Group Blog
 
All Blogs
 

หนังสือปีใหม่ ปีเมืองใค้ (ปีกุญช์นพศก) จ.ศ. ๑๓๖๙ ตัว



หนังสือปีใหม่ ปีเมืองใค้ (ปีกุญช์นพศก) จ.ศ. ๑๓๖๙
อธิกมาส ปกติวาร ปกติสุรทิน


มังคลวุฑฒิสิริศุภมัสตุ จุลศกราชได้ ๑๓๖๘ ตัว จอฉนำ กัมโพชพิสัย เข้ามาในคิมหันอุตุ จิตรมาส กาฬปักษ์ ทวาทสมี โสรีวารไถงไทภาษาว่าปีรวายเส็ด เดือน ๗ แรม ๑๒ ฅ่ำ พร่ำว่าได้วันเสาร์ วันไทเปิกยี วันที่ ๑๔ เมษายน ยามนั้น รวิสังขานต์ มีตนเรื่อเรืองงามดังฅำสิงคี ประดับตนด้วยนีลอาภรณ์สีเขียว ใส่เครื่องประดับอันงามเลิศแล้วด้วยแก้วมรกตแสงใส มือขวาบนถือหอก มือซ้ายบนถือธนู มือขวาลุ่มถือดาบสรีกัญไชย นอนซะแคงบนหลังพระญาพยัคฆะ คือว่าเสือ จักย้ายจากมีนราศีประเทศ ไปสู่เมษราศีด้วยโคจรวิถี ในยามตูดช้าย เวลา ๑๒ นาฬิกา ๔๓ นาที ๑๒ วินาที ฅนทังหลายจิ่งเรียกว่าสังขานต์ล่อง

ยามนั้นยังมีนางเทวดา ผู้ชื่อว่ายามา ยืนถ้ารับเอาขุนสังขานต์ ด้วยเหตุปีนี้สังขานต์ไปวันเสาร์ ฝนหัวปี กลางปี หางปี บ่มีหลาย จักเปนอันตรายแก่ท้าวพระญา เสนาอามาตย์ ปีนี้อังคารตกภูมิแผ่นดิน บ้านเมืองจักมีข้าเสิก็ เข้าของจักแพง ฅนเกิดวันอาทิตย์จักมีลาภ ฅนเกิดวันศุกร์จักมีเคราะห์

ในวันสังขานต์ไปนั้น จุ่งหื้อพากันไปสู่แม่น้ำทางไฅว่ เค้าไม้ใหญ่ อว่ายหน้าไปสู่ทิสะตะวันตกแจ่งใต้ พากันสระเกล้าดำหัว อาบองค์สรงเกศ ด้วยคาถามอันวิเศษว่า “สัพพทุกขา สัพพภะยา สัพพะคะหา สัพพอันตรายา วินาสันตุ”

ปีนี้ศรีอยู่หน้าแฅ่ง กาลกิณีอยู่หน้าผาก จังไรอยู่กระหม่อม เอาส้มป่อยเช็ดฅว่างเสีย ผีหัวหลวงอยู่ทิศอาคเนย์ ดำหัวอย่าเบ่นหน้าไปทางนั้น แล้วมานุ่งผ้าผืนใหม่ เหน็บดอกไม้นามปี ปีนี้ดอกเอื้องเปนพระญาดอก ควรเอาดอกเอื้องเผิ้ง เอื้องฅำ เอื้องสามพอย(ปอย) และดอกเอื้องมอนไข่ ทังหลายเหน็บหื้อเปนมังคละ จักอยู่สุขสวัสดีชะแล

ในเดือน ๗ แรม ๑๓ ฅ่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๕ เมษายน ไทได้วันกัดเหม้า เปนวันเน่า ปีนี้มีวันเน่าวันเดียว อย่าได้ทำการมงคลในวันนี้ อย่าได้วิวาทผิดเถียง เดือดด่า จักบ่ดีตลอดปี

ในเดือน ๗ แรม ๑๔ ฅ่ำ(เดือนเจ็ดดับ) วันเม็งได้วันจันทร์ ไทได้วันกดสี พระสุริยอาทิตย์เสด็จทิพย์วิมาน ได้เวลากาลได้ยามพาดฅ่ำ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๔๐ นาที ๔๘ วินาที

ยามนั้นจุลศักราชก็ขึ้นแถม ๑ ตัว เปนจุลศักราช ๑๓๖๙ ตัว กุญชรฉนำกัมโพชพิสัย ไทภาษาว่าปีเมืองใค้ หื้อพากันได้กระทำบุญหื้อทาน ทานเจดีย์ทราย ช่อทุง ไม้ค้ำสรี พากันสระสรงองค์พระพุทธรูปเจ้าและดำหัวครูบาสังฆะ พ่อเถ้าแม่อุ้ย และพ่อแม่ จักเปนบุญบารมีกับตนไปใจ้ใจ้ อยู่สุขสวัสดีไปตลอด

ปีนี้เศษ ๑ วอกรักษาปี นกแลรักษาเดือน นกเงือกรักษาป่า ไก่รักษาน้ำ เทวบุตรชื่อทังสตยะรักษาอากาศ กุมภัณฑ์รักษาแผ่นดิน ท้าวพระญาเปนใหญ่แก่ฅน งัวเปนใหญ่แก่สัตว์ ๔ ตีน นกยางเป็นใหญ่แก่สัตว์ ๒ ตีน ไม้ถิมเป็นใหญ่แก่ไม้จิง ไม้มะเทเปนใหญ่แก่ไม้กลวง หญ้าหนิ้วหมูเปนใหญ่กว่าหญ้าทังมวล ไม้พานแขเปนพระญาแก่ไม้ทังมวล ดอกเอื้องเปนพระญาแก่ดอกทังหลาย ขวัญเข้าอยู่ไม้รวก ผีเสื้ออยู่ไม้สะเลียม จักมีภัยอันตรายแก่สัตว์ ๔ ตีน

นาคหื้อน้ำ ๓ ตัว บันดาลหื้อฝนตก ๕๐๐ ห่า ชื่อจันทาธิปติ ตกในมหาสมุทร และเขาสัตตปริภัณฑ์ ๒๔๗ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๖๑ ห่า ตกในมนุษย์โลก ๙๒ ห่า

ปีนี้เทวดาวางเครื่องประดับหนพายัพ ปาปเคราะห์ตกหนอิสาน ปาปลักขณะอยู่หนหรดี ทิสะเหล่านี้เป็นอัปมงคล บ่ดีไป บ่ดีทำมังคลกรรมแก่บ้านเมือง บ่ดีปกเสามงคลทิสะนั้น จักเสียสรีเตชะ

ปีนี้เศษ ๑๐ ชื่อปัตตาธิมาส มีอธิกมาสเดือน ๑๐ สองเทื่อ ควรนิมนต์พระสังฆเจ้าเข้าพรรษาทุติยอาสาฬหะเดือนสิบหลัง จิ่งจักชอบตามโปราณปาเวณี

อตีตพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๒๕๔๙ พรรษาธิกาปลาย ๑๑ เดือน ปลาย ๑๔ วัน นับแต่วันพระญาวันฅืนหลัง อนาคตศาสนาอันยังจักมาภายหน้าค้างอยู่ ๒๔๕๐ พรรษาปลาย ๑๕ วัน บ่เศษ เหตุนับแต่วันปากปีไปเอามาบวกกันก็เต็ม ๕๐๐๐ ถ้วนบ่มีเศษ เหตุตามฎีกาที่มหาพิลางคสัมมิหรสีเจ้าหากวิสัชนาแต่งแปลงสืบ ๆ มา ก็ปริปุณณาแล้วและ๚๛


พระครูอดุลสีลกิตติ์ วัดธาตุคำ
เปนผู้วิสัชนาปล่านแปลงทำนายพยากรณ์แล๚๛

พงษ์พรรณ เรือนนันชัย ลายแต้ม




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2550 8:59:15 น.
Counter : 837 Pageviews.  

