|
งดงามตามแบบวิหารไทลื้อในเมืองน่าน
เมืองน่านดินแดนในอ้อมกอดของขุนเขาล้อมรอบ การเดินทางติดต่อกับท้องถิ่นอื่นมีอยู่ไม่กี่เส้นทาง จึงเกือบเป็นเมืองที่ปิดอยู่กลาย ๆ ทำให้สภาพแวดล้อมภายใน มีการเปลี่ยนแปลงช้าเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง
ทำให้เมืองน่านยังคงกลิ่นอายวัฒนธรรมเก่า ๆ ไว้ได้อย่างเยี่ยมยอด และสืบทอดกันมาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านที่เรียบง่าย สงบ ไม่โอ่อ่าฟู่ฟ่าแบบในเมืองใหญ่ ๆ อยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ ป่าไม้ดงดอย และสายน้ำน้อยใหญ่ที่หลั่งไหลจากป่าไม้อันอุดมได้อย่างมีความสุขร่มเย็น การที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น หล่อหลอมกล่อมเกลาจิตใจให้สงบเยือกเย็น ทำให้สร้างสรรค์สิ่งดีงาม ต่าง ๆ เอาไว้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นระเบียบแบบแผน จารีต ประเพณี รวมถึง ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สอดแทรกวิญญาณของท้องถิ่นเข้าไปด้วย
การทำด้วยจิตวิญญาณ ศรัทธา และความเชื่อ แม้ว่าราคาจะไม่มาก แต่คุณค่าของมันนั้นมีสุดคณานับ ไม่ว่าจะเป็นใครที่จรรโลงสรรค์สร้าง ก็ไม่ผิดแผกจากกัน
ท่ามกลางเทือกเขาดงดอยที่สลับซับซ้อนคั่นกับที่ราบเป็นหย่อม ๆ ก็มีสิ่งดี ๆ งาม ๆ ซุกซ่อนอยู่มากมาย การที่เราจะเห็นได้นั้น ไม่เพียงแต่ที่จะเสาะหามันพบ หากแต่พบแล้วไม่เปิดใจรับ ก็ไม่ต่างอะไรก็เสาะหาแล้วไม่เจอ ที่สำคัญคือ การที่เปิดหัวใจรับรู้สิ่งต่าง ๆ เมื่อฝ่ายหนึ่งทำและถ่ายทอดออกมาจากใจ มาเป็นรูปเป็นร่าง และอีกฝ่ายมาเห็นและรับรู้สิ่งนั้นด้วยใจเช่นกัน ใจต่อใจ ข้อมูลบางอย่างย่อมส่งผ่านมาตามกระแสนั้น
วัดหลายวัดที่กระจัดกระจายในพื้นราบหุบเขาของจังหวัดน่าน ล้วนด้วยความสวยงามแตกต่างกัน จะมีไม่กี่ที่ที่จะมีความพิเศษเฉพาะตัว ขับเน้นความเป็นหนึ่งของตัวเองออกมา อย่างเช่น วิหารทรงไทลื้อ ที่จะกล่าวต่อไปนี้
ก่อนที่จะมากล่าวถึงตัววิหาร มารู้จักกับกลุ่มไทลื้อในจังหวัดน่านก่อนว่า มีความเป็นมาอย่างไร ถึงได้มาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสวยงามเหล่านี้ได้
กลุ่มไทลื้อ เป็นสายตระกูลไทกลุ่มหนึ่ง ที่เคยเรืองอำนาจในดินแดนสิบสองปันนา แม้ในปัจจุบันดินแดนแถบนั้นชนหมู่มากก็ยังเป็นไทลื้ออยู่เช่นเดิมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไทลื้อมีความสัมพันธ์ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มไทยวนเสมอมา ไม่ว่าด้วยมิตร หรือว่า ศัตรูคู่สงคราม ทำให้มีผลต่อการเคลื่อนย้ายประชากรอยู่เนือง ๆ บางครั้งยังเกี่ยวดองฉันเครือญาติด้วย เช่น พระนางเทพคำขยาย พระมารดาของพระญามังราย ก็เป็นชาวไทลื้อ ในสิบสองปันนา
