Group Blog
 
All Blogs
 

“อภัยมณีชาดก” การเดินทางที่กลับด้าน

“อภัยมณีชาดก” การเดินทางที่กลับด้าน



ท่านทั้งหลายไม่ได้ตาฝาด หรืออ่านผิดหรอกครับ “อภัยมณีชาดก” จริง ๆ นั่นแหละ ไม่ได้เขียนผิด หรือแกล้งว่าแต่อย่างใด ซึ่งหลายท่านอาจจะคิดว่า “มันมีด้วยหรือ?”

ขอตอบว่า “มีครับ” ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาตใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นไม่เกิน 130 ปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งทางล้านนามักนิยมนำนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ มาแต่งเป็น “ชาดก” ที่จัดว่าเป็น ชาดกนอกนิบาต คือไม่อยู่ในพระไตรปิฎก อันเป็นจารีตสืบมาแต่ครั้นสมัยหริภุญไชยโน่นแล้ว ดังจะเห็นมีผลงานที่นับว่าเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมล้านนา และสังคมไทยอยู่มากเช่นกัน นั่นก็คือ “ปัญญาสชาดก” หรือชาดกนอกนิบาต ๕๐ เรื่อง

และปัญญาสชาดกนี้เอง ได้แพร่กระจายไปในดินแดนล้านนา เมืองพม่า สิบสองปันนา ล้านช้าง อยุธยา และอีกหลาย ๆ เมือง ทำให้เรื่องราวนี้ได้แพร่กระจายกันออกไป และได้มีการนำเอานิทานพื้นบ้าน (ซึ่งอาจจะกลายมาจากปัญญาสชาดก หรือ ที่เคยนำไปเป็นปัญญาสชาดกก็ได้) มารจนาด้วยภาษาของกวี เป็นวรรณคดีหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สังข์ทอง กับ สุวรรณสังขกุมารชาดก, สมุทรโฆษคำฉันท์ กับ สมุทรโฆสชาดก ฯลฯ



ไม่เพียงเท่านั้นนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ ก้ได้รับอิทธิพลของปัญญาสชาดก ไม่ว่าจะเป็น จำปาสี่ต้น, พระสุธน-มโนราห์, นางสิบสอง (พระรถ-เมรี), สังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ ก็ล้วนแต่มาจากการกระจายตัวของพุทธศาสนาทั้งสิ้น

แต่เรื่อง “อภัยมณีชาดก” เป็นการเดินทางที่สวนทางกับชาดกเรื่องอื่น ๆ ในบรรดาชาดกนอกนิบาต ที่จะแต่งเป็น วรรณคดี จาก ชาดก แต่นี่ แต่งชาดก จากวรรณคดี และไม่เพียงแต่เรื่องพระอภัยมณีเท่านั้นที่จับมาใส่ในรูปแบบของชาดก เรื่อง “รามเกียรติ์” ก็เช่นเดียวกัน นำมาเป็นชาดกในล้านนาถึง ๓ เรื่องด้วยกัน คือ “ปรัมมเหียร”, “หอรมาน”และ “พรหมจักร” ส่วนทางเมืองสิบสองปันนาก็จะไปเป็นเรื่อง “ลังกาสิบโห(หัว)” นั่นเอง

สำหรับเรื่อง “อภัยมณีชาดก” มีที่มาดังนี้

ในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ นั้นก็มีการติดต่อกับทางราชสำนักของกรุงเทพฯมากขึ้น ก่อนจะมีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล การไปมาหาสู่กันก็มีมาเสมอ ครั้งหนึ่ง แม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งเป็นเจ้าแม่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ลงไปทางเมืองกอก ก็นิยมชมชอบนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของรัตนกวีสุนทรภู่ จึงนำเรื่องนี้กลับมา และมอบหมายให้ “พญาพรหมโวหาร” แต่งเป็น “คร่าวซอ” (อ่านว่า ค่าว-ซอ) อันเป็นรูปแบบของกวีนิพนธ์ชนิดหนึ่งของล้านนา แต่งไว้เมื่อ จุลศักราช ๑๒๓๙ ปี เมืองเป้า หรือปีฉลู นพศก พุทธศักราช ๒๔๒๐ ดังคร่าวบทนำว่าไว้ว่า


“ปฐมะ มูละกถา ฟังเทอะน้อง บ่ต้องปุจฉา
…… ……… จักพรรณา แต่เค้าเบื้องเบ้า
เอากถา พระจันทราเข้า มาตกแต่งทำ ไค้ค้อน
คณะอันไหน คือไฟอันร้อน บ่เอาแต่งสร้าง เป็นมูล
คณะอันร้าย บ่หื้อมาสูน เมื่อแปงทำทูล พระคุณเหนือเกล้า
องค์เสวย ธานีบ่เศร้า เป็นเงางำ นวระ
เป็นจิกจอม เมืองพิงนพพะ ปราสาทกว้าง บวร
ทังองค์ทรงยศ ทิพพเกสร จอมธานี เทวีแม่เจ้า
บ่หื้อโสกา โรคาแฝงเฝ้า ในกาโยเงา วระ
อิทธิมันโต เตโชชนะ อำนาจป้อง บุรี
เอาคณะ จันทะเรืองศรี แปงวาทีแรกเค้า ทำสร้าง
ชุติมันโต รุ่งเรืองเอกอ้าง ตนทรงบุญ เรืองรส
วัณณวันโต มีวรรณและยศ ลือเลิศด้วย สมพาร
หื้ออยู่วุฒิ จำเริญสันฐาน รุ่งเรืองบาน บ่ผานโศกเศร้า
หื้อสุขเกษม ร่มเย็นเป็นเจ้า ตราบเนานาน เนิ่นช้า
เอาคณา พระจันทร์ส่องฟ้า มาตกแต่งสร้าง วาทา
หลอนมีผู้ทัก ผู้โจษถามหา ว่าคนใดชา ริร่ำทำสร้าง
อภัยมณี เรื่องราวคร่าวกว้าง กลอนคำวอน เรื่องนี้
อายุสังขาร ประมาณกล่าวชี้ สักมอกอั้น เพียงใด
นามประเทศ อยู่เขตแดนไหน ปัจฉิมัย ไถงฟ้าต้อง
หนบุพพา ทักษิณาห้อง ฤๅหนอุดร ฝ่ายซ้อย
จักเป็นขนาน ฤๅบัณฑิตน้อย ผู้แปงกาพย์สร้อย ซอใย
จงใฝ่รู้ ชื่อนามไฉน เป็นคนใด แน่แท้ทำสร้าง
อัตนา บ่จาอวดอ้าง การใคร่ยิน ใคร่รู้
...”



ค่าวบทนำนี้ ปริวรรตโดย พระครูอดุลสีลกิตติ์ วัดธาตุคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รู้สึกว่า พญาพรหมโวหารจะแต่งไม่จบ ท่านได้สิ้นไปเสียก่อน

หลังจากนั้น ก็นำ “คร่าวซอพระอภัยมณี” ของพญาพรหมโวหารเป็นแบบอย่างในการนำมาแต่งเป็น “ชาดก” ซึ่งในใบลานก็ไม่ได้ระบุว่า ใครเป็นคนที่แต่งในรูปแบบของชาดก แต่คัดลอกกันมาอยู่สองสำนวน แต่รายละเอียดเหมือนกันทั้งหมด มีอยู่ ๑๒ – ๒๔ ผูก เช่นที่วัดบ้านเอื้อม จ.ลำปาง เป็นต้น

การแต่งเป็นชาดก ก็อาศัย รูปแบบ (Form) เดียวกับชาดกทั่วไป ที่มี สาเหตุการเล่าชาดก เนื้อความชาดก อันเป็นอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ และสุดท้ายย่อมมีการประชุมชาดก

เรื่องนี้เริ่มจากที่พระสงฆ์ต่าง ๆ พูดคุยถึงการพลัดที่นาคลาที่อยู่ ทำให้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระองค์ก็เคยพลัดพรากจากบ้านจากเมืองด้วยเช่นกัน จึงเล่าเรื่อง อภัยมณีชาดกนี้ขึ้นมา

ส่วนเรื่องชื่อ ก็มีแตกต่างกันไปอีก บ้างก็ว่า อภัยมณีชาดก หรือ อภัยมณีสรีสุวัณณ์ชาดก ด้วยพระเอกของเรื่องหรือองค์โพธิสัตว์นั้น ไม่ใช่พระอภัยมณี หากแต่เป็น “สรีสุวัณณ์” ส่วนฝ่ายหญิงคือนาง เกสสรา ส่วนตัวร้ายก็คือ ท้าวอุเทน