ต้อนรับวันแห่งความรักกับ "ด้วยปุพเพ ฤๅผลกัมม์แต่งสร้าง"

นี่ก็ใกล้วันแห่งความรัก ทั้งวันแห่งความรักสากล (วาเลนไทน์) และวันแห่งความรักทางพระพุทธศาสนา (วันมาฆปูชา) จึงค้อนใค้เอาบทความเก่า ๆ ที่เคยเขียนเอาไว้แต่นานมาแล้ว มาเพื่อให้รำลึกนึกถึงปุพเพแต่ปางบรรพ์ เผื่อว่าจักได้ประสบพบกับเนื้อคู่บ้าง

จึงขอต้อนรับวันแห่งความรัก กับ "ด้วยปุพเพ ฤๅผลกัมม์แต่งสร้าง"

--------------------------------------



เคยเชื่อเรื่องเนื้อคู่กันบ้างไหม?....

คนรุ่นใหม่ ใจเร็ว ด่วนได้ คงไม่สนใจหรอก กับเรื่องนี้ เพราะมักใช้คติที่ว่า “กินอิ่มแล้วหนี กินพีแล้วพ่าย” เมื่อแหนงหน่ายก็เลิกรากันไปไม่ผูกมัด

เป็นวิถีชีวิตในสังคมแบบใหม่ ที่มักอ้างกันเรื่องสิทธิและเสรีภาพ... เสรีภาพอันเหลวแหลก

หากผีตายเก่าเน่าเมินของคนสมัยก่อนลุกขึ้นมาในยามนี้ แล้วได้รู้ได้เห็นได้ ก็คงไม่อยากจะเกิดอีกเลยจนม้างกัปก็เป็นได้

ทัศนคติในเรื่องการครองคู่อยู่กินเป็นคู่ผัวตัวเมียมันแปรเปลี่ยนแทบจะพลิก ด้วยถือว่ายุคนี้ยุคเสรีภาพ แลอัตตาธิปไตย หรือว่ากรอบสังคมยามนี้มันพังภินท์ลงหมดสิ้นแล้ว ไม่ว่าจะระบอบครอบครัว ผีปู่ย่า หรือแม้ศาสนา แล้วเอาไม่อยู่แล้วหรือไร ค่านิยมของคนสมัยใหม่จึงหวือหวาโลดโผนชวนให้ตกอกตกใจอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเห็นข่าวที่รายงานตามหน้าหนังสือพิมพ์

สมัยก่อน การที่จะตกลงปลงใจกันนั้น มันอิสระมากเหมือนกัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้ที่รักและพอใจ ในยามเมื่อผู้บ่าวมาเที่ยวแอ่ว อู้บ่าวอู้สาว กับสาวที่อยู่นอก ดังคำกล่าวที่ว่า

‘อันว่าความรัก อยู่ที่พอใจ ……….ความรักมีไหน ความพอใจมีหั้น’

แต่ความพอใจในที่นี้ มันต่างจากความพอใจในทัศนคติของวัยรุ่นสมัยใหม่ ที่ฉาบฉวย วู่ไหม้เหมือนไฟที่ไหม้ฟาง สักพักก็ดับลับหายไป เหลือแต่เถ้าไว้ให้ดูต่างหน้า

ความพอใจในที่นี้ ไม่ใช่พอใจเพียงแค่หลงใหลได้ปลื้มกับเปลือกนอก แต่พอใจถึงภายในจิตใจ ในคุณงามความดีที่มีให้แก่กัน คิดถี่ถ้วนทุกด้าน ด้วยผู้ที่จะมากินแขกแต่งงานด้วยนั้น เป็นผู้ที่จะต้องอยู่ร่วมกันไปคุ้มแก่คุ้มเฒ่า พันผูกกันไปตามกระแสกัมม์

เพราะแสกัมม์จากชาติก่อนภพหลัง ได้ชักนำได้มาเจอกันอีกครั้งในชาตินี้ภพนี้

ดังคำคร่าวคำเครือที่หนุ่มใช้เกี้ยวสาวว่า

‘สลิดสะลัก ขึ้นต้นบ่าเกวน………….บ่ใช่กัมม์เวร มันทึงบ่ได้’

อันหมายถึงว่า สองเราหากไม่เคยมีกัมม์มีเวรร่วมกันมาแต่ปางก่อนแล้วไซร้ ย่อมที่จะไม่ได้ซ้อนมิ่งเคียงหมอน เป็นผัวเป็นเมีย



ที่ว่า มีกัมม์มีเวรร่วมกันมาแต่ปางก่อนนั้น จะหมายถึง “ตัวกัมม์ตัวเวร” อันแปลได้ว่า คู่สร้างคู่สม หรือหญิงชายที่เชื่อว่า เป็นคู่กันมาแต่ปางก่อน เพราะได้มีกัมม์หรือการกระทำที่ร่วมกันสร้าง มาด้วยกัน เมื่อมาถึงชาตินี้ แรงกรรมที่เคยทำร่วมกันมา ก็ผลักดันให้มาเจอกันอีกครั้ง แต่จะเจอกันในลักษณะไหนนั้น ก็ขึ้นกับกัมม์เก่านั้น ดีชั่วเพียงใด เหมือนกับทางอีสานที่มีความเชื่อในเรื่อง “แนน” ที่เป็นเนื้อคู่กันมาแต่ปางบรรพ์

ตัวกัมม์ตัวเวร ที่คุ้นเคยกันดีเห็นจะเป็นเรื่อง เจ้าสุวัตร กับนางบัวคำ ดังคำซอที่ว่า

“...ส่วนพระรสี ท่านค็เลงหันได้ จิ่งยอยกให้ เป็นคู่ตัวกัมม์
ของนางบัวคำ เมื่อปางก่อนอั้น ท่านเลิยไม่ขีดขั้น ยกหื้อเปนเมียแพง
เพราะกัมม์เคิยแฝง เทียมแยงก่อนกี้ เกิดมาชาตินี้ เขาค็เซาะหากัน
ท่านเลิยปลงปัน อนุญาตให้ เลี้ยงพระพ่อไธ้ ตกเหิงเมินมา
..."[1]


ซึ่งเป็นตอนที่เจ้าสุวัตรได้มาลัยที่นางบัวคำได้อธิษฐานลอยน้ำไป มาลัยนั้นได้ลอยทวยกระแสขึ้นไป สอดสวมเข้ากับข้อกรของเจ้าสุวัตรได้พอดี ในขณะที่กำลังสรงน้ำอยู่ในลำธาร มาลัยกรองเกลียวเกี้ยวอ้อมนั้น ทำให้เจ้าสุวัตรมีใจใคร่รู้ยิ่งนัก ว่าเป็นของผู้ใด จิ่งทำการออกสืบเสาะค้นหาผู้เป็นเจ้าของมาลัยพวงนี้ จวบจนกระทั่งพาบพบนางบัวคำหน่อน้อยที่อาศรมของพ่อเจ้ารสี ทั้งนี้ ด้วยผลกรรมที่เคยกระทำร่วมกันมาแต่ชาติปางหลังหนุนส่งให้มาเจอะเจอกัน ดังคำอธิษฐานของนางบัวคำนั้น

“...ร่ำวอนหา ปิยาคู่ภัก เสียงอ่อนอ้อนปูนฟัง
ตัวเวรข้าไธ้ แต่ชาติหลัง มีที่ใด จุ่งไหลมาฝั้น
จุ่งมาสนิท ต่อติดหื้อหมั้น เทิอะสายที่แพง ที่รัก
กัมม์แลเวร จุ่งไปเชิญชัก จูงจ่องผ้ายพามาเทิอะ
..."[2]

