเยื่อที่ตาย หากเป็นมากรากทั้งรากจะเน่า เนื่องจากต่อมาถูกจุลินทรีย์อื่นๆ เข้าทำลาย

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด โดยทั่วไปไส้เดือนฝอยจะแพร่กระจายโดยต้นพันธุ์ที่มีไส้เดือนฝอยอยู่ เครื่องมือและอุปกรณ์ การปฏิบัติงาน รองเท้าที่มีเครื่องปลูกที่มีไส้เดือนฝอยติดอยู่

การป้องกันกำจัด ใช้ต้นพันธุ์ที่ปราศจากไส้เดือนฝอย ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำไส้เดือนฝอยเข้าแปลง เช่น ยางรถยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ รองเท้า และการไหลของน้ำเข้าแปลง และหากพบก็ให้ใช้สารเคมี เช่นอัลดิคาร์บ หว่านบนเครื่องปลูก อัตรา 900 กรัม/ 100 ตร.ม. ให้ซ้ำใน 6 สัปดาห์ ที่อัตรา 600 กรัม/100 ตร.ม. หรือราดด้วยออกซามิล อัตรา 150 มล./100 ลิตร และจากนั้นราดในอัตรา 100 มล./100 ลิตร ทุก 2 สัปดาห์

6. เพลี้ยไฟ (Thrips) เพลี้ยไปทำความเสียหายให้แก่ดอกหน้าวัวเป็นอย่างมาก ทำให้ดอกมีตำหนิ ส่งตลาดไม่ได้ ในกรณีที่ระบาดรุนแรง จะทำความเสียหายแก่ดอกทุกดอกในโรงเรือนนั้น

ลักษณะการทำลาย ใช้ปากเจาะดูดน้ำเลี้ยงดอกที่ยังไม่คลี่ เริ่มตั้งแต่ เมื่อดอกเริ่มโผล่จากโคนใบ ทำให้ดอกเมื่อบานจะบิดงอผิดส่วน รอยแผลจะเป็นทางสีขาว หรือน้ำตาล ด้านบนหรือใต้ใบประดับ หากต้องการสำรวจเพลี้ยไฟด้วยตาควรสำรวจช่วงเช้า เพราะช่วงกลางวันที่มีอุณหภูมิสูงเพลี้ยไฟจะหลบซ่อนในวัสดุปลูก ทำให้ไม่ห็นตัว

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด อุณหภูมิสูง และความชื้นต่ำ

       การป้องกันและกำจัด ใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภทดูดซึม ได้แก่ เม็ทโธมิล อะบาเม็คติน หรือ ฟิโปรนิล ติดต่อกัน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5 วัน

 7. ไรแดง และไรขาว (spider mite, mite)

ลักษณะการทำลาย ใช้ปากดูดน้ำเลี้ยง ไรแดงทำให้ใบเป็นจุดสีขาวบนใบและดอก และจะชักใยอยู่ใต้ใบ ไรขาวทำให้ใบและดอกสีจาง และยังทำให้ผิวใบและจานรองดอกด้าน

 การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีไดโคโฟล หรือ อะบาเม็คติน ฉีดพ่นทุกๆ 5 - 7 วัน

 8. โรคใบจุด (Yellow spots)

ลักษณะการทำลาย ด้านหลังใบเริ่มปรากฏอาการมีจุดสีเหลือง ขนาดเล็กกว่าหัวเป็นหมุดกระจายทั่วใบมากน้อยแตกต่างกันไป อาการปรากฏทั้งใบอ่อนใบแก่ ด้านล่างที่ตรงกับจุดสีเหลืองเมื่อเกิดแผลใหม่ๆ เป็นรอยบุ๋มขนาดเล็ก เหมือนรอยเอาหมุดปักบนกระดาษหรือผ้า นานไปแผลดังกล่าวนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนไม่ขยายลุกลามออกไป