เนื้อเรื่องก็มีการตัดทอนและปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย ด้วยเรื่องเดิมนั้นยาวและมีตัวละครมาก เมื่อนำมาเล่าเป็นชาดก จึงมีการปรับเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของชาดกด้วย ซึ่งจะเล่าถึงต้นเรื่องจากเมืองรัตนา เหมือนของสุนทรภู่ทุกประการ จวบจนพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวไป จากนั้นก็จะกล่าวถึงสรีสุวัณณ์โดยเฉพาะที่ตามหาพระอภัยมณี จนเข้าไปในเมืองพบกับนางเกสสรา ซึ่งประสบปัญหาว่า ท้าวอุเทนจะมารบชิงเอาตัวไป สรีสุวัณณ์จึงเข้ารบและช่วยเหลือบ้านเมืองนางเกสสราให้รอดพ้นจากอันตรายได้ และสุดท้ายก็รับเอาพี่ชายคือพระอภัยมณีพร้อมกับหลานชื่อสิงสมุด มาอยู่ด้วย

ในเรื่อง ชื่อบางชื่อก็เปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย อย่างลูกของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร จากสินสมุทร ก็เป็น สิงสมุด เป็นต้น และมีอีกหลายชื่อที่มีการปรับเปลี่ยน (ด้วยตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่ใกล้มือ)

จากนี้จะเห็นว่า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของสองดินแดน อยู่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนับว่าเป็นการดีมากที่มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากภายนอกที่รับมานั้นให้เข้ากันกับท้องถิ่น หรือที่เรียกวันว่า Localization และผมว่าปัจจุบันที่มีปัญหามากก็มาจากขาดการทำให้เป็นท้องถิ่นนี้เช่นกัน และเรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างอันดีอีกอย่างหนึ่ง




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2549    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2550 23:29:52 น.
Counter : 4042 Pageviews.  

ภาษาย่อยในจังหวัดน่าน

ภาษาย่อยในจังหวัดน่าน


สำหรับภาษาในจังหวัดน่าน ถือว่าเป็นภาษาถิ่น (Dialects) ที่มีเขตทางภูมิศาสตร์ที่ผู้อยู่อาศัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง โดยจะเรียกว่า ภาษาถิ่นเหนือ และที่ยกเอาภาษาถิ่นเหนือในจังหวัดน่านมาอธิบายนี้ ก็ถือว่าเป็นภาษาถิ่นย่อย (sub-dialects) ด้วยในภาษาถิ่นเหนือ มีอยู่ในหลายจังหวัดและแต่ละจังหวัดมีสำเนียงในการออกเสียงเป็นลักษณะเฉพาะของตน บางครั้งนอกจากจะมีสำเนียงอันเป็นลักษณะพิเศษแล้ว ก็จะมีการสร้างคำอันเป็นคำเฉพาะของคนที่อยู่ในถิ่นนั้น ๆ ด้วย ดังเช่นในจังหวัดน่าน

จังหวัดน่านถูกกั้นออกจากดินแดนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือด้วยเทือกเขาผีปันนั้นตะวันออก ทำให้การไปมาหาสู่และปฏิสัมพันธ์ของคนในจังหวัดน่านกับเมืองอื่น ๆ เป็นไปได้อย่างล่าช้า กอปรกับลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบในหุบเขาและมีภูเขาล้อมรอบทุกด้านจึงทำให้จังหวัดน่านเป็นเมืองที่ปิดกลาย ๆ และลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้จังหวัดน่านสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวและยังคงอัตลักษณ์นั้นเอาไว้ได้

หากพิจารณาในแง่ของประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่า จังหวัดน่าน มีความเจริญอยู่ภายในอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นรัฐอิสระตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จวบจนมาผนวกเข้ากับเมืองล้านนาเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ในปี พ.ศ. ๑๙๙๓ เมืองน่านก็เลยถูกวัฒนธรรมล้านนาครอบงำตลอดมา ทำให้ภาษาของเมืองน่าน มีลักษณะเหมือนกันกับภาษาท้องถิ่นเหนือส่วนใหญ่ (ยกเว้นในเมืองเชียงใหม่) เช่นว่า ไม่มีเสียงสระเอือ แต่จะใช้เสียงสระเอีย แทน เป็นต้น

แม้ว่าปัจจุบัน จะมีการผสมกลมกลืน กับวัฒนธรรมไทลื้อที่อพยพหรือถูกกวาดต้อนมาไปบ้างก็ตาม แต่อัตลักษณ์ที่เป็นแบบฉบับของเมืองน่านก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

ลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในภาษาของทางเมืองน่านก็จะมีอยู่ คือ สำเนียง และคำศัพท์

สำหรับทางสำเนียงนั้น ทางเมืองน่าน ซึ่งจะรวมถึงเมืองแพร่ พะเยา ที่ติดต่อปฏิสัมพันธ์กันตลอดมาตั้งแต่อดีตนั้น มีความคล้ายคลึงกัน คือเสียงจะขึ้นจมูกมากกว่าที่อื่นในล้านนา บางทีทำให้ออกเสียงคำเดียวกัน แต่เพี้ยนกันไปคนละเสียงวรรณยุกต์ก็มี เช่น คนเมืองน่านจะออกเสียงของคำว่า “ง้าว” ซึ่งสำเนียงที่ออกไปนั้นจะไปละม้ายกับคำว่า “ง่าว” ในสำเนียงเชียงใหม่ และมักจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันบ่อยครั้ง

ส่วนด้านคำศัพท์นั้น ก็มีคำศัพท์ที่หลากหลายที่มีใช้กันในเมืองน่านและใกล้เคียง ซึ่งจะขอยกตัวอย่างคำศัพท์ที่แตกต่างนั้น เพื่อให้เห็นลักษณะเฉพาะภาษาถิ่นจังหวัดน่านได้ดียิ่งขึ้น ดังเช่น

คำลงท้ายประโยคคำถาม มักจะมีการลงท้ายด้วยเสียงสระแอ แทนเสียงสระไอ เช่น ไปที่แหน่? หรือว่า ยะจะแด? แทนที่จะพูดว่า ไปที่ไหน? หรือ ยะจะใด? เหมือนภาษาล้านนาในจังหวัดอื่น ๆ ส่วนคำอื่น ๆ ก็จะเช่นคำว่า

“เข้าหนมเหนียบ” ซึ่งทางล้านนาส่วนใหญ่จะเรียกว่า “เข้าหนมจ็อก” อันหมายถึง ขนมเทียน

“ยาม” ซึ่งไม่ได้แปลว่าคราว, ครั้ง, เวลา ไม่ได้แปลว่าฤดูกาล ไม่ได้แปลว่าพังผืด ไมได้แปลว่าฆ้องเหมือนภาษาไทลื้อ ไม่ได้แปลว่าดินปืนเหมือนภาษาไทยใหญ่ ไม่ได้แปลว่า ยาม ที่เป็นคนเฝ้าสถานที่หรือระวังภัยเหมือนภาษาไทย แต่ทางเมืองน่านจะหมายถึง “สักครู่” หรือ “คำเดียว” (อ่าน กำเดว) ในภาษาล้านนาทั่วไป

“เตี้ย” ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงต่ำเตี้ย แต่จะหมายถึงเยื่อไม้ไผ่ที่ติดกับข้าวหลาม ซึ่งทางเชียงใหม่หรือล้านนาทั่วไปจะเรียกว่า “เจี้ย”

ทำให้เห็นว่า แหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดความเป็นท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะเกิดขึ้น และนั่นก็เป็นตัวแปรหนึ่งในการทำให้เกิดภาษาย่อยขึ้นได้ ดังภาษาของชาวน่าน ในจังหวัดน่าน๚๛




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2549    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2550 23:30:43 น.
Counter : 8102 Pageviews.  