นอกจากคำว่า “ตัวกัมม์ตัวเวร” แล้ว ยังมีอีกคำว่า“ตัวโป” หรือ “โป” มาจากคำว่า “โปราณิกกัมม์” ซึ่งหมายถึง ‘เนื้อคู่แต่ปางหลัง’ คือ ผู้ที่ผูกพันกันมาแต่ปางก่อน เป็นโปราณเวร ทำให้ได้เป็นผัวเป็นเมียกันในชาตินี้

นอกจากกัมม์เก่าแต่หนหลังแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ได้อยู่ร่วมกัน คือกัมม์หรือการกระทำที่ได้ทำขึ้นใหม่ในภาวะชาตินี้

กัมม์เก่าเคยไม่รู้เห็น เคยได้ยินดังเรื่องเล่าเก่าก่อน ในคำน้ำคำธัมม์ที่สอนสั่งพร่ำบอกกันต่อ ๆ มา ไม่เคยอยู่ในความนึกคิดของคนสมัยใหม่ ที่เชื่อมั่นในตนเองสูง เชื่อว่าผลทุกอย่างที่พานพบ ล้วนแต่เกิดจากการกระทำในปัจจุบันสมัยของตนเองทั้งสิ้น แต่นั่นคนรุ่นเก่าได้รับรู้มาก่อนแล้ว ดังคำสอนในพุทธปรัชญาที่ว่า “...ปุพฺเพ ว สนฺนิวาเสน ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา....คนเราจะรักกันและหรืออยู่ร่วมกันเป็นคู่ผัวตัวเมีย เพราะอาศัยกรรมสองสถานอย่างหนึ่งอย่างใดคือ บุพเพสันนิวาส หรือไม่ก็ได้มีการเกื้อหนุนจุนเจือช่วยเหลือกันในปัจจุบัน...” [3] เมื่อกัมม์ปัจจุบันมีส่งเหนือกว่ากัมม์ในอดีตชาติ ก็สามารถกำหนดคู่กัมม์คู่เวรใหม่ได้ในชาตินี้

ดังคำเรียกขวัญของคู่ข่าวสาว ว่า

“...ธัมม์พระกล่าวไว้บ่ทุมหายเสีย
เหตุที่เราได้มาเปนผัวเมียตามธัมม์พระเจ้า
บุพเพสันนิวาสเจ็ดชั่วชาติล่วงแล้ว
เคยได้เปนผัวรักเมียแพง
ธัมม์พระกล่าวไว้ท่านได้แถลง
เหตุที่เราจักได้กันเปนผัวเมียแพงค็มีสองอย่างเนิอเจ้า
เคยได้เปนผัวเมียกันแล้วเล่าในอเนกชา
คันเกิดมาในโลกาโลกใต้
ค็มาปะกันแถมแล้วไซร้บ่ไคลคลา
อย่างนึ่งนั้นนาเมื่ออยู่ในโลกาโลกนี้
ตามพระกล่าวชี้ไขปัน
ได้ช่วยเหลือกันทุกสิ่ง
สองอย่างนี้จิ่งกลับกลาย
ได้เปนผัวเมียไพทั่วหน้า
...”[4]



“กัมม์” เป็นตัวกำหนด เป็นตัวขับเคลื่อนของทุกชีวิตในสังสารวัฏ

ด้วยกัมม์ จึงพานพบ... ด้วยกัมม์จึงจากพราก…

คนเราเมื่อถึงเวลาอันควร ย่อมที่จะกินแขกแต่งงานกับตัวพ่อตัวแม่ของตนเอง เมื่อชายหนุ่มเติบใหญ่ขึ้นมา ก็จะเสาะหาตัวแม่มาเป็นคู่ฝั้น แอ่วสาวบ้านใกล้บ้านไกล บางครั้งก็ต้องพึ่งพาการทำนายทายทัก เพื่อเป็นก่อเกิดกำลังใจในการอู้สาว จึงได้มีการเขียนเป็นตำรา ในการดูลักษณะเนื้อคู่แต่ปางหลังตามวันเกิดของแต่ละคนไว้ดังนี้

ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ จะได้เนื้อคู่ผิวขาว หน้าแป้น หน้าลาย หรือผิวดำแดง มือเท้าเรียว อยู่ทิศตะวันตก

ผู้ที่เกิดวันจันทร์ จะได้เนื้อคู่ผิวแดง รูปสวย หน้ามน ท้องใหญ่ อยู่ทิศใต้

ผู้ที่เกิดวันอังคาร จะได้เนื้อคู่ผิวขาวนวล อวบอัด ใบหน้ารูปไข่ ดึงดูดเพศตรงข้าม อยู่ทิศเหนือ

ผู้ที่เกิดวันพุธ จะได้เนื้อคู่ผิวขาวเหลือง ร่างน้อย แก้มใหญ่ อยู่ทิศตะวันออก

ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดีจะได้เนื้อคู่ผิวเนื้อดำแดง หน้าดูกคางแหลม อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้ที่เกิดวันศุกร์ จะได้รูปร่างดำแดง ไม่ก็ขาวแดง ปากกว้าง ผมงอ อยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้

ผู้ที่เกิดวันเสาร์ จะได้รูปร่างผิวขาวซีด มิฉะนั้นดำแดง ลงพุง อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

ผู้ที่เกิดวันราหู (วันพุธกลางคืน) จะได้รูปร่างดำแดง ร่างใหญ่ ฟันเสีย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ [5]

ทั้งนี้ การที่แบ่งลักษณะเนื้อคู่ออกเป็นลักษณะ และอยู่ในทิศที่อยู่แตกต่างกันไป อาจเพื่อป้องกันการรบราแย่งชิงจนเลือดตกยางออกเพื่อผู้หญิงคนเดียวก็เป็นได้ เมื่อไม่ได้ซ้อนมิ่งเคียงหมอนกับหญิงที่หมายตาไว้ ก็ถือเสียว่า แม้จะพึงพอใจเพียงใดก็ตาม แต่ไม่ใช่ลักษณะของเนื้อคู่ ทำให้อาการที่เรียกว่า ‘อกหัก’ จึงไม่รุนแรงจนถึงฆ่าตัวตาย

เมื่อการทำนายทายทัก บอกได้ไม่ละเอียด จึงมีพิธีการใช้คาถาหาตัวโป ไม่ใช่พิธีที่ทำเสน่ห์แต่อย่างใด หากเป็นการเพื่อที่จะให้ได้เห็น โฉมหน้าของ “ตัวโป” ของเราว่า หน้าตาเป็นอย่างไร

ท่านให้นำเอา หมากคำ พลูใบ ข้าวปั้นกล้วยหน่วย ใส่ไว้ในขัน แล้วไปนั่งอยู่ในบริเวณที่สงัดตอนกลางคืน ที่สำคัญ อย่าให้ใครเห็นเป็นอันขาด เมื่อหาสถานที่ได้เหมาะเจาะดีแล้ว ก็ใช้มือซ้ายถือขันเอาไว้ แล้วเงยหน้ามองดูดาว ให้เลือกดาวที่ดวงสุกใสส่องสว่างงามตา แต่ต้องเป็นดาวที่ไม่มีชื่อ เมื่อหมายมั่นดาวที่พึงใจได้แล้ว ให้นึกคาถาว่า

“โปราณะทุจะริตัง ทุติยายา อิตถีตะนารี ปุญจะ มโนรัฏฐะ ทุติยัมปิ อริยะทะสะตา โหนตุ ตัสสะเน อม ทะหิยะ ๔ เดือนดอยมาเฝ้าเข้าหูกู มาฝันหัน ผู้ใดมาเป็นชู้กู เป็นเมียกูก็ดี หื้อเข้าหู ฝันหัน อม ภะคิริภะริ สวาหุม”