การป้องกันกำจัด ใช้ยาป้องกันกำจัดแมลงจำพวกปากดูดฉีดพ่น ควรเป็นยาประเภทดูดซึมจะได้ผลดีที่สุด

 9. ทากและหอยทาก (Snails)

       ลักษณะการทำลาย ดอกและใบถูกกัดกิน ในที่มีหอยทากระบาด เราจะพบรอยทางเดินเป็นทางเมือกสีเทาเงินสะท้อนแสงเมื่อแห้งสนิทให้เป็นที่ สังเกต

       สภาพที่เหมาะสมในการระบาด บริเวณที่ร่มเย็น มีความชื้นสูง

       การป้องกันกำจัด ใช้ปูนขาวโรบก้นกระถางและรอบๆ ใช้น้ำยาแคลเซียมคลอไรด์อัตราส่วน 80 กรัม ต่อ น้ำ 1 ปีบ รดหน้าวัวที่มีหอยทากระบาด ทากจะหนีออกมาจากที่หลบซ่อนจึงจับทำลาย หรือหว่านสารเคมี เม็ทโธโอคาร์ อัตรา 60 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร หรือใช้ นิโคลซาไมล์ 70 % WP 40 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร

การเก็บเกี่ยวและการปฎิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

       ดอกหน้าวัวบอบช้ำเสียหาย ได้ง่าย บรรจุหีบห่อยาก ระยะการตัดดอกจะมีพอต่ออายุการใช้งาน ดังนั้น วิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าขั้นตอนในการปลูกเลี้ยง

การตัดดอก

       การตัดดอกหน้าวัวนิยมตัดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และสามารถตัดได้ตลอดทั้งวัน เพราะโรงเรือนมีความชื้นสูง แต่พันธุ์สีขาวที่จะเห็นร่องรอยการขีดข่วนได้ง่าย ควรตัดในช่วงเวลาสายๆ ที่ต้นหน้าวัวเริ่มคายน้ำแล้ว เพราะผิวจานรองดอกจะไม่เต่งเกินไป ไม่เกิดรอยขีดข่วนง่ายเหมือนตอนตัดดอกช่วงเวลาเช้ามืด การที่ดอกที่มีอายุพร้อมตัดจะสามารถพิจารณาได้จากความแข็งของคอก้านดอก และปริมาณสีของปลีที่เปลี่ยนไป ดอกจะแก่จากโคนปลีไปปลายซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ ดอกหน้าวัวที่ปลีเปลี่ยนสีทั้งหมดจะมีอายุปักแจกันมากกว่าดอกที่ปลีเปลี่ยน สีเพียงครึ่งเดียวถึง 10 % ดอกหน้าวัวจะมีอายุการปักแจกันสูงสุดเมื่อตัดดอกระยะที่ปลีเปลี่ยนสี หรือมากกว่านั้น อีกทั้งระยะนี้ดอกจะแข็งขึ้นและดอกมีสีสันสดใส ปักแจกันได้นาน แต่หากตัดดอกช้ากว่านี้แม้ดอกบานทน ดอกจะมีสีซีดไม่สดใส การตัดควรตัดให้ก้านดอกเหลือติดกับต้นประมาณ 4 - 5 ซม. เมื่อตัดดอกแล้วควรแช่ในน้ำสะอาดให้เร็วที่สุด

มาตรฐานดอก

       มาตรฐานดอกหน้าวัวที่ใช้ ในปัจจุบันได้ดัดแปลงจากมาตรฐานของมลรัฐฮาวายหรือของเนเธอร์แลนด์ โดยวัดความกว้างของจานรองดอกช่วงใต้ปลี ดังแสดงไว้ในตารางที่ 3 และ 4