งดงามตามแบบวิหารไทลื้อในเมืองน่าน

เมืองน่านดินแดนในอ้อมกอดของขุนเขาล้อมรอบ การเดินทางติดต่อกับท้องถิ่นอื่นมีอยู่ไม่กี่เส้นทาง จึงเกือบเป็นเมืองที่ปิดอยู่กลาย ๆ ทำให้สภาพแวดล้อมภายใน มีการเปลี่ยนแปลงช้าเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง

ทำให้เมืองน่านยังคงกลิ่นอายวัฒนธรรมเก่า ๆ ไว้ได้อย่างเยี่ยมยอด และสืบทอดกันมาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านที่เรียบง่าย สงบ ไม่โอ่อ่าฟู่ฟ่าแบบในเมืองใหญ่ ๆ อยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ ป่าไม้ดงดอย และสายน้ำน้อยใหญ่ที่หลั่งไหลจากป่าไม้อันอุดมได้อย่างมีความสุขร่มเย็น การที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น หล่อหลอมกล่อมเกลาจิตใจให้สงบเยือกเย็น ทำให้สร้างสรรค์สิ่งดีงาม ต่าง ๆ เอาไว้มากมาย

ไม่ว่าจะเป็นระเบียบแบบแผน จารีต ประเพณี รวมถึง ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สอดแทรกวิญญาณของท้องถิ่นเข้าไปด้วย

การทำด้วยจิตวิญญาณ ศรัทธา และความเชื่อ แม้ว่าราคาจะไม่มาก แต่คุณค่าของมันนั้นมีสุดคณานับ ไม่ว่าจะเป็นใครที่จรรโลงสรรค์สร้าง ก็ไม่ผิดแผกจากกัน

ท่ามกลางเทือกเขาดงดอยที่สลับซับซ้อนคั่นกับที่ราบเป็นหย่อม ๆ ก็มีสิ่งดี ๆ งาม ๆ ซุกซ่อนอยู่มากมาย การที่เราจะเห็นได้นั้น ไม่เพียงแต่ที่จะเสาะหามันพบ หากแต่พบแล้วไม่เปิดใจรับ ก็ไม่ต่างอะไรก็เสาะหาแล้วไม่เจอ ที่สำคัญคือ การที่เปิดหัวใจรับรู้สิ่งต่าง ๆ เมื่อฝ่ายหนึ่งทำและถ่ายทอดออกมาจากใจ มาเป็นรูปเป็นร่าง และอีกฝ่ายมาเห็นและรับรู้สิ่งนั้นด้วยใจเช่นกัน ใจต่อใจ ข้อมูลบางอย่างย่อมส่งผ่านมาตามกระแสนั้น

วัดหลายวัดที่กระจัดกระจายในพื้นราบหุบเขาของจังหวัดน่าน ล้วนด้วยความสวยงามแตกต่างกัน จะมีไม่กี่ที่ที่จะมีความพิเศษเฉพาะตัว ขับเน้นความเป็นหนึ่งของตัวเองออกมา อย่างเช่น วิหารทรงไทลื้อ ที่จะกล่าวต่อไปนี้

ก่อนที่จะมากล่าวถึงตัววิหาร มารู้จักกับกลุ่มไทลื้อในจังหวัดน่านก่อนว่า มีความเป็นมาอย่างไร ถึงได้มาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสวยงามเหล่านี้ได้

กลุ่มไทลื้อ เป็นสายตระกูลไทกลุ่มหนึ่ง ที่เคยเรืองอำนาจในดินแดนสิบสองปันนา แม้ในปัจจุบันดินแดนแถบนั้นชนหมู่มากก็ยังเป็นไทลื้ออยู่เช่นเดิมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไทลื้อมีความสัมพันธ์ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มไทยวนเสมอมา ไม่ว่าด้วยมิตร หรือว่า ศัตรูคู่สงคราม ทำให้มีผลต่อการเคลื่อนย้ายประชากรอยู่เนือง ๆ บางครั้งยังเกี่ยวดองฉันเครือญาติด้วย เช่น พระนางเทพคำขยาย พระมารดาของพระญามังราย ก็เป็นชาวไทลื้อ ในสิบสองปันนา

ครั้งใหญ่สุดจะเห็นเป็นในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ของเจ้าหลวงกาวิละ แห่งนครเชียงใหม่ ที่ต้องการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังจากที่เป็นเมืองร้างมานานหลายปี จึงยกกองทัพ ไปเทครัว ไทขึนบ้าง ไทลื้อที่สิบสองปันมาบ้าง ให้มาอยู่อาศัยในที่ต่าง ๆ ของดินแดนล้านนา การเทครัว เป็นการยกมาทั้งหมดทั้งมวล ทุกผู้ทุกคน ทุกระดับชนชั้น ไม่ว่า เจ้า หรือ ไพร่ฟ้าข้าเมือง เมื่อยกมาทั้งเมือง เมื่อมาอยู่แห่งใหม่ จึงเรียกขานที่แห่งใหม่นั้นเหมือนกับที่อยู่เดิมที่จากมา

การเข้ามาของไทลื้อในจังหวัดน่านนั้น ในสมัยของเจ้าอัทธวรปัญโญ ก็ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา เมืองเชียงแขง ซึ่งครั้งนั้น ชาวเมืองเชียงรุ่ง เชียงแขง ได้สวามิภักดิ์ และได้ตามไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรครั้งใหญ่ ก็เห็นจะเป็นในสมัยของเจ้าสุมนเทวราช จุลศักราชได้ 1174 (พ.ศ.2355) “เดือน 3 อาชญาหลวงเจ้าก็กวาดเอาครัว เมืองล้าเมืองภง เชียงแขง เมืองหลวงพูคาลงมาไว้เมืองน่าน มี 6 พันครัวหั้นแล ”
(1)

นอกจากการกวาดครัวจากการกรีธาทัพขึ้นไปนั้น ก็ยังมีไทลื้อบางส่วนที่อพยพงมาเนื่องจากการเมืองภายในของกลุ่มไทลื้อด้วยกันเอง เช่นที่เมืองล้า ที่เกิดการแย่งชิงอำนาจภายใน ทำให้บางส่วนต้องอพยพลงมาอยู่ในเขตอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านเมื่อครั้งอดีต

ในระยะต่อมาในสมัยที่รัฐชาติของไทยทำลังก่อร่างสร้างตัว ทำให้ไทลื้อบางกลุ่มก็ทยอยกันลงมายังเมืองน่าน เมืองต่าง ๆ กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า มาอยู่ในเขตอำเภอปัว ทุ่งช้าง เชียงกลาง ฯลฯ

เมื่อมาอยู่กันเป็นชุมชน สิ่งที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนก็คือ “วัด” การสร้างวัดเป็นสะท้อนตัวตนที่มีอยู่และมีมาจนถึงวันนี้ ซึ่งแตกต่างจากสำเนียงเสียงพูดที่บางแห่ง ได้กลายเป็นคนเมืองไปหมดแล้ว ไม่เหลือเค้าเสียงสำเนียงของไทลื้อเลย

เมื่อพูดถึงไทลื้อ ที่สำคัญแห่งแรกที่จะกล่าวถึง ก็คือ วัดหนองบัว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 42 กิโลเมตร ไปทางสายเหนือ ในท้องที่บ้านหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา

ชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนไทลื้อที่เข้มแข็ง ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของไทลื้อไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น ภาษา การทอผ้า ตลอดถึงประเพณีเข้ากัมม์ของไทลื้อ และ ที่ขาดไม่ได้คือการบวงสรวงเจ้าหลวงเมืองล้า (ซึ่งปัจจุบันเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองล้า ที่บ้านหนองบัวนี้ก็ยังคงมีอยู่) อันสืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

วัดหนองบัวที่เห็นอยู่นี้ สร้างในปี พ.ศ.2405 นำโดย ครูบาหลวงสุนันทะและช่วยกันสร้าง ซึ่งตรงกับสมัยของเจ้าอันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2471 ส่วนวัดเดิมนั้นอยู่บริเวณริมหนองบัวหรือหนองหยิบ ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2215 สำหรับอุโบสถนั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469 โดยพระอภิวงษ์ อภิวํโส



รูปภาพ 1 วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาพจากเว็บ //www.thai-tour.com/thai-tour/North/Nan/data/place/Pictures_wat_nongbua.htm


จากประวัติการสร้างวัดนั้น สล่าหรือช่างที่เป็นผู้สร้างวัด ก็เป็นชาวบ้านลูกหลานชาวไทลื้อ ทำให้งานที่ออกมานั้น ออกมาจากจิตวิญญาณที่เลื่อมใสศรัทธา ที่เข้าใจในวิถีชีวิตเป็นอย่างดี วิหารที่ออกมานั้นเป็นวิหารขนาดย่อมเหมาะสมกับการใช้สอย รูปทรงเตี้ยแจ้ หลังคาลดหลั่นซ้อนกัน 2 ชั้น 2 ตับ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา ส่วนชายคานั้นคลุมลงมาต่ำเกือบถึงพื้น แม้ว่าจะพลัดบ้านผ่านเมืองมา ก็ยังเคยชินที่จะอยู่จะเป็นแบบดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ภูมิใจในท้องที่ถิ่นเกิด ซึ่งไม่เหมือนกันคนรุ่นใหม่ที่สายใจในรากเหง้าขาดหาย พร้อมที่จะโบยบินไปสู่แหล่งที่ ‘คิดเอาเอง’ ว่าเจริญกว่า

นอกจากแหล่งสถาปัตยกรรมอันสวยงามแล้ว ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่แต่งแต้มบอกถึงวิถีชีวิตในสังคม โดยบอกเล่าผ่านชาดกเรื่อง จันทคาธชาดก หรือ จันทคาปูจี่ อันเลื่องชื่อลือนาม

