Group Blog
 
All Blogs
 

ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน (ตอนที่ ๒)

ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน*


(ตอนที่ ๒)

ประการที่สอง เพลงที่มีเนื้อร้องแต่ไม่มีดนตรี ซึ่งทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ก็ยังได้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ประเภทมุขปาฐะ และ ประเภทที่มาจากวรรณกรรมลายลักษณ์
เพลงประเภทมุขปาฐะ เช่นเพลงเบ็ดเตล็ดทั่วไป และเพลงสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพลงสิกก้องกอ เพลงสิกจุ้งจา และจะขอยกตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กและเพลงสิกก้องกอไว้เป็นตัวอย่างดังนี้
ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็ก เช่น
“อื่อ จา จา อี่แม่ไปไร่ต้นสา
อี่พ่อไปนานอกบ้าน เก็บบ่าส้านใส่ถง
เก็บบ่ากงใส่ซ้า เก็บบ่าห้าใส่พก
หน่วยนึ่งเอาไว้ส้ากินแลง หน่วยนึ่งเอาไว้แปลงเพื่อนเจ้า”
ตัวอย่างเพลงสิกก้องกอ เช่น
“สิกก้องกอ บ่าลออ้องแอ้ง
บ่าแคว้งสุก ปลาดุกเน่า
หัวเข่าปม หัวนมปิ้ว
ปิดจะหลิ้ว ตกน้ำแม่ของ
ควายลงหนอง ตะล่มพ่มพ่ำ”
ส่วนเพลงเบ็ดเตล็ดก็อย่างเพลงที่ใช้ร้องเล่นกันทั่วไป เช่น
“ฝนตกสุยสุย ซุ้ยหมายุยเข้าเหล่า
อี่พ่อได้เต่า หื้ออี่แม่แกงแค
แกงแคใส่ใบพริกแต้ ชิมคอยก็ลำพ่องแท้”
หรือเพลงที่ร้องยั่วคนให้โกรธเล่น เช่นร้องยั่วคนฟันหลอ ว่า
“เขี้ยวเว่า เป่าไฟดับ
ลักกินตับ เสี้ยงทึงหม้อ
ไม้ข้อหล้อ บุบหัวเขี้ยวเว่า”
นอกจากนี้ยังมีบทซอเบ็ดเตล็ดอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ซอก้อม ซอบ่รู้จบ ซอคบเกิ่ง ซอลายสอง ซอลายอำ ซอกับล้ำ ซอว้อง เป็นต้น เหล่านี้เป็นเพลงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยการร้องเล่น ร้องกล่อม และร้องรำกันอย่างสนุกสนานและจดจำสืบทอดกันมา โดยไม่ผ่านตัวอักษร
หากว่าสืบกันผ่านตัวอักษรแล้ว จะเรียกว่าบทเพลงที่มาจากวรรณกรรมลายลักษณ์ มักจะออกมาในรูปของ กะโลง ค่าว จ๊อย กาพย์ เทศน์ คำร่ำ ต่างๆ โดยจะมีระบำทำนองแตกต่างกันไป แต่บางครั้งอาจจะก้ำกึ่งกับบทเพลงผสมระหว่างเสียงร้องกับดนตรีก็มี เช่นการจ๊อย ซึ่งอาจจะมีดนตรี หรือไม่มีดนตรีประกอบก็ได้ แล้วแต่โอกาส
สำหรับการจ๊อย (ช้อย) นั้นแรกเริ่มอาจจะมาจากอาการอัดอั้นตันทรวง ด้วยอารมณ์โศกเศร้าสร้อยละห้อยหาบางสิ่งบางอย่างอันเป็นที่รักยิ่งก็เป็นได้ ดังปรากฏในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมตอนที่พระยาแมนตาทอก ผู้เป็นราชบุตรเขยแห่งพระยารัมมเหียร ได้พานางอุทุมพกาย มากินเมืองเชษฐบุรี และถูกผีตายยืนทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ทำให้นางอุทุมพกายเศร้าโศกเสียใจที่ผัวแห่งนางนั้นได้สียชีวิตลงไป จึงร้องร่ำไห้ไปมา ด้วยคำว่า “ผัวรักอี่แม่เหย ผัวแพงอี่แม่เหย” ว่าอย่างนั้นแล้ว คนทั้งหลายได้ยินคำที่ร่ำไห้ออกมาแล้วก็เห็นว่าม่วนเพราะ จึงเลียนเสียงสำเนียงที่นางอุทุมพกายร้องไห้หาผัวนั้น จดจำสืบ ๆ กันมากลายเป็นการ จ๊อยจนถึงปัจจุบันนี้