ครั้งใหญ่สุดจะเห็นเป็นในยุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ของเจ้าหลวงกาวิละ แห่งนครเชียงใหม่ ที่ต้องการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังจากที่เป็นเมืองร้างมานานหลายปี จึงยกกองทัพ ไปเทครัว ไทขึนบ้าง ไทลื้อที่สิบสองปันมาบ้าง ให้มาอยู่อาศัยในที่ต่าง ๆ ของดินแดนล้านนา การเทครัว เป็นการยกมาทั้งหมดทั้งมวล ทุกผู้ทุกคน ทุกระดับชนชั้น ไม่ว่า เจ้า หรือ ไพร่ฟ้าข้าเมือง เมื่อยกมาทั้งเมือง เมื่อมาอยู่แห่งใหม่ จึงเรียกขานที่แห่งใหม่นั้นเหมือนกับที่อยู่เดิมที่จากมา
การเข้ามาของไทลื้อในจังหวัดน่านนั้น ในสมัยของเจ้าอัทธวรปัญโญ ก็ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา เมืองเชียงแขง ซึ่งครั้งนั้น ชาวเมืองเชียงรุ่ง เชียงแขง ได้สวามิภักดิ์ และได้ตามไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรครั้งใหญ่ ก็เห็นจะเป็นในสมัยของเจ้าสุมนเทวราช จุลศักราชได้ 1174 (พ.ศ.2355) เดือน 3 อาชญาหลวงเจ้าก็กวาดเอาครัว เมืองล้าเมืองภง เชียงแขง เมืองหลวงพูคาลงมาไว้เมืองน่าน มี 6 พันครัวหั้นแล (1)
นอกจากการกวาดครัวจากการกรีธาทัพขึ้นไปนั้น ก็ยังมีไทลื้อบางส่วนที่อพยพงมาเนื่องจากการเมืองภายในของกลุ่มไทลื้อด้วยกันเอง เช่นที่เมืองล้า ที่เกิดการแย่งชิงอำนาจภายใน ทำให้บางส่วนต้องอพยพลงมาอยู่ในเขตอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านเมื่อครั้งอดีต
ในระยะต่อมาในสมัยที่รัฐชาติของไทยทำลังก่อร่างสร้างตัว ทำให้ไทลื้อบางกลุ่มก็ทยอยกันลงมายังเมืองน่าน เมืองต่าง ๆ กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า มาอยู่ในเขตอำเภอปัว ทุ่งช้าง เชียงกลาง ฯลฯ
เมื่อมาอยู่กันเป็นชุมชน สิ่งที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนก็คือ วัด การสร้างวัดเป็นสะท้อนตัวตนที่มีอยู่และมีมาจนถึงวันนี้ ซึ่งแตกต่างจากสำเนียงเสียงพูดที่บางแห่ง ได้กลายเป็นคนเมืองไปหมดแล้ว ไม่เหลือเค้าเสียงสำเนียงของไทลื้อเลย
เมื่อพูดถึงไทลื้อ ที่สำคัญแห่งแรกที่จะกล่าวถึง ก็คือ วัดหนองบัว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 42 กิโลเมตร ไปทางสายเหนือ ในท้องที่บ้านหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา
ชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนไทลื้อที่เข้มแข็ง ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของไทลื้อไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น ภาษา การทอผ้า ตลอดถึงประเพณีเข้ากัมม์ของไทลื้อ และ ที่ขาดไม่ได้คือการบวงสรวงเจ้าหลวงเมืองล้า (ซึ่งปัจจุบันเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองล้า ที่บ้านหนองบัวนี้ก็ยังคงมีอยู่) อันสืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า