แหล่งสังคมไทลื้อที่ใหญ่แห่งหนึ่งก็คือที่อำเภอปัว ซึ่งมีแหล่งสถาปัตยกรรมตามแบบฉบับของไทลื้อที่งดงาม นั่นก็คือ “วัดต้นแหลง”

วัดต้นแหลง ตั้งอยู่ที่ บ้านต้นแหลง ตำบลไชยวัฒนา อำเภอปัว ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตรมาตามทาง น่าน – ทุ่งช้างสายเก่า อยู่ใกล้กับลำน้ำปัว และลำน้ำขว้าง การที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำนี้ ก็ทำให้มีการย้ายวัดหลายครั้งในเมื่ออดีต เพื่อหนีน้ำท่วม แล้วก็กลับมาตั้งในใจกลางหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีใจความว่าไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2390 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2570 แต่ในบางตำนานเล่าว่า สร้างมาเก่าแก่กว่านั้นอีก (ก่อนที่จะมีการย้ายเนื่องจากน้ำท่วม)ว่า สร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2127
(2) และได้มีการบูรณะกันมาหลายครั้งหลายครา อย่างเช่นในปี 2469 ที่ได้มีการสร้างพระประธานองค์ใหญ่


รูปภาพ 2 วิหารวัดต้นแหลง ต.ไชยวัฒนา อ.ปัว จ.น่าน ภาพจากเว็บไซด์ //www.nantouring.com/tonlang/tonlang.asp


ตัวอาคารวิหาร(3) เตี้ยแจ้ เจาะช่องหน้าต่างเล็ก ๆ แคบ ๆ ทำให้ภายในวิหารมืดทึม ซึ่งหากดูถึงสถานที่ชาวไทลื้อจากมานั้น เป็นพื้นที่ที่มีอากาศเย็น การทำให้ภายในมืดทึม ช่วยกันความหนาวเย็นจากภายนอกได้ และประตูที่เปิดกว้างด้านหน้า กับภายในที่มืดทึม ยามที่แสงอาทิตย์สาดส่องผ่านเข้าไปในวิหาร แล้วจับต้ององค์พระ ทำให้ดูมลังเมลือง สวยงามจับใจ น้อมนำมาซึ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา

หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดหรือกระเบื้องไม้ ทรงตะคุ่ม หลั่นลดกันลงมา 3 ชั้น หน้าบันประดับด้วยไม้โปร่งทำเป็นรัศมีแฉก และแผ่นโลหะสีขาวที่ประดับเรียงเป็นแถวใต้รัศมีนั้น ดูโดดเด่นเห็นแต่ไกล เป็นแหล่งรวมใจของชาวบ้าน ที่ยืนหยัดสู้ฟ้ากรำฝนมาจนถึงปัจจุบัน แม้นว่าตัววิหารจะเหลือเพียงสิ่งเดียวที่แสดงถึงร่องรอยของวัฒนธรรมไทลื้อ ในท่ามกลางของการกลายเป็นคนเมืองไปเสียสิ้น

ถัดจากอำเภอปัวขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ สู่อำเภอเชียงกลาง ที่บ้านหนองแดง ตำบลพระธาตุ ที่นั้นยังมีชุมชนไทลื้ออยู่และได้รังสรรค์ผลงานอันมีค่าให้ปรากฏอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

วัดหนองแดง เป็นอีกสถาปัตยกรรมไทลื้ออีกแห่งที่ ที่มีความสวยงามและโดดเด่น เมื่อมองแต่ไกล จะเห็นช่อฟ้าที่สง่างามและแปลกตา แทนที่จะเป็นรูปหงส์อย่างวัดทั่ว ๆ ไป กลับเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ มีหงอนงวงงาสวยงาม และดอกประจำยามประดับกระจกที่หน้าบัน สะท้อนล้อแสงวาววับระยับเต้น

ตัวหลังคาเป็นผืนใหญ่สูงปูด้วยแป้นเกล็ด ช่วงบนคลุมจั่ว ส่วนครึ่งล่างตัดลาดลงและมีความชันมาก เพื่อให้ช่วยระบายอากาศภายในได้อย่างสะดวก และให้น้ำฝนที่ตกลงมานั้น ไหลลงสู่พื้นดินได้อย่างรวดเร็ว ภายในนั้นยังบุด้วยฝ้าเพดานอีกชั้นหนึ่ง



รูปภาพ 3 วิหารวัดหนองแดง ภาพจากเว็บไซด์ //www.nakornnan.com


ตัวอาคารเตี้ย ภายในมืดทึบ เหมือนกับวิหารไทลื้อที่อื่น ๆ แต่ไม่อึดอัดเนื่องด้วยหลังคาสูง ทำให้อากาศหมุนเวียนได้ดี แสงที่ลอดสอดส่องเข้ามานั้นมีเพียงทางหน้าต่างที่เจาะเป็นช่องและทางประตู ไม่สว่างมากนัก แต่แสงเพียงแค่นี้ กลับช่วยขับเน้นองค์พระประธานและนาคบัลลังก์ ให้องอาจ ยิ่งใหญ่ หากเป็นแสงจากวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ไม่สามารถทำให้ภาพที่ออกมายิ่งใหญ่เท่าเทียมได้

นาคบัลลังก์นั้น เป็นฐานชุกชีที่มีนาคสองตัว เกล็ดสีเขียวเข้ม หงอนแดงฉาน เลื้อยจากด้านหลังองค์พระประธาน อ้อมมาชูคออยู่คนละฟากของพระพุทธรูปราวกับระแวดระวังภัยแลปกปักษ์รักษาให้พ้นจากอันตรายทั้งหลาย

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนแห่งความร่วมแรงร่วมใจกันของพี่น้อง 2 กลุ่ม คือ ทั้งไทลื้อ และไทพวน ที่ร่วมแรงกันสร้างวัดหนองแดงขึ้นมา ใน พ.ศ. 2330 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2365 นับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่มากอีกวัดหนึ่ง

............

ทั้งสามแห่งนั้น ล้วนแล้วแต่มีความงามอันเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ตามสภาพแวดล้อม สังคม และองค์ประกอบอื่นได้ฝ่าความแปรปรวนของธรรมชาติ ฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม ตั้งมั่นยืนหยัดเป็นแหล่งรวมใจของผู้คนจากอดีต ถึงปัจจุบัน

สองมือที่จับคันไถ สองมือที่จับเคียวเกี่ยวข้าว ที่ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และสองมือนั้นเอง ที่บรรจงสร้างสิ่งที่งาม ที่มีคุณค่า และมีความมายมากมายสำหรับผู้คน ที่อยู่ภายใต้วิถีชีวิตแบบเดียวกันตลอดถึงผู้อื่นที่ได้มาพบมาเห็น มาซาบซึ้งถึงวิถีแห่งภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดเอาไว้

ในท่ามกลางขุนเขาดงดอยที่ล้อมรอบ ไม่ได้เป็นป้อมปราการแห่งศิลปะ และความละเอียดอ่อนแต่อย่างใด หากมาแต่เนื้อในแห่งตนที่มีจิตมุ่งมั่นและศรัทธา ผสานกับความเชื่อ จารีต ประเพณีอันดี ในวิถีแห่งการดำรงชีวิต แสดงถึงความเป็น “อารยะ” โดยไม่ต้องไปแสวงไขว่คว้ามาจากที่อื่นใดเลย

ของดีที่มีอยู่ ไม่ใช่ดีเพราะผู้อื่นบอก หากว่าดี เพราะเราตระหนักนึกถึงคุณค่าต่อของที่เรานั้น มีอยู่ ๚๛


เชิงอรรถ

(1) สรัสวดี อ๋องสกุล. พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด.(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ) .2539 หน้า 46
(2) สามารถ สิริเวชพันธุ์, เลี่ยม ธีรัทธานนท์. สถาปัตยกรรมวัดไทยลื้อในเขตจังหวัดน่าน.(เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). 2530 หน้า 3
(3) ซึ่งเป็นทั้งวิหาร และ อุโบสถ ร่วมกัน




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 25 พฤษภาคม 2549 12:51:52 น.
Counter : 1763 Pageviews.  