ประการที่สาม คือเพลงผสม ที่มีทั้งเนื้อร้องและเสียงดนตรีประกอบ แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นในล้านนาจะมีอยู่เพียงประการเดียว นั่นก็คือการขับซอ
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล กล่าวว่า ซอ เป็นเพลงพื้นบ้านที่จัดอยู่ในลักษณะ เพลงปฏิพากย์ โดยการขับซอโต้ตอบกันระหว่างชาย – หญิง เรียกว่า คู่ถ้อง ซึ่งจะใช้ปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบและแก้ลำบทซอกันฉับพลันทันด่วน ฉะนั้นผู้ที่จะซอได้นั้นต้องมีปฎิภานไหวพริบดี และได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ การขับซอนั้นมีมาอย่างไรไม่มีหลักฐานปรากฏชัด แต่อาจจะมีที่มาหลายกหลายที่หลากหลายทาง ทั้งที่เป็นเรื่องราวของความรัก ที่ใช้วาจาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกันไปมา หรืออาจจะคิดค้นฉันทลักษณ์เพื่อการจดจำและทำให้ชวนรับฟังก็เป็นได้ แต่อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้นั้น ก็คือ การซอน่าจะมาจากพิธีกรรม เช่นการเลี้ยงผีเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันหลายที่หลายทางในการเลี้ยงผีหลวงก็จะมีข้าวจ้ำจะซอเชิญผีให้มารับเครื่องเซ่นหรือมาเข้าประทับร่างของร่างทรง มีท่วงทำนองเสียงสอดประสานสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำให้ฟังแล้วไพเราะชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล จึงจดจำสืบๆ กันมาและได้พัฒนาออกมาเป็นท่วงทำนองหลากหลาย และมักจะแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน อย่างเช่น
ระบำซอทางเชียงใหม่ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ซอปี่ ตามเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ระบำต่าง ๆ ดังนี้
ระบำตั้งเชียงใหม่ หรืออาจจะเรียกว่าระบำขึ้นเชียงใหม่ก็น่าจะได้ โดยถือว่าเป็นบทไหว้ครู เพราะเป็นระบำแรกในการซอแต่ละครั้ง และมีการเกริ่นนำ และแนะนำว่าการซอต่อจากนี้ไปนั้น จะเป็นการซอเรื่องอะไร
ระบำชาวปุ หรือ จะปุ คาดว่าทำนองนี้อาจจะมาจากเมืองปุ อันเป็นหัวเมืองทางเหนือแถบรัฐฉาน โดยการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม ทำนองนี้เป็นทำนองที่หวาน ซึ่งเมื่อไปถึงเมืองแพร่ ก็พัฒนาระบำนี้ออกไปเป็นอีกระบำหนึ่งนั่นคือ ระบำดาดแพร่ สำหรับระบำจะปุนี้ มักจะลงท้ายซอแต่ละบทว่า ‘จิ่มแลนา’
ระบำละม้าย ละม้ายแปลว่าคล้าย คือคล้ายจะปุ โดยฉันทลักษณ์ซอแล้ว ระบำละม้ายจะเหมือนกันทุกประการกับจะปุ แต่ลีลาจังหวะจะเป็นคนละเพลง ซึ่งระบำละม้ายจะมีลีลาจังหวะที่คึกคัก เร้าใจกว่า และเป็นระบำหลักในการซอแต่ละครั้ง และมักจะมีคำลงท้ายซอแต่ละบทว่า ‘จิ่มแลนอง’
ระบำอื่อ เป็นระบำที่พัฒนามาจากเพลงกล่อมเด็กของล้านนา ตัวอย่างเพลงซอทำนองเพลงอื่อ ก็เช่น ซอตำฮายา ซอไก่หน้อยดาววี เป็นต้น
ระบำเงี้ยว ได้รับอิทธิพลมาจากทำนองของไทยใหญ่ ระบำนี้มีทั้งคึกคักสนุกสนานและความอ่อนหวานปนกันอยู่ มักใช้ในการรำพังรำพัน หรือซอปัดเคราะห์ปัดภัยต่างๆ
ระบำพม่า ระบำนี้ออกเสียงสำเนียงพม่า ท่วงทำนองหวาน ฉันทลักษณ์ต่างจากซอระบำอื่น ซึ่งฉันทลักษณ์ของซอระบำพม่านี้ เป็นแบบฉบับของร่าย โดยเฉพาะซอที่รู้จักกันดีนั่นก็คือ ซอเจ้าสุวัตร – นางบัวคำ เป็นต้น ซึ่งระบำนี้ได้แพร่กระจายไปสู่เมืองน่าน ก็ได้พัฒนาไปอีกระบำหนึ่ง ดังที่จะกล่าวไปข้างหน้า และพบว่า เต้ยพม่าของทางอีสาน ก็มีท่วงทำนองจังหวะจะโคลนเหมือนกับซอพม่าของทางล้านนาด้วย
ระบำบ่าเก่ากลาง คือซอกลางเก่ากลางใหม่ อาจจะได้รับอิทธิพลราชสำนัก(ล้านนา) เข้ามา และมีท่วงทำนองที่ช้า อ่อนหวาน ปรากฏว่าปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม กอปรกับหาช่างซอที่ซอระบำบ่าเก่ากลางนี้ได้น้อยเต็มที
ระบำพระลอ (ระบำล่องน่าน) ระบำนี้ มีการถ่ายเทและเลื่อนไหลกันอย่างมากมาย ซึ่งเดิมเป็นทำนองล่องน่าน โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี นำมาใส่บทซอ สำหรับประกอบการแสดงละครซอเรื่องพระลอ และทำให้มีผู้เรียกชื่อระบำไปตามชื่อเรื่องที่แสดงออกไป จนภายหลังแม้แต่เมืองที่เป็นต้นกำเนิดเองยังคงสับสนกับชื่อทำนองนี้ด้วยเช่นกัน
ระบำล่องน่าน เป็นชื่อที่เชียงใหม่เรียก เพราะเอาทำนองนี้มาจากทางเมืองน่าน แต่ทำนองจริง ๆ ที่ทางเมืองน่านเรียก คือระบำลับแลง ระบำนี้เป็นการนำมาปรับเข้าปี่ และทางเมืองน่านมักไม่มีคำลงท้ายซอ แต่เชียงใหม่นิยมคำลงท้ายซอ เฉกเช่นระบำจะปุ หรือละม้าย ทำให้ต้องมีคำลงท้ายซอระบำนี้ไปด้วย โดยมักจะลงเป็นว่า “โอ้ละนอ ละนอ น้องเอย”