ตารางที่ 3 มาตรฐานดอกหน้าวัวของมลรัฐฮาวาย

ตารางที่ 4 มาตรฐานดอกหน้าวัวของเนเธอร์แลนด์

      การเก็บรักษา

       ดอกหน้าวัวเป็นดอกไม้ที่ สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ดอกหน้าวัวเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 - 4 สัปดาห์ หากเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 7 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านี้ จะทำให้จานรองดอกสีคล้ำ เพราะได้รับความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำเกินไป ควรเก็บรักษาดอกหน้าวัวในห้องเย็นโดยวิธีคือแช่ก้านดอกในน้ำสะอาด

การบรรจุและการขนส่ง

       ปัญหาหลังจากการขนส่งหนัา วัวคือความเสียหายที่เกิดจากจานรองดอกพับ หรือรอยช้ำที่เกิดจากปลีเสียดสีกับจานีรองดอกระหว่างการขนส่ง ซึ่งจะเห็นเป็นรอยสีดำ ทำให้คุณภาพดอกลดลง ในการขนส่งระยะใกล้ๆ ควรคัดขนาดดอกมัดรวมเป็นกำโดยไม่ให้จานรองดอกมีโอกาสเสียดสีกัน แล้วแช่ในถังพลาสติกบรรจุน้ำสะอาดเพื่อขนส่งต่อไป ส่วนการขนส่งระยะไกล จะต้องบรรจุอย่างระมัดระวัง โดยการบรรจุหน้าวัวในกล่องจะห่อแต่ละดอกด้วยพลาสติก เพื่อป้องกันดอกช้ำ แล้วใช้สก็อตเทปตรึงก้านดอกกับกล่องให้แน่นหนาไม่ให้มีการเคลื่อนที่ในขณะขน ส่ง หากปลีสัมผัสกับจานรองดอกระหว่างขนส่งจะทำให้ส่วนนั้นช้ำและทำให้เกิดเป็น รอยสีดำ คุณภาพดอกลดลง ระหว่างขนส่งไม่ควรให้อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส เกิน 1 วัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสียหายจากความเย็น โดยจะทำให้เกิดรอยสีน้ำตาลบนจานรองดอกและปลี และดอกหน้าวัวไม่ควรบรรจุอยู่ในกล่องนานเกิน 4 วัน ไม่เช่นนั้นคุณภาพดอกจะลดลง ในประเทศเนเธอร์แลนด์จะสวมปลายก้านหน้าวัวด้วยพลาสติกที่มีน้ำสะอาดอยู่ภาย ในคล้ายการใส่หลอดพลาสติกกับกล้วยไม้เพื่อการส่งออก สวมถุงพลาสติกที่จานรองดอก โดยเจาะรูให้ปลีแทงดอก แล้วจึงเรียงลงในกระดาษไม่ให้จานรองดอกซ้อนกัน ยึดด้วยเทป เพื่อไม่ให้ดอกขยับเขยื้อนขณะขนส่ง และใช้ชิ้นโฟมชิ้นเล็กๆ สอดใว้ระหว่างจานรองดอกและปลี เพื่อไม่ให้กระทบกัน ส่วนที่รัฐฮาวายใช้ฝอยกระดาษซึ่งถูกพ่นน้ำให้ชื้นช่วยยึดให้ดอกอยู่กับที่ ให้ความชื้นและป้องกันไม่ให้เกิดความบอบช้ำ โดยจะสอดปลีดอกลงในฝอยกระดาษและโน้มก้านดอกลงเรียงเป็นชั้นๆ ซ้อนทับกัน

ขอขอบคุณแหล่งความรู้จาก

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • เอกสารเผยแพร่ : เศรษฐพงศ์ เลขะวัฒนะ ,โอฬาร พิทักษ์ , วารี เจริญผล สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชอบกด Like & Share เป็นกำลังใจให้ด้วยน่ะจ๊ะ




Create Date : 04 มีนาคม 2556
Last Update : 4 มีนาคม 2556 11:14:35 น. 0 comments
Counter : 1599 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Mr.Evo_IV
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




[Add Mr.Evo_IV's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com