เลียบปราการแห่งอิสรภาพ



เมื่อพูดถึงเรื่อง “คุก” หรือ “คอก” นับว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนาที่จะเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น แม้แต่ได้ยินก็ไม่อยากจะได้ยินเอาเสียเลยด้วยซ้ำ ด้วยภาพลักษณ์แห่งคำว่า “คุก” นั้นจะคลาคล่ำไปด้วยผู้ที่ได้กระทำความผิดต่าง ๆ นานา เพียงแค่นี้ก็ทำให้หลายคนเมินหน้าหนี... แต่ไฉนกลับมีคนเข้าไปยัดเยียดเบียดเสียดกันทุกที

รั้วสูงสีขาวที่มีลวดหนามติดเป็นแนวตามฐานล่างกำแพงและข้างบน ยิ่งทำให้ภาพภายในดูลึกลับและกลัวเกรงอย่างเป็นที่สุด ถึงแม้กระนั้นก็ไม่อาจที่จะทานความ “อยากรู้” ว่าภายหลังประตูที่ปิดอยู่ตลอดเวลานั้นจะเป็นอย่างไร พอทราบว่าจะต้องเข้าไปทัศนศึกษาในทัณฑสถานหญิง กลางเวียงเชียงใหม่ด้วยแล้ว ก็แทบที่จะระงับความตื่นเต้นเอาไว้ไม่ได้

ในยามเช้าอากาศเย็นสบาย แต่ในใจกลับร้อนรุ่ม สายตาจดจ้องมองไปยังประตูว่า ‘จะมีอะไรรออยู่ หลังประตูนั่นหนอ?’ ขณะที่รอประตูเปิดนั้น ก็เห็นหลายคนหอบข้าวหอบของ คงจะเป็นญาติพี่น้องผู้ต้องขังคนใดคนหนึ่งเป็นแน่ ด้วยเดินเข้าไปตรงส่วนที่ไปแจ้งเรื่องขอเข้าเยี่ยม ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันกับทัณฑสถาน นับว่าวันนี้นับเป็นวันดีวันหนึ่งเลยทีเดียวของผู้ต้องขังคนนั้นเป็นอย่างยิ่ง ที่มีญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมมาเยือนในครั้งนี้ แต่อีกหลายคนคงจะเหงา เช่นเดียวกับพี่สาวคนหนึ่งที่ใกล้กันนั้น ดูจากเครื่องแต่งกาย ด้วยผ้าซิ่นสีน้ำเงินล้วนและเสื้อสีฟ้า คงเป็นหนึ่งในผู้ต้องขังทั้งหมด กำลังกวาดลูกไทรที่ร่วงหล่นอยู่ข้างถนน และต้องทำหน้าที่ตัวเองไปตามปกติ แต่บางทีหากคิดอีกทาง ก็อาจจะโชคดีกว่าใครอีกหลายคนที่อยู่ภายในรั้วสูงสีขาวนั้นก็เป็นได้ ด้วยได้ออกมาสู่ภายนอกที่มีกลิ่นอายของอิสรภาพอยู่ไม่ไกลในวันข้างหน้า

แดดแรงแสงกล้าขึ้นทุกขณะ ก็ได้เวลาที่จะได้เข้าไปเยี่ยมเยือน เนื่องนักศึกษาที่ไปด้วยกันในครั้งนี้ เป็นกลุ่มใหญ่ จึงมีการจัดระเบียบและตรวจตรากันนานพอสมควร จึงก้าวผ่านประตูเข้าไป ประตูแล้ว ประตูเล่าที่ก้าวผ่าน ราวกับความอิสรเสรีได้ถอยห่างออกไปทุกที และหยุดยั้งและรั้งรออยู่ตรงประตูนั้นเอง รอที่เรา หรืออีกหลาย ๆ คนในนั้นก้าวผ่านออกไป และพาความอิสรเสรีนั้นกลับไปกับตัวด้วย

ลานโล่ง ที่ปลูกต้นไม้ ดอกไม้เสียร่มรื่นและชื่นใจ นั่นก็อาจทำให้ใจที่ห่อเหี่ยวกลับสดชื่นขึ้นมาได้บ้างกระมัง ด้วยชีวิตที่ต้องถูกจำกัดอยู่ภายในนี้แทบจะหาความเริงรื่นได้ยากเต็มที จากจุดนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่แล้วจะนุ่งผ้าถุงสีน้ำเงินและเสื้อสีฟ้า ที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ขอตนเองไป ในชั้นนี้จะมีประตูอีกชั้นหนึ่งที่กั้นเป็นชั้นใสสุด หากนับรวมชั้นนี้เข้าไปอีก ก็คงจะเป็น ๕ ชั้น แต่ชั้นที่ ๕ นี่อาจจะสำหรับคนบางคนก็เป็นได้ ด้วยเห็นผู้ต้องขังอีกหลายคนต่างเดินไปมาบนลานนี้ หากเมื่อเทียบกับจำนวนทั้งหมด คงเป็นจำนวนที่น้อยมาก

เมื่อประตูนั้นเปิดออก เหมือนกับเปิดประตูใจที่จะรับรู้ และเข้าถึงวิถีความเป็นไปแห่งโลกที่ไร้อิสระเช่นนี้

ภายในรั้วนี้มีผู้คนจากหลายที่ จากหลายความผิดที่ก่อ มารวมกันอยู่ในนี้ ทั้งหมดเป็นผู้หญิง หากไม่มีความผิดติดตัวแล้ว อาจจะทำให้คิดว่าในนี้เป็นฝ่ายในของวังหลวง หรือไม่ก็อาจจะคิดว่าในนี้เป็นเมืองแม่ม่ายก็ได้เช่นกัน ทั้งที่ผู้ที่มีความผิดระดับที่ร้ายแรงต้องโทษประหาร จำคุกตลอดชีวิต หรือแบบมีกำหนด และแม้กระทั่งผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินจากศาลก็มีด้วยเช่นกัน แต่ทุกชีวิต ก็มาใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้กฎเกณฑ์อันเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด

บางคนเมื่อมาอยู่ในนี้ ได้พาบุคคลผู้ไม่มีความผิดมาอยู่ร่วมด้วย นั่นคือ “เด็ก” อันเป็นลูกของผู้ต้องขังที่ติดท้องมาตอนถูกจับ ก็ต้องมาอยู่รวมกันในนี้ด้วยเช่นกัน เด็กผู้บริสุทธิ์ ก็กลับกลายต้องถูกจองจำด้วยผิดที่มี?เป็นผู้ต้องขัง ไม่เกี่ยวอันใดกับชีวิตที่ไร้เดียงสานั้นเลย ใครจะไปรู้ “ปม” อาจถูกขมวดไว้ในใจของเด็กตั้งแต่ตอนที่คลอดมานั้นก็เป็นได้ หากปมนั้นขมวดแน่นและหลายชั้น ก็อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันหัวใจของเด็กเมื่อโตขึ้นอาจจะสูญเสียไปเลยก็ได้ ทั้งหมดเป็นปัญหาที่สืบทอดต่อไปในวันข้างหน้า ถึงแม้ว่าเป็นการคาดเดา แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้อย่างมาก ด้วยความผิดแม้แต่หนึ่งครั้ง อาจจะไม่ได้ทำลายเพียงแค่ตัวเองเท่านั้น แต่ส่งผลไปยังบุคคลอื่นอีกมากในสังคม

ถัดจากโรงเรือนเด็กอ่อน ใกล้กันนั้นเป็นห้องเยี่ยม ที่มีญาติพี่น้องแวะเวียนมาหา

หน้าต่อหน้า เสียงต่อเสียง คงจะดีไม่น้อย หากไม่มีกระจกใสกางกั้น และกรองเสียงผ่านเครื่องพูด เห็นกันอย่างชิดใกล้ แต่ก็ห่างกันเหลือเกิน พ่อแม่เยี่ยมลูก ลูกมาเยี่ยมแม่ จอแจกันอยู่ด้านนอก เป็นภาพที่สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ทำให้นึกถึงบางคนที่อยู่ใกล้กัน มีโอกาสที่จะเจอกันทุกวันกลับไม่ค่อยจะได้พูดคุยกันเท่าไรนัก ต่างฝ่ายต่างมีที่ทางส่วนตัวแม้แต่กับคนในครอบครัวก็ตามที ความอบอุ่นจะเอามาจากไหน ถ้าไม่เคยเอาให้กันและกัน บางครั้งกว่าจะได้พูดคุยกัน ปรับความเข้าใจกันก็สายเกินแก้ไปแล้วก็ได้ อาจจะถูกแบ่งกั้นด้วยกระจกใส อย่างที่ห้องเยี่ยมในห้องขังนี้ก็เป็นได้... หากคิดในแง่ดีที่หน่อย ก็ยังดีกว่าที่จะลาลับล่วงไปไม่หวนคืนอีกเลย