(มีต่อ)

*จาก

สลุงเงิน. ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน. สูจิบัตรงาน "สานทอ ต่อฝัน ตอน รอยจรัลกับฝันของฝันนี้" ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเวียงเจ็ดลิน




 

Create Date : 15 กันยายน 2552    
Last Update : 15 กันยายน 2552 13:48:46 น.
Counter : 1304 Pageviews.  

ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน (ตอนที่ ๑)

ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน*


สลุงเงิน

“ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์”

จากบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อัญเชิญขึ้นต้นนี้นั้น เป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดนตรี ที่นับว่าเป็นสิ่งหนึ่งอันเป็นอารยะ ที่ยกพื้นจิตใจของชาวเมืองให้ละเมียดละไม และรังสรรสิ่งดีงาม รวมถึงภูมิปัญญาให้เป็นที่ประจักษ์แก่บ้านเมืองได้อย่างเสมอเทียมเทียบนานาประเทศในโลกนี้ได้อย่างภาคภูมิ
สำหรับดินแดนล้านนานั้น เป็นบ้านเป็นเมืองที่มีการพัฒนามายาวนาน ในประวัติศาสตร์ ด้วยมีชุมชนหลากหลายและผลัดเวียนเปลี่ยนกันมีอำนาจ และต่างฝ่ายต่างก็ได้จรรโลง เสกสร้างสิ่งที่เป็นความรื่นรมย์ให้กับบ้านเมืองไว้อยู่ตลอดในสายกาลเวลา
สัพพสัททเสียงที่ดังกึกก้องในโลกนี้ ล้วนแต่ขับกล่อมโลกให้เป็นดินแดนสวรรค์ แต่บางครั้ง สัททเสียงสำเนียงบางอย่าง ก็ทำให้โลกนี้โกลาหลได้ แต่มนุษย์ก็รู้จักรับรู้สัททเสียงอันรื่นรมย์ นำมาเรียบเรียงสอดประสานเป็นท่วงทำนองให้จิตใจฟูเฟื่อง
เสียงลมพัดไหว น้ำไหลเลียบเลาะ เสียงนกกู่ก้องออเซาะกัน และเสียงอีกเป็นพันเป็นหมื่น ที่ก่อให้เกิดการจำลองออกมาด้วยเครื่องมือสุดวิเศษที่มนุษย์จักรู้จักใช้แต่แรกเริ่มนั่นก็คือ กายของมนุษย์นั่นเอง โดยการเปล่งเสียงออกมาตามท่วงทำนองที่ได้ยิน บางทีอาจจะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งด้วยอวัยวะส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมือ หรือเพิ่มสิ่งของเข้ามาประกอบ เช่น การตีเกราะเคราะไม้ เป่าใบไม้โดยลมปาก อย่างง่าย ๆ จวบจนประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำเนิดเสียงดนตรี อันไพเราะต่าง ๆ อย่างซับซ้อนมากขึ้นได้
ในล้านนาบ้านเรานั้น ท่ามกลางขุนเขาที่สลับซับซ้อนโอบอุ้มอยู่ได้ ก็ได้มีพัฒนาการในด้านเครื่องดนตรีและเสียงสำเนียงเพลงให้กู่ก้องกังวานในขุนเขาแห่งชีวิต เพลงในล้านนานั้น สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท โดยทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ได้จัดแบ่งไว้อยู่ได้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเพลงบรรเลง, เพลงที่มีเนื้อร้องโดยไม่มีดนตรีประกอบ และ เพลงผสม คือมีทั้งเนื้อร้องและดนตรีประกอบ