นึกคาถานี้ ๑ ที แล้วก็เสกมือ กวักดาวดวงงามนั้นมาใส่ในขันถ้วน ๗ ที แล้วก็นำเอาขันนั้น ไปไว้บนหัวนอน จักฝันเห็นผู้ที่เป็นเนื้อคู่ หากไม่ฝันเห็น ก็ทำอีกจนกว่าจะเห็น [6]

เมี่อความผูกพันกระทำกัมม์ร่วมกันมา ทั้งในชาติก่อนและชาตินี้ ต่างผลักดันให้คนสองคนมาซ้อนมิ่งเคียงหมอนผู้เข้าเอาขวัญเป็นผัวเป็นเมีย

ความผูกพันนั้น จะก่อให้สองขาผัวเมีย ประสบสุขหรือทุกข์ยากก็ได้ทั้งนั้น บางครั้งชีวิตคู่มีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดาตามประสาผู้ที่อยู่คู่กัน แต่เพราะถือว่า การที่อยู่ด้วยกันนั้น เพราะเป็นคู่ตัวกัมม์กันมา จึงจะต้องช่วยกันประคับประคองกันไปให้ตลอดรอดฝั่ง ดังบทซอที่ว่า

“...เพิ่นอู้ทางค้า ข้าจะบิดหน้าหนี อู้ทางสุรานารี แล้วพี่จะบิดหน้าเข้า
ช่างมันเทิอะเพลินจันทร์ เราอยู่ทวยกันเจ้า จนพอจักเถ้า อย่าหื้อมีปากมีคอ
มันเป็นโปราณะ ตัวเวรตัวกัมม์ เราได้อยู่ทวยกัน เท้าเถ้า
ชะใดชะใดก็อดเอา เทิอะแม่เถ้าน้องไท้
...”[7]

บางครั้ง หากรักชอบเพียงใด แต่ก็จำต้องคลาไคลไกลคู่ เฉกเช่นพระชินะ กับนางอมรา ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมของทั้งสองฝ่ายนั้น ก็ถือว่า ทั้งสองไม่ได้เป็นคู่ตัวกัมม์กันมาแต่ปางบรรพ์ จึงไม่ได้อยู่เรียงเคียงคู่

“ ๑๔๔. กัมม์หลังมาครอบฅ้าง.... ฅืนสนอง
สองเปล่าปองกัมม์พรอง ............บ่ได้
สองรักบ่ตรัสตรอง ...................จิตเจต คระนิงแล
สองหากตายม้วยมล้าง ..............ส่องแจ้งเป็นตรา”[8]

นับเป็นความโชคดีกว่าอีกหลาย ๆ คู่ที่อยู่ร่วมกันตามกัมม์นำชัก จากบุพกัมม์ สู่กัมม์ในปัจจุบันสมัย อยู่ร่วมกันจริง หากทะเลาะเบาะแว้ง กัมม์เก่าบุญหลังร่อยหรอ กัมม์ดีไม่สานต่อ เป็นคู่ผัวเผดเมียผี ดังเช่นคู่ของ ยาโมกับนางมัลลิกา ที่นับวันจะพากันไปสู่ความฉิบหายวายครัว ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับอีกคู่หนึ่ง ที่เป็นผัวแก้วเมียแสง ดังคู่ของ เตโชกับนางจันทา ที่มีแต่จะมั่งมูนทุ่นเท้า

หากคู่ใดอยู่ด้วยกันไม่ไหว จำเป็นที่จะต้องตัดก้อมสินเพียง สิ้นเยื่อขาดใยต่อกัน เลิกร้างห่างขาด ก็จะถือว่า ทั้งสองหมดเวรหมดกัมม์ที่เคยกระทำร่วมกันมา มีบ้างที่เสียใจ แต่ก็ไม่คร่ำครวญ ไม่พิรี้รำพัน ด้วยถือว่า เท่าที่ผ่านมา เป็นเพราะบุญกัมม์แต่งสร้าง จึงทำให้มาพบกัน แล้วกัมม์ใหม่ที่สร้างไว้ก็ทำให้ต้องร้างรา หากกัมม์ใหม่รุนแรงแข็งกล้าอาฆาต ก็สืบเนื่องกัมม์กันต่อไป แต่อาจจะกลายเป็น “เจ้ากัมม์นายเวร” ที่ต้องตามชดใช้กันเรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น

“...บ่น้อยบ่แหนง เมียแพงธิ้งละ ใคร่ตบปีกเหล้น ซอเพลง
เสี้ยงกัมม์เวรน้อง ข้าบ่ข่มเหง เจ้าจันท์เดือนเพ็ง บ่เลิงผ่อหน้า
” [9]

นอกจากนี้ ในธัมม์ได้กล่าวถึงว่า แต่ละคู่จะเสมอด้วยกันหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา หนึ่งรูปงาม หนึ่งรูปทราม หรือทางด้านความดีงามนั้น ก็เนื่องด้วยชาติก่อนนั้นกระทำบุญมามากน้อยแค่ไหน หรือทำบุญแล้วมีใจไม่เป็นกุศล ขึ้งเคียด หรือประกอบด้วยโทสะ โมหะเป็นที่ตั้ง ก็จะได้คู่ที่เสมอด้วยรูป เสมอด้วยศีลไม่มี แม้นแต่นางอมิตตตาที่ชาติก่อนได้ให้ทานด้วยดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา ชาติต่อมาจึงได้พราหมณ์เฒ่าบุรุษโทษชูชกะมาเป็นผู้สามิกา

มีสิ่งหนึ่งที่คนสมัยก่อนหลายคนเกรงกลัวกัน นั้นคือการครองตัวเป็นโสด ซึ่งสาเหตุการไร้คู่นี้ ในธัมม์ ‘หมากน้ำจม หมกหินฟู’ มีกล่าวไว้ว่า

“... เมื่อนั้นเทวดาพ้อยจิ่งถามสัพพัญญูพระพุทธเจ้า ฅนทังหลายลางพร่องอันเกิดมาในโลกนี้ ผู้ยิงค็ดี ผู้ชายค็ดี อันหาผัวหาเมียบ่ได้นั้น เขากทำดั่งรือนั้นชา

พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เทวเต ดูรา เทวดาอันว่าผู้ยิงผู้ชายทังหลายฝุงนั้นแต่ก่อนเขาได้เว้นจากผัวเขา เสียแม้นว่าผู้ชายหาเมียบ่ได้นั้น เขาได้เว้นจากเมียของเขาเสีย อัน ๑ ผู้ยิงหาผัวบ่ได้ค็ดี ผู้ชายหาเมียบ่ได้ค็ดี คือว่า เปนบ่าวเถ้าสาวเถ้านั้น เหตุเขาได้เว้นจากกันเสียนั้นแล อัน ๑ เล่า เขากทำบุญแล้วเมื่อพายลูน พ้อยบ่กทำเติ่มแถมไพเล่า พ้อยประหมาทเสีย
...” [10]

แต่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ทัศนคติมันเปลี่ยนสังคมแปรไป ที่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงออกทำงานนอกบ้าน จึงไม่ใส่ใจในการครองคู่อยู่กิน ตามกระแสกัมม์ใหม่ที่ผลักดันให้เกิดการตัดสินใจ...