ห่างจากห้องเยี่ยมไปไม่ไกลนัก รูปลักษณ์คล้าย ๆ โรงงานย่อม ๆ ก็ว่าได้ เป็นโรงเรือนที่เปิดโล่ง ติดไว้ด้วยตาข่ายลวดที่ปิดล้อมไว้ ภายในมีผู้หญิงที่อยู่เครื่องแต่งกายแบบเดียวกันทั้งหมด บางคนก็ยังเป็นวัยรุ่น บางคนก็ย่างเข้าวัยกลางคน และบางคนก็เส้นผมเปลี่ยนสีเป็นสีขาวหมดทั้งศีรษะเลยทีเดียว ต่างฝ่ายต่างง่วนกับผืนผ้าและจักรเย็บ เรือนนี้เป็นเรือนที่เป็นโรงงานเย็บผ้า อันเป็นการฝึกวิชาในการประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษออกไป ให้มีช่องทางทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นการฝึกที่อยู่ในการควบคุม ทุกกระเบียดนิ้ว

ต่อไปอีกหน่อยก็เป็นโรงครัว เป็นสถานที่ประกอบอาหารที่ต้องเลี้ยงทุกชีวิตที่อยู่ในนี้ แต่ละวันจะมีรายการอาหารวางไว้ล่วงหน้า ที่จะต้องประกอบอาหารตามรายการที่วางไว้ ส่วนคนกินแม้นไม่ใช่หมอดูก็คงจำได้ว่า แต่ละมื้อจะได้รับประทานอะไรบ้าง ที่สังเกตและขอชื่นชมอยู่อย่างหนึ่ง คือทุกอย่างเป็นระบบระเบียบและสะอาดสะอ้านสมกับเป็นโรงครัว ดีกว่าโรงอาหารในมหาวิทยาลัยเสียอีก แต่นั่นแหละ ทุกอย่างล้วนมีกรอบมีเส้นที่ขีดให้เดินและเป็นไปตามนั้น ด้วยตนเองไม่มีสิทธิ์ที่จะแวะ หรือออกจากเส้นจากกรอบนั้นได้ ด้วยความอิสรเสรีได้ถูกทิ้งไว้เบื้องนอกตั้งแต่ย่างกรายเข้ามาแล้ว ทุกชีวิตต่างก็ต้องดิ้นรนที่จะอยู่ไปภายใต้กฎเกณฑ์ที่วางไว้ให้ได้

ไม่เพียงแต่การเรียนรู้ในการเย็บจักรตัดผ้าแล้ว การทอผ้าก็เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเสริมการเรียนรู้และประกอบอาชีพ กี่ทอผ้าหลายหลังวางเรียงรายอยู่ในโรงทอ มีทั้งวัยรุ่นและวัยกลางคนกำลังสับฟืมจากเส้นด้ายมาเป็นผืนผ้ากันอย่างขะมักเขม้น โดยมีผู้ที่มีอาวุโสกว่าคอยดูแลอยู่ด้วย แต่ก็ต้องทำงานในส่วนของตนด้วยเช่นกัน

เสียงกี่ทอผ้าดังผสานเสียงกับการเรียนเขียนอ่านจากโรงเรือนใกล้ ๆ ที่เป็นสองชั้น ชั้นแรกเป็นห้องส่วนประชาสงเคราะห์ให้กับผู้ที่พ้นโทษออกไป และติดตามผล และห้องใหญ่เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลาย มีผู้ต้องขังผู้ที่รักในวิชาความรู้เข้าไปนั่งอ่านกันอย่างจริงจัง แม้นว่ากำแพงสูงจะกางกันเสรีภาพในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ได้กางกั้นการเรียนรู้ ด้วยภายในมีโรงเรียนที่สอนตั้งแต่เริ่มให้อ่านออกเขียนได้ ไปจบถึงระดับปริญญาตรี สำหรับการศึกษาปริญญาตรีนั้น เป็นการเรียนทางไกลกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ผู้เรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในการเรียนระดับนี้ ซึ่งก็ได้มีผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปหลายคนแล้วเหมือนกัน นอกจากการเรียนการสอนแล้ว ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีการเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้ก้าวทันโลกที่รุดหน้าไปอย่างมาก และนี่เองอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ที่จะสามารถพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นทางด้านการศึกษาและจิตใจ เพื่อที่สู้ต่อไปในโลกภายนอกหลังจากที่พ้นโทษออกไป

เมื่อเลาะเส้นทางมาถึงอีกฟากหนึ่งนั้น จะเป็นเรือนนอนของผู้ต้องขัง ที่เป็นเรือนที่ติดเหล็กดัด ส่วนภายในนั้นเป็นห้องโล่ง ที่มีเตียงสองชั้นตั้งอยู่หลายตัว แต่ละห้องเป็นห้องใหญ่ที่อยู่ด้วยกันหลายคน ที่ต้องแบ่งปันจัดสรรกันอยู่ แทนที่จะได้อยู่กับพ่อแม่พี่น้องกลับต้องมายัดเยียดกันอยู่ในโรงนอน ด้วยความผิดที่ได้กระทำไว้ หนักบ้างน้อยบ้างต่างก็ผลักดันให้ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในนี้ทั้งนั้น

เมื่อมองจากระเบียงเรือนนอน ไปทางขวามือ ก็จะเห็นเป็นห้องอาบน้ำ ที่เปิดโล่ง ด้วยเหตุที่ในนี้ทั้งหมดเป็นผู้หญิง และผู้คุมก็เป็นผู้หญิงกันทั้งสิ้น ฉะนั้นการเปิดโล่งจึงไม่ตะขิดตะขวงใจใด ๆ ทั้งนั้น กอปรกับระเบียบของทัณฑสถานนี้ ที่ผู้ต้องขังจะต้องอยู่ในสายตาผู้คุมอยู่ตลอดเวลา

ตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน ทุกกิจกรรมต่างต้องทำตามที่กำหนดไว้ทุกอย่าง ให้เป็นระบบระเบียบและเรียบร้อยอย่างยิ่ง แรงบีบคั้นต่าง ๆ ก็กัดกร่อนหัวใจ และเชื่อว่าทุกคนปรารถนาที่จะโบยบินสู่เสรีภาพเบื้องนอก การอยู่ข้างในแม้นว่าสะดวกสบายตามอัตภาพที่พึงจะมีได้ มีการฝึกฝนวิชาชีพให้เรียนรู้ได้ก็จริง แต่การอยู่ด้วยกันกับคนรักและครอบครัวย่อมมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง

หากเลือกได้ คงไม่มีใครที่จะเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในนี้

แต่เมื่อทำผิด ก็ต้องชดใช้

ห้องขัง ขังได้แต่เพียงกายที่ต้องอยู่ในขอบเขตที่จำกัด แต่ไม่ได้ขังจิตใจที่พึงจะพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้น ตระหนักพึงรู้ถึงความผิดและการกระทำของตนอยู่ตลอดเวลา เป็นโรงฝึกให้ใจเข้มแข็ง แข็งต่อสิ่งผิด คิดในสิ่งทีถูกขึ้น

ชีวิตหลายชีวิตต่างผิดพลาด ทุกคนต่างก็เคยผิดพลาดด้วยกัน แต่คนที่สำเร็จในชีวิตจะนำความผิดพลาดนั้นมาแก้ไข และเป็นบทเรียนเพื่อที่จะผลักดันตนเองให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไปหรือไม่

ไม่มีคนใดที่ไม่เคยทำผิดเลยในโลกนี้ เพียงแต่ความผิดนั้นมากน้อยต่างกันไป เมื่อไม่สามารถที่จะทำให้ดีที่สุดได้ แต่ก็ต้องทำผิดให้น้อยที่สุด

ประตูแล้วประตูเล่าที่เดินย้อนผ่านออกมา คล้ายกับคอยกระซิบเตือนว่า ‘ดูไว้ จำไว้...ดูไว้ จำไว้...’

และแล้วแต่ละคนก็พาอิสระเสรีกลับออกไปด้วยดวงใจที่มั่นคงขึ้นกว่าเดิม๚๛


ปล. บทความนี้ คัดมาให้อ่านจากบทความที่ส่งอาจารย์ในกระบวนวิชา Huge 106 ครับ




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2549 16:36:53 น.
Counter : 926 Pageviews.  