ประการแรก คือ เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเพลงบรรเลงนั้น เป็นเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีทั้งหมด ไม่มีการร้องสอดประสาน โดยมีทั้งที่บรรเลงชิ้นเดียวและหลายชิ้นประสมวง ด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายประเภท ไม่ว่า
เครื่องดีด เช่น ซึง (บางพื้นที่เช่นเมืองน่าน เรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ปิน” และในวรรณกรรมเก่า ๆ และในหัวเมืองไทยใหญ่ ก็มีเครื่องดนตรีใกล้ ๆ กันนี้เรียกว่า “ติ่ง”), เพียะ(อ่าน – เปี๊ยะ) และ จักเข้ ซึ่ง อ.สนั่น ธรรมธิ ได้เสนอว่า ล้านนาน่าจะมีเครื่องดนตรีชนิดนี้ด้วย ดังที่พบในเอกสารโบราณที่กล่าวถึง
เครื่องสี เช่น สะล้อ ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อ และอาจจะมีที่มาเช่นเดียวกับคำว่า ซอ ของภาคกลาง โดยคาดว่ามาจากภาษาขอม ที่เรียกว่า “ทรอ” โดยการกลายเสียงมา ดังที่อ.สนั่น ธรรมธิกล่าวถึงการแยกเสียงไว้ดังนี้ “ทรอ – ทะรอ – ทะลอ – ธะลอ – ธะล้อ – สะล้อ” สำหรับบางพื้นที่เช่นจังหวัดน่าน สะล้อจะมีลักษณะพิเศษ คือลูก (หรือนม หรือ ก๊อบ) ไว้บังคับเสียงเหมือนซึงอีกด้วย
เครื่องตี เช่น กลองปูชา เป็นกลองสองหน้า มีลูกใหญ่หนึ่งลูก และลุกเล็กอีกสามลูก ใช้ตีเป็นพุทธบูชาเป็นหลัก, กลองสะบัดชัย เป็นการแสดงที่รู้จักกันดีทั่วประเทศ มักได้พบเห็นในงานโอกาสต่างๆ แต่ก่อนใช้ตีในการศึก ป่าวข่าวในชุมชน มหรสพ ฉลองชัยชนะ หรือเพื่อความสนุกสนาน, กลองมองเซิง เป็นกลางที่ได้มาจากอิทธิพลไทยใหญ่ เป็นกลองสองหน้า มีสายโยง คล้ายตะโพนมอญแต่ไม่มีขาตั้ง, กลองเต่งถิ้ง เป็นกลองสองหน้า คล้ายตะโพนมอญ มีขาตั้ง โดยใช้ตีควบคู่กับกลองอีกชนิดหนึ่งคือ กลองโป่งโป้ง ซึ่งคล้ายกลองเต่งถิ้งแต่ขนาดเล็กกว่า, กลองตะหลดปด กลองสองหน้าทรงกระบอกแต่สอบเล็กน้อย, กลองหลวง กลองหน้าเดียวขนาดใหญ่ ใช้ตีในงานบุญขนาดใหญ่ และรู้จักกันดีและนิยมกันอย่างแพร่หลายในเขตจังหวัดลำพูน, กลองอืด คล้ายกลองหลวงแต่ขนาดเล็ก มักใช้ตีในเขตจังหวัดแพร่และน่าน, กลองแอว คล้ายกลองหลวงแต่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ ๑ ใน ๔ , กลองก้นยาว หรือกลองปู่เจ่ ลักษณะก็คล้ายกลองแอว แต่ว่าก้นกลองจะยาวกว่ามาก , กลองสิ้งหม้อง มีลักษณะคล้ายกลองยาวของภาคกลาง, ฆ้อง หรือ ค้อง ทำด้วยโลหะ ลักษณะกลมมน มีขอบงองุ้มรอบตัวและมีปุ่มตรงกลาง หากไม่มีกลุ่มตรงกลาง จะเรียกว่า พาน หรือ พาง
เครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย ที่นิยมมาเล่นบรรเลงร่วมกับซึงและสะล้อ, ปี่ เป็นเครื่องดนตรีที่แพร่หลายในกลุ่มตระกูลไท เช่น ไทลื้อ ไทดำ ไทใหญ่ ก็มักใช้ปี่ในการบรรเลงประกอบลำนำต่างๆ ทำจากไม้ไผ่และมีลิ้นเป็นโลหะ หากใช้หลายขนาดประสมกันก็จะเรียกว่า ปี่จุม, แน คำนี้ ยุทธพร นาคสุขกล่าวว่า มาจากภาษาพม่า เป็นเครื่องประเภทลมไม้ตระกูลสรไน ใช้ในวงปี่พาทย์และวงกลอง มักมีสองขนาดคือแนหลวงและแนหน้อย
โดยเครื่องดนตรีแต่ละประเภทนำมาประสมวงกัน มักจะผสมวงกันเป็นวง สะล้อ-ซึง วงปี่จุม วงกลองต่างๆ เป็นต้น สำหรับวงกลองนั้นมักมีจังหวะไปตามแต่ละท้องถิ่นและมักจะตายตัวมากกว่า วงปี่จุม และวงสะล้อ-ซึง
และวงสะล้อ-ซึงนี้เองที่ก่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านเสียงเพลงมาก ขอยกตัวอย่างเพลงเก่า ๆ อันเป็นเพลงประจำเมืองต่าง ๆ เช่น
เพลงแม่หม้ายตีอก, เพลงแม่หม้ายก้อม, เพลงแม่หม้ายเครือ, กินทุ่มกินแหบ เป็นเพลงประจำเมืองแพร่ – น่าน
เพลงกินข้าม, เพลงสิงแดง ที่เป็นทำนองเดียวกับเพลงลาวจ้อย หรือสร้อยแสงแดง อันเป็นเพลงประจำเมืองน่าน
เพลงกินโต๊ะ หรือที่ทางเชียงใหม่เรียกว่าเพลงปุมเป้ง หรือปุมเหม้น เป็นเพลงประจำเมืองแพร่
เพลงสะเพาหลงท่า เป็นเพลงประจำเมืองลำปาง
เพลงนกแลข้ามกิ่ว, เพลงม่านส้อยหรือพะม่าปลิ้น, เพลงสิงข้าม เป็นเพลงประจำเมืองเชียงราย
นอกจากเพลงประจำเมืองต่าง ๆ แล้ว ยังมีเพลงอื่น ๆ อีกมากอันเป็นที่นิยมสืบสายกันมาถึงปัจจุบัน เช่นเพลงปราสาทไหว เพลงฤๅษีหลงถ้ำ เพลงอื่อ เพลงขึ้นเชียงใหม่ เพลงชาวปุ เพลงละม้ายเชียงแสน เพลงกุหลาบเชียงใหม่ เพลงกล่อมนางนอน เพลงขงเบ้งเป็นต้น และเพลงบรรเลงนี้ ก็เป็นอีกสายพัฒนาการสายหนึ่งที่สืบเนื่องและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่อีกก็หลายเพลงเช่น เพลงหริภุญชัย, เพลงกาสะลอง, เพลงไตอ่างขาง, เพลงพร้าวไกวใบ, เพลงหมอกมุงเมือง ฯลฯ และเพลงบรรเลงเหล่านี้ก็ยังนิยมและรับใช้สังคมกันอยู่ เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีกระแสของการการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมกันมากขึ้น ทำให้มีเยาวชนส่วนมากหันมาเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองกันเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะมีการสืบสานกันต่อไป
นอกจะมีการเล่นดนตรีแบบเดิมแล้ว ยังมีการผสมผสานในแนวใหม่ด้วย ดังเช่นวงช้างสโตน ที่ได้พัฒนารูปแบบการเล่นและเครื่องดนตรีที่ฉีกแนวออกไปเพื่อเป็นการก้าวข้ามพรมแดนทางดนตรี ไปสู่สากลมากขึ้น จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ถือว่าน้อยคนนักจะทำได้