บางครั้งบุพเพและวาสนานำพาให้มาพบกัน แต่บุญกัมม์ที่ทำมาจากอดีตและปัจจุบันไม่ส่งเสริม อาจให้คลาไคลกันไป

โชคชะตามักจะเล่นตลกกับทุกชีวิตเสมอ คู่บางคู่เป็นคู่ระหว่าง ชายกับชาย บางคู่เป็นคู่ระหว่างหญิงกับหญิง แล้วกัมม์ใครเวรมันนำชักพาให้เป็นไป

บุพเพสันนิวาส เป็นตัวชักนำมาให้ได้เจอกัน แม้นจะอยู่ไกลคนละซีกโลกก็ยังต้องมาพบปะเจอกันจนได้

ด้วยกระแสกัมม์ แม้นว่าอยู่ใกล้กัน หากไม่เคยกระทำกันร่วมกันไม่ว่าในชาติก่อน หรือว่าชาตินี้ ก็ย่อมที่จะคลากันไป

อย่าเฝ้ารอวาสนาบุพเพแต่ปางหลัง

อย่าปล่อยให้แล้วแต่กัมม์เวร

ที่สำคัญ ควรอยู่ในศีลในธัมม์ ประกอบแต่กัมม์ดี กุศลผลบุญจะส่งเสริมให้ทุกอย่างดีเอง

แม้นไม่เชื่อเรื่องเนื้อคู่ แต่ก็ขอเชื่อมั่นในความดีไว้เถิด...๚๛



----------------

[1] บทซอ จากแถบบันทึกเสียง ของ”ศรีวรรณ หนองก๋อง” กับ “ศรีออน วังสิงห์คำ” ถอดบทซอโดย สนั่น ธรรมธิ อ้างใน อุดม รุ่งเรืองศรี. วรรณกรรมล้านนา.(เชียงใหม่:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๖), ๕๗๓

[2] อุดม รุ่งเรืองศรี.อ้างแล้ว, ๕๑๗

[3] จากธรรมบท ในบทความเรื่อง มนุษย์กับมนุษย์(Man and Man) ของ รศ.ดร..สิทธิ์ บุตรอินทร์ ซึ่งเป็นตอนที่ ๒ ในหนังสือ “โลกทัศน์ลานนาไทย” อ้างใน นานาสาระ. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมดิลก (ขันติ์ ขนฺติโก) ๔ มกราคม ๒๕๓๕, ๑๔๔

[4] เป็นคำเรียกขวัญจากหนังสือ ประเพณีลานนาไทยและพิธีกรรมต่าง ๆ อ้างใน อุดม รุ่งเรืองศรี. วรรณกรรมล้านนา.(เชียงใหม่:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๖), ๑๐๓

[5] เป็นตำราของน้อยศรีนวล จิตรแปง เชียงใหม่ พิมพ์ใน “ตำรากำเนิดพรหมลิขิตเมืองเหนือ” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ อ้างใน อุดม รุ่งเรืองศรี. ดู. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ.(กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), ๒๒๕๕

[6] จากพับสา อักษรล้านนา ของวัดดอกแดง ต.สง่าบ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

[7] จากบทละครซอเรื่อง “ทีเด็ดเมีย” ของ สีมา หลวงฤทธิ์ บันทีกเป็น VCD โดย บริษัททิวลิป

[8] อุดม รุ่งเรืองศรี,ปริวรรตและจัดทำคำอธิบาย.พิมพ์ครั้งที่ ๑ .(เชียงใหม่ : ศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่, ๒๕๔๔), ๕๑

[9] เป็นบทช้อยในตอนท้ายของซอเรื่อง “ผัวเผดเมียผี” ของ คำนายนุปิง บันทึกเสียงโดยบริษัทโซนิค

[10] สลุงเงิน,ปริวรรต. หมากน้ำจม หมากหินฟู. [online]. Accessed September 22, 2004. Available from
//www.lannaworld.com/lannastory/story.php?subaction=showfull&id=1086992704&archive=&start_from=&ucat=&




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2550 23:24:59 น.
Counter : 934 Pageviews.  

"ยวน" ผู้นิราศร้างห่างมาตุภูมิ

คำว่า “” หรือ ยวน หมายถึง ชื่อเผ่าของคนไท ในล้านนา เรียก “ไทยวน” ซึ่งแผลงเป็น “โยน” และ “โยนก” ได้[1] อันเป็นนามแห่งนครในตำนาน นั่นคือเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ

กลุ่มไทยวนนั้นเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ในบริเวณ ๘ จังหวัดภาคเหนือ และนอกจากนั้น ก็ยังมีกระจายอยู่ในบางอำเภอของจังหวัดต่าง ๆ เช่น อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก สระบุรี ราชบุรี นครราชสีมา จะสังเกตเห็นว่า คนไท ยวนที่อยู่นอกจาก ๘ จังหวัดภาคเหนือ มักจะเรียกตัวเองว่า “ยวน” ส่วนคนที่อยู่ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือ จะเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” [2]

ไทยวนพลัดถิ่นส่วนใหญ่ เป็นไทยวนที่มาจากเมืองเชียงแสน ในคราวที่เชียงแสนแตกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ หรือตามพระราชพงศาวดารว่าไว้ว่า “...ลุศักราช ๑๑๖๖ ปีชวด ฉศก เปนปีที่ ๒๓ เมื่อ ณ เดือนห้า พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าพระยายมราชนายทับนายกองไทยลาว ก็ยกลงไปเมืองเชียงแสน... ” [3] เพื่อเป็นการทำลายฐานที่มั่นของพม่าในล้านนา หลังจากที่พระเจ้ากาวิละได้ตีเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้สำเร็จ พม่าก็ไปรวมกันและตั้งมั่นอยู่ที่เชียงแสน เพราะสมัยหลังนั้น พม่าใช้เชียงแสนเป็นหลักในการควบคุมเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ตลอดถึงรัฐของชาวไทยใหญ่ได้ง่าย เพื่อเป็นการขับไล่พม่าออกไปจากราชอาณาจักร จึงจำต้องตีเชียงแสนให้ได้



ซึ่ง “กองทัพลาว” ที่ว่านั้น มีทั้งลาวล้านนา และลาวล้านช้าง ดังที่ว่า “...เจ้าอิน เมืองจันทปุรี แลเจ้าอุปราชาอนุตนน้อง แลอโยธิยา แลเจ้ากาวิละเชียงใหม่ ลคอร เมืองแพล่ เมืองน่านทังมวล กำลังมีแสน ๒ หมื่นขึ้นมารบเชียงแสน... ” [4]

ในขณะนั้น ชาวเชียงแสนเอง ก็เบื่อหน่ายและได้รับความไม่เป็นธรรมจากพม่าเท่าไรนัก เมื่อกองทัพล้านนา ลาว และสยามมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนนั้น ชาวเชียงแสนบางส่วนก็เป็นใจให้กับกองทัพที่มาตี ดังที่นายทหารนายหนึ่งได้เขียนเล่าไว้ใน “คร่าวเชียงแสนแตก” ไว้ดังนี้

“...๒๖๖. พวกเชียงแสน ชวนกันแล่นเลี้ยว เข้ามาฆ่า นายทวาร
พร่องปืดง้าง ประตูกระบาน บ่มีนาน รือรุดร่วนก้อง... ” [5]

ในที่สุดก็ตีเชียงแสนได้ และขับไล่พม่าออกเมืองได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พม่าย้อนกลับมาใช้เชียงแสนเป็นฐานที่มั่นอีกครั้ง จึงจำต้องกวาดต้อนผู้คนออกจากเมืองเชียงแสน ดังที่ว่า

“...แล้วพระเปนเจ้า ค็เอาริพลสกุลเสนาโยธา แลฅนครัวเชียงแสน ออกจากเมืองเชียงแสน เดือน ๑๐ แรมฅ่ำ ๑ วันเสาร์... ” [6]

จากนั้นก็ออกจากเมืองเชียงแสนโดยแบ่งครัวชาวเชียงแสนที่กวาดได้ออกเป็น ๕ ส่วน ดังที่ว่าไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ที่ว่า

“...กองทับกวาดได้ครอบครัวสองหมื่นสามพันเสศ รื้อกำแพงเผาบ้านเมืองเสีย แล้วแบ่งปันครอบครัวกันเปนห้าส่วน ให้ไปแก่เมืองเชียงใหม่ส่วนหนึ่ง เมืองนครลำปางส่วนหนึ่ง เมืองน่านส่วนหนึ่ง เมืองเวียงจันท์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งถวายลงมา ณ กรุงเทพฯ โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง แบ่งไปเมืองราชบุรีบ้าง... ” [7]



สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้น พระเจ้ากาวิละได้นำครัวชาวเชียงแสนมาไว้ที่ บ้านฮ่อม บ้านเมืองสารท บ้านเจียงแสน ( บริเวณแขวงมังราย ปัจจุบันนี้ ) [8] ซึ่งส่วนใหญ่แล้วชาวเชียงแสนจะมีฝีมือในเชิงช่าง เมื่อมาเชียงใหม่ก็ได้สร้างวัดหลายวัด เช่น วัดอู่ทรายคำ วัดช่างดอกเงิน วัดดอกคำ เป็นต้น ส่วนเมืองลำปางนั้น ได้เอาคนมาไว้ที่วัดปงสนุก วัดเชียงราย ทางด้านเมืองน่านส่วนใหญ่จะไปไว้แถว อ.เวียงสาในปัจจุบัน เป็นต้น

ส่วนยวนที่อยู่ไกลที่สุดเห็นจะเป็นที่ เวียงจันทน์ ราชบุรี และสระบุรี แต่การเดินของไทยวนยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น โดยเฉพาะที่เสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่มีการขยายชุมชนออกไปอีก เพื่อหาที่ดินทำกิน[9] และขยายพื้นที่การเลี้ยงโค จากเสาไห้ ไปยังที่สีคิ้วอีกต่อหนึ่ง แล้วพากันจับจองที่ดินตั้งหลักฐานถาวรสืบมา[10]

นอกจากนี้ ยวน กลุ่มที่ถูกกวาดต้อนไปยังเวียงจันทน์นั้น ครั้งถึงสมัยเมื่อสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ กองทัพไทยตีได้เมืองเวียงจันทน์ ตอนขากลับได้กวาดต้อนเชลยมาเป็นอันมาก ในบรรดาเชลยเหล่านี้คงมีเชลยที่เป็นชาวยวน...สมทบมาด้วย พอมาถึงนครจันทึก...ก็พบชาวยวนซึ่งมีเชื้อสายเดียวกันกับพวกตน จึงขออนุญาตตั้งหลักปักฐานอยู่ร่วมกับชาวยวนสีคิ้วต่อไป[11]

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ไกล อยู่ใกล้ ต่างก็เป็นชาติเชื้อเครือเดียวกัน และไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ไว้วันหน้าถ้ามีโอกาส จักไปเยือน...

------------------------
เชิงอรรถ

[1] อุดม รุ่งเรืองศรี รวบรวม. พจนานุกรมล้านนา-ไทย : ฉบับแม่ฟ้าหลวง. พิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๑.เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๔๗ หน้า ๕๗๘
[2] ดูเพิ่มเติมใน ธเนศวร์ เจริญเมือง. คนเมือง. เชียงใหม่ : โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๔ หน้า ๑๕ - ๓๐
[3] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ; นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ ; นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ.พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ : ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, ๒๕๓๙ หน้า ๑๘๕ – ๑๘๖
[4] คำมะเกล่าเมืองเชียงแสน ใน สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต ตรวจสอบ และวิเคราะห์. พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์,๒๕๔๖ หน้า ๒๕๒
[5] ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว. คร่าวเชียงแสนแตก. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๕ หน้า ๒๙
[6] คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่,๒๕๓๘ หน้า ๑๓๗
[7] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ : ฉบับตัวเขียน. อ้างแล้ว หน้า ๑๘๖
[8] ประวัติวัดอู่ทรายคำ [online] Accessed July 30, 2006. Available from //www.jadebuddha.net/history/History.htm
[9] ลัดดา ปานุทัย, ลออทอง อัมรินทร์รัตน์, สนอง โกศัย. วัฒนธรรมพื้นบ้านสีคิ้ว จังหวัดครราชสีมา. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, ๒๕๒๖ หน้า ๑๖ – ๑๗
[10] สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา. "ยวนสีคิ้ว" ในชุมทางชาติพันธุ์ : เรื่องเล่า ความทรงจำและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา : สาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ๒๕๔๔ หน้า ๕๓ – ๕๔
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕๔




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2549    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2550 23:26:17 น.
Counter : 1985 Pageviews.  

เชียงดาว...เทวาลัยบรรพต



เชียงดาว...เทวาลัยบรรพต


ขุนเขารูปเกือกม้า ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในดินแดนนพบุรีสรีนครพิงค์เชียงใหม่ ที่สูงเสียดฟ้าเพียงดาว นั้นนอกจากจะเป็นแหล่งที่อุดมด้วยพืชพรรณเฉพาะถิ่น และส่ำสัตว์หายากต่าง ๆ แล้ว ดอยแห่งนี้ ยังเป็นที่สถิตของเหล่าเทวาอารักษ์แห่งเมืองพิงค์ด้วย

ดอยหินปูนที่เงื้อมง้ำ ปกคลุมด้วยหมอกเหมยนั้น เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพของผู้คนตลอดมา

ด้วยเป็นแหล่งสถิตของ “เจ้าหลวงคำแดง” หรือ เจ้าสุวัณณคำแดง ผู้ที่ตามทรายคำ มาแต่เมืองโจรณี แล้วมาสู่เชียงดาวแห่งนี้ แล้วพบกันนางอินท์เหลา และได้เป็นผู้ก่อเกิดปฐมกาลแห่งล้านนาด้วยเช่นกัน หลังจากนั้น เจ้าหลวงคำแดง กับนางอินท์เหลา ก็เข้าถ้ำเชียงดาว จนกลายเป็นปฐมอารักษ์ของดินแดนแห่งนี้สืบมา

ทั้งนี้ บรรดาอารักษ์ทั้งหลาย หรือแม้แต่ผีปู่ย่าต้นตระกูล ในช่วงเข้าพรรษา ผีเจ้านายทั้งหลายก็จะมาประสุมชุมนุมกันที่ดอยหลวงแห่งนี้ และมีเจ้าหลวงคำแดงเป็นองค์ประธาน

ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ชุมนุมเหล่าเทวาทั้งหลายแล้ว

ยังเป็นสถานที่จะก่อกำเนิดของพระญาธัมมิกราช ตนในช่วงพันปีถ้วน ๓ นี้

สืบเนื่องจากครั้งที่พระพุทธเจ้าจระเดินเทสสันตรีมายังบริเวณอ่างสรงบนดอยเชียงดาว ก็มาเจอยักษ์ตนหนึ่ง พระพุทธองค์จึงทำนายไว้ว่า พระญายักษ์ตนนี้จักเกิดมาเป็นพระญาธัมมิกราชตนนั้นในเมืองแห่งนี้

พระญาธัมมิกราชที่จักเกิดมาในแต่ละช่วงพันวัสสา จวบครบห้าพันวัสสาในศาสนาพระพุทธเจ้านี้ มีอยู่ ๕ ตนด้วยกัน ดังนี้

ในช่วงพันถ้วนแรก ชื่อว่า อโสกราช เกิดในเมือง ปาตลีบุตร

ในช่วงพันถ้วนสอง ชื่อว่า ตัมพุอนุรุทธธัมมิกราช เกิดมาเป็นพ่อค้าเหมี้ยง ในเมืองพุกาม

ในช่วงพันถ้วนสาม จักเกิดมาเป็นพ่อค้าข้าวสาร ในเมืองเชียวดาว ในตระกูลช่างทอหูก

ในช่วงพันถ้วนสี่ จักเกิดมาเป็นพ่อค้าพลู ในเมืองอยุธยา

ในช่วงพันถ้วนห้า จักเกิดมาเป็นพ่อค้าเกลือ ในเมืองกลิงคราฏฐ์ หรือว่าเมืองพุกาม

สำหรับเจ้าพระญาธัมมิกราชตนที่จักเกิดมาในเมืองเชียงดาวนี้ จะเกิดในช่วงปีกัดไค้ ไปถึงปีกัดเร้า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองสิ้นซ้อยซึ่งพระญาเจ้าเมือง บ้านเมืองโกลาหน ขียุค จักเกิดมีทั่วทุกหย่อมหญ้า ยามนั้น เทวดาทั้งหลายก็จะพาพระญาธัมมิกราชขึ้นไปราชาภิเษกยังสวรรค์แล้วเนรมิตปราสาทให้อยู่ยังเวียงเชียงดาว แห่งนั้น