พระอิศวร VS พระพุทธเจ้า



ก่อนที่จะมาเล่าการเผชิญหน้ากันระหว่างพระอิศวรกับพระพุทธเจ้า ใน “ฉคติทีปนี” ขอกล่าวถึงความเป็นมาของพระอิศวรในธรรมเรื่องนี้ก่อน

ในธรรมเรื่องนี้ ไม่ได้กล่าวถึงพระนามของพระอิศวรตรง ๆ แต่จะใช้ชื่อว่า “ปรเสสระ” บ้าง “ปรไมสวร” บ้าง หรือ“ปรเมสสวร” บ้าง แต่ก็คือบุคคลคนเดียวกัน

ที่ว่า ปรเมสสระ นั้นคือพระอิศวร คือ “นางเทวีแห่งตนผู้ชื่อ อุมมาเทวี” มีบริวารหลัก คือ นันทิสสรเทวบุตร และ มหิกาลิวเทวบุตร (สององค์นี้เทียบได้กับเทพองค์ไหน ก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ) และมีลูกชื่อว่า “ขันธเทวกุมาร” อันมีนกยูงเป็นพาหนะ

และกล่าวถึงการกำเนิดของปรไมสวร (เอาชื่อนี้ละกัน เป็นความชอบชื่อนี้เป็นการส่วนตัว) ไว้ว่า ในชาติก่อนนั้น ได้ทำบุญถวายทานน้ำหวาน ที่ทำจากนมวัว อันมีชื่อว่า “ควปานะ” เมื่อมาเกิดในกัปนี้ ก็เป็น “โอปปาติกภุมมเทวดา” และมีวัวอุศุภราช เป็นพาหนะ และในชาติก่อนนั้นก็ได้ให้ทานเหล็กจารใบลานและบริขารแก่สังฆะ เมื่อเกิดมาเป็นปรไมสวรก็มีหลาวเหล็ก ๓ เล่มเป็นอาวุธ

และยิ่งตอนที่เตรียมตัวก่อนจะไปหาพระพุทธเจ้า ยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากว่าเป็นพระอิศวร ซึ่งจะกล่าวต่อไป


ในสมัยที่พระพุทธเจ้า ไปเทศนามหาสมยสูตร ในเมืองกบิลพัสดุ์ เหล่าเทวดาทั้งหลายก็พากันมาฟังเทศน์กันถ้วนทั่ว วิมานทั้งหลายก็เลยไม่มีเทวบุตรเทวดาองค์ไหนสถิตเลยสักองค์ ยามนั้นปรไมสวรก็พาอุมมาเทวี อันเป็นชายา และบริวาร อันมีนันทิสสรเทวบุตร และ มหิกาลิวเทวบุตร ไปเที่ยวเล่น ก็เห็นวิมานต่าง ๆ นั้นว่างเปล่า ก็นึกฉงน ก็สอดส่องเล็งดู ก็เห็นเหล่าเทวบุตรเทวดาพร้อมทั้งท้าวพระญาศากยะท้งหลายสดับตรับฟังธรรมเทศนาอยู่ อันมี สัมมาปริสัพพาชนิยสูตร พลหทวาทสูตร มหาพยุหสูตร จุฬพยุหสูตร ปราเภทสูตร

ปรไมสวรก็คิดว่าหากเทวดาทั้งหลายฟังธรรมพระโคตรมะแล้ว จะไม่รับเอาข่าวสารแห่งปรไมสวรอีกต่อไป จึงคิดจะทำลายการเทศนาธรรมแห่งพระสมณโคดมนั้นเสีย

ปรไมสวร จึงไปยังป่าช้าอันใหญ่ พร้อมบริวาร แล้วเกลือกกลิ้งเหนือกองไฟที่เผาผีนั้น เพื่อให้เถ้าและหนังผีที่ไหม้ไฟทาตัว เอาข่าย(สิ่งที่ถักเป็นตา ๆ )ดอกไม้ แล้วเนรมิตงูเกี้ยวหัวแล้วแผ่พังพาน เอาเหลาวเหล็กสามอัน เข้าไปสู่ยังสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา


แล้วปรไมสวรก็ขับฟ้อนต่าง ๆ ใครที่จิตพร่องเบาก็โห่ร้องตามการฟ้อนรำของปรไมสวร ไม่เป็นอันฟังธรรม แล้วปรไมสวรก็ให้นามอุมมาเทวีฟ้อนด้วย คนและเทวดาทั้งหลายที่จิตพร่องเบาก็สาธุการต่อการฟ้อนหล่านั้น พร้อมกับตีกลองน้อยใหย่ บัณเฑาะว์ ระนาด ฆ้อง กังสดาล บ้างก็ลุกขึ้นฟ้อนตามไปด้วย จนกึกก้องโกลาหล กวนการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก

แต่เทวดาและฝูงชนผู้เป็นอริยสาวกแล้วนั้น เป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น ปรไมสวรก็ไม่สามารถทำให้คนกลุ่มนี้หวั่นไหวได้ง่ายๆ ส่วนพระพุทธเจ้าก็คล้ายกับว่ามองไม่เห็นปรไมสวร จึงทำการเทศนาจนจบ ปรไมสวรเมื่อเห็นว่า ไม่สามารถทำลายการเทศนาธรรมได้ จึงหนีไป หากขืนอยู่เท่ากับว่าตนเองได้มาสดับฟังธรรมเทศนานั้นด้วย

เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาธรรมจบลงแล้ว ผู้ที่มีใจหนักแน่น ก็ถึงอรหัตผล ประมาณแสนโกฏิอักโขเภณี และถึงโสดาปัตติผลมรรคผล สกิทาคามีมรรคผล และ อนาคามีมรรคผล ได้ ๑ อสงไขย ครานั้น ท้าวพระญาเมืองโกลิยะและเมืองศากยะ ก็ให้ราชกุมารทั้งหลายบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าถึง ๕๐๐ ตน (องค์)

เมื่อปรไมสวร ล้มเหลวในการทำลายธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในครั้งแรก จึงใคร่กระทำการประลองอิทธิฤทธีกับพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้าในเมืองศากยะ ในครานั้นพระพุทธเจ้าได้ไปประทับที่ป่าหิมวันต์ และสมานกายไม่ให้ใครได้พบเจอ แต่ปรไมสวรก็ประสบพบกับพระพุทธเจ้าได้ ด้วยฤทธิ์แห่งปรไมสวร เมื่อเห็นดังนั้นจึงเข้าไปเจรจา

บอกว่า “เจ้ากู (หมายถึง พระพุทธเจ้า)นั้นมีเสียงเล่าลือว่าประกอบด้วยคุณในหมู่คนและเทวดาทั้งหลายด้วยฤทธีอานุภาวะ ส่วนข้า (ปรไมสวร) นั้น ก็มีอานุภาพปรากฏในคนและเทวดาทั้งหลายด้วย จะมีใครมาเทียบเราทั้งสองไม่มีเลย เจ้ากูมีฤทธิ์อานุภาพด้วยบารมีฌานผล ส่วนข้ามีฤทธิ์ด้วยบารมีกรรม แต่ข้าก็ไม่เคยประจักษ์ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งเจ้ากู ฉะนั้น ในครั้งนี้เห็นควรว่า เราทั้งสองจักสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์กันเถิด”


เมื่อปรไมสวรกล่าวเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็เล็งเห็นว่า ในกาลภายหน้า ปรไมสวรจะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็กล่าวกับปรไมสวรว่า “หากจะเห็นอิทธิอานุภาพแห่งพระตถาคตแล้ว กำสำแดงอิทธิอานุภาพแห่งท่านออกมาก่อนเถิด”

ปรไมสวรได้ฟังดังนั้นก็ชวนพระพุทธเจ้าเล่นลี้ (ซ่อนแอบ) ดั่งเด็กน้อย คนหนึ่งเป็นคนลี้ คนหนึ่งเป็นผู้หาให้เจอ

พระพุทธเจ้าก็ตกปากรับคำในการเล่นลี้กันในครั้งนี้ ปรไมสวรจึงให้พระพุทธเจ้าปิดตา แล้วตนเองจะเป็นฝ่ายลี้ ด้วยคิดในใจว่า หากพระพุทธเจ้าลี้ก่อน แล้วตนเองหาไม่เจอแล้ว พระพุทธเจ้าจะไม่ยอมหาเมื่อตนเองเป็นฝ่ายลี้

ครั้นพระพุทธเจ้าปิดตาลง ปรไมสวรจึงหายตัวจากที่นั้นแล้วดำดินลงไปถึงชั้นที่มีรสหวาน แล้วแปลงกายให้เล็กเท่า ปรมาณู อันคล้ายดั่งผงธุลีที่ปลิวอยู่ในอากาศนั้น เมื่อลี้ได้แล้ว จึงกู่ให้พระพุทธเจ้าออกค้นหา ด้วยสัพพัญญุตญาณ คล้ายดั่งเขี่ยแผ่นดินนั้นแล้วเอามือหยิบเอาผงธุลีอันเป็นองค์ปรไมสวรแปลงนั้น มาไว้เหนือฝ่ามือแล้วเขี่ยไปมา แล้วกล่าวว่า ท่านจงลุกมาเถิด

ปรไมสวรนึกว่าพระพุทธเจ้าไม่เห็น จึงยังคงนิ่งอยู่อย่างนั้น

ฝ่ายพระพุทธเจ้านั้นก็รู้ถึงความคิดของปรไมสวร จึงกล่าวว่า ท่านคิดหรือว่าตถาคตะจักไม่เห็นท่าน ตถาคตะเห็นท่านทั้งตีน มือ เล็บ แลขุมขน ไส้ใหญ่ไส้น้อยทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะหลุดรอดสายตาไปได้

ปรไมสวรได้ยินดังนั้นก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้าได้จวบพบตนเองแล้ว จึงเนรมิตกายกลับคืนมาดังเดิม พระพุทธเจ้ากล่าวว่า แม้นว่าปรไมสวรลี้หนีไปอยู่ในน้ำมหาสมุทรก็ดี ไปเนรมิตเป็นสัตว์นรกอยูในนรก ๑๒๘ ขุมก็ดี เนรมิตเป็นยมบาลก็ดี เนรมิตเป็นสัตว์เดรัจฉานไม่ว่าจะแปลงเป็น นาค ครุฑ สัตว์ ๔ ตีน ๒ ตีน หรือมากกว่านั้น หรือไม่มีตีนเลย ก็ดี เนรมิตเป็นเทวดาตั้งแต่ฉกามาจนถึงพรหมก็ดี เนรมิตเป็นต้นไม้เถาวัลย์ก็ดี เป็นภูดอยหินผาอันใดก็ดี พระพุทธองค์ก็เห็นหมดทุกสิ่ง

ปรไมสวร จึงไม่สามารถจะลี้ไปอันใดได้ จึงกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า “ขอให้เจ้ากูลี้เถิด ข้าจักหาท่านเอง

เมื่อได้ฟังดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตกายให้เท่ากับผงธุลี ไปลี้อยู่ระหว่างคิ้วของปรไมสวร ซึ่งคล้ายกับขนตาอยู่ใกล้ตาแต่กลับมองไม่เห็น แล้วพระพุทธเจ้าก็กู่เรียกให้ไปหาได้

ปรไมสวรก็เล็งหาดูในหมื่นจักรวาลก็ไม่จวบพบ ไม่ว่าจะทวีปทั้ง ๔ ภูเขาลำห้วย พฤกษาลดาวัลย์ พื้นน้ำมหาสมุทร เมืองครุฑเมืองนาค นอกจักรวาล หรือแม้แต่ในฉกามาพจรภพโสฬสพรหม ก็ไม่พบเจอ ค้นแล้วคนอีก อยู่อย่างนั้นเจ็ดรอบก็ไม่พบได้ ในที่สุดก็ยอมแพ้ บอกให้พระพุทธองค์ปรากฏออกมา

พระพุทธองค์จึงเนรมิตบันไดแก้ว ๗ ประการ พุ่งออกจากหน้าผากปรไมสวรลงไปยังพื้นดิน พระพุทธองค์ก็เสด็จลีลาลงจากหน้าผากปรไมสวรแล้วไปประทับอยู่ในที่อันควร

ปรไมสวรเห็นดังนั้นก็มีความเลื่อมใส สรรเสริญพระพุทธเจ้า ด้วยอิทธิอานุภาพแห่งองค์พระพุทธเจ้านั่นเอง แล้วพระพุทธเจ้าก็สั่งสอนปรไมสวรและให้ตั้งอยู่ในไตรสรณะ แล้วก็กลับมายังเชตวันอาราม สั่งสอนปัณสัตว์ตราบจนเสด็จเข้าสู่โมกขนิพพาน

เมื่อพระพุทธเจ้าตั้งศาสนาไว้ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ปรไมสวรมีใจศรัทธา จึงเนรมิตอาวาสปราสาทอันประดับประดาด้วยแก้ว ๗ ประการ ภายในปราสาทนั้นประดับด้วยแก้วต่าง ๆ เสาเป็นแก้ว พื้นก็ปูด้วยแก้วทับทิม เวลาเหยียบลงไปก็จะยุบอ่อนนุ่ม แต่พอยกเท้าขึ้นก็ยกตัวมาเสมอกันดังเดิม ส่วนบันไดนั้นทำมาจากเงิน และก่อศาลาบริจาคด้วยแก้วต่าง ๆ มากมายสุดจะคณนานับ

ปรไมสวรก็เนรมิตสารูปพิมพาของพระพุทธเจ้าด้วยแก้วตามลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนั้น ประดิษฐานเหนือแท่นทองในปราสาทนั้น และให้นายมกฏะเทวบุตรอันเป็นใหญ่แก่วอกทั้งหลายเป็นข้าพระ ดูแลอุปัฏฐากพระพุทธรูปพร้อมทั้งกัลปนาปัจจัย ๔ และเครื่องบริโภคทั้งหลายไว้สำหรับบูชาพระพุทธ

ในยามนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย ๕๐๐ ตน ที่อยู่ในนันทคูหาข้างดอยคันธมาทน์ ก็เหาะมาไหว้พระพุทธรูป และฉันข้าวที่ปรไมสวรถวายให้เป็นดั่งนี้ทุกวัน


ในยามนั้น ยังมีฤๅษีอยู่ ๔ ตน ซึงได้ปัญจอภิญญา และคุ้นเคยกันกับปรไมสวร ฤๅษีทั้ง ๔ ก็คุยกันว่า จะไปหาปรไมสวรเพื่อที่จะได้ ตบะอันบริสุทธิ์ จึงเหาะมาหาปรไมสวร เมื่อเจอพระพุทธรูปก็เป็นที่ประหลาดใจแก่ทั้งสี่เป็นอย่างมาก จึงแอบนั่งชิดอยู่ที่ฝาด้านหนึ่ง

ยามนั้น นายมกฏะอันเป็นอารามิก ( หรือ ข้าพระ หรือที่เอกสารทางอยุธยาเรียกว่า คนทานพระกัลปนา นั่นเอง) ก็ตกแต่งอาหารของฉันสำหรับอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ และเครื่องบูชาสำหรับพระพุทธเจ้า พร้อมกับผอบแก้วสองอัน เข้ามาจัดแจงภายในปราสาทเพื่อรอคอยปรไมสวร และอรหันต์ที่จะมา

เมื่ออรหันต์ทั้ง ๕๐๐ เหาะมาถึง นายมกฏะก็ถวายดอกไม้แก่อรหันต์ทั้งหลายเพื่อไปบูชาพระพุทธรูป แล้ววียนปทักขิณ ๓ ทีแล้วออกมา ยามนั้น ปรไมสวรเมื่อเห็นอรหันตาทั้งหมดมาถึงด้วยญาณทิพย์ ก็เสด็จมาพร้อมกับอุมมาเทวี บนหลังอุศุภราช พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายมาถึง นายมกฏะก็เอาผอบแก้วให้กับปรไมสวรและอุมมาเทวี เอาไปไหว้บูชาพระพุทธรูป แล้วออกมาไหว้กับอรหันตาและบูชาด้วยอามิสบูชาต่าง ๆ พร้อมทั้งถวายของฉันทั้งมวล แล้วอรหันตาทั้งหมดก็เหาะกลับไปยังแห่งที่อยู่

แล้วปรไมสวรก็เจรจากับฤษีทั้ง ๔ ที่แอบอยู่นั้นแล้วก็เสด็จกลับ

แล้วนายมกฏะก็เสสังฆ์เอาข้าวที่พระอรหันตาฉันเหลือมาให้กับฤๅษีทั้ง ๔ เมื่อฤๅษีฉันแล้วก็เห็นอัศจรรย์ทั้งหลายในสิ่งที่ปรไมสวรกระทำด้วยศรัทธาเลื่อมใสในแก้วสามประการ แล้วฤๅษีทั้ง ๔ ก็มีใจเลื่อมใสด้วย จึงคิดใคร่บวชในศาสนาของพระตถาคต จึงลากลับ เมื่อฤๅษีพ้นจากพิหารไปแล้ว พิหารนั้นก็อันตรธานหายไปกลายเป็นป่าดงดอย แล้วในที่สุด ฤๅษีทั้ง ๔ ก็แสวงหาอาจารย์และบวชในบวรพุทธศาสนา

และการที่ปรไมสวรเนรมิตพุทธรูปและวิหารไวสักการบูชา แล้วไว้อารามิก(ข้าพระ) ไว้อุปัฏฐากพระพุทธรูป ดังกล่าว กลายเป็นจารีตที่สืบต่อกันมา ในการสร้างกุฏี พิหาร เจติยะ ทั้งหลายเพื่อบูชา และมีการกัลปนา “ข้าพระ” ไว้อุปปัฏฐากอยู่เนืองๆ

นิฏฐิตัง กรียา สังวัณณาวิเสส จาห้องเหตุปรเมสสรวัตถุกถา ก็สมเร็จสระเด็จเท่านี้ก่อนแล ๚๛




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2549 15:36:02 น.
Counter : 11582 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศศิศ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.