วัดหนองบัวที่เห็นอยู่นี้ สร้างในปี พ.ศ.2405 นำโดย ครูบาหลวงสุนันทะและช่วยกันสร้าง ซึ่งตรงกับสมัยของเจ้าอันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2471 ส่วนวัดเดิมนั้นอยู่บริเวณริมหนองบัวหรือหนองหยิบ ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2215 สำหรับอุโบสถนั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469 โดยพระอภิวงษ์ อภิวํโส
 รูปภาพ 1 วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาพจากเว็บ //www.thai-tour.com/thai-tour/North/Nan/data/place/Pictures_wat_nongbua.htm
จากประวัติการสร้างวัดนั้น สล่าหรือช่างที่เป็นผู้สร้างวัด ก็เป็นชาวบ้านลูกหลานชาวไทลื้อ ทำให้งานที่ออกมานั้น ออกมาจากจิตวิญญาณที่เลื่อมใสศรัทธา ที่เข้าใจในวิถีชีวิตเป็นอย่างดี วิหารที่ออกมานั้นเป็นวิหารขนาดย่อมเหมาะสมกับการใช้สอย รูปทรงเตี้ยแจ้ หลังคาลดหลั่นซ้อนกัน 2 ชั้น 2 ตับ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา ส่วนชายคานั้นคลุมลงมาต่ำเกือบถึงพื้น แม้ว่าจะพลัดบ้านผ่านเมืองมา ก็ยังเคยชินที่จะอยู่จะเป็นแบบดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ภูมิใจในท้องที่ถิ่นเกิด ซึ่งไม่เหมือนกันคนรุ่นใหม่ที่สายใจในรากเหง้าขาดหาย พร้อมที่จะโบยบินไปสู่แหล่งที่ คิดเอาเอง ว่าเจริญกว่า
นอกจากแหล่งสถาปัตยกรรมอันสวยงามแล้ว ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่แต่งแต้มบอกถึงวิถีชีวิตในสังคม โดยบอกเล่าผ่านชาดกเรื่อง จันทคาธชาดก หรือ จันทคาปูจี่ อันเลื่องชื่อลือนาม
แหล่งสังคมไทลื้อที่ใหญ่แห่งหนึ่งก็คือที่อำเภอปัว ซึ่งมีแหล่งสถาปัตยกรรมตามแบบฉบับของไทลื้อที่งดงาม นั่นก็คือ วัดต้นแหลง วัดต้นแหลง ตั้งอยู่ที่ บ้านต้นแหลง ตำบลไชยวัฒนา อำเภอปัว ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตรมาตามทาง น่าน ทุ่งช้างสายเก่า อยู่ใกล้กับลำน้ำปัว และลำน้ำขว้าง การที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำนี้ ก็ทำให้มีการย้ายวัดหลายครั้งในเมื่ออดีต เพื่อหนีน้ำท่วม แล้วก็กลับมาตั้งในใจกลางหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีใจความว่าไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2390 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2570 แต่ในบางตำนานเล่าว่า สร้างมาเก่าแก่กว่านั้นอีก (ก่อนที่จะมีการย้ายเนื่องจากน้ำท่วม)ว่า สร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2127 (2) และได้มีการบูรณะกันมาหลายครั้งหลายครา อย่างเช่นในปี 2469 ที่ได้มีการสร้างพระประธานองค์ใหญ่
 รูปภาพ 2 วิหารวัดต้นแหลง ต.ไชยวัฒนา อ.ปัว จ.น่าน ภาพจากเว็บไซด์ //www.nantouring.com/tonlang/tonlang.asp