จบตอนที่ ๑

* จาก

สลุงเงิน. ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน. สูจิบัตรงาน "สานทอ ต่อฝัน ตอน รอยจรัลกับฝันของฝันนี้" ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเวียงเจ็ดลิน




 

Create Date : 13 กันยายน 2552    
Last Update : 13 กันยายน 2552 20:36:07 น.
Counter : 840 Pageviews.  

กั่นโลง(โคลง) สิบสองสิงหา






กั่นโลง(โคลง)สิบสองสิงหา

สิบสองสิงหาแม้น เติงมา
เฉลิมพระชนมพรรษา แม่แก้ว
ขอทรงอยู่ทีฆา ส่ำราญยิ่ง โยชน์เฮย
ทรงจำเริญผ่องแผ้ว เลิศแล้วเชียงคราน แม่เฮย

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า "ศศิศ"




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2552    
Last Update : 11 สิงหาคม 2552 14:31:18 น.
Counter : 1186 Pageviews.  

นางเทวดาผุ้รับเอาขุนสังขานต์

นางเทวดาผู้รับเอาขุนสังขานต์


ยามสุริยา ไคลคลาคลาดฅ้าย ยกย่างย้าย จากมีนรวายสี
เสด็จจระ โคณวิถี เข้าสู่ธานี รวายสีเมษเจ้า
ขุนสังขานต์ ใสงามบ่เส้า ยามลีลา เมื่อนั้น
คันไปวันทิตย์ บุญมีหน่อชั้น ทรงขี้อั้นนาคา
จากหนวันออก ไปตกนั้นหนา ตามทางมรรคา เสด็จไต่เต้า
มือนึ่งถือปืน และฅ้อนจอมเจ้า ใสสว่างเสี้ยงเรียบเมี้ยน
นางธัมมสรี บ่ผิดแผกเพี้ยน นั่งถ้าแล้วลุกยืนไป
รับองค์หน่อเนื้อ เรืองริทธิ์ส่องใส ยามองค์ท่านไป รวายสีเมษหั้น
ตามในธัมม์ อานิสงส์เฝื้อฝั้น ที่ได้ขีดแต้มแต่งย้อม
คันไปวันจันทร์ ขี่ครุฑหลิ่งน้อม ดั้นจากด้าวยาวไป
มือกำขอช้าง แถมข้างแสงใส กำหอกตวยไป อยู่แท้ใจ้ใจ้
จากออกแจ่งเหนือ เจือตกแจ่งใต้ ตามขียาแห่งท้าว
นางมโหสถ ก็ได้ฟั่งฟ้าว มานั่งถ้ารับเอา
มือถือดอกไม้ แต่งแต้มแกมเหลา เปนดอกเมืองเฮา บ่แม่นดอกใต้
คือว่าพระญา ดอกไม้แท้ไส้ ใสใยยองฟ่องฟื้น
คันไปวันคาร ขี่ยักข์เปนพื้น พาขุนเจ้าเราไป
จากอุตรทิศ ล่องลงจิ่มไกล ทักขิณาใน ไขปันหื้อเสี้ยง
นางสุนันทา เจ้าใบหน้าเกลี้ยง มานอนอยู่ถ้าบ่คร้าน
คันไปวันพุธ เจ้าสายดอกพ้าน สังขานต์ขี่ฅวายดำ
มือทือดอกไม้ แลดาบที่กำ ตนทรงธรรม์ ลีลาไต่เต้า
จากหนบุพพา สู่ปัจฉิมาเข้า ตามกำพีร์กระทู้
มีนางคิรินันทา นั่งถ้าอยู่คู้ มาอยู่ถ้าองค์ฅำ
ลางพร่องนั้น ใส่ชื่อคมขำ มานันทะอัน แถมชื่อของเจ้า
รับต้อนองค์ สังขานต์ยาตร์เต้า ปางเมื่ออั้นบ่แฅล้ว
คันไปวันผัด แต่งตนงามแล้ว อาชาม้าแก้วอันทรง
ยัวริยาตร์ ทั่วด้าวทังขง จากวันตกองค์ สู่หนออกตั้ง
ถือยังกุมภะ แลวีออกกั้ง สองฝ่ายเบื้องหัตถ์ท้าว
นางกัญญา ค่อยเนาะหน่องน้าว นั่งคู้เข่าถ้าดาองค์
เหมาะม่อยเนื้อ หื้อตามประสงค์ นาฏอนงค์ เชียงครานหยั่นหย้อง
ดอกไม้นามปี ตามมีชู่ห้อง นางเอามาชูค้ำ
คันไปวันศุกร์ สังขานต์เลิศล้ำ ขึ้นขี่กล้ำทังงัว
จากอาคไนย์ พอกพลิกหนตัว ก็ยาตรยัว หนพยัพวันท์ไหว้
มือนึ่งทือขวาน เจือจานฅ้อนไสร้ ตนองค์ครานหน่อไธ้
มีนางลิตา เทวาวางไว้ หื้อมารับต้อนสังกรา
นางนึ่งน้อย มานั่งเจียรจา รับสุริยา ที่คลาไต่เต้า
รอบสีเนโร ม่อนดอยจอมเหง้า ปางมหาสังกรานต์เทื่อนี้
คันไปวันเสาร์ ขอจักกล่าวชี้ ขี่ปราสาทแก้วเรืองไร
มือกำไม้ค้อน ไวว่องสว่างใส จากอีสานไป วันตกแจ่งใต้
นางตโปตา องค์ครานที่ไหว้ นั่งเหยียดปาทาอยู่พร้อม
ตามออกในธัมม์ บ่ได้แต่งย้อม เชิญจอมมิ่งเจ้าดาฟัง
วัดหมื่นเงินกอง ต้นเหง้าปางหลัง ที่ได้เอาธัมม์ มาไขบอกแจ้งฯ
สังขานต์ไป บุญมีบอกแจ้ง หากกำใดฟังแล้วสะแม้ง
ก็วางขว้างปันข้าจิ่ม




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 4 พฤษภาคม 2552 14:26:06 น.
Counter : 712 Pageviews.  