นอกจากนี้ ในถ้ำเชียงดาว ยังมีของศักดิ์สิทธิ่ต่าง ๆ มากมาย

ภายใน มีทางแยกมากหลาย นับจากปากถ้ำเข้าไป ประมาณ ๓๐๐ วา จะมีทางแยกมากมาย

ทางหนึ่งไปพบกับเจ้ารสีตนหนึ่งที่พ่ำเพ็งภาวนาอยู่ในนั้น

ทางหนึ่ง ไปพบกับเจ้าหลวงคำแดง ที่เฝ้ารักษาศีลอยู่ในนั้น

ทางหนึ่ง ไปพบกับ ไม้มหาโพธิ ที่มีกิ่งก้านแล้วล้วนด้วยทองคำสุกปลั่ง

ทางหนึ่ง ไปสู่เมืองนาค ของตัวชื่อว่า วิรูปักขะ

ทางหนึ่ง ไปสู่โรงช้างเอราวัณ

ทางหนึ่ง ไปสู่เมืองยักษ์ และผีดิบ

ทางหนึ่ง ไปยังมหาเจติยะหลวง ที่ทำด้วยแก้วทั้งแท่ง

ทางหนึ่ง ไปหายังพระเจ้าตนหลวงที่เป็นทองคำทั้งองค์

พระเจ้าตนหลวงองค์นี้ พระญาอานันทราชา ผู้กินเมืองเชียงดาว พร้อมกับ เจ้ารสีตนชื่อว่า พรหมรสี พระญาอินท์ พระญาพรหม พญานาคตนชื่อวิรูปักขะ ได้ร่วมกันสร้างพระเจ้ายืนด้วยทองคำ สูงได้ ๑ คาวุต หรือประมาณ ๒ พันวา ไว้ให้คนบูชา

ทางทั้งหลายนั้น เต็มไปด้วยทรายเงิน ทรายคำ ทุกเส้นทาง เมื่อเลยทางแยกต่าง ๆ นั้นเข้าไปประมาณ ๙๐ วา ก็จะเข้าไปถึงบ้านใหญ่หกบ้าน อันเป็นที่อยู่ของพระทั้งหลาย มีอุทยาน และแม่น้ำสระใหญ่กว้างขวาง และจะมีเสื้อผ้าทิพย์วางไว้ให้ ให้เปลี่ยนผ้า แล้วเข้าไปยังเมืองเหล่านั้น

ที่สำคัญเมื่อเข้าไปแล้ว ห้ามกินดื่มอะไรแม้แต่น้อย หาไม่แล้ว จักออกไปไม่ได้ หากเมื่อออกมาแล้วนั้น ก็ยังให้กลั้นอาหารอีก 7 วัน จึงจะดีมีสุข... ในตำนานกล่าวไว้เช่นนั้น

เชียงดาว เป็นดินแดนแห่งธรรมชาติที่งดงาม และล้ำค่าด้วยพรรณพฤกษาอันหายาก เป็นแหล่งรวมศรัทธาของพี่น้องทั้งหลาย ในดินแดนที่ราบลุ่มน้ำแม่ระมิงค์แห่งนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีนิทานเรื่อง “วอกไคหิน” หรือ “วอกไข่หิน” อีกด้วย ว่าดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ เกิดจากพระพุทธเจ้าเนรมิตเพื่อกักขังวอกตัวนั้นเอาไว้ จนกว่าจะสิ้นอายุพระศาสนา...

ถึงอย่างไร เชียงดาว ยังทรงคุณค่า เป็นของควรแก่การหวงแหนปกป้อง

หากวันหนึ่ง เราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี จะให้คนอื่นเห็นมีค่าเพียงไหน มันก็เทียบกันไม่ได้เลย

...ของดีมีอยู่... ก็จักมีดำรงต่อไป ตราบจนขุนเขาจะพังครืน๚๛




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2550 23:27:34 น.
Counter : 912 Pageviews.  

ผีหม้อหนึ้ง

“หม้อหนึ้ง” หรือถ้าเขียนตามภาษาไทยคือ “หม้อนึ่ง” (แต่ถ้าเขียนแบบนี้ ภาษาล้านนาจะแปลว่า หน้อ ๑ ) สำหรับหม้อหนึ้ง นี้เป็นอุปกรณ์ในการหนึ้ง(นึ่ง)ข้าวเหนียวของชาวเหนือ ซึ่งมักจะผูกเป็นปริศนาคำทายไว้ว่า

“อะหยังเอ๊าะ? ม้าสามขา กุลวาขึ้นขี่ บ่ายี่ขึ้ถัด ตาลปัตรเกิ้งหน้า ผ้าเคียนแอว ต๋าแหลวติดก้น” ซี่งคำตอบก็คือ การหนึ้งข้าว อันประกอบไปด้วย

ม้าสามขาคือก้อนเส้าเตาไฟ ไม่ว่าจะเตาสมัยโบราณที่มีก้อนหินสามก้อน มาวางเป็นสามเส้า(ก้อนเส้า) และใช้ดินเดียวมายึดก้อนหินทั้งสามให้มั่นคงอยู่ในกระบะไม้อีกทีหนึ่ง ถ้าทั้งกระบะก็จะเรียกว่า แม่ชีไฟ (แม่จีไฟ) ไม่ว่าจะหม้อหนึ้งหรือหม้อแกง ก็จะต้องวางอยู่บนสามเส้านี้ทุกครั้ง แม้ว่าจะเป็นเตาแก๊สในปัจจุบัน ก็จะต้องมีแง่งออกมารองก้นหม้ออยู่สามแง่ง

กุลวาขึ้นขี่คือหม้อหนึ่ง อันเป็นหม้อที่คอดที่คอและตรงปากแผ่ออกนิดหนึ่งเพื่อรองรับไหข้าวที่จะขึ้นถัดไป เวลาหนึ้งข้าวก็จะเอาน้ำใส่ไป เพื่อให้เกิดไอน้ำที่ร้อนขึ้นระเหยขึ้นไปทำให้ข้าวในไหสุก และน้ำในหม้อหนึ้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้แก้คนที่ผีมักมารังควาน อันเป็นผีกะผีร้าย ก็จะใช้น้ำหม้อหนึ้งลูบหน้าแก้ไขได้บางส่วน

บ่ายี่ขึ้นถัดคือไหข้าว ไหข้าวทางล้านนาจะเป็นไหข้าวไม้เจาะให้กลวง ซึ่งไม่เหมือนกับไหข้าวทางอีสานที่เป็นไหข้าวไม้ไผ่สาน และไหข้าวนี้เองที่จะต่อแขนต่อขาใส่เสื้อผ้า ในการลงผีหม้อหนึ้งในเรื่องที่จะกล่าวถึงในบทนี้

ตาลปัตรเกิ้งหน้า คือฝางำ หรือฝาครอบเพื่อครอบให้ไอน้ำวนเวียนอยู่ภายในให้ข้าวที่หนึ้งอยู่สุก

ผ้าเคียนแอว หรือผ้าคาดเอว ในที่นี้หมายถึงเตี่ยวหม้อหนึ้ง ที่เป็นผ้าเส้นยาว ๆ ชุบน้ำให้ชุ่มก่อนที่จะ “จด” คือใช้นิ้วมือสับลงในปิดรอยต่อระหว่างไหข้าวกับหม้อหนึ้ง ป้องกันการรั่วของไอน้ำ หากว่า “จด”เตี่ยวหม้อหนึ้งไม่ดี ข้าวก็จะไม่สุกได้