ตัวอาคารวิหาร(3) เตี้ยแจ้ เจาะช่องหน้าต่างเล็ก ๆ แคบ ๆ ทำให้ภายในวิหารมืดทึม ซึ่งหากดูถึงสถานที่ชาวไทลื้อจากมานั้น เป็นพื้นที่ที่มีอากาศเย็น การทำให้ภายในมืดทึม ช่วยกันความหนาวเย็นจากภายนอกได้ และประตูที่เปิดกว้างด้านหน้า กับภายในที่มืดทึม ยามที่แสงอาทิตย์สาดส่องผ่านเข้าไปในวิหาร แล้วจับต้ององค์พระ ทำให้ดูมลังเมลือง สวยงามจับใจ น้อมนำมาซึ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา
หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดหรือกระเบื้องไม้ ทรงตะคุ่ม หลั่นลดกันลงมา 3 ชั้น หน้าบันประดับด้วยไม้โปร่งทำเป็นรัศมีแฉก และแผ่นโลหะสีขาวที่ประดับเรียงเป็นแถวใต้รัศมีนั้น ดูโดดเด่นเห็นแต่ไกล เป็นแหล่งรวมใจของชาวบ้าน ที่ยืนหยัดสู้ฟ้ากรำฝนมาจนถึงปัจจุบัน แม้นว่าตัววิหารจะเหลือเพียงสิ่งเดียวที่แสดงถึงร่องรอยของวัฒนธรรมไทลื้อ ในท่ามกลางของการกลายเป็นคนเมืองไปเสียสิ้น
ถัดจากอำเภอปัวขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ สู่อำเภอเชียงกลาง ที่บ้านหนองแดง ตำบลพระธาตุ ที่นั้นยังมีชุมชนไทลื้ออยู่และได้รังสรรค์ผลงานอันมีค่าให้ปรากฏอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
วัดหนองแดง เป็นอีกสถาปัตยกรรมไทลื้ออีกแห่งที่ ที่มีความสวยงามและโดดเด่น เมื่อมองแต่ไกล จะเห็นช่อฟ้าที่สง่างามและแปลกตา แทนที่จะเป็นรูปหงส์อย่างวัดทั่ว ๆ ไป กลับเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ มีหงอนงวงงาสวยงาม และดอกประจำยามประดับกระจกที่หน้าบัน สะท้อนล้อแสงวาววับระยับเต้น
ตัวหลังคาเป็นผืนใหญ่สูงปูด้วยแป้นเกล็ด ช่วงบนคลุมจั่ว ส่วนครึ่งล่างตัดลาดลงและมีความชันมาก เพื่อให้ช่วยระบายอากาศภายในได้อย่างสะดวก และให้น้ำฝนที่ตกลงมานั้น ไหลลงสู่พื้นดินได้อย่างรวดเร็ว ภายในนั้นยังบุด้วยฝ้าเพดานอีกชั้นหนึ่ง
 รูปภาพ 3 วิหารวัดหนองแดง ภาพจากเว็บไซด์ //www.nakornnan.com
ตัวอาคารเตี้ย ภายในมืดทึบ เหมือนกับวิหารไทลื้อที่อื่น ๆ แต่ไม่อึดอัดเนื่องด้วยหลังคาสูง ทำให้อากาศหมุนเวียนได้ดี แสงที่ลอดสอดส่องเข้ามานั้นมีเพียงทางหน้าต่างที่เจาะเป็นช่องและทางประตู ไม่สว่างมากนัก แต่แสงเพียงแค่นี้ กลับช่วยขับเน้นองค์พระประธานและนาคบัลลังก์ ให้องอาจ ยิ่งใหญ่ หากเป็นแสงจากวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ไม่สามารถทำให้ภาพที่ออกมายิ่งใหญ่เท่าเทียมได้ นาคบัลลังก์นั้น เป็นฐานชุกชีที่มีนาคสองตัว เกล็ดสีเขียวเข้ม หงอนแดงฉาน เลื้อยจากด้านหลังองค์พระประธาน อ้อมมาชูคออยู่คนละฟากของพระพุทธรูปราวกับระแวดระวังภัยแลปกปักษ์รักษาให้พ้นจากอันตรายทั้งหลาย
นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนแห่งความร่วมแรงร่วมใจกันของพี่น้อง 2 กลุ่ม คือ ทั้งไทลื้อ และไทพวน ที่ร่วมแรงกันสร้างวัดหนองแดงขึ้นมา ใน พ.ศ. 2330 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2365 นับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่มากอีกวัดหนึ่ง
............