หนังสือปีใหม่ล้านนา ปี ๑๓๗๑ ปีกัดเป้า

หนังสือปีใหม่ ปีกัดเป้า


 (ปีฉลู เอกศก) จ.ศ. ๑๓๗๑


ปกติมาส อธิกวาร ปกติสุรทิน





มังคลวุฒิสิริศุภมัสตุ จุลศักราชได้ ๑๓๗๐ ตัว ปีชวดฉนำ กัมโพชพิไสย เข้ามาในคิมหันตอุตุ จิตรามาส กาฬปักข์ ปัญจมี ภุมมวารไถง ไทยภาษาว่า ปีเปิดใจ้ เดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ พร่ำว่าได้วันอังคาร ไทวันกัดเป้า ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ยามนั้น ระวิสังขานต์มีตนเรื่อเรืองงามประดุจดังคำสิงคี สถิตอยู่ทิพย์วิมานมีนราศีประเทศ ก็ประดับตนด้วยเครื่องอาภรณ์วิเศษอลังการสีดังแก้วปพาฬผ่องแผ้ว คือว่าสีแดงแสดเลิศแล้ว ประดับตนด้วยรัตนมณีแก้วปพาฬ อันเรืองรุ่ง รัศมีพุ่งงามตา มีหัตถามือซ้ายบนถือลูกประคำผ่องแผ้ว มือซ้ายลุ่มถือกระออมแก้วอันงามโสภา มีมือเบื้องขวาบนนั้นก็มาถือจักร มือขวาลุ่มเอาพาดตักแห่งตนไว้หมั้น ได้กาลยามดี ยามนั้นก็เสด็จยืนก้มหน้าอยู่บนหลังสีหราชา คือพญาราชสีห์ตนองอาจ เสด็จยัวริยาตรจักไปสู่เมษราศี ก็ออกจากทิพย์วิมานคำดีผ่องแผ้วด้วยประตูอันอยู่หนอุตระ คือทิศเหนือแล้ว ยกย่างลีลาด้วยพหุพลนิกายโยธาไปสู่อิสานะทิศา คือตะวันออกเฉียงเหนือดั่งอั้น ยามนั้นเป็นเวลายามตูดรุ่ง เวลา ๐๑ นาฬิกา ๘ นาที ๒๔ วินาที คนทั้งหลายจิ่งเรียกว่าวันสังขานต์ล่อง

ยามนั้น ยังมีนางเทวดา ชื่อมัณฑะหมอบตนรับเอา ปีนี้สังขานต์ไปวันอังคาร จักเดือดร้อนแก่ชาวเมือง จักเกิดเปนกลียุค วิวาทบาดหมางผิดเถียงกัน จักร้อนใจแก่เจ้าบ้านเจ้าเมือง พระราชามหากษัตริย์ บ้านเมืองจักแล้ง สรมชาวเจ้าจักเดือดร้อนใจ ข้าวจักมีราคาแพง ของใช้จักขึ้นราคา ของแดงลายและลูกไม้ผลไม้บ่สู้มีราคา จักวิวาทกันด้วยคำบ้านคำเมือง ปีนี้ฝนตกบ่เสมอ หัวปีมีมาก กลางปีบ่มีหลาย หล้าปีก็จักมีอยู่พ่อง ชารสดินบ่ดี สัตว์ ๔ ตีน ๒ ตีนจักมีภัย จักหันแผ่นดินแตกในเมือง เจ้าขุนผู้ใหญ่จักตาย จักมีอุบาทว์ใหญ่ในบ้านเมือง คนเกิดวันอาทิตย์จักมีเคราะห์ใหญ่ คนเกิดวันจันทร์จักมีโชคลาภ

ในวันสังขานต์ไปนั้น จุ่งหื้อพากันสระเกล้าดำหัวยังแม่น้ำ ทางไคว่ เค้าไม้ใหญ่นอกบ้านชายคา อว่ายหน้าไปสุ่ทิสะหนใต้ แล้วเอาน้ำส้มป่อยดำหัว อาบองค์สรงเกศเกล้าด้วยมนต์วิเศษ สรูปเภทเป็นคาถา ว่า “สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะอันตรายา สัพพะทุนนิมิตตา สัพพะคะหา สัพพะอุปัทวา วินาสันตุฯ”

ปีนี้ศรีอยู่ดัง กาลกิณณีอยู่ปาก จังไรอยู่บ่า เอาส้มป่อยเช็ดคว่างเสีย ปีนี้ผีหัวหลวงเป็นยักษ์อยู่ทิศเหนือ ดำหัวอย่าบิ่นหน้าไปทางทิศนั้น แล้วมานุ่งผ้าใหม่เหน็บดอกไม้นามปี ปีนี้ดอกเก็ดถะหวา เป็นพญาดอก ควรเอามาเหน็บเกศเกล้ามวยผมและเหน็บไว้ประตูบ้าน ประตูเรือน เป็นมังคละ จักอยู่สุขะสวัสสะดีชะแล

ในเดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ พร่ำว่าได้วันพุธ ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ไทวันกดยี เปนวันปูติ คือวันเน่า ปีนี้เน่าวันเดียว อย่าไปทำมงคลในวันนี้ อย่าไว้วิวาทผิดเถียงเดือดด่า หื้อได้พากันขนทรายเข้าวัด กวาดข่วงไม้สรี พระเจดีย์ วิหาร จักได้พ้นเคราะห์กับตน กับบ้านกับเมือง และพระพุทธศาสนา

ในเดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ พร่ำว่าได้วันพฤหัสบดี ตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน ไทวันร้วงเหม้า เป็นวันพญาวัน พระสุริยะอาทิตย์เสด็จทิพย์วิมานในเวลากาลได้ยามรุ่งเช้า เวลา ๐๕ นาฬิกา ๐๖ นาที บ่มีปลาย

ยามนั้นจุลศักราชขึ้นแถม ๑ ตัว เปนจุลศักราช ๑๓๗๑ ตัว ฉลูฉนำ กัมโพชพิสัย ไทยภาษาว่าปีกัดเป้า หื้อได้พากันกระทำบุญหื้อทาน เจดีย์ทราย ช่อ ตุง ไม้ค้ำสรี หื้อพากันทำมังคละกับวัดวาอาราม บ้านช่อง หอเรือน และปูชาสระสรงองค์พุทธรูปเจ้า มหาเจติยะ พระธาตุ พระบฏ พระบาท ไม้สรีมิ่งบ้าน และอารักษ์เจนเมือง มิ่งเมือง อย่าประหมาทด้วยเหตุเคราะห์เมืองจักมี แล้วหื้อพากันดำหัวครูบาสังฆะ พ่อเถ้าแม่อุ้ย และพ่อแม่ เพื่อขอเตชะปารมีไว้กับตนหื้อเปนมงคลตลอดปีอยู่สุขสวัสสดีมีโชคลาภ ถุถั่งหลั่งมา ฮิมาค้าขึ้น อยู่เย็นเป็นสุขตลอด

ปีนี้เศษ ๓ ชื่อ อัชฌุสวัสสะ แพะรักษาปี แร้งรักษาเดือน นกยูงรักษาป่า กระต่ายรักษาน้ำ ภุตตะยักขะเทวบุตรรักษาอากาศ จัณฑาลรักษาแผ่นดิน

ผู้หญิงเป็นใหญ่แก่คนทังหลาย นกเขาไฟเป็นใหญ่แก่สัตว์ ๒ ตีน กระต่ายเป็นใหญ่แก่สัตว์ ๔ ตีน ไม้เปาเป็นใหญ่แก่ไม้ทังมวล ผีเสื้ออยู่ไม้ข่อย ไม้เหงเป็นใหญ่แก่ไม้จิง ไม้ซางเป็นใหญ่แก่ไม้กลวง หญ้าแพรดเป็นใหญ่กว่าหญ้าทังมวล ขวัญเข้าอยู่ไม้ซาง รสดินบ่มีหลาย เข้ากล้าถั่วงาบ่ดี เข้าจักลีบ คนเกิดปีนี้มีความโกธะมาก อายุ ๕๐ ปีจักตาย

ปีนี้นาคหื้อน้ำ ๒ ตัว บันดาลหื้อฝนตก ๔๐๐ ห่า ชื่อพุธาธิปติ ตกในมหาสมุทรและเขาสัตตปริภัณฑ์ ๑๙๑ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๓๓ ห่า ตกในมนุสสโลก ๗๖ ห่า

ปีนี้เทวดาวางเครื่องประดับหนอิสาน ปาปะลัคนาอยู่หนอิสาน ปาปะเคราะห์อยู่หนหรดี ทิศะเหล่านี้เป็นอัปปมงคล บ่ดีไปค้าไปศึกทิศนั้น บ่ดีทำมงคลแก่บ้านเมืองในทิศนั้น บ่ดีปกเสาเอกมงคลในทิศนั้น จักเสียสรีเตชะ

อตีตวรพุทธศาสนาคลาล่วงแล้วได้ ๒๕๕๑ พรรษาธิกาปลาย ๑๑ เดือน ๗ วัน นับแต่วันพญาวันคืนหลัง อนาคตะศาสนาอันจักมาภายหน้า ค้างอยู่แถมบ่หน้อย ๒๔๔๘ พรรษาธิกาปลาย ๒๓ วัน เหตุนับแต่วันปากปีไปเอามาบวกกับกันก็เต็มห้าพันพระพรรษาถ้วนบ่มีเศษ เหตุตามฎีกาที่มหาพิลางคสัมมิหรสีเจ้า หากวิสัชนาแต่งแปลงสืบๆ มา ก็ปริปุณณาแล้วแล ๚๛

(พระครูอดุลสีลกิตติ์ วัดธาตุคำ จังหวัดเชียงใหม่
เป็นผู้วิสัชนาปล่านแปลงแต่งแต้มทำนายพยากรณ์ แล)




 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 4 เมษายน 2552 14:46:53 น.
Counter : 1521 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศศิศ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.