ต๋าแหลวติดก้น คือ ตาดไห หรือบางท้องที่เรียกหืมไห เป็นแผ่นไม้ใช้ปิดก้นไห ด้วยไหนั้นกลวง เมื่อใช้ตาดไหปิดก้นไหแล้ว ก็สามารถใส่ข้าวสารที่ “หม่า” หรือแช่ไว้แล้วได้

ซึ่งทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ในการหนึ้งข้าว แต่ในการลงผีหม้อหนึ้งนั้น จะใช้เพียง เตาไฟ หม้อหนึ้ง ไหข้าวเท่านั้น แต่ที่ไหข้าวจะเอาไม้มาต่อแขนและใส่เสื้อให้ แต่ไม่มีตาดไห แล้วก็นำไปตั้งบนหม้อหนึ้งเหมือนกับการหนึ้งข้าวปกติ

 



สำหรับคนที่เป็นข้าวจ้ำ หรือคนที่จะเชิญผีลงมาที่หม้อหนึ้งก็จะเตรียมขันตั้งซึ่งมีข้าวของต่าง ๆ วางเรียงรายไว้ในถาด และทำการเชิญผีมาลงที่หม้อหนึ้ง แล้วจึงเข้าไปสู่ไหข้าว เมื่อร่ำเชิญแล้ว หากจะตรวจดูว่าผีหม้อหนึ้งที่เชิญมานั้นมาหรือยัง ก็ให้ยกไหดู หากว่ายังเบาด้วยไหนั้นเป็นไหเปล่าแสดงว่ายังไม่มา แต่ว่าไหเปล่านั้นหนักจนยกไม่ไหวก็แสดงว่าผีหม้อหนึ้งได้ลงมาที่ไหแล้ว ต้องใช้คนสองคนในการยกเอาไหออกมาถือไว้

ผีหม้อหนึ้ง หรือผีปู่ดำย่าดำ เป็นผีดี ที่ใช้สำหรับการหา “เมื่อ” หรือการสอบถามเรืองราวต่าง ๆ แต่ก็มีข้อแม้อยู่กับข้าวจ้ำด้วยว่า จะอนุญาตให้ถามเรื่องไหนได้ เรื่องไหนไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วเรื่องที่จะถามนั้นมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ผี” เป็นส่วนมาก ด้วยคนที่บ้านไม่สบาย ไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้ววินิจฉัยไม่ได้ หรือรักษาแล้วก็ไม่หายสักที จึงมาถามผีย่าหม้อหนึ้งดูว่า เป็นเพราะอะไรมาทำให้เป็นไปหรือไม่อย่างไร แต่บางเรื่องที่ไม่อนุญาตให้ถามนั่นก็คือ เรื่องของเนื้อคู่ หรือบางที่จะไม่ถามเรื่องของหาย หรือการฆาตกรรม เป็นต้น

ด้วยผีหม้อหนึ้งเป็นสิ่งของ ไม่ได้ลงมาสิงร่างอย่างบรรดาผีเจ้านายลงนั่งม้าขี่ จึงพูดไม่ได้ แต่แสดงอาการและบ่งให้รู้ได้ ด้วยคำถามที่เรียกว่า “ใช่หรือไม่?”

 


ขอบอกก่อนว่า ผีหม้อหนึ้งที่ไปเห็นที่ อ.ปัว จ.น่าน มานี้ ก็ไม่เหมือนกันกับที่เชียงใหม่เท่าไรนัก ด้วยที่เชียงใหม่ จะให้คนที่มาถามร่วมถือด้วย และจะใช้ข้าวสาร ๓ ทะนาน ใส่กระด้งไว้ให้ผีหม้อหนึ้งขีด และจะมีสวย(กรวย)ดอก และสวยเทียนอย่างละ ๔ ไว้เป็นตัวแทนของ “ใช่” และ “ไม่ใช่” แต่ที่ไปเห็นมานั้น ผู้ที่ถือ ก็เป็นข้าวจ้ำทั้งสอง และผู้ที่มาถามก็เอาเสื้อผ้าหรือบัตร มาใส่ขัน พร้อมดอกไม้และเทียนขี้ผึ้ง ๔ คู่ สำหรับเป็นสื่อในการถาม

ก่อนที่จะตั้งต้นเอาขันไปไห้นั้น ก็จะถามกันก่อนว่า จะมาถามเรื่องอะไร แล้วก็เอาขันที่จะถามนั้นไปให้กับผีหม้อหนึ้ง ผีหม้อหนึ้งก็จะทำการมาสัมผัสกับขันนั้น แล้วก็ไปขีด ๆ กับพื้น แล้วแสดงอาการอย่างหนึ่งออกมา เช่น ใช้แขนข้างหนึ่งไถไปกับพื้นไปได้สักระยะหยั่งแล้วก็พลิกหงายหลังลง

เพียงเท่านี้คนที่มาถามเมื่อก็รู้ได้ทันทีว่า สาเหตุของเรื่องที่ถามนั้นมาจากอะไร วันนั้น ( ๕ มิถุนายน ๒๕๔๙ ) คนที่มาถามนั้น มาถามเรื่องที่ว่าปวดแอว เป็นปี ก็ยังไม่หาย รักษาที่โรงพยาบาลก็แล้วก็ยังไม่หายอยู่ดี จึงมาถามผีหม้อหนึ้ง เมื่อผีหม้อหนึ้งออกอาการอย่างนั้น ก็นึกออกทันทีว่า จุดเริ่มต้นมาจากตรงไหน นั่นคือ การที่ขับรถขึ้นดอยภูคาแล้วรถเกิดเสียหลักพลิกคว่ำ แต่ว่าตนเองเคล็ดเล็กน้อย แต่อาการปวดหลังก็ยังคงอยู่มาจนบัดนี้

จึงถามว่า “ตี้เจ็บหลังนี้ เป๋นว่าเอารถไปลงบนดอยคราวแล้วนั้นก๊ะ?”

ผีหม้อหนึ้งก็ส่ายใหญ่เลย เสียงดัง โป๊ก! ป้าก! ๆ นั่นแสดงว่า ที่ถามนั้นถูกต้อง หากทักหากถามผิดแล้ว ก็จะส่ายคล้ายกับคนเราส่ายหัว

ทั้งหมดทั้งมวลแล้วในวันนั้นสรุปได้ว่า พี่ที่มาถามนั้นได้ขับรถไปบนดอยภูคาแล้วเกิดพลิกคว่ำ แล้วผีที่นั่นก็กำขวัญเอาไว้ และทำให้ปวดหลังทำยังไงก็ไม่หายสักที ผีหม้อหนึ้งก็บอกว่า ให้ไปเลี้ยงผีตรงที่รถคว่ำเสีย ในสองวันถัดไปนั้นด้วยหัวหมู และให้ไปเรียกเอาขวัญมาผูกมือเสีย ก็จะหายปวดแอว

ซึ่งผีหม้อหนึ้ง เป็นหนึ่งในความหวังในการที่จะหายจากการเจ็บป่วย หากคราใดไปรักษาเต็มที่ตามแผนปัจจุบันไม่หายแล้ว การลงผีเพื่อถามเมื่อ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าเสี่ยงดู หากเลี้ยงแล้วไม่หายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหายก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

บางครั้ง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ที่มาถามเมื่อกับผีหม้อหนึ้งแล้ว ทำการเลี้ยงผีตามที่ผีหม้อหนึ่งบอก ทุกอย่างก็คลี่คลายดีขึ้นอย่างทันตาเห็น

ความหวังเพื่อชีวิต...ผมว่ามันสูงส่งเกินกว่าที่จะดูถูกว่างมงายนะ๚๛




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 มีนาคม 2563 11:27:33 น.
Counter : 4604 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศศิศ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.