ทั้งสามแห่งนั้น ล้วนแล้วแต่มีความงามอันเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ตามสภาพแวดล้อม สังคม และองค์ประกอบอื่นได้ฝ่าความแปรปรวนของธรรมชาติ ฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม ตั้งมั่นยืนหยัดเป็นแหล่งรวมใจของผู้คนจากอดีต ถึงปัจจุบัน
สองมือที่จับคันไถ สองมือที่จับเคียวเกี่ยวข้าว ที่ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และสองมือนั้นเอง ที่บรรจงสร้างสิ่งที่งาม ที่มีคุณค่า และมีความมายมากมายสำหรับผู้คน ที่อยู่ภายใต้วิถีชีวิตแบบเดียวกันตลอดถึงผู้อื่นที่ได้มาพบมาเห็น มาซาบซึ้งถึงวิถีแห่งภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดเอาไว้
ในท่ามกลางขุนเขาดงดอยที่ล้อมรอบ ไม่ได้เป็นป้อมปราการแห่งศิลปะ และความละเอียดอ่อนแต่อย่างใด หากมาแต่เนื้อในแห่งตนที่มีจิตมุ่งมั่นและศรัทธา ผสานกับความเชื่อ จารีต ประเพณีอันดี ในวิถีแห่งการดำรงชีวิต แสดงถึงความเป็น อารยะ โดยไม่ต้องไปแสวงไขว่คว้ามาจากที่อื่นใดเลย
ของดีที่มีอยู่ ไม่ใช่ดีเพราะผู้อื่นบอก หากว่าดี เพราะเราตระหนักนึกถึงคุณค่าต่อของที่เรานั้น มีอยู่ ๚๛
เชิงอรรถ
(1) สรัสวดี อ๋องสกุล. พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด.(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ) .2539 หน้า 46 (2) สามารถ สิริเวชพันธุ์, เลี่ยม ธีรัทธานนท์. สถาปัตยกรรมวัดไทยลื้อในเขตจังหวัดน่าน.(เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). 2530 หน้า 3 (3) ซึ่งเป็นทั้งวิหาร และ อุโบสถ ร่วมกัน
Create Date : 25 พฤษภาคม 2549 |
Last Update : 25 พฤษภาคม 2549 12:51:52 น. |
|
11 comments
|
Counter : 1765 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: กระจ้อน วันที่: 28 พฤษภาคม 2549 เวลา:12:20:53 น. |
|
|
|
โดย: คนไทยในแคลิฟอร์เนีย IP: 71.146.173.172 วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:4:34:16 น. |
|
|
|
โดย: ลอง IP: 125.25.149.24 วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:15:29:15 น. |
|
|
|
โดย: คนไทยในแคลิฟอร์เนีย IP: 71.146.131.124 วันที่: 27 มีนาคม 2550 เวลา:0:12:34 น. |
|
|
|
โดย: ละอ่อนน่าน IP: 58.181.145.220 วันที่: 31 สิงหาคม 2550 เวลา:14:49:45 น. |
|
|
|
โดย: cdthaimovie IP: 58.8.86.148 วันที่: 25 กันยายน 2550 เวลา:11:25:09 น. |
|
|
|
โดย: พั้นช์ IP: 222.123.68.119 วันที่: 10 ธันวาคม 2550 เวลา:20:48:23 น. |
|
|
|
โดย: มิ้กกี้ IP: 222.123.68.119 วันที่: 10 ธันวาคม 2550 เวลา:20:52:15 น. |
|
|
|
โดย: ลื้อบ้านถิ่น IP: 117.47.224.77 วันที่: 24 มกราคม 2552 เวลา:22:48:17 น. |
|
|
|
โดย: ส้มสีทองเมืองน่าน IP: 118.172.126.170 วันที่: 23 พฤศจิกายน 2552 เวลา:15:42:02 น. |
|
|
|
| |
|
|